ผู้ให้ด้วยใจยินดี
นิโคลัสเกิดในช่วงศตวรรษที่ 3 เขาไม่รู้เลยว่าในอีกหลายร้อยปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปนั้น เขาจะเป็นที่รู้จักในชื่อ ซานตาคลอส เขาเป็นเพียงชายที่รักพระเจ้าและห่วงใยผู้อื่นอย่างแท้จริง และเขาเป็นที่รู้จักเพราะการทำความดีและแบ่งปันทรัพย์สิ่งของของเขาด้วยใจยินดี มีเรื่องเล่าว่าหลังจากนิโคลัสรู้เรื่องของครอบครัวหนึ่งที่กำลังลำบากเรื่องเงิน เขาไปที่บ้านของครอบครัวนั้นในตอนกลางคืนและโยนถุงใส่ทองคำเข้าไปทางหน้าต่างที่เปิดอยู่ ถุงนั้นตกลงไปในรองเท้าหรือถุงเท้าข้างเตาผิง
นานมาแล้วก่อนสมัยของนิโคลัส อัครทูตเปาโลได้หนุนใจผู้เชื่อในเมืองโครินธ์ที่จะเป็นผู้ให้ด้วยใจยินดี ท่านเขียนถึงพวกเขาเรื่องความเดือดร้อนทางการเงินของพี่น้องในกรุงเยรูซาเล็ม และหนุนใจให้พวกเขาแบ่งปันด้วยใจกว้างขวาง เปาโลอธิบายให้พวกเขาฟังถึงประโยชน์และพระพรจากการแบ่งปันทรัพย์สิ่งของของตน และย้ำพวกเขาว่า “คนที่หว่านเพียงเล็กน้อยก็จะเกี่ยวเก็บได้เพียงเล็กน้อย คนที่หว่านมากก็จะเกี่ยวเก็บได้มาก” (2 คร.9:6) และผลของการแบ่งปันด้วยใจยินดีนั้นคือพวกเขาจะ “มีสิ่งสารพัดมั่งคั่งบริบูรณ์ขึ้น” (ข้อ 11) และพระเจ้าจะทรงได้รับเกียรติ
พระบิดา โปรดช่วยให้เราเป็นผู้ให้ด้วยใจยินดีไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น แต่ในตลอดทั้งปี ขอบพระคุณสำหรับพระทัยอันกว้างขวางอย่างเหลือล้นที่ได้ประทาน “ของขวัญอัศจรรย์” คือพระเยซูองค์พระบุตรให้แก่เรา EPE
การกระทำที่กล้าหาญ
จอห์น ฮาร์เปอร์ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นขณะที่เขาและลูกสาววัย 6 ขวบออกเดินทางไปกับเรือไททานิค แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้คือ เขารักพระเยซูและอยากให้ผู้อื่นได้รู้จักพระองค์ด้วย ทันทีที่เรือชนกับภูเขาน้ำแข็งและน้ำเริ่มทะลักเข้ามา ฮาร์เปอร์ ผู้เป็นพ่อม่ายรีบพาลูกสาวของเขาลงเรือชูชีพ แล้วหันกลับไปช่วยชีวิตผู้คนที่กำลังโกลาหลให้ได้มากที่สุด มีคนเล่าว่าเขาแจกเสื้อชูชีพพร้อมกับร้องตะโกนว่า “ให้ผู้หญิง เด็ก และผู้ที่ยังไม่ได้รับความรอดลงเรือชูชีพไปก่อน” ฮาร์เปอร์แบ่งปันเรื่องพระเยซูกับทุกคนที่อยู่รอบตัวเขาจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย เขาเต็มใจสละชีวิตตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นรอดชีวิต
เมื่อสองพันปีที่แล้วมีผู้หนึ่งที่ยอมสละชีวิตของตน เพื่อคุณและฉันจะสามารถมีชีวิตอยู่ไม่เพียงแค่ในโลกนี้ แต่ชั่วนิรันดร์ พระเยซูไม่ได้จู่ๆก็ตื่นขึ้นมาและตัดสินใจว่าจะรับโทษประหารสำหรับความผิดบาปของมนุษยชาติ แต่นี่คือภารกิจสำคัญในชีวิตของพระองค์ ระหว่างที่สนทนากับผู้นำศาสนาของชาวยิว พระองค์ทรงย้ำหลายครั้งว่า “เราสละชีวิต” (ยน.10:11, 15, 17, 18) พระองค์ไม่เพียงแค่ตรัส แต่ยังทรงดำเนินชีวิตตามคำตรัสนั้นด้วยการสิ้นพระชนม์บนกาง-เขน พระองค์เสด็จมาเพื่อทั้งพวกฟาริสี จอห์น ฮาร์เปอร์และเรา “จะได้ชีวิตและจะได้อย่างครบบริบูรณ์” (ข้อ 10)
วันแห่งการหนุนใจ
เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้สำแดงถึงความทุ่มเทและความกล้าในทุกวันโดยการอยู่แนวหน้าเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ในการโจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์กซิตี้ในปี 2001 เมื่อคนนับพันเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ เราก็สูญเสียเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินไปกว่า 400 คนด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัย วุฒิสมาชิกสหรัฐจึงกำหนดให้วันที่ 12 กันยายนเป็นวันการหนุนใจแห่งชาติ
แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลประกาศให้มีวันการหนุนใจแห่งชาติ แต่อัครทูตเปาโลแน่ใจว่าการหนุนใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตของคริสตจักร ท่านแนะนำคริสตจักรใหม่ในเธสะโลนิกาให้ “หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง และมีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง” (1 ธส.5:14) แม้พวกเขาจะเจอการข่มเหง เปาโลหนุนใจผู้เชื่อให้ “หาทางทำดีเสมอต่อพวกท่านเอง และต่อคนทั้งปวงด้วย” (ข้อ 15) ท่านรู้ว่ามนุษย์มีแนวโน้มจะท้อใจ เห็นแก่ตัวและขัดแย้งกัน แต่ท่านก็รู้ด้วยว่าพวกเขาไม่สามารถชูใจกันและกันโดยปราศจากการช่วยเหลือและกำลังที่มาจากพระเจ้าได้
ทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกัน เราทุกคนล้วนต้องการการชูใจและเราต้องทำเช่นเดียวกันต่อผู้คนรอบข้าง แต่เราไม่สามารถทำได้ด้วยกำลังของตัวเราเอง นั่นคือเหตุผลที่คำหนุนใจของเปาโลว่า “พระองค์ผู้ทรงเรียกท่านนั้นสัตย์ซื่อ และพระองค์จะทรงทำให้สำเร็จ” จึงช่วยปลอบประโลมใจ (ข้อ 24) ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ เราหนุนใจกันและกันได้ทุกวัน
สัมผัสผู้ขัดสน
ไม่น่าประหลาดใจที่แม่ชีเทเรซ่าได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นไปตามที่คาดไว้ เธอรับรางวัลนี้ “ในนามของผู้หิวโหย ผู้ที่เปลือยกาย เร่ร่อน ตาบอด เป็นโรคเรื้อน คนที่รู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีใครรัก ไม่ได้รับการดูแลในสังคม” คนเหล่านั้นคือคนที่เธอรับใช้มาเกือบตลอดชีวิต
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการดูแลและรักผู้ด้อยโอกาสไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด พระองค์ต่างจากพวกนายธรรมศาลาที่ให้ความสำคัญกับกฎวันสะบาโตมากกว่าคนเจ็บป่วย (ลก.13:14) เมื่อพระเยซูเห็นหญิงป่วยที่พระวิหาร ก็ทรงมีพระทัยเมตตา ทรงมองข้ามความบกพร่องทางกายและเห็นว่าหญิงผู้นั้นเป็นสิ่งทรงสร้างอันงดงามของพระเจ้าซึ่งถูกพันธนาการไว้ พระองค์ทรงเรียกเธอเข้ามาหาและตรัสว่าเธอหายจากโรคแล้ว จากนั้นพระองค์ทรง “วางพระหัตถ์บนเขา และในทันใดนั้นเขาก็ยืดตัวตรงได้และสรรเสริญพระเจ้า” (ข้อ 13) การที่พระเยซูสัมผัสหญิงนั้นทำให้นายธรรมศาลาไม่พอใจเพราะวันนั้นเป็นวันสะบาโต พระเยซูผู้เป็นเจ้าแห่งวันสะบาโต (ลก.6:5) ทรงมีพระทัยเมตตาและเลือกที่จะรักษาหญิงผู้เผชิญความทุกข์ยากและถูกดูแคลนมาเกือบยี่สิบปี
ผมสงสัยว่าบ่อยแค่ไหนที่เราเห็นว่าคนบางคนไม่สมควรได้รับความเมตตาจากเรา หรือบางทีเราอาจเคยถูกปฏิเสธเพราะเราไม่ผ่านตามมาตรฐานที่มีคนตั้งไว้ ขออย่าให้เราเป็นเหมือนชนชั้นสูงทางศาสนาที่สนใจในกฎระเบียบมากกว่าเพื่อนมนุษย์ แต่ให้เราทำตามแบบอย่างของพระเยซูและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเมตตา ความรัก และการให้เกียรติ
ดวงตาแห่งนิรันดร์กาล
