ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Kirsten Holmberg

ความเชื่อของวัยรุ่น

ช่วงเวลาวัยรุ่นนั้นบางครั้งถือเป็นช่วงชีวิตที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับทั้งพ่อแม่และลูก ในการค้นหาของฉันเพื่อ “แยกตนเอง” จากแม่นั้นฉันปฏิเสธอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ท่านเห็นว่าดีงามและต่อต้านกฎที่ท่านตั้งไว้ ระแวงในเจตนาของท่านว่าเพียงต้องการให้ฉันไม่มีความสุข แม้เราจะได้ข้อตกลงร่วมกันในเรื่องเหล่านั้น แต่ตอนนั้นความสัมพันธ์ของเราเต็มไปด้วยความตึงเครียด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแม่เป็นทุกข์ที่ฉันปฏิเสธไม่เชื่อฟังสติปัญญาในคำแนะนำของท่าน โดยรู้ว่าจะช่วยไม่ให้ฉันต้องเจ็บปวดทั้งทางกายและจิตใจโดยไม่จำเป็น

พระเจ้ามีพระทัยเช่นเดียวกันนี้ต่ออิสราเอลซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ พระองค์ส่งมอบสติปัญญาในการดำเนินชีวิตไว้ในสิ่งที่เราเรียกว่าบัญญัติสิบประการ (ฉธบ.5:7-21) แม้จะถูกมองว่าเป็นกฎเกณฑ์ แต่ความตั้งใจของพระเจ้าปรากฏให้เห็นในคำตรัสกับโมเสสว่า “เขาทั้งหลายก็จะสุขเจริญอยู่ตลอดชั่วลูกหลานของเขาเป็นนิตย์” (ข้อ 29) โมเสสรับรู้ได้ถึงความปรารถนาของพระเจ้า โดยบอกว่าการเชื่อฟังในกฎบัญญัติจะทำให้พวกเขายินดีในการทรงสถิตอยู่ด้วยต่อไปในแผ่นดินแห่งพันธสัญญานั้น (ข้อ 33)

เราทุกคนล้วนผ่านช่วงเวลาของการเป็น “วัยรุ่น” กับพระเจ้า คือไม่ไว้วางใจว่าแนวทางในการดำเนินของพระองค์นั้นมีไว้เพื่อประโยชน์ของเราเอง ขอให้เราเติบโตขึ้นในการตระหนักว่าพระองค์ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้เรา และเรียนรู้ที่จะใส่ใจในสติปัญญาที่พระองค์มอบให้ การทรงนำของพระองค์มีเพื่อนำเราไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายจิตวิญญาณ โดยที่เราจะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น (สดด.119:97-104; อฟ.4:15; 2 ปต.3:18)

เรื่องราวยิ่งใหญ่ของพระคัมภีร์

เมื่อคอลินเปิดกล่องชิ้นส่วนกระจกสีที่เขาซื้อมา แทนที่จะเจอชิ้นส่วนที่เขาสั่งมาเพื่อทำชิ้นงาน กลับพบว่ามันติดกันมาเป็นหน้าต่างทั้งบาน เขาสืบหาที่มาของหน้าต่างนี้และได้รู้ว่ามันถูกรื้อมาจากโบสถ์เพื่อป้องกันไม่ให้โดนระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 คอลินทึ่งกับคุณภาพของชิ้นงานและการที่ “ชิ้นส่วนเล็กๆ” รวมตัวกันเป็นภาพที่งดงาม

ถ้าพูดกันตรงๆแล้วมีหลายครั้งที่ฉันเปิดเนื้อหาบางเรื่องในพระคัมภีร์ เช่นบทที่มีรายชื่อของลำดับวงศ์ตระกูล ฉันไม่อาจเข้าใจได้ในทันทีว่านั่นจะเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมในพระคัมภีร์ได้อย่างไร เช่นปฐมกาล 11 บทที่มีชื่อคนไม่คุ้นหูและครอบครัวของพวกเขาซ้ำๆ เช่น เชม เชลาห์ เอเบอร์ นาโฮร์ และเทราห์ (ข้อ 10-32) ฉันมักถูกชักจูงให้ข้ามข้อเหล่านี้ไปอ่านบทที่มีเนื้อหาที่คุ้นเคยและดูน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ “หน้าต่าง” แห่งความเข้าใจในพระคัมภีร์ของฉันมากกว่า

เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์” (2 ทธ.3:16) พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าชิ้นส่วนเล็กๆเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่อย่างไร และเปิดตาเราให้มองเห็น เช่น เห็นความเชื่อมโยงของเชลาห์และอับราม (ปฐก.11:12-26) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของดาวิด และที่สำคัญกว่านั้นคือของพระเยซู (มธ.1:2,6,16) พระองค์ทรงยินดีที่จะทำให้เราประหลาดใจด้วยขุมทรัพย์แห่งบานหน้าต่างที่ร้อยเรียงต่อติดกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแม้แต่ชิ้นส่วนเล็กๆ ยังเปิดเผยถึงเรื่องราวพันธกิจของพระเจ้าในพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม

เผื่อแผ่พระคุณสู่ผู้อื่น

ลูกชายของเราอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กในช่วงปีแรกๆของชีวิตก่อนที่เราจะรับเขาเป็นลูกบุญธรรม ก่อนออกมาจากอาคารอิฐนั้น เพื่อกลับบ้านพร้อมกัน เราขอไปช่วยเขาเก็บของส่วนตัว แต่น่าเศร้าที่เขาไม่มีอะไรเลย เราเอาเสื้อผ้าชุดใหม่มาให้เขาเปลี่ยน และฝากเสื้อผ้าอีกหลายชุดเพื่อมอบให้กับเด็กคนอื่นๆ แม้ว่าฉันจะเศร้าใจในความขาดแคลนของเขา แต่ฉันก็ยินดีที่จากนี้ไปเราสามารถให้สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตเขาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ไม่กี่ปีต่อมามีผู้มาขอให้ร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ยากไร้ ลูกชายของฉันกระตือรือร้นที่จะบริจาคตุ๊กตาและเงินเล็กน้อยเพื่อช่วยเหลือพวกเขา จากภูมิหลังของเขา คงพอเข้าใจได้หากเขาจะหวงและยึดสิ่งที่เขามีไว้แน่น

ฉันอยากจะคิดว่าเหตุผลของการตอบสนองอย่างใจกว้างของเขาเป็นแบบเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก “พระคุณอันใหญ่ยิ่งได้อยู่กับเขาทุกคน เพราะว่าในพวกศิษย์ไม่มีผู้ใดขัดสน” (กจ.4:33-34) พวกเขายินดีขายทรัพย์สมบัติของตนเพื่อแบ่งปันกับพี่น้องที่ขาดแคลน

เมื่อเรารับรู้ถึงความขาดแคลนของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ขอพระคุณของพระเจ้าทรงทำงานในเราอย่างทรงพลัง เพื่อให้เราตอบสนองเช่นเดียวกับคริสเตียนในยุคแรก คือการให้จากใจของเราเพื่อผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งจะทำให้พวกเราเป็นท่อพระพรแห่งพระคุณของพระเจ้าในฐานะพี่น้องผู้เชื่อในพระเยซูที่ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (ข้อ 32)

“เนื้อหา” ในการแบ่งปันความเชื่อ

อลันมาขอคำแนะนำจากฉันเพื่อจัดการกับความกลัวในการพูดในที่สาธารณะ เขาเป็นเหมือนคนส่วนมากที่หัวใจเริ่มเต้นเร็ว ปากจะแห้งติดกัน และหน้าเริ่มแดง โรคกลัวการพูดในที่สาธารณะนี้เป็นหนึ่งในการกลัวสังคมที่หลายคนเป็น บางคนถึงกับพูดเล่นว่าพวกเขากลัวการพูดในที่สาธารณะยิ่งกว่ากลัวความตาย! ฉันช่วยให้อลันเอาชนะความกลัวว่าจะ “นำเสนอ” ได้ไม่ดีโดยแนะให้เขาจดจ่อกับสาระของสิ่งที่จะสื่อมากกว่าการที่ว่าจะนำเสนอได้ดีแค่ไหน

การเปลี่ยนจุดสนใจไปยังเนื้อหาที่จะแบ่งปันแทนที่จะสนใจความสามารถของคนที่แบ่งปันนั้นคล้ายกับวิธีของเปาโลในการนำคนมาถึงพระเจ้า เมื่อท่านเขียนจดหมายถึงคริสตจักรในโครินธ์ ท่านกล่าวว่าคำพูดและคำเทศนาของท่าน “ไม่ใช่คำที่เกลี้ยกล่อมด้วยสติปัญญา” (1 คร.2:4) แต่ท่านตั้งใจจดจ่ออยู่บนความจริงแห่งพระเยซูคริสต์และการทรงถูกตรึงที่กางเขน (ข้อ 2) โดยวางใจให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เจิมถ้อยคำของท่าน ไม่ใช่การมีโวหารดีในฐานะนักพูด

เมื่อเราได้รู้จักพระเจ้าเป็นการส่วนตัว เราจะอยากเล่าเรื่องราวของพระองค์ให้กับคนรอบข้าง แต่บางครั้งเราหลบเลี่ยงเพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี คือไม่ใช่ด้วยคำพูดที่ “ถูกต้อง” หรือคมคาย เราสามารถทำเหมือนเปาโลโดยวางใจให้พระเจ้าทำงานในคำพูดของเราและแบ่งปันอย่างปราศจากความกลัวหรือความลังเลได้ โดยการจดจ่ออยู่ที่ “เนื้อหา” ของความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ใดและในพระราชกิจอันอัศจรรย์ของพระองค์

มุ่งสู่ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ

ในการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ มีการถามว่าผู้ทำแบบสอบถามคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ตอนอายุเท่าไร โดยคนที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่แล้วได้ระบุพฤติกรรมที่เป็นการยืนยัน การมีเงินก้อนและการซื้อบ้านติดอันดับต้นๆของข้อบ่งชี้ถึงการเป็น “ผู้ใหญ่” กิจกรรมของผู้ใหญ่อื่นๆ มีตั้งแต่การทำอาหารค่ำ และการติดต่อนัดตรวจสุขภาพด้วยตัวเอง ไปจนถึงความสามารถที่ดูน่าขบขันอย่างการเลือกกินขนมเป็นอาหารเย็น หรือการรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้อยู่บ้านเย็นวันเสาร์แทนที่จะออกไปข้างนอก

พระคัมภีร์บอกว่าเราควรมุ่งไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณเช่นกัน เปาโลเขียนถึงคริสตจักรในเมืองเอเฟซัสให้พวกเขา “โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์” (อฟ.4:13) ขณะที่เรายัง “เยาว์” ในความเชื่อ เราจะหวั่นไหวต่อ “ลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง” (ข้อ 14) ซึ่งมักส่งผลให้เกิดความแตกแยกในหมู่พวกเรา แต่เมื่อเราเติบโตในการเข้าใจความจริง เราจะดำเนินชีวิตเป็นกายเดียวกันภายใต้ “พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือพระคริสต์​” (ข้อ 15)

พระเจ้าประทานพระวิญญาณของพระองค์เพื่อช่วยให้เราเติบโตขึ้นในความเข้าใจว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใด (ยน.14:26) และได้ทรงเตรียมศิษยาภิบาลและอาจารย์เพื่อให้สอนและนำเราสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ (อฟ.4:11-12) เช่นเดียวกับที่คุณลักษณะบางอย่างเป็นเครื่องหมายของการเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายร่างกายฉันใด ความเป็นหนึ่งเดียวในพระกายของพระคริสต์ก็เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเติบโตฝ่ายวิญญาณของเราฉันนั้น

สายรุ้งทรงกลด

ระหว่างการเดินบนภูเขา เอเดรียนพบว่าตัวเองอยู่เหนือเมฆที่ลอยต่ำ ดวงอาทิตย์อยู่ด้านหลังของเขา เมื่อมองลงไปเขาไม่เพียงเห็นเงาตัวเองเท่านั้น แต่เห็นสิ่งงดงามที่เรียกว่าบร็อคเคน สเปคเตอร์ด้วย ปรากฏการณ์นี้ดูเหมือนสายรุ้งทรงกลดที่เป็นวงล้อมเงาของผู้นั้น เกิดขึ้นเมื่อแสงอาทิตย์สะท้อนกับก้อนเมฆเบื้องล่าง เอเดรียนบอกว่าเป็นช่วงเวลา “มหัศจรรย์” ที่ทำให้เขาสุขใจยิ่งนัก

เราจินตนาการได้ว่าโนอาห์คงรู้สึกตะลึงงันไม่แพ้กันเมื่อเห็นสายรุ้งเป็นครั้งแรก ไม่เพียงแค่สุขใจที่ได้เห็น แต่แสงที่หักเหและสีสันที่เกิดขึ้นนั้นมาพร้อมพระสัญญาจากพระเจ้า หลังจากน้ำท่วมโลก พระเจ้าให้คำมั่นกับโนอาห์และ “บรรดา​สัตว์​ที่​มี​ชีวิต” ตั้งแต่นั้นว่า “​น้ำ​จะ​ไม่​ท่วม​ทำลาย​บรรดา​สัตว์​โลก​อีก​เลย” (ปฐก.9:15)

โลกเรายังคงประสบกับสภาวะน้ำท่วมและสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่สายรุ้งคือพระสัญญาว่าพระเจ้าจะไม่ทรงพิพากษาโลกด้วยการให้น้ำท่วมทั้งโลกอีก พระสัญญาถึงความสัตย์ซื่อของพระองค์นี้ช่วยเตือนเราว่า แม้เราแต่ละคนจะพบกับความสูญเสียและความตายฝ่ายร่างกายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเพราะโรคภัยไข้เจ็บ หายนะทางธรรมชาติ การกระทำผิดหรืออายุที่มากขึ้น พระเจ้าทรงหนุนเราด้วยความรักและการทรงสถิตในตลอดความยากลำบากที่เราเผชิญ แสงอาทิตย์ที่สะท้อนสีสันจากหยดน้ำเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงความสัตย์ซื่อของพระองค์ ที่จะทรงเติมเต็มโลกนี้ด้วยผู้คนที่เป็นพระฉายของพระองค์และสะท้อนพระสิริของพระองค์ไปยังผู้อื่น

ร้องเพลงให้เราฟัง

พ่อวัยหนุ่มอุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมแขน พร้อมกับร้องเพลงกล่อมและโยกตัวไปมาตามจังหวะสบายๆ ลูกของเขามีปัญหาด้านการได้ยินและไม่สามารถได้ยินทำนองหรือคำร้องได้ แต่พ่อก็ยังร้องเพลงและแสดงออกถึงความรักที่แสนอ่อนโยนต่อลูกชาย และเด็กน้อยก็ตอบแทนความพยายามของเขาด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

ภาพการแลกเปลี่ยนระหว่างพ่อลูกคู่นี้มีความคล้ายคลึงกับคำพูดของเศฟัน-ยาห์ ผู้เผยพระวจนะในพันธสัญญาเดิมว่าพระเจ้าจะร้องเพลงด้วยความชื่นบานต่อบุตรีของพระองค์ คือชาวเยรูซาเล็ม (ศฟย.3:17) พระเจ้าทรงยินดีที่ได้ทำสิ่งดีเพื่อประชากรอันเป็นที่รักของพระองค์ เช่น ล้มเลิกการพิพากษาลงโทษและขับไล่ศัตรูของพวกเขาออกไป (ข้อ 15) เศฟันยาห์กล่าวว่าพวกเขาไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัวอีกต่อไป แต่กลับมีเหตุผลที่จะชื่นชมยินดี

บางครั้งเราในฐานะบุตรของพระเจ้าที่ได้รับการไถ่โดยการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ก็ยากที่จะได้ยิน หรือไม่สามารถ หรือบางทีก็ไม่เต็มใจที่จะปรับหูของเราเพื่อฟังบทเพลงแห่งความรักที่พระเจ้าทรงขับร้องให้เรา ความรักที่พระองค์มีต่อเราก็เหมือนกับพ่อที่ร้องเพลงให้ลูกชายฟังด้วยความรักแม้ลูกของเขาจะไม่อาจได้ยิน พระองค์ยังนำการพิพากษาไปจากเราด้วย ซึ่งทำให้เรามีเหตุผลที่จะชื่นชมยินดียิ่งขึ้นไปอีก บางทีเราอาจจะต้องพยายามเข้าไปฟังใกล้ๆเพื่อจะได้ยินพระสุรเสียงอันเปี่ยมสุขที่ดังกึกก้องของพระองค์ พระบิดา โปรดช่วยให้เราได้ยินท่วงทำนองแห่งความรักของพระองค์ และโปรดโอบอุ้มเราไว้ให้ปลอดภัยในอ้อมแขนของพระองค์

กิจกรรมแบกภาระหนัก

คาเรนเป็นครูมัธยมที่คิดกิจกรรมหนึ่งขึ้นมาเพื่อสอนนักเรียนให้มีความเข้าใจกันและกันมากขึ้น ใน “กิจกรรมแบกภาระหนัก” นักเรียนเขียนรายการของความหนักใจที่แต่ละคนแบกรับอยู่ จะมีการแบ่งปันข้อความเหล่านี้โดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน เพื่อให้นักเรียนเห็นความลำบากของคนอื่น ซึ่งหลายๆเรื่องก็เรียกน้ำตาจากเพื่อนๆ ตั้งแต่นั้นมาห้องเรียนก็เต็มไปด้วยความรู้สึกของการให้เกียรติกันอย่างแท้จริงระหว่างวัยรุ่น ตอนนี้พวกเขารู้สึกเห็นใจกันมากขึ้น

ในตลอดพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงเตือนคนของพระองค์ให้ปฏิบัติต่อกันด้วยการให้เกียรติและความเห็นอกเห็นใจ (รม.12:15) ประวัติศาสตร์อิสราเอลช่วงแรกในพระธรรมเลวีนิติ พระเจ้าสอนคนอิสราเอลให้มีความเห็นใจโดยเฉพาะกับคนต่างชาติ พระองค์ตรัสว่า “เจ้าจงรักเขาเหมือนกับรักตัวเอง” เพราะพวกเขาเองก็เคยเป็นคนต่างด้าวในอียิปต์และรู้ซึ้งถึงความลำบากนั้น (ลนต.19:34)

บางครั้งภาระที่แบกอยู่ทำให้เรารู้สึกเหมือนคนต่างชาติ คือโดดเดี่ยวและถูกเข้าใจผิดแม้แต่ในหมู่เพื่อน เราอาจไม่มีประสบการณ์เหมือนกับชาวอิสราเอลที่ได้ทำกับคนต่างชาติท่ามกลางพวกเขา แต่เราสามารถปฏิบัติต่อผู้ที่พระเจ้าทรงนำเข้ามาในเส้นทางชีวิตของเราได้ด้วยการให้เกียรติและเข้าใจเขาเหมือนที่เราปรารถนา ไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนมัธยมสมัยนี้ เป็นชาวอิสราเอล หรือใครก็ตาม เราก็ได้ถวายเกียรติแด่พระเจ้าเมื่อเราทำเช่นนั้น

เหตุผลของการพักผ่อน

หากคุณต้องการมีชีวิตยืนยาวขึ้น จงหยุดพักผ่อน! สี่สิบปีให้หลังจากที่เคยทำการศึกษาวิจัยผู้บริหารชายวัยกลางคนซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ นักวิจัยในเฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ได้ติดตามผลผู้เข้าร่วมโครงการ นักวิทยา-ศาสตร์ค้นพบบางอย่างที่พวกเขาไม่เคยมองหาจากการทำวิจัยในครั้งแรก สิ่งนั้นคือผู้ที่ให้เวลากับการหยุดพักผ่อนมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าผู้ที่ไม่เคยลาหยุดพัก

การทำงานเป็นส่วนที่จำเป็นของชีวิต เป็นส่วนที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราแม้ก่อนที่ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์จะแตกร้าวในปฐมกาลบทที่ 3 ซาโลมอนเขียนถึงงานที่ดูเหมือนไร้ความหมายของผู้ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า โดยรับรู้ถึงการ “ตรากตรำและคร่ำเครียด”และ “ความเจ็บปวดและ...สลดใจ” (ปญจ.2:22-23) แม้เมื่อพวกเขาไม่ได้กำลังทำงานแล้วก็ตามแต่ซาโลมอนตรัสว่าจิตใจของพวกเขาก็ “ไม่หยุดพักสงบ” เพราะพวกเขามัวคิดถึงสิ่งที่จะต้องทำให้เสร็จ (ข้อ 23)

บางครั้งพวกเราอาจรู้สึกว่า “กินลมกินแล้ง” เช่นกัน (ข้อ 17) และรู้สึกหงุดหงิดใจที่ไม่สามารถทำงานของเราให้ “เสร็จ” แต่เมื่อเราระลึกได้ว่าพระเจ้าทรงเป็นส่วนหนึ่งในงานและเป็นจุดมุ่งหมายของเรา เราจึงสามารถที่จะทำงานหนักและหาเวลาหยุดพักไปพร้อมๆกัน เราไว้วางใจให้พระองค์เป็นผู้ทรงจัดเตรียมของเราได้ เพราะพระองค์ทรงประทานทุกสิ่งให้เรา ซาโลมอนรับรู้ว่า “ถ้าไม่อาศัยพระองค์แล้วใครจะกินได้เล่า หรือใครจะมีความชื่นบานได้” (ข้อ 25) บางทีการที่เราเตือนตัวเองถึงความจริงข้อนี้ จะทำให้เราทำงานได้อย่างขยันขันแข็งเพื่อพระองค์ (คส.3:23) และยอมให้ตัวเราเองได้มีเวลาพักผ่อนเช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา