ฉันเป็นพระหัตถ์ของพระองค์
เจีย ไฮ่เซียสูญเสียการมองเห็นในปี 2000 ส่วนเพื่อนของเขา เจีย เวินฉี สูญเสียแขนเมื่อตอนเด็ก แต่ทั้งคู่มีทางออกให้กับความพิการนี้ “ผมเป็นมือของเขาและเขาเป็นตาให้ผม” ไฮ่เซียกล่าว พวกเขาเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านที่พวกเขาอยู่ในประเทศจีนร่วมกัน
ตั้งแต่ปี 2002 ทั้งคู่มีแผนปรับปรุงที่ดินร้างใกล้บ้าน ทุกวันไฮ่เซียจะขึ้นขี่หลังของเวินฉีเพื่อข้ามแม่น้ำไปยังที่ดินนั้น เวินฉีจะ “ยื่น” เสียมให้ไฮ่เซียด้วยเท้า ก่อนที่ไฮ่เซียจะเสียบถังน้ำเข้ากับไม้ที่อยู่ระหว่างแก้มและไหล่ของเวินฉี
ในขณะที่คนหนึ่งขุดและอีกคนก็รดน้ำ ถึงเวลานี้ทั้งสองคนปลูกต้นไม้ไปมากกว่าหมื่นต้น “เมื่อทำงานร่วมกัน เราไม่รู้สึกถึงความพิการเลย” ไฮ่เซียกล่าว “เราเป็นทีมเดียวกัน”
อัครทูตเปาโลเปรียบคริสตจักรเป็นร่างกาย แต่ละส่วนต้องการกันและกันเพื่อจะทำหน้าที่ ถ้าทั้งคริสตจักรเป็นตา จะไม่มีการได้ยิน ถ้าทั้งหมดเป็นหู ก็จะไม่มีการรับกลิ่น (1 คร.12:14-17) “ตาจะว่าแก่มือว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการเจ้า!” ก็ไม่ได้” เปาโลกล่าว (ข้อ 21) เราแต่ละคนมีบทบาทในคริสตจักรต่างกันไปตามของประทานฝ่ายวิญญาณที่เรามี (ข้อ 7-11, 18) เช่นเดียวกับเจีย ไฮ่เซียและเจีย เวินฉี เมื่อเราผนึกกำลังกัน เราจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โลก
ชายสองคนผนึกกำลังกันเพื่อปรับปรุงที่ดินร้าง ช่างเป็นภาพการทำงานของคริสตจักรอย่างแท้จริง!
ข่าวดี
ในปี 1941 ในขณะที่การครอบครองของฮิตเลอร์แผ่ขยายไปทั่วยุโรป นักประ-พันธ์จอห์น สไตน์เบคได้ถูกขอให้ช่วยงานในสงคราม เขาไม่ได้ถูกขอให้ออกไปรบหรือไปเยี่ยมหน่วยรบแนวหน้า แต่ให้แต่งนิยาย ผลที่ได้คือ รักระหว่างรบ เป็นนิยายที่เล่าถึงดินแดนที่สงบสุขแต่ถูกรุกรานโดยระบอบการปกครองที่ชั่วร้าย หนังสือถูกพิมพ์โดยโรงพิมพ์ใต้ดินและแจกจ่ายไปทั่วทุกประเทศที่ถูกยึดครอง นิยายได้ส่งข่าวออกไปว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังมา และโดยการเลียนแบบตัวละครในนิยาย ผู้อ่านสามารถช่วยรักษาอิสรภาพของพวกเขาได้ สไตน์เบคนำข่าวดีไปยังผู้คนที่อยู่ใต้การปกครองของนาซีผ่านนิยายรักระหว่างรบ ว่าเสรีภาพของพวกเขามาใกล้แล้ว
เช่นเดียวกับตัวละครของสไตน์เบค ชาวยิวในศตวรรษแรกถูกยึดครองอยู่ใต้การปกครองที่โหดร้ายของโรมัน แต่หลายศตวรรษก่อนนั้น พระเจ้าทรงสัญญาที่จะส่งพระผู้ช่วยมาปลดปล่อยพวกเขาและนำสันติสุขมาสู่โลก (อสย.11) ความชื่นชมยินดีระเบิดออกเมื่อพระผู้ช่วยมาถึง “เรานำข่าวประเสริฐนี้มาแจ้งแก่ท่านทั้งหลาย” เปาโลกล่าว “พระสัญญาซึ่งทรงประทานแก่บรรพบุรุษของเรา พระเจ้าได้ทรงทำให้สำเร็จตามนั้นแก่เรา...คือในการที่พระองค์ทรงให้พระเยซูกลับคืนพระชนม์” (กจ.13:32-33) โดยการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูและทรงนำการอภัยโทษมาให้แก่โลก การฟื้นฟูโลกได้เริ่มต้นขึ้น (ข้อ 38-39; รม.8:21)
ตั้งแต่นั้นมา ข่าวดีนี้ได้แพร่ออกไปทั่วโลก มอบสันติสุขและเสรีภาพแก่ทุกที่ที่ยอมรับข่าวดีนี้ พระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์ เราได้เริ่มต้นที่จะมีเสรีภาพจากความบาปและความชั่ว เราเป็นอิสระได้โดยพระองค์!
วัตถุประสงค์ของการทนทุกข์
“ถ้ าเช่นนั้นคุณกำลังบอกว่ามันอาจไม่ใช่ความผิดของฉันก็ได้” คำพูดของผู้หญิงคนนั้นทำให้ผมประหลาดใจ พวกเรากำลังพูดคุยกันถึงสิ่งที่ผมแบ่งปันในเช้าวันนั้นตอนไปเป็นวิทยากรรับเชิญที่คริสตจักรของเธอ “ฉันป่วยเรื้อรัง” เธออธิบาย “ฉันอธิษฐาน อดอาหาร สารภาพบาปและทำทุกวิธีที่มีคนบอกว่าจะช่วยให้หาย แต่ฉันก็ยังป่วยอยู่ ฉันจึงคิดว่าคงต้องโทษตัวเอง”
ผมรู้สึกเศร้าใจกับคำสารภาพของผู้หญิงคนนั้น เธอได้รับ “สูตรสำเร็จ” ฝ่ายวิญญาณเพื่อใช้แก้ปัญหาที่มี แต่เธอกลับโทษตัวเองเมื่อสูตรเหล่านั้นใช้ไม่ได้ผล ที่แย่ไปกว่านั้นคือ สูตรสำเร็จที่ใช้รับมือกับการทนทุกข์เหล่านี้ถูกหักล้างไปแล้วตั้งแต่หลายยุคก่อน
พูดง่ายๆก็คือสูตรสำเร็จนี้บอกว่า หากคุณกำลังทนทุกข์นั้นแสดงว่าคุณมีบาป เมื่อโยบสูญเสียฝูงสัตว์ ลูกๆและสุขภาพ เพื่อนๆได้ใช้สูตรนี้กับท่าน “ผู้ที่ไร้ความผิดเคยพินาศหรือ” เอลีฟัสสงสัยว่าโยบมีความผิด (โยบ 4:7) บิลดัดยังบอกกับโยบอีกว่าลูกๆของท่านตายเพราะพวกเขาทำบาป (8:4) โดยไม่สนใจสาเหตุที่แท้จริงของภัยพิบัติที่โยบได้รับ (1:6- 2:10) พวกเขาซ้ำเติมด้วยเหตุผลที่ตื้นเขินสำหรับความเจ็บปวดที่โยบได้รับ แต่ต่อมาพวกเขาถูกพระเจ้าทรงตำหนิ (42:7)
การทนทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิตในโลกที่ชั่วร้าย เช่นเดียวกับโยบ การทนทุกข์สามารถเกิดจากสาเหตุที่เราอาจไม่มีวันได้รู้ แต่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์สำหรับคุณที่ยิ่งใหญ่กว่าความเจ็บปวดที่คุณต้องสู้ทน อย่าหมดกำลังใจเพราะหลงเชื่อสูตรสำเร็จที่ตื้นเขินเหล่านั้น
เมื่อใดควรเสียสละ
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 เมื่อวิกฤตการระบาดของโควิด 19 เพิ่งเริ่มต้น ความกังวลของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งกระทบความรู้สึกของผม เธอสงสัยว่า พวกเราควรเต็มใจที่จะแยกตัว เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน การเดินทางและการซื้อของเพื่อจะช่วยคนอื่นไม่ให้ป่วยไหม “นี่ไม่ใช่แค่การทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลทางการแพทย์” เธอเขียน “แต่เป็นความเต็มใจของเราที่จะแยกตัวออกไปเพื่อผู้อื่น” แล้วในทันใดความต้องการทางด้านคุณธรรมก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง
อาจเป็นเรื่องยากที่จะคิดถึงความต้องการของผู้อื่นขณะที่เรายังกังวลเรื่องของตัวเอง ขอบพระคุณพระเจ้าที่ไม่ทรงปล่อยให้เรามีแต่ความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้อื่นเพียงอย่างเดียว เรายังสามารถทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทรงประทาน ความรักแทนที่ความเฉยชาของเรา ความปลาบปลื้มใจแทนความ
เศร้าโศก สันติสุขแทนความกังวล ความอดกลั้นใจ (อดทน) แทนที่ความหุนหัน ความปรานีเพื่อจะห่วงใยผู้อื่น ความดีเพื่อจะเห็นความจำเป็นของพวกเขา ความสัตย์ซื่อที่จะรักษาสัญญา ความสุภาพอ่อนน้อมแทนความก้าวร้าว และการรู้จักบังคับตนเพื่อดึงเราออกจากการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (กท.5:22-23) ขณะที่เรายังไม่สมบูรณ์ด้วยทั้งหมดนี้ พระเจ้าทรงเรียกเราให้แสวงหาของประทานแห่งคุณธรรมฝ่ายวิญญาณนี้อยู่สมอ (อฟ.5:18)
นักเขียนริชาร์ด ฟอสเตอร์ เคยอธิบายถึงความบริสุทธิ์ว่าเป็นความสามารถที่จะทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำ เราจำเป็นต้องมีความบริสุทธิ์เช่นนี้ทุกวันไม่ใช่แค่เมื่อมีวิกฤตการณ์ แล้วเราจะสามารถเสียสละเพื่อผู้อื่นได้หรือไม่ พระวิญญาณบริสุทธิ์โปรดเติมเราให้มีกำลังที่จะทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
ไร้ขีดจำกัด
ผมนั่งอยู่ที่ศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า ร่างกายตึงเครียดและท้องปั่นป่วนเพราะกำหนดส่งงานที่ใกล้เข้ามา ขณะที่ผมแกะเบอร์เกอร์รับประทาน ผู้คนรอบตัววิ่งวุ่นกับงานของตน ผมคิดในใจว่าเราทุกคนมีขีดจำกัด จำกัดทั้งเวลา พลังงาน และความสามารถ
ผมคิดว่าจะเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำใหม่และให้ความสำคัญกับสิ่งเร่งด่วนก่อน แต่ในขณะที่ผมหยิบปากกาออกมา ความคิดหนึ่งก็แล่นเข้ามาในสมอง ผมคิดถึงพระเจ้าผู้เป็นนิรันดร์ ไร้ขีดจำกัด ผู้ทรงสามารถกระทำสิ่งที่ทรงปรารถนาให้บรรลุได้อย่างง่ายดาย
อิสยาห์บอกว่า พระเจ้าองค์นี้ทรงตวงน้ำทั้งสิ้นด้วยอุ้งพระหัตถ์ และบรรจุผงคลีของแผ่นดินโลกไว้ในถังเดียว (อสย.40:12) พระองค์ตั้งชื่อดวงดาวและกำหนดเส้นทางของพวกมัน (ข้อ 26) ทรงรู้จักผู้ครอบครองแผ่นดินโลกและดูแลการงานของพวกเขา (ข้อ 23) ทรงเห็นเกาะทั้งหลายเป็นเหมือนผงคลีและประชาชาติเป็นเหมือนหยดน้ำ (ข้อ 15) ทรงตรัสถามว่า “เจ้าจะเปรียบเรากับผู้ใดเล่า” (ข้อ 25) อิสยาห์ตอบว่า “พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าเนืองนิตย์...พระองค์มิได้ทรงอ่อนเปลี้ยหรือเหน็ดเหนื่อย” (ข้อ 28)
ความเครียดและความกดดันไม่เคยส่งผลดีต่อเรา แต่ในวันนี้มันสอนบทเรียนที่ทรงพลัง พระเจ้าผู้ทรงไร้ขีดจำกัดไม่เหมือนกับผม พระองค์ทรงบรรลุทุกสิ่งที่ทรงปรารถนา ผมรับประทานเบอร์เกอร์เสร็จแล้วก็หยุดนิ่งอีกครั้ง และนมัสการพระเจ้าอย่างเงียบๆ
สมบูรณ์ในพระคริสต์
ในภาพยนตร์ที่โด่งดังเรื่องหนึ่ง นักแสดงชายรับบทเป็นเอเย่นต์ตัวแทนนักกีฬาผู้มีความทะเยอทะยานซึ่งชีวิตแต่งงานกำลังสั่นคลอน ด้วยความพยายามที่จะเอาชนะใจโดโรธีผู้เป็นภรรยาอีกครั้ง เขามองตาเธอและพูดว่า “คุณเติมเต็มชีวิตผม” เป็นคำพูดอบอุ่นใจที่สะท้อนเรื่องเล่าตามเแนวคิดปรัชญากรีกที่กล่าวว่า เราแต่ละคนล้วนเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ที่ต้องตามหา “อีกครึ่งหนึ่ง” ของเราเพื่อจะครบสมบูรณ์
ความเชื่อที่ว่าคู่รักของเรา “เติมเต็ม” เรานั้นในเวลานี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ยอมรับกัน แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ผมพูดคุยกับคู่สามีภรรยาหลายคู่ที่ยังรู้สึกไม่สมบูรณ์เพราะพวกเขาไม่สามารถมีบุตรได้ หรือคู่ที่มีบุตรแล้วแต่ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไป ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดเติมเต็มเราให้สมบูรณ์ได้
อัครทูตเปาโลได้ให้ทางแก้ไว้อีกทางหนึ่ง “เพราะว่าในพระองค์นั้น สภาพของพระเจ้าดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์ และท่านได้บรรลุถึงความครบบริบูรณ์ในพระองค์” (คส.2:9-10) พระเยซูไม่เพียงยกโทษและปลดปล่อยเรา แต่พระองค์ยังทรงทำให้เราสมบูรณ์โดยนำชีวิตของพระเจ้าสู่ชีวิตเรา (ข้อ 13-15)
การแต่งงานเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่สามารถเติมเต็มเรา มีเพียงพระเยซูเท่านั้นที่ทำได้ แทนที่จะคาดหวังให้บุคคล อาชีพการงาน หรือสิ่งอื่นใดมาเติมเต็มเรา ให้เรารับคำเชื้อเชิญของพระเจ้าที่จะยอมให้ความสมบูรณ์ของพระองค์เติมเต็มชีวิตเรามากยิ่งขึ้น
ไม่แสวงหาการแก้แค้น
ชาวสวนขึ้นรถกระบะและเริ่มออกไปสำรวจพืชผลยามเช้า เมื่อไปถึงสุดเขตที่ดินเขาเริ่มรู้สึกเดือดดาล มีคนแอบมาใช้พื้นที่ห่างไกลของสวนเป็นที่ทิ้งขยะ อีกแล้ว
เมื่อเขาโยนถุงขยะที่เป็นเศษอาหารเหล่านั้นขึ้นรถ เขาพบซองจดหมายฉบับหนึ่ง บนหน้าซองมีที่อยู่ของผู้ที่ทำความผิดนี้ นี่เป็นโอกาสที่ดีเกินกว่าจะปล่อยให้ผ่านไป คืนนั้นเขาขับรถไปที่บ้านของผู้ก่อเหตุและทิ้งขยะในสวนของเขา ซึ่งไม่ใช่แค่ขยะที่เก็บมาแต่มีขยะจากบ้านของเขาด้วย!
มีบางคนกล่าวไว้ว่า การแก้แค้นนั้นแสนหวาน แต่มันเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ใน 1 ซามูเอล 24 ดาวิดกับคนของท่านซ่อนอยู่ในถ้ำเพื่อหนีจากกษัตริย์ซาอูลที่ตามฆ่า เมื่อซาอูลเข้าไปในถ้ำเดียวกันเพื่อปลดทุกข์ คนของดาวิดเห็นโอกาสที่ดีเกินกว่าจะปล่อยให้ผ่านไปเพื่อให้ดาวิดได้แก้แค้น (ข้อ 3-4) แต่ดาวิดต่อต้านความปรารถนาที่จะเอาคืนนี้ “พระเจ้าทรงห้ามไม่ให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งนี้ต่อเจ้านายของข้าพเจ้า” ท่านกล่าว (ข้อ 6) เมื่อซาอูลรู้ว่าดาวิดเลือกที่จะไว้ชีวิตพระองค์ ซาอูลประหลาดใจยิ่งนัก “เจ้าชอบธรรมยิ่งกว่าข้า” พระองค์ประกาศ (ข้อ 17-18)
เมื่อเราหรือคนที่เรารักต้องเผชิญกับความอยุติธรรม โอกาสที่จะได้แก้แค้นผู้กระทำผิดอาจมาถึงเรา เราจะยอมจำนนต่อความปรารถนาเช่นเดียวกับชาวสวนคนนั้น หรือต่อต้านเหมือนกับดาวิด เราจะเลือกความชอบธรรมเหนือการแก้แค้นหรือไม่
ความยิ่งใหญ่
คัธเบิร์ตเป็นที่รักของผู้คนทางตอนเหนือของอังกฤษ เขาประกาศข่าวประเสริฐในดินแดนแถบนั้นในศตวรรษที่เจ็ด เขาให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์และมีอิทธิพลในกิจการของรัฐ หลังจากเขาเสียชีวิตได้มีการสร้างเมืองเดอรัมเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา แต่มรดกที่คัธเบิร์ตทิ้งไว้ยังมีความยิ่งใหญ่ในอีกหลายๆด้าน
หลังจากภัยพิบัติทำลายภูมิภาคนั้น คัธเบิร์ตได้ไปเยี่ยมเมืองที่ได้รับผลกระทบเพื่อปลอบขวัญ ขณะที่จะออกจากหมู่บ้าน เขาตรวจดูว่ายังมีใครที่ต้องการให้เขาอธิษฐานเผื่ออีกหรือไม่ มีผู้หญิงคนหนึ่งกอดลูกไว้แน่น เธอเสียลูกชายไปแล้วคนหนึ่งและคนที่เธอกอดอยู่ก็กำลังจะตาย คัธเบิร์ตอุ้มเด็กที่ป่วยมาอธิษฐานและจูบที่หน้าผาก “ไม่ต้องกลัว” เขาบอกกับเธอ “เพราะจะไม่มีใครในครอบครัวของเธอต้องตายอีกแล้ว” มีรายงานว่าเด็กผู้ชายคนนั้นรอดชีวิต
ครั้งหนึ่งพระเยซูทรงอุ้มเด็กชายเล็กๆเพื่อสอนบทเรียนเรื่องความยิ่งใหญ่ โดยตรัสว่า “ถ้าผู้ใดจะรับเด็กเล็กๆเช่นนี้คนหนึ่งในนามของเรา ผู้นั้นก็รับเรา” (มก.9:37) การ “รับ” ผู้ใดในวัฒนธรรมของชาวยิวหมายถึงการรับใช้ผู้นั้นในแบบเดียวกับที่เจ้าภาพต้อนรับแขก เพราะว่าเด็กควรจะรับใช้ผู้ใหญ่ ไม่ใช่ผู้ใหญ่รับใช้เด็ก ความคิดนี้จึงเป็นเรื่องน่าตกใจ พระประสงค์ของพระเยซูคืออะไร ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือการยอมรับใช้ผู้ที่เล็กน้อยและต่ำต้อยที่สุด (ข้อ 35)
ที่ปรึกษาของกษัตริย์ ผู้ที่ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ เมืองที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเขา แต่ในสวรรค์อาจบันทึกเรื่องราวของคัธเบิร์ตว่า เขาสังเกตเห็นแม่ผู้โศกเศร้าและจูบหน้าผากของเด็กที่ป่วยหนัก เขามีชีวิตที่ถ่อมใจสะท้อนให้เห็นถึงพระเจ้าผู้เป็นองค์เจ้านายของเขา
เอาชนะความอิจฉา
ในภาพยนตร์เรื่องอมาเดอุส นักแต่งเพลงสูงวัย อันโตนีโอ ซาลีเอรี บรรเลงเปียโนเพลงที่เขาแต่งให้นักบวชที่มาเยือนฟัง นักบวชสารภาพด้วยความละอายว่าจำทำนองไม่ได้ “แล้วเพลงนี้ล่ะ” ซาลีเอรีถามเมื่อเปลี่ยนมาเล่นทำนองที่คุ้นหู “ผมไม่รู้ว่าคุณแต่งเพลงนั้นด้วย” นักบวชกล่าว “ผมไม่ได้แต่ง” ซาลีเอรีตอบ “นั่นเป็นเพลงของโมสาร์ท!” ผู้ชมได้พบว่า ความสำเร็จของโมสาร์ททำให้ซาลีเอรีอิจฉาอย่างยิ่ง จนนำให้เขามีส่วนในการตายของโมสาร์ท
มีอีกบทเพลงที่เป็นส่วนสำคัญในเรื่องราวของความอิจฉาอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากดาวิดเอาชนะโกลิอัท ชาวอิสราเอลร้องเพลงอย่างรื่นเริงว่า “ซาอูลฆ่าคนเป็นพันๆ และดาวิดฆ่าคนเป็นหมื่นๆ” (1 ซมอ.18:7) การเปรียบเทียบนี้ทำให้กษัตริย์ซาอูลไม่พอใจ พระองค์อิจฉาความสำเร็จของดาวิดและกลัวจะเสียบัลลังก์ (ข้อ 8-9) ซาอูลเริ่มไล่ล่าดาวิดโดยมุ่งหมายจะเอาชีวิต
เช่นซาลีเอรีกับบทเพลงและซาอูลกับอำนาจ เราก็มักจะถูกทดลองให้อิจฉาคนที่มีของประทานคล้ายกับเราแต่ดีกว่าที่เรามี ไม่ว่าจะจับผิดผลงานหรือดูแคลนความสำเร็จของพวกเขา เราก็อาจหาทางทำลาย “คู่แข่ง” ของเราได้เช่นกัน
พระเจ้าทรงเลือกซาอูลให้ทำหน้าที่ของตน (10:6-7,24) ซึ่งเป็นสถานะที่ควรจะให้ความมั่นคงกับพระองค์แทนที่จะอิจฉา เราแต่ละคนได้รับการทรงเรียกที่พิเศษเช่นกัน (อฟ.2:10) วิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะความอิจฉาคือการเลิกเปรียบเทียบกัน แต่ให้เราฉลองความสำเร็จของกันและกันแทน