ในยามที่คับแค้นใจ
หลายปีที่แล้วเพื่อนคนหนึ่งบอกผมว่า เธอรู้สึกกลัวมากขณะพยายามจะข้ามถนนที่ตัดกันหลายสาย “ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เลย ทุกอย่างที่ฉันถูกสอนมาเกี่ยวกับการข้ามถนนดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์เลย ฉันกลัวมากจนต้องยืนรอรถโดยสารอยู่ตรงหัวมุมถนน และขอคนขับที่จะกรุณาให้ฉันนั่งไปลงที่อีกฝั่งหนึ่งของถนน ฉันใช้เวลานานมากกว่าจะเรียนรู้วิธีข้ามทางแยกนี้ได้สำเร็จ ทั้งในฐานะคนเดินถนนและคนขับรถในเวลาต่อมา”
เช่นเดียวกับความซับซ้อนของแยกถนนที่อันตราย การหาวิธีจัดการกับชีวิตที่มีความซับซ้อนอาจเป็นเรื่องอันตรายยิ่งกว่า แม้สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงของผู้เขียนพระธรรมสดุดีในบทที่ 118 จะมีความไม่แน่นอน แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องยากและควรจะต้องอธิษฐาน ผู้เขียนสดุดีร้องทูลว่า “ข้าพเจ้าได้ร้องทูลพระเจ้า จากที่คับแค้นใจของข้าพเจ้า” (ข้อ 5) และความมั่นใจในพระเจ้าของท่านไม่ได้ผิดไป “มีพระเจ้าอยู่ฝ่ายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่กลัว...พระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายข้าพเจ้า เป็นผู้ทรงช่วยข้าพเจ้า” (ข้อ 6-7)
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่เราจะรู้สึกกลัวเมื่อต้องเปลี่ยนงาน เปลี่ยนโรงเรียนหรือย้ายบ้าน ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเมื่อสุขภาพย่ำแย่ ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป หรือสูญเสียทรัพย์สิน แต่ความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าพระเจ้าทรงทอดทิ้งเรา ในยามที่คับแค้นใจ ขอให้เรายิ่งเข้าไปสู่การทรงสถิตของพระองค์ด้วยคำอธิษฐาน
ความกรุณาต่อคุณและผม
หนึ่งในผลกระทบที่ตามมาจากการระบาดของโควิด 19 คือการเทียบท่าเรือสำราญและกักตัวผู้โดยสาร หนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีทเจอนัล เสนอบทความพิเศษที่มีการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวบางคน โดยให้แสดงความคิดเห็นว่าการกักตัวเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นอย่างไรบ้าง มีผู้โดยสารรายหนึ่งพูดติดตลกว่า คู่สมรสของตนซึ่งมีความจำดีเยี่ยมสามารถหยิบยกความผิดทุกอย่างที่เขาเคยทำมาได้ และเขารู้สึกได้ว่าเธอยังไม่จบ!
เรื่องราวเช่นนี้อาจทำให้เรายิ้ม เตือนเราถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชนและให้สติเราว่า เรามักจะยึดติดเกินไปกับสิ่งที่เราควรจะปล่อยวาง แต่กระนั้นจะมีสิ่งใดที่ช่วยให้เรามีความกรุณาต่อผู้ที่ทำร้ายเราได้บ้าง ให้เรามองดูพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของเราตามที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้เห็นในพระคัมภีร์ตอนต่างๆ อย่างเช่นสดุดี 103:8-12
การแปลความของพระคัมภีร์ฉบับเดอะแมสเสจ (The Message) ในข้อ 8-10 นั้นน่าสนใจ “พระเจ้าทรงพระกรุณาและมีพระคุณ ทรงกริ้วช้าและอุดมด้วยความรักมั่นคง พระองค์จะไม่ทรงจับผิด ดุว่า หรือทรงกริ้วอยู่เป็นนิตย์ พระองค์มิได้ทรงปฏิบัติต่อเราตามเรื่องบาปของเรา หรือทรงลงโทษอย่างเต็มขนาดตามความบาปผิดของเรา” การทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าในขณะที่เราอ่านพระคัมภีร์ด้วยใจอธิษฐาน อาจทำให้เราเปลี่ยนความคิดในเรื่องแผนมุ่งร้ายที่จะเอาคืนหรือลงโทษ และอาจกระตุ้นให้เราอธิษฐานเพื่อตัวเองและเผื่อคนเหล่านั้นที่เราอาจถูกทดลองให้ทำร้ายพวกเขาด้วยการไม่สำแดงพระคุณ ความเมตตากรุณา และการให้อภัย
การกลับใจที่ได้รับพร
“พัง” (Broke) เป็นฉายาที่เกรดี้ใช้และตัวอักษรห้าตัวนี้ถูกใส่ลงไปบนแผ่นป้ายทะเบียนรถของเขาอย่างภาคภูมิ แม้ไม่ได้ตั้งใจให้มีความหมายฝ่ายวิญญาณ แต่ชื่อนี้ก็เข้ากับการเป็นนักพนัน คนสำส่อนและคนหลอกลวงในวัยกลางคนอย่างเขา ชีวิตของเขาพัง เขาล้มละลายและห่างไกลจากพระเจ้า แต่ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนไปในค่ำวันหนึ่งเมื่อเขารู้สึกสำนึกผิดโดยการทรงนำของพระวิญญาณในห้องพักของโรงแรม เขาบอกกับภรรยาว่า “ผมคิดว่า ผมกำลังจะได้รับความรอด!” ค่ำวันนั้นเขาสารภาพบาปที่เคยคิดว่าจะเอาลงหลุมศพไปพร้อมกับตัวเขาต่อพระเยซู และขอให้พระองค์ทรงอภัยให้ 30 ปีต่อมาชายที่ไม่คิดว่าจะอยู่จนอายุ 40 ยังคงมีชีวิตอยู่และรับใช้พระเจ้าในฐานะผู้เชื่อที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระเยซู แผ่นป้ายทะเบียนรถของเขาก็เปลี่ยนจาก “พัง” เป็น “กลับใจ” ด้วยเช่นกัน
กลับใจ นั่นคือสิ่งที่เกรดี้ทำ และนั่นคือสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกให้ชนชาติอิสราเอลทำในพระธรรมโฮเชยา 14:1-2 “อิสราเอลเอ๋ย จงกลับมาหา พระเยโฮ-วาห์พระเจ้าของเจ้า...จงนำถ้อยคำมาด้วยและกลับมาหาพระเจ้า จงทูลพระองค์ว่า ‘ขอทรงโปรดยกความผิดบาปทั้งหมด ขอทรงรับสิ่งดี’” ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก จะมากหรือน้อยก็ตาม ความบาปของเราทำให้เราแยกจากพระเจ้า แต่ช่องว่างนั้นถูกปิดลงได้โดยการหันจากความบาปกลับมาหาพระเจ้า และรับการอภัยที่พระองค์ประทานผ่านการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เชื่อในพระเยซูที่กำลังเผชิญความทุกข์ยาก หรือเป็นผู้ที่มีชีวิตเหมือนเกรดี้ การอภัยโทษบาปของคุณอยู่ห่างเพียงแค่การอธิษฐาน
การกู้ภัยน้ำลึก
ปริมาณน้ำฝนที่ตกในเมืองเวเวอร์ลีย์ รัฐเทนเนสซี่ในเดือนสิงหาคม ปี 2564 นั้นมีมากกว่าที่พยากรณ์ไว้ถึงสามเท่า ผลที่ตามมาภายหลังพายุอันรุนแรงนี้ มีผู้เสียชีวิตยี่สิบคนและบ้านเรือนหลายร้อยหลังถูกทำลาย หากไม่ใช่ด้วยจิตใจที่มีเมตตาและความเชี่ยวชาญของนักบินเฮลิคอปเตอร์ชื่อ โจเอล โบเยอส์ จำนวนผู้เสียชีวิตคงมีมากกว่านี้
นักบินนำเครื่องขึ้นหลังได้รับโทรศัพท์จากผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นห่วงคนที่เธอรัก นอกจากบ้านที่ถูกไฟไหม้และรถยนต์ที่ติดอยู่บนต้นไม้ โบเยอส์บอกว่า “ข้างล่างนั่นมันไม่มีอะไรเลยนอกจากน้ำโคลนที่ไหลเชี่ยว” อย่างไรก็ตาม เขาสามารถช่วยชีวิต 12 คนที่ติดอยู่บนหลังคาบ้านได้อย่างกล้าหาญ
