![ขอให้เราพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร จึงจะปลุกใจซึ่งกันและกัน... อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น [ ฮีบรู 10:24-25 ] ขอให้เราพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร จึงจะปลุกใจซึ่งกันและกัน... อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น [ ฮีบรู 10:24-25 ]](https://d1yment73esh3t.cloudfront.net/wp-content/uploads/sites/64/2023/11/21130749/share_odb_2023-12-09-940x940.jpg)
![สิ่งดีอันใดจะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ [ ยอห์น 1:46 ] สิ่งดีอันใดจะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ [ ยอห์น 1:46 ]](https://d1yment73esh3t.cloudfront.net/wp-content/uploads/sites/64/2023/11/21130631/share_odb_2023-12-08-940x940.jpg)
อคติกับความรักของพระเจ้า
“คุณไม่เหมือนกับที่ผมคิด ผมคิดว่าผมคงจะเกลียดคุณ แต่ก็ไม่” คำพูดของชายหนุ่มดูรุนแรง แต่ที่จริงแล้วพวกเขากำลังพยายามแสดงความเมตตา ผมไปเรียนหนังสือที่ประเทศของเขา ซึ่งหลายสิบปีก่อนเคยทำสงครามกับประเทศของผม เราอยู่ในกลุ่มอภิปรายในชั้นเรียนเดียวกัน และผมสังเกตว่าเขาดูห่างเหิน เมื่อถามว่าผมได้ทำอะไรให้เขาขุ่นเคืองหรือไม่ เขาตอบว่า “เปล่าเลย...อันที่จริงคือปู่ของผมถูกฆ่าในสงคราม ผมจึงเกลียดประเทศและคนของคุณเพราะเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ผมเห็นว่าเรามีอะไรเหมือนกันหลายอย่าง และนั่นทำให้ผมประหลาดใจ ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้”
อคตินั้นมีมานานพอๆกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ สองพันปีที่แล้วเมื่อนาธานาเอลได้ยินเรื่องของพระเยซูที่ทรงประทับอยู่ที่นาซาเร็ธเป็นครั้งแรก อคติของเขาเผยออกมาอย่างชัดเจน “สิ่งดีอันใดจะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ” เขาถาม (ยน.1:46) นาธานาเอลอาศัยอยู่ในแคว้นกาลิลีเหมือนพระเยซู เขาอาจคิดว่าพระเมสสิยาห์ของพระเจ้าน่าจะมาจากที่อื่น แม้แต่ชาวกาลิลีคนอื่นๆก็ดูถูกนาซาเร็ธเพราะเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆธรรมดา
แต่สิ่งที่ชัดเจนยิ่งกว่าคือ การตอบสนองของนาธานาเอลไม่ได้ทำให้พระเยซูหยุดรักเขา และเขาได้รับการเปลี่ยนแปลงเมื่อมาเป็นสาวกของพระเยซู “พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า!” นาธานาเอลประกาศในเวลาต่อมา (ข้อ 49) ไม่มีอคติใดจะต้านทานความรักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของพระเจ้าได้
![ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชา ที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า [ โรม 12:1 ] ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชา ที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า [ โรม 12:1 ]](https://d1yment73esh3t.cloudfront.net/wp-content/uploads/sites/64/2023/11/21114356/share_odb_2023-12-07-940x940.jpg)
การให้เหมือนพระคริสต์
ตอนที่ โอ.เฮนรี่นักเขียนชาวอเมริกันเขียนหนังสือ “ของขวัญจากโหราจารย์” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคริสต์มาสที่เขารักในปีค.ศ. 1905 นั้น เขากำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นจากปัญหาส่วนตัว กระนั้นเขากลับเขียนเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเน้นถึงคุณลักษณะอันงดงามเหมือนพระคริสต์ นั่นคือการเสียสละ ในเรื่องภรรยาผู้ยากไร้ขายผมยาวสลวยของเธอในวันคริสต์มาสอีฟเพื่อซื้อสายนาฬิกาพกทองคำให้สามี แต่เธอกลับรู้ภายหลังว่าสามีขายนาฬิกาพกของเขาเพื่อซื้อชุดหวีสำหรับผมอันงดงามของเธอ
ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเขามอบให้กันคืออะไรน่ะหรือ ก็คือการเสียสละ การกระทำของทั้งคู่แสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่
ในทำนองเดียวกันนี้ เรื่องราวที่เขาเขียนจึงได้นำเสนอของขวัญแห่งความรักของโหราจารย์ (นักปราชญ์)ที่ถวายแด่พระกุมารเยซูภายหลังการประสูติอันศักดิ์สิทธิ์ (ดู มธ.2:1,11) แต่ที่ยิ่งไปกว่าของขวัญเหล่านั้นคือ วันหนึ่งพระกุมารเยซูจะเติบโตขึ้นและประทานชีวิตของพระองค์แก่คนทั้งโลก
ในชีวิตประจำวันของเรา ผู้เชื่อในพระคริสต์สามารถสำแดงถึงของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้โดยการเสียสละเวลา ทรัพย์สมบัติ และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่จะถ่ายทอดความรักของเราไปสู่ผู้อื่น ดังที่อัครทูตเปาโลเขียนไว้ “พี่น้องทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” (รม.12:1) ไม่มีของขวัญใดจะดีไปกว่าการเสียสละเพื่อผู้อื่นโดยความรักของพระเยซู
นักบุญนิค
บุคคลที่เรารู้จักกันในนามนักบุญนิโคลัส(นักบุญนิค)นี้เกิดราวปีค.ศ. 270 ในครอบครัวชาวกรีกที่ร่ำรวย น่าเศร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก เขาจึงไปอาศัยอยู่กับลุงที่รักและสอนให้เขาติดตามพระเจ้า เมื่อนิโคลัสยังหนุ่มมีเรื่องเล่าขานกันว่า เขาได้ยินเรื่องของสามสาวพี่น้องที่ไม่มีสินสอดสำหรับแต่งงานและใกล้จะสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยต้องการทำตามคำสอนของพระเยซูเรื่องการให้แก่ผู้ที่ขัดสน เขาจึงมอบถุงใส่เหรียญทองจากมรดกของตนให้กับพี่น้องทั้งสามคนละถุง หลายปีต่อมานิโคลัสใช้เงินที่เหลือเลี้ยงคนยากจนและดูแลผู้อื่น ในศตวรรษต่อมานิโคลัสได้รับการยกย่องเพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเขา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครที่เรารู้จักกันในชื่อซานตาคลอส
ในขณะที่การโฆษณาและความมีเสน่ห์ดึงดูดใจของเทศกาลนี้อาจทำลายการเฉลิมฉลองของเรา แต่ประเพณีในการให้ของขวัญนั้นสืบเนื่องมาจากนิโคลัสและความเอื้อเฟื้อของเขามีพื้นฐานมาจากการอุทิศชีวิตเพื่อพระเยซู นิโคลัสรู้ว่าพระคริสต์ทรงสำแดงพระกรุณาที่เกินจะจินตนาการได้ โดยเป็นผู้มอบของขวัญอันล้ำค่าที่สุดคือ พระเจ้า พระเยซูเป็น “พระเจ้า [ผู้]ทรงอยู่กับเรา” (มธ.1:23) และพระองค์ได้ประทานของขวัญแห่งชีวิตแก่เรา ในโลกแห่งความตายพระองค์ทรง “ช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา” (ข้อ 21)
เมื่อเราเชื่อพระเยซู การเสียสละด้วยใจกว้างขวางก็สำแดงออกมา เราจึงใส่ใจในความต้องการของผู้อื่นและยินดีจัดหาสิ่งเหล่านั้นให้พวกเขาเหมือนที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้แก่เรา นี่คือเรื่องราวของนักบุญนิค แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น นี่ก็คือเรื่องราวของพระเจ้า
![หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียก นามของท่านว่า อิมมานูเอล (แปลว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา) [ มัทธิว 1:23 ] หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียก นามของท่านว่า อิมมานูเอล (แปลว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา) [ มัทธิว 1:23 ]](https://d1yment73esh3t.cloudfront.net/wp-content/uploads/sites/64/2023/11/21114248/share_odb_2023-12-06-940x940.jpg)
![เพราะว่าเจ้าไปในถิ่นฐานใด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า ทรงสถิตกับเจ้า [ โยชูวา 1:9 ] เพราะว่าเจ้าไปในถิ่นฐานใด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า ทรงสถิตกับเจ้า [ โยชูวา 1:9 ]](https://d1yment73esh3t.cloudfront.net/wp-content/uploads/sites/64/2023/11/21114152/share_odb_2023-12-05-940x940.jpg)
พระสัญญาที่อบอุ่นใจของพระเจ้า
หลายปีก่อนครอบครัวของเราไปเยือนโฟว์คอร์เนอร์ สถานที่เดียวในสหรัฐอเมริกาที่สี่รัฐมาบรรจบกันในจุดเดียว สามีของฉันยืนอยู่ในพื้นที่ของรัฐแอริโซน่า เอ.เจ.ลูกชายคนโตของเรากระโดดไปยืนบนรัฐยูทาห์ ฮาเวียร์ลูกชายคนเล็กจับมือฉันขณะที่เราก้าวไปยืนที่รัฐโคโลราโด เมื่อฉันขยับเข้าไปในรัฐนิวเม็กซิโก ฮาเวียร์พูดว่า “แม่ครับ ผมไม่อยากจะเชื่อว่าแม่ทิ้งผมไว้ที่โคโลราโด!” พวกเราอยู่ด้วยกันแต่อยู่กันคนละที่ในขณะที่เสียงหัวเราะของเราดังขึ้นในทั้งสี่รัฐนั้น ตอนนี้พวกลูกชายต่างเติบโตและจากบ้านกันไปแล้ว ฉันยิ่งซาบซึ้งในพระสัญญาของพระเจ้าที่ทรงอยู่ใกล้ประชากรของพระองค์ทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะไปที่ใด
หลังจากที่โมเสสสิ้นชีวิต พระเจ้าทรงเรียกโยชูวาให้เป็นผู้นำและรับรองว่าจะทรงสถิตอยู่ด้วยขณะที่ทรงขยายเขตแดนของชนชาติอิสราเอล (ยชว.1:1-4) พระเจ้าตรัสว่า “เราอยู่กับโมเสสมาแล้วฉันใด เราจะอยู่กับเจ้าฉันนั้น เราจะไม่ละเลยหรือละทิ้งเจ้าเสีย” (ข้อ 5) ทรงรู้ว่าโยชูวาจะต้องต่อสู้กับความสงสัยและความกลัวในฐานะผู้นำคนใหม่ของประชากรของพระองค์ พระเจ้าจึงทรงวางรากฐานแห่งความหวังไว้บนพระดำรัสเหล่านี้ “เราสั่งเจ้าไว้แล้วมิใช่หรือว่าจงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่าตกใจหรือคร้ามกลัวเลย เพราะว่าเจ้าไปในถิ่นฐานใด พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้าทรงสถิตกับเจ้า” (ข้อ 9)
ไม่ว่าพระเจ้าจะทรงนำเราหรือคนที่เรารักไปที่ใด แม้ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก พระสัญญาที่อบอุ่นใจที่สุดของพระองค์ให้ความมั่นใจกับเราว่าพระองค์จะทรงอยู่ด้วยเสมอ