รายชื่อคือชีวิต
อิทชัค สเติร์น นั่งค้อมตัวทำงานอยู่เหนือเครื่องพิมพ์ดีดตลอดคืนเพื่อพิมพ์รายชื่อทั้งหมด 1,098 ชื่อ ทั้งหมดเป็นรายชื่อของคนงานชาวยิวที่เจ้าของโรงงานออสการ์ ชินด์เลอร์ ช่วยไว้จากพวกนาซี ขณะถือเอกสารไว้ในมือ สเติร์นประกาศว่า “รายชื่อนี้ดีเยี่ยม รายชื่อนี้คือชีวิต” เพราะรายชื่อในเอกสารนั้นได้รอดพ้นจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในปี 2012 มีการคำนวณคร่าวๆว่าลูกหลานของผู้รอดชีวิตในครั้งนั้นมีประมาณ 8,500 คน
ในพระคัมภีร์ก็มีรายชื่อแบบเดียวกัน แต่พวกเรามักจะอ่านข้ามไป เพราะมีีชื่อมากเกินไป มีชื่อที่ซ้ำกันมากเกินไป บางครั้งพวกเราก็บ่นว่าพระธรรมสำหรับวันนี้...น่าเบื่อ “บุตรของยูดาห์ตามครอบครัวของเขา คือเชลาห์คนตระกูลเชลาห์ เปเรศคนตระกูลเปเรศ ...” (กดว.26:20) ใครจะไปอยากรู้ล่ะ
แต่พระเจ้าทรงสนพระทัย! พวกเขาคือ “คนอิสราเอล ผู้ที่ออกจากแผ่นดินอียิปต์” ตามที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ (ข้อ 4) หลังจากนั้นไม่นานประชาชนได้เข้าครอบครองดินแดนที่ทรงสัญญาไว้กับพวกเขา และวันหนึ่งพระเมสสิยาห์จะมาจากชนเผ่ายูดาห์นี้ รายชื่อนี้คือชีวิต ไม่เพียงสำหรับชาวยิวเท่านั้น แต่สำหรับทุกคนที่เชื่อในพระเยซู
พวกเรารู้เกี่ยวกับรายชื่อของออสการ์ ชินด์เลอร์จากภาพยนตร์เรื่อง ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม และบันทึกทางประวัติศาสตร์ พวกเรารู้เรื่องการช่วยให้รอดที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจากเรื่องราวที่บันทึกไว้เพื่อเราในพระคัมภีร์ เมื่อเราอ่านพระวจนะของพระเจ้า ขอพระวิญญาณทรงสำแดงให้เราเห็นคุณค่าของรายชื่อเหล่านั้น รายชื่อเหล่านี้มีความหมายต่อเราเช่นกัน
ความยับยั้งชั่งใจอย่างชาญฉลาดในพระเจ้า
หลังการสูญเสียมหาศาลที่เกตตี้สเบิร์กในสงครามกลางเมืองอเมริกา (ค.ศ.1863) นายพลโรเบิร์ต อี.ลีได้นำกองกำลังที่ถูกตีพ่ายกลับไปยังดินแดนฝ่ายใต้ ฝนที่ตกหนักจนแม่น้ำโปโตแมคเอ่อล้นขัดขวางการถอยทัพของเขา ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นบอกให้นายพลจอร์จ มีต บุกโจมตี แต่ทหารของมีตเหนื่อยล้าพอๆกับทหารของลี เขาจึงให้กองทัพของเขาพัก
ลินคอล์นหยิบปากกาขนนกขึ้นมาเขียนจดหมายซึ่งเขาสารภาพว่าเขา “ทุกข์ใจอย่างเหลือล้น” ที่มีตฝ่าฝืนคำสั่งให้ไล่ล่าลี บนซองปรากฏข้อความที่ประธานาธิบดีเขียนด้วยลายมือว่า “ถึงนายพลมีต ไม่เคยส่ง หรือลงนาม” และก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ
เป็นเวลานานก่อนสมัยของลินคอล์น ผู้นำที่ยิ่งใหญ่อีกผู้หนึ่งก็ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมอารมณ์ของเรา ไม่ว่าจะมีเหตุผลเพียงใด ความโกรธก็นับว่าเป็นพลังที่มีอำนาจและอันตราย “เจ้าเห็นคนที่ปากไวหรือ” กษัตริย์ซาโลมอนถาม “ยังมีหวังในคนโง่มากกว่าเขา” (สภษ.29:20) ซาโลมอนทรงทราบว่า “พระราชาทรงให้เสถียรภาพแก่แผ่นดินด้วยความยุติธรรม” (ข้อ 4) และทรงเข้าใจว่า “คนโง่ย่อมให้ความโกรธของเขาพลุ่งออกมาเต็มที่ แต่ปราชญ์ย่อมยับยั้งโทสะไว้เงียบๆ” (ข้อ 11)
และในท้ายที่สุด การไม่ส่งจดหมายฉบับนั้นได้ช่วยป้องกันลินคอล์นจากการทำลายขวัญกำลังใจนายพลระดับสูงของเขา ช่วยให้ชนะสงคราม และมีส่วนในการเยียวยาประเทศชาติ เราควรเรียนรู้จากแบบอย่างในการยับยั้งชั่งใจอันชาญฉลาดของเขา
หัวใจของคนหูหนวก
เลอิซ่าพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของคนหูหนวกเพื่อจะพัฒนาทักษะภาษามือของเธอ ไม่นานเธอก็พบปัญหาที่พวกเขาเผชิญ คนหูหนวกมักถูกมองข้ามจากคนที่ได้ยิน ถูกคาดหวังให้อ่านปากได้โดยไม่ผิดพลาด และพลาดการเลื่อนตำแหน่งในที่ทำงานเป็นประจำ งานที่จัดขึ้นส่วนใหญ่ก็ไม่มีการแปลเป็นภาษามือ
ภาษามือของเลอิซ่าพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเธอรู้สึกคุ้นเคยกับคนหูหนวก ที่งานเลี้ยงหนึ่ง คนหูหนวกคนหนึ่งประหลาดใจเมื่อรู้ว่าเลอิซ่าไม่ได้หูหนวก ก่อนที่เลอิซ่าจะตอบ เพื่อนอีกคนหนึ่งใช้ภาษามือพูดว่า “เธอมีหัวใจของคนหูหนวก” กุญแจสำคัญคือเลอิซ่าเต็มใจที่จะอยู่ในโลกของพวกเขา
เลอิซ่าไม่ได้ “ลดตัวลงมา” อยู่กับคนหูหนวก นอกจากเรื่องการได้ยินของเธอแล้ว เธอเองก็เหมือนกับพวกเขา แต่พระเยซูได้เสด็จลงมาเพื่อเข้าหาเราทุกคน เพื่อใช้ชีวิตอยู่ในโลกของเรา “พระองค์ทรง[ถูก]ทำให้ต่ำกว่าทูตสวรรค์เพียงชั่วระยะหนึ่ง” (ฮบ.2:9) “บุตรทั้งหลายร่วมสายโลหิตกันฉันใด พระองค์ก็ทรงเป็นเช่นนั้นด้วย เพื่อโดยทางความตายนั้นเอง พระองค์จะได้ทรงทำลายผู้ที่มีอำนาจแห่งความตาย คือมารเสียได้” (ข้อ 14) โดยการทำเช่นนั้นพระองค์ทรงปลดปล่อย “เขาเหล่านั้นให้พ้นจากการเป็นทาสชั่วชีวิต เพราะเหตุกลัวความตาย” (ข้อ 15) ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรง “เป็นเหมือนกับพี่น้องทุกอย่าง เพื่อว่าพระองค์จะได้ทรงเป็นมหาปุโรหิต ผู้กอปรด้วยความเมตตาและความสัตย์ซื่อ ในการกระทำกิจกับพระเจ้า” (ข้อ 17)
ไม่ว่าเราจะเผชิญกับสิ่งใด พระเยซูทรงรู้และเข้าใจเรา พระองค์ทรงได้ยินหัวใจของเรา พระองค์ทรงอยู่กับเราในทุกสถานการณ์
หน้าต่างสู่ความมหัศจรรย์
ช่างภาพรอนน์ เมอร์เรย์ชอบอากาศที่หนาวเย็น “อากาศหนาวหมายถึงท้องฟ้าแจ่มใส” เขาอธิบาย “และนั่นจะเปิดหน้าต่างไปสู่ความมหัศจรรย์!”
รอนน์จัดทัวร์ถ่ายภาพในอลาสก้าโดยเฉพาะเพื่อติดตามร่องรอยการแสดงแสงสีที่ตระการตาที่สุดของโลก คือแสงเหนือออโรร่า รอนน์พูดถึงประสบการณ์นี้ว่าเป็นเรื่อง “ฝ่ายจิตวิญญาณ” หากคุณเคยเห็นการแสดงแสงสีรุ้งที่เต้นรำพาดผ่านท้องฟ้า คุณจะเข้าใจว่าทำไม
แต่แสงสว่างนี้ไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์แถบขั้วโลกเหนือเท่านั้น แสงใต้ซึ่งแทบจะเหมือนกับแสงเหนือ โดยเกิดขึ้นพร้อมๆกันในแถบขั้วโลกใต้นั้นเป็นแสงสว่างชนิดเดียวกัน
ในการเล่าเรื่องคริสต์มาสของอัครทูตยอห์น ท่านข้ามเรื่องรางหญ้าและคนเลี้ยงแกะไปและมุ่งตรงไปยังพระองค์ผู้ทรง “เป็นความสว่างของมนุษย์” (ยน.1:4) ในเวลาต่อมาเมื่อยอห์นเขียนเกี่ยวกับนครที่คล้ายสวรรค์ ท่านบรรยายถึงแหล่งแห่งความสว่างของนครนั้น “นครนั้นไม่ต้องการแสงของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เพราะพระสิริของพระเจ้าเป็นแสงสว่างของนครนั้น และพระเมษโปดกทรงเป็นดวงประทีปของนครนั้น” (วว.21:23) แหล่งแห่งความสว่างนี้คือพระเยซู ซึ่งเป็นแหล่งเดียวกับที่กล่าวไว้ในยอห์นบทที่ 1 และสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในนครแห่งอนาคตนี้ “กลางคืนจะไม่มีอีกต่อไป เขาไม่ต้องการแสงตะเกียงหรือแสงอาทิตย์ เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของเขา” (22:5)
เมื่อชีวิตของเราสะท้อนให้เห็นถึงความสว่างของโลกนี้ คือองค์พระผู้สร้างแสงเหนือและแสงใต้ เราก็กำลังเปิดหน้าต่างไปสู่สิ่งมหัศจรรย์อย่างแท้จริง
เมื่อชีวิตปรากฏ
ในปีค.ศ.1986 ภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนได้รับความสนใจจากทั่วโลก เมื่อความรุนแรงของภัยพิบัติปรากฏชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็รีบเร่งทำภารกิจที่สำคัญยิ่งยวดในการจำกัดวงของรังสี รังสีแกมม่าที่เป็นอันตรายจากเศษซากที่มีกัมมันตภาพรังสีสูงยังคงทำลายหุ่นยนต์ที่นำไปใช้ในการเก็บกวาดสิ่งที่เป็นพิษเหล่านี้
ดังนั้นพวกเขาจึงต้องใช้ “หุ่นยนต์ที่มีชีวิต” ซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง! วีรบุรุษหลายพันคนกลายเป็น “ผู้ชำระล้างเชอร์โนบิล” พวกเขากำจัดวัตถุอันตรายด้วยการ “ผลัดเวร” ครั้งละเก้าสิบวินาทีหรือน้อยกว่านั้น คนเหล่านั้นทำในสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ โดยที่แต่ละคนตกอยู่ในความเสี่ยงสูงยิ่ง
นานมาแล้ว การกบฏของเราต่อพระเจ้าทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงที่นำไปสู่หายนะทั้งหลายที่ตามมา (ดูปฐก.3) โดยทางอาดัมและเอวา เราได้เลือกที่จะแยกทางกับพระผู้สร้างของเรา และเราได้ทำให้โลกนี้อยู่ในภาวะเป็นพิษที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราไม่มีทางเก็บกวาดได้ด้วยตัวเราเอง
นั่นคือความหมายทั้งหมดของวันคริสต์มาส อัครทูตยอห์นเขียนถึงพระเยซูว่า “และชีวิตนั้นได้ปรากฏ และเราได้เห็น และเป็นพยาน และประกาศชีวิตนิรันดร์นั้นแก่ท่านทั้งหลาย ชีวิตนั้นได้ดำรงอยู่กับพระบิดาและได้ปรากฏแก่เราทั้งหลาย” (1ยน.1:2) แล้วยอห์นประกาศว่า “พระโลหิตของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ก็ชำระเราทั้งหลายให้ปราศจากบาปทั้งสิ้น” (ข้อ 7)
สรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างไม่สามารถให้ในสิ่งที่พระเยซูประทานนี้ได้ เมื่อเราเชื่อในพระองค์ พระองค์จะทรงฟื้นฟูเราให้มีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระบิดาของพระองค์ พระเยซูเป็นผู้ชำระล้างความตาย ชีวิตนั้นได้ปรากฏแล้ว
รักศัตรูของเรา
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ลินน์ เวสตันซึ่งเป็นพยาบาลทหารของกองทัพเรือ สหรัฐฯ ได้ขึ้นฝั่งไปกับนาวิกโยธินเมื่อพวกเขาเข้าค้นเกาะที่ศัตรูได้ยึดไว้ มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลินน์ทำแผลให้ทหารอย่างดีที่สุดเพื่อการถอนกำลังพล ในช่วงจังหวะหนึ่งหน่วยของเขาพบกับทหารฝ่ายศัตรูที่มีแผลฉกรรจ์บริเวณท้อง เนื่องจากลักษณะของบาดแผลชายคนนั้นจึงไม่สามารถดื่มน้ำได้ จ่าตรีเวสตันจึงฉีดพลาสม่าเข้าในเส้นเลือดเพื่อช่วยชีวิตเขา
“เก็บพลาสม่าไว้ช่วยพวกเราเอง ทหารเรือ!” นาวิกโยธินตะโกน จ่าตรีเวสตันไม่สนใจ เขารู้ว่าพระเยซูจะทำแบบนี้คือ “รักศัตรูของท่าน” (มธ.5:44)
พระเยซูทรงทำมากยิ่งกว่าเพียงแค่ตรัสคำพูดท้าทายเหล่านี้ เพราะพระองค์ทรงดำเนินชีวิตตามนั้นจริงๆ เมื่อมีกลุ่มคนมาจับพระองค์ไปหามหาปุโรหิต “ฝ่ายคนที่คุมพระเยซูก็เยาะเย้ยโบยตีพระองค์” (ลก.22:63) การข่มเหงดำเนินไปตลอดการไต่สวนและสั่งประหารชีวิตพระองค์ พระเยซูไม่เพียงแต่อดทนต่อสิ่งนั้น เมื่อพวกทหารโรมันตรึงพระองค์ พระองค์ทรงอธิษฐานขอการยกโทษให้พวกเขาด้วย (23:34)
เราอาจไม่ได้เผชิญหน้ากับศัตรูที่พยายามจะฆ่าเราจริงๆ แต่ทุกคนรู้ถึงความรู้สึกเมื่อต้องอดทนกับการเยาะเย้ยและการดูถูก การตอบสนองตามธรรมชาติของเราคือความโกรธ แต่พระเยซูได้กำหนดมาตรฐานไว้สูงกว่านั้น “จงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (มธ.5:44)
ในวันนี้ขอให้เราดำเนินในความรักเช่นนั้น โดยสำแดงความเมตตาอย่างที่พระเยซูทำ แม้แต่กับศัตรูของเรา
การแตกแยกครั้งใหญ่
ในการ์ตูนคลาสสิกเรื่องพีนัทส์ เพื่อนของไลนัสตำหนิเขาที่เชื่อเรื่องเจ้าแห่งฟักทอง ไลนัสเดินคอตกจากไปแล้วพูดว่า “ฉันได้เรียนรู้สามสิ่งที่ไม่ควรพูดกับคนอื่น ...ศาสนา การเมือง และเจ้าแห่งฟักทอง!”
เจ้าแห่งฟักทองมีตัวตนอยู่แค่ในความคิดของไลนัส แต่เป็นความจริงที่อีกสองหัวข้อนั้นทำให้เกิดการแตกแยกในประเทศชาติ ครอบครัว และเพื่อนฝูง ปัญหานี้เกิดขึ้นในสมัยของพระเยซูเช่นกัน พวกฟาริสีเคร่งครัดในเรื่องศาสนาและพยายามปฏิบัติตามกฎในพันธสัญญาเดิมทุกตัวอักษร พวกเฮโรเดียนฝักใฝ่ทางการเมืองมากกว่า แต่ทั้งสองกลุ่มต้องการเห็นชาวยิวหลุดพ้นจากการกดขี่ของโรม ดูเหมือนว่าพระเยซูจะไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกับพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงมาทูลถามพระองค์ด้วยคำถามที่จะจับผิดเรื่องการเมืองว่า ประชาชนควรเสียภาษีให้ซีซาร์หรือไม่ (มก.12:14-15) ถ้าพระเยซูตอบว่าควร ประชาชนก็จะไม่พอใจพระองค์ ถ้าพระองค์ตอบว่าไม่ควร พวกโรมจะสามารถจับกุมพระองค์ในข้อหากบฏได้
พระเยซูขอให้นำเหรียญมาและตรัสถามว่า “รูปและคำจารึกนี้เป็นของใคร” (ข้อ 16) ทุกคนรู้ว่าเป็นของซีซาร์ คำตรัสของพระเยซูยังดังก้องอยู่ในทุกวันนี้ “ของของซีซาร์จงถวายแก่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า” (ข้อ 17) พระเยซูทรงจัดความสำคัญตามลำดับเพื่อหลีกเลี่ยงกับดักของพวกเขา
พระเยซูเสด็จมาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา เมื่อเราติดตามการทรงนำของพระองค์ เราเองก็จะแสวงหาพระเจ้าและอาณาจักรของพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด โดยการหันความสนใจไปจากความขัดแย้งทั้งหมดและจดจ่อที่พระองค์ผู้ทรงเป็นความจริง
ผลตอบแทน
ในปีค.ศ. 1921 ศิลปินแซม โรเดียเริ่มก่อสร้างงานประติมากรรมทรงสูงชื่อวัตต์ทาวเวอร์ สามสิบสามปีต่อมา ประติมากรรมสิบเจ็ดชิ้นก็ตั้งสูงขึ้นไปถึงสามสิบเมตรเหนือนครลอสแองเจลิส นักดนตรีเจอร์รี่ การ์เซียด้อยค่าผลงานชิ้นสำคัญในช่วงชีวิตของโรเดียนี้ว่า “นี่คือผลตอบแทนที่คงอยู่หลังจากที่คุณตายไป” แล้วเขาก็บอกว่า “ว้าว นั่นไม่ใช่สำหรับผมหรอก”
ถ้าเช่นนั้นแล้วผลตอบแทนของเขาคืออะไร บ๊อบ เวียร์เพื่อนร่วมวงของเขา สรุปปรัชญาของพวกเขาไว้ว่า “ในนิรันดร์กาล ไม่มีใครจดจำคุณได้หรอก แล้วทำไมไม่เพียงสนุกไปกับมันก็พอ”
ครั้งหนึ่งชายผู้มั่งคั่งและเฉลียวฉลาดเคยพยายามค้นหา “ผลตอบแทน” โดยการทำทุกอย่างที่ท่านทำได้ ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้ารำพึงว่า ‘มาเถอะ มาลองสนุกสนานกันดู เอ้า จงสนุกสบายใจไป’” (ปญจ.2:1) แต่ท่านเขียนด้วยว่า “ไม่มีใครระลึกถึงคนมีสติปัญญาเช่นเดียวกับคนเขลา” (ข้อ 16) ท่านสรุปว่า “การงานที่เขาทำกันภายใต้ดวงอาทิตย์ก่อความสลดใจให้แก่ข้าพเจ้า” (ข้อ 17)
ชีวิตและคำสอนของพระเยซูนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการดำเนินชีวิตแบบคนสายตาสั้นเช่นนั้น พระเยซูเสด็จมาเพื่อประทาน “ชีวิต...อย่างครบบริบูรณ์” (ยน.10:10) แก่เรา และสอนเราให้ดำเนินชีวิตนี้โดยคำนึงถึงชีวิตบนสวรรค์ด้วย “อย่าส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก” พระองค์ตรัส “แต่จงส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์” (มธ.6:19-20) แล้วพระองค์ทรงสรุปไว้ว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้” (ข้อ 33)
นี่คือผลตอบแทนที่เราจะได้รับทั้งภายใต้ดวงอาทิตย์นี้และในชีวิตนิรันดร์
รวมกันในบั้นปลาย
ในปีค.ศ.1960 อ็อตโต พรีมิงเกอร์ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นด้วยภาพยนตร์เรื่อง ชนวนไฟสงคราม (Exodus) ของเขา ภาพยนตร์อ้างอิงมาจากนิยายของลีออน ยูริสซึ่งเป็นเรื่องราวของผู้อพยพชาวยิวที่ย้ายไปประเทศปาเลสไตน์หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภาพยนตร์มีภาพของร่างเด็กสาวลูกครึ่งยุโรปและยิวกับชายชาวอาหรับ ทั้งคู่เป็นเหยื่อที่ถูกสังหารและถูกฝังไว้ในหลุมเดียวกันในที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นประเทศอิสราเอล
พรีมิงเกอร์ทิ้งตอนสุดท้ายไว้ให้เราสรุป ว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งความสิ้นหวังและความฝันที่ถูกฝังไว้ตลอดกาล หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ที่ทั้งสองคนซึ่งมีอดีตเป็นศัตรูและเกลียดชังกันได้มาอยู่ร่วมกัน ทั้งในชีวิตและความตาย
บรรดาบุตรชายของโคราห์ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 87 อาจมองดูสถานการณ์นี้จากมุมมองที่สอง พวกเขารอคอยสันติที่พวกเรายังรอคอยอยู่ พวกเขาเขียนถึงเยรูซาเล็มว่า “โอ นครแห่งพระเจ้าเอ๋ย เขากล่าวสรรเสริญเธอ” (ข้อ 3) พวกเขาร้องเพลงถึงวันที่ชนชาติทั้งหลายที่เคยทำสงครามกับคนยิว จะมาร่วมกันสรรเสริญพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว ทั้งราหับ(อียิปต์) บาบิโลน ฟีลิสเตีย ไทระ และเอธิโอเปีย (ข้อ 4) ทุกชนชาติจะถูกนำมาสู่เยรูซาเล็มและพระเจ้า
บทสรุปของพระธรรมสดุดีนี้คือการเฉลิมฉลอง คนในเยรูซาเล็มจะร้องว่า “น้ำพุทั้งสิ้นของเราอยู่ในเธอ” (ข้อ 7) พวกเขาร้องถึงพระองค์ผู้ทรงเป็นน้ำแห่งชีวิต และเป็นแหล่งแห่งชีวิตทั้งมวล (ยน.4:14) พระเยซูเป็นผู้เดียวที่จะนำมาซึ่งสันติสุขและเอกภาพนิรันดร์