บ่อยครั้งที่ชีวิตของเราต้องเผชิญสถานการณ์คับขันเหมือนกระแสน้ำท่วมที่พัดเราให้หมุนวนไป ในเวลาแห่งความไม่แน่นอนและไม่มั่นคง เราอาจมีความรู้สึกท่วมท้น ไม่ปลอดภัย จน “เกินรับไหว” ทั้งทางจิตใจ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ แต่เราไม่จำเป็นต้องสิ้นหวัง
ในสดุดี 18 เราอ่านพบว่าศัตรูของดาวิดมีมากมายและมีกำลังมาก แต่พระเจ้าของท่านยิ่งใหญ่กว่า ยิ่งใหญ่เพียงใดน่ะหรือ ทรงยิ่งใหญ่และทรงอำนาจ (ข้อ 1) จนดาวิดต้องใช้การเปรียบเทียบหลายอย่าง (ข้อ 2) เพื่อพรรณนาถึงพระองค์ พระเจ้าทรงอานุภาพพอที่จะช่วยชีวิตท่านจากน้ำลึกและศัตรูผู้เข้มแข็ง (ข้อ 16-17) ยิ่งใหญ่เพียงใดหรือ พระองค์ทรงยิ่งใหญ่พอที่เราจะร้องเรียกหาพระองค์โดยพระนามของพระเยซู ไม่ว่า “น้ำ” ที่ล้อมรอบชีวิตของเราอยู่จะมากมายหรือลึกสักเพียงใด (ข้อ 3)
ครัวเรือนซึ่งไม่แตกแยก
วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1858 อับราฮัม ลินคอล์นในฐานะผู้ชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯคนใหม่จากรัฐอิลลินอยส์ในนามพรรครีพับลิกัน ได้กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดังเรื่อง “ครัวเรือนซึ่งแตกแยก” ที่เน้นถึงความตึงเครียดระหว่างกลุ่มต่างๆในอเมริกาเกี่ยวกับระบบทาส ซึ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่มิตรและศัตรูของเขา ลินคอล์นรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะใช้คำอุปมา “ครัวเรือนซึ่งแตกแยก” ที่พระเยซูตรัสในมัทธิว 12:25 เพราะเป็นที่รู้จักและเข้าใจง่าย เขาจึงใช้อุปมานี้ “เพื่อที่จะปะทะความคิดผู้คนเพื่อปลุกพวกเขาให้พ้นภัยในช่วงเวลาต่างๆ”
ในขณะที่ครัวเรือนซึ่งแตกแยกจะตั้งอยู่ไม่ได้ ความหมายโดยนัยก็คือครัวเรือนซึ่งไม่แตกแยกจะตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว โดยหลักการแล้วนี่คือสิ่งที่ครอบครัวของพระเจ้าถูกออกแบบให้เป็น (อฟ.2:19) ซึ่งแม้จะประกอบด้วยคนที่มีภูมิหลังหลากหลาย แต่พวกเราได้คืนดีกับพระเจ้า (และกับกันและกัน) ผ่านการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูบนกางเขน (ข้อ 14-16) เมื่อคำนึงถึงความจริงนี้ (ดู อฟ.3) เปาโลมอบคำสอนนี้แก่ผู้เชื่อในพระเยซูว่า “จงเพียรพยายามให้คงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งพระวิญญาณทรงประทานนั้นด้วยสันติภาพเป็นพัน-ธนะ” (4:3)
ปัจจุบันเมื่อความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นได้คุกคามเพื่อแบ่งแยกผู้คนซึ่งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เช่น ครอบครัวของเราและเพื่อนผู้เชื่อ พระเจ้าทรงสามารถที่จะประทานปัญญาและกำลังที่จำเป็นเพื่อคงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ สิ่งนี้จะทำให้เราเป็นแสงสว่างในโลกที่มืดมิดและแตกแยก
แค่ทูลขอ!
เสียงโห่ร้องที่ร่าเริงสดใสซึ่งดังลอดออกมาจากห้องใต้ดินของเราเป็นเสียงของเชอร์ลี่ย์ภรรยาผมเอง เป็นเวลาหลายชั่วโมงที่เธอปล้ำสู้อยู่กับโครงการจดหมายข่าวและเธอพร้อมจะทำมันให้สำเร็จ ท่ามกลางความวิตกกังวลและความไม่แน่นอนว่าจะเดินต่อไปอย่างไร เธออธิษฐานทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังติดต่อเพื่อนบนเฟซบุ๊กและในไม่ช้าโครงการก็เสร็จสมบูรณ์ได้ด้วยการทำงานเป็นทีม
แม้โครงการจดหมายข่าวจะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยในชีวิต แต่สิ่งเล็กน้อย (และไม่เล็กจนเกินไป) ก็สามารถสร้างความกังวลหรือความวิตกได้ บางทีคุณอาจเป็นพ่อแม่มือใหม่ที่เพิ่งหัดเลี้ยงลูกเป็นครั้งแรก เป็นนักเรียนที่กำลังเผชิญกับความท้าทายทางวิชาการที่เพิ่งค้นพบ เป็นคนที่กำลังเสียใจกับการสูญเสียคนที่คุณรัก หรือเป็นคนที่มีปัญหากับที่บ้าน ในที่ทำงาน หรือในงานรับใช้ บางครั้งเราก็วิตกจนเกินเหตุเพราะเราไม่ได้ทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า (ยก.4:2)
เปาโลชี้ให้สาวกของพระเยซูในเมืองฟีลิปปีและเราเห็นถึงแนวป้องกันแรกในยามคับขัน “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ” (ฟป.4:6) เมื่อชีวิตเริ่มซับซ้อน เราต้องการสิ่งย้ำเตือนเช่นในบทเพลงชีวิตคริสเตียน “มีสหายเลิศคือพระเยซู” ที่ร้องว่า “เหตุไฉนเราลืมพระเจ้าบ่อย ใจเป็นทุกข์โดยไม่มีเหตุ เพราะการไหว้วอนเราได้ท้อถอย ไม่ได้ทูลผู้ทรงฤทธิ์เดช”
และบางทีเมื่อเราทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์จะนำเราไปพบกับคนที่สามารถช่วยเราได้
พระองค์ทรงทราบสิ่งที่อยู่ในใจของฉัน
หลังจากลูกค้าคนก่อนหน้าผมทำการชำระเงินที่เครื่องรับชำระด้วยตัวเองของร้านค้าเสร็จ ผมจึงเดินเข้าไปเพื่อสแกนสินค้าของผมต่อ จู่ๆก็มีคนที่ดูท่าทางโกรธมากมาดักหน้าผม ซึ่งผมไม่ทันสังเกตจริงๆว่าเธอเป็นคิวถัดไป เมื่อเห็นว่าผมเป็นฝ่ายผิด ผมจึงกล่าวอย่างจริงใจว่า “ขอโทษครับ” เธอตอบกลับว่า (แม้จะไม่ได้มีเพียงคำเหล่านี้เท่านั้น) “ไม่ คุณไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ!”
คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่รู้ตัวว่าทำผิดและพยายามแก้ไขให้ถูกต้องแต่กลับถูกปฏิเสธหรือไม่ เป็นความรู้สึกที่ไม่ดีเลยเมื่อถูกเข้าใจผิดหรือถูกตัดสินแบบผิดๆ และยิ่งคนที่เราทำผิดด้วยหรือทำผิดต่อเราเป็นคนใกล้ชิด มันก็ยิ่งเจ็บปวด เพราะเราคาดหวังว่าพวกเขาจะต้องเข้าใจสิ่งที่อยู่ในใจของเรา!
ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์นำเสนอภาพของผู้ปกครองที่พระเจ้าทรงเจิมตั้งไว้ด้วยพระปัญญาเพื่อการพิพากษาอันสมบูรณ์แบบในอิสยาห์ 11:1-5 “ท่านจะไม่พิพากษาตามซึ่งตาท่านเห็น หรือตัดสินตามซึ่งหูท่านได้ยิน แต่ท่านจะพิพากษาคนจนด้วยความชอบธรรม และตัดสินเผื่อผู้มีใจถ่อมแห่งแผ่นดินโลกด้วยความเที่ยงธรรม” (ข้อ 3-4) สิ่งนี้ได้สำเร็จลงในชีวิตและพระราชกิจของพระเยซู แม้ความบาปและความอ่อนแอจะทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้เสมอไป แต่เราเชื่อมั่นได้ว่าพระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์ผู้ทรงเห็นและทรงรู้ทุกสิ่ง ทรงรู้จักเราอย่างดีและทรงตัดสินเราอย่างชอบธรรม
อธิษฐานลงลึกในช่วงเวลามืดมน
“ฉันเคยมีช่วงเวลาที่มืดมน” คำพูดนี้ถ่ายทอดความทุกข์ทรมานใจของหญิงผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในช่วงที่มีโรคระบาดใหญ่โควิด 19 การต้องปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่เป็นหนึ่งในความท้าทายของเธอ และในความสับสนวุ่นวาย เธอยอมรับว่าเธอต่อสู้กับความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เธอหลุดพ้นจากการจมดิ่งซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการได้เล่าปัญหาให้เพื่อนที่ห่วงใยเธอฟัง
เราทุกคนต่างหวั่นไหวกับชั่วโมง วัน และฤดูกาลที่สับสนว้าวุ่น หุบเขาและความยากลำบากไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การออกจากสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องท้าทาย การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตบางครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็น
ในสดุดี 143 เราได้ยินและได้รับการสอนจากคำอธิษฐานของดาวิดในช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของท่าน เราไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คำอธิษฐานของท่านต่อพระเจ้านั้นตรงไปตรงมาและเต็มไปด้วยความหวัง “ศัตรูไล่กวดข้าพระองค์ มันขยี้ชีวิตข้าพระองค์ลงถึงดิน มันได้กระทำให้ข้าพระองค์นั่งในที่มืดเหมือนคนที่ตายนานแล้ว เพราะฉะนั้นใจของข้าพระองค์อ่อนระอาอยู่ในข้าพระองค์ จิตใจภายในข้าพระองค์ก็กลัวลาน” (ข้อ 3-4) สำหรับผู้เชื่อในพระเยซูการยอมรับกับตนเอง กับเพื่อน หรือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเรานั้นไม่พอ เราต้องเข้ามาหาพระเจ้าอย่างกระตือรือร้น (ทั้งความคิดและทุกอย่าง) ด้วยคำอธิษฐานที่มีการวิงวอนเช่นเดียวกับที่พบในสดุดี 143:7-10 ช่วงเวลาแห่งความมืดมนของเราอาจเป็นช่วงเวลาแห่งการอธิษฐานลงลึกเพื่อแสวงหาแสงสว่างและชีวิตที่มีพระเจ้าเท่านั้นจะประทานให้ได้
ชื่นชมยินดีที่บ้านของไซม่อน
ผมไม่เคยลืมการเดินทางไปบ้านของไซม่อน ภายใต้ท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยดวงดาวในเมืองยาฮูรูรู ประเทศเคนย่า เราเดินทางไปบ้านหลังน้อยของเขาเพื่อทานอาหารเย็น พื้นดินและแสงตะเกียงสะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างอัตคัดของเขา ผมจำไม่ได้ว่าอาหารมื้อนั้นคืออะไร แต่สิ่งที่ผมไม่อาจลืมคือความชื่นชมยินดีของไซม่อนที่เราไปเป็นแขกของเขา การต้อนรับด้วยน้ำใจไมตรีของเขานั้นเป็นเหมือนกับพระเยซู คือไม่เห็นแก่ตัว สัมผัสชีวิต และนำความปีติยินดีมาให้
ใน 1 โครินธ์ 16:15-18 เปาโลเอ่ยถึงครอบครัวหนึ่ง คือครอบครัวของสเทฟานัส (ข้อ 15) ซึ่งมีชื่อเสียงในการปรนนิบัติ พวกเขา “ได้ถวายตัวไว้ในการปรนนิบัติธรรมิกชนทั้งปวง” (ข้อ 15) แม้การปรนนิบัติโดยรวมของพวกเขาจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ (ข้อ 17) แต่ผลที่ตามมาเป็นสิ่งที่เปาโลเขียนว่า “เขาทำให้จิตใจของข้าพเจ้า และใจท่านทั้งหลายชื่นชมยินดี” (ข้อ 18)
เมื่อเรามีโอกาสแบ่งปันกับผู้อื่น เรามักจะสนใจให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อม และสิ่งต่างๆให้เหมาะกับวาระโอกาสนั้นๆ แต่บางครั้งเราก็ลืมไปว่า แม้ “สิ่งใด” และ “ที่ใด” จะสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด มื้ออาหารที่น่าจดจำนั้นยอดเยี่ยมและบรรยากาศอันรื่นรมย์ก็มีส่วน แต่อาหารมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถบำรุงเลี้ยงและเสริมสร้างกำลังใจได้อย่างเต็มที่ ความชื่นชมยินดีที่แท้จริงมาจากพระเจ้าและเป็นเรื่องของจิตใจ มันสามารถส่งไปถึงใจของผู้อื่น และยังคงหล่อเลี้ยงจิตใจได้ต่อเนื่องยาวนานแม้มื้ออาหารจะสิ้นสุดลงแล้ว