ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Katara Patton

คำปลอบโยนบนเสาประตู

ขณะที่ฉันกวาดตาดูข่าวในสื่อสังคมออนไลน์หลังเหตุการณ์น้ำท่วมทางตอนใต้ของรัฐหลุยส์เซียน่าในปี 2016 ฉันได้เห็นข้อความที่เพื่อนคนหนึ่งลงเอาไว้ หลังจากรู้ว่าบ้านของเธอต้องถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ แม่ของเธอหนุนใจให้เธอแสวงหาพระเจ้าแม้ในยามที่เจ็บปวดใจกับการทำความสะอาด ต่อมาเพื่อนฉันได้ลงรูปภาพข้อพระคัมภีร์ที่เธอพบบนเสาประตูที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ตอนสร้างบ้าน การได้อ่านข้อพระคัมภีร์บนแผ่นไม้นั้นช่วยปลอบโยนเธอ

ประเพณีในการเขียนข้อพระคัมภีร์บนประตูอาจมาจากคำสั่งของพระเจ้าที่มีต่อชนชาติอิสราเอล พระเจ้าทรงสั่งให้คนอิสราเอลเขียนพระบัญญัติของพระองค์ไว้ที่เสาประตู เพื่อช่วยให้พวกเขาระลึกว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใด โดยการเขียนพระบัญญัติของพระองค์ไว้ในใจ (ฉธบ.6:6) สอนพระบัญญัติแก่ลูกหลาน (ข้อ 7) ทำสัญลักษณ์หรือทุกๆวิธีเพื่อระลึกถึงพระบัญญัติของพระเจ้า (ข้อ 8) และเขียนไว้ที่เสาประตูและทางเข้า (ข้อ 9) คนอิสราเอลมีเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคำของพระเจ้าเสมอ พวกเขาได้รับการหนุนใจให้ไม่มีวันลืมสิ่งที่พระเจ้าตรัสและไม่ลืมพันธสัญญาที่พวกเขามีกับพระเจ้า

การติดพระคำของพระเจ้าไว้ในบ้านร่วมกับการปลูกฝังความหมายของพระคำไว้ในใจเรา สามารถช่วยเราสร้างรากฐานของชีวิตซึ่งพึ่งพาในความสัตย์ซื่อของพระเจ้าตามที่เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์ พระองค์ทรงใช้พระคำเหล่านั้นเพื่อปลอบโยนเราแม้ในท่ามกลางความโศกเศร้าหรือเจ็บปวดใจจากความสูญเสียได้

สิ่งจำเป็นที่แท้จริง

ขณะเตรียมอาหาร คุณแม่ยังสาวคนหนึ่งหั่นครึ่งเนื้อสำหรับตุ๋นออกเป็นสองส่วนก่อนใส่ลงในหม้อใบใหญ่ สามีถามเธอว่าทำไมจึงหั่นเนื้อเป็นสองส่วน เธอตอบว่า “เพราะเป็นวิธีที่แม่ของฉันทำ”

คำถามของสามีกระตุ้นความสงสัยของเธอ เธอจึงถามแม่เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัตินี้ เธอตกใจเมื่อรู้ว่าที่แม่หั่นเนื้อก็เพื่อให้พอดีกับหม้อใบเล็กใบเดียวที่เธอใช้ และเพราะลูกสาวมีหม้อใบใหญ่หลายใบ การหั่นเนื้อจึงไม่จำเป็น

ธรรมเนียมปฏิบัติมากมายเริ่มขึ้นจากความจำเป็นแต่สืบทอดต่อกันมาโดยปราศจากคำถาม มันจึงกลายเป็น “วิธีที่เราทำ” เป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เราต้องการจะยึดธรรมเนียมปฏิบัติของมนุษย์ไว้ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟาริสีทำกันในสมัยนั้น พวกเขาจึงวุ่นวายใจด้วยสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ทางศาสนาข้อหนึ่งของพวกเขา (มก.7:1-5)

เมื่อพระเยซูตรัสกับพวกฟาริสีว่า “เจ้าทั้งหลายละธรรมบัญญัติของพระเจ้า และกลับไปถือตามถ้อยคำของมนุษย์ที่เขาสอนต่อๆกันมานั้น” (ข้อ 8) พระองค์ได้สำแดงให้เห็นว่าธรรมเนียมปฏิบัติไม่ควรจะมาแทนที่สติปัญญาจากพระคัมภีร์ ความปรารถนาที่จะติดตามพระเจ้าอย่างแท้จริง (ข้อ 6-7) จะเน้นไปที่ทัศนคติในใจมากกว่าการกระทำภายนอก

เป็นความคิดที่ดีที่จะคอยประเมินธรรมเนียมปฏิบัติหรือทุกสิ่งที่เรายึดถืออย่างเคร่งครัดและทำตามอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าจำเป็นอย่างแท้จริงควรจะนำมาใช้แทนที่ธรรมเนียมปฏิบัติเสมอ

สายตาใหม่

ฉันสวมแว่นตาใหม่ขณะก้าวเข้าไปในห้องนมัสการ ฉันนั่งลงและมองเห็นเพื่อนนั่งอยู่แถวเดียวกันที่อีกฝั่งหนึ่งของทางเดินในคริสตจักร ขณะที่ฉันโบกมือให้เธอ เธอดูใกล้และชัดมากๆเหมือนกับว่าฉันจะสามารถยื่นมือออกไปแตะเธอได้แม้ว่าเธอจะนั่งอยู่ไกลออกไปหลายเมตร ต่อมาเมื่อเราคุยกันหลังเลิกนมัสการ ฉันจึงได้รู้ว่าเธอนั่งอยู่ที่เดิมที่เคยนั่งเสมอมา เพียงแต่ฉันเห็นเธอได้ชัดขึ้นเพราะแว่นตาที่เพิ่งตัดมาใหม่

พระเจ้าผู้ตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ทรงรู้ว่าชนชาติอิสราเอลที่ตกเป็นเชลยของบาบิโลนต้องมีสายตาใหม่ คือการมองเห็นใหม่ พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “ดูเถิดเรากำลังกระทำสิ่งใหม่...เราจะทำทางในถิ่นทุรกันดาร” (อสย.43:19) และถ้อยคำแห่งความหวังจากพระองค์ยังได้เตือนใจด้วยว่าพระองค์ทรง “สร้าง” พวกเขา “ไถ่” พวกเขา และจะอยู่กับพวกเขา พระองค์ทรงหนุนใจพวกเขาว่า “เจ้าเป็นของเรา” (ข้อ 1)

วันนี้ไม่ว่าคุณจะกำลังเผชิญกับสิ่งใด พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถจัดเตรียมการมองเห็นที่ดีขึ้นให้กับคุณ เพื่อคุณจะทิ้งสิ่งเก่าไว้เบื้องหลังและมองหาสิ่งใหม่ โดยความรักของพระเจ้า (ข้อ 4) สิ่งใหม่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวเรา คุณมองเห็นไหมว่าพระเจ้าทรงกำลังทำสิ่งใดในท่ามกลางความเจ็บปวดและพันธนาการของคุณ ให้เราสวมแว่นตาฝ่ายวิญญาณใหม่เพื่อจะมองเห็นสิ่งใหม่ที่พระเจ้าทรงกำลังทำ แม้ในยามที่เราตกอยู่ในความยากลำบาก

ยึดมั่นในสิ่งที่ดี

เมื่อเราจอดรถใกล้กับทุ่งโล่งและเดินตัดผ่านทุ่งนั้นไปยังบ้านของเรา เรามักจะมีดอกหญ้าเหนียวๆเกาะติดมาตามเสื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูใบไม้ร่วง เจ้า “นักโบกรถเดินทาง” ตัวน้อยๆนี้จะติดตามเสื้อผ้า รองเท้า หรืออะไรก็ตามที่ผ่านไปมาและมันจะโดยสารไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป ซึ่งเป็นวิถีตามธรรมชาติในการแพร่กระจายเมล็ดของมันไปยังทุ่งหญ้าแถวนี้และทั่วทั้งโลก

ขณะที่ฉันพยายามค่อยๆแกะดอกหญ้าออก ฉันมักจะคิดถึงข้อความที่ตักเตือนผู้เชื่อในพระเยซูให้ “ยึดมั่นในสิ่งที่ดี” (รม.12:9) อาจเป็นเรื่องยากเมื่อเรากำลังพยายามที่จะรักผู้อื่น แต่เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเราให้ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้อย่างเหนียวแน่น เราจะสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปและรักด้วย “ใจจริง” ในขณะที่พระองค์ทรงนำเรา (ข้อ 9)

