จากความขัดสน
วอร์เรน บัฟเฟตต์กับบิลและเมลินดา เกตส์สร้างประวัติศาสตร์เมื่อพวกเขาเริ่มโครงการพันธสัญญาแห่งการให้ โดยสัญญาว่าจะบริจาคเงินครึ่งหนึ่งของพวกเขาให้การกุศล หมายความว่าจนถึงปี 2018 พวกเขาบริจาคไปแล้วราว 3 ล้านล้านบาท โครงการนี้ทำให้นักจิตวิทยาพอล พิฟ อยากศึกษารูปแบบของการให้นี้ จากการศึกษาเขาพบว่าคนจนมีแนวโน้มจะให้มากกว่า 44 เปอร์เซ็นต์จากที่พวกเขามีซึ่งมากกว่าคนรวย คนที่ประสบความยากจนมักกลายเป็นคนใจกว้างมากกว่า
พระเยซูทรงรู้ในเรื่องนี้ เมื่อเสด็จไปยังพระวิหารพระองค์ทอดพระเนตรดูฝูงชนเอาเงินมาใส่ในตู้ถวาย (มก.12:41) คนมั่งมีเอาเงินมากมาใส่ แต่หญิงม่ายยากจนเอาเหรียญทองแดงสองอันมีค่าประมาณสลึงหนึ่งมาใส่ไว้ ผมนึกภาพพระเยซูทรงยืนขึ้นอย่างประหลาดใจและยินดี และพระองค์ทรงเรียกสาวกในทันใดเพื่อพวกเขาจะไม่พลาดการกระทำอันน่าประทับใจนี้ “หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวายมากกว่าคนทั้งปวงที่ใส่ไว้นั้น” พระเยซูกล่าว (ข้อ 43) สาวกมองหน้ากันอย่างสงสัย หวังให้ใครอธิบายสิ่งที่พระองค์ตรัส พระองค์จึงทรงอธิบายอย่างเรียบง่ายว่า “คนทั้งปวงนั้นได้เอาเงินเหลือใช้ของเขามาใส่ไว้ แต่ผู้หญิงนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด” (ข้อ 44)
เราอาจมีไม่มากที่จะถวาย แต่พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้เราให้ทั้งที่ขัดสน แม้อาจจะดูน้อยในสายตาคนอื่น แต่เราให้ในสิ่งที่เรามี และพระเจ้าทรงชื่นชมยินดีในของขวัญอันยิ่งใหญ่ของเรา
คิดต่าง
ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ผมใช้เวลาช่วงปิดภาคฤดูร้อนในเวเนซุเอลามากพอสมควร อาหารน่าประทับใจ ผู้คนเบิกบาน อากาศและการต้อนรับช่างสวยงาม อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันแรกๆผมเริ่มสังเกตว่ามุมมองเรื่องการบริหารเวลาของผมไม่เหมือนกับเหล่าเพื่อนใหม่ ถ้าเราวางแผนกินอาหารกลางวันตอนเที่ยง นั่นหมายถึงช่วงเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมง เช่นเดียวกับการนัดหมายเพื่อการท่องเที่ยว คือกรอบของเวลาจะวางแบบหลวมๆไม่กำหนดอย่างตายตัว ผมเริ่มเรียนรู้ว่าความคิดเรื่อง “ตรงต่อเวลา” ของผมนั้นถูกกำหนดขึ้นตามวัฒนธรรมมากกว่าที่ผมตระหนัก
เราทุกคนถูกหล่อหลอมโดยค่านิยมทางวัฒนธรรมรอบตัวเรา ซึ่งเรามักจะไม่สังเกต เปาโลเรียกแรงกดดันทางวัฒนธรรมนี้ว่า “ยุค” (รม.12:2) ณ จุดนี้“ยุค” ไม่ได้หมายถึงสภาพทางกายภาพ แต่หมายถึงวิธีคิดที่แพร่กระจายอยู่ในการดำรงชีวิตของเรา คือความคิดหรือความเชื่อในเรื่องใดโดยไม่เคยตั้งคำถาม และแนวคิดชี้นำที่ถ่ายทอดมาให้กับเรา เพียงเพราะเราอยู่ในสถานที่และช่วงเวลานั้นๆ
เปาโลเตือนให้เราระวังว่า “อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้” แต่เราจะต้อง “รับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ” (ข้อ 2) แทนที่จะยอมรับเอาแนวคิดและความเชื่อที่ปกคลุมเราอยู่อย่างง่ายดาย เราถูกเรียกให้กระตือรือร้นที่จะทำตามวิธีคิดของพระเจ้า และเรียนรู้ที่จะเข้าใจ “น้ำพระทัยของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัยและอะไรดียอดเยี่ยม” (ข้อ 2) ให้เราเรียนรู้ที่จะติดตามพระเจ้าแทนที่จะติดตามเสียงอื่นๆ
บ้านบนศิลา
บ้านจำนวน 34,000 หลังในรัฐหนึ่งของสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมาเนื่องจากฐานรากมีปัญหา ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บริษัทคอนกรีตแห่งหนึ่งได้ใช้หินจากเหมืองที่เจือปนด้วยแร่ซึ่งทำให้คอนกรีตเกิดรอยร้าวและพังลงมาเมื่อเวลาผ่านไป ฐานรากของบ้านเกือบ 600 หลังได้ถล่มลงมาแล้วและมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นอีก
พระเยซูใช้ภาพการสร้างบ้านบนรากฐานที่ผิดเพื่ออธิบายว่า การสร้างชีวิตบนรากฐานที่ไม่มั่นคงนั้นมีความเสี่ยงมากยิ่งกว่า พระองค์ตรัสว่าบางคนสร้างชีวิตบนศิลาที่แข็งแกร่งเพื่อจะยืนหยัดอยู่ได้เมื่อเผชิญกับพายุที่รุนแรง แต่บางคนสร้างชีวิตบนดินทราย เมื่อพายุพัดมาชีวิตก็พังทลายและ “การซึ่งพังทลายนั้นก็ใหญ่ยิ่ง” (มธ.7:27) ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่างการสร้างบ้านบนรากฐานที่มั่นคงกับรากฐานที่อ่อนยวบคือการ “ประพฤติตาม” คำสอนของพระคริสต์ (ข้อ 26) คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเราได้ยินพระดำรัสของพระองค์หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าเราประพฤติตามคำสอนนั้นตามที่พระองค์ให้เราทำได้หรือเปล่า
โลกนี้มีสติปัญญารวมทั้งคำแนะนำและความช่วยเหลือมากมายให้กับเราซึ่งล้วนแต่ดีและมีประโยชน์ อย่างไรก็ตามหากเราวางชีวิตของเราบนรากฐานอื่นที่ไม่ใช่การเชื่อฟังด้วยใจถ่อมต่อความจริงของพระเจ้า เราจะชักนำปัญหาเข้ามา การทำตามสิ่งที่พระเจ้าตรัสโดยกำลังจากพระองค์คือวิธีเดียวที่จะสร้างบ้านหรือชีวิตเราไว้บนศิลา
แข็งแกร่ง
เซย์บีเป็น “ทารกคลอดก่อนกำหนด” อายุ 23 สัปดาห์ มีน้ำหนักเพียง 0.24 กิโลกรัม แพทย์ไม่คิดว่าเธอจะรอด จึงบอกพ่อแม่ของเธอว่าพวกเขามีเวลาอยู่กับลูกสาวแค่หนึ่งชั่วโมง แต่เซย์บีสู้สุดใจ การ์ดสีชมพูข้างเปลของเธอเขียนไว้ว่า “จิ๋วแต่แข็งแกร่ง” หลังจากอยู่โรงพยาบาลห้าเดือน ทารกเซย์บีสุขภาพแข็งแรงน้ำหนัก 2.27 กิโลกรัมก็กลับบ้านได้อย่างอัศจรรย์ สถิติโลกบันทึกว่าเธอเป็นทารกผู้รอดชีวิตที่ตัวเล็กที่สุดในโลก
การได้ฟังเรื่องราวของผู้ที่ชนะอุปสรรคนั้นช่างทรงพลัง พระคัมภีร์ก็มีเรื่องเช่นนี้ ดาวิดเด็กเลี้ยงแกะอาสาต่อสู้กับโกลิอัท นักรบร่างยักษ์ที่ดูหมิ่นพระเจ้าและข่มขู่อิสราเอล กษัตริย์ซาอูลก็ยังดูแคลนเขา “เจ้าไม่สามารถที่จะไปสู้รบกับชายฟีลิสเตียคนนั้นดอก เพราะเจ้าเป็นแต่เด็กหนุ่ม และเขาเป็นทหารชำนาญศึกมาตั้งแต่หนุ่มๆแล้ว” (1 ซมอ.17:33) เมื่อหนุ่มน้อยดาวิดก้าวเข้าสู่สนามรบ โกลิอัท “มองเห็นดาวิดก็ดูถูกเขา เพราะเขาเป็นแต่คนหนุ่ม” (ข้อ 42) แต่ดาวิดไม่ได้ก้าวเข้าต่อสู้เพียงลำพัง เขามา “ในพระนามแห่งพระเจ้าจอมโยธา พระเจ้าแห่งกองทัพอิสราเอล” (ข้อ 45) เมื่อสิ้นสุดวัน ดาวิดผู้พิชิตก็ยืนอยู่เหนือร่างไร้ชีวิตของโกลิอัท
ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่โตเพียงไร เมื่อพระเจ้าทรงอยู่กับเรา ก็ไม่มีสิ่งใดที่เราต้องกลัว พระกำลังของพระองค์ทำให้เราแข็งแกร่ง
วิธีของป้าเบ็ตตี้
ตอนเป็นเด็ก เวลาที่ป้าเบ็ตตี้มาเยี่ยมผมจะรู้สึกเหมือนวันคริสต์มาส ท่านจะมีของเล่นจากหนังเรื่องสตาร์วอร์สมาฝากและให้เงินผมตอนจะกลับ เวลาที่ผมไปอยู่บ้านท่าน ท่านจะซื้อไอศกรีมไว้เต็มตู้เย็นและไม่ทำอาหารที่มีผัก ป้ามีกฎไม่กี่ข้อและยังยอมให้ผมนอนดึก ท่านใจดีจนน่าทึ่งซึ่งทำให้ผมเห็นความใจกว้างของพระเจ้า แต่การจะเติบโตอย่างแข็งแรงนั้น ผมจำเป็นต้องมีพ่อแม่ที่คอยวางกฎให้ผมปฏิบัติตาม
พระเจ้าทรงขอจากผมมากกว่าที่ป้าเบ็ตตี้ขอ ในขณะที่พระองค์ทรงรักเราอย่างท่วมท้น มั่นคงและไม่หวั่นไหวแม้เราจะดื้อดึงหรือวิ่งหนี พระองค์ทรงคาดหวังบางสิ่งจากเรา เมื่อพระเจ้าทรงสอนอิสราเอลเรื่องการใช้ชีวิต พระองค์ประทานพระบัญญัติสิบประการ ซึ่งไม่ใช่คำแนะนำสิบประการ (อพย.20:1-17) พระองค์รู้ว่าเราอาจหลอกตัวเองจึงได้บอกความคาดหวังของพระองค์อย่างชัดเจนว่า ให้เรา “รักพระเจ้าและประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์” (1 ยน.5:2)
ขอบคุณพระเจ้าที่ “พระบัญญัติของพระองค์นั้นไม่เป็นภาระ” (ข้อ 3) โดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์เราสามารถทำตามพระบัญญัติได้ในขณะที่เราสัมผัสถึงความรักและความยินดีของพระเจ้า ความรักของพระองค์ไม่สิ้นสุด แต่พระวจนะได้ตั้งคำถามเพื่อช่วยให้เรารู้ว่าเรารักพระองค์ตอบหรือไม่ โดยถามว่าเราได้เชื่อฟังพระบัญญัติตามการทรงนำของพระวิญญาณหรือไม่
เราพูดได้ว่าเรารักพระเจ้า แต่สิ่งที่เราทำโดยพระกำลังของพระองค์จะบอกว่าเรารักพระองค์จริงไหม
ใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
หลังจากที่รถคันเก่าของวิคกี้พังลงโดยไม่มีทางซ่อม เธอก็เริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อรถคันใหม่ วันหนึ่งคริส ลูกค้าประจำที่มักจะมาสั่งอาหารตรงช่องไดรฟ์ทรูของร้านที่วิคกี้ทำงานอยู่ ได้ยินวิคกี้พูดว่าเธออยากได้รถสักคัน “ผมหยุดคิดไม่ได้และต้องทำอะไรสักอย่าง” คริสกล่าว ดังนั้นเขาจึงซื้อรถมือสองต่อจากลูกชาย (ลูกชายของเขาเพิ่งประกาศขายรถ) ขัดสีรถจนเงางามและยื่นกุญแจให้กับวิคกี้ วิคกี้ตกใจมากและกล่าวด้วยความประหลาดใจและซาบซึ้งใจว่า “ใครกันนะ...ที่ทำแบบนี้”
พระคัมภีร์เรียกร้องให้เรายื่นมือไปช่วยผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ ด้วยการมอบสิ่งดีที่สุดให้กับคนขัดสน ทิโมธีกล่าวว่า “จงกำชับให้เขากระทำดี ให้กระทำดีมากๆ” (1 ทธ.6:18) อย่าเพียงแค่แสดงความเมตตาตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่จงดำเนินชีวิตที่ให้ด้วยใจยินดี ให้จิตใจที่กว้างขวางเป็นวิถีชีวิตปกติของเราดังที่ทิโมธีบอกคือ “ให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่เห็นแก่ตัว” (ข้อ 18)
เมื่อเรามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และโอบอ้อมอารี เราไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะขาดแคลนสิ่งจำเป็น ตรงกันข้ามพระคัมภีร์บอกว่า เมื่อเรามีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรา “จะได้รับเอาชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตอันแท้จริง” (ข้อ 19) ในพระเจ้านั้น การมีชีวิตที่แท้จริงคือการปล่อยมือจากสิ่งที่เรามี และยอมมอบสิ่งนั้นให้กับผู้อื่น
ได้กลับบ้าน
วอลเตอร์ ดิ๊กสันมีเวลาฉลองน้ำผึ้งพระจันทร์ห้าวันก่อนถูกส่งไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากนั้น ทหารพบเสื้อแจ็คเก็ตของดิ๊กสันในสนามรบโดยมีจดหมายของภรรยาเขาในกระเป๋าเสื้อ กรมทหารแจ้งต่อภรรยาสาวของเขาว่าสามีเธอเสียชีวิตในหน้าที่ ในความเป็นจริงดิ๊กสันยังมีชีวิตอยู่และใช้ชีวิตสองปีครึ่งในฐานะเชลยสงคราม ทุกเวลาที่เขาตื่น เขาวางแผนที่จะหนีกลับบ้าน ดิ๊กสันหนีออกมาได้ห้าครั้งแต่ก็ถูกจับตัวกลับไปทุกครั้ง ในที่สุดเขาก็ได้รับอิสรภาพ คุณจินตนาการถึงความตกใจได้เมื่อเขากลับถึงบ้าน!
ประชากรของพระเจ้ารู้จักการถูกกักขัง การย้ายถิ่นไปไกล และความคิดถึงบ้านเป็นอย่างดี เพราะการที่พวกเขากบฏต่อพระเจ้าจึงทำให้ถูกเนรเทศ ทุกเช้าพวกเขาตื่นขึ้นพร้อมกับความโหยหาที่จะกลับไป แต่พวกเขาไม่อาจช่วยตัวเองได้ ขอบพระคุณพระเจ้า เพราะพระองค์สัญญาว่าจะไม่ลืมพวกเขา “เราจะนำเขากลับมาเพราะเราสงสารเขา” (ข้อ 6) พระองค์ทรงช่วยพวกเขาจากความคิดถึงบ้านอันปวดร้าว...ไม่ใช่เพราะความบากบั่นของพวกเขา แต่โดยพระเมตตาของพระองค์ “เราจะผิวปากเรียกเขา ...และเขาจะ...กลับมา” (ข้อ 8-9)
ความรู้สึกเหมือนถูกเนรเทศของพวกเราอาจเกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือความยากลำบากที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ไม่ว่าด้วยเหตุใดพระเจ้าไม่เคยลืมพวกเรา พระองค์รู้ถึงความปรารถนาของเราและจะทรงเรียกเรา และหากเราตอบพระองค์ เราก็จะได้กลับไปหาพระองค์ ซึ่งคือการได้กลับบ้าน
พระเจ้าทรงยึดเราไว้
เฟรดดี้ บลอมชาวแอฟริกาใต้อายุครบ 114 ปีในปี 2018 เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่าเป็นชายที่อายุยืนที่สุด เขาเกิดเมื่อปี 1904 ซึ่งเป็นปีที่พี่น้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบินฟลายเออร์ทู เขาผ่านช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง เผชิญนโยบายแบ่งแยกสีผิว และมหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก เมื่อถามถึงเคล็ดลับการมีอายุยืน เขาเพียงแค่ยักไหล่ เช่นเดียวกับเราหลายคน เขาไม่ได้เลือกอาหารหรือปฏิบัติตัวเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง แต่เขาบอกว่ามีสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขามีสุขภาพดี “มีเพียงสิ่งเดียว คือพระเจ้า พระองค์ผู้ทรงกำลังเหนือทุกสิ่ง... ทรงค้ำชูผมไว้”
เฟรดดี้สะท้อนคำพูดที่พระเจ้าตรัสกับอิสราเอล ขณะที่ทั้งชาติอ่อนเปลี้ยอยู่ใต้การกดขี่ของศัตรูที่โหดร้าย “เราจะหนุนกำลังเจ้า เราจะช่วยเจ้า” พระเจ้าทรงสัญญา “เราจะชูเจ้าด้วยมือขวาอันมีชัยของเรา” (อสย.41:10) ถึงสถานการณ์จะเลวร้าย แม้โอกาสจะพบทางออกนั้นริบหรี่ พระเจ้าทรงยืนยันว่าจะดูแลประชากรของพระองค์ “อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า” และย้ำว่า “อย่าขยาด เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า” (ข้อ 10)
ไม่ว่าเราจะมีอายุขัยกี่ปี ความทุกข์ยากในชีวิตก็จะมาเคาะที่ประตู ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแต่งงานที่มีปัญหา ลูกหนีออกจากบ้าน ข่าวร้ายจากหมอ แม้แต่การถูกข่มเหง ไม่ว่าจะอย่างไรพระเจ้าทรงเอื้อมพระหัตถ์มาและยึดเราอย่างมั่นคง ทรงนำเราเข้ามาและยึดเราไว้ด้วยพระหัตถ์ที่อ่อนโยนเข้มแข็ง
ร่วมทุกข์
ปี 2013 เจมส์ แมคคอนเนลอดีตนาวิกโยธินผ่านศึกของอังกฤษวัย 70 ปีได้เสียชีวิตลง เขาไม่มีครอบครัวและเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราของเขาเกรงว่าจะไม่มีคนมาร่วมงานไว้อาลัย ชายที่เป็นคนทำพิธีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “สมัยนี้มันแย่พออยู่แล้วที่ใครคนหนึ่งต้องจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครร่ำไห้ แต่ชายคนนี้เป็นครอบครัวของเรา... ถ้าคุณสามารถมาที่สุสาน...เพื่อแสดงความเคารพอดีตทหารร่วมรบที่จากไปได้ ก็ขอให้พยายามมา” นาวิกโยธินอังกฤษสองร้อยนายมากันจนแน่น!
เพื่อนร่วมชาติชาวอังกฤษกลุ่มนี้สำแดงความจริงจากพระคัมภีร์ข้อหนึ่งคือ เราผูกพันซึ่งกันและกัน เปาโลกล่าวว่า “ร่างกายมิได้ประกอบด้วยอวัยวะเดียว แต่ด้วยหลายอวัยวะ” (1 คร.12:14) เราไม่ได้แปลกแยก แต่ตรงกันข้ามเราผูกพันกันในพระเยซู พระคัมภีร์กล่าวถึงความเชื่อมโยงกันของร่างกายว่า “ถ้าอวัยวะอันหนึ่งเจ็บ อวัยวะทั้งหมดก็พลอยเจ็บด้วย” (ข้อ 26) เราที่เป็นผู้เชื่อในพระเยซูเป็นสมาชิกของครอบครัวใหม่ในพระเจ้า เราเดินเข้าหากันสู่ความเจ็บปวด ความโศกเศร้า ที่มืดต่างๆที่เรากลัวเมื่อต้องไปคนเดียว แต่ขอบคุณพระเจ้าที่เราไม่ต้องไปตามลำพัง
บางทีสิ่งเลวร้ายที่สุดของความทุกข์คือความรู้สึกว่าเราดำดิ่งอยู่ในความมืดตามลำพัง แต่พระเจ้าทรงสร้างชุมชนใหม่ที่ร่วมทุกข์กับเรา ชุมชนใหม่ที่จะไม่มีใครถูกทอดทิ้งอยู่ในความมืด