Month: ธันวาคม 2023

เงามืดและแสงสว่างของพระเจ้า

เมื่อเอเลนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม เธอและชัคสามีต่างรู้ว่าเหลือเวลาอีกไม่นานก่อนที่เธอจะได้ไปอยู่กับพระเยซู ทั้งคู่ยึดมั่นพระสัญญาในสดุดี 23 ที่ว่า พระเจ้าจะทรงสถิตอยู่ด้วยในขณะที่พวกเขาเดินไปตามหุบเขาที่ลึกและยากลำบากที่สุดในช่วงห้าสิบสี่ปีที่อยู่ด้วยกัน พวกเขายึดความหวังในความจริงที่ว่าเอเลนพร้อมแล้วที่จะได้พบกับพระเยซู เพราะเธอได้เชื่อวางใจในพระองค์เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

ในพิธีไว้อาลัยของภรรยา ชัคแบ่งปันว่าเขายังคงเดิน “ไปตามหุบเขาเงามัจจุราช” (สดด.23:4) ชีวิตในสวรรค์ของภรรยาเขาได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ “เงามัจจุราช” ยังคงอยู่กับเขาและกับคนอื่นๆที่รักเอเลนอย่างยิ่ง

ขณะที่เราเดินไปตามหุบเขาแห่งเงามืดทั้งหลายนั้น เราจะหาแหล่งแห่งแสงสว่างได้จากที่ใด อัครทูตยอห์นประกาศว่า “พระเจ้าทรงเป็นความสว่าง และความมืดในพระองค์ไม่มีเลย” (1 ยน.1:5) และในยอห์น 8:12 พระเยซูประกาศว่า “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต”

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เรา “เดินในสว่างแห่งพระพักตร์ของพระองค์” (สดด.89:15) พระเจ้าของเราทรงสัญญาว่าจะสถิตกับเราและเป็นแหล่งแห่งแสงสว่างให้กับเรา แม้ขณะที่เราเดินทางผ่านเงาที่มืดมิดที่สุด

ยอมจำนนต่อพระเยซู

ในปีค.ศ. 1951 แพทย์ประจำตัวของโจเซฟ สตาลินแนะนำให้เขาลดการทำงานลงเพื่อรักษาสุขภาพ ผู้นำสหภาพโซเวียตกลับกล่าวหาแพทย์ว่าเป็นสายลับและจับกุมเขา ทรราชผู้กดขี่ผู้คนมากมายด้วยคำโกหกไม่อาจยอมรับความจริง และเช่นที่เคยทำมาหลายต่อหลายครั้ง เขากำจัดคนที่บอกความจริงกับเขา แต่ความจริงก็มีชัยชนะอยู่วันยังค่ำ สตาลินเสียชีวิตลงในปีค.ศ. 1953

ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ซึ่งถูกจับและถูกตีตรวนเพราะเผยพระวจนะถึงเหตุร้าย (ยรม.38:1-6; 40:1) ทูลกษัตริย์แห่งยูดาห์ถึงสิ่งที่จะเกิดแก่กรุงเยรูซาเล็มตรงๆ “ขอฝ่าพระบาทเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระเจ้า ตามสิ่งซึ่งข้าพระบาทได้ทูลฝ่าพระบาท” ท่านกล่าวต่อกษัตริย์เศเดคียาห์ (38:20) หากไม่ยอมจำนนต่อกองทัพที่มาล้อมกรุงก็มีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง “เขาจะพาบรรดาสนมและมเหสี และบุตรของฝ่าพระบาทไปให้คนเคลเดีย” เยเรมีย์เตือน “และฝ่าพระบาทเองก็จะไม่ทรงรอดไปจากมือของเขาทั้งหลาย” (ข้อ 23)

เศเดคียาห์ไม่ตอบสนองตามความจริงนั้น ในที่สุดพวกบาบิโลนก็จับกุมกษัตริย์ ฆ่าบรรดาบุตรชายของท่าน และเผากรุงเสีย (บทที่ 39)

ที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนต้องเจอกับภาวะลำบากใจแบบเศเดคียาห์ เราติดอยู่ในกำแพงแห่งความบาปในชีวิตและการตัดสินใจผิดพลาดของเราเอง บ่อยครั้งเราทำให้เรื่องแย่ลงโดยหลีกเลี่ยงผู้คนที่บอกความจริงเกี่ยวกับตัวเรา สิ่งที่เราต้องทำมีเพียงยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์ผู้ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยน.14:6)

สร้างไมตรีจิต

เมื่อเราคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจที่ดีที่สุดนั้น สิ่งแรกที่เข้ามาในความคิดอาจไม่ใช่คุณสมบัติอย่างเรื่องความเมตตาและความเอื้อเฟื้อ แต่สำหรับผู้ประกอบการอย่างเจมส์ รีห์ นี่คือคุณสมบัติที่จำเป็น จากประสบการณ์ของรีห์ ในฐานะ ผู้บริหารของบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย การให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “ไมตรีจิต” ซึ่งเป็น “วัฒนธรรมแห่งความเมตตา” และจิตวิญญาณแห่งการให้ ได้ช่วยกอบกู้และนำบริษัทไปสู่ความรุ่งเรือง การให้ความสำคัญกับคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีความหวังและแรงจูงใจที่จำเป็นในการร่วมมือร่วมใจ ริเริ่มสิ่งใหม่ และแก้ไขปัญหา รีห์อธิบายว่า “ไมตรีจิต... คือสินทรัพย์ที่แท้จริงที่สามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันและเพิ่มทวีคูณได้”

ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน เป็นการง่ายที่จะคิดว่าคุณสมบัติอย่างความเมตตาเป็นสิ่งที่คลุมเครือและจับต้องไม่ได้ และถูกจัดไว้หลังลำดับความสำคัญอื่นๆของเรา แต่ตามที่อัครทูตเปาโลสอนนั้น คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญที่สุด

เปาโลเขียนถึงผู้เชื่อใหม่โดยเน้นว่า วัตถุประสงค์ในชีวิตของผู้เชื่อคือการเปลี่ยนแปลงโดยพระวิญญาณไปสู่การเป็นสมาชิกที่โตเป็นผู้ใหญ่ในพระกายของพระคริสต์ (อฟ.4:15) ด้วยจุดมุ่งหมายนี้ ทุกคำพูดและทุกการกระทำจะมีค่าก็ต่อเมื่อมันเสริมสร้างและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น (ข้อ 29) การเปลี่ยนแปลงในพระเยซูจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการที่เราให้ความสำคัญกับความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัยในทุกวันเท่านั้น (ข้อ 32)

เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราไปยังผู้เชื่อคนอื่นๆในพระคริสต์ เราก็จะเติบโตและเป็นผู้ใหญ่เมื่อเราเรียนรู้จากกันและกัน

พระทัยพระเจ้าสำหรับทุกคน

แดน กิลวัยเก้าขวบกับอาร์ชี่เพื่อนสนิทมาถึงงานเลี้ยงวันเกิดเพื่อนร่วมชั้นของพวกเขา แต่เมื่อแม่ของเด็กชายเจ้าของวันเกิดเห็นอาร์ชี่ เธอก็ไม่ยอมให้เขาเข้าไปโดยยืนกรานว่า “มีเก้าอี้ไม่พอ” แดนเสนอว่าจะนั่งบนพื้นเพื่อให้มีที่สำหรับเพื่อนของเขาซึ่งเป็นคนผิวดำ แต่คุณแม่ก็ปฏิเสธ แดนจึงมอบของขวัญของพวกเขาไว้กับเธอแล้วกลับบ้านพร้อมอาร์ชี่ด้วยความเศร้าใจ ความเจ็บปวดจากการที่เพื่อนถูกปฏิเสธแผดเผาหัวใจของเขา

หลายสิบปีต่อมา ปัจจุบันแดนเป็นครูที่เก็บเก้าอี้ว่างตัวหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ เมื่อนักเรียนถามเหตุผล เขาอธิบายว่านี่เป็นเครื่องเตือนใจให้ “มีที่ว่างในห้องเรียนสำหรับทุกคนเสมอ”

การมีหัวใจสำหรับทุกคนนั้นพบได้ในชีวิตของพระเยซูที่ทรงต้อนรับทุกคน “บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข” (มธ.11:28) คำเชิญนี้อาจดูขัดแย้งกับแนวทางการทำพันธกิจของพระเยซูที่ว่า “พวกยิวก่อน” (รม.1:16) แต่ของขวัญแห่งความรอดเป็นของทุกคนที่เชื่อในพระเยซู “คือความชอบธรรมของพระเจ้า ซึ่งทรงประทานโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์แก่ทุกคนที่เชื่อ” เปาโลเขียน “เพราะว่าคนทั้งหลายไม่ต่างกัน” (3:22)

เราจึงชื่นชมยินดีเมื่อพระคริสต์ทรงเชื้อเชิญทุกคนให้ “เอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก” (มธ.11:29) สำหรับทุกคนที่แสวงหาการพักสงบในพระองค์ พระทัยที่เปิดกว้างของพระองค์ทรงรออยู่

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา