เชื่อมต่อใหม่ด้วยการขอบพระคุณ
หลังจากผลวินิจฉัยที่พบเนื้องอกในสมอง คริสติน่า คอสต้าสังเกตว่าในการพูดคุยเพื่อจัดการกับโรคมะเร็งนั้นมีการใช้ภาษาที่มาจากการต่อสู้ เธอพบว่าการเปรียบเปรยด้วยภาษาเช่นนี้ไม่ช้าก็ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า เธอ “ไม่ต้องการใช้เวลากว่าปีในการทำสงครามกับร่างกาย[ของเธอ]” แต่เธอพบว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือการแสดงความขอบคุณในแต่ละวัน ทั้งกับทีมผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเธอและในการที่สมองและร่างกายของเธอแสดงให้เห็นว่าได้รับการรักษา เธอมีประสบการณ์ด้วยตัวเองว่าการต่อสู้ไม่ว่าจะยากเพียงใด การแสดงความขอบคุณจะช่วยให้เราต่อต้านภาวะซึมเศร้าและ “เชื่อมต่อกับสมองของเราเพื่อช่วยเราสร้างความสามารถในการกลับสู่สภาพเดิม”
เรื่องราวที่ทรงพลังของคอสต้าเตือนใจฉันว่า การแสดงความขอบคุณไม่ใช่แค่สิ่งที่ผู้เชื่อทำตามหน้าที่เท่านั้น แม้เป็นความจริงที่พระเจ้าทรงสมควรได้รับคำขอบคุณจากเรา แต่ก็ส่งผลที่ดียิ่งแก่เราด้วย เมื่อเรายกชูจิตใจขึ้นกล่าวว่า “จิตใจของข้าเอ๋ย จงถวายสาธุการแด่พระเจ้า และอย่างลืมพระราชกิจอันมีพระคุณทั้งสิ้นของพระองค์” (สดด.103:2) เราก็ได้รับการย้ำเตือนถึงวิธีที่พระเจ้าทรงกระทำกิจนับไม่ถ้วน เพื่อให้เรามั่นใจในการยกโทษ การรักษาภายในร่างกายและจิตใจของเรา และให้เราได้มีประสบการณ์ถึง “ความรักและความเมตตา” และ “สิ่งดีๆ” อันนับไม่ถ้วนในการทรงสร้างของพระองค์ (ข้อ 3-5)
แม้ว่าการทุกข์ยากทั้งหมดจะไม่ได้รับการเยียวยาอย่างสมบูรณ์ในชีวิตนี้ แต่จิตใจของเราจะรับการฟื้นฟูใหม่ได้ทุกเวลาด้วยการขอบพระคุณ เพราะความรักมั่นคงของพระเจ้าอยู่กับเรา “ตั้งแต่นิรันดร์กาลถึงนิรันดร์กาล” (ข้อ 17)
ทีละน้อย
เทเรซ่าแห่งอวีลา ผู้เชื่อในศตวรรษที่สิบหกเขียนไว้ว่า “ในทุกสิ่งรอบตัวนั้น เรามองหาหนทางอันน่ารื่นรมย์ในการรับใช้พระเจ้า” เธอสะท้อนให้เห็นด้วยความเศร้าใจถึงวิธีต่างๆที่เราพยายามจะเป็นผู้ควบคุม โดยใช้วิธีการที่ง่ายกว่าและ “น่ารื่นรมย์” มากกว่าการที่จะยอมจำนนต่อพระเจ้าโดยสิ้นเชิง เรามักจะเติบโตอย่างช้าๆ ลังเล หรือแม้แต่ไม่เต็มใจที่จะเชื่อวางใจในพระองค์อย่างสุดใจ ดังนั้นเทเรซ่าจึงสารภาพว่า “แม้ในขณะที่เรามอบถวายชีวิตให้พระองค์ทีละนิดนั้น เราก็จะต้องเต็มใจที่จะรับของขวัญจากพระองค์ทีละน้อย จนกว่าเราจะมอบถวายชีวิตทั้งหมดแด่พระองค์”
ในฐานะมนุษย์ ความไว้วางใจไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสำหรับพวกเราหลายคน ดังนั้นหากการที่เราจะได้มีประสบการณ์กับพระคุณและความรักของพระเจ้านั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถที่เราจะเชื่อวางใจและรับพระคุณความรักแล้วล่ะก็ เราคงลำบากแน่! แต่เมื่อเราอ่านใน 1 ยอห์น 4 นั้นพระเจ้าได้ทรงรักเราก่อน (ข้อ 19) พระองค์ทรงรักเรามาเนิ่นนานก่อนที่เราจะสามารถรักพระองค์ได้ ถึงขนาดทรงยินดีเสียสละพระบุตรของพระองค์เพื่อเรา ยอห์นบันทึกไว้ด้วยความประหลาดใจและซาบซึ้งใจว่า นี่คือ “ความรัก” (ข้อ 10)
พระเจ้าทรงค่อยๆเยียวยาจิตใจของเราทีละนิดเพื่อให้รับความรักจากพระองค์ พระคุณของพระองค์ค่อยๆหลั่งลงมาทีละน้อยเพื่อช่วยให้เราละทิ้งความกลัว (ข้อ18) พระคุณของพระองค์เข้าถึงจิตใจของเราทีละน้อย จนกระทั่งเราพบว่าตนเองได้มีประสบการณ์กับความงดงามและความรักอันล้นเหลือของพระองค์
สร้างไมตรีจิต
เมื่อเราคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจที่ดีที่สุดนั้น สิ่งแรกที่เข้ามาในความคิดอาจไม่ใช่คุณสมบัติอย่างเรื่องความเมตตาและความเอื้อเฟื้อ แต่สำหรับผู้ประกอบการอย่างเจมส์ รีห์ นี่คือคุณสมบัติที่จำเป็น จากประสบการณ์ของรีห์ ในฐานะ ผู้บริหารของบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย การให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “ไมตรีจิต” ซึ่งเป็น “วัฒนธรรมแห่งความเมตตา” และจิตวิญญาณแห่งการให้ ได้ช่วยกอบกู้และนำบริษัทไปสู่ความรุ่งเรือง การให้ความสำคัญกับคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีความหวังและแรงจูงใจที่จำเป็นในการร่วมมือร่วมใจ ริเริ่มสิ่งใหม่ และแก้ไขปัญหา รีห์อธิบายว่า “ไมตรีจิต... คือสินทรัพย์ที่แท้จริงที่สามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันและเพิ่มทวีคูณได้”
ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน เป็นการง่ายที่จะคิดว่าคุณสมบัติอย่างความเมตตาเป็นสิ่งที่คลุมเครือและจับต้องไม่ได้ และถูกจัดไว้หลังลำดับความสำคัญอื่นๆของเรา แต่ตามที่อัครทูตเปาโลสอนนั้น คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญที่สุด
เปาโลเขียนถึงผู้เชื่อใหม่โดยเน้นว่า วัตถุประสงค์ในชีวิตของผู้เชื่อคือการเปลี่ยนแปลงโดยพระวิญญาณไปสู่การเป็นสมาชิกที่โตเป็นผู้ใหญ่ในพระกายของพระคริสต์ (อฟ.4:15) ด้วยจุดมุ่งหมายนี้ ทุกคำพูดและทุกการกระทำจะมีค่าก็ต่อเมื่อมันเสริมสร้างและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น (ข้อ 29) การเปลี่ยนแปลงในพระเยซูจะเกิดขึ้นได้ก็โดยการที่เราให้ความสำคัญกับความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัยในทุกวันเท่านั้น (ข้อ 32)
เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราไปยังผู้เชื่อคนอื่นๆในพระคริสต์ เราก็จะเติบโตและเป็นผู้ใหญ่เมื่อเราเรียนรู้จากกันและกัน
ทักษะแห่งความเมตตา
“หลายครั้งที่คุณต้องร้องไห้ในยามค่ำคืน นั่นก็เพราะคุณมีหนามแหลมทิ่มแทงอยู่ที่เท้า” แคทเธอรีนแห่งซีเอน่าได้เขียนข้อความนี้ไว้ในศตวรรษที่สิบสี่ และกล่าวต่อไปว่า “มีบางคนในโลกนี้ที่ดึงมันออกได้ ซึ่งพวกเขาเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นจาก (พระเจ้า)” แคทเธอรีนได้อุทิศชีวิตในการพัฒนา “ทักษะ” นั้น และความสามารถอันโดดเด่นของเธอในการเข้าอกเข้าใจและเมตตาต่อผู้ที่มีความทุกข์ยังเป็นที่จดจำได้จนถึงทุกวันนี้
ภาพของความเจ็บปวดที่เปรียบเสมือนถูกหนามทิ่มแทง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะและความอ่อนโยนในการดึงออกนั้นยังวนเวียนอยู่ในความคิดของฉัน เป็นสิ่งย้ำเตือนที่ชัดเจนว่าเราต่างมีความซับซ้อนและบาดแผล และเตือนว่าเราจำเป็นต้องลงลึกมากขึ้นเพื่อจะเข้าใจตัวเองและมีความเมตตาที่แท้จริงต่อผู้อื่น
หรือดังเช่นที่อัครทูตเปาโลอธิบายไว้ เป็นภาพที่ย้ำเตือนเราว่าการรักผู้อื่นเหมือนที่พระเยซูทรงรักนั้นจำเป็นต้องมีมากกว่าความตั้งใจและความปรารถนาที่ดี คือต้อง “รักกันฉันพี่น้อง” (รม.12:10) “จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงอดทนต่อความยากลำบาก จงขะมักเขม้นอธิษฐาน” (ข้อ 12) เราต้องเต็มใจที่จะทำมากกว่าการ “ชื่นชมยินดีกับผู้ที่มีความชื่นชมยินดี” โดยจะต้อง “ร้องไห้กับผู้ที่ร้องไห้” ด้วย (ข้อ 15) เราทุกคนต้องช่วยกัน
ในโลกที่เสื่อมทรามนี้ ไม่มีใครรอดพ้นไปได้โดยไม่บาดเจ็บ ความเจ็บปวดและแผลเป็นถูกผนึกแน่นอยู่ในเราแต่ละคน แต่สิ่งที่ลึกยิ่งกว่าคือความรักที่เราพบในพระคริสต์ ซึ่งเป็นความรักที่อ่อนโยนเพียงพอที่จะดึงหนามเหล่านั้นออกด้วยขี้ผึ้งแห่งความเมตตา และเต็มใจจะโอบกอดทั้งเพื่อนและศัตรู (ข้อ 14) เพื่อแสวงหาการเยียวยานี้ร่วมกัน
ใต้ปีกของพระเจ้า
มีฝูงห่านแคนาดาหลายครอบครัวพร้อมลูกห่านที่สระน้ำใกล้อพาร์ตเมนต์ของเรา ลูกห่านตัวน้อยขนปุยและน่ารักมาก เป็นเรื่องยากที่จะไม่มองดูพวกมันเมื่อออกไปเดินหรือวิ่งรอบๆสระ แต่ฉันเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการสบตาและให้พื้นที่กับมัน ไม่เช่นนั้นฉันต้องเสี่ยงทำให้พ่อแม่ที่ปกป้องลูกสงสัยว่าจะมีภัย แล้วส่งเสียงขู่และไล่ตามฉัน!
ภาพนกที่ปกป้องลูกน้อยเป็นสิ่งที่พระคัมภีร์ใช้เพื่อบรรยายถึงความอ่อนโยนของพระเจ้า และความรักซึ่งปกป้องลูกๆของพระองค์ (สดด.91:4) ในสดุดีบทที่ 61 ดูเหมือนการดูแลของพระเจ้าในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดาวิดเข้าใจได้โดยง่าย ท่านเคยมีประสบการณ์กับพระเจ้าในฐานะ “ที่ลี้ภัย เป็นหอคอยเข้มแข็ง” (ข้อ 3) แต่ตอนนี้ท่านร้องอย่างสิ้นหวัง “มาแต่ที่สุดปลายแผ่นดินโลก” วิงวอนว่า “ขอทรงนำข้าพระองค์มาถึงศิลาที่สูงกว่าข้าพระองค์” (ข้อ 2) ท่านปรารถนาอีกครั้งที่จะ “ปลอดภัยอยู่ที่กำบังปีกของ[พระเจ้า]” (ข้อ 4)
และการซึ่งท่านนำความเจ็บปวดและความต้องการการรักษามาทูลต่อพระเจ้า ดาวิดได้รับการปลอบประโลมที่รู้ว่าพระองค์ทรงฟังท่าน (ข้อ 5) เพราะเหตุความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ท่านรู้ว่าท่านจะ “ร้องเพลงสรรเสริญพระนามของพระองค์เสมอ” (ข้อ 8)
เช่นเดียวกับผู้เขียนพระธรรมสดุดี เมื่อเรารู้สึกห่างเหินจากความรักของพระเจ้า เราวิ่งกลับไปสู่อ้อมพระหัตถ์ของพระองค์ได้เพื่อที่จะมั่นใจว่า แม้ในยามเจ็บปวดพระองค์ทรงอยู่กับเรา ทรงปกป้องและดูแลเราอย่างดุดันแข็งขันประหนึ่งแม่นกปกป้องลูกของมัน
พระคุณแบบค่อยเป็นค่อยไป
คุณเคยได้ยินคำว่า #แฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปบ้างไหม คำนี้เป็นแฮชแท็กที่จับกระแสการเคลื่อนไหวของแนวคิดที่ตรงข้ามกับ “แฟชั่นแบบรวดเร็ว” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการตีตลาดด้วยเสื้อผ้าที่ผลิตด้วยต้นทุนต่ำและมาเร็วไปเร็ว โดยแฟชั่นที่รวดเร็วนี้ เสื้อผ้าจะล้าสมัยไปทั้งที่ยังวางขายอยู่ในร้านเสื้อผ้าบางแบรนด์ต้องทิ้งผลิตภัณฑ์ของตนไปเป็นจำนวนมากในทุกๆปี
ส่วนกลุ่มการเคลื่อนไหวของแฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นส่งเสริมให้ผู้คนลดความรวดเร็วลงและใช้อีกแนวทางหนึ่ง แทนที่จะขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่อยากจะดูทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แต่แฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไปส่งเสริมให้เราเลือกซื้อเสื้อผ้าน้อยลงและเลือกเสื้อผ้าที่มีแหล่งผลิตแบบพิถีพิถันและมีจริยธรรม ซึ่งจะอยู่ได้นาน
ขณะที่ฉันใคร่ครวญคำเชื้อเชิญของ#แฟชั่นแบบค่อยเป็นค่อยไป นี้ ฉันสงสัยว่าตัวเองตกอยู่ในวิธีคิดแบบ “แฟชั่นที่รวดเร็ว” ในแบบอื่นหรือไม่คือ คอยมองหาความพึงพอใจในความนิยมแบบใหม่ล่าสุดอยู่เสมอ แต่ในโคโลสีบทที่ 3 เปาโลบอกว่าการมองหาความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในพระเยซูนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้แบบรวดเร็วหรือชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในพระคริสต์ที่สุขสงบ และค่อยเป็นค่อยไปตลอดทั้งชีวิต
แทนที่จะต้องการสวมใส่ตัวเราด้วยสัญลักษณ์ทางสถานะที่ใหม่ล่าสุดของโลกนี้ เราสามารถเปลี่ยนความต้องการนั้นเป็นการสวมใส่เสื้อผ้าฝ่ายวิญญาณแห่ง “ใจเมตตา ใจปรานี ใจถ่อม ใจอ่อนสุภาพ ใจอดทนไว้นาน” (ข้อ 12) เราเรียนรู้ที่จะอดทนต่อกันและกันได้ในการเดินทางแบบค่อยเป็นค่อยไปที่พระคริสต์จะเปลี่ยนแปลงจิตใจเรา เป็นการเดินทางที่นำไปสู่สันติสุขอันยั่งยืน (ข้อ 15)
ฉันเป็นคนไม่สำคัญ! แล้วเธอเป็นใคร
ในบทกลอนที่ขึ้นต้นว่า “ฉันเป็นคนไม่สำคัญ! แล้วเธอล่ะเป็นใคร” เอมิลี่ ดิ๊กคินสันท้าทายความพยายามในทุกทางของผู้คนที่อยากจะเป็น “คนสำคัญ” และส่งเสริมการเป็นคนธรรมดาที่เต็มไปด้วยความสุขและชื่นบานในเสรีภาพที่มีแทน เพราะ “การเป็นคนสำคัญนั้นช่างน่าเศร้า! เหมือนเช่นกบซึ่งเราเห็นกันทั่วไป / ร้องบอกชื่อตัวเองในวันคืนยาวนานของชีวิต / ให้หนองบึงที่ชื่นชมฟัง!”
การมีอิสระที่จะปล่อยวางความต้องการที่จะเป็น “คนสำคัญ” ลงได้นั้นสะท้อนถึงคำพยานของเปาโล ก่อนจะพบพระคริสต์ เปาโลมีตำแหน่งทางศาสนาอันน่าประทับใจยาวเหยียด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า “มีเหตุที่จะไว้ใจในเนื้อหนัง” (ฟป.3:4)
แต่การเผชิญหน้ากับพระเยซูเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เมื่อเห็นว่าความสำเร็จทางศาสนาของท่านช่างว่างเปล่าเมื่อคำนึงถึงความรักที่เสียสละของพระคริสต์ เปาโลสารภาพว่า “ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า...และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์” (ข้อ 8) ความปรารถนาอย่างมากที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวของท่านคือ “การจะรู้จักพระคริสต์...ในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้นและร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์” (ข้อ 10)
เป็นเรื่องน่าเศร้าจริงๆที่พยายามจะเป็น “คนสำคัญ” ด้วยตัวเราเอง แต่การรู้จักพระเยซู การยอมสูญเสียตัวตนของเราไปภายใต้ความรักและชีวิตที่พระองค์ทรงมอบให้นั้น คือการค้นพบตัวตนของเราอีกครั้ง (ข้อ 9) ซึ่งมีทั้งเสรีภาพและความครบบริบูรณ์
ความเอื้ออาทรจากใจจริง
ไม่เคยมีใครต้องตายจากการพูดว่า “ฉันดีใจมากที่ได้ใช้ชีวิตที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง รับใช้ตนเอง และปกป้องตนเอง” นักเขียนปาร์คเกอร์กล่าวในการปราศรัยในพิธีรับปริญญา โดยกระตุ้นให้ผู้สำเร็จการศึกษา “มอบ(ตนเอง)ให้แก่โลก...ด้วยความเอื้ออาทรจากใจจริง”
ปาร์คเกอร์กล่าวต่อไปว่า การใช้ชีวิตเช่นนั้นยังอาจหมายถึงการเรียนรู้ว่า “คุณช่างรู้น้อย และคุณล้มเหลวได้ง่ายมาก” การจะมอบตนเองเพื่อรับใช้โลกได้นั้นจำเป็นต้องมีการปลูกฝังเรื่อง “ความคิดของผู้เริ่มต้น” เพื่อจะ “เดินตรงเข้าไปหาสิ่งที่คุณไม่รู้จัก และรับความเสี่ยงที่จะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วลุกขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ครั้งแล้วครั้งเล่า”
เมื่อชีวิตของเราถูกสร้างขึ้นบนรากฐานแห่งพระคุณเท่านั้น เราจึงจะมีความกล้าหาญในการเลือกเส้นทางชีวิตที่ “เอื้ออาทรจากใจจริง” โดยปราศจากความกลัวดังที่เปาโลอธิบายให้ทิโมธีบุตรบุญธรรมของท่านฟังว่า เราสามารถ “กระทำให้รุ่งเรืองขึ้น” (2ทธ.1:6) และใช้ชีวิตโดยของประทานจากพระเจ้าได้อย่างมั่นใจ เมื่อเราระลึกได้ว่าพระคุณของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ช่วยเราให้รอดและเรียกเราเข้าสู่ชีวิตแห่งพระประสงค์ (ข้อ 9) และเป็นฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่ทำให้เรากล้าที่จะต่อต้านการล่อลวงที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างขลาดกลัว เพื่อจะได้มาซึ่ง “จิตที่กอปรด้วยฤทธิ์ ความรัก และการบังคับตนเอง” (ข้อ 7) และพระคุณของพระองค์นี่เองที่ช่วยดึงเราขึ้นเมื่อเราล้มลง เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้บนรากฐานแห่งความรักของพระองค์ (ข้อ 13-14)
ทุกความโศกเศร้า
เอมิลี่ ดิ๊กคินสันกวีแห่งศตวรรษที่ 19 เขียนว่า “ฉันวัดทุกความเศร้าโศกที่ฉันพบด้วยสายตาที่คับแคบและสำรวจ ฉันสงสัยว่ามันจะหนักเหมือนกับของฉันไหม หรือมีขนาดที่เล็กกว่าของฉัน” บทกวีนี้เป็นภาพสะท้อนที่สะเทือนใจ ถึงการที่ผู้คนแบกความบาดเจ็บที่พวกเขาถูกทำร้ายในรูปแบบต่างๆมาตลอดชีวิต ดิ๊กคินสันจบบทกวีอย่างลังเลด้วยคำปลอบโยนเพียงว่า “ความชูใจที่ทิ่มแทง” โดยเห็นภาพบาดแผลของตัวเองปรากฏอยู่ในรอยแผลของพระผู้ช่วยให้รอดบนกางเขน “ฉันยังคงรู้สึกเชื่ออย่างเหลือเกินว่า บาดแผลบางส่วนนั้น ก็เหมือนกับบาดแผลของฉัน”
วิวรณ์บรรยายภาพพระเยซูพระผู้ช่วยให้รอดของเราว่าเป็นดัง “พระเมษโปดกผู้ทรงถูกปลงพระชนม์” (5:6; ดูข้อ 12) บาดแผลของพระองค์ยังปรากฏให้เห็น เป็นบาดแผลที่เกิดจากการแบกรับความบาปและความสิ้นหวังของประชากรของพระองค์ (1ปต.2:24-25) เพื่อพวกเขาจะมีชีวิตและความหวังใหม่
และวิวรณ์กล่าวถึงวันข้างหน้าที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรง “เช็ดน้ำตาทุกๆ หยด” จากดวงตาของลูกๆของพระองค์ (21:4) พระเยซูจะไม่ช่วยให้พวกเขาเจ็บปวดน้อยลง แต่จะทรงทอดพระเนตรและใส่พระทัยในความเศร้าโศกของแต่ละคนอย่างแท้จริง ขณะที่ทรงเชื้อเชิญพวกเขาเข้าสู่ความจริงของชีวิตใหม่แห่งการเยียวยาในอาณาจักรของพระองค์ ที่ซึ่ง “ความตายจะไม่มีอีกต่อไป การคร่ำครวญ การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป” (ข้อ 4) ที่ซึ่งน้ำแห่งการเยียวยาจะไหลออกมา “จากบ่อน้ำพุแห่งชีวิตโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย” (ข้อ 6; ดู 22:2)
เพราะองค์พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงแบกทุกความเศร้าโศกของเราไว้ เราจึงสามารถพบกับการพักสงบและการเยียวยาในอาณาจักรของพระองค์ได้