ผู้เลี้ยงแกะที่ดี
เมื่อศิษยาภิบาลวอร์เรนได้ยินว่าชายคนหนึ่งในโบสถ์ของเขาละทิ้งภรรยาและครอบครัวไป เขาทูลขอให้พระเจ้าช่วยให้เขาได้พบกับชายคนนั้นโดยบังเอิญเพื่อจะมีโอกาสพูดคุยกัน แล้วเขาก็ได้พบจริงๆ! ขณะที่วอร์เรนเดินเข้าไปในร้านอาหาร เขามองเห็นชายคนนี้ที่โต๊ะใกล้ๆ “มีที่ว่างสำหรับคนหิวอีกคนหนึ่งไหม” เขาถาม จากนั้นพวกเขาได้พูดคุยกันอย่างลึกซึ้งและอธิษฐานด้วยกัน
ในฐานะศิษยาภิบาล วอร์เรนกำลังทำหน้าที่เหมือนผู้เลี้ยงแกะให้คนในโบสถ์ของเขา ดังที่พระเจ้าเองตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลว่าพระองค์จะทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะตามหาแกะของพระองค์ที่กระจัดกระจายไป ช่วยชีวิตและรวบรวมแกะเหล่านั้นไว้ (อสค.34:12-13) พระองค์จะ “เลี้ยงเขาในลานหญ้าอย่างดี” และ “จะเที่ยวหาแกะที่หายและเราจะนำแกะที่หลงกลับมา” พระองค์จะทรง “พันผ้าให้แกะที่กระดูกหักและเราจะเสริมกำลังแกะที่อ่อนเพลีย” (ข้อ14-16) ความรักของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ได้สะท้อนผ่านภาพเหล่านี้ แม้ถ้อยคำของเอเสเคียลจะพยากรณ์ถึงสิ่งที่พระเจ้าจะกระทำในอนาคต แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจที่ไม่เปลี่ยนแปลงนิรันดร์ของพระเจ้าและพระผู้เลี้ยงที่วันหนึ่งจะสำแดงพระองค์ผ่านพระเยซู
ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นอย่างไร พระเจ้าทรงยื่นพระหัตถ์มาหาเราทุกคน ทรงตามหาเพื่อจะช่วยกู้และปกป้องเราไว้ในลานหญ้าอันอุดมสมบูรณ์ พระองค์ทรงรอคอยที่เราจะติดตามผู้เลี้ยงที่ดี ผู้ทรงสละชีวิตเพื่อแกะของพระองค์ (ดู ยน.10:14-15)
ออกจากถ้ำสิงโต
เมื่อทาเฮอร์และดอนย่าภรรยามาเชื่อในพระเยซู พวกเขารู้ว่าต้องเสี่ยงกับการถูกข่มเหงในประเทศบ้านเกิดของตน และก็เป็นเช่นนั้นจริงเมื่อวันหนึ่งทาเฮอร์ถูกปิดตาสวมกุญแจมือ ถูกขังและถูกตั้งข้อหาว่าละทิ้งศาสนา ก่อนที่เขาจะเข้าสู่การพิจารณา เขาและดอนย่าตกลงกันว่าจะไม่ทรยศพระเยซู
สิ่งที่เกิดขึ้นในการพิจารณาคดีทำให้เขาอัศจรรย์ใจ ผู้พิพากษากล่าวว่า “ผมไม่รู้ว่าทำไม แต่ผมอยากจะช่วยคุณให้รอดจากปากของวาฬและสิงโต” ทาเฮอร์จึง “รู้ว่าพระเจ้าทรงกำลังทำงาน” เขาไม่อาจอธิบายเป็นอื่นได้เลยที่ผู้พิพากษาอ้างอิงถึงเรื่องราวสองตอนจากพระคัมภีร์ (ดู ยนา.2 และ ดนล.6) ทาเฮอร์ถูกปล่อยออกจากคุกและครอบครัวของเขาลี้ภัยไปที่อื่น
การปล่อยตัวทาเฮอร์อย่างน่าประหลาดใจนั้นสะท้อนเรื่องราวของดาเนียล อภิรัฐมนตรีผู้มีความสามารถกำลังจะได้รับการเลื่อนขั้น ทำให้เพื่อนร่วมงานอิจฉา (ดนล.6:3-5) พวกเขาวางแผนทำลายดาเนียลโดยการโน้มน้าวพระราชาดาริอัส ให้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้อธิษฐานทูลขอต่อผู้ใดนอกจากพระราชา แต่ดาเนียลไม่สนใจ พระราชาดาริอัสไม่มีทางเลือกนอกจากโยนเขาลงไปในถ้ำสิงโต (ข้อ 16) แต่พระเจ้า “ทรงช่วยกู้” และช่วยดาเนียลให้รอดจากความตาย (ข้อ 27) เช่นเดียวกับที่ทรงช่วยทาเฮอร์ด้วยการให้ผู้พิพากษาปล่อยเขาอย่างน่าอัศจรรย์
วันนี้มีผู้เชื่อมากมายทนทุกข์จากการติดตามพระเยซู บางคนก็ถึงกับถูกฆ่า เมื่อเราเผชิญกับการข่มเหง ความเชื่อของเราจะหยั่งรากลึกยิ่งขึ้นได้เมื่อเราเข้าใจว่าพระเจ้าทรงมีวิธีการที่เราไม่อาจจินตนาการได้ จงรู้เถิดว่าพระองค์ทรงอยู่กับคุณในการต่อสู้ใดๆที่คุณเผชิญอยู่
เพื่อนกันจนวันตาย
วิลเลี่ยม คาวเปอร์ (ค.ศ.1731-1800) กวีชาวอังกฤษได้กลายเป็นเพื่อนกับศิษยาภิบาลของเขาคือจอห์น นิวตัน (ค.ศ.1725-1807) อดีตนักค้าทาส ตอนนั้นคาวเปอร์ทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล เขาพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าหนึ่งครั้ง เมื่อนิวตันมาเยี่ยม พวกเขาจะออกไปเดินเล่นด้วยกันเป็นเวลานานและคุยกันเรื่องพระเจ้า นิวตันมีความคิดที่จะรวบรวมบทเพลงสรรเสริญ ด้วยคิดว่าคาวเปอร์จะได้ประโยชน์จากการได้ใช้ความสามารถที่มีและเป็นเหตุผลในการที่เขาจะได้เขียนบทกวี คาวเปอร์ได้มีส่วนร่วมในหลายๆบทเพลงรวมถึงเพลง “พระเจ้าทรงเคลื่อนไหวอย่างล้ำลึก” เมื่อนิวตันย้ายไปอีกคริสตจักรหนึ่ง ท่านและคาวเปอร์ยังคงเป็นเพื่อนสนิทและติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอในตลอดช่วงชีวิตที่เหลือของคาวเปอร์
ฉันเห็นความคล้ายคลึงกันในมิตรภาพของคาวเปอร์กับนิวตันและดาวิดกับโยนาธานในพระคัมภีร์เดิม หลังจากที่ดาวิดเอาชนะโกลิอัทแล้ว “จิตใจของโยนาธานก็ผูกสมัครรักใคร่กับจิตใจของดาวิด” ท่านรักดาวิดเหมือนรักตนเอง (1 ซมอ.18:1) แม้โยนาธานเป็นโอรสของกษัตริย์ซาอูล แต่ท่านปกป้องดาวิดจากความอิจฉาและความโกรธของกษัตริย์ และถามบิดาว่าเพราะเหตุใดดาวิดจึงจะต้องถูกประหาร คำตอบที่ได้คือ “ซาอูลได้ทรงพุ่งหอกใส่ท่านเพื่อจะฆ่าท่าน” (20:33) โยนาธานหลบหอกนั้นและเศร้าใจที่บิดาหยามน้ำหน้าเพื่อนของท่าน (ข้อ 34)
สำหรับเพื่อนทั้งสองคู่นี้ ความผูกพันของพวกเขาเสริมสร้างชีวิตกันและกันให้เข้มแข็งขณะที่พวกเขาหนุนใจกันให้รับใช้และรักพระเจ้า ในวันนี้คุณจะหนุนใจเพื่อนสักคนในแบบเดียวกันนี้ได้อย่างไร
ความหวังและความปรารถนา
เมื่อฉันย้ายไปอยู่ประเทศอังกฤษ เทศกาลขอบคุณพระเจ้าของอเมริกาได้กลายเป็นเพียงวันพฤหัสบดีวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายนที่นั่น แม้ว่าฉันจัดงานเลี้ยงในวันหยุดสุดสัปดาห์หลังจากนั้น แต่ฉันก็ยังปรารถนาที่จะได้อยู่กับครอบครัวและเพื่อนๆในวันสำคัญนี้ ฉันเข้าใจว่าความปรารถนาของฉันไม่ได้เกิดขึ้นกับฉันคนเดียว เราทุกคนปรารถนาที่จะอยู่กับคนที่เรารักในโอกาสพิเศษและเทศกาลสำคัญ และเมื่อเราเลี้ยงฉลองเราอาจคิดถึงคนที่ไม่ได้อยู่กับเรา หรือเราอาจอธิษฐานเผื่อครอบครัวที่แตกแยกของเราให้มีสันติสุข
