เป็นของพระองค์โดยชอบธรรม
ลิซร้องไห้ด้วยความดีใจเมื่อเธอและสามีได้รับสูติบัตรและหนังสือเดินทางของลูก ซึ่งทำให้กระบวนการรับบุตรบุญธรรมมีผลผูกพันตามกฎหมาย ตอนนี้มิเลน่าจะเป็นลูกสาวและเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพวกเขาตลอดไป ขณะที่ลิซไตร่ตรองกระบวนการทางกฎหมายนี้ เธอคิดถึง “การแลกเปลี่ยนที่แท้จริง” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเยซูด้วย โดยเธอกล่าวว่า “เราไม่ต้องถูกกักขังโดยความบาปและความเสื่อมสลายที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดอีกต่อไป” แต่เข้าสู่ความสมบูรณ์แห่งอาณาจักรของพระเจ้าโดยชอบธรรมเมื่อเราได้รับฐานะเป็นบุตรของพระองค์
ในสมัยของอัครทูตเปาโล หากครอบครัวชาวโรมันรับเด็กชายมาเป็นบุตรบุญธรรม สถานะทางกฎหมายของเขาจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หนี้ใดๆจากชีวิตเก่าของเขาจะถูกยกเลิกและเขาจะได้รับสิทธิ์และสิทธิพิเศษทั้งหมดของครอบครัวใหม่ เปาโลต้องการให้ผู้เชื่อชาวโรมันเข้าใจว่าสถานะใหม่นี้มีผลกับพวกเขาด้วย พวกเขาไม่ต้องถูกผูกติดอยู่กับบาปและการลงโทษอีกต่อไป แต่บัดนี้พวกเขาดำเนินชีวิต “ตามพระวิญญาณ” (รม.8:4) และผู้ที่ได้รับการทรงนำโดยพระวิญญาณเหล่านี้ก็มีฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า (ข้อ 14-15) สถานะทางกฎหมายของพวกเขาเปลี่ยนไปเมื่อพวกเขากลายเป็นพลเมืองของสวรรค์
หากเราได้รับของประทานแห่งความรอด เราก็เป็นบุตรของพระเจ้า เป็นทายาทแห่งอาณาจักรของพระองค์ และเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสต์ หนี้ของเราถูกยกแล้วโดยของประทานแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู เราไม่ต้องตกอยู่ในความกลัวหรือการกล่าวโทษอีกต่อไป
สถิตในใจของเรา
บางครั้งคำพูดของเด็กอาจทำให้เราเข้าใจความจริงของพระเจ้าได้ลึกซึ้งขึ้น เย็นวันหนึ่งตอนที่ลูกสาวฉันยังเด็ก ฉันบอกเธอถึงความเร้นลับที่ยิ่งใหญ่ของความเชื่อคริสเตียนที่ว่า พระเจ้าสถิตอยู่ในบุตรของพระองค์โดยทางพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ ฉันบอกขณะที่พาเธอเข้านอนว่า พระเยซูสถิตอยู่กับเธอและในเธอ “พระองค์อยู่ในท้องหนูเหรอคะ” เธอถาม “อืม หนูยังไม่ได้กลืนพระองค์ลงไป แต่พระองค์อยู่กับหนูที่นั่น” ฉันตอบ
การตีความตามตัวอักษรของลูกสาวฉันที่ว่าพระเยซูอยู่ “ในท้องหนู” ทำให้ฉันหยุดคิดใคร่ครวญว่า เมื่อฉันทูลขอให้พระเยซูเข้ามาเป็นพระผู้ช่วยให้รอดนั้น พระองค์จะเสด็จมาประทับภายในฉันอย่างไร
อัครทูตเปาโลพูดถึงความเร้นลับนี้เมื่อท่านทูลขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานความเข้มแข็งให้กับผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัส เพื่อพระคริสต์จะ “สถิตในใจของท่านทางความเชื่อ” (อฟ.3:17) เมื่อมีพระเยซูอยู่ภายใน พวกเขาจะเข้าใจว่าพระองค์ทรงรักพวกเขามากเพียงใด และโดยความรักนี้ พวกเขาจะเติบโตในความเชื่อและรักผู้อื่นด้วยความถ่อมและอ่อนสุภาพขณะที่พูดความจริงด้วยความรัก (4:2, 25)
การที่พระเยซูสถิตอยู่ในผู้ติดตามพระองค์หมายความว่า ความรักของพระองค์จะไม่มีวันพรากไปจากผู้ที่ต้อนรับพระองค์เข้ามาในชีวิต ความรักของพระองค์ที่เกินความรู้ (3:19) ทำให้เราหยั่งรากอยู่ในพระองค์และช่วยให้เราเข้าใจว่าพระองค์ทรงรักเรามากเพียงใด
ถ้อยคำที่เขียนไว้สำหรับเด็กๆพูดได้ดีที่สุดคือ “ใช่ พระเยซูรักฉัน!”
ให้ความเมตตา
เมื่อย้อนคิดถึงการที่เธอให้อภัยมนัสเสห์ ชายผู้ฆ่าสามีและลูกของเธอในเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เบียทากล่าวว่า “การยกโทษของฉันอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่พระเยซูทรงทำ พระองค์ทรงรับโทษอันเนื่องจากการชั่วทุกอย่างในตลอดนิรันดร์กาล ไม้กางเขนของพระองค์คือที่เพียงแห่งเดียวที่เราจะได้พบกับชัยชนะ!” มนัสเสห์เขียนจดหมายถึงเบียทามากกว่าหนึ่งครั้งจากในเรือนจำ เขาบรรยายถึงฝันร้ายที่ตามรังควานเขาและร้องขอการยกโทษจากเธอและพระเจ้า ตอนแรกเธอไม่สามารถให้ความเมตตาต่อเขาได้ โดยบอกว่าเธอเกลียดที่เขาฆ่าครอบครัวของเธอ แต่แล้ว “พระเยซูทรงทำงานในความคิดของเธอ” และด้วยการทรงช่วยเหลือของพระเจ้า เธอยกโทษให้เขาได้ในเวลาสองปีต่อมา
ในการทำเช่นนี้เบียทาทำตามสิ่งที่พระเยซูสอนสาวกของพระองค์ให้ยกโทษแก่ผู้ที่กลับใจ พระองค์ตรัสว่าแม้พวกเขา “ผิดต่อท่านวันหนึ่งเจ็ดหนและจะกลับมาหาท่านทั้งเจ็ดหนนั้นแล้วว่า ‘ฉันกลับใจแล้ว’ จงยกโทษให้เขาเถิด” (ลก.17:4) แต่การยกโทษก็อาจเป็นเรื่องยากมาก ดูจากที่สาวกพูดว่า “โปรดให้ความเชื่อของพวกข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น” (ข้อ 5)
ความเชื่อของเบียทาเพิ่มขึ้นขณะเธอปล้ำสู้ในการอธิษฐานถึงการที่เธอไม่สามารถยกโทษได้ หากเรากำลังต่อสู้ในเรื่องการยกโทษเหมือนกับเธอ เราสามารถทูลขอพระเจ้าผ่านองค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทรงช่วยเรา เมื่อความเชื่อของเราเพิ่มพูนขึ้น พระองค์จะทรงช่วยเราให้ยกโทษได้
ต้อนรับพระราชวงศ์
หลังจากได้เข้าเฝ้าพระราชินีของประเทศอังกฤษในงานเลี้ยงที่ประเทศสก็อตแลนด์ ซิลเวียและสามีของเธอได้รับข้อความว่าเหล่าเชื้อพระวงศ์ต้องการมาเยี่ยมและร่วมดื่มน้ำชากับพวกเขา ซิลเวียเริ่มทำความสะอาดและตระเตรียมด้วยความกังวลที่จะต้องต้อนรับแขกที่เป็นพระราชวงศ์ ก่อนจะถึงเวลา เธอออกไปเก็บดอกไม้เพื่อประดับโต๊ะด้วยหัวใจที่เต้นระรัว แล้วเธอก็สัมผัสถึงการเตือนของพระเจ้าว่าพระองค์ทรงเป็นจอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และพระองค์ทรงอยู่กับเธอทุกวัน ในทันใดนั้นเธอรู้สึกมีสันติสุขและคิดได้ว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว พระองค์ก็ทรงเป็นเพียงแค่พระราชินี!”
ซิลเวียคิดถูกแล้ว เหมือนที่เปาโลบอกว่าพระเจ้าทรงเป็น “พระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวง และพระผู้เป็นเจ้าเหนือเทพเจ้าทั้งปวง” (1 ทธ.6:15) และผู้ที่ติดตามพระองค์เป็น “บุตรของพระเจ้า” (กท.3:26) เมื่อเราเป็นของพระคริสต์ เราก็เป็นทายาทของอับราฮัม (ข้อ 29) เราจึงไม่ถูกแบ่งแยกอีกต่อไปไม่ว่าจะโดยเชื้อชาติ สถานภาพทางสังคม หรือเพศ เพราะเราทุกคนเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกันโดยพระเยซูคริสต์” (ข้อ 28) เราเป็นลูกขององค์จอมกษัตริย์
แม้ซิลเวียกับสามีจะมีมื้ออาหารที่ยอดเยี่ยมกับพระราชินี แต่ฉันไม่คาดหวังที่จะได้รับคำเชิญจากพระองค์ในเร็วๆนี้ ฉันรักคำเตือนที่ว่าองค์จอมกษัตริย์ผู้สูงสุดทรงสถิตอยู่กับฉันทุกเวลา และผู้ที่เชื่อในพระเยซูด้วยสุดจิตสุดใจ (ข้อ 27) สามารถอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยรู้ว่าพวกเขาเป็นบุตรของพระเจ้า
การยึดมั่นในความจริงนี้ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของเราทุกวันนี้เป็นไปอย่างไร
หวานกว่าน้ำผึ้ง
ในวันชิคาโกในเดือนตุลาคมปี 1893 โรงละครประจำเมืองปิดทำการเพราะเจ้าของคาดว่าทุกคนคงจะไปร่วมงานชิคาโกเวิลด์แฟร์หรืองานนิทรรศการโลก มีคนกว่าเจ็ดแสนไปร่วมงานนี้ แต่ดไวท์ มูดี้ (1837-1899) ต้องการจุคนให้เต็มห้องแสดงดนตรีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของเมืองเพื่อทำการเทศนาและสั่งสอน เพื่อนของเขาอาร์.เอ.เทอรี่ (1856-1928) ไม่เชื่อว่ามูดี้จะดึงดูดผู้คนมาได้ในวันเดียวกับงานนิทรรศการ แต่โดยพระคุณของพระเจ้าเขาทำได้ ซึ่งต่อมาเทอรี่ได้ให้ข้อสรุปไว้ว่าฝูงชนมาเพราะมูดี้รู้จัก “หนังสือที่โลกนี้อยากรู้จักมากที่สุดซึ่งก็คือพระคัมภีร์” เทอรี่ปรารถนาให้ผู้อื่นรักพระคัมภีร์เหมือนกับมูดี้ และอ่านพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอด้วยความทุ่มเทและความรัก
พระเจ้าโดยทางองค์พระวิญญาณได้ทรงนำผู้คนให้กลับมาหาพระองค์ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าในชิคาโก และพระองค์ยังคงตรัสอยู่ในทุกวันนี้ เราสามารถสะท้อนถึงความรักของผู้เขียนสดุดีที่มีต่อพระเจ้าและพระคำของ พระองค์เหมือนที่ท่านป่าวร้องว่า “พระดำรัสของพระองค์นั้นข้าพระองค์ชิมแล้วหวานจริงๆ หวานกว่าน้ำผึ้งเมื่อถึงปากข้าพระองค์” (สดด.119:103) สำหรับผู้เขียนสดุดีแล้ว ข่าวสารแห่งพระคุณและความจริงของพระเจ้าเปรียบเสมือนแสงส่องทางและโคมที่ส่องเท้าของท่าน (ข้อ 105)
คุณจะรักพระผู้ช่วยให้รอดและข่าวสารของพระองค์มากขึ้นได้อย่างไร เมื่อเราดื่มด่ำในพระวจนะ พระเจ้าจะทรงเพิ่มพูนการอุทิศตัวของเราต่อพระองค์และจะทรงชี้นำเรา โดยเป็นแสงที่ส่องสว่างไปตลอดทางที่เราเดิน
ใหม่ทุกเช้า
พอลพี่ชายของฉันเติบโตมาโดยต้องต่อสู้กับโรคลมชักที่รุนแรง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาการของโรคหนักขึ้น กลางคืนกลายเป็นเวลาที่ระทมทุกข์สำหรับพอลและพ่อแม่ของฉัน เพราะเขามักเกิดอาการชักอย่างต่อเนื่องนานกว่าหกชั่วโมงอยู่บ่อยๆ หมอไม่สามารถหาวิธีรักษาที่จะบรรเทาอาการลง และในเวลาเดียวกันช่วยให้เขารู้สึกตัวอย่างน้อยบางเวลาในระหว่างวันได้ พ่อแม่ของฉันร้องทูลพระเจ้าว่า “พระเจ้า โอ้ พระเจ้า โปรดช่วยเรา!”
แม้อารมณ์ของพวกเขาจะถูกกระหน่ำและร่างกายจะอ่อนล้า พอลและพ่อแม่ได้รับกำลังอย่างเพียงพอจากพระเจ้าในทุกๆวันใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นพ่อกับแม่ยังได้รับการปลอบประโลมจากพระคัมภีร์ รวมถึงพระธรรมบทเพลงคร่ำครวญ เยเรมีย์ร้องคร่ำครวญถึงกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกชาวบาบิโลนทำลาย และระลึกได้ถึง “บอระเพ็ดและดีหมี” (3:19) แต่เยเรมีย์ยังไม่สิ้นหวัง ท่านจำได้ถึงพระเมตตาที่ไม่สิ้นสุดของพระเจ้าซึ่งเป็น “ของใหม่อยู่ทุกเวลาเช้า” (ข้อ 23) พ่อแม่ของฉันก็เช่นกัน
ไม่ว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหาใด จงรู้ว่าพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อในทุกๆเช้า พระองค์จะทรงเสริมแรงเราใหม่ทุกวันและประทานความหวังแก่เรา และในบางครั้ง พระองค์ทรงนำการปลดปล่อยมาให้เช่นเดียวกับครอบครัวเรา หลังจากหลายปีผ่านไป มียาตัวใหม่ที่ดีขึ้นซึ่งช่วยหยุดอาการลมชักในเวลากลางคืนของพอลได้ และช่วยให้ครอบครัวเรานอนหลับและมีความหวังสำหรับอนาคต
เมื่อความหดหู่ครอบงำวิญญาณของเรา (ข้อ 20) ขอให้ระลึกถึงพระสัญญาของพระเจ้าว่า พระเมตตาของพระองค์เป็นของใหม่อยู่ทุกเวลาเช้า
เราไม่ได้เป็นพระเจ้า
ในหนังสือ แก่นแท้แห่งคริสต์ศาสนา ซี. เอส. ลูอิสได้แนะนำให้เราถามตัวเองเพื่อตรวจสอบว่าเราหยิ่งผยองหรือไม่ “ฉันรู้สึกไม่พอใจมากแค่ไหนเมื่อคนอื่นดูแคลนหรือทำเป็นไม่เห็นฉัน...ดูถูกฉันหรือโอ้อวดตัวเอง” ลูอิสเห็นว่าความเย่อหยิ่งเป็น “ความชั่วร้ายที่ร้ายแรงที่สุด” และเป็นสาเหตุหลักของความทุกข์ยากในบ้านและประเทศชาติ เขาเรียกมันว่า “มะเร็งฝ่ายจิตวิญญาณ” ที่กัดกินความรัก ความพึงพอใจ และแม้แต่สามัญสำนึก
ความหยิ่งผยองเป็นปัญหามาตลอดทุกยุคสมัย พระเจ้าทรงตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลเพื่อเตือนผู้นำของเมืองไทระที่อยู่ชายฝั่งทะเลถึงความหยิ่งผยองของท่าน พระองค์ตรัสว่าความหยิ่งของกษัตริย์จะทำให้ท่านตกต่ำ “เพราะเจ้าถือตัวเจ้าว่า...ฉลาดอย่างพระเจ้า เพราะฉะนั้น ดูเถิดเราจะนำคนต่างด้าวมาสู้เจ้า” (อสค.28:6-7) เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่าท่านไม่ได้เป็นพระเจ้า แต่เป็นเพียงมนุษย์ (ข้อ 9)
ตรงข้ามกับความหยิ่งผยองคือความถ่อมใจ ซึ่งลูอิสเรียกว่าคุณธรรมที่เราได้รับผ่านการรู้จักพระเจ้า ลูอิสกล่าวว่าเมื่อเรามีความสัมพันธ์กับพระองค์ เรากลายเป็น “ผู้ถ่อมใจอย่างมีความสุข” เราจะรู้สึกได้รับการปลดปล่อยจากเรื่อง หยุมหยิมไร้สาระเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของตัวเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ทำให้เรากระวนกระวายและไม่มีความสุข
ยิ่งเรานมัสการพระเจ้ามากเท่าใด เราจะรู้จักพระองค์และถ่อมใจลงต่อพระพักตร์พระองค์ได้มากขึ้นเท่านั้น ขอให้เราเป็นผู้ที่รักและรับใช้พระเจ้าด้วยความชื่นชมยินดีและถ่อมใจ
มอบทุกสิ่ง
ชายสองคนเป็นที่จดจำในการรับใช้ผู้อื่นเพื่อพระเยซู โดยได้ทิ้งอาชีพในด้านศิลปะเพื่อถวายตัวไปยังที่ซึ่งพระเจ้าทรงเรียก เจมส์ โอ. เฟรเซอร์ (ค.ศ.1886-1938) ตัดสินใจยุติการเป็นนักเปียโนในอังกฤษเพื่อรับใช้ชาวลีซูในจีน ส่วนจัดสัน ฟาน เดอเวนเตอร์ชาวอเมริกัน (ค.ศ.1855-1939) เลือกเป็นผู้ประกาศแทนอาชีพด้านศิลปะ ต่อมาเขาแต่งเพลงนมัสการ “ข้ามอบทุกสิ่งแด่พระเยซู”
ขณะที่สายอาชีพศิลปะเป็นงานในฝันของหลายคน แต่คนเหล่านี้เชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกให้พวกเขาทิ้งอาชีพหนึ่งเพื่อทำสิ่งอื่น พวกเขาอาจได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่พระเยซูแนะนำเศรษฐีหนุ่มให้สละสิ่งที่มีเพื่อติดตามพระองค์ (มก.10:17-25) เปโตรซึ่งเห็นเหตุการณ์นั้นทูลว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สละสิ่งสารพัด และได้ติดตามพระองค์มา” (ข้อ 28) พระเยซูยืนยันกับท่านว่าพระเจ้าจะประทานชีวิตนิรันดร์แก่ผู้ที่ติดตามพระองค์ และ “ในยุคนี้ ผู้นั้นจะได้รับตอบแทนร้อยเท่า” และได้ชีวิตนิรันดร์ (ข้อ 30) แต่พระองค์จะทรงจัดสรรตามพระปัญญา “หลายคนที่เป็นคนต้นจะต้องกลับไปเป็นคนสุดท้าย และที่เป็นคนสุดท้ายจะกลับเป็นคนต้น” (ข้อ 31)
ไม่ว่าพระเจ้าทรงวางเราไว้ที่ใด เราถูกเรียกให้ถวายชีวิตทุกวันแด่พระคริสต์ เชื่อฟังเสียงเรียกอันอ่อนสุภาพให้ติดตามและรับใช้ด้วยความสามารถและทรัพยากรที่มี ไม่ว่าที่บ้าน ที่ทำงาน ชุมชน หรือไกลบ้าน เมื่อเราทำตาม พระองค์จะช่วยให้เรารักผู้อื่น โดยให้ความต้องการของพวกเขาอยู่เหนือความต้องการของเรา
ขั้นตอนสู่ความสุกงอม
ในช่วงต้นของการรับใช้นานห้าสิบปีที่เคมบริดจ์ประเทศอังกฤษ ชาลส์ซีเมียน (ค.ศ. 1759-1836) ได้พบกับเพื่อนบ้านที่เป็นศิษยาภิบาล เฮนรี่ เวนน์และลูกสาว หลังการเยี่ยมเยียนครั้งนั้น พวกลูกๆปรารภว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่ดูหยาบกระด้างและยึดมั่นในตนเอง เวนน์ตอบสนองโดยบอกให้ลูกๆเก็บลูกพีชมาจากต้น ขณะที่ทุกคนกำลังสงสัยว่าพ่อจะเก็บผลไม้ที่ยังไม่สุกมาทำไม พ่อพูดว่า“ลูกรัก ผลไม้นี้ยังดิบอยู่และเราต้องรอ แต่ถ้าได้แสงแดดอีกเล็กน้อยและฝนอีกสักหน่อย ลูกพีชก็จะสุกและหวาน คุณซีเมียนก็เช่นกัน”
หลายปีผ่านไปซีเมียนได้รับการเปลี่ยนแปลงให้อ่อนโยนขึ้นโดยพระคุณของพระเจ้า สาเหตุหนึ่งคือเขามุ่งมั่นในการอ่านพระคำและอธิษฐานทุกวัน เพื่อนที่พักอยู่กับเขาหลายเดือนเป็นพยานถึงการปฏิบัตินี้และกล่าวว่า “นี่คือเคล็ดลับของพระคุณและกำลังฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของเขา”
ในการใช้เวลากับพระเจ้าทุกวันนั้นซีเมียนปฏิบัติตามผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ผู้สัตย์ซื่อและเชื่อฟังพระคำของพระเจ้า เยเรมีย์พึ่งพิงในการฝึกฝนนี้และกล่าวว่า “เมื่อพบพระวจนะของพระองค์แล้วข้าพระองค์ก็กินเสีย” ท่านใคร่ครวญพระคำพระเจ้าซึ่งเป็น “ความชื่นบาน” และ “ความปีติยินดีแห่งจิตใจ” ของท่าน (ยรม.15:16)
ถ้าเรายังเป็นผลไม้ที่ดิบอยู่ เราสามารถวางใจในพระเจ้าว่าพระองค์จะทรงทำให้เราอ่อนโยนขึ้นโดยพระวิญญาณเมื่อเรารู้จักพระองค์ผ่านการอ่านและการเชื่อฟังพระคำ