ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Anne Cetas

อิสรภาพบนเส้นทาง

ในการเล่นเบสบอลแบบมีเสียง ผู้เล่นที่พิการทางสายตาจะฟังเสียงดังติ๊ดๆ จากลูกบอลเพื่อจะรู้ว่าเขาต้องทำอะไรและไปทางไหน ผู้ตีที่มีผ้าปิดตา (เพื่อความเท่าเทียมในระดับของความพิการที่แตกต่างกัน) และพิชเชอร์ที่มองเห็นอยู่ทีมเดียวกัน เมื่อผู้ตีหวดถูกลูกบอลที่มีเสียง เขาจะวิ่งไปทางเบสที่มีเสียงสั่นถี่ๆ ผู้ตีจะต้องออกจากการแข่งขันหากผู้เล่นฝ่ายรับ “เก็บ” บอลไว้ได้ก่อนที่ผู้ตีจะวิ่งไปถึงเบส มิเช่นนั้นคะแนนจะเป็นของผู้ตี ผู้เล่นคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่าส่วนที่ดีที่สุดคือการที่เขารู้สึกถึง “อิสรภาพในการวิ่ง” เพราะเขารู้ว่าทางที่เขาจะวิ่งไปนั้นโล่งและมีทิศทางที่แน่นอน

หนังสืออิสยาห์บอกเราว่าพระเจ้า “ผู้เที่ยงธรรมทรงกระทำให้วิถีของคนชอบธรรมราบรื่น” (26:7) ณ เวลาที่พระธรรมตอนนี้ถูกเขียนขึ้น การเดินทางของชนชาติอิสราเอลไม่ใกล้เคียงกับคำว่าราบรื่นเอาเสียเลย พวกเขาต้องรับการพิพากษาจากพระเจ้าเพราะการไม่เชื่อฟังของเขา อิสยาห์กระตุ้นเตือนพวกเขาให้ดำเนินในความเชื่อและการเชื่อฟัง ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากแต่ราบรื่น การรอคอย “พระนามอันเป็นที่ระลึกของพระองค์” (ข้อ 8) ควรเป็นความปรารถนาของพวกเขา

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เราได้รู้จักพระเจ้ามากขึ้นและพัฒนาความไว้วางใจของเราในพระลักษณะอันสัตย์ซื่อของพระองค์เมื่อเราเดินตามวิถีของพระองค์ด้วยการเชื่อฟัง เส้นทางชีวิตของเราอาจไม่ได้ดูหรือรู้สึกราบรื่นเสมอไป แต่เราสามารถเชื่อมั่นเมื่อเราไว้วางใจว่า พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเราและทรงจัดเตรียมหนทางเพื่อเรา เราเองก็สามารถสัมผัสถึงอิสรภาพได้ เมื่อเราวิ่งด้วยการเชื่อฟังไปบนเส้นทางที่ดีที่สุดที่พระเจ้าจัดเตรียมไว้เพื่อเรา

ใครสมควรได้รับคำยกย่อง

ตั้งแต่บันไดเวียนไปจนถึงห้องนอนที่กว้างขวาง จากพื้นไม้เนื้อแข็งไปจนถึงพรมหนานุ่ม จากห้องซักผ้าขนาดใหญ่ไปจนถึงห้องทำงานที่มีการจัดระเบียบอย่างดี นายหน้าได้เผยให้เห็นบ้านที่เหมาะกับสามีภรรยาวัยหนุ่มสาว พวกเขาชื่นชมความงามในทุกซอกมุมที่เดินไป “คุณเลือกที่ที่ดีที่สุดให้กับเรา บ้านหลังนี้น่าทึ่งมาก!” แล้วนายหน้าจึงตอบในสิ่งที่ฟังดูค่อนข้างแปลกในความคิดของพวกเขาแต่ก็เป็นความจริง “ฉันจะส่งต่อคำชมของคุณไปให้กับผู้สร้างบ้านหลังนี้ ผู้ที่สร้างสมควรได้รับคำยกย่อง ไม่ใช่ตัวบ้านหรือคนที่พามาดู”

คำพูดของนายหน้าสะท้อนคำกล่าวของผู้เขียนฮีบรูที่ว่า “ต้นตระกูลย่อมมีเกียรติมากกว่าครอบครัว” (3:3) ผู้เขียนกำลังเปรียบเทียบความสัตย์ซื่อของพระเยซูพระบุตรของพระเจ้ากับผู้เผยพระวจนะโมเสส (ข้อ 1-6) แม้ว่าโมเสสจะได้รับสิทธิพิเศษให้พูดกับพระเจ้าหน้าต่อหน้าและเห็นสัณฐานของพระองค์ (กดว.12:8) แต่ท่านก็ยังเป็นเพียง “ผู้รับใช้” ในพระนิเวศของพระเจ้า (ฮบ.3:5) พระคริสต์ในฐานะพระผู้สร้าง (1:2,10) สมควรได้รับเกียรติในฐานะ “ผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง” ของพระเจ้า และในฐานะพระบุตร “ที่ทรงอำนาจเหนือชุมชนอันเป็นครอบครัวของพระเจ้า” (3:4,6) ครอบครัวของพระเจ้าก็คือประชากรของพระองค์

เมื่อเรารับใช้พระเจ้าอย่างสัตย์ซื่อ ขอให้เราตระหนักว่าพระเยซูองค์พระผู้สร้างของพระเจ้าคือผู้ที่ทรงสมควรได้รับเกียรติ คำยกย่องใดๆที่เราซึ่งเป็นครอบครัวของพระเจ้าได้รับนั้นล้วนเป็นของพระองค์

ตามหาการเยียวยาภายใน

คาร์สันเป็นคนที่ยุ่งอยู่เสมอ เขาล่าสัตว์ ตกปลา ขี่มอเตอร์ไซค์วิบาก และเล่นสเก็ตบอร์ด เขารักทุกกิจกรรมกลางแจ้ง แต่เขาประสบอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์และเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงอกลงมา ไม่นานความซึมเศร้าเริ่มก่อตัวและเขามองไม่เห็นอนาคต แล้ววันหนึ่งเพื่อนพาเขาออกไปล่าสัตว์อีกครั้ง เป็นช่วงเวลาที่เขาลืมอาการบาดเจ็บไปพักหนึ่งเมื่อได้ชื่นชมความงดงามรอบตัว ประสบการณ์นั้นนำมาซึ่งการเยียวยาภายในแก่เขาและก่อให้เกิดเป้าหมายใหม่ในชีวิต คือการสร้างประสบการณ์เดียวกันนี้ให้แก่คนที่เป็นเหมือนกับเขาผ่านองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรชื่อว่า ฮันท์ทูฮีล เขากล่าวว่าอุบัติเหตุนั้นเป็น “พระพรที่ซ่อนอยู่... และตอนนี้ผมสามารถให้กลับคืนไป ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมอยากทำมาตลอด ผมมีความสุข” เขาตื่นเต้นกับการจัดเตรียมสถานที่ให้คนเหล่านั้นที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และผู้ที่ดูแลพวกเขาให้ได้พบการเยียวยา

ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ได้ทำนายถึงการเสด็จมาของผู้ซึ่งจะนำการรักษาเยียวยามาสู่คนที่ชอกช้ำ (อสย.61) พระองค์จะ “เล้าโลมคนที่ชอกช้ำระกำใจ” และ “เล้าโลมบรรดาผู้ที่ไว้ทุกข์” (ข้อ 1-2) หลังจากพระเยซูทรงอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้ที่ธรรมศาลาในบ้านเกิดของพระองค์แล้วก็ทรงตรัสว่า “คัมภีร์ตอนนี้ที่ท่านได้ยินกับหูของท่านก็สำเร็จในวันนี้แล้ว” (ลก.4:21) พระเยซูเสด็จมาเพื่อช่วยเราให้รอดและทำให้เราสมบูรณ์

คุณกำลังต้องการการเยียวยาภายในหรือเปล่า จงหันไปหาพระเยซูและพระองค์จะประทาน “ผ้าห่มแห่งการสรรเสริญแทนจิตใจที่ท้อถอย” (อสย.61:3) ให้กับคุณ

ท้าทายให้รับใช้

แม้จะอายุเพียงสิบสามปี แต่ดิเอเวียนยอมรับการท้าทายที่จะรับใช้ผู้อื่น เขาและแม่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เรียกร้องให้เด็กๆออกมาตัดหญ้าห้าสิบสนามโดยไม่คิดค่าจ้างในช่วงปิดภาคฤดูร้อน เป้าหมายของพวกเขาคือการช่วยเหลือเหล่าทหารผ่านศึก คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ หรือใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ริเริ่ม (คือผู้ที่เคยตัดหญ้าห้าสิบสนามในห้าสิบรัฐ) ได้สร้างความท้าทายนี้ขึ้นเพื่อสอนให้เห็นถึงความสำคัญของจรรยาบรรณในการทำงานและการตอบแทนสังคม ในท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุและกิจกรรมหลากหลายที่วัยรุ่นสามารถเลือกทำได้ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน ดิเอเวียนเลือกที่จะรับใช้ผู้อื่นและทำสิ่งท้าทายให้สำเร็จ

การท้าทายให้รับใช้มีมาถึงผู้เชื่อในพระเยซูด้วยเช่นกัน ในตอนค่ำก่อนที่พระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์เพื่อมนุษย์ทุกคน พระเยซูทรงรับประทานอาหารเย็นกับเพื่อนๆของพระองค์ (ยน.13:1-2) โดยทรงทราบดีถึงการทนทุกข์และการสิ้นพระชนม์ที่พระองค์ต้องเผชิญในเวลาอันใกล้นี้ แต่พระองค์ลุกจากโต๊ะอาหาร ทรงเอาผ้าเช็ดตัวคาดเอวและเริ่มล้างเท้าเหล่าสาวก (ข้อ 3-5) พระองค์ตรัสว่า “ฉะนั้นถ้าเราผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และพระอาจารย์ของท่านได้ล้างเท้าของพวกท่าน พวกท่านก็ควรจะล้างเท้าของกันและกันด้วย” (ข้อ 14)

พระเยซูผู้เป็นแบบอย่างของการเป็นผู้รับใช้ที่ถ่อมใจของเรานั้นทรงห่วงใยผู้คน โดยทรงรักษาคนตาบอดและเจ็บป่วย ทรงสอนข่าวดีแห่งแผ่นดินของพระองค์ และประทานชีวิตเพื่อเพื่อนๆของพระองค์ เพราะพระคริสต์ทรงรักคุณ ขอให้คุณถามพระองค์ว่าทรงต้องการให้คุณรับใช้ใครในสัปดาห์นี้

อ้างว้างเพียงลำพังหรือ

ครอบครัวของซูได้พังทลายลงตรงหน้า สามีของเธอจู่ๆก็ออกจากบ้านไปทิ้งให้เธอและลูกๆรู้สึกสับสนและโกรธเคือง เธอเคยชวนสามีไปพบกับผู้ให้คำปรึกษาเรื่องครอบครัว แต่เขาปฏิเสธโดยอ้างว่าปัญหาทั้งหมดมาจากเธอ ความหวาดกลัวและสิ้นหวังประดังเข้ามาเมื่อเธอตระหนักว่าเขาคงไม่กลับมาอีกแล้ว เธอจะดูแลตัวเองและลูกๆตามลำพังได้ไหม

ฮาการ์คนรับใช้ของอับราฮัมและซาราห์ต้องเผชิญกับความคิดแบบเดียวกันนี้ พวกเขาหมดความอดทนที่จะรอคอยพระเจ้าให้ประทานลูกชายตามพระสัญญา (ปฐก.12, 15) ซาราห์จึงยกฮาการ์ให้อับราฮัม และฮาการ์ได้ให้กำเนิดอิชมาเอล (ปฐก.16:1-4, 15) อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเจ้าทรงทำตามพระสัญญาของพระองค์และซาราห์ให้กำเนิดอิสอัค ความตึงเครียดในครอบครัวปะทุขึ้นจนอับราฮัมต้องขับไล่ฮาการ์และอิชมาเอลลูกชายของพวกเขา โดยให้เพียงน้ำและอาหารติดตัวไป (ปฐก.21:8-21) คุณจินตนาการถึงความสิ้นหวังของเธอได้ไหม ไม่นานอาหารและน้ำก็หมดเมื่ออยู่ในทะเลทราย ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรและไม่อยากเห็นลูกชายตายต่อหน้า ฮาการ์วางลูกไว้ใต้พุ่มไม้และเดินห่างออกไปทั้งสองคนเริ่มร้องไห้ แต่ “พระเจ้าทรงสดับเสียงของเด็ก” (ข้อ 17) พระองค์ทรงได้ยินเสียงร้องไห้ของพวกเขา จึงได้ทรงประทานสิ่งจำเป็นและสถิตกับพวกเขา

ในเวลาที่สิ้นหวังเมื่อเรารู้สึกอ้างว้างนั่นเป็นเหตุให้เราร้องเรียกหาพระเจ้า ช่างเป็นความอุ่นใจที่ได้รู้ว่าในห้วงเวลาเหล่านั้นและในตลอดชีวิตของเรา พระเจ้าทรงได้ยินเสียงของเรา ทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็น และสถิตอยู่ใกล้ๆเรา

เราเป็นคนแปลกถิ่น

ทุกอย่างให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิงในประเทศใหม่ของพวกเขา ทั้งภาษา โรงเรียน วัฒนธรรม ระบบจราจร และสภาพอากาศที่แปลกใหม่ พวกเขานึกสงสัยว่าจะปรับตัวได้อย่างไร กลุ่มคนจากคริสตจักรใกล้เคียงมารวมตัวกันเพื่อช่วยพวกเขากับชีวิตใหม่ในดินแดนใหม่ แพ็ตตี้พาคู่สามีภรรยาไปซื้อของที่ตลาดในพื้นที่เพื่อให้พวกเขาดูว่ามีอะไรขายบ้างและจะซื้อของได้อย่างไร ขณะที่พวกเขาเดินไปทั่วตลาด พวกเขาตาโตและยิ้มกว้างเมื่อได้เห็นผลไม้โปรดคือทับทิมจากประเทศบ้านเกิด พวกเขาซื้อไปฝากลูกๆคนละผลและหยิบใส่มือแพ็ตตี้หนึ่งผลด้วยความขอบคุณ ผลไม้เล็กๆและเพื่อนใหม่นี้สร้างความอบอุ่นใจในดินแดนแปลกใหม่ของพวกเขา

พระเจ้าประทานกฎหมายแก่ประชากรของพระองค์ผ่านทางโมเสส ซึ่งรวมถึงบัญญัติที่ให้ปฏิบัติต่อคนต่างชาติในท่ามกลางพวกเขา “เหมือนกับชาวเมืองของเจ้า” (ลนต.19:34) “จงรักเขาเหมือนกับรักตัวเอง” พระเจ้าทรงสั่งเช่นนั้น พระเยซูทรงเรียกข้อนี้ว่าเป็นบัญญัติข้อใหญ่ข้อที่สองต่อจากการรักพระเจ้า (มธ.22:39) เพราะแม้แต่พระเจ้าเองยังทรง “เฝ้าดูคนต่างด้าว” (สดด.146:9)

นอกจากเราจะเชื่อฟังพระเจ้าด้วยการช่วยเหลือเพื่อนใหม่ของเราให้ปรับตัวกับชีวิตในประเทศของเราแล้ว ขอให้เราระลึกไว้เสมอว่าเราเองก็เป็น “คนแปลกถิ่นที่ท่องเที่ยวไปในโลก” (ฮบ.11:13) แล้วเราจะยิ่งรอคอยด้วยความคาดหวังมากขึ้นในแดนสวรรค์แห่งใหม่ที่จะมาถึง

โน้มลงมา

คุณแม่ยังสาวเดินตามลูกสาวที่กำลังปั่นจักรยานคันเล็กของเธอด้วยความเร็วที่สุดเท่าที่ขาเล็กๆของเธอจะทำได้ แต่เพราะใช้ความเร็วมากเกินไป เด็กน้อยจึงพลัดตกลงมาและส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดที่ข้อเท้า แม่ของเธอค่อยๆคุกเข่าและโน้มตัวลงจูบที่ข้อเท้าของเด็กน้อยเพื่อ “ให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป” และมันได้ผล! เด็กน้อยลุกขึ้นและปีนกลับขึ้นไปบนจักรยานแล้วไปต่อ คุณไม่อยากให้ความเจ็บปวดของเราหายไปง่ายๆอย่างนั้นบ้างหรือ!

อัครทูตเปาโลได้รับการปลอบประโลมจากพระเจ้าท่ามกลางการต่อสู้ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในพระธรรม 2 โครินธ์ 11:23-29 ท่านได้พูดถึงบททดสอบมากมายที่ท่านต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเฆี่ยน ถูกโบยตี ถูกเอาก้อนหินขว้าง ต้องอดหลับอดนอน ต้องทนหิว และความห่วงใยที่มีต่อคริสตจักรทั้งปวง ท่านเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระบิดาผู้ทรงความเมตตา พระเจ้าแห่งความชูใจทุกอย่าง” (1:3) หรือที่อีกฉบับหนึ่งแปลว่า “พระองค์ทรงเป็นพระบิดาผู้ประทานความรักอันอ่อนโยน” (ฉบับ NIRV) เช่นเดียวกับแม่ที่ปลอบโยนลูกของเธอ พระเจ้าก็ทรงโน้มพระองค์ลงมาเพื่อดูแลเราด้วยความอ่อนโยนในยามที่เราเจ็บปวด

พระเจ้ามีวิธีการมากมายและหลากหลายในการปลอบโยนเราด้วยความรัก พระองค์อาจประทานข้อพระคัมภีร์หนุนใจเราให้ก้าวเดินต่อไป หรือให้มีคนส่งข้อความพิเศษมาให้ หรือให้เพื่อนโทรมาหาเราและพูดในสิ่งที่แตะต้องใจ แม้ว่าการต่อสู้จะยังคงอยู่ แต่เพราะพระเจ้าทรงโน้มลงมาช่วยเรา เราจึงสามารถลุกขึ้นและไปต่อได้

ความเชื่อที่ลงมือทำ

เย็นวันหนึ่งในเดือนมิถุนายนปี 2021 พายุทอร์นาโดพัดผ่านชุมชนแห่งหนึ่งและทำลายโรงนาของครอบครัว นับเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าเพราะโรงนาตั้งอยู่ในที่ดินของครอบครัวมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1800 ขณะที่จอห์นและบาร์บขับรถผ่านมาเพี่อจะไปโบสถ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น พวกเขาเห็นความเสียหายและคิดว่าพอจะช่วยอะไรได้บ้างไหม พวกเขาจึงหยุดรถและเข้าไปสอบถามจนได้รู้ว่าครอบครัวนี้ต้องการคนมาช่วยเก็บกวาด พวกเขาเลี้ยวรถอย่างรวดเร็วเพื่อกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านแล้วมาช่วยเก็บกวาดซากความเสียหายจากพายุตลอดวันนั้น พวกเขาได้สำแดงความเชื่อด้วยการกระทำในขณะที่พวกเขาช่วยเหลือครอบครัวนั้น

ยากอบกล่าวว่า “ความเชื่อที่ปราศจากการประพฤติตามก็ไร้ผล” (ยก.2:26) ท่านยกตัวอย่างของอับราฮัมที่เชื่อฟังติดตามพระเจ้าเมื่อไม่รู้ว่ากำลังจะไปที่ใด (ข้อ 23; ดู ปฐก.12:1-4; 15:6 ฮบ.11:8) ยากอบยังได้พูดถึงนางราหับ ที่ได้สำแดงความเชื่อในพระเจ้าของอิสราเอล เมื่อเธอซ่อนผู้สอดแนมที่ลอบเข้ามาในเมืองเยรีโค (ยก.2:25; ดู ยชว.2; 6:17)

“แม้ผู้ใดจะว่าตนมีความเชื่อ แต่ไม่ประพฤติตาม” (ยก.2:14) ก็ไม่ส่งผลดีอะไรแก่พวกเขา “ความเชื่อคือราก การทำดีคือผล” แมทธิว เฮนรี่กล่าว “และเราต้องมั่นใจว่าเรามีทั้งสองอย่าง” พระเจ้าไม่ได้ต้องการการทำดีของเรา แต่ความเชื่อของเราพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ

รักและพึ่งพาพระเจ้า

แซคเป็นคนตลก ฉลาด และเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน แต่เขาต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าโดยไม่มีใครรู้ หลังจากที่เขาฆ่าตัวตายเมื่ออายุสิบห้าปี ลอรี่ผู้เป็นแม่พูดถึงเขาว่า “ยากที่จะเข้าใจจริงๆว่าคนคนหนึ่งที่ได้รับอะไรดีๆมากมายขนาดนี้จะมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และแซคเองก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นของการฆ่าตัวตาย” มีช่วงเวลาในความเงียบที่ลอรี่ได้ระบายความโศกเศร้าของเธอต่อพระเจ้า เธอบอกว่าความโศกเศร้าลึกๆหลังการฆ่าตัวตายคือ “ความเศร้าเสียใจที่มากยิ่งกว่าครั้งใดๆ” แต่เธอและครอบครัวได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระเจ้าและผู้อื่นเพื่อจะมีความเข้มแข็ง และตอนนี้พวกเขากำลังใช้เวลาที่มีเพื่อจะรักผู้อื่นที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า

คติประจำใจของลอรี่จึงเป็น “รักและพึ่งพา” แนวคิดนี้มาจากเรื่องราวของนางรูธในพันธสัญญาเดิม นาโอมีสูญเสียสามีและลูกชายสองคน ซึ่งคนหนึ่งได้แต่งงานกับรูธ (นรธ.1:3-5) ด้วยความชอกช้ำและหดหู่ใจ นางนาโอมีเร่งเร้าให้รูธกลับไปหาครอบครัวของแม่ที่เธอจะได้ไปดูแล แม้รูธจะโศกเศร้าแต่ก็ “เกาะ” แม่สามีและสัญญาว่าจะอยู่กับเธอและดูแลเธอ (ข้อ 14-17) ทั้งสองกลับไปที่เบธเลเฮมบ้านเกิดของนางนาโอมีที่ซึ่งรูธจะเป็นคนต่างชาติ แต่พวกเขามีกันและกันที่จะคอยรักและพึ่งพากัน และพระเจ้าทรงเลี้ยงดูพวกเขา (2:11-12)

ในช่วงเวลาที่เราโศกเศร้า ความรักของพระเจ้ายังอยู่มั่นคง เรามีพระองค์ให้พึ่งพาได้เสมอ ในขณะที่เราพึ่งพาและรักผู้อื่นด้วยกำลังของพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา