พยานในที่ทำงาน
“เธอยังโกรธที่ฉันอยากลดขนาดของแผนกที่เธอโปรดอยู่หรือ” ผู้จัดการถามอีฟลิน “เปล่าค่ะ” เธอกัดกรามแน่น เธอโกรธมากกว่าที่เจ้านายดูจะล้อเลียนเธอเรื่องนั้น เธอพยายามจะช่วยบริษัทด้วยการหาทางดึงกลุ่มผู้สนใจหลายๆกลุ่มเข้ามา แต่พื้นที่อันจำกัดทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ อีฟลินกลั้นน้ำตา เธอตัดสินใจแล้วว่าจะทำตามผู้จัดการทุกอย่าง เธออาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เธอหวังไว้ไม่ได้ แต่เธอยังสามารถทำงานของเธออย่างสุดความสามารถได้
ในจดหมายฉบับแรกของอัครทูตเปโตร ท่านเรียกร้องให้ผู้เชื่อพระเยซูยุคแรกจำนนต่อ “การบังคับบัญชาที่มนุษย์ตั้งไว้ทุกอย่าง” (1 ปต.2:13) การคงความสัตย์ซื่อในงานที่ยากไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เปโตรให้เหตุผลที่เราควรทำดีต่อไปว่า “จงรักษาความประพฤติอันดีของท่านไว้ในหมู่คนต่างชาติ เพื่อว่าเมื่อมีคนติเตียนท่านว่าประพฤติชั่ว เขาจะได้เห็นการดีของท่าน และเขาจะได้สรรเสริญพระเจ้า” (1 ปต.2:12) นอกจากนั้นสิ่งนี้ยังช่วยให้เราเป็นตัวอย่างตามแบบพระเจ้าแก่ผู้เชื่อคนอื่นที่กำลังมองดูอยู่ด้วย
หากเราอยู่ภายใต้สภาพงานที่กดขี่บีบคั้น การออกจากงานอาจเป็นทางที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (1 คร.7:21) แต่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยการช่วยเหลือของพระวิญญาณเรายังสามารถทำความดีในงานของเราได้โดยระลึกว่าสิ่งนี้ “เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า” (1 ปต.2:20) เมื่อเรายอมรับฟังผู้มีอำนาจ เราก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้อื่นมีเหตุผลที่จะติดตามและถวายเกียรติแด่พระเจ้า
มีคนเห็น
ในบทความเกี่ยวกับการเป็นพี่เลี้ยง แฮนนาห์ เชลอธิบายว่าพี่เลี้ยงจำเป็นต้องให้การสนับสนุน ท้าทาย และสร้างแรงบันดาลใจ แต่ “สิ่งแรกและอาจจะสำคัญที่สุดคือพี่เลี้ยงที่ดีจะต้องมองเห็นคุณ... การได้รับการยอมรับเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของการให้รางวัลหรือประกาศให้คนรู้แต่ในแง่ของการที่ ‘มีคนเห็น’” มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จักและเชื่อใจ
ในพันธสัญญาใหม่ บารนาบัสซึ่งชื่อของท่านหมายถึง “บุตรแห่งการหนุนน้ำใจ” มีของประทานในการ “มองเห็น” ผู้คนที่อยู่รอบๆตัวเขา ในกิจการบทที่ 9 ท่านเต็มใจที่จะให้โอกาสแก่เซาโลเมื่อสาวกคนอื่นๆ “กลัวเขา” (ข้อ 26) เซาโล (หรือเปาโลในกจ.13:9) เคยมีประวัติที่ข่มเหงผู้เชื่อในพระเยซู (กจ.8:3) ดังนั้นพวกสาวกจึงไม่คิดว่า “เซาโลเป็นสาวก” (ข้อ 26)
ต่อมาเปาโลและบารนาบัสขัดแย้งกันเรื่องที่จะพามาระโกไปกับพวกเขาในการไป “เยี่ยมพี่น้องในทุกเมืองที่เราได้ประกาศ” (กจ.15:36) เปาโลไม่คิดว่าเป็นการฉลาดที่จะพามาระโกไปด้วยเพราะเขาเคยละทิ้งพวกท่านมาก่อน แต่น่าแปลกใจที่ต่อมาเปาโลขอความช่วยเหลือจากมาระโก “จงไปตามมาระโกและพาเขามาด้วย เพราะเขาช่วยปรนนิบัติข้าพเจ้าได้เป็นอย่างดี” (2 ทธ.4:11)
บารนาบัสใช้เวลาในการ “มองเห็น” ทั้งเปาโลและมาระโก บางครั้งเราอาจจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกับบารนาบัส ในการรับรู้ถึงศักยภาพของผู้อื่น หรือรู้ตัวว่าเราจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงฝ่ายวิญญาณ ให้เราขอพระเจ้าที่จะทรงนำเราไปหาผู้ที่เราจะสามารถหนุนน้ำใจเขา และผู้ที่จะสามารถหนุนน้ำใจเราด้วยเช่นกัน
ห่วงใยผู้ขัดสน
เอลวิส ซัมเมอร์สเปิดประตูให้กับสโมกกี้หญิงสาวร่างบางที่มาเป็นประจำเพื่อขอกระป๋องเปล่าเอาไปแลกเงิน เงินนี้เป็นรายได้หลักของเธอ เอลวิสเกิดความคิดใหม่ “คุณพาผมไปดูได้ไหมว่าคุณนอนที่ไหน” เขาถาม สโมกกี้นำเขาไปยังที่สกปรกขนาดกว้างประมาณสองฟุตข้างๆบ้านหลังหนึ่ง ด้วยความสงสารซัมเมอร์จึงสร้าง “บ้านหลังเล็ก” ให้เธอ เป็นที่พักแบบง่ายๆที่ให้พื้นที่เธอได้นอนหลับอย่างปลอดภัย ซัมเมอร์สลงมือทำตามที่คิด เขาเริ่มทำเว็บไซต์ชื่อ “GoFundMe” และร่วมกับคริสตจักรท้องถิ่นเพื่อหาที่ดินที่จะสร้างที่พักพิงให้คนไร้บ้านมากขึ้น
ในตลอดพระคัมภีร์ คนของพระเจ้าได้รับการย้ำเตือนให้ดูแลผู้ขัดสน เมื่อพระเจ้าตรัสผ่านโมเสสเพื่อเตรียมชนอิสราเอลในการเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา ทรงหนุนใจให้พวกเขา “ยื่นมือของท่านให้เขา (คนยากจน) และให้เขายืมข้าวของพอแก่ความต้องการของเขา ไม่ว่าเป็นข้าวของสิ่งใดๆ” (ฉธบ.15:8) ข้อพระคัมภีร์ยังกล่าวว่า “เพราะว่าคนจนจะไม่หมดไปจากแผ่นดิน” (ข้อ 11) เราไม่ต้องออกไปไหนไกลเพื่อจะเห็นความจริงนี้ เมื่อพระเจ้าทรงพระกรุณาเรียกให้อิสราเอล “ยื่นมือให้อย่างใจกว้างต่อพี่น้องของท่าน” (ข้อ 11) เราก็สามารถหาหนทางช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนได้เช่นกัน
ทุกคนต้องการอาหาร ที่อาศัยและน้ำ แม้เราจะมีไม่มาก แต่ขอพระเจ้าทรงนำเราให้ใช้สิ่งที่เรามีเพื่อช่วยผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันอาหารหรือเสื้อกันหนาวอุ่นๆ สิ่งเล็กน้อยสามารถสร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้!JS
สันติสุขในความโกลาหล
มีบางอย่างที่เหมือนกับเสียงประทัดทำให้โจแอนน์ตื่นจากหลับ เป็นเสียงกระจกแตก เธอลุกขึ้นดูว่าเกิดอะไรขึ้นขณะคิดในใจว่าคงจะดีถ้าเธอไม่ต้องอยู่ตัวคนเดียว ถนนที่มืดมิดนั้นว่างเปล่าและบ้านก็ดูปกติดี แล้วเธอก็เห็นกระจกที่แตก
ตำรวจพบกระสุนปืนตกห่างจากท่อแก๊สเพียงครึ่งนิ้ว หากกระสุนโดนท่อเธอคงไม่น่าจะรอดชีวิต ภายหลังพวกเขาพบว่าเป็นกระสุนลูกหลงจากอพาร์ตเมนต์ใกล้ๆ แต่ตอนนี้โจแอนน์กลัวไม่กล้าอยู่บ้าน เธออธิษฐานขอสันติสุข และเมื่อเศษกระจกถูกเก็บกวาดเรียบร้อย จิตใจของเธอก็สงบลง
พระธรรมสดุดี 121 เตือนให้เรามองไปที่พระเจ้าในเวลาที่มีปัญหา ในที่นี้เราได้เห็นว่าเรามีสันติสุขและสงบได้เพราะ “ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาจากพระเจ้า ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” (ข้อ 2) พระเจ้าผู้ทรงสร้างจักรวาลทรงช่วยเหลือและดูแลเรา (ข้อ 3) แม้ในขณะที่เราหลับ แต่พระองค์เองไม่เคยหลับ (ข้อ 4) พระองค์ทรงดูแลเราทั้งกลางวันและกลางคืน (ข้อ 6) “ตั้งแต่กาลบัดนี้สืบไปเป็นนิตย์” (ข้อ 8)
ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ใด พระเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็น และพระองค์กำลังรอคอยให้เราหันหาพระองค์ เมื่อเราทำเช่นนั้น สถานการณ์ของเราอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเสมอไป แต่พระองค์ทรงสัญญาว่าสันติสุขของพระองค์จะอยู่ด้วยในทุกสถานการณ์
รักของพระเจ้านั้นเข้มแข็งยิ่งกว่า
ในปี 2020 อลิสสา เมนโดซ่าได้รับอีเมลที่น่าประหลาดใจจากพ่อของเธอในตอนกลางดึก โดยบอกถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อแม่ของเธอในวันครบรอบแต่งงานปีที่ 25 ของพวกท่าน ทำไมเรื่องนี้จึงน่าตกใจ พ่อของอลิสสาจากไปเมื่อ 10 เดือนก่อน เธอพบว่าท่านเขียนและตั้งเวลาส่งอีเมลไว้ขณะที่ป่วย เพราะรู้ตัวว่าอาจมีชีวิตอยู่ไม่ถึงเวลานั้น ทั้งยังสั่งและจ่ายค่าดอกไม้เพื่อจะส่งให้ภรรยาในวันเกิดปีถัดไป วันครบรอบแต่งงานในอนาคต และวันวาเลนไทน์
เรื่องนี้สามารถเป็นตัวอย่างของความรักที่บรรยายไว้ในเพลงซาโลมอน “ความรักนั้นเข้มแข็งอย่างความตาย ความรักรุนแรงก็ดุเดือดเหมือนแดนคนตาย” (8:6) การเปรียบความรักกับความตายและแดนคนตายอาจดูแปลก แต่ทั้งสองสิ่งนี้เข้มแข็งเพราะไม่ยอมแพ้ต่อเชลยของมัน เช่นเดียวกับรักแท้ที่ไม่ยอมแพ้เพื่อเห็นแก่บุคคลอันเป็นที่รัก พระธรรมเล่มนี้ไปถึงจุดสูงสุดในข้อ 6-7 บรรยายถึงความรักในชีวิตสมรสว่าเข้มแข็งจน “น้ำมากหลายไม่อาจดับความรักให้มอดเสียได้” (ข้อ 7)
ตลอดพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ความรักของสามีภรรยาถูกเปรียบกับความรักของพระเจ้า (อสย.54:5; อฟ.5:25; วว.21:2) พระเยซูทรงเป็นเจ้าบ่าวและคริสตจักรเป็นเจ้าสาวของพระองค์ พระเจ้าทรงสำแดงความรักแก่เราโดยส่งพระคริสต์มาเผชิญความตายเพื่อเราจะไม่พินาศเพราะความบาป (ยน.3:16) ไม่ว่าเราจะแต่งงานหรือเป็นโสด เราสามารถระลึกได้ว่าความรักของพระเจ้านั้นเข้มแข็งยิ่งกว่าทุกสิ่งที่เราจะจินตนาการได้
ไม่เป็นไรที่จะคร่ำครวญ
ฉันทรุดตัวลงคุกเข่าปล่อยให้น้ำตาหยดลงพื้น “พระเจ้า ทำไมพระองค์ไม่ทรงดูแลข้าพระองค์?” ฉันร้องไห้ ตอนนั้นเป็นช่วงที่โควิด 19 กำลังระบาดหนักในปี 2020 ฉันถูกเลิกจ้างมาเกือบเดือนและการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานก็มีปัญหา ฉันยังไม่ได้รับเงินชดเชย และเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลสหรัฐสัญญาว่าจะให้ก็ยังมาไม่ถึง ลึกๆฉันไว้วางใจว่าพระเจ้าจะจัดการทุกอย่าง ฉันเชื่อว่าพระองค์ทรงรักฉันอย่างแท้จริงและจะทรงดูแลฉัน แต่ในตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง
บทเพลงคร่ำครวญย้ำเตือนว่าไม่เป็นไรที่เราจะคร่ำครวญ หนังสือเล่มนี้น่าจะเขียนขึ้นในระหว่างหรือไม่นานหลังจากที่ชาวบาบิโลนทำลายเยรูซาเล็มในปี 587 ก่อนคริสตกาล เนื้อหาพูดถึงความทุกข์ยาก (3:1, 19) การกดขี่ (1:18) และความอดอยาก (2:20; 4:10) ของผู้คน แต่ในช่วงกลางของหนังสือ ผู้เขียนระลึกได้ว่าท่านมีความหวังได้เพราะ “ความรักมั่นคงของพระเจ้าไม่เคยหยุดยั้ง และพระเมตตาของพระเจ้าไม่มีสิ้นสุด เป็นของใหม่อยู่ทุกเวลาเช้า ความเที่ยงตรงของพระองค์ใหญ่ยิ่งนัก” (3:22-23) แม้มีเหตุเลวร้าย แต่ผู้เขียนระลึกได้ว่าพระเจ้ายังคงสัตย์ซื่อ
บางครั้งดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อว่า “พระเจ้าทรงดีต่อคนทั้งปวงที่คอยท่าพระองค์อยู่ และทรงดีต่อคนที่แสวงพระองค์” (ข้อ 25) โดยเฉพาะเวลาที่เรามองไม่เห็นจุดจบของความทุกข์ทรมานนั้น แต่เราสามารถร้องทูลและวางใจว่าพระองค์ทรงสดับฟัง และพระองค์ทรงสัตย์ซื่อที่จะช่วยเราฝ่าฟันไปได้อย่างแน่นอน
ถูกกักไว้ในความกลัว
ในปี 2020 การระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้โลกตกอยู่ในความหวาดกลัว ประชากรถูกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ มีการปิดประเทศ เที่ยวบินและการจัดงานใหญ่ๆถูกยกเลิก ผู้คนที่อาศัยในเขตที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อพากันกลัวว่าตนอาจจะติดไวรัส เกรแฮม เดวีย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความวิตกกังวลเชื่อว่า การรายงานข่าวร้าย “มักจะทำให้คุณเศร้าและกังวลมากขึ้น” มีภาพการ์ตูนบนสื่อสังคมออนไลน์เป็นภาพของชายคนหนึ่งกำลังดูข่าวทีวี เขาถามว่าจะเลิกกังวลได้อย่างไร อีกคนในห้องนั้นเอื้อมมือมาปิดทีวี แล้วบอกว่าคำตอบคือให้เปลี่ยนจุดสนใจเสีย!
ลูกา 12 ให้คำแนะนำเพื่อช่วยเราหยุดความกังวลว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า” (ข้อ 31) เราแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าเมื่อเราจดจ่ออยู่กับพระสัญญาที่ว่าผู้ติดตามพระองค์จะได้รับมรดกในแผ่นดินสวรรค์ เมื่อเราพบความลำบาก เราก็สามารถเปลี่ยนจุดสนใจของเรา และระลึกได้ว่าพระเจ้าทรงเห็น และรู้ถึงความต้องการของเรา (ข้อ 24-30)
พระเยซูทรงหนุนใจสาวกของพระองค์ว่า “ฝูงแกะเล็กน้อยเอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะว่าพระบิดาของท่านชอบพระทัยจะประทานแผ่นดินนั้นให้แก่ท่าน” (ข้อ 32) พระเจ้าทรงโปรดที่จะอวยพรเรา! ให้เรานมัสการพระองค์และรู้ว่าทรงห่วงใยเรายิ่งกว่านกในอากาศและดอกไม้ในทุ่งนา (ข้อ 22-29) แม้ในยามยากลำบาก เราสามารถอ่านพระคัมภีร์ อธิษฐานขอสันติสุขจากพระเจ้า และเชื่อวางใจในพระเจ้าผู้ประเสริฐและสัตย์ซื่อ
รู้จักเสียงของพระองค์
ในค่ายพระคัมภีร์ฤดูร้อนปีหนึ่ง คริสตจักของเคนตัดสินใจที่จะนำสัตว์จริงๆมาประกอบเรื่องราวในพระคัมภีร์ เมื่อเขามาถึงเพื่อจะช่วยงาน เคนได้รับมอบหมายให้นำแกะเข้าข้างใน เขาต้องออกแรงดึงเชือกเพื่อลากเจ้าสัตว์ขนฟูเข้าไปในโรงยิมของคริสตจักร แต่เมื่อสัปดาห์นั้นผ่านไป แกะก็ขัดขืนเขาน้อยลง ในช่วงปลายสัปดาห์เคนไม่ต้องใช้เชือกจูงอีกต่อไป เขาเพียงแค่ส่งเสียงเรียกแกะก็เดินตามเขา เพราะรู้ว่ามันไว้ใจเขาได้
ในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูทรงเปรียบพระองค์เองเป็นผู้เลี้ยงแกะ และตรัสว่าประชากรของพระองค์เป็นแกะที่จะติดตามพระองค์ เพราะพวกเขารู้จักเสียงของพระองค์ (ยน.10:4) แต่แกะเหล่านั้นจะวิ่งหนีคนแปลกหน้าหรือขโมย (ข้อ 5) พวกเรา (ลูกของพระเจ้า)ก็เป็นเหมือนแกะเหล่านั้นที่รู้จักเสียงขององค์พระผู้เลี้ยงผ่านความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระองค์ และเมื่อเรารู้จักพระองค์นั้นเราได้เห็นพระลักษณะของพระองค์และเรียนรู้ที่จะไว้วางใจในพระองค์
ในขณะที่เราเติบโตขึ้นในการรู้จักและรักพระเจ้ามากขึ้น เราจะจดจำพระสุรเสียงของพระองค์ได้และจะสามารถหนีจาก “ขโมย[ผู้]มาเพื่อจะลัก และฆ่า และทำลาย” (ข้อ 10) คือหนีจากผู้ที่มาหลอกลวงและดึงเราให้ออกห่างจากพระองค์ องค์พระผู้เลี้ยงของเราไม่เหมือนกับผู้สอนเท็จเหล่านั้น เราสามารถไว้วางใจในพระสุรเสียงของพระองค์ที่จะนำเราไปยังที่ที่ปลอดภัยได้
ไม่มีใครบาปหนาเกินอภัย
“ถ้าฉันจับพระคัมภีร์ มือฉันต้องไหม้แน่” อาจารย์ของฉันซึ่งสอนภาษาอังกฤษในวิทยาลัยชุมชนพูดขึ้น ฉันรู้สึกเศร้าใจ นวนิยายที่เราอ่านในเช้าวันนั้นอ้างอิงถึงข้อพระคัมภีร์ และเมื่อฉันเอาพระคัมภีร์มาเปิดดู เธอเห็นเข้าจึงพูดขึ้นมา อาจารย์ของฉันคงคิดว่าเธอบาปหนาเกินกว่าจะได้รับการอภัย แต่ฉันก็ไม่กล้าพอที่จะบอกเธอถึงความรักของพระเจ้า และที่พระคัมภีร์บอกว่าเราสามารถขอการอภัยโทษจากพระเจ้าได้เสมอ
ในพระธรรมเนหะมีย์มีตัวอย่างของการสารภาพบาปและการอภัยโทษ ชนชาติอิสราเอลถูกเนรเทศเพราะความบาป แต่บัดนี้พวกเขาได้รับอนุญาตให้กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อพวกเขากลับมา “ตั้งรกราก” เอสราซึ่งเป็นธรรมาจารย์ได้อ่านหนังสือธรรมบัญญัติให้พวกเขาฟัง (นหม.7:73-8:3) พวกเขาสารภาพบาป และระลึกได้ว่าแม้พวกเขาทำบาป พระเจ้า “มิได้ทรงละทิ้ง” เขาทั้งหลาย (9:17, 19) พระองค์ “ทรงฟังเขา” เมื่อเขาร้องทูล และทรงอดทนกับพวกเขาตามพระเมตตากรุณาของพระองค์ (ข้อ 27-31)
พระเจ้าทรงอดทนกับเราในทำนองเดียวกัน พระองค์จะไม่ละทิ้งเราหากเราสารภาพบาปและกลับมาหาพระองค์ ฉันอยากจะย้อนเวลากลับไปและบอกอาจารย์ท่านนั้นว่า ไม่ว่าอดีตของเธอจะเป็นอย่างไร พระเยซูทรงรักและต้องการให้เธอได้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์ พระองค์ทรงรู้สึกเช่นนั้นกับคุณและฉันด้วย เราสามารถเข้าหาพระองค์เพื่อทูลขอการอภัย แล้วพระองค์จะประทานให้