ดวงตาแห่งนิรันดร์กาล คือสิ่งที่เพื่อนของฉันแมดเดลีนอธิษฐานขอให้ลูกๆและหลานๆของเธอ ครอบครัวของเธอได้ผ่านช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายซึ่งจบลงด้วยความตายของลูกสาวคนหนึ่งของเธอ ในขณะที่ครอบครัวกำลังโศกเศร้ากับความสูญเสีย แมดเดลีนปรารถนาให้พวกเขามองความเจ็บปวดของโลกนี้ที่อยู่ใกล้ตัวให้น้อยลง แต่ให้มีสายตาที่ยาวไกล คือเปี่ยมด้วยความหวังในพระเจ้าที่รักของเรา
ของประทานแห่งสันติสุข
แม่เชื่อพระเยซู พระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของแม่ และแม่ไม่กลัวความตาย” บาร์บาร่า บุชภรรยาของจอร์จ เอช.ดับเบิลยู.บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐบอกกับลูกชายก่อนเสียชีวิต คำพูดน่าทึ่งและหนักแน่นนี้แสดงถึงความเชื่อที่หยั่งรากลึก เธอมีประสบการณ์ในของประทานแห่งสันติสุขที่มาจากการรู้จักพระเยซู แม้ขณะที่เผชิญความตาย
สิเมโอนซึ่งอยู่ที่เยรูซาเล็มในศตวรรษแรก ได้สัมผัสถึงสันติสุขอันลึกซึ้งเพราะพระเยซูเช่นกัน พระวิญญาณนำท่านไปในพระวิหาร ตอนที่มารีย์และโยเซฟนำพระกุมารเยซูไปเข้าสุหนัตตามกฏบัญญัติของเด็กชายเกิดใหม่ แม้ข้อมูลเรื่องสิเมโอนมีไม่มากนัก แต่คำบรรยายของลูกาบอกได้ว่าท่านเป็นคนพิเศษของพระเจ้า ทั้งชอบธรรมและยำเกรงพระเจ้า คอยการมาของพระเมสสิยาห์อย่างสัตย์ซื่อ และ “พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสถิตกับท่าน” (ลก.2:25) แต่ท่านก็ยังไม่มีประสบการณ์ชาโลม (สันติสุข) อย่างแท้จริง จนท่านได้เห็นพระเยซู
ขณะอุ้มพระเยซู สิเมโอนร้องเพลงสรรเสริญบรรยายความสมหวังอันเปี่ยมล้นในพระเจ้า “บัดนี้พระองค์ทรงให้ทาสของพระองค์ไปเป็นสุข... เพราะว่าตาของข้าพระองค์ได้เห็นความรอดของพระองค์แล้ว ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ต่อหน้าบรรดาชนชาติทั้งหลาย” (ข้อ 29-31) ท่านมีสันติสุขเพราะได้เห็นความหวังในอนาคตของโลก
ขณะที่เราเฉลิมฉลองชีวิต การสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระเยซูองค์พระผู้ช่วยให้รอดตามพระสัญญา ให้เราชื่นชมยินดีในของประทานแห่งสันติสุขจากพระเจ้า
พระบิดาทรงร้องเพลง
แดนดี้ชอบให้กำลังใจผู้อื่นด้วยการร้องเพลง วันหนึ่งเรากำลังทานอาหารที่ร้านโปรดของเขา เขาสังเกตเห็นว่าพนักงานคนหนึ่งมีปัญหา เขาถามเธอสองสามคำถามแล้วเริ่มร้องเพลงจังหวะสนุกๆเนื้อร้องจำง่ายให้เธอฟังเบาๆเพื่อเป็นกำลังใจ “คุณทำให้ฉันรู้สึกดีมาก ขอบคุณค่ะ” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้าง ขณะจดรายการอาหารที่เราสั่ง
เมื่อเราเปิดพระธรรมเศฟันยาห์ เราพบว่าพระเจ้าทรงชอบร้องเพลง ผู้พยากรณ์นี้สามารถใช้ถ้อยคำทำให้เราเห็นภาพว่าพระเจ้าทรงเป็นนักดนตรีที่รักการร้องเพลงกับลูกๆของพระองค์หรือร้องเพลงให้พวกเขาฟัง เขาบันทึกว่าพระเจ้าจะ “ทรงเปรมปรีดิ์เพราะเจ้าด้วยความยินดี พระองค์จะทรงรื้อฟื้นเจ้าใหม่ด้วยความรักของพระองค์ พระองค์จะทรงเริงโลดเพราะเจ้าด้วยร้องเพลงเสียงดัง” (3:17) พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะสถิตอยู่ด้วยเสมอกับผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระเมตตาของพระองค์ ไม่เพียงแค่นั้น พระองค์เชิญชวนและทรงเข้าร่วมกับคนของพระองค์ในการ “เปรมปรีดิ์และลิงโลดด้วยเต็มใจของเจ้า” (ข้อ 14)
เราคงได้แต่จินตนาการถึงวันที่เราจะได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าและทุกคนที่เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอด จะน่าอัศจรรย์เพียงใดที่จะได้ยินพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ทรงร้องเพลงให้เราฟัง และร่วมร้องเพลงกับเรา และได้สัมผัสความรัก ความพอพระทัย และการยอมรับของพระองค์
แทนการแก้แค้น
หลังจากที่จิม เอลเลียตและมิชชันนารีอีกสี่คนถูกฆ่าตายโดยชนเผ่าฮัว-โอรานีเมื่อปี 1956 ไม่มีใครคาดคิดว่าเอลิซาเบ็ธภรรยาของจิมกับลูกสาวตัวน้อยและน้องสาวของมิชชันนารีอีกคนหนึ่ง จะตัดสินใจอาศัยอยู่ท่ามกลางคนที่ฆ่าคนที่พวกเขารัก พวกเธอใช้เวลาหลายปีอยู่ในชุมชนฮัวโอรานี เรียนรู้ภาษา และแปลพระคัมภีร์ให้พวกเขา คำพยานเรื่องการให้อภัยและความเมตตาของพวกเธอทำให้ชาวฮัวโอรานีเชื่อในความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อพวกเขา จนหลายคนต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด
สิ่งที่เอลิซาเบ็ธและเพื่อนทำเป็นตัวอย่างอันเหลือเชื่อของการไม่ทำชั่วตอบแทนการชั่ว แต่ตอบแทนด้วยการทำดี (รม.12:17) อัครทูตเปาโลหนุนใจให้คริสตจักรในกรุงโรมสำแดงการเปลี่ยนแปลงที่พระเจ้านำมาสู่ชีวิตของพวกเขาด้วยการกระทำ เปาโลคิดอะไรอยู่หรือ คือพวกเขาจะต้องเอาชนะความปรารถนาตามธรรมชาติที่อยากจะแก้แค้น แล้วสำแดงความรักต่อศัตรูโดยการให้สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต เช่นอาหารหรือน้ำ
ทำไมต้องทำเช่นนี้ เปาโลอ้างสุภาษิตจากพันธสัญญาเดิมที่กล่าวว่า “ถ้าศัตรูของท่านหิว จงให้อาหารเขารับประทาน ถ้าเขากระหายน้ำก็จงให้น้ำเขาดื่ม” (ข้อ 20; สภษ.25:21-22) เปาโลกำลังทำให้เห็นว่า ความเมตตาที่ผู้เชื่อสำแดงแก่ศัตรูจะสามารถเอาชนะใจและสุมไฟของการสำนึกผิดในหัวใจของพวกเขา
ยังมีหวังหรือ
ชีวิตของเอ็ดเวิร์ด เพย์สัน (1783-1827) ลำบากมาก การเสียชีวิตของน้องชายมีผลต่อเขาอย่างยิ่ง เขามีอาการอารมณ์แปรปรวนสองขั้วและปวดหัวข้างเดียวรุนแรงอยู่หลายวัน ซ้ำร้ายเขายังตกจากม้าทำให้แขนพิการ และเกือบเสียชีวิตเพราะวัณโรค น่าประหลาดใจที่เขาไม่ได้ตอบสนองโดยท้อใจหรือสิ้นหวัง เพื่อนของเขาบอกว่าก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาเปี่ยมด้วยความชื่นชมยินดี เป็นไปได้อย่างไร
ในจดหมายที่อัครทูตเปาโลเขียนถึงผู้เชื่อกรุงโรม ท่านแสดงความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในความจริงเรื่องความรักของพระเจ้าในทุกสถานการณ์ ท่านพูดอย่างกล้าหาญว่า “ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ใครจะขัดขวางเรา” (รม.8:31) ถ้าพระเจ้าประทานพระเยซูพระบุตรของพระองค์เพื่อมาช่วยเรา พระองค์จะจัดเตรียมทุกสิ่งที่จำเป็นในชีวิตนี้เช่นกัน เปาโลกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกินจะทน 7 อย่างที่ท่านเผชิญ คือ ความทุกข์ ความยากลำบาก การเคี่ยวเข็ญ การกันดารอาหาร การเปลือยกาย การถูกโพยภัยและการถูกคมดาบ (ข้อ 35) ท่านไม่ได้กล่าวว่าความรักของพระคริสต์จะหยุดยั้งให้สิ่งไม่ดีไม่เกิดขึ้น แต่ “ในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย” (ข้อ 37)
เราวางใจพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ท่ามกลางความไม่แน่นอนในโลกโดยรู้ว่าไม่มีอะไรจะ “กระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้” (ข้อ 39)