ทำทุกช่วงเวลาให้มีค่า
เข็มนาฬิกาพกที่หยุดเดินในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่าบอกเล่าเรื่องราวที่น่าหวาดกลัว มันระบุถึงช่วงเวลาที่ถูกต้อง (8:19 กับ 56 วินาที) ที่ อิไลช่า มิทเชลเจ้าของนาฬิกาได้ลื่นล้มและเสียชีวิตที่น้ำตกในเทือกเขาแอปพาเลเชี่ยนในเช้าของวันที่ 27 มิถุนายน 1857
มิทเชลผู้เป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อปกป้องคำกล่าวอ้าง(ที่ถูกต้อง)ของตนว่า ยอดเขาที่เขาอยู่นี้เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคตะวันออกของมิสซิสซิปปี้ ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกตามชื่อของเขาว่ายอดเขามิทเชล สุสานของมิทเชลตั้งอยู่ที่จุดสูงสุดของยอดเขาไม่ไกลจากจุดที่เขาลื่นล้ม
ขณะที่ผมขึ้นไปบนยอดเขาเมื่อเร็วๆนี้ ผมไตร่ตรองถึงเรื่องราวของมิทเชลและภาวะที่ต้องตายของตัวผมเอง กับการที่เราทุกคนมีเวลาที่จำกัด และผมใคร่ครวญพระดำรัสของพระเยซูเกี่ยวกับการทรงเสด็จกลับมาที่พระองค์ตรัสกับเหล่าสาวกบนภูเขามะกอกเทศว่า “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะในโมงที่ท่านไม่คิดไม่ฝันนั้น บุตรมนุษย์จะเสด็จมา” (มธ.24:44)
พระเยซูทรงบอกอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครรู้ว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาและสถาปนาแผ่นดินอันเป็นนิรันดร์ของพระองค์เมื่อไร หรือพระองค์จะเรียกเราให้ละจากโลกนี้ไปหาพระองค์เมื่อไร แต่พระองค์บอกพวกเราให้เตรียมพร้อม และ “เฝ้าระวัง” (ข้อ 42)
ติ๊ก...ต้อก...“กลไกนาฬิกา” ของชีวิตเราแต่ละคนยังคงเดินอยู่ แต่จะอีกนานเท่าใด ขอให้เราใช้ชีวิตในเวลานี้ด้วยความรักกับองค์พระผู้ไถ่ผู้ทรงพระเมตตา ให้เรารอคอยและทำงานเพื่อพระองค์
เครื่องหมายพยาน
“เห็นนี่ไหม” ช่างนาฬิกาส่องไฟฉายเล็กๆของเขาไปยังเครื่องหมายที่สลักไว้หยาบๆด้านในนาฬิกาของคุณปู่ที่เขากำลังซ่อมอยู่ในบ้านของเรา “ช่างซ่อมคนหนึ่งได้สลักเอาไว้ตรงนั้นเกือบศตวรรษมาแล้ว” เขากล่าว “มันเรียกว่า ‘เครื่องหมายพยาน’ และมันช่วยให้ผมรู้วิธีตั้งกลไก”
ก่อนยุคของการทำบันทึกเกี่ยวกับวิชาช่างและคู่มือการซ่อมนั้น “เครื่องหมายพยาน” ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ช่างซ่อมในอนาคตจัดวางชิ้นส่วนของเครื่องจักรได้อย่างแม่นยำ มันเป็นมากกว่าเครื่องช่วยจำที่ช่วยประหยัดเวลา เครื่องหมายเหล่านี้มักจะถูกทำทิ้งไว้เป็นเหมือนความกรุณาให้กับคนที่จะมาทำงานถัดไป
พระคัมภีร์หนุนใจเราให้ทิ้ง “เครื่องหมายพยาน” ไว้ในขณะที่เราทำงานเพื่อพระเจ้าโดยการรับใช้ผู้อื่นในโลกที่แตกสลายนี้ อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสตจักรในกรุงโรมว่า “เราทุกคนจงกระทำให้เพื่อนบ้านพอใจ เพื่อนำประโยชน์และการพัฒนามาให้เขา” (รม.15:2) นี่เป็นแบบอย่างของพระเจ้า “แห่งความเพียรและความชูใจ” (ข้อ 5) สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการเป็นพลเมืองดีทั้งของโลกนี้และของสวรรค์
“เครื่องหมายพยาน” ของเราอาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เครื่องหมายนี้สามารถสร้างความแตกต่างที่สำคัญมากในชีวิตของบางคนได้ คำพูดที่หนุนจิตชูใจ เงินที่มอบเป็นของขวัญแก่ผู้ขัดสน และหูที่รับฟัง เหล่านี้ล้วนเป็นความกรุณาที่ส่งผลกระทบอันยั่งยืน ขอพระเจ้าทรงช่วยที่คุณจะทำเครื่องหมายเพื่อพระองค์ในชีวิตของใครบางคนในวันนี้!
กำลังใจในพระเจ้า
ในปี 1925 แลงสตัน ฮิวจ์นักเขียนผู้ทะเยอทะยานซึ่งทำงานเป็นบริกรของโรงแรม ได้รู้ว่ากวีที่เขาชื่นชม (วาเชล ลินด์ซีย์) มาพักที่นั่น ฮิวจ์แอบเอาบทกวีที่เขาแต่งไปให้ลินด์ซีย์อ่านด้วยความเขินอาย ซึ่งต่อมาลินด์ซีย์ได้นำบทกวีของเขาไปอ่านในที่สาธารณะ พร้อมทั้งกล่าวยกย่องชื่นชม กำลังใจจากลินด์ซีย์ส่งผลให้ฮิวจ์ได้รับทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และก้าวขึ้นไปเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ
กำลังใจเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลยาวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระเจ้า พระคัมภีร์เล่าถึงเหตุการณ์ที่ดาวิดกำลังหนีจากกษัตริย์ซาอูล ผู้ทรงพยายาม “แสวงชีวิต” ของท่าน โยนาธานบุตรชายของซาอูลได้ไปหาดาวิด “และสนับสนุนมือของเธอให้เข้มแข็งขึ้นในพระเจ้า โยนาธานพูดกับท่านว่า ‘อย่ากลัวเลย เพราะว่ามือของซาอูลเสด็จพ่อของฉันจะหาเธอไม่พบ เธอจะได้เป็นพระราชาเหนืออิสราเอล’” (1 ซมอ.23:15-17)
โยนาธานกล่าวถูกต้อง ดาวิดจะได้เป็นกษัตริย์ กุญแจสำคัญที่ทำให้คำหนุนใจของโยนาธานสัมฤทธิ์ผลคือคำง่ายๆที่ว่า “ในพระเจ้า” (ข้อ 16) พระเจ้าประทาน “ความชูใจนิรันดร์และความหวังอันดี” แก่เราโดยทางพระเยซู (2 ธส.2:16) เมื่อเราถ่อมตัวลงต่อพระองค์ พระองค์จะทรงยกเราขึ้นอย่างที่ไม่มีใครทำได้
ผู้คนรอบตัวเราล้วนต้องการกำลังใจจากพระเจ้า หากเราเสาะหาพวกเขาเหมือนที่โยนาธานแสวงหาดาวิด และนำพวกเขามาถึงพระเจ้าผ่านทางคำพูดหรือการกระทำที่อ่อนโยนและเปี่ยมด้วยเมตตา พระองค์จะทรงทำส่วนที่เหลือ ไม่ว่าชีวิตนี้จะเป็นอย่างไร ผู้ที่วางใจในพระองค์จะมีอนาคตที่สดใสชั่วนิรันดร์
พึ่งพิงในพระเจ้า
แฮเรียต ทับแมนไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ ในช่วงวัยรุ่นเธอต้องทนทุกข์กับการบาดเจ็บที่ศีรษะโดยน้ำมือของนายทาสที่โหดร้าย ซึ่งส่งผลให้เธอมีอาการชักและหมดสติชั่วขณะไปตลอดชีวิต แต่เมื่อเธอรอดพ้นจากการเป็นทาส พระเจ้าทรงใช้เธอให้ช่วยปลดปล่อยทาสคนอื่นๆถึงสามร้อยคน
เธอได้ชื่อเล่น “โมเสส” จากคนที่เธอช่วยไว้ ด้วยความกล้าหาญแฮเรียตเดินทางไปทางภาคใต้ถึง 19 ครั้งในช่วงก่อนสงครามกลางเมืองเพื่อช่วยเหลือทาสคนอื่นๆเธอยังคงทำต่อไปแม้จะมีการตั้งค่าหัวและชีวิตของเธอต้องอยู่ในอันตรายตลอดเวลา เธอเป็นผู้เชื่อในพระเยซูที่มุ่งมั่น โดยพกหนังสือเพลงนมัสการและพระคัมภีร์ไปกับเธอในทุกการเดินทางและให้คนอื่นอ่านให้เธอฟัง ซึ่งเธอตั้งใจที่จะท่องจำและอ้างถึงบ่อยๆ “ฉันอธิษฐานตลอดเวลา” เธอกล่าว “เกี่ยวกับงานของฉัน ไม่ว่าที่ใดฉันคุยกับพระเจ้าเสมอ” เธอยกย่องพระเจ้าแม้ในความสำเร็จที่เล็กที่สุด ชีวิตของเธอนั้นแสดงออกอย่างทรงพลังถึงคำสอนของอัครทูตเปาโลที่สอนคริสเตียนในยุคแรกว่า “จงชื่นบานอยู่เสมอ จงอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ จงขอบพระคุณในทุกกรณี เพราะนี่แหละเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระเยซูคริสต์เพื่อท่านทั้งหลาย” (1 ธส.5:16-18)
เมื่อเราพึ่งพาในพระเจ้าและดำเนินชีวิตด้วยการอธิษฐานและสรรเสริญพระองค์แม้ในยามยากลำบากของชีวิต พระองค์จะประทานกำลังให้เราสามารถทำภารกิจซึ่งท้าทายที่สุดให้สำเร็จได้ พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่งที่เราเผชิญอยู่ และพระองค์จะทรงนำเราเมื่อเรามองที่พระองค์
ของขวัญล้ำค่าของความรัก
ขณะที่เจฟฟ์ลูกชายผมกำลังออกจากร้าน เขาเห็นอุปกรณ์ช่วยเดินถูกทิ้งอยู่บนพื้น หวังว่าจะไม่มีใครที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ด้านหลังนั้นนะ เขาคิด เขามองไปด้านหลังตึกและพบชายไร้บ้านคนหนึ่งหมดสติอยู่บนทางเดิน
เจฟฟ์ปลุกเขาและถามว่าเป็นอะไรไหม “ผมพยายามจะดื่มให้ตายไปเลย” เขาตอบ “เต็นท์ผมพังเพราะพายุ ผมไม่เหลืออะไรแล้ว ผมไม่อยากมีชีวิตอยู่”
เจฟฟ์โทรศัพท์ไปที่สถานบำบัดของคริสเตียนแห่งหนึ่ง ขณะรอการช่วยเหลืออยู่นั้น เขารีบกลับไปที่บ้านและนำเอาเต็นท์พักแรมของเขามาให้ชายคนนั้น “คุณชื่ออะไร” เจฟฟ์ถาม ชายไร้บ้านตอบว่า “เจฟฟรี่ สะกดด้วยตัวจี” เจฟฟ์ไม่ได้บอกชื่อของตนกับชายคนนั้นและไม่ได้พูดถึงการสะกดชื่อแบบไม่ธรรมดานั้นด้วย เขาบอกผมภายหลังว่า “พ่อครับ นั่นอาจเป็นผมก็ได้”
เจฟฟ์เองเคยต่อสู้กับการใช้สารเสพติด และเขาช่วยชายคนนั้นเพราะความเมตตาที่เขาได้รับจากพระเจ้า ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ได้กล่าวถ้อยคำเพื่อทำนายถึงพระเมตตาของพระเจ้าที่จะมาถึงเราผ่านทางพระเยซูว่า “เราทุกคนได้เจิ่นไปเหมือนแกะ เราทุกคนต่างได้หันไปตามทางของตนเอง และพระเจ้าทรงวางลงบนท่าน ซึ่งความบาปผิดของเราทุกคน” (อสย.53:6)
พระเยซูพระผู้ช่วยให้รอดของเราไม่ได้ทรงปล่อยให้เราหลงอยู่ตัวคนเดียวอย่างไร้ซึ่งความหวัง พระองค์ทรงเลือกที่จะเอาใจเราไปใส่ใจของพระองค์และยกเราขึ้นด้วยความรัก เพื่อเราจะได้รับอิสรภาพเพื่อมีชีวิตใหม่ในพระองค์ ไม่มีของขวัญใดจะล้ำค่าไปกว่านี้อีกแล้ว
เมื่อรักไม่มีวันสิ้นสุด
“ทุกครั้งที่คุณปู่พาฉันไปเที่ยวทะเล” แซนดร้าระลึกถึงอดีต “ท่านจะถอดนาฬิกาแล้วเอาไปเก็บ วันหนึ่งฉันถามท่านว่าเพราะอะไร”
“ท่านยิ้มและตอบว่า ‘เพราะปู่อยากให้หนูรู้ว่าหนูสำคัญกับปู่มาก ปู่อยากอยู่กับหนูแล้วก็ปล่อยให้เวลาผ่านไป’”
ผมได้ฟังแซนดร้าเล่าถึงความทรงจำนั้นในงานศพของคุณปู่เธอ ซึ่งเป็นหนึ่งในความทรงจำอันน่าประทับใจระหว่างเธอกับคุณปู่ ขณะที่ผมคิดถึงว่า เราจะรู้สึกมีคุณค่าเพียงไรที่มีคนใช้เวลาเพื่อเรา พระวจนะคำที่พูดถึงความรักห่วงใยของพระเจ้าก็เข้ามาในความคิด
พระเจ้าทรงมีเวลาให้เราเสมอ ดาวิดอธิษฐานในสดุดี 145 ว่า “พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์ทรงให้สัตว์โลกทุกอย่างอิ่มตามความปรารถนา พระเจ้าทรงชอบธรรมตามทางทั้งสิ้นของพระองค์ และทรงเอ็นดูในการกระทำทั้งสิ้นของพระองค์ พระเจ้าทรงสถิตใกล้” (ข้อ 16-18)
ความประเสริฐและความใส่พระทัยของพระเจ้านั้นค้ำจุนชีวิตของเราไว้ในทุกช่วงเวลา ทั้งประทานอากาศให้เราหายใจและอาหารสำหรับเรา เพราะพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความรัก และองค์พระผู้สร้างสรรพสิ่งทรงสร้างแม้สิ่งที่ละเอียด
ซับซ้อนที่สุดด้วยพระเมตตาเพื่อการดำรงอยู่ของเรา
ความรักของพระเจ้านั้นลึกซึ้งไม่มีที่สิ้นสุด และโดยพระเมตตากรุณา พระองค์ทรงยอมเปิดหนทางสู่ชีวิตนิรันดร์และความชื่นชมยินดีต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ราวกับจะทรงตรัสว่า “เรารักเจ้ามาก เราต้องการอยู่กับเจ้าตลอดไปแล้วก็ปล่อยให้เวลาผ่านไป”
สิงห์ พระเมษโปดก และพระผู้ไถ่!
สิงโตสองตัวที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงทางเข้าห้องสมุดของรัฐนิวยอร์กนั้นถูกสกัดขึ้นจากหินอ่อน พวกมันอยู่ตรงนั้นอย่างภาคภูมิมาตั้งแต่พิธีเปิดห้องสมุดในปี 1911 ตอนแรกพวกมันมีชื่อเล่นว่าลีโอ ลีน็อกซ์ และลีโอ แอสเตอร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งห้องสมุด แต่ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ฟิออเรลโล ลาการ์เดีย นายกเทศมนตรีของนิวยอร์กได้ตั้งชื่อให้มันใหม่ว่า ทรหด และอดทน ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เขาคิดว่า ชาวนิวยอร์กพึงแสดงออกมาในช่วงเวลาที่ท้าทายนั้น ปัจจุบันสิงโตทั้งสองตัวยังคงถูกขนานนามว่า ทรหดและอดทน
พระคัมภีร์ได้บรรยายถึงสิงโตที่มีอำนาจและมีชีวิต ผู้ซึ่งให้การหนุนใจในยามที่มีปัญหาและยังเป็นที่รู้จักในชื่ออื่นๆด้วย ในนิมิตเกี่ยวกับสวรรค์ของยอห์น ท่านร้องไห้เมื่อเห็นว่าไม่มีใครแกะตราของหนังสือม้วนซึ่งเป็นแผนการพิพากษาและการไถ่ของพระเจ้าได้ แล้วยอห์นก็ได้รับคำบอกว่า “อย่าร้องไห้เลย นี่แน่ะ สิงห์แห่งเผ่ายูดาห์... พระองค์ทรงมีชัยแล้ว พระองค์จึงทรงสามารถแกะตราทั้งเจ็ดดวงและคลี่หนังสือม้วนนั้นออกได้” (วว. 5:5)
แต่ในข้อถัดมา ยอห์นได้บรรยายถึงอีกสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “ข้าพเจ้าแลเห็นพระเมษโปดกประทับยืนอยู่ประหนึ่งทรงถูกปลงพระชนม์” (ข้อ 6) สิงห์และพระเมษโปดกคือบุคคลเดียวกันคือพระเยซู พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้พิชิต และ “พระเมษโปดกของพระเจ้า ผู้ทรงรับความผิดบาปของโลกไปเสีย” (ยน.1:29) โดยกำลังและกางเขนของพระองค์ เราจึงได้รับพระเมตตาและการอภัยเพื่อเราจะมีความสุขกับชีวิตและอัศจรรย์ใจในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเป็นตลอดชั่วนิรันดร์!
ทรงอยู่ด้วยในหุบเขา
ขณะที่ฮันนาห์ วิลเบอร์ฟอร์ซ (ป้าของวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ชาวอังกฤษผู้สนับสนุนการเลิกค้าทาส) กำลังจะเสียชีวิต เธอเขียนจดหมายโดยพูดถึงสิ่งที่ได้ยินเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อนผู้เชื่อในพระเยซูคนหนึ่งว่า “ความสุขเป็นของชายผู้เป็นที่รักซึ่งจากไปสู่สวรรค์ และตอนนี้ได้อยู่กับพระเยซูผู้ที่เขารักแม้ขณะที่ยังมองไม่เห็นพระองค์ หัวใจฉันเต้นโลดด้วยความสุข” แล้วเธอก็อธิบายสถานการณ์ของตนว่า “สำหรับฉันนั้นทั้งในยามดีและร้าย พระเยซูก็ทรงดีเสมอไป”
คำพูดของเธอทำให้ผมคิดถึงสดุดี 23 ที่ดาวิดเขียนว่า “แม้ข้าพระองค์จะเดินไปตามหุบเขาอันมืดมน (หุบเขาเงามัจจุราช) ข้าพระองค์ไม่กลัวอันตรายใดๆ เพราะพระองค์ทรงสถิตกับข้าพระองค์” (ข้อ 4) ถ้อยคำเหล่านี้น่าสนใจเพราะในท่ามกลางหุบเขาแห่งเงามืดของความตาย ที่นี่เองที่พระลักษณะของพระเจ้าที่ดาวิดบรรยายกลายเป็นจริงสำหรับตัวท่าน จากที่พูดถึงพระเจ้าในตอนเริ่มต้นของสดุดีว่า “พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ” (ข้อ 1) เปลี่ยนมาเป็นพูดกับพระเจ้าว่า “เพราะพระองค์ทรงสถิตกับข้าพระองค์” (ข้อ 4)
เป็นความรู้สึกมั่นใจจริงๆที่รู้ว่าพระเจ้าองค์มหิทธิฤทธิ์ ผู้ทรง “ให้กำเนิดโลกและพิภพ” (90:2) ทรงเปี่ยมไปด้วยความรักเมตตา โดยดำเนินไปกับเราแม้ในที่ซึ่งยากลำบากที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะดีหรือร้าย เราสามารถหันไปหาองค์พระผู้เลี้ยง พระผู้ช่วยให้รอดและเพื่อนของเรา แล้วพบว่าพระองค์ทรง “ดีเสมอไป” ช่างดีจริงๆที่ความตายพ่ายแพ้ราบคาบไปแล้ว และเราจะ “อยู่ในพระนิเวศของพระเจ้าสืบไปเป็นนิตย์” (23:6)
จากความล้มเหลวสู่คำพยาน
ดาร์ริลเป็นตำนานของนักเบสบอลผู้เกือบทำลายชีวิตตนเองเพราะยาเสพติด แต่พระเยซูทรงปลดปล่อยเขาให้เป็นไทและมีชีวิตที่ขาวสะอาด ทุกวันนี้เขาช่วยคนที่ติดยาและนำคนเหล่านั้นมาถึงความเชื่อ เมื่อมองย้อนกลับไป เขายืนยันว่าพระเจ้าได้ทรงเปลี่ยนความล้มเหลวของเขาให้เป็นคำพยาน
ไม่มีสิ่งใดยากเกินไปสำหรับพระเจ้า เมื่อพระเยซูเสด็จขึ้นฝั่งใกล้กับที่ฝังศพ หลังจากค่ำคืนที่ลมพายุโหมกระหน่ำในทะเลกาลิลีกับเหล่าสาวก ชายที่มีผีสิงวิ่งมาหาพระองค์ พระเยซูตรัสกับผีที่สิงอยู่นั้น ขับไล่พวกมันไปและปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระ
เมื่อพระเยซูเสด็จไปชายนั้นขอติดตามไปด้วย แต่พระเยซูไม่ทรงอนุญาตเพราะพระองค์มีงานให้เขาทำ คือ “จงไปหาพวกพ้องของเจ้าที่บ้านแล้วบอกเขาถึงเรื่องเหตุการณ์ใหญ่ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงกระทำแก่เจ้า” (มก.5:19)
เราไม่ได้เห็นชายนั้นอีกเลย แต่พระคัมภีร์เผยให้เราเห็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ ประชาชนที่นั่นอ้อนวอนให้พระองค์ “ไปเสีย” จากเมือง (ข้อ 17) แต่เมื่อทรงกลับไปที่นั่นอีกครั้ง ฝูงชนจำนวนมากมารวมตัวกัน (8:1) เป็นไปได้ไหมว่าฝูงชนที่มานั้นเป็นผลมาจากที่พระเยซูส่งชายคนนั้นกลับไปบ้าน เป็นไปได้ไหมที่ชายซึ่งเคยถูกความมืดครอบงำได้กลายเป็นมิชชันนารีคนแรกๆที่ประกาศถึงฤทธิ์เดชแห่งการช่วยกู้ของพระเยซูอย่างเกิดผล
เราไม่มีวันรู้ แต่ที่รู้คือ เมื่อพระเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระเพื่อจะรับใช้พระองค์ พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนความล้มเหลวในอดีตให้กลายเป็นคำพยานแห่งความหวังและความรักได้