วิ่งหาความรัก
นอร่าเป็นคนตัวเล็ก แต่การที่ “บริดเจ็ต” ซึ่งเป็นหญิงที่สูงถึงหกฟุตมองลงมาที่เธอด้วยใบหน้างอง้ำไม่ได้ทำให้นอร่ารู้สึกกลัวเลย บริดเจ็ตอธิบายไม่ได้ว่าทำไมเธอจึงมาที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ไม่พร้อมมีบุตรแห่งนี้ ทั้งๆที่เธอตัดสินใจแล้วว่าจะ “กำจัดเด็กทิ้ง” นอร่าจึงถามเธออย่างสุภาพ แต่บริดเจ็ตบ่ายเบี่ยงไม่ตอบโดยใช้คำพูดหยาบคาย ไม่นานบริดเจ็ตก็เตรียมลุกออกจากที่นั่น พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่เธอจะยุติการตั้งครรภ์
นอร่ารีบเข้าไปขวางระหว่างบริดเจ็ตกับประตูและพูดว่า “ก่อนที่คุณจะไป ฉันขอกอดและอธิษฐานเผื่อคุณได้มั้ย” ไม่มีใครเคยกอดเธอด้วยเจตนาที่ดีเช่นนี้มาก่อน ทันใดนั้นน้ำตาของเธอก็พรั่งพรูออกมาอย่างไม่คาดคิด
สิ่งที่นอร่าทำสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของพระเจ้าที่รักอิสราเอลประชากรของพระองค์ “ด้วยความรักนิรันดร์” (ยรม.31:3) ประชากรเหล่านั้นล้มลงและต้องรับผลที่ร้ายแรงของการละเมิดกฎเกณฑ์ของพระเจ้า แต่พระเจ้าตรัสกับพวกเขาว่า “เราจึงมีความรักมั่นคงต่อเจ้าสืบไป เราจะสร้างเจ้าอีก” (ข้อ 3-4)
เรื่องราวในอดีตของบริดเจ็ตนั้นซับซ้อน (พวกเราหลายคนอาจจะมีประสบการณ์คล้ายกันกับเธอ) เธอเชื่อว่าพระเจ้าและผู้ติดตามพระองค์คงจะประณามเธอ นอร่าแสดงให้เธอเห็นสิ่งที่แตกต่าง นั่นคือ พระเจ้าผู้ไม่ทรงมองข้ามความบาปของเราเพราะพระองค์รักเราเกินกว่าที่เราจะคิดได้ พระองค์ทรงอ้าแขนต้อนรับเรา เราไม่จำเป็นต้องวิ่งหนีอีกต่อไป
แสงริบหรี่ในทะเล
“ผมนอนจมกองเหล้าอยู่บนเตียงอย่างสิ้นหวัง” มัลคอล์ม มักเกอริดจ์ เขียนบันทึกถึงวันที่หดหู่ระหว่างทำภารกิจสายลับในสงครามโลกครั้งที่ 2 “อยู่ตัวคนเดียวในจักรวาล ในนิรันดร์กาล ไม่มีแม้แสงเพียงริบหรี่”
ในภาวะนั้น สิ่งเดียวที่เขาคิดออกคือเขาจะไปกระโดดน้ำตาย เขาขับรถไปที่ชายฝั่งมาดากัสการ์ที่อยู่ใกล้ๆ แล้วว่ายออกไปในทะเลจนหมดแรง เมื่อหันกลับมา เขาเหลือบเห็นแสงริบหรี่บนชายฝั่ง ไม่รู้ด้วยเหตุอันใดเขาเริ่มว่ายกลับมาทางแสงไฟนั้น แม้จะอ่อนแรง แต่เขายังจำได้ถึง “ความยินดีที่เต็มล้น”
มักเกอริดจ์ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พระเจ้าทรงเอื้อมพระหัตถ์มาหาเขาในเวลาที่มืดมนนั้น เติมความหวังให้กับเขาอย่างอัศจรรย์ อัครทูตเปาโลเองก็มักเขียนถึงความหวังเช่นนี้ ในพระธรรมเอเฟซัส ท่านบันทึกว่าก่อนมารู้จักพระเยซู เราแต่ละคน “ตายแล้วโดยการละเมิดและการบาป...ไม่มีที่หวังและอยู่ในโลกปราศจากพระเจ้า” (ข้อ 2:1,12) แต่ “พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา...แม้ว่าเมื่อเราตายไปแล้วในการบาปพระองค์ยังทรงกระทำให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์” (ข้อ 4-5)