เมล็ดของดอกหญ้านี้จะไม่ร่วงหล่นไปเพียงแค่ใช้มือปัดออก แต่มันจะติดแน่น และเมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ดี ระลึกถึงพระเมตตา พระกรุณา และคำสั่งของพระเจ้า โดยกำลังของพระองค์เราเองก็จะสามารถยึดมั่นอยู่กับสิ่งที่เรารักได้อย่างเหนียวแน่น พระองค์ทรงช่วยให้เรา “รักกันฉันพี่น้อง” โดยไม่ลืมที่จะให้ความต้องการของผู้อื่นมาก่อนความต้องการของตัวเราเอง (ข้อ 10)

แม้ดอกหญ้าเหล่านั้นจะเป็นปัญหา แต่มันก็เตือนฉันให้ยึดโยงอยู่กับผู้อื่นด้วยความรัก และยึด “สิ่งที่ดี” ไว้ให้มั่นโดยกำลังของพระเจ้า (ข้อ 9; ดู ฟป.4:8-9)

อาหารร้อนๆ

ไก่ย่างบาร์บีคิว ถั่วแขก สปาเก็ตตี้ และขนมปัง ในวันที่อากาศเย็นในเดือนตุลาคมวันหนึ่ง คนไร้บ้านอย่างน้อย 54 คนได้รับอาหารร้อนๆนี้จากผู้หญิงคนหนึ่งที่ฉลองชีวิต 54 ปีของเธอ หญิงคนนี้และพวกเพื่อนๆตัดสินใจยกเลิกการฉลองวันเกิดในภัตตาคารและมาทำอาหารเลี้ยงคนไร้บ้านบนถนนในเมืองชิคาโก เธอหนุนใจคนอื่นๆผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้ร่วมแสดงความเมตตาเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดเช่นกัน

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงคำตรัสของพระเยซูในพระธรรมมัทธิวบทที่ 25 “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ซึ่งท่านได้กระทำแก่คนใดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้ ถึงแม้จะต่ำต้อยเพียงไร ก็เหมือนได้กระทำแก่เราด้วย” (ข้อ 40) พระองค์ตรัสคำเหล่านี้หลังจากที่ประกาศว่า ฝูงแกะของพระองค์จะได้รับเชิญเข้าสู่อาณาจักรนิรันดร์และจะได้รับมรดกของพวกเขา (ข้อ 33-34) เวลานั้น พระเยซูจะรู้ว่าพวกเขาคือผู้ที่เลี้ยงดูและให้เสื้อผ้าแก่พระองค์เพราะความเชื่อที่แท้จริงที่เขามีในพระองค์ ซึ่งต่างจากพวกผู้นำทางศาสนาที่หยิ่งผยองที่ไม่ยอมเชื่อในพระองค์ (ดู 26:3-5) แม้ “ผู้ชอบธรรม” อาจถามว่าเขาได้เลี้ยงดูและให้เสื้อผ้าแก่พระเยซูเมื่อใด (25:37) พระองค์จะทรงยืนยันกับพวกเขาว่า สิ่งที่พวกเขาได้กระทำแก่ผู้อื่นก็เหมือนได้กระทำแก่พระองค์ด้วย (ข้อ 40)

การเลี้ยงดูผู้หิวโหยเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงช่วยเราให้ดูแลประชากรของพระองค์ เป็นการสำแดงความรักที่เรามีต่อพระองค์และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ ขอพระองค์ทรงช่วยเราให้ช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนในวันนี้

แบบทดสอบกระจก

“ใครอยู่ในกระจก” นักจิตวิทยาที่กำลังทดสอบการรู้จักตนเองถามเด็กๆ โดยปกติแล้วเด็กที่อายุ 18 เดือนหรือน้อยกว่านั้นจะไม่คิดว่าตัวเองคือภาพที่อยู่ในกระจก แต่เมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาจะเข้าใจว่าพวกเขากำลังมองดูตัวเองอยู่ การรู้จักตนเองเป็นเครื่องหมายสำคัญที่บ่งชี้ถึงการเติบโตและการเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์

อีกทั้งยังเป็นสิ่งสำคัญต่อการเติบโตของผู้เชื่อในพระเยซูด้วย ยากอบเขียนแบบทดสอบกระจกไว้ กระจกก็คือ “สัจวาทะ” ของพระเจ้า (ยก.1:18) เราเห็นอะไรเมื่อเราอ่านพระวจนะ เรามองเห็นตัวเองเมื่อพระวจนะพูดถึงความรักและความถ่อมตนหรือไม่ เรามองเห็นการกระทำของตนเองเมื่อเราได้อ่านสิ่งที่พระเจ้าสั่งให้ทำหรือไม่ เมื่อเรามองเข้าไปในจิตใจและทดสอบดูการกระทำของเรา พระวจนะจะช่วยให้เรารู้ว่าการกระทำของเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อเราหรือไม่ หรือเราต้องแสวงหาการกลับใจและเปลี่ยนแปลงใหม่

ยากอบเตือนไม่ให้เราเพียงแค่อ่านพระวจนะและหันกลับไป “และลวงตนเอง” (ข้อ 22) โดยลืมสิ่งที่เรียนรู้ไปเสีย พระคัมภีร์เป็นเหมือนแผนที่เพื่อให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติปัญญาตามแผนการของพระเจ้า ในขณะที่เราอ่าน ใคร่ครวญและซึมซับพระวจนะ เราสามารถทูลขอให้พระองค์ทรงเปิดตาของเราให้มองเห็นจิตใจภายในและประทานกำลังเพื่อจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จำเป็นได้

เปิดไฟทิ้งไว้

โฆษณาของเครือโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นภาพของอาคารเล็กๆหลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ท่ามกลางคืนที่มืดมิด ไม่มีอะไรอยู่ในบริเวณนั้น แสงเดียวที่มองเห็นได้มาจากโคมไฟขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับประตูตรงระเบียงอาคาร หลอดไฟส่องสว่าง
เพียงพอสำหรับแขกที่เดินขึ้นบันไดเพื่อเข้าไปในอาคาร โฆษณาจบลงด้วยวลีที่ว่า “เราจะเปิดไฟทิ้งไว้เพื่อให้ส่องสว่างสำหรับคุณ”

ไฟที่ระเบียงเป็นเหมือนกับป้ายต้อนรับ เพื่อบอกให้นักเดินทางที่เหนื่อยล้ารู้ว่า ยังมีที่ที่สะดวกสบายที่ยังคงเปิดให้พวกเขาแวะเข้ามาพักได้ แสงสว่างนี้เชื้อเชิญให้นักเดินทางแวะเข้ามาเพื่อหลีกหนีจากการเดินทางที่แสนมืดมิดและเหน็ดเหนื่อย

พระเยซูตรัสว่า ชีวิตของผู้ที่เชื่อในพระองค์ควรจะเหมือนกับแสงไฟต้อนรับนี้ พระองค์ตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก นครซึ่งอยู่บนภูเขาจะปิดบังไว้ไม่ได้” (มธ.5:14) ในฐานะผู้เชื่อเราต้องทำให้โลกที่มืดมิดสว่างไสว

เมื่อพระองค์ทรงนำทางและประทานกำลังให้กับเรา ผู้อื่นจะ “เห็นความดีที่ [เรา ]ทำเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของ[เรา ] ผู้ทรงอยู่ในสวรรค์” (ข้อ 16) และเมื่อเราเปิดไฟของตัวเราทิ้งไว้ พวกเขาจะรู้สึกถึงการต้อนรับในการเข้ามาหาเราเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความสว่างแท้ของโลก คือ พระเยซู (ยน.8:12) ในโลกที่อ่อนล้าและมืดมิด แสงสว่างของพระองค์ยังคงส่องสว่างอยู่เสมอ

คุณเปิดไฟทิ้งไว้หรือไม่ เมื่อพระเยซูทรงส่องสว่างผ่านคุณในวันนี้ ผู้อื่นอาจจะมองเห็นและเริ่มฉายแสงของพระองค์เช่นกัน

เดินทางอย่างเบาตัว

ชายคนหนึ่งชื่อเจมส์ออกเดินทางผจญภัยเป็นระยะทาง 2,012 กิโลเมตรไปตามชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา โดยปั่นจักรยานจากเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ไปยังเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อนคนหนึ่งของฉันพบนักปั่นผู้มุ่งมั่นคนนี้ใกล้กับหน้าผาบิกเซอร์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่เขาเริ่มเดินทางเกือบ 1,500 กิโลเมตร หลังจากได้รู้ว่าเพิ่งมีคนขโมยอุปกรณ์ค้างแรมของเจมส์ไป เพื่อนของฉันเสนอจะยกผ้าห่มและเสื้อกันหนาวให้ แต่เจมส์ปฏิเสธ โดยบอกว่าเมื่อเขาเดินทางลงใต้เข้าสู่สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น เขาจะต้องเริ่มกำจัดสัมภาระ ยิ่งเขาเข้าใกล้จุดหมายมากขึ้น เขาจะยิ่งเหนื่อยและจำเป็นต้องลดน้ำหนักสัมภาระที่เขาจะนำไปด้วย

เจมส์มีความคิดที่ฉลาด และเป็นภาพที่สะท้อนสิ่งที่ผู้เขียนฮีบรูกำลังพูดถึงอีกด้วย เมื่อเราดำเนินไปตามเส้นทางของชีวิต เราจำเป็นต้อง “​​ละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่และบาปที่เกาะแน่น” (12:1) เราจำเป็นต้องเดินทางด้วยสัมภาระที่เบาจึงจะไปต่อได้

ในฐานะผู้เชื่อพระเยซู การวิ่งแข่งนี้จำเป็นต้องมี “ความเพียรพยายาม” (ข้อ 1) และวิธีหนึ่งที่จะทำให้แน่ใจว่าเราจะเดินต่อไปได้คือ การปลดเปลื้องน้ำหนักของการไม่ยกโทษ ความน้อยใจ และบาปอื่นๆที่จะขัดขวางเรา

หากปราศจากความช่วยเหลือของพระเยซู เราจะไม่สามารถไปต่อได้อย่างเบาตัวและวิ่งในการแข่งนี้ได้ดี ให้เรามองไปที่ “​ผู้​บุกเบิก​ความ​เชื่อ และ​ผู้​ทรง​ทำ​ให้​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​สมบูรณ์” เพื่อที่เราจะไม่ “รู้สึกท้อถอย” (ข้อ 2-3)

การเคลื่อนของพระเจ้า

ฉันชอบเกมต่อคำศัพท์ซึ่งเป็นเกมที่ดี ครั้งหนึ่งหลังจบเกมเพื่อนได้ตั้งชื่อการเล่นตามชื่อของฉันว่า “คาทาร่า” ฉันมีคะแนนตามมาตลอด แต่ในช่วงท้ายของเกม ฉันลงคำศัพท์ด้วยอักษรเจ็ดตัวโดยไม่มีตัวอักษรเหลือในถุงเลย นี่หมายความว่าเกมจบลงและฉันได้โบนัสห้าสิบคะแนนรวมทั้งคะแนนทั้งหมดจากตัวอักษรที่เหลือของคู่ต่อสู้ทุกคน ซึ่งทำให้ฉันขยับขึ้นเป็นที่หนึ่งจากที่โหล่ เวลานี้เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเล่นเกมและบางคนมีคะแนนตามอยู่ พวกเขาจะนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและหวังว่าจะได้ “คาทาร่า”

การระลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีพลังที่จะยกระดับจิตวิญญาณและให้ความหวังแก่เรา และนั่นคือสิ่งที่คนอิสราเอลทำเมื่อฉลองปัสกา เทศกาลปัสกาเป็นการระลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทำเพื่อคนอิสราเอลครั้งอยู่ในอียิปต์ พวกเขาถูกฟาโรห์และคนของพระองค์ร่วมกันกดขี่ (อพย.1:6-14) เมื่อพวกเขาร้องทูล พระเจ้าทรงช่วยกู้ด้วยวิธีที่ยิ่งใหญ่ คือทรงให้พวกเขาทาเลือดบนวงกบประตูเพื่อที่ทูตแห่งความตายจะ “ผ่านเว้น” บุตรหัวปีและสัตว์หัวปีของพวกเขา (12:12-13) แล้วพวกเขาจะรอดจากความตาย

หลายศตวรรษต่อมาผู้เชื่อในพระเยซูรับพิธีมหาสนิทเป็นการระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์บนกางเขน โดยทรงจัดเตรียมสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อรับการช่วยกู้จากบาปและความตาย (1 คร.11:23-26) การระลึกถึงราชกิจแห่งความรักของพระเจ้าในอดีตทำให้เรามีความหวังในวันนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา