ทั้งครอบครัว
เจมส์ในชุดนักโทษลายทาง เดินข้ามห้องออกกำลังกายที่อบอ้าวแล้วปีนเข้าไปในสระน้ำสำเร็จรูปที่ซึ่งอนุศาสกประจำเรือนจำได้ให้บัพติศมาแก่เขา ความสุขของเจมส์เพิ่มทวีคูณเมื่อได้ยินว่า บริตทานีผู้เป็นลูกสาวและเป็นผู้ต้องขังเช่นกัน ได้รับบัพติศมาในวันเดียวกัน...ในน้ำเดียวกัน! เมื่อพวกเขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ต่างก็ซาบซึ้งใจ “ไม่มีตาคู่ใดที่ปราศจากน้ำตา” อนุศาสกกล่าว หลังจากเข้าออกคุกเป็นเวลาหลายปี บริตทานีกับพ่อของเธอต่างต้องการการยกโทษจากพระเจ้า และพระเจ้าประทานชีวิตใหม่ให้ทั้งคู่พร้อมกัน
พระคัมภีร์บรรยายถึงการเผชิญหน้าในคุกอีกแบบหนึ่ง ครั้งนี้เป็นเรื่องของนายคุกที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยความรักของพระเยซูทั้งครอบครัว หลังเกิด “แผ่นดินไหวใหญ่” ที่สะเทือนสะท้านคุกและ “ประตูคุกเปิดหมดทุกบาน” เปาโลกับสิลาสไม่ได้หนีแต่ยังคงอยู่ในคุก (กจ.16:26-28) นายคุกเต็มล้นด้วยความซาบซึ้งใจที่พวกเขาไม่หนีไปจึงพาพวกเขาไปที่บ้าน และในที่สุดได้ถามคำถามที่เปลี่ยนแปลงชีวิตว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำอย่างไรจึงจะรอดได้” (ข้อ 30)
“จงเชื่อและวางใจในพระเยซูเจ้า” พวกเขาตอบ “ทั้งครอบครัวของท่านด้วย” (ข้อ 31) คำตอบนี้เผยให้เห็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ต้องการเทพระเมตตาลงมา ไม่เพียงแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่ทั้งครอบครัวของเขาด้วย เมื่อได้พบกับความรักของพระเจ้า พวกเขาทุกคนทั้ง “ตัวเขา [นายคุก] และทุกคนในครอบครัว...ได้มาเชื่อพระเจ้า” (ข้อ 34 TNCV) แม้เรามักจะปรารถนาอย่างยิ่งให้คนที่เรารักได้รับความรอด แต่เราเชื่อวางใจได้ว่าพระเจ้าทรงรักพวกเขามากกว่าที่เรารัก พระองค์ทรงปรารถนาจะสร้างพวกเราทุกคนขึ้นใหม่ รวมทั้งครอบครัวของเราด้วย
ดูแลซึ่งกันและกัน
โฮเซ่เป็นครูสอนแทนวัย 77 ปีที่อาศัยอยู่ในรถเป็นเวลากว่าแปดปี ทุกคืนชายชราจะซุกตัวนอนในรถฟอร์ดทันเดอร์เบิร์ดแอลเอ็กซ์ปี 1997 ของเขา คอยตรวจสอบแบตเตอรี่รถยนต์อย่างระมัดระวังขณะที่ใช้จ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์เมื่อทำงานในช่วงค่ำ แทนที่จะแบ่งเงินเป็นค่าเช่าบ้าน โฮเซ่กลับส่งไปให้สมาชิกครอบครัวหลายคนในประเทศเม็กซิโกที่มีความจำเป็นมากกว่า ทุกเช้าศิษย์เก่าคนหนึ่งของเขาจะเห็นโฮเซ่คุ้ยหาของในกระโปรงหลังรถ “ผมแค่รู้สึกว่าต้องทำบางอย่างในเรื่องนี้” ชายคนนี้กล่าว เขาจึงเปิดระดมทุนและหลายอาทิตย์ต่อมาก็ได้มอบเช็คแก่โฮเซ่เพื่อช่วยเขาจ่ายค่าที่พัก
แม้พระคัมภีร์จะบอกอยู่บ่อยครั้งให้เราดูแลซึ่งกันและกัน แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะมองข้ามความกังวลของเราเอง ผู้เผยพระวจนะเศคาริยาห์ตำหนิชาวอิสราเอลที่แทนที่จะนมัสการพระเจ้าและรับใช้ผู้อื่น พวกเขากลับ “รับประทานเพื่อตัว[เขา]เอง” (ศคย.7:6) พวกเขาไม่สนใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเพิกเฉยต่อความต้องการของเพื่อนบ้าน เศคาริยาห์อธิบายพระบัญชาของพระเจ้าอย่างชัดเจนว่า พวกเขาต้อง “พิพากษาตามความจริง จงแสดงความกรุณาและความปรานีต่อพี่น้องของตน [และ] อย่าบีบบังคับหญิงม่าย ลูกกำพร้าพ่อ คนต่างด้าวหรือคนยากจน” (ข้อ 9-10)
แม้เป็นเรื่องง่ายที่เราจะหมกมุ่นอยู่กับความต้องการของตัวเอง แต่ความสัตย์ซื่อเรียกร้องให้เราใส่ใจต่อความต้องการของผู้อื่นด้วย ในคลังทรัพย์ของพระเจ้ามีมากเพียงพอสำหรับทุกคน และด้วยพระกรุณาของพระเจ้า พระองค์ทรงเลือกใช้เราเป็นผู้มอบบางส่วนจากคลังทรัพย์อันรุ่งเรืองนี้แก่ผู้อื่น
ไม่กำพร้าพ่ออีกต่อไป
กาย ไบรอันท์เป็นคนโสดและไม่มีลูก เขาทำงานในแผนกสวัสดิการเด็กของนครนิวยอร์ก ในแต่ละวันเขาพบว่ามีความต้องการพ่อแม่บุญธรรมสูงมาก เขาจึงตัดสินใจทำบางอย่าง เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ไบรอันท์อุปการะเด็กมากกว่า 50 คน เขาเคยดูแลเด็ก 9 คนในเวลาเดียวกัน ไบรอันท์อธิบายว่า “ทุกครั้งที่ผมหันไปมอง ผมจะเห็นเด็กที่ต้องการที่พัก ถ้าคุณมีที่ว่างในบ้านและในหัวใจของคุณ คุณจะรับเลี้ยงพวกเขาโดยไม่ต้องคิดอะไรเลย” เด็กในอุปการะที่โตขึ้นและออกไปใช้ชีวิตของตนเองจะยังมีกุญแจเข้าอพาร์ทเมนท์ของไบรอันท์ และมักจะกลับมาในวันอาทิตย์เพื่อมากินอาหารเที่ยงกับ “พ่อ” ไบรอันท์สำแดงความรักของพ่อให้แก่คนมากมาย
พระวจนะบอกเราว่าพระเจ้าทรงติดตามทุกคนที่ถูกลืมหรือถูกทอดทิ้ง ถึงแม้ผู้เชื่อบางคนจะพบว่าชีวิตของตนขาดแคลนและเปราะบาง แต่พระเจ้าสัญญาว่าจะอยู่กับพวกเขา พระเจ้ายังทรงเป็น “พระบิดาของคนกำพร้า” (สดด.68:5) หากเราอยู่ตัวคนเดียวไม่ว่าจะเป็นเพราะการถูกละเลยหรือโศกนาฏกรรม พระเจ้าทรงอยู่และเอื้อมพระหัตถ์มาหาเรา ดึงเราเข้าใกล้และประทานความหวังให้แก่เรา แท้จริงแล้ว “พระเจ้าทรงให้คนเปลี่ยวเปล่าอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน” (ข้อ 6) ในพระเยซู ผู้เชื่อคนอื่นๆคือครอบครัวฝ่ายวิญญาณของเรา
ไม่ว่าความท้าทายเกี่ยวกับครอบครัวของเราจะเป็นเรื่องใด การแยกอยู่ตัวคนเดียว การถูกทอดทิ้ง หรือความสัมพันธ์ที่ผิดปกติ เรารู้ได้ว่าเราเป็นที่รัก เมื่อมีพระเจ้าเราจะไม่กำพร้าพ่ออีกต่อไป
การเยียวยาสำหรับคนทั้งโลก
สถานพยาบาลลับ (โรงพยาบาลฟรานย่าพาร์ติซาน) ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาห่างไกลทางตะวันตกของสโลวีเนีย มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากคอยดูแลทหารบาดเจ็บหลายพันคนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกปิดซ่อนจากนาซีมาตลอด แม้จะเป็นเรื่องน่าจดจำที่สามารถหลบเลี่ยงการพยายามค้นหาของนาซีหลายครั้งได้สำเร็จ แต่ที่น่าจดจำกว่าคือการที่โรงพยาบาลแห่งนี้ (ซึ่งก่อตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มต่อต้านสโลวีเนีย) ดูแลทหารจากทั้งฝ่ายพันธมิตรและอักษะ โรงพยาบาลนี้ต้อนรับทุกคน
พระคัมภีร์เรียกให้เราช่วยคนทั้งโลกให้ได้รับการเยียวยาฝ่ายวิญญาณ นั่นหมายความว่าเราต้องมีเมตตาต่อทุกคนไม่ว่าเขาจะมีแนวคิดหรืออุดมการณ์เช่นไร ทุกคนสมควรได้รับความรักและความเมตตาจากพระคริสต์ เปาโลยืนยันว่าความรักที่พระเยซูทรงมีต่อเราทุกคน “ได้ครอบครองเราอยู่ เพราะเราคิดเห็นอย่างนี้ว่ามีผู้หนึ่งได้ตายเพื่อคนทั้งปวง” (2 คร.5:14) เราทุกคนล้วนทนทุกข์จากความเจ็บป่วยเนื่องจากบาป และจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากการอภัยของพระเยซู และพระองค์เสด็จมาหาเราเพื่อเยียวยาเราทุกคน
แล้วในกระบวนการอันน่าประหลาดใจนี้ พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราประกาศ “เรื่องการคืนดีกัน” (ข้อ 19) พระเจ้าทรงเชิญให้เรารักษาผู้คนที่บาดเจ็บและแตกสลาย (เช่นเดียวกับเรา) เรามีส่วนร่วมในงานแห่งการเยียวยารักษาในที่ซึ่งคนเจ็บป่วยจะกลับมาแข็งแรงอีกครั้งผ่านการคืนดีกับพระองค์ และการคืนดีหรือการเยียวยานี้เป็นของทุกคนที่ยอมรับมัน
บางสิ่งที่ลึกซึ้งและผูกพัน
อมินาผู้อพยพชาวอิรัก และโจเซฟชาวอเมริกันแต่กำเนิด ได้เข้าร่วมการประท้วงทางการเมืองโดยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน เราถูกสอนให้เชื่อว่า ผู้ที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติและการเมืองจะเป็นอริที่เกลียดชังกัน แต่เมื่อผู้ประท้วงกลุ่มเล็กๆเข้ามารุมโจเซฟและพยายามจุดไฟเผาเสื้อของเขา อมินารีบเข้าไปปกป้องเขา “ผมคิดว่าเราแตกต่างกันอย่างสุดขั้วแล้วในความเป็นมนุษย์” โจเซฟบอกนักข่าว “ถึงอย่างนั้น มันก็เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราเห็นว่า ‘มันไม่โอเค’” บางสิ่งที่อยู่ลึกกว่าแนวคิดทางการเมืองได้ถักทออมินาและโจเซฟเข้าด้วยกัน
แม้เรามักจะมีความเห็นที่ต่างกันกับคนอื่นๆ เป็นความแตกต่างในเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ แต่ก็ยังมีความเป็นจริงที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าซึ่งผูกพันเราไว้ด้วยกัน นั่นคือเราทุกคนถูกสร้างโดยพระเจ้าและทรงผูกพันเราไว้เป็นครอบครัวเดียวกันที่พระองค์ทรงรัก พระเจ้าทรงสร้างเราแต่ละคน “ตามพระฉายาของพระองค์” (ปฐก.1:27) โดยไม่คำนึงถึงเพศ สถานะทางสังคม ชาติพันธุ์ หรือแนวคิดทางการเมือง และไม่ว่าในเรื่องอื่นใดอีกที่เป็นจริงพระเจ้าก็ทรงเป็นภาพสะท้อนอยู่ทั้งในตัวคุณและผม ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ประทานวัตถุประสงค์ร่วมกันแก่เราเพื่อให้ “ทวีมากขึ้นจนเต็ม” และ “ครอบครอง” โลกของพระเจ้าด้วยสติปัญญาและความเอาใจใส่ (ข้อ 28)
เมื่อใดก็ตามที่เราลืมว่าเราผูกพันร่วมกันในพระเจ้า เราก็ทำความเสียหายให้แก่ตัวเองและผู้อื่น แต่เมื่อเราอยู่ร่วมกันในพระคุณและความจริงของพระองค์ เราก็มีส่วนในพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่และเจริญรุ่งเรือง
การต่อสู้อันดุเดือด
ในปี 1896 นักสำรวจชื่อคาร์ล เอคลีย์ พบว่าตัวเขากำลังถูกเสือดาวหนัก 36 กิโลกรัมไล่ล่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของเอธิโอเปีย เขาจำได้ว่าเสือดาวกระโจนใส่และพยายาม “ฝังเขี้ยวเข้าที่คอของผม” มันพลาด กรามอันแข็งแกร่งจึงงับเข้าที่แขนขวาของเขาแทน ทั้งสองกลิ้งไปบนทรายระหว่างการต่อสู้อันดุเดือดยาวนาน เอคลีย์อ่อนล้าและ “เกิดคำถามว่าใครจะยอมแพ้ก่อน” เขารวบรวมกำลังครั้งสุดท้ายจนสามารถปลิดลมหายใจเจ้าแมวยักษ์ด้วยมือเปล่า
เปาโลอธิบายว่าเราแต่ละคนที่เชื่อในพระเยซูจะต้องเผชิญกับการต่อสู้อันดุเดือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราจะรู้สึกว่าเกินกำลังและถูกล่อลวงให้ยอมแพ้ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราต้อง “ต่อต้านยุทธอุบายของพญามาร” และ “มั่นคง” (อฟ.6:11,14) แทนที่เราจะหมอบลงด้วยความกลัวหรือแตกเป็นเสี่ยงๆเมื่อตระหนักถึงความอ่อนแอและเปราะบางที่มี เปาโลกลับท้าทายให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยความเชื่อ โดยระลึกว่าเราไม่ได้พึ่งพาความกล้าหาญและกำลังของเราเอง แต่เป็นพระเจ้า “จงมีกำลังขึ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า และในฤทธิ์เดชอันมหันต์ของพระองค์” ท่านเขียน (ข้อ 10) ในความท้าทายทั้งหลายที่เราเผชิญ พระองค์ทรงอยู่ห่างแค่เพียงคำอธิษฐาน (ข้อ 18)
ใช่แล้ว เราจะต้องเจอการต่อสู้อีกมากมาย และเราไม่อาจหนีพ้นด้วยกำลังและสติปัญญาของเราเอง แต่พระเจ้าทรงมีฤทธานุภาพมากยิ่งกว่าศัตรูหรือมารร้ายใดๆที่เราจะได้พบเจอ
มีชีวิตอย่างแท้จริง
เนื่องจากเป็นสัปดาห์หลังวันอีสเตอร์ ไวแอตต์ลูกชายวัยห้าขวบของเราจึงได้ยินบทสนทนาเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์บ่อยมาก เขามักมีคำถาม ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้เราถึงกับนิ่งอึ้ง ผมกำลังขับรถส่วนเขานั่งคาดเข็มขัดอยู่ด้านหลัง ไวแอตต์มองออกไปนอกหน้าต่าง สีหน้าครุ่นคิด “พ่อ” เขาพูดแล้วหยุดเพื่อเตรียมถามคำถามยากๆ “ตอนที่พระเยซูให้เรามีชีวิตขึ้นมาอีก เราจะมีชีวิตจริงๆ หรือแค่คิดเอาเองว่าเรามีชีวิต”
นี่เป็นคำถามที่เราหลายคนสงสัย ไม่ว่าเราจะกล้าถามออกมาดังๆหรือไม่ก็ตาม พระเจ้าจะทรงรักษาเราจริงหรือ พระองค์จะให้เราเป็นขึ้นจากความตายจริงหรือ พระองค์จะรักษาทุกคำสัญญาจริงหรือ
อัครทูตยอห์นบรรยายอนาคตที่แน่นอนของเราว่าเป็น “ท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” (วว.21:1) ในนครบริสุทธิ์นั้น “พระเจ้าเองจะประทับอยู่กับ[เรา] และจะทรงเป็นพระเจ้า [ของเรา]” (ข้อ 3) เพราะชัยชนะของพระเยซู เราจึงมีพระสัญญาถึงอนาคตที่ไม่มีน้ำตาอีกต่อไป ไม่มีสิ่งชั่วร้ายที่ต่อต้านพระเจ้าและคนของพระองค์ ในอนาคตอันดีนี้ “ความตายจะไม่มีอีกต่อไป การคร่ำครวญ การร้องไห้ และการเจ็บปวดจะไม่มีอีกต่อไป เพราะยุคเดิมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว” (ข้อ 4)
หรือพูดได้ว่า ในอนาคตที่พระเจ้าทรงสัญญากับเรา เราจะมีชีวิตอย่างแท้จริง เราจะมีชีวิตอย่างสมบูรณ์จนชีวิตในปัจจุบันนี้เป็นเหมือนกับเงาที่เลือนราง
เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
ยาโลสลาฟ เพลิแกนอาจารย์มหาวิทยาลัยเยลนับว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพลอย่างสูงด้านประวัติศาสตร์คริสเตียนในยุคสมัยของเขา” ท่านมีชื่อเสียงจากงานด้านวิชาการอันแพร่หลาย ตีพิมพ์หนังสือมากกว่า 30 เล่ม และได้รับรางวัลคลูกี้อันทรงเกียรติจากชีวิตที่อุทิศให้งานเขียนจำนวนมาก นักเรียนของท่านคนหนึ่งกล่าวถึงถ้อยคำซึ่งเขาคิดว่าเป็นถ้อยคำสำคัญที่สุดของอาจารย์ที่กล่าวไว้ก่อนเสียชีวิตว่า “ถ้าพระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากตาย อะไรอย่างอื่นก็ไม่สำคัญ และถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงเป็นขึ้นจากความตาย ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วที่สำคัญ”
เพลิแกนกล่าวเช่นเดียวกับที่เปาโลกล่าวว่า “ถ้าพระคริสต์มิได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมา การเทศนาของเรานั้นก็ไม่มีหลัก ทั้งความเชื่อของท่านทั้งหลายก็ไม่มีหลักด้วย” (1 คร.15:14) เปาโลกล่าวได้อย่างอาจหาญเช่นนี้เพราะท่านรู้ว่าการคืนพระชนม์ไม่ใช่เป็นแค่หนึ่งในการอัศจรรย์ แต่เป็นหัวใจของพันธกิจการทรงไถ่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ พระสัญญาเรื่องการคืนพระชนม์ไม่ใช่เพียงการยืนยันว่าพระคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตาย แต่เป็นการรับรองว่าสิ่งที่ต้องตายและแตกสลายอื่นๆ (ชีวิต สังคม ความสัมพันธ์) วันหนึ่งจะถูกทำให้มีชีวิตอีกครั้งผ่านทางพระคริสต์ แต่หากไม่มีการคืนพระชนม์ เปาโลก็รู้ว่าเราเจอปัญหาใหญ่แน่ ถ้าไม่มีการคืนพระชนม์ ความตายและการทำลายล้างก็ได้รับชัยชนะ
แน่นอนว่า “พระคริสต์ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว” (ข้อ 20) ความตายพ่ายแพ้เพราะถูกทำลายโดยองค์ผู้มีชัย พระเยซูทรงเป็น “ผลแรก” ของชีวิตอื่นๆที่จะตามมา พระองค์มีชัยชนะเหนือความชั่วร้ายและความตายเพื่อให้เรามีชีวิตอย่างกล้าหาญและอิสระ การคืนพระชนม์นี้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
ชีวิตแห่งความสัตย์ซื่อ
อาเบล มูไต นักวิ่งชาวเคนย่าเข้าแข่งขันในการวิ่งข้ามทุ่งระดับนานาชาติอันแสนทรหด เขาวิ่งนำทิ้งระยะห่างและอยู่ใกล้เส้นชัยเพียงไม่กี่เมตร แต่ด้วยความสับสนกับป้ายในสนามและคิดว่าเขาเข้าเส้นชัยแล้ว มูไตจึงหยุดวิ่ง นักวิ่งชาวสเปน อีวาน เฟอร์นันเดซ อนายา ซึ่งมาเป็นที่สองเห็นความผิดพลาดของมูไต แต่แทนที่จะฉวยโอกาสและพุ่งแซงเพื่อให้ได้เป็นผู้ชนะ เขาวิ่งมาทันมูไต และยื่นมือเพื่อดันมูไตให้ไปข้างหน้าจนเข้าสู่เส้นชัยเพื่อคว้าเหรียญทอง เมื่อนักข่าวถามอนายาว่าทำไมเขาจึงจงใจแพ้การแข่งขัน เขายืนยันว่ามูไตสมควรได้รับชัยชนะไม่ใช่ตัวเขา “ถ้าผมชนะแล้วจะมีประโยชน์อะไร เหรียญนั้นจะเป็นเกียรติอย่างไร แม่ของผมจะคิดอย่างไร” รายงานข่าวชิ้นหนึ่งกล่าวว่า “อนายาเลือกความซื่อสัตย์เหนือชัยชนะ”
พระธรรมสุภาษิตกล่าวว่าผู้ที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งต้องการให้ชีวิตของตนสำแดงความสัตย์ซื่อและความถูกต้อง จะตัดสินใจบนความถูกต้องจริงแท้มากกว่าผลประโยชน์ “ความสัตย์ซื่อของคนที่เที่ยงธรรมย่อมนำเขา” (11:3) การอุทิศทุ่มเทเพื่อความสัตย์ซื่อนี้ไม่ใช่เป็นเพียงวิธีที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต แต่ยังจะทำให้มีชีวิตที่ดีกว่า สุภาษิตกล่าวต่อไปว่า “แต่ความคดโกงของคนทรยศย่อมทำลายเขา” (ข้อ 3) ความไม่สัตย์ซื่อไม่เป็นคุณในระยะยาว
หากเราละทิ้งความสัตย์ซื่อ “ชัยชนะ” ที่ได้มาในระยะเวลาสั้นๆแท้จริงแล้วจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ แต่เมื่อความสัตย์ซื่อและความจริงหล่อหลอมเราในฤทธิ์เดชของพระเจ้า เราจะค่อยๆกลายเป็นคนที่มีคุณลักษณะที่ดีพร้อม ผู้ซึ่งจะดำเนินชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง