ฝ่าพายุ
พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงพัดถล่มเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซีในเย็นวันที่ 3 เมษายน 1968 ศจ.ดร มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์รู้สึกอ่อนล้าและไม่สบาย เขาไม่ได้เตรียมใจที่จะกล่าวสุนทรพจน์ที่เตรียมไว้ที่คริสตจักรเพื่อสนับสนุนคนงานขนขยะที่ประท้วงหยุดงาน แต่เขาต้องประหลาดใจกับโทรศัพท์ด่วนที่แจ้งว่ามีคนจำนวนมากได้ลุยฝ่าสภาพอากาศอันเลวร้ายมาเพื่อจะฟังเขา เขาจึงไปยังห้องโถงและพูดเป็นเวลาสี่สิบนาทีในหัวข้อ “ข้าพเจ้าได้ไปถึงยอดเขา” ซึ่งบางคนถือว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของเขา
วันต่อมาคิงถูกลอบยิงและเสียชีวิต แต่สุนทรพจน์ของเขายังคงสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาผู้ถูกกดขี่มีความหวังใน “ดินแดนแห่งพระสัญญา” เช่นเดียวกับผู้ติดตามพระเยซูกลุ่มแรกๆที่ได้รับการหนุนน้ำใจจากข้อเขียนที่ทำให้ฮึกเหิม หนังสือฮีบรูได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อหนุนน้ำใจผู้เชื่อชาวยิวที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามเพราะความเชื่อในพระคริสต์ และได้มอบกำลังฝ่ายวิญญาณอันเข้มแข็งไม่ให้พวกเขาสิ้นหวัง ดั่งคำเรียกร้องว่าจง “ยกมือที่อ่อนแรงขึ้น และจงให้หัวเข่าที่อ่อนล้ามีกำลังขึ้น” (12:12) ในฐานะชาวยิว พวกเขาจำได้ว่าคำวิงวอนนั้นแต่เดิมมาจากผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ (อสย.35:3)
แต่บัดนี้ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราได้ถูกเรียกให้ “วิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม ตามที่กำหนดไว้สำหรับเรา หมายเอาพระเยซูเป็นผู้บุกเบิกความเชื่อ และผู้ทรงทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์” (ฮบ.12:1-2) เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว เรา “จะได้ไม่รู้สึกท้อถอย” (ข้อ 3)
แน่นอนว่าพายุและฝนฟ้าคะนองรอคอยเราอยู่ในชีวิตนี้ แต่ในพระเยซู เราจะรอดพ้นมรสุมแห่งชีวิตได้โดยการยืนหยัดในพระองค์
ทรงสดับฟังเราจากสวรรค์
เมื่ออายุได้สิบแปดเดือนเมสันตัวน้อยไม่เคยได้ยินเสียงของแม่เลย แต่เมื่อแพทย์ใส่เครื่องช่วยฟังเครื่องแรกให้ และลอร์รินผู้เป็นแม่ถามว่า “ได้ยินแม่ไหมลูก” ตาของเด็กน้อยเบิกกว้าง “ว่าไงจ๊ะลูก” ลอร์รินพูดต่อ เมสันยิ้มและตอบสนองแม่ด้วยเสียงครางเบาๆ ลอร์รินร้องไห้ที่ได้เห็นการอัศจรรย์ เธอคลอดเมสันก่อนกำหนดหลังจากถูกมือปืนที่บุกรุกบ้านยิงสามนัด ด้วยน้ำหนักตัวเพียง 450 กรัม เมสันต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดถึง 158 วัน และไม่คาดหวังว่าจะรอดชีวิต ยังไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการได้ยิน
เรื่องราวที่ซาบซึ้งใจนี้ทำให้ฉันคิดถึงพระเจ้าผู้ทรงสดับฟังเสียงเรา กษัตริย์ซาโลมอนทรงอธิษฐานอย่างร้อนรนเพื่อพระกรรณของพระเจ้าที่คอยสดับฟัง โดยเฉพาะในเวลาที่มีปัญหา เมื่อ“ไม่มีฝน” (1 พกษ.8:35) ระหว่าง “การกันดารอาหารหรือโรคระบาด” ภัยพิบัติหรือความเจ็บไข้ (ข้อ 37) สงคราม (ข้อ 44) และแม้แต่ความบาป “ขอพระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานของเขา และคำวิงวอนของเขาในฟ้าสรรค์” ซาโลมอนทรงอธิษฐานว่า “ขอทรงให้สิทธิอันชอบธรรมของเขาคงอยู่” (ข้อ 45)
ในความประเสริฐของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงตอบสนองด้วยพระสัญญาที่ยังคงปลุกเร้าจิตใจเรา “ถ้าประชากรของเราผู้ซึ่งเขาเรียกกันโดยชื่อของเรานั้นจะถ่อมตัวลง และอธิษฐาน และแสวงหาหน้าของเรา และหันเสียจากทางชั่วของเขา เราก็จะฟังจากสวรรค์ และจะให้อภัยแก่บาปของเขา และจะรักษาแผ่นดินของเขาให้หาย” (2 พศด.7:14) สวรรค์อาจดูเหมือนไกลแสนไกล แต่พระเยซูทรงอยู่กับผู้ที่เชื่อในพระองค์ พระเจ้าทรงได้ยินคำอธิษฐานของเราและจะทรงตอบ
ล้ำค่ากว่าทองคำ
เมื่อเอ็ดเวิร์ด แจ็คสัน นักล่าทองคำออกเดินทางไปแคลิฟอร์เนียในยุคตื่นทอง ของอเมริกา ในบันทึกประจำวันซึ่งลงวันที่ 20 พฤษภาคม 1849 เขาได้คร่ำครวญถึงความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางโดยรถม้าที่มีทั้งโรคภัยและความตาย “ได้โปรดอย่าทิ้งกระดูกของผมไว้ที่นี่” เขาเขียน “ถ้าเป็นไปได้ขอนำมันไปไว้ที่บ้าน” นักล่าทองคำอีกคนชื่อว่า จอห์น วอล์คเกอร์บันทึกว่า “นี่คือการเสี่ยงโชคที่บรรลุผลที่สุดเท่าที่คุณจะจินตนาการได้...ผมไม่อาจแนะนำใครให้มาที่นี่ได้”
ที่จริงแล้ววอล์คเกอร์กลับไปที่บ้านและประสบความสำเร็จในการทำเกษตร ปศุสัตว์ และการเมืองท้องถิ่น เมื่อสมาชิกในครอบครัวนำจดหมายเก่าเก็บของวอล์คเกอร์ไปออกรายการ เปิดกรุของเก่า ทางโทรทัศน์ของอเมริกา มันกลับมีมูลค่าหลายพันดอลลาร์ พิธีกรกล่าวว่า “เขาได้พบสิ่งล้ำค่าจากยุคตื่นทองจริงๆ นั่นคือจดหมายเหล่านี้”
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งวอล์คเกอร์และแจ็คสันกลับมาบ้านพร้อมด้วยปัญญาที่ทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตในโลกของความเป็นจริงมากขึ้น ลองพิจารณาถ้อยคำแห่งสติปัญญาเหล่านี้ของกษัตริย์ซาโลมอน “มนุษย์ผู้ประสบปัญญา...เป็นสุขจริงหนอ ปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่ผู้ที่ยึดเธอไว้” (สภษ.3:13,18) ทางเลือกที่เปี่ยมด้วยปัญญา “ย่อมดีกว่าผลที่ได้จากเงิน และกำไรนั้นดีกว่าทองคำ” (ข้อ 14) จงทำให้ปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าความปรารถนาใดๆในโลกนี้ (ข้อ 15)
“ชีวิตยืนยาวอยู่ที่มือขวาของปัญญา...และวิถีทั้งสิ้นของปัญญาคือสันติภาพ” (ข้อ 16-17) ดังนั้น ความท้าทายของเราคือการยึดปัญญาไว้ให้แน่น ไม่ใช่การยึดความปรารถนาที่ดูเรืองรอง เพราะนี่คือวิถีที่พระเจ้าจะทรงอวยพระพร
ระลึกถึงในคำอธิษฐาน
ที่โบสถ์ขนาดใหญ่ของชาวแอฟริกัน ศิษยาภิบาลทรุดตัวลงคุกเข่าอธิษฐานต่อพระเจ้า “โปรดระลึกถึงเรา!” ขณะที่เขาอธิษฐานอ้อนวอน ฝูงชนก็ตอบสนองโดยร้องว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดระลึกถึงเรา!” ตอนดูเหตุการณ์นี้จากยูทูป ฉันประหลาดใจที่ตัวเองก็ร้องไห้ตามไปด้วย คำอธิษฐานนี้ถูกบันทึกไว้เมื่อหลายเดือนก่อน แต่ทำให้ฉันย้อนนึกถึงช่วงวัยเด็กเมื่อได้ยินศิษยาภิบาลของครอบครัวเราวิงวอนต่อพระเจ้าในแบบเดียวกัน “ข้าแต่พระเจ้า โปรดระลึกถึงเรา!”
เมื่อได้ยินคำอธิษฐานนั้นตอนเป็นเด็ก ฉันเข้าใจผิดคิดว่าบางครั้งพระเจ้าคงจะลืมเรา แต่พระเจ้าทรงสัพพัญญู (สดด.147:5; 1 ยน.3:20) พระองค์ทอดพระเนตรดูเราอยู่เสมอ (สดด.33:13-15) และทรงรักเราเกินที่จะวัดได้ (อฟ.3:17-19)
ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า ซากา ในภาษาฮีบรูแปลว่า “ระลึกถึง” เมื่อพระเจ้าทรงระลึกถึงเรา พระองค์จะกระทำการเพื่อเรา คำนี้ยังหมายถึงการกระทำในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้นเมื่อพระเจ้า “ระลึกถึง” โนอาห์กับ “บรรดาสัตว์ป่าและสัตว์ใช้งานที่อยู่กับโนอาห์ในนาวา” พระองค์จึง “ทรงทำให้ลมพัดมาเหนือแผ่นดิน น้ำก็ลดลง” (ปฐก.8:1) เมื่อพระเจ้า “ระลึกถึง” ราเชลที่เป็นหมัน จึงทรง “สดับฟังราเชล ทรงให้นางหายเป็นหมัน นางก็ตั้งครรภ์มีบุตรชาย” (30:22-23)
ช่างเป็นคำวิงวอนด้วยความไว้วางใจที่ยิ่งใหญ่เพื่อทูลขอพระเจ้าให้ระลึกถึงเรา! พระองค์จะตัดสินพระทัยเองว่าจะตอบอย่างไร อย่างไรก็ตามเราสามารถอธิษฐานโดยรู้ว่า คำทูลขอด้วยใจถ่อมของเราเป็นการขอที่ทำให้พระเจ้าทรงเคลื่อนไหว
ตัวตนที่แท้จริงของเรา
สิ่งแรกที่ชายคนนี้เลือกคือกล่องใส่อุปกรณ์ เขายืนอยู่ในร้านขายอุปกรณ์ตกปลาขนาดเล็กในเมือง ต่อมาเขาหยิบตะขอ ทุ่น เหยื่อปลอม เอ็น และตัวถ่วงน้ำหนักใส่ในรถเข็น ตบท้ายด้วยเหยื่อจริงและเลือกเบ็ดตกปลาคันใหม่กับรอก “เคยตกปลาไหมครับ” เจ้าของร้านถาม เขาตอบว่าไม่เคย “งั้นคุณควรซื้อนี่ด้วย” เจ้าของร้านบอก มันคือกล่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น เขาเห็นด้วยและจ่ายเงิน แล้วเขาก็ได้เจอวันที่ตกไม่ได้อะไรเลย ยกเว้นได้แผลที่นิ้วมือจากเบ็ดและอุปกรณ์
นี่ไม่ใช่ปัญหาของซีโมนเปโตร ชาวประมงผู้มีประสบการณ์รู้สึกประหลาดใจในเช้าวันหนึ่งเมื่อพระเยซูบอกให้ถอยเรือไปที่น้ำลึกและ “หย่อนอวนลงจับปลา” (ลก.5:4) แม้จะจับอะไรไม่ได้ทั้งคืน ซีโมนและลูกเรือก็ยังหย่อนอวนลงและ “ล้อมปลาไว้เป็นอันมากจนอวนของเขากำลังปริ” ที่จริงแล้วเรือทั้งสองลำของเขาเริ่มจมลงจากการลากอวน (ข้อ 6)
เมื่อซีโมนเปโตรเห็นดังนั้นก็ “กราบลงที่พระชานุของพระเยซู” ทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอเสด็จไปให้ห่างจากข้าพระองค์เถิด เพราะว่าข้าพระองค์เป็นคนบาป” (ข้อ 8) แต่พระเยซูทรงรู้จักตัวตนที่แท้จริงของซีโมน พระองค์ตรัสกับสาวกคนนี้ว่า “ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน” เมื่อซีโมนได้ยินก็ “สละสิ่งสารพัดทิ้ง ตามพระองค์ไป” (ข้อ 10-11) เมื่อเราติดตามพระองค์ พระองค์ทรงช่วยให้รู้ว่าเราเป็นใครและได้รับการทรงเรียกให้ทำสิ่งใดในฐานะคนของพระองค์
คุณไม่ได้อยู่คนเดียว
“ดีใจมากที่ได้เจอคุณ!” “คุณด้วยนะ!” “ดีใจมากที่คุณมา!” การกล่าวทักทายดูอบอุ่นและเป็นมิตร สมาชิกของคริสตจักรในแคลิฟอร์เนียตอนใต้มารวมตัวกันผ่านระบบออนไลน์ก่อนการประชุมในช่วงค่ำ ขณะที่นักเทศน์โทรศัพท์เข้ามาจากรัฐโคโลราโด ฉันดูอย่างเงียบๆขณะคนอื่นๆรวมตัวกันผ่านวีดีโอคอล ฉันเป็นคนเก็บตัวและไม่รู้จักใคร ฉันจึงรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก แต่ทันทีที่หน้าจอเริ่มฉายภาพศิษยาภิบาลของฉัน อีกจอหนึ่งก็เริ่มฉายภาพเพื่อนเก่าในคริสตจักรที่เข้าร่วมประชุมออนไลน์ด้วย เมื่อเห็นพวกเขา ฉันไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป ดูเหมือนว่าพระเจ้าทรงส่งกองหนุนมาให้
เอลียาห์ก็ไม่โดดเดี่ยวเช่นกัน แม้จะรู้สึกเหมือน “ข้าพระองค์แต่ผู้เดียวเหลืออยู่” หลังต้องหลบหนีความโกรธแค้นของเยเซเบลและอาหับ (1 พกษ.19:10) หลังจากเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารตลอดสี่สิบวันสี่สิบคืน เอลียาห์ซ่อนตัวอยู่ในถ้ำบนภูเขาโฮเรบ แต่พระเจ้าทรงเรียกท่านให้กลับสู่การรับใช้ ตรัสว่า “จงกลับไปตามทางของเจ้าถึงถิ่นทุรกันดารดามัสกัส และเมื่อเจ้าไปถึงแล้ว เจ้าจงเจิมฮาซาเอลไว้ให้เป็นกษัตริย์เหนือประเทศซีเรีย และเยฮูบุตรนิมซีนั้น เจ้าจงเจิมให้เป็นกษัตริย์เหนืออิสราเอล และเอลีชาบุตรชาฟัดชาวอาเบลเมโฮลาห์ เจ้าจงเจิมตั้งไว้ให้เป็นผู้เผยพระวจนะแทนเจ้า” (ข้อ 15-16)
แล้วพระเจ้าทรงให้หลักประกันกับท่านว่า “แต่เราจะเหลือเจ็ดพันคนไว้ในอิสราเอล คือทุกเข่าซึ่งมิได้น้อมลงต่อพระบาอัล และทุกปากซึ่งมิได้จูบรูปนั้น” (ข้อ 18) เช่นเดียวกับที่เอลียาห์ได้เรียนรู้ว่า ขณะรับใช้พระเจ้านั้นเราไม่ได้รับใช้ตามลำพัง พระเจ้าทรงนำความช่วยเหลือมาให้ เพื่อพวกเราจะรับใช้พระองค์ร่วมกัน
ถึงเวลาพูด
เป็นเวลานาน 30 ปีที่สตรีชาวแอฟริกันอเมริกันคนหนึ่งทำงานอย่างสัตย์ซื่อในองค์กรพันธกิจระดับโลก แต่เมื่อเธอพยายามพูดกับเพื่อนร่วมงานหลายคนเรื่องความอยุติธรรมด้านเชื้อชาติ เธอกลับพบความเงียบ ในที่สุดในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 เมื่อมีการถกประเด็นในเรื่องการเหยียดผิวทั่วโลก เพื่อนร่วมพันธกิจของเธอหลายคน “เริ่มพูดอย่างเปิดเผย” แม้จะมีความรู้สึกที่หลากหลายและเจ็บปวด เธอก็รู้สึกขอบคุณที่การพูดคุยได้เริ่มต้นขึ้น แต่ยังคงสงสัยว่าเหตุใดเพื่อนของเธอถึงรอนานเพียงนี้จึงจะยอมพูด
ความเงียบอาจเป็นสิ่งดีในบางสถานการณ์ เหมือนที่กษัตริย์ซาโลมอนเขียนในพระธรรมปัญญาจารย์ว่า “มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง และมีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่างภายใต้ฟ้าสวรรค์...มีวาระนิ่งเงียบ และวาระพูด” (ปญจ.3:1,7)
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญกับอคติและความอยุติธรรม ความเงียบรังแต่จะทำให้รุนแรงและเจ็บปวด มาร์ติน นีโมเลอร์ ศิษยาภิบาลนิกายลูเธอร์แรน (ถูกจำคุกในเยอรมันยุคนาซีเพราะพูดแสดงความเห็น) สารภาพถึงเรื่องนี้ในบทกวีที่เขาเขียนหลังสงคราม “ตอนแรกพวกเขามาจับพวกคอมมิวนิสต์” เขาเขียน “แต่ผมไม่ได้พูดอะไรเพราะผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์” เขาเขียนอีกว่า “ต่อมาพวกเขามาจับ” ชาวยิว คาทอลิก และคนอื่นๆ “แต่ผมก็ไม่ได้พูดคัดค้าน” ในที่สุด “พวกเขามาจับผม และเมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่เหลือใครที่จะพูดเพื่อผมแล้ว”
ต้องอาศัยความกล้าหาญและความรักที่จะพูดคัดค้านความอยุติธรรม แต่โดยแสวงหาการช่วยเหลือจากพระเจ้า เราจะตระหนักว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องพูด
ย้ายรั้วของคุณ
ผู้รับใช้พระเจ้าประจำหมู่บ้านนอนไม่หลับ ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองรุนแรงขึ้น ท่านบอกกับทหารอเมริกันกลุ่มหนึ่งว่าพวกเขาฝังศพเพื่อนทหารในเขตรั้วสุสานข้างโบสถ์ไม่ได้ เพราะที่นั่นอนุญาตให้เฉพาะสมาชิกคริสตจักรเท่านั้น ทหารกลุ่มนั้นจึงฝังร่างเพื่อนที่พวกเขารักไว้นอกรั้ว
แต่เช้าวันต่อมา พวกทหารหาหลุมศพไม่พบ “หลุมศพหายไปแล้ว เกิดอะไรขึ้น” ทหารคนหนึ่งไปบอกผู้รับใช้พระเจ้า “อ๋อ มันยังอยู่ตรงนั้น” ทหารรู้สึกงงงวยแต่ท่านอธิบายว่า “ผมเสียใจที่ปฏิเสธพวกคุณ เมื่อคืนผมเลยลุกขึ้นมาย้ายรั้ว”
พระเจ้าอาจประทานมุมมองใหม่สำหรับสถานการณ์ที่ท้าทายในชีวิตเราเช่นกัน หากเรามองหามัน นี่คือสิ่งที่ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์บอกแก่ชนชาติอิสราเอลที่ถูกกดขี่ข่มเหง แทนที่จะมองอดีตและถวิลหาการช่วยกู้ที่ทะเลแดง พวกเขาต้องเปลี่ยนมุมมองและดูว่าพระเจ้ากำลังทรงทำสิ่งอัศจรรย์ใหม่และเปิดหนทางเดินใหม่ที่สว่างไสว “อย่าพิเคราะห์สิ่งเก่า ดูเถิด เรากำลังกระทำสิ่งใหม่” (อสย.43:18-19) พระองค์ทรงเป็นแหล่งแห่งความหวังท่ามกลางความสงสัยและการต่อสู้ “เราให้น้ำในถิ่นทุรกันดาร ให้แม่น้ำในที่แห้งแล้ง เพื่อให้น้ำดื่มแก่ชนชาติผู้เลือกสรรของเรา” (ข้อ 20)
เมื่อเรามีมุมมองใหม่ เราจะมองเห็นการทรงนำใหม่ของพระเจ้าในชีวิตเรา ขอให้เรามองด้วยสายตาใหม่เพื่อจะเห็นหนทางเดินใหม่ของพระองค์ จากนั้นให้เรากล้าที่จะก้าวเท้าลงไปบนแผ่นดินใหม่และติดตามพระองค์ด้วยใจกล้าหาญ
จากปัญญาสู่ความชื่นชมยินดี
มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นและฉันรับสายในทันที คนที่โทรมาเป็นสมาชิกที่อายุมากที่สุดในครอบครัวคริสตจักรของเรา เธอเป็นผู้หญิงที่ขยันและมีชีวิตชีวาซึ่งอายุเกือบร้อยปีแล้ว เธอกำลังปรับแก้หนังสือเล่มล่าสุดของเธอเป็นรอบสุดท้าย เธอมีคำถามเกี่ยวกับการเขียนเพื่อช่วยให้เธอทำงานชิ้นนี้สำเร็จ แต่เช่นเดียวกับทุกครั้ง ไม่นานฉันก็ถามคำถามเธอกลับถึงเรื่องชีวิต การงาน ความรัก ครอบครัว บทเรียนจากชีวิตยาวนานของเธอเต็มไปด้วยสติปัญญา เธอบอกฉันว่า “ช้าลงหน่อย” ไม่นานเราก็หัวเราะออกมาเพราะบางทีเธอก็ลืมทำเช่นนั้นเรื่องราวอันยอดเยี่ยมของเธอล้วนเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีที่แท้จริง
พระคัมภีร์สอนว่าปัญญานำไปสู่ความชื่นชมยินดี “มนุษย์ผู้ประสบปัญญาและผู้ได้ความเข้าใจ เป็นสุขจริงหนอ” (สภษ.3:13) เราพบว่าหนทางนี้คือจากปัญญาสู่ความชื่นชมยินดีนั้นเป็นหลักธรรมตามพระคัมภีร์โดยแท้จริง “เพราะปัญญาจะเข้ามาในใจของเจ้า และความรู้จะเป็นที่ร่มรื่นแก่วิญญาณจิตของเจ้า” (สภษ.2:10) “พระเจ้าประทานสติปัญญา ความรู้ และความยินดีให้แก่คนที่พระองค์ทรงพอพระทัย” (ปญจ.2:26) ปัญญา “เป็นทางของความร่มรื่น” สภษ.3:17
ซี.เอส.ลูอิสกล่าวถึงมุมมองในเรื่องชีวิตว่า “ความชื่นชมยินดีเป็นเรื่องที่จริงจังมากในสวรรค์” แต่หนทางที่ไปนั้นปูไว้ด้วยสติปัญญา เพื่อนในคริสตจักรผู้กำลังเข้าสู่วัย 107 ปีของฉันคงคิดเหมือนกัน เธอได้ก้าวเดินด้วยสติปัญญาและความชื่นชมยินดีเพื่อไปเฝ้าองค์กษัตริย์