ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Patricia Raybon

อย่ายอมแพ้

“เวลาผ่านเลย สงครามเข้ามา” นี่คือคำพูดที่เซมิ นิโก บิชอปของชาวเคลิโคในสาธารณรัฐเซาท์ซูดานเล่าถึงความล่าช้าจากการที่โบสถ์ต้องต่อสู้อย่างยาวนานเพื่อจะมีพระคัมภีร์เป็นภาษาของตัวเอง ภาษาเคลิโคไม่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อน สิบกว่าปีก่อนหน้านี้ปู่ของบิชอปนิโกเริ่มโครงการแปลพระคัมภีร์อย่างมุ่งมั่น แต่สงครามและความวุ่นวาย ทำให้หยุดชะงักไป ถึงแม้จะถูกโจมตีหลายครั้งที่ค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนเหนือของยูกันดาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก บิชอปและเหล่าผู้เชื่อยังคงทำงานแปลต่อไป

การยืนหยัดต่อสู้ของพวกเขาได้ผล เกือบสามสิบปีให้หลัง พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ภาษาเคลิโคนั้นถูกส่งไปค่ายผู้ลี้ภัยพร้อมการเฉลิมฉลอง “ภาระใจของชาวเคลิโคเกินคำบรรยาย” หนึ่งในที่ปรึกษาของโครงการกล่าว

ความมุ่งมั่นของชาวเคลิโคสะท้อนถึงความบากบั่นที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากโยชูวา เมื่อพระองค์กล่าวกับท่านว่า “อย่าให้หนังสือธรรมบัญญัตินี้ ห่างเหินไปจากปากของเจ้า แต่เจ้าจงตรึกตรองตามนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเจ้าจะได้ระวังที่จะกระทำตามข้อความที่เขียนไว้นั้นทุกประการ แล้วเจ้าจะมีความจำเริญและเจ้าจะสำเร็จผลเป็นอย่างดี” (ยชว.1:8) ด้วยความมุ่งมั่นเดียวกัน ชาวเคลิโคแปลพระคัมภีร์สำเร็จ และตอนนี้ “เมื่อคุณมองดูพวกเขาในค่าย คุณจะเห็นพวกเขากำลังยิ้ม” ผู้แปลคนหนึ่งกล่าว การได้ยินและเข้าใจพระคัมภีร์ “ทำให้พวกเขามีความหวัง” ให้เราเป็นดั่งชาวเคลิโค ที่ไม่ยอมแพ้ในการแสวงหาฤทธิ์เดชและสติปัญญาจากพระคัมภีร์

ไม่ลืมที่จะร้องเพลง

แนนซี่ กุสตาฟสันนักร้องโอเปร่าซึ่งเกษียณแล้ว รู้สึกเศร้าใจเมื่อไปเยี่ยมแม่ของเธอและสังเกตเห็นความเสื่อมถอยที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม แม่จำเธอไม่ได้และพูดน้อยมาก หลังไปเยี่ยมอยู่หลายเดือนแนนซี่เกิดความคิดบางอย่าง เธอเริ่มร้องเพลงให้แม่ฟัง แม่เบิกตากว้างเมื่อได้ยินเสียงดนตรีและเริ่มร้องเพลงด้วยนาน 20 นาที! แล้วแม่ก็หัวเราะและพูดติดตลกว่าพวกเขาเป็น “ครอบครัวนักร้องกุสตาฟสัน” การเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งแสดงถึงพลังของดนตรี เหมือนที่นักบำบัดหลายคนสรุปไว้ว่าเป็นการปลุกความทรงจำที่หายไป การร้อง “เพลงโปรดเก่าๆ” ได้แสดงให้เห็นว่าช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ลดการหกล้ม ลดภาวะที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน และลดการใช้ยาระงับประสาท

มีงานวิจัยที่กำลังศึกษาถึงความเชื่อมโยงของดนตรีและความทรงจำ แต่ในขณะที่พระคัมภีร์ได้เปิดเผยว่า ความชื่นชมยินดีที่เกิดจากการร้องเพลงเป็นของขวัญจากพระเจ้า และนี่คือความจริง “เป็นการดีที่จะร้องเพลงถวายสดุดีแด่พระเจ้าของเรา” (สดด.147:1)

ที่จริงแล้วพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่มกระตุ้นให้คนของพระเจ้ายกเสียงขึ้นร้องสรรเสริญแด่พระองค์ “จงร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงกระทำกิจอันดีเลิศ” (อสย.12:5) “พระองค์ทรงบรรจุเพลงใหม่ในปากข้าพเจ้า เป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าของเรา คนเป็นอันมากจะเห็นและเกรงกลัว และวางใจในพระเจ้า” (สดด.40:3) การร้องเพลงของเราจุดประกายให้เราและผู้ที่ได้ยิน ขอให้เราจำไว้เสมอว่า พระเจ้าของเราทรงยิ่งใหญ่และสมควรได้รับการสรรเสริญ

เรียกสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา

ที่ร้านขายโทรศัพท์ ศิษยาภิบาลหนุ่มเตรียมฟังข่าวร้ายหลังจากที่เขาทำสมาร์ทโฟนหล่นระหว่างที่เรียนพระคัมภีร์ นั่นหมายความว่าเขากำลังสูญเสียทุกสิ่งใช่หรือไม่ เปล่าเลย พนักงานในร้านสามารถกู้ข้อมูลรวมทั้งวีดีโอและภาพในพระคัมภีร์กลับคืนมาได้หมด แถมยังกู้ “ทุกภาพที่ผมเคยลบออกไป” ให้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นทางร้านยัง “ให้โทรศัพท์เครื่องใหม่แทนเครื่องเก่าที่ผมทำพังอีกด้วย” เขาบอกว่า “สิ่งที่ผมได้คืนมานั้นมากกว่าสิ่งที่ผมสูญเสียไปซะอีก”

ดาวิดเคยเป็นผู้นำในการช่วยกู้เชลยจากมือของคนอามาเลข หลังจากที่ถูกผู้นำชาวฟีลิสเตียดูหมิ่น ดาวิดและกองทัพของท่านก็เดินทางกลับมาและพบว่า ชาวอามาเลขได้บุกโจมตีและเผาทำลายเมืองศิกลากของพวกเขาจนสิ้น อีกทั้งจับ “ผู้หญิงกับทุกคนที่อยู่ในนั้น” ไปเป็นเชลย รวมทั้งภรรยาและลูกๆของพวกเขา (1 ซมอ.30:2-3) “แล้วดาวิดกับประชาชนที่อยู่กับท่านก็ร้องไห้เสียงดังจนเขาไม่มีกำลังจะร้องไห้อีก” (ข้อ 4) พวกทหารต่างพากันขมขื่นกับดาวิดจนถึงกับพูดกันว่าจะ “ขว้างท่านเสียด้วยก้อนหิน” (ข้อ 6)

“แต่ดาวิดก็มีกำลังขึ้นในพระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน” (ข้อ 6) ตามที่พระเจ้าสัญญาไว้ ดาวิดได้ติดตามคนอามาเลขไปและ “ได้สิ่งของต่างๆที่คนอามาเลขริบคืนมาทั้งหมด...ไม่มีอะไรขาดจากท่านไปเลย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ บุตรชายหรือบุตรหญิง ในสิ่งที่ริบไปหรือสิ่งที่เขาเหล่านั้นเอาไป ดาวิดได้คืนมาหมด”(ข้อ 18-19) เมื่อเราเผชิญกับการโจมตีฝ่ายวิญญาณซึ่ง “ปล้น” แม้กระทั่งความหวังไปจากเรา ขอให้เราได้พบกำลังที่เข้มแข็งในพระเจ้า พระองค์จะอยู่กับเราในทุกความท้าทายของชีวิต

เป็นไทในที่สุด

นักข่าวชาวอังกฤษจอห์น แมคคาร์ธี ซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันห้าปีระหว่างสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อในเลบานอน ใช้เวลากว่ายี่สิบปีจึงได้พบชายที่ช่วยเจรจาปล่อยตัวเขา เมื่อแมคคาร์ธีพบ ฌอนโดเมนิโค พิคโค ตัวแทนสหประชาชาติ เขาเอ่ยเรียบง่ายว่า “ขอบคุณที่ทำให้ผมเป็นไท!” คำพูดนี้เปี่ยมด้วยความรู้สึกจากใจ เพราะพิคโคเสี่ยงชีวิตในการเจรจาที่อันตรายเพื่ออิสรภาพของแมคคาร์ธีและคนอื่นๆ

ในฐานะผู้เชื่อ เรามีเสรีภาพที่ได้มาอย่างยากลำบากเช่นกัน พระเยซูทรงสละพระชนม์โดยทนทุกข์กับความตายบนกางเขนของโรม เพื่ออิสรภาพฝ่ายวิญญาณของทุกคน รวมถึงเราแต่ละคน เวลานี้พวกเราในฐานะบุตรของพระเจ้ารู้ว่า “เพื่อเสรีภาพนั้นเอง พระคริสต์จึงได้ทรงโปรดให้เราเป็นไท” เปาโลประกาศอย่างกล้าหาญ (กท.5:1)

พระกิตติคุณยอห์นยังสอนถึงเสรีภาพในพระคริสต์ว่า “ถ้าพระบุตรทรงกระทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไท ท่านก็เป็นไทจริงๆ” (ยน.8:36)

เป็นไทอย่างไร ในพระเยซูเราเป็นไทไม่เพียงจากความบาปและผลของมัน แต่จากความรู้สึกผิด ความละอาย ความกังวล คำโกหกของมาร การเชื่อโชคลาง การสอนผิด และความตายนิรันดร์ เราไม่ถูกจองจำอีกแต่มีอิสระที่จะรักศัตรู เดินในความเมตตา ดำรงในความหวัง และรักเพื่อนบ้าน เมื่อเราติดตามการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะให้อภัยเหมือนที่เราได้รับการอภัย

ให้เราขอบคุณพระเจ้าสำหรับทุกสิ่งในวันนี้ และให้สำแดงความรัก เพื่อผู้อื่นจะรู้จักเสรีภาพในพระองค์เช่นกัน

พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักเมตตา

ในคืนฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก ใครบางคนขว้างหินก้อนใหญ่ใส่หน้าต่างห้องนอนเด็กชาวยิวคนหนึ่ง บนหน้าต่างประดับด้วยดาวดาวิดและรูปเชิงเทียนเมโนราห์เพื่อฉลองเทศกาลฮานุกกะห์ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวยิว ในเมืองบิลลิงส์ รัฐมอนทาน่าที่เด็กอาศัยอยู่นั้น ประชากรหลายพันคนซึ่งส่วนใหญ่เชื่อในพระเยซูจะตอบสนองต่อการกระทำที่แสดงถึงความเกลียดชังด้วยความรักเมตตา พวกเขาเลือกที่จะมีส่วนร่วมในความเจ็บปวดและความกลัวของเพื่อนบ้านชาวยิว ด้วยการติดรูปเชิงเทียนเมโนราห์บนหน้าต่างของพวกเขา

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เราได้รับความรักเมตตาที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน องค์พระผู้ช่วยทรงถ่อมพระองค์ลงมาอยู่ท่ามกลางเรา (ยน.1:14) และทรงรับสภาพเดียวกับเรา เพื่อพวกเราพระองค์ “ผู้ทรงสภาพของพระเจ้า...ได้กลับทรงสละและทรงรับสภาพทาส” (ฟป.2:6-7) ทรงรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก ทรงร้องไห้เหมือนที่เราร้องไห้ ทรงยอมตายบนไม้กางเขน สละชีวิตของพระองค์เพื่อช่วยเรา

ไม่มีความทุกข์ลำบากใดที่อยู่เหนือความห่วงใยของพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ถ้ามีใคร “โยนก้อนหิน” ใส่ชีวิตของเรา พระองค์จะทรงปลอบประโลม ถ้าเราผิดหวัง พระองค์จะเดินร่วมกับเราผ่านความสิ้นหวัง “ถึงแม้พระเจ้านั้นสูงยิ่ง พระองค์ก็ทรงเห็นแก่คนต่ำต้อย แต่พระองค์ทรงทราบคนโอหังได้แต่ไกล”(สดด.138:6) เมื่อเรามีปัญหา พระองค์ปกป้องเรา ทรงกางพระหัตถ์ออกต่อสู้ทั้ง “ความพิโรธของศัตรู[ของเรา]” (ข้อ 7) และความกลัวที่ลึกที่สุดของเราเอง ขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับความรักเมตตาของพระองค์

พลุแห่งชีวิต

คืนวันสิ้นปีเมื่อพลุขนาดใหญ่ถูกจุดขึ้นเหนือเมืองต่างๆทั่วโลกเพื่อให้เกิดเสียงดังกึกก้อง ผู้ผลิตพลุกล่าวว่าโดยธรรมชาติพลุจะต้องฉีกชั้นบรรยากาศ “พลุชุด” อาจระเบิดเสียงดังมากที่สุดโดยเฉพาะเมื่อมันระเบิดใกล้พื้นดิน

ปัญหาก็เช่นเดียวกันที่อาจระเบิดทะลุจิตใจ ความคิด และครอบครัว “พลุ” แห่งชีวิต เช่น ปัญหาในบ้าน ปัญหาความสัมพันธ์ งานที่ท้าทาย ปัญหาการเงินหรือแม้แต่ความแตกแยกในคริสตจักร อาจทำให้รู้สึกเหมือนมีลูกระเบิดที่สั่นสะเทือนชั้นบรรยากาศทางอารมณ์

แต่เรารู้จักพระองค์ผู้ทรงยกเราเหนือความโกลาหลเหล่านี้ พระคริสต์ “ทรง​เป็น​สันติ​สุข​ของ​เรา” เปาโลเขียนไว้ในเอเฟซัส 2:14 เมื่อเราอยู่ในการทรงสถิตของพระองค์ สันติสุขของพระองค์ยิ่งใหญ่กว่าความแตกแยกใดๆ ทำให้เสียงของความกังวล ความเจ็บปวด และความไม่เป็นหนึ่งเดียวกันสงบลง

นี่เป็นหลักประกันที่ให้แก่ทั้งคนยิวและคนต่างชาติ พวกเขาเคย “ไม่​มี​ที่​หวัง และ​อยู่​ใน​โลก​ปราศจาก​พระ​เจ้า​” (ข้อ 12) ตอนนี้พวกเขาเจอการข่มเหงและความแตกแยกภายใน แต่ในพระคริสต์พวกเขาถูกนำให้เข้าใกล้พระองค์และใกล้ชิดกันโดยพระโลหิตของพระองค์ “เพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​เป็น​สันติ​สุข​ของ​เรา เป็น​ผู้​ทรง​กระทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน และ​ทรง​รื้อ​กำแพง​ที่​กั้น​ระหว่าง​สอง​ฝ่าย​ลง​” (ข้อ 14)

เมื่อเราเริ่มต้นปีใหม่ แม้จะมีความไม่สงบและความแตกแยกที่รออยู่ข้างหน้า ขอให้เราหันจากการทดลองที่รบกวนชีวิตเพื่อแสวงหาองค์สันติราชผู้ทรงสถิตอยู่ด้วยกับเรา พระองค์ทรงสยบเสียงดังเหล่านั้น และทรงรักษาเรา

คำพูดอ่อนโยน

ฉันกำลังโต้เถียงกับคนในเฟซบุ๊ก เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย อะไรทำให้ฉันคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ “แก้ไข” ความคิดของคนแปลกหน้าในประเด็นร้อนแรงซึ่งจะทำให้เกิดการแตกแยก ผลที่ได้รับคือคำพูดรุนแรง ความเจ็บใจ (ของฉัน) และเสียโอกาสที่จะเป็นพยานเพื่อพระเยซู นั่นเป็นผลของ “ความโกรธทางอินเทอร์เน็ต” นี่เป็นคำจำกัดความของคำพูดรุนแรงที่ปลิวว่อนไปทั่วเว็บไซต์ที่ให้แสดงความคิดเห็นในแต่ละวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมคนหนึ่งอธิบายว่าผู้คนสรุปอย่างผิดๆว่าความเดือดดาล “คือวิธีในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ”

คำแนะนำอันชาญฉลาดของเปาโลก็เตือนทิโมธีในเรื่องเดียวกันนี้ “อย่าข้องแวะกับปัญหาอันโง่เขลาและไม่เป็นสาระ ด้วยรู้แล้วว่าปัญหาเหล่านั้นก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ฝ่ายผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่เป็นคนที่ชอบการทะเลาะวิวาท แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน” (2 ทธ.2:23-24)

คำเตือนของเปาโลจากคุกในกรุงโรมถูกส่งไปให้ศิษยาภิบาลหนุ่มทิโมธีเพื่อเตรียมเขาสำหรับการสอนความจริงของพระเจ้า คำเตือนนี้มาถูกเวลาสำหรับเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดเรื่องความเชื่อ จง “ชี้แจงให้ฝ่ายตรงกันข้ามเข้าใจด้วยความสุภาพ ว่าพระเจ้าอาจจะทรงโปรดให้เขากลับใจและมาถึงซึ่งความจริง” (ข้อ 25)

การพูดกับผู้อื่นอย่างสุภาพเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทาย ไม่ใช่แค่สำหรับศิษยาภิบาล แต่ทุกคนที่รักพระเจ้าและพยายามบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระองค์ ขอให้เราพูดความจริงด้วยความรัก พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยในทุกคำพูดของเรา

หลีกหนีจากความขัดแย้ง

ในการกล่าวคำสดุดีข้างหลุมศพของนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ไม่ได้พูดถึงข้อขัดแย้งทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขา แต่กลับระลึกถึง “ความเมตตาที่ไม่สิ้นสุด” ของเฮนดริค เอ.ลอเรนซ์ นักฟิสิกส์ผู้เป็นที่รักและรู้จักกันดีในความเป็นคนเรียบง่าย และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเป็นธรรม ไอน์สไตน์กล่าวว่า “ทุกคนยินดีติดตามเขาเพราะรู้สึกว่าลอเรนซ์ไม่ต้องการครอบงำแต่ต้องการจะช่วยเสมอ”

ลอเรนซ์เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์ทิ้งอคติทางการเมืองและมาทำงานร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไอน์สไตน์พูดถึง เจ้าของรางวัลโนเบลรุ่นเดียวกับเขาว่า “ลอเรนซ์อุทิศตนให้กับพันธกิจแห่งการคืนดีตั้งแต่สงครามยังไม่สิ้นสุด”

การคืนดีควรเป็นเป้าหมายของทุกคนในคริสตจักรเช่นกัน จริงอยู่ที่ความขัดแย้งบางอย่างนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องทำในส่วนของเราเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติ เปาโลกล่าวว่า “อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่” (อฟ.4:26) และ “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านเลย แต่จงกล่าวคำที่ดีและเป็นประโยชน์ ให้เหมาะสมกับความต้องการเพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยินได้ฟัง” (ข้อ 29) เพื่อเราจะเติบโตไปด้วยกัน

เปาโลกล่าวว่า “จงให้ใจขมขื่น และใจขัดเคือง และใจโกรธ และการทะเลาะเถียงกัน และการพูดให้ร้ายกับการคิดปองร้ายทุกอย่างอยู่ห่างไกลจากท่านเถิด และท่านจงเมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกันและอภัยโทษให้กันเหมือนดังที่พระเจ้าได้ทรงโปรดอภัยโทษให้แก่ท่านในพระคริสต์นั้น” (ข้อ 31-32) การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจะช่วยให้คริสตจักรเติบโตและถวายเกียรติแด่พระเจ้า

นักบำบัดต้นไม้

บางคนเรียกเขาว่า “นักบำบัดต้นไม้” ในความเป็นจริง โทนี่ ริเนาโด้เป็นเจ้าหน้าที่ขยายพันธุ์ต้นไม้ของมูลนิธิศุภนิมิตออสเตรเลีย เขาเป็นมิชชันนารีและนักปฐพีวิทยาที่ทุ่มเทความพยายามในการประกาศเรื่องราวของพระเยซูโดยต้องต่อสู้กับการทำลายป่าในเขตรอยต่อซาเฮลของแอฟริกาซึ่งอยู่ทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า

เขาตระหนักว่า “พุ่มไม้” ที่แคระแกรนนั้นจริงๆแล้วเป็นต้นไม้ที่มีศักยภาพ ริเนาโด้จึงเริ่มดูแลตัดแต่งและรดน้ำ งานของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรนับแสนที่จะฟื้นฟูสภาพป่าและปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในประเทศไนเจอร์สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้สองเท่า และเลี้ยงดูประชากรเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านคนต่อปี

ในยอห์น 15 พระเยซูองค์พระผู้สร้างการเกษตร ทรงพูดถึงกลวิธีในด้านการเกษตรที่คล้ายคลึงเมื่อตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่นแท้ และพระบิดาของเราทรงเป็นผู้ดูแลรักษา แขนงทุกแขนงที่ไม่ออกผล พระองค์ก็ทรงตัดทิ้งเสีย และแขนงทุกแขนงที่ออกผล พระองค์ก็ทรงลิดเพื่อให้ออกผลมากขึ้น” (ข้อ 1-2)

หากปราศจากการดูแลของพระเจ้าในแต่ละวัน วิญญาณของเราก็เหี่ยวเฉาและไม่สามารถเกิดผล เมื่อเรายินดีในกฎบัญญัติของพระเจ้าและใคร่ครวญในบัญญัตินั้นทั้งวันและคืน เราจะเป็น “เช่นต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมธารน้ำ” (สดด.1:3) ใบของเราจะ “ไม่เหี่ยวแห้ง” และ “การทุกอย่างซึ่ง(เรา)กระทำก็จำเริญขึ้น” (ข้อ 3) ให้เรารับการตัดแต่งและหยั่งรากในพระองค์ เราจะเขียวชอุ่ม ได้รับการฟื้นฟูและเกิดผล

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา