ที่ปลอดภัยของเรา
ครูวัยเกษียณ เด็บบี้ สตีเฟนส์ บราวเดอร์กำลังทำภารกิจในการโน้มน้าวผู้คนให้ปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุด สาเหตุก็คือความร้อน อากาศที่ร้อนจัดในสหรัฐอเมริกาเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาการเสียชีวิตที่เกิดจากสภาพอากาศ ด้วยเหตุนี้เธอจึงบอกว่า “ฉันจะเริ่มจากต้นไม้” หลังคาป้องกันความร้อนที่ต้นไม้มอบให้คือหนึ่งในวิธีการสำคัญในการปกป้องชุมชน “นี่เป็นเรื่องของความเป็นความตาย ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามของชุมชน”
ข้อเท็จจริงที่ร่มเงาไม่เพียงให้ความร่มรื่นแต่ยังสามารถช่วยชีวิตได้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสดุดี 121 ทราบดี เพราะในตะวันออกกลางนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นลมแดด ความจริงนี้ยิ่งสนับสนุนคำบรรยายอันชัดเจนของผู้เขียนสดุดีว่าพระเจ้าทรงเป็นที่กำบังอันปลอดภัยของเรา พระองค์ผู้ทรงห่วงใยว่า “ดวงอาทิตย์จะไม่โจมตี [เรา] ในเวลากลางวัน หรือดวงจันทร์ในเวลากลางคืน” (ข้อ 6)
พระธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เชื่อในพระเยซูมีภูมิคุ้มกันต่อความเจ็บปวดหรือการสูญเสียในชีวิตนี้ (หรือความร้อนนั้นไม่มีอันตราย!) แต่พระคริสต์ทรงบอกเราว่า “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” (ยน.16:33) แต่การเปรียบเปรยว่าพระเจ้าทรงเป็นที่กำบังของเราทำให้เรามั่นใจอย่างยิ่งว่า ไม่ว่าเราจะพบเจอสิ่งใด ชีวิตของเราจะอยู่ในการเฝ้าดูด้วยความห่วงใยของพระองค์ (สดด.121:7-8) เราจึงสามารถพักสงบโดยการไว้วางใจในพระองค์ และรู้ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถแยกเราจากความรักของพระองค์ได้ (ยน.10:28; รม.8:39)
ไม่ใช่ความฝัน
มันเหมือนอยู่ในความฝันที่คุณไม่อาจตื่นขึ้นมาได้ คนที่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่บางครั้งเรียกว่า “ภาวะขาดความเชื่อมต่อกับความเป็นจริง” หรือ “ภาวะที่รู้สึกตัดขาดจากตัวตนของตนเอง” นั้นมักจะรู้สึกเหมือนสิ่งที่อยู่รอบตัวไม่มีอยู่จริง แม้ว่าผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้แบบเรื้อรังอาจวินิจฉัยได้ว่ามีความผิดปกติ แต่เชื่อกันว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เครียด แต่บางครั้งแม้เวลาที่ชีวิตดูเหมือนดี ความรู้สึกนี้ก็ยังคงอยู่ ราวกับว่าจิตใจของเราไม่อาจวางใจได้ว่าสิ่งดีๆกำลังเกิดขึ้นจริงๆ
พระคัมภีร์อธิบายถึงการต่อสู้ทำนองนี้ในคนของพระเจ้า ที่ได้สัมผัสอำนาจและการปลดปล่อยของพระองค์ที่เป็นจริงไม่ใช่แค่ความฝัน ในกิจการบทที่ 12 เมื่อทูตสวรรค์นำเปโตรออกจากคุก และท่านอาจถูกประหารชีวิต (ข้อ 2, 4) มีการบรรยายถึงอัครทูตว่าท่านตกอยู่ในความงุนงง ไม่แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ (ข้อ 9-10) เมื่อทูตองค์นั้นละท่านไว้นอกคุกเปโตรก็ “รู้สึกตัว” ในที่สุดและตระหนักว่าทุกอย่างนั้นเป็นความจริง (ข้อ 11)
ทั้งในยามดีและยามร้าย บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อหรือมีประสบการณ์ว่าพระเจ้ากำลังทำงานในชีวิตของเราจริงๆ แต่เราวางใจได้ว่าเมื่อเรารอคอยพระองค์ วันหนึ่งฤทธิ์เดชแห่งการเป็นขึ้นจากความตายของพระองค์จะกลายเป็นความจริงอันอัศจรรย์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ความสว่างของพระเจ้าจะปลุกเราจากการหลับไหล ให้ตื่นขึ้นสู่ความเป็นจริงแห่งชีวิตกับพระองค์ (อฟ.5:14)
วิ่งเพื่อสิ่งที่มีค่า
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ร้องไห้กับข่าวคราวสถานการณ์ของไอร่าเพื่อนของฉัน ซึ่งเธอโพสต์ไว้ในปี 2022 ไม่กี่วันหลังเธอหนีออกจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงที่ถูกปิดล้อมของประเทศยูเครน เธอลงรูปภาพเก่าที่เธอชูธงชาติประเทศของเธอภายหลังเสร็จสิ้นการวิ่งแข่งขัน เธอเขียนว่า “เราทุกคนต่างวิ่งอย่างสุดกำลังในการแข่งมาราธอนที่เรียกว่าชีวิต ในเวลานี้ขอให้เราวิ่งให้ดีกว่าเดิม พร้อมกับสิ่งที่ไม่มีวันตายในหัวใจของเรา” หลายวันต่อมา ฉันเห็นเพื่อนคนนี้ยังคงวิ่งแข่งในหลากหลายรูปแบบ ด้วยการส่งข่าวความคืบหน้าให้เราอธิษฐานและช่วยเหลือผู้ที่กำลังทนทุกข์ในประเทศของเธอ
คำพูดของไอร่าทำให้เกิดการทรงเรียกรูปแบบใหม่ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในพระธรรมฮีบรูบทที่ 12 ที่ให้ผู้เชื่อ “วิ่งแข่งด้วยความเพียรพยายาม” (ข้อ 1) การทรงเรียกนั้นสืบเนื่องจากเรื่องราวของวีรบุรุษแห่งความเชื่อในบทที่ 11 ซึ่งเป็น “พยานที่พรั่งพร้อมอยู่รอบข้าง” (12:1) เป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความกล้าหาญ และยึดมั่นในความเชื่อแม้ต้องเสี่ยงด้วยชีวิต (11:33-38) แม้ว่าพวกเขาเพียงแค่ “ได้เห็น...และเตรียมรับ [พระสัญญา] ไว้ตั้งแต่ไกล” (ข้อ 13) คนเหล่านั้นมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งที่เป็นนิรันดร์ เพื่อสิ่งที่ไม่มีวันตาย
ผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนถูกเรียกให้ดำเนินชีวิตในแบบเดียวกัน เพราะสันติภาพ ซึ่งก็คือความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขแห่งแผ่นดินของพระเจ้านั้นควรค่าแก่การที่เราจะยอมถวายทั้งหมดของชีวิตเรา เพราะนั่นคือแบบอย่างและฤทธานุภาพของพระคริสต์ที่ค้ำจุนเราอยู่ (12:2-3)
การเริ่มต้นใหม่
“จิตสำนึกของคริสเตียนเริ่มต้นขึ้นในความตระหนักรู้อันเจ็บปวดว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความจริงที่แท้เป็นคำโกหก” ยูจีน ปีเตอร์สันเขียนไว้ในบทสะท้อนการใคร่ครวญพระธรรมสดุดี 120 ซึ่งเป็นเพลงแรกใน “บทเพลงแห่ขึ้น” (สดด.120-134) ที่ขับร้องโดยธรรมิกชนที่กำลังเดินทางไปเยรูซาเล็ม ขณะที่ปีเตอร์สันใคร่ครวญเรื่องนี้ในหนังสือ การเชื่อฟังอันยาวนานในทิศทางเดียวกันนั้น บทเพลงสดุดีเหล่านี้ยังทำให้เราเห็นภาพของการเดินทางฝ่ายวิญญาณไปสู่พระเจ้าอีกด้วย
การเดินทางนั้นจะเริ่มต้นขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้แจ้งว่าเราต้องการบางสิ่งที่ต่างออกไป ดังเช่นที่ปีเตอร์สันเขียนไว้ว่า “คนจะต้องเอือมระอาอย่างถึงที่สุดกับสิ่งเดิมๆเพื่อจะมีแรงจูงใจให้ออกเดินในทางของคริสเตียน...(คน)ต้องเบื่อหน่ายกับวิถีของโลกก่อนที่เขาจะมีความหิวกระหายโลกแห่งพระคุณ”
เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกสิ้นหวังกับความแตกสลายและความสิ้นหวังที่เราเห็นในโลกรอบตัว ด้วยวัฒนธรรมที่กำลังแพร่หลายที่ไม่ยินดียินร้ายกับอันตรายที่เกิดกับผู้อื่น สดุดี 120 คร่ำครวญในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยว่า “ข้าพเจ้าชอบศานติแต่เมื่อข้าพเจ้าพูด เขาหนุนสงคราม” (ข้อ 7)
แต่ยังมีการเยียวยารักษาและเสรีภาพเมื่อเราตระหนักรู้ว่า ความเจ็บปวดของเราสามารถปลุกเราขึ้นสู่การเริ่มต้นใหม่โดยความช่วยเหลือเดียวของเราคือองค์พระผู้ช่วยให้รอด ผู้ทรงสามารถนำเราออกจากคำโกหกที่บ่อนทำลายไปสู่เส้นทางแห่งสันติสุขและความบริบูรณ์ (121:2) ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้ขอให้เราแสวงหาพระองค์และหนทางของพระองค์
มุ่งทำต่อไป! ด้วยใจแน่วแน่
ในบทกวีที่มีชื่อว่า “พักผ่อน” ผู้ประพันธ์เสนอคำท้าทายอย่างสุภาพต่อการที่เรามีแนวโน้มที่จะแยกเวลา “พัก” ออกจากเวลา “งาน” โดยถามว่า “มิใช่ว่าคนที่ทำงานหนัก จึงได้พักอย่างแท้จริงหรือ” หากคุณต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง แทนที่จะพยายามหลีกเลี่ยงการทำในสิ่งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของชีวิต ผู้เขียนแนะนำว่า “จงทำอย่างดีที่สุด อย่าให้เวลาสูญเปล่า นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่การพัก หากจะยลความงาม จำต้องเข้าใกล้พระเจ้า หรือทำแต่ความดีหรือมีเพียงต้องทำหน้าที่ จึงจะพบความงามนั้น”
ผู้ประพันธ์สรุปว่าความสุขและการพักผ่อนอย่างแท้จริงนั้นพบได้ผ่านความรักและการรับใช้ แนวคิดนี้ทำให้คิดถึงคำหนุนใจของเปาโลต่อชาวเธสะโลนิกา หลังจากอธิบายถึงการทรงเรียกของท่านเพื่อหนุนใจพวกผู้เชื่อให้ “ประพฤติอย่างสมควรต่อพระเจ้า” (1 ธส.2:12) อัครทูตได้ให้รายละเอียดที่เจาะจงมากขึ้น
ภาพที่ท่านบรรยายคือชีวิตที่สัตย์ซื่อ รัก และรับใช้อย่างสงบ เปาโลทูลขอให้พระเจ้า “ทรงให้ [พวกเขา] จำเริญและบริบูรณ์ไปด้วยความรักซึ่งกันและกัน และรักคนทั้งปวง” (3:12) และท่านยังวิงวอนผู้เชื่อในพระเยซูว่า “จงตั้งเป้าว่าจะอยู่อย่างสงบ” “ทำกิจธุระส่วนของตน และทำการงานด้วยมือของตนเอง” (4:11) นี่คือชีวิตที่รักและรับใช้อย่างสงบในทุกโอกาสที่พระเจ้าประทานแก่เรา ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นมองเห็นความงามของชีวิตแห่งความเชื่อ (ข้อ 12)
ดังที่ผู้เขียนบอกไว้ ความสุขที่แท้จริงคือ “การรักและปรนนิบัติ อย่างเต็มที่และดีที่สุด มุ่งทำต่อไป! ด้วยใจแน่วแน่ นั่นจึงเป็นการพักที่แท้จริง”
พระคุณอันอ่อนโยนของพระเจ้า
“พูดความจริงทั้งหมดแต่ค่อยๆพูดทีละนิด” บทกวีที่เอมิลี่ ดิคคินสันเขียนขึ้นบอกเราว่า เพราะความจริงและพระสิริของพระเจ้า “สว่างจ้า” เกินกว่ามนุษย์ที่อ่อนแอจะเข้าใจหรือรับได้หมดในครั้งเดียว เราจึงควรรับและแบ่งปันพระคุณและความจริงของพระเจ้า “ทีละนิด” คืออย่างอ่อนโยน โดยทางอ้อม เพราะ “ความจริงต้องค่อยๆเปล่งประกาย มิเช่นนั้นมนุษย์ทุกคนจะตาบอดไปเสียได้”
อัครสาวกเปาโลพูดอย่างเดียวกันในเอเฟซัส 4 เมื่อท่านหนุนใจให้ผู้เชื่อ “มีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” (ข้อ 2) ท่านอธิบายว่า พื้นฐานของใจที่สุภาพและมีเมตตาต่อกันของผู้เชื่อมาจากความเมตตาของพระคริสต์ที่มีต่อเรา ในการเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซู (ข้อ 9-10) พระองค์ทรงสำแดงพระองค์อย่างเงียบๆ และอ่อนโยนอย่างที่ผู้คนต้องการเพื่อจะเชื่อและยอมรับพระองค์
และพระองค์ยังทรงสำแดงพระองค์อย่างอ่อนสุภาพและเต็มด้วยความรัก โดยประทานและเสริมกำลังคนของพระองค์อย่างที่พวกเขาต้องการเพื่อจะเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ “เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่” (ข้อ 12-13) เมื่อเราเติบโตขึ้น เรายิ่งแสวงหาความหวังจากที่อื่นน้อยลง (ข้อ 14) และมั่นใจในการทำตามแบบอย่างความรักที่อ่อนสุภาพของพระเยซูมากยิ่งขึ้น (ข้อ 15-16)
การทรงช่วยเหลือเพื่ออนาคต
นักจิตวิทยาชื่อเม็ก เจย์กล่าวไว้ว่า ใจของเรามักจะคิดถึงตัวเองในอนาคต คล้ายกับการคิดถึงคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่เป็นแบบนี้อาจเป็นเพราะสิ่งที่บางครั้งถูกเรียกว่า “ช่องว่างแห่งความเห็นอกเห็นใจ” การเห็นอกเห็นใจและห่วงใยคนที่เราไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวอาจเป็นเรื่องยาก แม้แต่กับตัวของเราเองในอนาคต ดังนั้นในงานของเธอ เจย์จึงพยายามช่วยคนหนุ่มสาวให้จินตนาการถึงตนเองในอนาคตและลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อดูแลตนเองในอนาคตนั้น รวมไปถึงวางแผนสิ่งที่จะทำให้กับตัวเองในอนาคต เพื่อปูทางให้พวกเขาไล่ตามความฝันและมุ่งมั่นกระทำให้สำเร็จต่อไป
ในสดุดี 90 เราได้รับการเชิญชวนให้มองชีวิตของเราไม่เพียงแค่ในปัจจุบันแต่ในภาพรวมทั้งชีวิต โดยทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยเรา “นับวันของเรา เพื่อเราจะได้มีจิตใจที่มีปัญญา” (ข้อ 12) การตระหนักว่าเวลาของเราบนโลกมีจำกัด จะเตือนเราถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการพึ่งพาพระเจ้า เราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อที่จะรู้จักวิธีพบความพึงพอใจและความยินดี ไม่ใช่แค่เพียงตอนนี้ แต่ “ตลอดวันเวลาของเรา” (ข้อ 14) เราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อเรียนรู้ที่จะไม่คิดถึงแค่ตัวเราเท่านั้น แต่คิดถึงคนรุ่นต่อๆไปในอนาคตด้วย (ข้อ 16) และเราต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อรับใช้พระองค์ตามเวลาที่เราได้รับ ขณะที่พระองค์ทรงสถาปนาหัตถกิจแห่งมือและหัวใจของเรา (ข้อ 17)
ความถ่อมใจคือความจริง
วันหนึ่งเมื่อได้ใคร่ครวญว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับความถ่อมใจ เทเรซ่าแห่งอาวีลาซึ่งเป็นผู้เชื่อในศตวรรษที่ 16 จึงเข้าใจคำตอบในทันทีว่า “เพราะว่าพระเจ้าคือความจริงอันสูงสุด และความถ่อมใจคือความจริง...ไม่มีสิ่งดีอันใดในตัวเราเกิดขึ้นจากตัวเราเอง แต่มาจากสายน้ำแห่งพระคุณ ที่อยู่ใกล้ ณ จิตวิญญาณนั้น เหมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมฝั่งน้ำ และจากดวงอาทิตย์ที่ให้ชีวิตแก่การงานของเรา” เทเรซ่าได้สรุปว่าเรายึดตัวเองในความเป็นจริงนั้นได้โดยการอธิษฐานเพราะว่า “รากฐานทั้งสิ้นของการอธิษฐานนั้นคือความถ่อมใจ ยิ่งเราถ่อมตัวลงในการอธิษฐาน พระเจ้าจะยิ่งยกชูเราขึ้น”
คำกล่าวของเทเรซ่าเกี่ยวกับความถ่อมนี้สะท้อนถึงถ้อยคำในยากอบบทที่ 4 ยากอบได้เตือนถึงคุณสมบัติที่ทำลายตนเองของความหยิ่งผยองและความทะเยอทะยานที่เห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิตที่ดำเนินโดยอาศัยพระคุณของพระเจ้า (ข้อ 1-6) ยากอบเน้นว่าทางออกเดียวสำหรับชีวิตแห่งความโลภ ความสิ้นหวัง และความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา คือการกลับใจจากความหยิ่งจองหองของเราเพื่อแลกกับพระคุณของพระเจ้า หรือพูดอีกอย่างคือ “จงถ่อมใจลงต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า” โดยมั่นใจว่า “พระองค์จะทรงยกชูท่านขึ้น” (ข้อ 10)
เมื่อเราหยั่งรากในสายน้ำแห่งพระคุณเท่านั้น เราจึงจะพบว่าเราเองได้รับการบำรุงเลี้ยงด้วย “ปัญญาจากเบื้องบน” (3:17) ในพระองค์เท่านั้นที่เราจะพบว่าเราเองได้รับการยกขึ้นโดยความจริง
กุญแจ
ในหนังสือคลาสสิกชื่อ มนุษย์สภาวะ โธมัส คีตติ้งเล่าเรื่องที่น่าจดจำถึงอาจารย์คนหนึ่งที่ทำกุญแจบ้านหาย เขาคุกเข่าลงใช้มือควานหาไปตามต้นหญ้า เมื่อพวกลูกศิษย์เห็นว่าเขากำลังหาอยู่จึงมาช่วยหาด้วยแต่ก็ไม่พบ ในที่สุด “หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ที่มีปัญญามากกว่า” ถามว่า “อาจารย์ครับ อาจารย์รู้ไหมว่าทำกุญแจหายที่ไหน” อาจารย์ของพวกเขาตอบว่า “ก็ต้องทำหายในบ้านสิ” เมื่อพวกเขาอุทานว่า “แล้วทำไมเราจึงมาหามันที่ข้างนอกนี้เล่า” เขาตอบว่า “ก็ข้างนอกนี้มันสว่างกว่าไง”
กุญแจที่เราทำหายคือกุญแจสู่ “สัมพันธ์สนิทกับพระเจ้า คือประสบการณ์แห่งการสถิตอยู่ด้วยความรักของพระองค์” คีตติ้งสรุปว่า “หากไม่มีประสบการณ์นั้น อะไรๆก็ดูจะไม่ถูกต้อง แต่หากมีประสบการณ์นั้น อะไรๆก็ดูจะถูกต้องไปหมด”
เราหลงลืมได้ง่ายว่า แม้ในชีวิตที่ขึ้นๆลงๆนี้พระเจ้ายังคงเป็นกุญแจสู่ความปรารถนาที่ล้ำลึกที่สุดของเรา แต่เมื่อเราพร้อมที่จะหยุดมองหาผิดที่ พระเจ้าทรงอยู่กับเราที่นั่น ทรงพร้อมจะสำแดงการพักผ่อนที่แท้จริงให้เราได้เห็น ในมัทธิว 11 พระเยซูสรรเสริญพระบิดาที่ทรงเปิดเผยทางของพระองค์ ไม่ใช่ให้“ผู้มีปัญญาและผู้ฉลาด” แต่เป็น “ผู้น้อย” ได้รู้ (ข้อ 25) จากนั้นพระองค์ทรงเชิญชวน “บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก” (ข้อ 28) ให้มาหาพระองค์เพื่อจะได้หยุดพัก
พวกเราก็เหมือนเด็กเล็กๆที่สามารถพบกับการหยุดพักอย่างแท้จริงเมื่อเราเรียนรู้ทางของพระอาจารย์ ผู้ “สุภาพและใจอ่อนน้อม” (ข้อ 29) พระเจ้าทรงอยู่กับเรา รอคอยที่จะต้อนรับเรากลับบ้าน