ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Tim Gustafson

เข้าถึงผู้อื่นเพื่อพระเยซู

ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาไม่เคยได้ยินชื่อของพระเยซู ชนเผ่าบันวาออนซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขาของมินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ และติดต่อกับโลกภายนอกน้อยมาก การเดินทางเพื่อขนส่งเสบียงอาจต้องใช้เวลาถึงสองวัน โดยต้องปีนเขาอย่างยากลำบากผ่านภูมิประเทศที่ทุรกันดาร โลกไม่เคยสนใจพวกเขา

ต่อมาพันธกิจมิชชั่นกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปหาพวกเขาโดยนำผู้คนเข้าออกพื้นที่นั้นด้วยเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ชนเผ่าบันวาออนเข้าถึงสิ่งที่จำเป็น ความช่วยเหลือสำคัญทางการแพทย์ และได้รับรู้ถึงโลกภายนอกมากขึ้น และยังได้นำพวกเขาให้รู้จักกับพระเยซู เดี๋ยวนี้แทนที่จะร้องเพลงให้กับวิญญาณต่างๆ พวกเขาร้องบทสวดตามประเพณีของชนเผ่าด้วยคำร้องใหม่ที่สรรเสริญพระเจ้าผู้เที่ยงแท้พระองค์เดียว พันธกิจการบินได้สถาปนาการเชื่อมโยงที่สำคัญนี้ก่อนพระเยซูเสด็จกลับไปหาพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ พระองค์ตรัสสั่งเหล่าสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มธ.28:19) พระดำรัสสั่งนั้นยังคงอยู่

กลุ่มคนที่ไม่มีใครเข้าถึงนั้นไม่ได้ถูกจำกัดเพียงผู้ที่อยู่ในพื้นที่ลึกลับห่างไกลที่เราไม่เคยรู้จัก บ่อยครั้งพวกเขาอยู่ท่ามกลางพวกเรา การเข้าถึงชนเผ่าบันวาออนต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และทรัพยากรมากมาย และสิ่งนั้นกระตุ้นเราให้หาหนทางที่สร้างสรรค์ที่จะก้าวข้ามอุปสรรคในชุมชนของเรา นั่นอาจรวมถึงกลุ่มที่ “ไม่สามารถเข้าถึงได้” ที่คุณไม่เคยนึกถึง ซึ่งอาจเป็นบางคนในละแวกบ้านคุณ พระเจ้าทรงใช้คุณให้เข้าถึงผู้อื่นเพื่อพระเยซูอย่างไร

ทำให้ฤดูกาลกลับคืนมา

ไลซ่าต้องการหาวิธีทำให้ฤดูกาลกลับคืนมา ของตกแต่งมากมายสำหรับฤดูใบไม้ร่วงที่เธอเห็นดูเหมือนเพื่อเฉลิมฉลองความตาย บางอันดูน่าสยดสยองและน่ากลัว

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านความมืดด้วยวิธีง่ายๆ ไลซ่าเริ่มด้วยการเขียนสิ่งที่เธอรู้สึกขอบพระคุณลงบนฟักทองลูกใหญ่ “แสงสว่าง” เป็นสิ่งแรก ในไม่ช้าผู้มาเยือนก็ทยอยเติมสิ่งอื่นๆเพิ่มเข้าไป บางสิ่งดูแปลกประหลาดเช่น “เส้นขยุกขยิก” สิ่งอื่นๆดูเป็นการเป็นงานเช่น “บ้านที่อบอุ่น” “รถที่ใช้งานได้” แต่ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ทำให้เจ็บปวด เช่น ชื่อของคนที่เรารักที่ตายจากไป คำขอบพระคุณนั้นเริ่มเชื่อมต่อยาวเป็นลูกโซ่จนพันรอบฟักทองนั้น

พระธรรมสดุดีบทที่ 104 เสนอคำอธิษฐานเพื่อการสรรเสริญพระเจ้าสำหรับสิ่งต่างๆที่เรามักมองข้าม “พระองค์ทรงกระทำให้น้ำพุพลุ่งขึ้นมาในหุบเขา น้ำนั้นก็ไหลไประหว่างเขา” (ข้อ 10) ผู้ประพันธ์ร้อง “พระองค์ทรงให้หญ้างอกมาเพื่อสัตว์เลี้ยง และผักให้มนุษย์ได้ดูแล” (ข้อ 14) แม้ยามค่ำคืนก็ดีและเหมาะสม “พระองค์ทรงให้เกิดความมืดและเป็นกลางคืน เป็นสัตว์ของป่าไม้คลานออกมา” (ข้อ 20) แต่แล้ว “เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น...มนุษย์ก็ออกไปทำงานของเขา ไปทำภารกิจของเขาจนเวลาเย็น” (ข้อ 22-23) ทั้งหมดนี้ผู้เขียนสดุดีสรุปว่า “ข้ามีชีวิตอยู่ตราบใด ข้าจะร้องเพลงสดุดีถวายพระเจ้าของข้า” (ข้อ 33)

ในโลกที่ไม่รู้วิธีรับมือกับความตายนี้ แม้เพียงคำสรรเสริญที่เล็กน้อยที่สุดแด่พระผู้สร้างของเราก็สามารถกลายเป็นความหวังที่เปล่งประกายเจิดจ้า

ถ้อยคำที่คงอยู่ตลอดไป

ในต้นศตวรรษที่ 19 โธมัส คาร์ไลล์ได้มอบต้นฉบับให้กับนักปรัชญาจอห์น สจ๊วต มิลล์ได้ตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่าด้วยอุบัติเหตุหรือความตั้งใจ ต้นฉบับนั้นตกไปในกองไฟ นั่นเป็นฉบับเดียวที่คาร์ไลล์มี แต่เขาก็ไม่ท้อใจตั้งหน้าตั้งตาเขียนบทต่างๆในหนังสือที่เสียหายไปขึ้นมาอีกครั้ง เปลวไฟแค่นั้นไม่สามารถหยุดเรื่องราวที่ยังอยู่ในความคิดของเขาได้ จากการสูญเสียครั้งใหญ่นั้น คาร์ไลล์ได้ผลิตผลงานอันเป็นที่น่าจดจำชื่อว่า ปฏิวัติฝรั่งเศส

ยุคสุดท้ายของอาณาจักรยูดาห์ที่เสื่อมโทรมในอดีต พระเจ้าได้บอกผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์ว่า “จงเอาหนังสือม้วนม้วนหนึ่ง และเขียนถ้อยคำนี้ทั้งสิ้นลงไว้ เป็นคำที่เราได้พูดกับเจ้า” (ยรม.36:2) ข้อความนั้นเปิดเผยถึงหัวใจอันอ่อนโยนของพระเจ้า ที่เรียกให้คนของพระองค์กลับใจใหม่เพื่อจะไม่ถูกการโจมตี (ข้อ 3)

เยเรมีย์ทำตามที่พระเจ้าบอก ม้วนหนังสือนั้นถูกส่งไปทันทีถึงเยโฮยาคิม กษัตริย์ยูดาห์ ผู้ซึ่งจงใจตัดม้วนหนังสือนั้นและโยนเข้าไปในไฟ (ข้อ 23-25) การที่กษัตริย์เผาม้วนหนังสือนั้นกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก พระเจ้าบอกเยเรมีย์ให้เขียนม้วนหนังสืออีกอันหนึ่งด้วยข้อความเดิม พระเจ้าตรัสว่า “เยโฮยาคิมจะไม่มีบุตรที่จะประทับบนพระที่นั่งของดาวิด และศพของท่านจะถูกทิ้งไว้ให้ตากแดดกลางวันและตากน้ำค้างแข็งเวลากลางคืน” (ข้อ 30)

เป็นไปได้ที่จะเผาพระคำของพระเจ้าด้วยการโยนหนังสือลงในกองไฟ แต่ไม่มีประโยชน์เลยที่จะทำแบบนั้น เพราะพระวาทะผู้ทรงอยู่เบื้องหลังถ้อยคำของพระเจ้าจะคงอยู่ตลอดไป

การหนีของอีคาโบด

ในตำนานแห่งสลีปปี้ ฮอลโล วอชิงตัน เออร์วิงเล่าถึงอีคาโบด เครน ครูผู้หมายปองสาวสวยชื่อคาทริน่า กุญแจของเรื่องคือชายขี่ม้าไร้หัวที่ไล่ล่าคนตามชนบทในยุคอาณานิคม คืนหนึ่งอีคาโบดเผชิญหน้ากับปีศาจบนหลังม้าและหนีไปด้วยความกลัว “ชายขี่ม้า” นี้แท้จริงแล้วคือคู่แข่งที่หมายปองคาทริน่าเช่นกัน ซึ่งภายหลังได้แต่งงานกับเธอ

อีคาโบดเป็นชื่อที่พบครั้งแรกในพระคัมภีร์และมีเบื้องหลังที่น่าเศร้าเช่นกัน ขณะทำสงครามกับคนฟีลิสเตีย อิสราเอลหามหีบแห่งพระเจ้าเข้าไปในสนามรบ พวกเขาคิดผิด อิสราเอลพ่ายแพ้และหีบแห่งพระเจ้าถูกยึดไป โฮฟนีและฟีเนหัสบุตรสองคนของเอลีมหาปุโรหิตก็ถูกฆ่าตาย (1 ซมอ.4:17) เอลีเองก็สิ้นชีวิต (ข้อ 18) เมื่อภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ของฟีเนหัสรู้ข่าว นางก็ “คลอดบุตรเพราะความเจ็บปวดบังเกิดขึ้นแก่นาง” (ข้อ 19) ก่อนสิ้นใจนางตั้งชื่อลูกว่า อีคาโบด แปลว่า “พระสิริได้พรากไปจากอิสราเอลแล้ว” (ข้อ 22)

ขอบคุณพระเจ้า พระองค์ทรงเปิดเผยเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก พระสิริของพระเจ้าจะปรากฏในพระเยซูผู้ตรัสถึงสาวกของพระองค์ว่า “เกียรติซึ่งพระองค์ (พระบิดา) ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้มอบให้แก่เขา” (ยน. 17:22)

ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าหีบแห่งพระเจ้าอยู่ที่ไหน แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ อีคาโบดได้หนีไปแล้ว และพระเจ้าได้ทรงประทานพระสิริของพระองค์แก่เราผ่านทางพระเยซู!

นอกค่าย

วันศุกร์เป็นวันที่มีตลาดนัดในเมืองชนบทของประเทศกานาที่ผมเติบโตมา หลังจากหลายปีผ่านไปผมยังจำแม่ค้าคนหนึ่งได้ นิ้วมือและนิ้วเท้าของเธอกุดไปเพราะโรคเรื้อน เธอหมอบอยู่ที่เสื่อและตักสินค้าของเธอด้วยกระบวยที่ทำจากบวบ บางคนหลบเลี่ยงเธอ แม่ของผมตั้งใจซื้อของจากเธอเป็นประจำ ผมเห็นเธอแค่ในวันที่มีตลาดนัด แล้วเธอก็จะหายออกไปนอกเมือง

ในยุคอิสราเอลโบราณ โรคต่างๆที่เป็นเหมือนโรคเรื้อนนั้นหมายถึงการใช้ชีวิต “ภายนอกค่าย” เป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวสิ้นหวัง กฎบัญญัติของอิสราเอลกล่าวถึงคนเหล่านี้ว่า “เขาจะต้องอยู่แต่ลำพัง” (ลนต.13:46) ภายนอกค่ายยังเป็นที่เผาซากวัวซึ่งถวายเป็นเครื่องบูชาด้วย (4:12) ภายนอกค่ายไม่ใช่สถานที่ที่คุณอยากจะอยู่

ความจริงที่โหดร้ายนี้ทำให้คำกล่าวถึงพระเยซูในฮีบรู 13 น่าสนใจมากยิ่งขึ้น “ให้เราทั้งหลายออกไปหาพระองค์ภายนอกค่ายนั้นและยอมรับคำดูหมิ่นเหยียดหยามเพื่อพระองค์” (ข้อ 13) พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนที่นอกประตูเมืองเยรูซาเล็ม นี่เป็นประเด็นสำคัญเมื่อเราศึกษาเรื่องระเบียบในการถวายเครื่องบูชาของฮีบรู

เราอยากเป็นที่ชื่นชอบ ได้รับการเคารพ มีชีวิตที่สะดวกสบาย แต่พระเจ้าทรงเรียกให้เรา “ออกไปนอกค่าย” ซึ่งเป็นที่แห่งความอดสู ที่นั่นเราจะพบแม่ค้าที่เป็นโรคเรื้อน ที่นั่นเราจะพบผู้คนที่โลกไม่ยอมรับ และที่นั่นเราจะได้พบพระเยซู

ทำตามความเชื่อ

พ่อของแซมต้องหนีเอาชีวิตรอดระหว่างการรัฐประหาร ​เมื่อสูญเสียรายได้กะทันหัน ครอบครัวจึงไม่สามารถจ่ายค่ายาที่ต้องใช้เพื่อรักษาชีวิตพี่ชายของแซมได้ แซมคิดด้วยความโกรธพระเจ้าว่า เราทำอะไรถึงต้องมาเจอเรื่องแบบนี้

ผู้เชื่อคนหนึ่งได้ข่าวเรื่องปัญหาของครอบครัวนี้ เมื่อพบว่าเขามีเงินพอซื้อยาได้ เขาจึงซื้อและเอาไปให้ ของขวัญซึ่งช่วยชีวิตจากคนแปลกหน้านี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง “อาทิตย์นี้เราจะไปคริสตจักรของชายคนนั้น” แม่ของเขาประกาศ ความโกรธของแซมเริ่มบรรเทาลง และในที่สุดสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนก็ได้รับเชื่อในพระเยซูทุกคน

เมื่อยากอบเขียนว่าการประกาศตัวเป็นผู้เชื่อในพระคริสต์จำเป็นต้องควบคู่ไปกับชีวิตที่ประพฤติตามพระวจนะ ท่านเจาะจงถึงเรื่องการดูแลผู้อื่น “ถ้า​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​คน​ใด​ขัด​สน​เครื่อง​นุ่งห่ม​และ​อาหาร​ประจำวัน​ และ​มี​คน​ใด​ใน​พวก​ท่าน​กล่าว​แก่​เขา​ว่า ‘เชิญ​ไป​เป็น​สุข​เถิด ขอ​ให้​อบอุ่น​และ​อิ่ม​เถิด’ และ​ไม่ได้​ให้​สิ่ง​ที่​เขา​ขัด​สน​นั้น จะ​เป็น​ประโยชน์​อะไร​” (2:15-16)

ความประพฤติของเราแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของเราจริงแท้เพียงใด ที่สำคัญคือความประพฤติเหล่านั้นส่งผลต่อทางเลือกในเรื่องความเชื่อของผู้อื่นด้วย ในกรณีของแซม เขากลายเป็นศิษยาภิบาลและผู้ก่อตั้งคริสตจักร ในที่สุดเขาเรียกชายที่ช่วยเหลือครอบครัวเขาว่า “ปาปา มาเปส” ตอนนี้เขาถือว่าชายคนนั้นคือพ่อฝ่ายวิญญาณ ผู้ที่สำแดงให้เขาเห็นความรักของพระเยซู

โหยหาพระเจ้า

เมื่อคอนเนอร์และซาร่า สมิธย้ายบ้านไกลออกไปราว 8 กิโลเมตรบนถนนเดิม เจ้าสมอร์แมวของพวกเขาแสดงความไม่พอใจโดยการวิ่งหนีไป วันหนึ่งซาร่าเห็นรูปภาพในปัจจุบันของโรงนาเก่าของพวกเขาบนสื่อสังคมออนไลน์ สมอร์อยู่ในรูปด้วย!

ครอบครัวสมิธจึงไปรับแมวด้วยความดีใจ สมอร์วิ่งหนีไปอีก ลองเดาสิว่ามันไปที่ไหน ครั้งนี้ครอบครัวที่ซื้อบ้านต่อจากพวกเขาตกลงรับเลี้ยงสมอร์ด้วย ครอบครัวสมิธไม่สามารถหยุดสถานการณ์เช่นนี้ได้เพราะสมอร์จะกลับ “บ้าน”​ เสมอ

เนหะมีย์รับใช้ในตำแหน่งสูงที่ราชสำนักของกษัตริย์เมืองสุสา แต่จิตใจของท่านอยู่ที่อื่น ท่านเพิ่งได้ยินข่าวน่าเศร้าถึงสภาพของ “เมืองสถานที่ฝังศพของบรรพบุรุษของข้าพระบาท” (นหม.2:3) ท่านจึงอธิษฐาน “ขอพระองค์ทรงระลึกถึงพระวจนะซึ่งพระองค์ได้บัญชาไว้กับโมเสสผู้รับใช้ของพระองค์ว่า... ‘ถ้าเจ้ากลับมาหาเราและรักษาบัญญัติของเรา... ถึงแม้ว่าพวกเจ้ากระจัดกระจายไปอยู่ใต้ฟ้าที่ไกลที่สุด เราจะรวบรวมเจ้ามาจากที่นั่น และนำเจ้ามายังสถานที่ซึ่งเราได้เลือกไว้ เพื่อกระทำให้นามของเรา ดำรงอยู่ที่นั่น’” (1:8-9)

มีคำกล่าวไว้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน หัวใจเราก็อยู่ที่นั่น สำหรับเนหะมีย์การโหยหาบ้านเป็นมากกว่าความผูกพันกับสถานที่ สิ่งที่ท่านโหยหามากที่สุดคือการสามัคคีธรรมกับพระเจ้า เยรูซาเล็มคือ “สถานที่ซึ่งเราได้เลือกไว้ เพื่อกระทำให้นามของเรา ดำรงอยู่ที่นั่น”

ความไม่อิ่มใจที่เรารู้สึกได้ลึกๆภายในแท้จริงแล้วเป็นความโหยหาพระเจ้า เราโหยหาความอบอุ่นใจที่จะได้อยู่กับพระองค์

พระเจ้าทรงอยู่ที่นั่น

ออเบรย์ซื้อเสื้อโค้ทขนสัตว์ตัวหนึ่งให้พ่อที่อายุมากแล้ว แต่พ่อของเธอเสียชีวิตก่อนจะได้ใส่เสื้อตัวนั้น เธอจึงบริจาคเสื้อตัวนั้นเพื่อการกุศลโดยเขียนข้อความหนุนใจใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อพร้อมกับเงิน 20 เหรียญ

ห่างออกไปราว 145 กิโลเมตร เคลลี่เด็กหนุ่มอายุ 19 ปีไม่สามารถทนสภาพครอบครัวที่แตกสลายได้อีกต่อไป เขาออกจากบ้านโดยไม่ได้เอาเสื้อโค้ทติดตัวไป เขารู้จักที่เพียงแห่งเดียวที่พอจะพึ่งได้คือบ้านของคุณยายซึ่งอธิษฐานเผื่อเขาเสมอ หลายชั่วโมงต่อมาเขาก้าวลงจากรถประจำทางเข้าสู่อ้อมกอดของยาย เพื่อป้องกันเขาจากลมหนาวยายบอกว่า “เราต้องหาเสื้อโค้ทให้เธอ” ที่ศูนย์สงเคราะห์ เคลลี่ลองใส่เสื้อตัวที่เขาชอบ เขาล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อและพบซองจดหมายที่มีเงิน 20 เหรียญและข้อความของออเบรย์

ยาโคบหนีจากครอบครัวที่แตกแยกเพราะความกลัวตาย (ปฐก.27:41-45) เมื่อท่านหยุดพักในเวลากลางคืน พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ต่อยาโคบในความฝัน “เราอยู่กับเจ้า และจะพิทักษ์รักษาเจ้าทุกแห่งหนที่เจ้าไป” พระเจ้าตรัสกับท่าน (28:15) ยาโคบปฏิญาณว่า “ถ้าพระเจ้าทรง...ประทานอาหารให้ข้าพระองค์รับประทาน และเสื้อผ้าให้ข้าพระองค์สวม...พระเยโฮวาห์จะทรงเป็นพระเจ้าของข้าพระองค์” (ข้อ 20-21)

ยาโคบตั้งเสาศักดิ์สิทธิ์และเรียกที่นั่นว่า “ที่ประทับของพระเจ้า” (ข้อ 22)เคลลี่พกข้อความของออเบรย์และเงิน 20 เหรียญติดตัวไปทุกแห่ง ทั้งสองเรื่องเป็นเครื่องเตือนใจว่า ไม่ว่าเราจะหนีไปที่ใดพระเจ้าทรงอยู่ที่นั่นด้วย

ภาพที่ไม่เคยเห็น

หลังจากยูริ กาการินได้กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ไปท่องอวกาศ เขาโดดร่มลงที่กลางชนบทแห่งหนึ่งในรัสเซีย หญิงชาวสวนคนหนึ่งเห็นนักบินอวกาศที่ยังสวมชุดอวกาศสีส้มพร้อมหมวกกำลังลากร่มชูชีพสองชุด “เป็นไปได้ไหมว่าคุณมาจากนอกโลก” เธอถามด้วยความประหลาดใจ “จะว่าไปแล้วก็ใช่” เขาตอบ

น่าเศร้าที่ผู้นำโซเวียตเปลี่ยนการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ให้เป็นโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านศาสนา “กาการินออกไปในอวกาศ แต่เขาไม่พบพระเจ้าองค์ใดเลยที่นั่น” นายกฯประกาศ (กาการินเองไม่เคยพูดเช่นนั้น) ซี.เอส.ลูอิสตั้งข้อสังเกตว่า “ผู้ที่ไม่พบพระเจ้าในโลกนี้ก็ไม่น่าจะพบพระองค์ในอวกาศ”

พระเยซูเตือนเราเกี่ยวกับการไม่รับรู้ถึงพระเจ้าในชีวิตนี้ พระองค์เล่าเรื่องของชายสองคนที่เสียชีวิต คือเศรษฐีที่ไม่มีเวลาให้พระเจ้า และลาซารัสขอทานที่ร่ำรวยความเชื่อ (ลก.16:19-31) ด้วยความทุกข์ทรมานเศรษฐีจึงขอร้องอับราฮัมเพื่อพี่น้องที่ยังอยู่ในโลก “​ขอ​ท่าน​ใช้​ลาซารัส​ไป” เขาร้องขอ “ถ้า​คน​หนึ่ง​จาก​หมู่​คน​ตาย​ไป​หา​เขา เขา​คง​จะ​กลับ​ใจ​เสีย​ใหม่” (ข้อ 27,30) อับราฮัมรู้ถึงต้นตอที่เป็นสาเหตุของปัญหานี้ว่า “ถ้า​เขา​ไม่​ฟัง​โมเสส​และ​พวก​ผู้เผย​พระ​วจนะ แม้​คน​หนึ่ง​จะ​เป็น​ขึ้น​มา​จาก​ความ​ตาย เขา​ก็​จะ​ยัง​ไม่​เชื่อ” (ข้อ 31)

“การมองเห็นไม่ได้หมายความว่าจะเชื่อ” ออสวอลด์ แชมเบอร์เขียนไว้ “เราแปลความหมายของสิ่งที่เรามองเห็นจากสิ่งที่เราเชื่อ”

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา