อยู่ที่ว่าคุณรู้จักใคร
ในช่วงต้นปี 2019 ชาร์ลี แวนเดอร์เมียร์ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 84 ปี เป็นเวลาหลายสิบปีที่เขาเป็นที่รู้จักของผู้คนนับพันในฐานะลุงชาร์ลี นักจัดรายการวิทยุระดับประเทศแห่งรายการ ชั่วโมงพระคัมภีร์ของเด็กๆ วันก่อนที่ลุงชาร์ลีจะจากไปอยู่กับพระเจ้า เขาบอกเพื่อนสนิทคนหนึ่งว่า “อะไรที่คุณรู้ไม่สำคัญเท่ากับใครที่คุณรู้จัก ใช่แล้วผมกำลังพูดถึงพระเยซูคริสต์”
แม้ในวาระสุดท้าย ลุงชาร์ลียังอดไม่ได้ที่จะพูดถึงพระเยซูและความจำเป็นที่ผู้คนจะต้องรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด
อัครทูตเปาโลถือว่าการรู้จักพระเยซูเป็นงานที่สำคัญที่สุดของท่าน “ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์ และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์” (ฟป.3:8-9) แล้วเราจะรู้จักพระเยซูได้อย่างไร “คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด” (รม.10:9)
เราอาจรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระเยซู รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับคริสตจักร และอาจคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ด้วยซ้ำ แต่ทางเดียวที่จะรู้จักพระเยซูในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดคือ ยอมรับของประทานแห่งความรอดซึ่งให้เปล่าๆ พระองค์คือผู้ที่เราจำเป็นจะต้องรู้จัก
มีน้ำใจจริงๆ
ผู้ฟังรายการโทรมาที่สถานีวิทยุคริสเตียนบอกว่า ภรรยาของเขากำลังจะได้กลับบ้านหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาล แล้วเขาได้พูดบางอย่างที่แตะใจผมว่า “ทุกคนในครอบครัวคริสตจักรมีน้ำใจช่วยเหลือดูแลเราในช่วงเวลานี้จริงๆ”
เมื่อได้ยินประโยคธรรมดาแบบนี้ ทำให้ผมคิดถึงคุณค่าและความจำเป็นของการมีน้ำใจและความเอาใจใส่ดูแลของคริสเตียน ผมเริ่มคิดว่าความรักและการช่วยเหลือของเพื่อนผู้เชื่อที่มีต่อกันเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงฤทธิ์เดชแห่งข่าวประเสริฐที่เปลี่ยนแปลงชีวิต
ในพระธรรม 1 เปโตร ท่านอัครทูตเขียนจดหมายเวียนไปถึงคริสตจักรต่างๆในศตวรรษที่ 1 ซึ่งปัจจุบันคือประเทศตุรกี ในจดหมายนั้นท่านขอร้องผู้อ่านให้ทำสิ่งที่เปาโลเพื่อนของท่านเขียนไว้ในพระธรรมโรม 12:13 ว่า “จงมีน้ำใจอัธยาศัยไมตรี” เปโตรบอกว่า “จงรักซึ่งกันและกันให้มาก...จงต้อนรับเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน” และให้พวกเขาใช้ของประทานที่พระเจ้าให้เพื่อ “ประโยชน์แก่กันและกัน” (1 ปต.4:8-10) นี่เป็นแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนปฏิบัติต่อผู้เชื่อด้วยกัน
พวกเราต่างก็รู้จักคนที่เป็นเหมือนภรรยาของชายที่โทรมานั้น คือผู้ที่ต้องการมีคนมาอยู่เคียงข้างคอยสำแดงความห่วงใยและความรักแบบพระคริสต์โดยพระกำลังของพระเจ้า ขอให้เราเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับการกล่าวขานว่า “มีน้ำใจจริงๆ”
ทูลขอต่อพระเจ้า
ในเช้าวันหนึ่ง ช่วงเวลาอธิษฐานของครอบครัวจบลงด้วยคำแถลงที่น่าประหลาดใจ ทันทีที่พ่อพูดว่า “อาเมน” เคทลินวัยห้าขวบก็ประกาศว่า “และหนูอธิษฐานเผื่อโลแกนเพราะเขาลืมตาตอนอธิษฐาน”
ฉันค่อนข้างแน่ใจว่า การอธิษฐานเผื่อวิธีอธิษฐานของพี่ชายวัยสิบขวบไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์หมายถึงเมื่อมีการเรียกให้เราทูลวิงวอนเพื่อผู้อื่น แต่อย่างน้อยเคทลินก็รู้ว่าเราอธิษฐานเผื่อคนอื่นได้
อาจารย์สอนพระคัมภีร์ออสวอลด์ แชมเบอร์สเน้นถึงความสำคัญในการอธิษฐานเผื่อผู้อื่น เขากล่าวว่า “การทูลวิงวอนเพื่อผู้อื่นคือการเอาพระทัยพระเจ้ามาใส่ใจเรา คือการมีความคิดและมุมมองของพระองค์” เป็นการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นจากมุมมองที่เรารู้จักพระเจ้าและความรักของพระองค์ที่มีต่อเรา
เราพบตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการทูลวิงวอนในดาเนียล 9 ผู้เผยพระวจนะเข้าใจถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่ชาวยิวจะต้องตกเป็นเชลยในบาบิโลนเจ็ดสิบปี (ยรม.25:11-12) เมื่อเห็นว่าช่วงเวลานั้นกำลังจะสิ้นสุด ดาเนียลจึงอธิษฐาน ท่านอ้างถึงพระดำรัสของพระเจ้า (ดนล 9:4-6) ถ่อมตัวเองลง (ข้อ 8) สรรเสริญพระลักษณะของพระเจ้า (ข้อ 9) สารภาพบาป (ข้อ 15) และพึ่งพาในพระเมตตาพระเจ้าขณะเมื่อท่านอธิษฐานเผื่อประชากรของพระองค์ (ข้อ 18) และท่านได้รับคำตอบจากพระเจ้าในทันที (ข้อ 21)
ไม่ใช่ทุกการอธิษฐานที่ลงเอยด้วยการตอบสนองอย่างยิ่งใหญ่ แต่จงมั่นใจว่าเราเป็นตัวแทนของผู้อื่นในการเข้าหาพระเจ้าได้ ด้วยท่าทีของความไว้วางใจและพึ่งพาในพระองค์
ถนนทุกสายเลยหรือ
“อย่าขึ้นทางด่วน” นั่นเป็นข้อความจากลูกสาวของผมในเย็นวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังจะออกจากที่ทำงาน บนทางด่วนกลับบ้านกลายเป็นลานจอดรถ ผมเริ่มลองเส้นทางอื่น แต่พบว่าการจราจรบนถนนทุกสายหนาแน่นจนผมต้องยอมแพ้ วันนี้คงต้องรออีกนานกว่าจะกลับถึงบ้าน ผมจึงกลับรถไปทางตรงกันข้ามมุ่งหน้าไปดูการแข่งกีฬาที่หลานสาวผมร่วมแข่งด้วย
เมื่อพบว่าไม่มีถนนสายไหนจะพาผมกลับบ้านได้ในวันนั้น ทำให้ผมคิดถึงบางคนที่พูดว่าถนนทุกสายสามารถนำเราไปสู่ความสัมพันธ์ชั่วนิรันดร์กับพระเจ้าได้ บางคนเชื่อว่าถนนแห่งความเมตตาและการประพฤติดีจะนำเขาไปถึงได้ คนอื่นๆอาจเลือกถนนของการทำตามพิธีกรรมทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงถนนเหล่านั้นนำไปสู่ทางตัน มีถนนเพียงเส้นเดียวเท่านั้นที่นำไปสู่การทรงสถิตชั่วนิรันดร์ของพระเจ้า พระเยซูทรงอธิบายอย่างชัดเจนเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยน.14:6) ทรงเปิดเผยว่าพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เพื่อเปิดทางเข้าสู่บ้านของพระบิดาให้กับเรา สู่การทรงสถิตของพระองค์ และชีวิตที่แท้จริงที่พระองค์จัดเตรียมไว้ให้ในวันนี้และชั่วนิรันดร์
ให้เราข้ามทางตันที่ไม่อาจนำเราไปถึงการทรงสถิตของพระเจ้า แต่จงวางใจในพระเยซูพระผู้ช่วยให้รอดของเรา เพราะ “ผู้ที่วางใจในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์” (ยน.3:36) และสำหรับผู้ที่เชื่อในพระองค์แล้ว จงพักสงบในหนทางที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ให้
จะตั้งชื่อลูกว่าอะไร
บทสนทนาหนึ่งที่นางมารีย์ไม่ต้องคุยกับโยเซฟขณะที่รอคลอดทารกในครรภ์คือ “โยเซฟ เราจะตั้งชื่อลูกว่าอะไรดี” ไม่เหมือนกับคนส่วนมากขณะรอลูกคลอด พวกเขาไม่มีคำถามว่าจะเรียกลูกด้วยชื่ออะไร
ทูตสวรรค์ที่มาปรากฏกับนางมารีย์และจากนั้นกับโยเซฟได้บอกพวกเขาว่าทารกจะชื่อเยซู (มธ.1:20-21; ลก.1:30-31) ทูตสวรรค์ที่ปรากฏแก่โยเซฟอธิบายว่าชื่อนี้บ่งบอกว่าทารกจะ “ช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขา”
ทารกจะถูกเรียกด้วยว่า “อิมมานูเอล” (อสย.7:14) ซึ่งแปลว่า “พระเจ้าทรงสถิตกับเราทั้งหลาย” เพราะพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าในสภาพมนุษย์ที่ถูกพันผ้าอ้อมไว้ ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ได้เปิดเผยพระนามอื่นอีกว่า “ที่ปรึกษามหัศจรรย์” “พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์” “พระบิดานิรันดร์” และ “องค์สันติราช” (9:6) เพราะพระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งที่ได้กล่าวมา
การตั้งชื่อทารกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ แต่ไม่มีทารกคนไหนมีชื่อที่ทรงฤทธิ์อำนาจ น่าตื่นเต้น และเปลี่ยนแปลงโลกได้เหมือน “พระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์” (มธ.1:16) ช่างน่าตื่นเต้นที่เราสามารถ “ออกพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (1 คร.1:2) ได้! ไม่มีนามอื่นใดที่ช่วยให้รอดได้ (กจ.4:12)
ให้เราสรรเสริญพระเยซูและใคร่ครวญถึงความหมายทั้งหมดที่พระองค์มีต่อเราในเทศกาลคริสต์มาสนี้!
ทำหน้าที่ของเรา
เมื่อหลานของผมสองคนเข้าคัดตัวเพื่อแสดงละครเพลงเรื่องอลิซในแดนมหัศจรรย์จูเนียร์ พวกเธอหวังจะได้เป็นนักแสดงนำ แม็กกี้อยากเป็นสาวน้อยอลิซ ส่วนเคธี่คิดว่ามาทิลด้าเป็นบทบาทที่ดี แต่พวกเธอถูกเลือกให้เป็นดอกไม้ นั่นไม่ใช่ใบเบิกทางที่จะพาพวกเธอไปสู่เวทีบรอดเวย์เลย
แต่ลูกสาวผมบอกว่าพวกเธอ “ตื่นเต้นกับเพื่อนๆที่ได้รับ(บทนำ) พวกเธอดูจะยินดีกับการให้กำลังใจและร่วมตื่นเต้นไปกับเพื่อนๆ”
นั่นเป็นภาพที่เราควรปฏิสัมพันธ์กับพี่น้องในพระกายของพระคริสต์! คริสต-จักรท้องถิ่นทุกแห่งล้วนต้องมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญ แต่ก็ยังต้องมีดอกไม้ คือผู้ที่มีความสำคัญแต่อาจไม่ได้ทำงานชิ้นสำคัญ ถ้าผู้อื่นได้รับบทบาทที่เราปรารถนา ขอให้เราหนุนใจพวกเขาและทำหน้าที่ที่พระเจ้ามอบหมายเราให้เต็มที่ที่สุด
ที่จริงการช่วยเหลือและหนุนใจผู้อื่นคือการแสดงความรักที่เรามีต่อพระเจ้า ฮีบรู 6:10 บอกว่า “[พระเจ้า]ไม่ทรง...ลืมการงานซึ่งท่านได้กระทำ เพราะความรักที่ท่านมีต่อพระนามของพระองค์คือการรับใช้ธรรมิกชนนั้น” และไม่มีของประทานใดของพระเจ้าที่ไม่สำคัญ “ตามซึ่งทุกคนได้รับของประทาน...แล้วก็ให้ใช้ของประทานนั้นเพื่อประโยชน์แก่กันและกัน เป็นผู้รับมอบฉันทะที่ดีที่...สำแดงพระคุณนานาประการของพระเจ้า” (1 ปต.4:10)
ลองคิดภาพคริสตจักรที่เต็มไปด้วยผู้หนุนน้ำใจ ซึ่งใช้ของประทานที่ได้รับอย่างแข็งขันเพื่อถวายเกียรติพระเจ้า (ฮบ.6:10) สิ่งนี้จะทำให้เกิดความชื่นชมยินดี!
ประกาศหรือไถดิน
จากเรื่องเล่าของครอบครัวหนึ่ง ขณะที่พี่กับน้องคือบิลลี่และเมลวินยืนอยู่ที่ฟาร์มวัวนมของครอบครัว เขาเห็นเครื่องบินกำลังบินพ่นควันเป็นตัวหนังสือ เด็กชายทั้งสองมองดูตัวอักษร “GP” อยู่บนท้องฟ้า
สองพี่น้องคิดว่าสิ่งที่เห็นมีความหมายสำหรับพวกเขา คนหนึ่งตีความหมายว่า “ไปประกาศ” (Go preach) อีกคนบอกว่า “ไปไถดิน” (Go plow) หลังจากนั้นพี่ชายคือบิลลี่ เกรแฮมได้ถวายตัวประกาศข่าวประเสริฐ และกลายเป็นสัญลักษณ์ในด้านการประกาศ ส่วนน้องชายคือเมลวินทำงานต่อไปที่ฟาร์มวัวนมของครอบครัวอย่างสัตย์ซื่อเป็นเวลาหลายปี
หากไม่พูดถึงสัญลักษณ์บนท้องฟ้า ถ้าพระเจ้าเรียกให้บิลลี่ประกาศและให้เมลวินไถดินตามนั้นจริง ทั้งสองได้ถวายเกียรติพระเจ้าแล้วด้วยอาชีพของพวกเขา บิลลี่ทำงานเป็นผู้ประกาศมายาวนาน ความสำเร็จของท่านไม่ได้หมายความว่าการเชื่อฟังพระเจ้าของน้องชายที่ให้ไปไถดินสำคัญน้อยกว่า
พระเจ้าทรงมอบหมายบางคนให้ทำพันธกิจเต็มเวลา (อฟ.4:11-12) แต่ไม่ได้หมายความว่างานหรือบทบาทอย่างอื่นไม่สำคัญ ตามที่เปาโลกล่าวไว้ว่า ไม่ว่าจะทำอะไร “อวัยวะทุกอย่างทำงานตามความเหมาะสม” (ข้อ 16) นั่นก็คือการถวายเกียรติพระเยซูด้วยการใช้ของประทานที่ได้รับอย่างสัตย์ซื่อ ไม่ว่าจะ “ไปประกาศ” หรือ “ไปไถดิน” เราสร้างความแตกต่างเพื่อพระเยซูได้ไม่ว่าเราจะรับใช้หรือทำงานด้านใด
ตอนนี้และต่อๆไป
ไม่นานมานี้ผมไปร่วมพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนมัธยมในระหว่างวิทยากรต้องกล่าวท้าทายคนหนุ่มสาวที่กำลังรอรับวุฒิบัตร เขากล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาในชีวิตที่ทุกคนจะถามว่าพวกเขา “จะทำอะไรต่อ” จะทำอาชีพอะไร จะไปเรียนหรือไปทำงานที่ไหนต่อ จากนั้นเขากล่าวว่าคำถามที่สำคัญกว่าคือ พวกเขากำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้
ในบริบทของเส้นทางแห่งความเชื่อ พวกเขาต้องตัดสินใจอย่างไรในแต่ละวันที่จะนำพวกเขาให้มีชีวิตเพื่อพระเยซู ไม่ใช่เพื่อตัวเองคำพูดของเขาทำให้ผมนึกถึงพระธรรมสุภาษิต ซึ่งกล่าวถึงเรื่องการใช้ชีวิตใน “ตอนนี้” ไว้ เช่น การเป็นคนซื่อสัตย์ (11:1) การเลือกเพื่อนให้ถูก (12:26) การใช้ชีวิตเที่ยงธรรม (13:6) การมีสามัญสำนึกที่ดี (13:15) การพูดอย่างฉลาด (14:3)
การมีชีวิตเพื่อพระเจ้าในตอนนี้ โดยการนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทำให้การตัดสินใจเรื่องต่อๆไปง่ายขึ้น “พระเจ้าประทานปัญญา...พระองค์ทรงสะสมสติปัญญาไว้ให้คนเที่ยงธรรม...ทรงรักษาระวังวิถีของความยุติธรรม และทรงสงวนทางของธรรมิกชนของพระองค์ไว้” (2:6-8) ขอพระเจ้าประทานสิ่งจำเป็นเพื่อให้เราใช้ชีวิตตามทางของพระองค์ในตอนนี้ และขอพระองค์ทรงนำเราต่อไปเพื่อพระเกียรติของพระองค์
ตรวจสอบตัวเอง
ไม่นานนี้ผมได้อ่านจดหมายสมัยสงครามโลกครั้งที่สองทั้งปึกที่พ่อส่งให้แม่ พ่ออยู่ที่แอฟริกาเหนือ ส่วนแม่อยู่ที่รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย พ่อเป็นร้อยตรีประจำกองทัพสหรัฐ มีหน้าที่ตรวจสอบจดหมายของทหารเพื่อป้องกันข้อมูลละเอียดอ่อนหลุดไปยังศัตรู จึงเป็นเรื่องน่าขันที่เห็นว่าบนซองจดหมายที่ส่งถึงภรรยาของท่านจะมีตราประทับไว้ว่า “ตรวจสอบโดย ร.ต.จอห์น บรานอน” แน่นอนว่าท่านได้ตัดบางประโยคออกจากจดหมายของตัวเองด้วย
การตรวจสอบตนเองเป็นความคิดที่เข้าท่าสำหรับเราทุกคน หลายครั้งในพระคัมภีร์ผู้เขียนเอ่ยถึงความสำคัญของการพิจารณาตนเองเพื่อค้นดูว่ามีสิ่งใดไม่ถูกต้อง ไม่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนสดุดีอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงค้นดูข้าพระองค์และทรงทราบจิตใจของข้าพระองค์... ทอดพระเนตรว่ามีทางชั่วใดๆ ในข้าพระองค์หรือไม่” (สดด.139:23-24) เยเรมีย์บอกว่า “ให้พวกเราทดสอบและพิจารณาวิถีของพวกเรา และกลับมาหาพระเจ้าเถิด” (พคค.3:40) และเปาโลกล่าวถึงสภาพจิตใจของเราขณะร่วมพิธีมหาสนิท “ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเอง” (1 คร.11:28)
พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยเราเปลี่ยนแปลงความคิดหรือการกระทำที่ไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ดังนั้น ก่อนที่เราจะเผชิญกับโลกในวันนี้ ให้เราหยุดและแสวงหาการช่วยเหลือจากพระวิญญาณในการตรวจสอบตัวเอง เพื่อเราจะสามารถ “กลับมาหาพระเจ้า” ในการสามัคคีธรรมกับพระองค์