ต้นตอ
ในปี 1854 มีบางสิ่งคร่าชีวิตผู้คนในลอนดอนไปหลายพัน พวกเขาคิดว่าจะต้องเป็นมลพิษในอากาศแน่ๆ ความจริงแล้วความร้อนที่ผิดปกติทำให้สิ่งปฏิกูลปนเปื้อนในแม่น้ำเทมส์ส่งกลิ่นเลวร้ายจนเป็นที่เรียกขานว่า “วิกฤตการณ์กลิ่นเหม็นรุนแรง”
แต่ปัญหาที่เลวร้ายที่สุดไม่ใช่อากาศ งานวิจัยของดร.จอห์น สโนว์แสดงให้เห็นว่าน้ำที่ปนเปื้อนคือสาเหตุการระบาดของอหิวาตกโรค
มีวิกฤตอีกอย่างที่มนุษย์เราตระหนักมานานแล้ว คือวิกฤตที่ส่งกลิ่นเหม็น
ไปยังฟ้าสวรรค์ เราอยู่ในโลกที่ตกต่ำ และเรามักจะระบุต้นตอของปัญหานี้ผิดพลาดและหาทางรักษาแทน โครงการและนโยบายทางสังคมอันชาญฉลาด
มีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ไม่มีอำนาจในการหยุดยั้งสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยของสังคม นั่นก็คือจิตใจที่เต็มด้วยความบาปของเรา!
เมื่อพระเยซูตรัสว่า “ไม่มีสิ่งใดภายนอกที่เข้าไปภายในมนุษย์จะกระทำให้มนุษย์เป็นมลทินได้” พระองค์ไม่ได้หมายถึงความเจ็บป่วยฝ่ายร่างกาย (มก.
7:15) แต่ทรงวินิจฉัยสภาพฝ่ายวิญญาณของเราทุกคน “สิ่งซึ่งออกมาจากภายในมนุษย์ สิ่งนั้นแหละกระทำให้มนุษย์เป็นมลทิน” พระองค์ตรัส (ข้อ 15) และ
ทรงชี้ถึงการชั่วต่างๆที่ซุกซ่อนอยู่ภายในเรา (ข้อ 21-22)
“ดูเถิด ข้าพระองค์ถือกำเนิดมาในความผิดบาป” ดาวิดเขียน (สดด.51:5) คำคร่ำครวญนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนพูดได้เช่นกัน เราแตกสลายมาตั้งแต่ต้น นั่นเป็นเหตุให้ดาวิดอธิษฐานว่า “ขอทรงสร้างใจสะอาดภายในข้าพระองค์” (ข้อ 10) ในทุกวันเราต้องการหัวใจใหม่ที่สร้างโดยพระเยซูผ่านทางองค์พระวิญญาณ
แทนที่จะรักษาอาการป่วย เราจำต้องให้พระเยซูทรงชำระต้นตอของมัน
พระเจ้าทรงใส่ใจในรายละเอียด
เป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายมากสำหรับเควินและคิมเบอร์ลีย์ อาการชักของเควินเกิดแย่ลงอย่างกะทันหันและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ท่ามกลางภาวะการแพร่ระบาด ลูกเล็กๆทั้งสี่พี่น้องที่พวกเขารับอุปการะจากบ้านสงเคราะห์ตกอยู่ในภาวะอึดอัดอย่างมากเพราะติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน และที่แย่ไปกว่านั้นคิมเบอร์ลีย์ไม่อาจทำอาหารดีๆได้สักมื้อจากของในตู้เย็น เป็นเรื่องแปลกมากที่ในเวลานั้นเธอรู้สึกอยากกินแครอทเหลือเกิน
หนึ่งชั่วโมงต่อมามีเสียงเคาะประตู อแมนด้าและแอนดี้เพื่อนของพวกเขายืนอยู่ตรงนั้น กับมื้ออาหารที่เธอเตรียมให้กับครอบครัวนี้ ซึ่งรวมถึงแครอท
ผู้คนพูดกันว่ามารสนใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆไม่ใช่เลย เรื่องราวอันน่าทึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวยิวแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงใส่ใจในรายละเอียด ฟาโรห์รับสั่งว่า “บุตรชายฮีบรูทุกคนที่เกิดมา ให้เอาไปทิ้งเสียในแม่น้ำไนล์” (อพย.1:22) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้มีพัฒนาการที่มีรายละเอียดอันน่าทึ่งที่น่าสนใจ มารดาของโมเสสเอาลูกของนาง “ไปทิ้งเสีย” ในแม่น้ำไนล์จริงๆแม้จะแฝงอุบายก็ตาม และจากแม่น้ำไนล์ พระราชธิดาของฟาโรห์เองจะช่วยทารกผู้ที่พระเจ้าจะทรงใช้ให้ช่วยชีวิตประชากรของพระองค์ อีกทั้งพระนางยังจ่ายค่าจ้างแก่มารดาของโมเสสเพื่อให้เลี้ยงดูท่านด้วย! (2:9)
จากชนชาติยิวที่เกิดใหม่นี้ในวันหนึ่งจะมีทารกตามพระสัญญาถือกำเนิดขึ้น เรื่องราวของพระองค์จะเต็มไปด้วยรายละเอียดอันน่าทึ่งและความพลิกผัน และที่สำคัญที่สุดคือ พระเยซูจะทรงจัดเตรียมการอพยพของเราออกจากการเป็นทาสของบาป
ยิ่งในช่วงเวลาที่มืดมิดนี้ พระเจ้ายังทรงใส่ใจในรายละเอียด ดังที่คิมเบอร์ลีย์จะบอกคุณว่า “พระเจ้าทรงนำแครอทมาให้ฉัน!”
ทารกเพศชาย
เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีที่ชื่อทางกฎหมายของเขาคือ “ทารกเพศชาย” เขาถูกพบโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้ยินเสียงเขาร้อง ทารกตัวน้อยถูกทิ้งไว้ขณะอายุเพียงไม่กี่ชั่วโมง ถูกห่อไว้ในกระเป๋าอยู่ในลานจอดรถของโรงพยาบาล
ไม่นานหลังจากที่พบเขา นักสังคมสงเคราะห์โทรหาคนที่วันหนึ่งจะกลายมาเป็นครอบครัวถาวรของเขา สามีภรรยาคู่นี้รับเลี้ยงและเรียกเขาว่าเกรย์สัน (นามสมมติ) ในที่สุดกระบวนการรับอุปการะก็เสร็จสมบูรณ์และเขาได้ใช้ชื่อเกรย์สันอย่างเป็นทางการ วันนี้คุณจะได้เห็นเด็กร่าเริงที่ออกเสียงตัว ร ผิดเพราะเขากระตือรือร้นที่จะพูดกับคุณ คุณจะไม่คิดเลยว่าครั้งหนึ่งเขาเคยถูกทิ้งไว้ในกระเป๋า
ในช่วงท้ายของชีวิตโมเสส ท่านทบทวนถึงพระลักษณะของพระเจ้าและสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อชนชาติอิสราเอล และกล่าวกับพวกเขาว่า “พระเยโฮวาห์ทรงฝังพระทัยในบรรพบุรุษของท่าน และทรงรักเขา” (ฉธบ.10:15) ความรักนี้กว้างใหญ่ไพศาล “พระองค์ประทานความยุติธรรมแก่ลูกกำพร้าและแม่ม่าย และทรงรักคนต่างด้าว ประทานอาหารและเครื่องนุ่งห่มแก่เขา” ท่านกล่าว (ข้อ 18) “พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญของท่านทั้งหลาย พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของท่าน” (ข้อ 21)
เราทุกคนถูกเรียกให้สะท้อนถึงความรักของพระเจ้า ไม่ว่าจะผ่านการรับอุปการะหรือผ่านการรักและรับใช้ สามีภรรยาที่น่ารักคู่นั้นกลายเป็นมือและเท้าที่พระเจ้าใช้เพื่อขยายความรักของพระองค์ไปสู่คนที่อาจถูกมองข้ามและทอดทิ้ง เราก็สามารถรับใช้โดยการเป็นมือและเท้าของพระองค์ด้วยเช่นกัน
ยุคที่ไม่ธรรมดา
แม้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฐานะคนนอกศาสนา แต่จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งโรมัน (ค.ศ.272-337) ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปซึ่งทำให้การข่มเหงคริสเตียนยุติลง และพระองค์ยังได้กำหนดปฏิทินที่เราใช้ โดยแบ่งประวัติศาสตร์ทั้งหมดออกเป็นยุค ก.ค.ศ.(ก่อนคริสต์ศักราช) และค.ศ. (คริสต์ศักราช หรือ “ในปีขององค์พระผู้เป็นเจ้า”)
มีการดำเนินการที่จะทำให้ระบบปฏิทินนี้ไม่ขึ้นกับศาสนา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ส.ศ. (สากลศักราช) และก่อนส.ศ. (ก่อนสากลศักราช) บางคนชี้ให้เห็นว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่โลกกีดกันพระเจ้าออกไป
แต่พระเจ้าไม่ได้จากไปไหน ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรปฏิทินของเราก็ยังคงมีศูนย์กลางอยู่บนความจริงแห่งชีวิตของพระเยซูในโลก
ในพระคัมภีร์นั้นเอสเธอร์เป็นพระธรรมเล่มที่ไม่ธรรมดาตรงที่ไม่มีการกล่าวถึงพระเจ้าอย่างเจาะจง ทว่าเรื่องที่พระธรรมนี้เล่าถึงนั้นเป็นหนึ่งในการช่วยกู้ของพระเจ้า ชาวยิวถูกขับไล่จากบ้านเกิดเมืองนอน มาอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่สนใจพระเจ้า ข้าราชการที่มีอำนาจต้องการทำลายล้างพวกเขาทั้งหมด (อสธ.3:8-9, 12-14) แต่พระเจ้าได้ทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์โดยทางพระราชินีเอสเธอร์และโมรเดคัยญาติของพระนาง เรื่องราวนี้ยังคงมีการเฉลิมฉลองในเทศกาลปูริมจนทุกวันนี้ (9:20-32)
ไม่ว่าโลกจะเลือกตอบสนองต่อพระองค์อย่างไรในเวลานี้ พระเยซูก็ได้ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง พระองค์ทรงแนะนำให้เรารู้จักกับยุคที่ไม่ธรรมดา คือยุคที่เต็มไปด้วยความหวังและพระสัญญาอย่างแท้จริง ทั้งหมดที่เราต้องทำคือมองไปรอบๆแล้วเราจะได้เห็นพระองค์
ตลอดชั่วชีวิต
ลินฟอร์ด เดตไวเลอร์ นักร้องและนักแต่งเพลงของวงดนตรีโฟล์คสัญชาติอเมริกันชื่อ โอเวอร์ เดอะ ไรน์ กล่าวว่า “มีหลายคำถามที่ศิลปินรุ่นใหม่อาจอยากถาม หนึ่งในนั้นคือ ‘ฉันต้องทำอย่างไรจึงจะมีชื่อเสียงโด่งดัง’” เดตไวเลอร์เตือนว่าเป้าหมายนี้ “เปิดประตูให้กับพลังแห่งการทำลายล้างในทุกรูปแบบทั้งจากภายในและภายนอก” เขาและภรรยาเลือกเส้นทางดนตรีที่ไม่ได้ทำให้พวกเขาโด่งดังแค่ชั่วครู่ แต่ “ยังคงเติบโตไปเรื่อยๆตลอดชั่วชีวิต”
ชื่อเยโฮยาดาอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เป็นชื่อที่มีความหมายเดียวกับการอุทิศตนเพื่อพระเจ้าตลอดชั่วชีวิต ท่านเป็นปุโรหิตในสมัยของกษัตริย์โยอาช ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วถือว่าปกครองบ้านเมืองได้ดีจากอิทธิพลของเยโฮยาดา
เมื่อโยอาชอายุเจ็ดปี เยโฮยาดาได้เร่งให้มีการแต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยชอบธรรม (2 พกษ.11:1-16) แต่นี่ไม่ใช่การชิงอำนาจ ในพิธีบรมราชาภิเษก เยโฮยาดา “ได้กระทำพันธสัญญาระหว่างพระเจ้าและพระราชา และประชากรว่าให้เขาเป็นประชากรของพระเจ้า” (ข้อ 17) ท่านรักษาคำพูดโดยทำการปฏิรูปซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง “เขาทั้งหลายได้ถวายเครื่องบูชาในพระนิเวศของพระเจ้าเสมอ ตลอดชั่วอายุของเยโฮยาดา” (2 พศด.24:14) ด้วยชีวิตที่อุทิศตนของท่าน “เขาก็ฝังศพท่านไว้ในนครของดาวิด ท่ามกลางบรรดาพระราชา” (ข้อ 16)
ยูจีนปีเตอร์สันเรียกชีวิตที่ให้ความสำคัญกับพระเจ้าเช่นนี้ว่า “การเชื่อฟังในทิศทางเดียวกันเป็นเวลานาน” ที่น่าขันก็คือ การเชื่อฟังเช่นนี้แหละที่โดดเด่นอยู่ในโลกซึ่งให้ความสำคัญกับชื่อเสียง อำนาจ และความพึงพอใจของตนเอง
สู้ไปด้วยกัน
เคลลี่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งสมองในตอนที่เกิดวิกฤตการณ์โควิด 19 เมื่อของเหลวเพิ่มปริมาณขึ้นรอบๆหัวใจและปอด เธอจึงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกครั้ง ครอบครัวไม่สามารถไปเยี่ยมเธอได้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด เดฟสามีของเธอจึงตัดสินใจว่าจะต้องทำอะไรบางอย่าง
เดฟได้รวบรวมญาติและเพื่อนสนิทมาพร้อมหน้ากัน โดยขอให้พวกเขาทำป้ายข้อความขนาดใหญ่ แล้วพวกเขาก็มา ทั้ง 20 คนยืนโดยสวมหน้ากากอยู่ข้างถนนนอกโรงพยาบาลพร้อมถือป้ายต่างๆที่เขียนว่า “สุดยอดคุณแม่!” “รักนะ” “เราจะอยู่เคียงข้างกัน” ด้วยความช่วยเหลือของพยาบาล เคลลี่จึงได้มาที่หน้าต่างของชั้นสี่ “เราเห็นเพียงหน้ากากและมือที่โบกมา” สามีของเธอโพสต์ไว้ในโซเชียลมีเดีย “แต่ก็เป็นหน้ากากและมือที่งดงาม”
ช่วงท้ายชีวิตของอัครทูตเปาโล ท่านรู้สึกโดดเดี่ยวขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่กรุงโรม ท่านเขียนถึงทิโมธีว่า “ท่านจงพยายามมาให้ถึงก่อนฤดูหนาว” (2 ทธ.4:21) แต่เปาโลไม่ได้อยู่ลำพังเสียทีเดียว ท่านกล่าวว่า “แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทับอยู่ใกล้ข้าพเจ้า และได้ทรงประทานกำลังให้ข้าพเจ้า” (ข้อ 17) และยังเห็นได้ชัดว่าท่านได้รับการติดต่อที่ช่วยหนุนใจจากผู้เชื่อคนอื่นด้วย ท่านบอกกับทิโมธีว่า “ยูบูลัส ปูเดนส์ ลีนัส คลาวเดีย และพี่น้องทั้งหลายฝากความคิดถึงมายังท่านด้วย” (ข้อ 21)
เราถูกสร้างมาเพื่อชุมชน และเรารู้สึกเช่นนั้นได้ดีที่สุดเมื่อเราอยู่ในวิกฤตคุณจะทำอะไรได้บ้างให้กับคนที่อาจรู้สึกโดดเดี่ยวในวันนี้
พระเจ้าแห่งสวนเอเดน
เมื่อหลายปีก่อน โจนี่ มิทเชลล์เขียนเพลงชื่อ “วู้ดสต๊อก” ซึ่งเธอบรรยายถึงมนุษยชาติที่ติดกับดักของการ “ต่อรอง” กับวิญญาณชั่ว เธอเรียกร้องให้ผู้ฟังของเธอแสวงหาการดำรงอยู่อย่างเรียบง่ายและสงบสุข โดยการร้องถึงการกลับไปยัง “สวน” มิทเชลล์ได้พูดแทนคนรุ่นหนึ่งที่ปรารถนาอยากมีเป้าหมายและความหมาย
คำว่า “สวน” ของมิทเชลล์คือสวนเอเดนนั่นเอง เอเดนเป็นสวรรค์ที่พระเจ้าสร้างให้เราในปฐมกาล ในสวนนี้ อาดัมและเอวาพบกับพระเจ้าเป็นประจำ จนวันหนึ่งที่พวกเขาต่อรองกับมาร (ดู ปฐก.3:6-7) วันนั้นไม่เหมือนเดิม “เวลาเย็นวันนั้นเขาทั้งสองได้ยินเสียงพระเจ้าเสด็จดำเนินอยู่ในสวน ชายนั้นกับภรรยาก็หลบไปซ่อนตัวอยู่ในหมู่ต้นไม้ในสวนนั้น ให้พ้นจากพระพักตร์พระเจ้า” (ข้อ 8)
เมื่อพระเจ้าตรัสถามว่าพวกเขาทำอะไรลงไป อาดัมและเอวาต่างโทษกันไปมา ถึงแม้พวกเขาจะไม่ยอมรับผิด พระเจ้าไม่ปล่อยให้พวกเขาอยู่แบบนั้น พระองค์ “ทรงทำเสื้อด้วยหนังสัตว์ให้อาดัมกับเอวาสวมปกปิดกาย” (ข้อ 21) เป็นการบอกเป็นนัยถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเพื่อไถ่โทษบาปของเรา
พระเจ้าไม่ได้ประทานหนทางให้เราย้อนกลับไปยังสวนเอเดน แต่พระองค์ประทานหนทางไปข้างหน้าสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระองค์ เราไม่สามารถย้อนกลับไปสวนเอเดนแต่เราสามารถกลับไปหาพระเจ้าแห่งสวนเอเดนได้
การเปลี่ยนแปลงใหญ่
คันธนูและลูกธนูอันวิจิตรงดงามสำหรับใช้ในโอกาสพิเศษถูกแขวนบนผนังบ้านของเราในมิชิแกนมาหลายปี ผมได้รับตกทอดมาจากพ่อที่ซื้อมันเป็นของที่ระลึกขณะที่เรารับใช้เป็นมิชชันนารีอยู่ในประเทศกาน่า
วันหนึ่งเพื่อนชาวกาน่ามาเยี่ยมเรา เมื่อเห็นธนูเขาทำหน้าแปลกๆ เขาพูดขณะชี้ไปที่สิ่งของเล็กๆที่มัดติดอยู่กับธนูนั้นว่า “นั่นเป็นเครื่องรางของขลัง ผมรู้ว่ามันไม่มีอำนาจอะไร แต่ผมจะไม่เก็บมันไว้ในบ้านของผม” เรารีบตัดเครื่องรางออกจากธนูแล้วทิ้งไป เราไม่ต้องการให้บ้านเรามีสิ่งของที่ใช้นมัสการพระอื่นใดนอกเหนือจากพระเจ้า
โยสิยาห์ กษัตริย์ผู้ครอบครองในเยรูซาเล็มทรงเติบโตขึ้นด้วยความรู้เพียงน้อยนิดในเรื่องความคาดหวังที่พระเจ้ามีต่อประชากรของพระองค์ เมื่อมหาปุโรหิตค้นพบหนังสือธรรมบัญญัติในพระนิเวศที่ถูกละเลยมาเป็นเวลานาน (2 พกษ.22:8) โยสิยาห์ทรงอยากสดับฟัง ทันทีที่พระองค์รู้ว่าพระเจ้าตรัสไว้อย่างไรเรื่องการกราบไหว้รูปเคารพ พระองค์ทรงออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อให้ยูดาห์ปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ยิ่งกว่าการตัดเครื่องรางออกจากคันธนูมากนัก (ดู 2 พกษ.23:3-7)
ผู้เชื่อในปัจจุบันนี้มีหลายสิ่งมากยิ่งกว่าที่โยสิยาห์มี เรามีพระคัมภีร์ทั้งเล่มที่จะสอนเรา เรามีเพี่อนผู้เชื่อ และเรามีการเต็มล้นของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้ทรงนำสิ่งต่างๆมาสู่ความสว่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กหรือใหญ่ที่เราอาจมองข้ามไป
ปฏิเสธการแก้ตัว
ตำรวจในเมืองแอตแลนต้าถามคนขับว่าเธอรู้สาเหตุที่เขาเรียกให้หยุดรถไหม เธอตอบอย่าง งงๆว่า “ไม่รู้เลย!” เจ้าหน้าที่บอกเธออย่างสุภาพ “คุณผู้หญิง คุณส่งข้อความขณะขับรถ” “ไม่นะ!” เธอท้วงโดยชูโทรศัพท์มือถือเป็นหลักฐาน “มันคืออีเมล”
การใช้มือถือเพื่อส่งอีเมลไม่ได้ทำให้เราใช้ช่องโหว่จากกฎหมายห้ามส่งข้อความขณะขับรถได้! ประเด็นของกฎหมายไม่ใช่เพื่อป้องกันการส่งข้อความ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เสียสมาธิในการขับรถ
พระเยซูกล่าวโทษผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์ว่าได้สร้างช่องโหว่ที่เลวร้ายยิ่งกว่า “เหมาะจริงนะ ที่เจ้าทั้งหลายได้ละทิ้งธรรมบัญญัติของพระเจ้า” ทรงยกธรรมบัญญัติว่า “จงให้เกียรติบิดามารดาของเจ้า” เป็นข้อพิสูจน์ (มก.7:9-10) ภายใต้เสื้อคลุมแห่งความหน้าซื่อใจคดของการอุทิศตนทางศาสนา ผู้นำที่ร่ำรวยเหล่านี้ละเลยครอบครัวของตน โดยประกาศง่ายๆว่าเงินของพวกเขาเป็น “ของถวายแด่พระเจ้า” และนั่นจึงไม่จำเป็นต้องช่วยบิดามารดาในวัยชรา พระเยซูเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในทันที ทรงตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายทำให้พระวจนะของพระเจ้าเป็นหมันไป ด้วยคำสอนที่พวกเจ้ารับมาจากบรรพบุรุษ” (ข้อ 13) พวกเขาไม่ได้ให้เกียรติพระเจ้าด้วยการที่ไม่ให้เกียรติบิดามารดาของตน
การแก้ตัวอาจเป็นเรื่องที่ดูออกได้ยาก เราใช้คำแก้ตัวนี้เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบ อธิบายให้ตัวเราพ้นจากพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวและปฏิเสธพระบัญชาโดยตรง หากนั่นอธิบายพฤติกรรมของเรา แสดงว่าเรากำลังหลอกตัวเอง พระเยซูให้โอกาสเราเปลี่ยนแนวโน้มที่เห็นแก่ตัวเพื่อรับการทรงนำจากพระวิญญาณผู้อยู่เบื้องหลังคำสอนที่ดีของพระบิดา