โลกนี้พยายามดึงเราลงสู่ความตกต่ำ แต่ไม่มีเหตุผลที่เราต้องยอมก้มหัวให้กับความสิ้นหวัง ดังที่มักเกอริดจ์พูดถึงการว่ายน้ำในทะเลวันนั้นว่า “ผมได้คิดว่าความมืดนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงการที่เราละสายตาจากแสงสว่างที่ฉายอยู่เป็นนิตย์”
วิธีรอคอย
ด้วยความโกรธและผิดหวังกับคริสตจักร เทรเวอร์วัย 17 ปี จึงเริ่มทำการค้นหาคำตอบ แต่สิ่งที่เขาค้นพบไม่มีอะไรทำให้เขาพึงพอใจหรือตอบคำถามของเขาได้
การค้นหานี้ทำให้เขาใกล้ชิดกับพ่อแม่มากขึ้น แต่เขาก็ยังมีปัญหากับความเป็นคริสเตียน ครั้งหนึ่งในระหว่างการพูดคุย เขากล่าวอย่างขมขื่นว่า “พระคัมภีร์เต็มไปด้วยคำสัญญาลมๆแล้งๆ”
มีชายอีกคนหนึ่งที่เผชิญกับความผิดหวังและความยากลำบากจนทำให้เกิดความสงสัย แต่ขณะที่ดาวิดหนีจากศัตรูที่ไล่ล่าชีวิตท่าน ท่านไม่ได้ตอบสนองโดยการหนีจากพระเจ้าแต่เป็นการสรรเสริญพระองค์ ท่านร้องว่า “แม้ข้าพเจ้าจะได้รับภัยสงครามข้าพเจ้ายังไว้ใจได้อยู่” (สดด.27:3)
กระนั้นบทกวีของดาวิดยังคงแฝงไว้ซึ่งความสงสัย คำร้องทูลของท่านที่ว่า “ขอทรงกรุณาและตรัสตอบข้าพระองค์” (ข้อ 7) ฟังดูเหมือนชายที่มีความกลัวและคำถาม ดาวิดคร่ำครวญว่า “ขออย่าทรงซ่อนพระพักตร์ของพระองค์จากข้าพระองค์...ขออย่าทรงทิ้งข้าพระองค์หรือสละข้าพระองค์เสีย” (ข้อ 9)
แต่ดาวิดไม่ได้ปล่อยให้ความสงสัยหยุดท่าน แม้ในความสงสัยนั้นท่านยังประกาศว่า “ข้าพเจ้าจะเห็นพระคุณของพระเจ้าที่ในแผ่นดินของคนเป็น” (ข้อ 13) แล้วท่านก็พูดกับผู้อ่านคือ คุณ ผม และคนที่เป็นเหมือนเทรเวอร์ ว่า “จงรอคอยพระเจ้า จงเข้มแข็งและให้จิตใจของท่านกล้าหาญเถิด” (ข้อ 14)
เราจะไม่ได้พบคำตอบที่เร็วและง่ายสำหรับคำถามมากมายที่เรามี แต่เราจะได้พบเมื่อเรารอคอยพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่เราไว้วางใจได้
“เรื่องพระเจ้า”
เพื่อนร่วมงานของไมค์ส่วนใหญ่แทบไม่รู้เรื่องคริสเตียนเลย และไม่สนใจจะรู้ด้วย แต่พวกเขารู้ว่าไมค์สนใจ วันหนึ่งใกล้เทศกาลอีสเตอร์ คนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าพวกเขาได้ยินว่าอีสเตอร์เกี่ยวข้องกับปัสกาและสงสัยว่าเกี่ยวกันอย่างไร “นี่ไมค์” เขากล่าว “นายรู้เรื่องพระเจ้านี่ ปัสกาคืออะไร”
มีอะไรในชื่อนั้น
ในเวลาของพระเจ้า โคฟี่ลูกชายของเราเกิดมาในวันศุกร์ ซึ่งตรงกับความหมายตามชื่อของเขา คือเด็กชายที่เกิดในวันศุกร์ เราตั้งชื่อเขาตามเพื่อนศิษยาภิบาลชาวกานาซึ่งสูญเสียลูกชายคนเดียวของเขาไป เขาอธิษฐานเผื่อโคฟี่อย่างสม่ำเสมอ เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
เรามองข้ามความสำคัญของชื่อได้ง่ายหากไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลัง ในลูกา 3 เราพบรายละเอียดน่าสนใจเกี่ยวกับชื่อในต้นตระกูลของโยเซฟ พงศ์พันธุ์ของโยเซฟสืบเชื้อสายย้อนไปถึงอาดัม กระทั่งถึงพระเจ้า (ข้อ 38) ในข้อ 31 เราพบ “บุตร นาธันๆเป็นบุตรดาวิด” ชื่อนาธันน่าสนใจ ใน 1 พงศาวดาร 3:5 เราพบว่านาธันเกิดจากนางบัทเชบา
บังเอิญหรือไม่ที่ดาวิดตั้งชื่อบุตรของบัทเชบาว่านาธัน หากย้อนกลับไป บัทเชบาไม่ควรจะเป็นภรรยาของดาวิด นาธันอีกคนซึ่งเป็นผู้เผยพระวจนะ เข้าเฝ้ากษัตริย์อย่างกล้าหาญเพราะทรงใช้อำนาจในทางที่ผิด เอาเปรียบบัทเชบาและประหารสามีของนาง (ดู 2 ซมอ.12)
ดาวิดยอมรับข้อกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมาของผู้เผยพระวจนะ และกลับใจจากความผิดร้ายแรงของท่าน ด้วยการเยียวยาผ่านกาลเวลา ท่านจึงตั้งชื่อโอรสว่านาธัน ช่างเหมาะเจาะกับบุตรของบัทเชบา และเขาก็เป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของโยเซฟ บิดาฝ่ายโลกของพระเยซู (ลก.3:23)
ในพระคัมภีร์ เราได้เห็นซ้ำๆว่าพระคุณของพระเจ้าทรงถักทออยู่ในทุกสิ่ง แม้แต่ในชื่อที่แฝงอยู่ในลำดับพงศ์พันธุ์ที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน พระคุณพระเจ้านั้นอยู่ในทุกหนแห่ง
ความผิดพลาดของผู้พยากรณ์
เที่ยงของวันที่ 21 กันยายน 1938 ชาร์ล เพียร์ซนักอุตุนิยมวิทยาหนุ่มเตือนถึงแนวปะทะอากาศที่จะก่อให้เกิดเฮอร์ริเคนขึ้นใกล้นิวอิงแลนด์ แต่หัวหน้าหัวเราะเยาะการพยากรณ์นั้น พายุโซนร้อนจะไม่เกิดขึ้นทางตอนเหนือ
สองชั่วโมงต่อมาพายุเฮอร์ริเคนขึ้นฝั่งที่เกาะลองไอร์แลนด์ และมาถึงนิวอิงแลนด์ตอนสี่โมงเย็น ซัดเรือเข้าฝั่งและหอบบ้านเรือนลงในทะเล มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหกร้อยคน หากพวกเขาได้รับคำเตือนจากเพียร์ซ ซึ่งมาจากฐานข้อมูลที่ชัดเจนและแผนที่อันละเอียด พวกเขาคงรอดชีวิต
แนวคิดของการเรียนรู้ว่าต้องฟังเสียงของใครนั้นมีความสำคัญในพระคัมภีร์ ในสมัยเยเรมีย์พระเจ้าเตือนให้ระวังผู้เผยพระวจนะเท็จ โดยตรัสว่า “อย่าฟังถ้อยคำของผู้เผยพระวจนะ ผู้เผยให้ท่านฟัง กระทำให้ท่านเต็มด้วยความหวังลมๆแล้งๆเขากล่าวถึงนิมิตแห่งใจของเขาเองมิใช่จากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (ยรม.23:16) พระองค์ตรัสถึงคนเหล่านั้นว่า “แต่ถ้าเขาทั้งหลายได้ยืนอยู่ในการประชุมของเราแล้ว เขาคงจะได้ป่าวร้องถ้อยคำของเราต่อประชากรของเรา” (ข้อ 22)
“ผู้พยากรณ์เท็จ” ยังคงมีอยู่ คือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่แนะนำโดยละเลยพระเจ้าหรือบิดเบือนพระวจนะให้เข้ากับจุดประสงค์ของตนเอง แต่โดยพระคำและพระวิญญาณของพระเจ้า พระองค์ได้ประทานสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อจะแยกแยะความเท็จออกจากความจริง เมื่อเราประเมินทุกสิ่งด้วยความจริงแห่งพระวจนะแล้ว คำพูดและชีวิตของเราจะสะท้อนความจริงนั้นไปสู่ผู้อื่น
กระแสไฟฟ้า
ฉันรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟไหลผ่าน” ศาสตราจารย์ฮอลลี่ ออร์ดเวย์เล่าความรู้สึกที่มีต่อ “โฮลี่ ซอนเนตหมายเลข 14” บทกวีอันยิ่งใหญ่ของดอนเน่ว่า มีบางสิ่งเกิดขึ้นในกลอน ฉันสงสัยว่าคืออะไร ออร์ดเวย์ซึ่งไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าเล่าว่าเธอเริ่มเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ในที่สุดเธอก็เชื่อความจริงเรื่องพระคริสต์ผู้ทรงคืนพระชนม์และเปลี่ยนแปลงชีวิต
ความรู้สึกว่ามีกระแสไฟไหลผ่านคงเป็นสิ่งที่เปโตร ยากอบและยอห์นรู้สึกในวันที่พระเยซูพาพวกเขาไปบนภูเขาและได้เห็นการจำแลงพระกายอันอัศจรรย์ ฉลองพระองค์ “กลายเป็นสีขาว มันระยับ” (มก.9:3) มีเอลียาห์และโมเสส เรารู้ว่าเหตุการณ์นี้คือการจำแลงพระกาย
เมื่อลงจากภูเขา พระเยซูห้ามไม่ให้สาวกบอกใครถึงสิ่งที่เห็นจนกว่าพระองค์จะเป็นขึ้นมา (ข้อ 9) แต่พวกเขาไม่เข้าใจแม้กระทั่งความหมายของคำที่พระองค์ตรัสว่า “เป็นขึ้นมาจากความตาย” (ข้อ 10)
สาวกยังไม่เข้าใจพระเยซูอย่างถ่องแท้ เพราะพวกเขาไม่อาจเข้าใจจุดมุ่งหมายที่พระเยซูจะทรงสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ แต่ท้ายที่สุดเมื่อได้มีประสบการณ์กับพระเจ้าผู้ฟื้นพระชนม์ ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในบั้นปลายชีวิตเปโตรเล่าถึงตอนที่เห็นการจำแลงพระกายว่าเป็นครั้งแรกที่สาวกได้ “เป็นพยานผู้รู้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระองค์” (2 ปต.1:16)
เช่นที่ออร์ดเวย์และสาวกเรียนรู้ เมื่อเราได้เผชิญหน้ากับฤทธิ์อำนาจของพระเยซูก็เหมือนได้สัมผัสกับ “กระแสไฟฟ้า” มีบางสิ่งเกิดขึ้น พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ทรงเรียกเรา
การคร่ำครวญของเมอร์ซี่
พ่อโทษว่าเขาเจ็บป่วยเพราะถูกคำสาป ทั้งที่เป็นโรคเอดส์ เมื่อเขาเสียชีวิต เมอร์ซี่วัยสิบขวบก็ยิ่งใกล้ชิดแม่ แต่แม่ป่วยและเสียชีวิตในสามปีต่อมา จากนั้นพี่สาวของเมอร์ซี่ต้องเลี้ยงน้อง 5 คน ตอนนั้นเมอร์ซี่เริ่มจดบันทึกเรื่องความเจ็บปวดลึกๆของเธอ
เยเรมีย์ผู้เผยพระวจนะบันทึกความเจ็บปวดในพระธรรมบทเพลงคร่ำครวญที่น่าหดหู่ กล่าวถึงกองทัพบาบิโลนที่โหดร้ายต่อยูดาห์ ท่านคร่ำ-ครวญและทุกข์ใจโดยเฉพาะกับเหยื่อที่อายุน้อยที่สุด “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าก็ระทมเพราะความพินาศของธิดาแห่งชนชาติของข้าพเจ้า...เพราะเหล่าลูกเด็กเล็กแดงที่ดูดนมอยู่นั้นเป็นลมสลบอยู่ตามลานในกรุง” (2:11) ในอดีตคนยูดาห์ละทิ้งพระเจ้า แต่ลูกหลานต้องรับผลด้วย “เมื่อชีวิตของเขาต้องสิ้นไปที่อกแม่ของเขาทั้งหลาย” (ข้อ 12)
เราอาจคิดว่าเยเรมีย์น่าจะปฏิเสธพระเจ้ายามที่ต้องเผชิญความทุกข์ยาก แต่ท่านกลับหนุนใจผู้ที่รอดชีวิตว่า “ระบายความในใจของเจ้าออกมาอย่างน้ำตรงพระพักตร์พระเจ้า จงชูมือทั้งสองของเจ้าขึ้นตรงไปยังพระองค์ เพื่อขอชีวิตของบรรดาลูกเด็กเล็กแดงของเจ้า” (ข้อ 19)
เป็นการดีที่เราจะระบายความในใจของเราต่อพระเจ้า การคร่ำครวญเป็นส่วนสำคัญของการเป็นมนุษย์ แม้ยามที่พระเจ้าอนุญาตให้เราเผชิญความเจ็บปวด พระองค์ก็ทรงเศร้าใจไปกับเรา พระองค์ทรงเป็นเช่นเดียวกับเรา คือตามพระฉายาพระเจ้า พระองค์จึงทรงคร่ำครวญด้วย - TLG
หนึ่งร้อยปีจากนี้
ผมอยากเป็นที่จดจำไปอีกหนึ่งร้อยปีจากนี้” ร็อด เซอร์ลิง นักเขียนบทละครกล่าวในปี 1975 เขาเป็นผู้ผลิตละครชุดทางโทรทัศน์เรื่องแดนสนธยา เขาต้องการให้ผู้คนพูดถึงว่า “เขาเป็นนักเขียน” เราคงเข้าใจความปรารถนาของเซอร์ลิง ที่ต้องการทิ้งมรดกไว้ซึ่งทำให้ชีวิตของเรามีความหมายและยั่งยืน
โยบเป็นชายคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อค้นหาความหมายจากเวลาแสนสั้นของชีวิต ในชั่วพริบตา ไม่เพียงทรัพย์สมบัติแต่สิ่งต่างๆที่มีค่าต่อท่านที่สุดคือลูกๆ ถูกเอาไปจากท่าน สหายของท่านยังกล่าวโทษว่าท่านสมควรได้รับชะตาเช่นนี้ โยบคร่ำครวญว่า “โอ ข้าอยากให้ถ้อยคำของข้าได้ถูกบันทึกไว้ โอ ข้าอยากให้จารึกไว้ในหนังสือ โอ ข้าอยากให้สลักไว้ในศิลาเป็นนิตย์ ด้วยปากกาเหล็กและตะกั่ว” (โยบ 19:23-24)
ถ้อยคำของโยบถูก “สลักไว้ในศิลาเป็นนิตย์” คือในพระคัมภีร์ แต่โยบต้องการให้ชีวิตมีความหมายมากกว่าการทิ้งมรดกไว้ ท่านได้พบความหมายในพระลักษณะของพระเจ้า “ข้าทราบว่า พระผู้ไถ่ของข้าทรงพระชนม์อยู่” โยบประกาศ “และในที่สุดพระองค์จะทรงปรากฏบนแผ่นดินโลก” (19:25) ความรู้นี้ทำให้ท่านมีความปรารถนาที่ถูกต้อง “ผู้ซึ่งข้าจะได้เห็นเอง” โยบกล่าว “จิตใจในตัวข้าก็อ่อนโหย” (ข้อ 27)
ในตอนท้าย โยบไม่ได้พบกับสิ่งที่คาดหวังแต่พบสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือแหล่งของความหมายและความยั่งยืนทั้งปวง (42:1-6)