ในช่วงเวลาเหล่านี้ สิ่งที่ช่วยฉันได้คือการอธิษฐานและใคร่ครวญถึงสติปัญญาจากพระคัมภีร์รวมถึงพระธรรมสุภาษิตของกษัตริย์ซาโลมอนตอนหนึ่งที่ว่า “ความหวังที่ถูกหน่วงไว้ทำให้ใจเจ็บช้ำ แต่ความปรารถนาที่สำเร็จแล้วเป็นต้นไม้แห่งชีวิต” (สภษ.13:12) ในพระธรรมข้อนี้ กษัตริย์ซาโลมอนได้แบ่งปันสติปัญญาผ่านประโยคที่มีสาระสำคัญ ทรงให้ข้อสังเกตถึงผลกระทบของ “ความหวังที่ถูกหน่วงไว้” ว่าความปรารถนาที่ต้องรอคอยก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์และความเจ็บช้ำ แต่เมื่อความปรารถนาได้รับการเติมเต็ม ก็เปรียบเหมือนกับต้นไม้แห่งชีวิต คือที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่นและได้รับการฟื้นฟู
ความหวังและความปรารถนาบางเรื่องของเราอาจไม่สามารถสำเร็จได้ทันที และบางเรื่องอาจสำเร็จได้โดยพระเจ้าเท่านั้นหลังจากที่เราเสียชีวิตลง ไม่ว่าเราจะปรารถนาสิ่งใด เราวางใจในพระองค์ได้โดยรู้ว่าพระองค์ทรงรักเราอย่างไม่สิ้นสุด และวันหนึ่งเราจะได้อยู่ร่วมกับคนที่เรารักอีกครั้งเมื่อเราร่วมฉลองกับพระองค์และขอบพระคุณพระองค์ (ดู วว.19:6-9)
รักเพื่อนบ้านของเรา
ในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างและล็อกดาวน์ระหว่างการระบาดของไวรัสโคโรนา ถ้อยคำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ใน “จดหมายจากเรือนจำเบอร์มิง-แฮม” สะท้อนความจริงอย่างชัดเจน เมื่อพูดถึงความอยุติธรรม เขาสังเกตว่าตนไม่อาจนั่งเฉยในเมืองหนึ่งโดยไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในอีกเมือง “เราเชื่อมโยงอยู่ในเครือข่ายเดียวกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง” เขากล่าว “ผูกติดอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน สิ่งใดก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อเมืองหนึ่งโดยตรง ก็จะส่งผลกับทุกเมืองในทางอ้อมด้วย”
ในทำนองเดียวกัน การระบาดของโควิด 19 ได้ตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงของเรา ขณะที่เมืองและประเทศต่างๆทั่วโลกปิดลงเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัส สิ่งที่กระทบเมืองหนึ่งในไม่ช้าก็จะกระทบเมืองอื่นๆด้วย
หลายศตวรรษมาแล้ว พระเจ้าทรงชี้แนะประชากรของพระองค์เรื่องการแสดงความห่วงใยต่อผู้อื่น พระองค์ประทานกฎเกณฑ์แก่ชนอิสราเอลผ่านโมเสสเพื่อนำและช่วยพวกเขาในการอาศัยอยู่ด้วยกัน พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “อย่าปองร้ายต่อชีวิตของเพื่อนบ้าน” (ลนต.19:16) และอย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทต่อผู้อื่น แต่ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (ข้อ 18) พระเจ้าทรงทราบว่าชุมชนจะเริ่มแตกแยกถ้าผู้คนไม่เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน โดยให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้อื่นเหมือนกับตนเอง
เราเองก็สามารถตอบรับพระปัญญาจากคำสอนของพระเจ้า ในขณะที่ดำเนินชีวิตประจำวันนั้น เราระลึกได้ว่าเราเชื่อมโยงกับผู้อื่นเมื่อเราทูลขอพระองค์ว่าจะรักและรับใช้พวกเขาให้ดีได้อย่างไร
เปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
คล็อดเติบโตมาในบ้านที่มีแต่ความวุ่นวายทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน เขาเริ่มขายกัญชาตอนอายุ 15 และเฮโรอีนเมื่ออายุ 25 ปี เขามาเป็นที่ปรึกษาให้กับคนหนุ่มสาวเพื่อต้องการปกปิดสิ่งที่เขาทำ ไม่นานเขาเกิดรู้สึกประทับใจในตัวผู้จัดการซึ่งเชื่อในพระเยซูและอยากรู้เรื่องพระองค์มากขึ้น หลังจากเข้าร่วมหลักสูตรสำรวจความเชื่อคริสเตียน เขา “ท้า” ให้พระคริสต์เข้ามาในชีวิต “ผมรู้สึกได้ถึงการทรงสถิตอันอบอุ่น” เขาเล่า “ผู้คนเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวผมทันที ผมเป็นพ่อค้ายาที่มีความสุขที่สุดในโลก!”
พระเยซูไม่ทรงหยุดเพียงแค่นั้น รุ่งขึ้นเมื่อคล็อดชั่งน้ำหนักถุงโคเคน เขาคิดว่า นี่มันบ้าไปแล้ว ผมกำลังวางยาพิษผู้คน! เขาตระหนักว่าเขาต้องหยุดค้ายาและหางานทำ ด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาปิดโทรศัพท์และไม่หวนกลับไปค้ายาอีกเลย
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้คือสิ่งที่อัครทูตเปาโลกล่าวเมื่อเขียนถึงคริสต-จักรเมืองเอเฟซัส ท่านเรียกร้องให้พวกเขาดำเนินชีวิตที่ไม่แยกจากพระเจ้า โดยหนุนใจให้ “ทิ้งตัวเก่า...ซึ่งคู่กับวิถีชีวิตเดิมนั้นเสีย อันจะเสื่อมเสียไปสู่ความตายตามตัณหาอันเป็นที่หลอกลวง” และ “สวมสภาพใหม่ ซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างของพระเจ้าในความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง” (อฟ.4:22, 24) คำกริยาที่เปาโลใช้หมายความว่าเราต้องสวมสภาพใหม่อยู่เสมอ
พระวิญญาณบริสุทธิ์ยินดีที่จะช่วยเราเหมือนที่ช่วยคล็อด เพื่อเราจะดำเนินชีวิตซึ่งสวมสภาพใหม่และเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น
พระคริสต์ผู้สถิตภายใน
นักเทศน์ชาวอังกฤษ เอฟ.บี.เมเยอร์ (ค.ศ.1847-1929) ใช้ตัวอย่างของไข่เพื่อแสดงสิ่งที่เขาเรียกว่า “ปรัชญาอันลึกซึ้งของพระคริสต์ผู้สถิตภายใน” เขาสังเกตว่าการที่ไข่แดงปฏิสนธิเป็น “เซลล์เริ่มต้นชีวิต” ขนาดเล็กที่เติบโตขึ้นวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งก่อตัวเป็นลูกเจี๊ยบในเปลือก ก็เป็นเหมือนการที่พระเยซูจะเสด็จมาอยู่กับเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ เพื่อเปลี่ยนแปลงเรา เมเยอร์กล่าวว่า “จากนี้ไปพระคริสต์จะทรงเติบโตและเพิ่มพูน และรวบรวมทุกสิ่งเข้าสู่พระองค์และก่อร่างขึ้นในตัวคุณ”
เขาขอโทษที่บอกความจริงเรื่องพระเยซูได้ไม่สมบูรณ์ โดยรู้ว่าคำพูดของตนไม่อาจถ่ายทอดความเป็นจริงอันอัศจรรย์ของพระคริสต์ผู้สถิตในผู้เชื่อโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างครบถ้วน แม้จะทำได้ไม่สมบูรณ์แต่เขาก็กระตุ้นผู้ฟังให้แบ่งปันกับผู้อื่น ถึงสิ่งที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อตรัสว่า “ในวันนั้นท่านทั้งหลายจะรู้ว่าเราอยู่ในพระบิดา และท่านอยู่ในเราและเราอยู่ในท่าน” (ยน.14:20) พระเยซูตรัสถ้อยคำเหล่านี้ในคืนที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับสหายของพระองค์ ทรงต้องการให้พวกเขารู้ว่าพระองค์และพระบิดาจะเสด็จมาและสถิตอยู่กับบรรดาผู้ที่เชื่อฟังพระองค์ (ข้อ 23) สิ่งนี้เป็นไปได้เพราะโดยทางพระวิญญาณนั้น พระเยซูทรงสถิตอยู่ในเหล่าผู้ที่เชื่อในพระองค์ ทรงเปลี่ยนแปลงพวกเขาจากภายในสู่ภายนอก
ไม่ว่าคุณจะนึกภาพไว้อย่างไร เราก็มีพระคริสต์สถิตอยู่ภายในเรา ทรงนำทางและช่วยให้เราเติบโตเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น
พลังแห่งชื่อ
รานจิตอยากรับรองการมีตัวตนของเด็กที่อาศัยอยู่ตามถนนในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เขาจึงแต่งเพลงตามชื่อของเด็กเหล่านั้น เขาแต่งทำนองที่มีเอกลักษณ์ให้แต่ละชื่อ แล้วสอนให้เด็กร้องโดยหวังให้พวกเขาได้มีความทรงจำดีๆเกี่ยวกับชื่อของตน สำหรับเด็กที่ไม่ค่อยจะได้ยินชื่อของตนเองถูกเรียกด้วยความรัก ถือว่ารานจิตได้มอบของขวัญแห่งการให้เกียรตินี้แก่พวกเขา
ในพระคัมภีร์ชื่อมีความสำคัญ โดยมักจะสะท้อนถึงลักษณะนิสัยหรือบทบาทใหม่ของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น พระเจ้าทรงเปลี่ยนชื่ออับรามและซารายเมื่อพระองค์ทรงทำพันธสัญญาแห่งความรักกับพวกเขา โดยสัญญาว่าพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าของพวกเขาและพวกเขาจะเป็นชนชาติของพระองค์ อับรามซึ่งแปลว่า “บิดาผู้เป็นที่ยกย่อง” เปลี่ยนเป็นอับราฮัมซึ่งแปลว่า “บิดาของชนชาติมากมาย” และซารายซึ่งหมายถึง “เจ้าหญิง” กลายเป็นซาราห์ที่แปลว่า “เจ้าหญิงของชนชาติมากมาย” (ดู ปฐก.17:5,15)
ชื่อใหม่ที่พระเจ้าตั้งให้หมายรวมถึงพระสัญญาอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาคุณที่ว่าพวกเขาจะไม่เป็นหมันอีกต่อไป และเมื่อซาราห์ให้กำเนิดบุตรชาย พวกเขาจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งและตั้งชื่อบุตรนั้นว่าอิสอัค ซึ่งหมายความว่า “เขาหัวเราะ” เพราะ “ซาราห์กล่าวว่า ‘พระเจ้าทรงกระทำให้ข้าพเจ้าหัวเราะ ทุกคนที่ได้ฟังจะพลอยหัวเราะด้วย’” (ปฐก.21:6)
เราแสดงถึงการเคารพและให้เกียรติผู้อื่นเมื่อเราเรียกชื่อของเขา และเป็นการยืนยันว่าพวกเขาเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น ชื่อเล่นที่เรียกด้วยความรักซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ผู้นั้นได้ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน
ที่ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่ง
ในช่วงท้ายของงานเลี้ยงในเทศกาลปัสกา ซึ่งเป็นวันหยุดตามประเพณียิวเพื่อฉลองและระลึกถึงความยิ่งใหญ่แห่งการช่วยกู้ของพระเจ้า สมาชิกคริสตจักรแสดงความยินดีโดยร่วมเต้นรำเป็นวงกลม แบร์รี่ยืนยิ้มกว้างมองอยู่ด้านหลัง เขาให้ความเห็นว่าเขารักช่วงเวลาเช่นนี้เพียงใดโดยกล่าวว่า “นี่คือครอบครัวของผมในเวลานี้ นี่คือชุมชนของผม ผมได้พบที่ซึ่งผมรู้ว่าจะรักและเป็นที่รักได้.. ที่ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่ง”
ในวัยเด็กแบร์รี่ทนทุกข์กับการถูกทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างโหดร้าย มันขโมยความชื่นชมยินดีไปจากเขา แต่คริสตจักรท้องถิ่นได้ต้อนรับและแนะนำเขาให้รู้จักพระเยซู เมื่อได้รับอิทธิพลจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความยินดีของพวกเขา แบร์รี่จึงเริ่มติดตามพระคริสต์และรู้สึกว่าได้รับความรักและเป็นที่ยอมรับ
ในสดุดี 133 กษัตริย์ดาวิดใช้ภาพที่เปี่ยมด้วยพลังเพื่อแสดงถึงอิทธิพลของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในคนของพระเจ้าที่แพร่ออกไปซึ่ง “เป็นการดีและน่าชื่นใจ” พระองค์ตรัสว่าเหมือนกับคนที่ถูกเจิมด้วยน้ำมันประเสริฐไหลอาบลงมาบนคอเสื้อของพวกเขา (ข้อ 2) การเจิมเป็นเรื่องปกติในโลกยุคโบราณ บางครั้งใช้เพื่อต้อนรับเมื่อมีคนมาบ้าน ดาวิดยังเปรียบความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้กับน้ำค้างที่ตกลงบนเทือกเขาอันนำมาซึ่งชีวิตและพระพร (ข้อ 3)
น้ำมันส่งกลิ่นหอมไปทั่วห้องและน้ำค้างนำความชุ่มชื้นมาสู่ที่แห้งแล้ง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็ส่งผลอันเป็นการดีและน่าชื่นใจเช่นกัน เช่นการให้การต้อนรับผู้โดดเดี่ยว ให้เราแสวงหาที่จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระคริสต์เพื่อพระเจ้าจะทรงนำให้เกิดสิ่งดีผ่านทางเรา