ฉันกำลังโต้เถียงกับคนในเฟซบุ๊ก เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย อะไรทำให้ฉันคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ “แก้ไข” ความคิดของคนแปลกหน้าในประเด็นร้อนแรงซึ่งจะทำให้เกิดการแตกแยก ผลที่ได้รับคือคำพูดรุนแรง ความเจ็บใจ (ของฉัน) และเสียโอกาสที่จะเป็นพยานเพื่อพระเยซู นั่นเป็นผลของ “ความโกรธทางอินเทอร์เน็ต” นี่เป็นคำจำกัดความของคำพูดรุนแรงที่ปลิวว่อนไปทั่วเว็บไซต์ที่ให้แสดงความคิดเห็นในแต่ละวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมคนหนึ่งอธิบายว่าผู้คนสรุปอย่างผิดๆว่าความเดือดดาล “คือวิธีในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ”

คำแนะนำอันชาญฉลาดของเปาโลก็เตือนทิโมธีในเรื่องเดียวกันนี้ “อย่าข้องแวะกับปัญหาอันโง่เขลาและไม่เป็นสาระ ด้วยรู้แล้วว่าปัญหาเหล่านั้นก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ฝ่ายผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่เป็นคนที่ชอบการทะเลาะวิวาท แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน” (2 ทธ.2:23-24)

คำเตือนของเปาโลจากคุกในกรุงโรมถูกส่งไปให้ศิษยาภิบาลหนุ่มทิโมธีเพื่อเตรียมเขาสำหรับการสอนความจริงของพระเจ้า คำเตือนนี้มาถูกเวลาสำหรับเราด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดเรื่องความเชื่อ จง “ชี้แจงให้ฝ่ายตรงกันข้ามเข้าใจด้วยความสุภาพ ว่าพระเจ้าอาจจะทรงโปรดให้เขากลับใจและมาถึงซึ่งความจริง” (ข้อ 25)

การพูดกับผู้อื่นอย่างสุภาพเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทาย ไม่ใช่แค่สำหรับศิษยาภิบาล แต่ทุกคนที่รักพระเจ้าและพยายามบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระองค์ ขอให้เราพูดความจริงด้วยความรัก พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยในทุกคำพูดของเรา