ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Sheridan Voysey

คำอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่น

หลังจากพยายามที่จะมีลูกมาหลายปี ริชาร์ดและซูซานดีใจมากเมื่อซูซานตั้งครรภ์แต่ปัญหาสุขภาพของเธอทำให้เด็กมีความเสี่ยง ริชาร์ดจึงคอยอธิษฐานเผื่อภรรยาและลูกทุกคืน คืนหนึ่งเขารู้สึกว่าไม่ต้องอธิษฐานมากก็ได้เพราะพระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่าจะดูแลทุกอย่าง แต่สัปดาห์ต่อมาซูซานแท้งลูกริชาร์ดเสียใจอย่างรุนแรงและสงสัยว่า พวกเขาเสียเด็กไปเพราะอธิษฐานไม่มากพอหรือเปล่า

เมื่ออ่านครั้งแรก เราอาจคิดว่าเรื่องราวของคำอุปมาในวันนี้บอกเช่นนั้นในเรื่องนี้เพื่อนบ้าน (บางครั้งถูกเปรียบว่าเป็นพระเจ้า) ลุกจากเตียงไปช่วยเพื่อนเพียงเพราะการรบเร้าที่น่ารำคาญของเขา (ลก.11:5-8) เมื่ออ่านตามนี้ คำอุปมาบอกเป็นนัยว่าพระเจ้าจะทรงให้สิ่งที่เราต้องการก็ต่อเมื่อเรารบเร้าพระองค์ และถ้าเราอธิษฐานไม่มากพอ พระเจ้าอาจจะไม่ช่วยเรา

แต่นักอรรถาธิบายพระคัมภีร์อย่าง ไคลน์ สน็อดกราส เชื่อว่านี่เป็นการเข้าใจคำอุปมาที่ผิด ความหมายที่แท้จริงคือถ้าเพื่อนบ้านยังช่วยเราเพราะเหตุผลที่เห็นแก่ตัว พระบิดาผู้เสียสละจะไม่ยิ่งช่วยเรามากกว่านั้นหรือ เราจึงทูลขอได้อย่างมั่นใจ (ข้อ 9-10) โดยรู้ว่าพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ที่บกพร่อง (ข้อ 11-13) พระองค์ไม่ใช่เพื่อนบ้านในคำอุปมาแต่ทรงเป็นแบบตรงกันข้าม

“ผมไม่รู้ว่าทำไมคุณจึงสูญเสียลูกไป” ผมบอกริชาร์ด “แต่ผมรู้ว่าไม่ใช่เพราะคุณอธิษฐานไม่ ‘มากพอ’ พระเจ้าไม่ได้ทรงเป็นเช่นนั้น”

บุตรของพระเจ้า

ผมเคยพูดในการประชุมของคู่แต่งงานที่ไม่มีลูกครั้งหนึ่ง ผู้เข้าร่วมหลายคน ที่หัวใจสลายจากการไม่มีลูกรู้สึกหมดหวังกับอนาคต ผมพยายามให้กำลังใจพวกเขาเพราะผมเองก็ไม่มีลูกเช่นกัน “พวกคุณสามารถมีชีวิตที่มีความหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อหรือแม่” ผมพูด “ผมเชื่อว่าพวกคุณถูกสร้างอย่างมหัศจรรย์และน่าครั่นคร้าม และมีจุดมุ่งหมายใหม่ให้พวกคุณค้นหา”

หลังจากนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งมาหาผมพร้อมน้ำตา “ขอบคุณ” เธอพูด “ฉันรู้สึกไร้ค่ามาตลอดเพราะไม่มีลูก และต้องได้ยินว่าฉันถูกสร้างมาอย่างมหัศจรรย์และน่าครั่นคร้าม” ผมถามว่าเธอเชื่อในพระเยซูใช่ไหม “ฉันละทิ้งพระเจ้าเมื่อหลายปีก่อน” เธอกล่าว “แต่ฉันต้องมีความสัมพันธ์กับพระองค์อีกครั้ง”

เหตุการณ์เช่นนี้เตือนผมถึงความลึกซึ้งของพระกิตติคุณ สถานะบางอย่างเช่น “แม่” และ “พ่อ” เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุเป้าหมาย สถานะอื่นๆในด้านอาชีพการงานอาจหายไปจากการถูกเลิกจ้าง แต่โดยทางพระเยซูเราได้กลายเป็น “บุตรที่รัก” ของพระเจ้า ซึ่งเป็นสถานะที่ไม่มีใครขโมยไปได้ (อฟ.5:1) และเมื่อนั้นเราจะสามารถ “ดำเนินชีวิตในความรัก” อันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตที่อยู่เหนือบทบาทและตำแหน่งหน้าที่ใดๆ (ข้อ 2)

มนุษย์ทุกคนล้วน “มหัศจรรย์และน่าครั่นคร้าม” (สดด.139:14 TNCV) และทุกคนที่ติดตามพระเยซูจะกลายเป็นบุตรของพระเจ้า (ยน.1:12-13) ผู้หญิงคนนั้นที่ครั้งหนึ่งเคยสิ้นหวังได้จากไปพร้อมความหวังที่จะค้นหาตัวตนและจุดมุ่งหมายซึ่งใหญ่กว่าที่โลกนี้จะให้ได้

ตัวตนที่แท้จริงของเรา

ในอัลบั้มรูปของพ่อแม่ผมมีภาพเด็กชายคนหนึ่ง เขามีใบหน้ากลม ตกกระ ผมสีบลอนด์เหยียดตรง เขาชอบการ์ตูน เกลียดอโวคาโด และมีแผ่นเสียงเพียงแผ่นเดียวคือของวงแอ็บบา ในอัลบั้มเดียวกันนั้นยังมีภาพของเด็กวัยรุ่น ใบหน้ายาว ผมหยักเป็นคลื่น ไม่มีกระ ชอบกินอโวคาโด ชอบดูหนังไม่ใช่การ์ตูน และจะไม่มีวันยอมรับว่าตนมีแผ่นเสียงของแอ็บบา! เด็กชายและเด็กวัยรุ่นมีความเหมือนกันเล็กน้อย ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วพวกเขามีผิว ฟัน เลือดและกระดูกที่ต่างกัน แต่ทั้งสองคนก็คือผม ความขัดแย้งนี้ทำให้นักปรัชญางุนงง ถ้ามนุษย์เราเปลี่ยนแปลงในตลอดชีวิต แล้วใครที่เป็นเราตัวจริง

พระวจนะมีคำตอบ นับแต่วินาทีที่พระเจ้าทรงถักทอเราเข้าด้วยกันในครรภ์มารดา (สดด.139:13-14) เราก็เติบโตขึ้นในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ในขณะที่เราจะยังนึกไม่ออกว่าสุดท้ายแล้วเราจะกลายเป็นคนอย่างไร แต่เรารู้ว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้าซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นเหมือนพระเยซู (1 ยน.3:2) ร่างกายเราแต่มีธรรมชาติแบบพระองค์ บุคลิกภาพของเราแต่มีอุปนิสัยแบบพระองค์ ของประทานทุกอย่างของเราจะเป็นที่ประจักษ์ และบาปทั้งหลายจะหมดไป

เรากำลังเติบโตไปสู่ตัวตนในอนาคตของเราจนพระเยซูจะเสด็จกลับมา โดยพระราชกิจของพระองค์ ทีละก้าว เราจะสามารถสะท้อนภาพของพระองค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ (2 คร.3:18) เรายังไม่ได้เป็นคนที่เราควรจะเป็น แต่ในขณะที่เราเปลี่ยนไปเป็นเหมือนพระองค์ เราจะได้เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา

ความรู้สึกผิดกับการให้อภัย

ในหนังสือมนุษย์เหมือนกัน โดนัลด์ บราวน์นักมานุษยวิทยาแจกแจงพฤติกรรมกว่า 400 อย่างที่มนุษย์ทั่วโลกมีเหมือนกัน เช่น ของเล่น เรื่องตลก การเต้นรำ สุภาษิต ความกลัวงูและการใช้เชือกผูกสิ่งของ! เช่นเดียวกัน เขาเชื่อว่าทุกวัฒนธรรมมีแนวคิดในเรื่องสิ่งที่ถูกและผิด ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมความมีน้ำใจ สัญญาต้องรักษา และความใจร้ายกับการฆาตกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราทุกคนมีสามัญสำนึกไม่ว่าเราจะเป็นใครมาจากไหน

อัครทูตเปาโลกล่าวคล้ายกันเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว แม้พระเจ้าประทานบัญญัติสิบประการให้ชาวยิวเพื่อจะแยกแยะสิ่งถูกผิด เปาโลสังเกตเห็นว่าคนต่างชาติก็ยังทำสิ่งที่ถูกต้องได้เมื่อทำตามสามัญสำนึก แสดงว่าพระบัญญัติของพระเจ้าจารึกอยู่ในจิตใจของพวกเขา (รม.2:14-15) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทำสิ่งที่ถูกต้องเสมอ คนต่างชาติกบฏต่อสามัญสำนึกของตน (1:32) คนยิวทำผิดธรรมบัญญัติ (2:17-24) ทำให้ทั้งสองมีความผิดไม่ต่างกัน แต่โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ พระเจ้าทรงเอาการลงโทษถึงตายออกไปจากการละเมิดทั้งสิ้นของเรา (3:23-26; 6:23)

เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทุกคนให้มีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี เราแต่ละคนจึงรู้สึกผิดเมื่อทำสิ่งไม่ดีหรือเมื่อไม่ได้ทำสิ่งที่ดี เมื่อเราสารภาพความบาปเหล่านั้น พระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดเหมือนกระดานที่ถูกลบจนสะอาด สิ่งเดียวที่เราต้องทำไม่ว่าเราจะเป็นใครหรือมาจากไหนคือทูลขอจากพระองค์

สังเกตธรรมชาติ

ผมและเพื่อนเพิ่งไปเดินในเส้นทางที่ผมชื่นชอบ เราปีนเขาที่มีลมพัดแรง ข้ามทุ่งดอกไม้ป่าไปยังป่าสนสูงตระหง่าน จากนั้นก็ลงไปในหุบเขาและหยุดพักชั่วขณะ ปุยเมฆลอยอยู่เหนือเราและมีธารน้ำไหลรินอยู่ใกล้ๆ มีเพียงเสียงนกร้อง ผมกับเจสันยืนสงบอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 15 นาทีเพื่อซึมซับบรรยากาศ

ปรากฏว่าสิ่งที่เราทำในวันนั้นเป็นการบำบัดส่วนลึกภายใน จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเดอร์บี้พบว่าคนที่หยุดนิ่งเพื่อพิจารณาธรรมชาติจะได้สัมผัสกับความสุขในระดับที่สูงขึ้นและมีความวิตกน้อยลง รวมทั้งมีความปรารถนาที่จะดูแลโลกมากขึ้น แต่แค่เดินป่าอย่างเดียวยังไม่พอ คุณต้องหัดดูเมฆ ฟังเสียงนก หัวใจสำคัญไม่ใช่การอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นการสังเกตมันต่างหาก

มีเหตุผลฝ่ายวิญญาณสำหรับประโยชน์ของธรรมชาติหรือไม่ เปาโลกล่าวว่า สิ่งทรงสร้างเผยให้เห็นฤทธานุภาพและพระลักษณะของพระเจ้า (รม.1:20) พระเจ้าบอกให้โยบมองไปที่ทะเล ท้องฟ้า และดวงดาว ซึ่งเป็นหลักฐานถึงการทรงสถิตของพระองค์ (โยบ 38-39) พระเยซูตรัสว่าการพิจารณาดู “นกในอากาศ” และ “ดอกไม้ที่ทุ่งนา” ช่วยให้เราเห็นถึงความห่วงใยของพระเจ้าและลดความวิตกกังวลลง (มธ.6:25-30) ในพระคัมภีร์ การสังเกตธรรมชาติเป็นการฝึกฝนฝ่ายจิตวิญญาณ

นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าเหตุใดธรรมชาติจึงมีอิทธิพลต่อเราในเชิงบวก อาจเป็นไปได้ว่า การสังเกตธรรมชาติทำให้เราเห็นเสี้ยวหนึ่งของพระเจ้า องค์พระผู้สร้างและผู้ที่สังเกตดูเรา

เริ่มต้นด้วยนม

ในสมัยศตวรรษที่เจ็ด บริเวณที่เป็นสหราชอาณาจักรในปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยหลายอาณาจักรที่มักสู้รบกัน เมื่อกษัตริย์ออสวอลด์แห่งนอร์ธัมเบรียรับเชื่อพระเยซู พระองค์ให้ส่งผู้ประกาศพระกิตติคุณไปยังดินแดนของพระองค์ ชายชื่อคอร์แมนถูกส่งออกไป แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปด้วยดีเขาพบว่าชาวอังกฤษ “ดื้อรั้น” “ป่าเถื่อน” และไม่สนใจในคำสอนของเขา เขาจึงกลับบ้านอย่างผิดหวัง

บาทหลวงชื่อไอเด็นพูดกับคอร์แมนว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าท่านคาดหวังมากเกินไปจากผู้ฟังที่ยังไม่เคยได้รับการสอนมาก่อน” แทนที่จะให้ชาวนอร์ธัมเบรียได้กิน “น้ำนมแห่งคำสอนง่ายๆ” คอร์แมนสอนสิ่งที่พวกเขายังไม่สามารถเข้าใจได้ ไอเด็นเดินทางไปยังนอร์ธัมเบรีย โดยปรับคำสอนให้เข้าใจง่าย และมีคนมาเชื่อพระเยซูหลายพันคน

ไอเด็นได้ความเข้าใจนี้จากพระวจนะที่เปาโลพูดกับชาวโครินธ์ว่า “ข้าพเจ้าเลี้ยงท่านด้วยน้ำนมมิใช่ด้วยอาหารแข็ง เพราะว่าเมื่อก่อนนั้นท่านยังไม่สามารถรับ” (1 คร.3:2) พระธรรมฮีบรูบอกว่าก่อนที่เราจะคาดหวังให้คนใช้ชีวิตอย่างถูกต้อง พวกเขาต้องได้รับการสอนให้เข้าใจเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับพระเยซู การกลับใจ และการรับบัพติศมาเสียก่อน (ฮบ.5:13-6:2) จากนั้นความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณจึงจะตามมา (5:14) อย่าสลับขั้นตอน น้ำนมต้องมาก่อนเนื้อ คนเราไม่อาจเชื่อฟังคำสอนที่พวกเขาไม่เข้าใจ

ความเชื่อของชาวนอร์ธัมเบรียแพร่กระจายไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ เมื่อเราประกาศข่าวประเสริฐ เราต้องทำเหมือนไอเด็นคือ ปรับตัวเข้าหาผู้ฟัง

คนนิสัยไม่ดี

ลูซี่ เวอร์สลีย์เป็นนักประวัติศาสตร์และนักจัดรายการโทรทัศน์ชาวอังกฤษ เธอก็เหมือนกับบุคคลสาธารณะส่วนมากที่ได้รับจดหมายหยาบคาย ในกรณีของเธอเป็นเรื่องความบกพร่องด้านการออกเสียงเล็กน้อยที่ทำให้เสียง ร ฟังคล้ายเสียง ว มีคนหนึ่งเขียนมาว่า “ลูซี่ ผมขอพูดตรงๆขอให้คุณปรับปรุงการออกเสียง หรือไม่ก็เอาคำที่มี ร ออกจากบทพูดให้หมด เพราะผมรำคาญจนไม่สามารถทนดูรายการของคุณจนจบได้ ด้วยความนับถือ ดาร์เรน”

สำหรับบางคน การแสดงความคิดเห็นที่ทำร้ายจิตใจแบบนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบกลับอย่างหยาบคายพอกัน แต่ลูซี่ตอบสนองว่า “ดาร์เรน ฉันคิดว่าคุณใช้การไม่เปิดเผยตัวตนทางอินเทอร์เน็ตเพื่อพูดในสิ่งที่คุณอาจจะไม่กล้าพูดต่อหน้าฉัน ขอช่วยพิจารณาคำพูดที่ไม่ดีของคุณใหม่ด้วยค่ะ! ลูซี่”

การตอบสนองอย่างมีสติของลูซี่ได้ผล ดาร์เรนขอโทษและสัญญาว่าจะไม่ส่งอีเมลแบบนี้ให้ใครอีก

สุภาษิตบันทึกไว้ว่า “คำตอบอ่อนหวานช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ” (15:1) ขณะที่คนใจ​ร้อนเร้า​การ​วิวาท แต่คนที่โกรธช้าทำให้ทุกอย่างสงบลง (ข้อ 18) เมื่อเราได้รับคำวิจารณ์จากเพื่อนร่วมงาน คำพูดเหยียดหยามจากคนในครอบครัว หรือคำตอบหยาบคายจากคนแปลกหน้า เราเลือกได้ว่าจะใช้คำพูดรุนแรงที่เติมเชื้อไฟหรือใช้คำพูดสุภาพเพื่อดับไฟ

ขอพระเจ้าทรงช่วยเราให้ใช้คำพูดที่ช่วยละลายความโกรธเกรี้ยว และบางทีคำพูดนั้นอาจช่วยให้คนที่นิสัยไม่ดีนั้นเปลี่ยนแปลง

เพลงสลัม

แคเทียร่าเป็นสลัมเล็กๆที่ประเทศปารากวัยในอเมริกาใต้ ด้วยความยากจนชาวบ้านจึงเอาชีวิตรอดด้วยการนำขยะจากกองขยะกลับมาใช้ซ้ำ แต่จากสภาพที่ย่ำแย่นี้ได้มีบางสิ่งที่งดงามก่อกำเนิดขึ้น นั่นคือวงออร์เคสตร้า

ด้วยราคาไวโอลินที่แพงกว่าบ้านในแคเทียร่า วงออร์เคสตร้าจึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ โดยพวกเขาสร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาจากวัสดุในกองขยะ ไวโอลินทำมาจากกระป๋องน้ำมันกับส้อมที่ดัดงอเป็นส่วนหาง แซ็กโซโฟนทำมาจากท่อน้ำทิ้งกับจุกขวดน้ำเป็นแป้นกด เชลโล่ทำจากถังดีบุกและลูกกลิ้งที่ใช้ทำแป้งย็อคคีเป็นหมุดตั้งเสียง การได้ฟังบทเพลงของโมสาร์ทบรรเลงด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่น่าทึ่งนี้ช่างเป็นสิ่งสวยงาม วงออร์เคสตร้าวงนี้ได้ทำการแสดงในหลายประเทศ และได้ยกระดับภาพลักษณ์ของสมาชิกรุ่นเยาว์เหล่านี้

ไวโอลินที่ทำจากกองขยะ ดนตรีจากสลัม นั่นคือเครื่องหมายแสดงถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ ในตอนที่ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์บรรยายภาพการทรงสร้างขึ้นใหม่ของพระเจ้า เป็นภาพที่คล้ายคลึงกันของความงดงามที่เกิดขึ้นจากความขัดสน ถิ่นทุรกันดารกลายเป็นทุ่งดอกไม้ที่เบ่งบาน (อสย.35:1-2) ลำธารพลุ่งขึ้นในทะเลทราย (ข้อ 6-7) เปลี่ยนอาวุธที่ใช้ทำสงครามให้เป็นเครื่องมือทางการเกษตร (2:4) และคนอนาถากลับสู่สภาพดีด้วยเสียงร้องเพลงแห่งความชื่นบาน (35:5-6, 10)

“โลกส่งขยะมาให้พวกเรา” ผู้อำนวยการวงออร์เคสตร้าแคเทียร่ากล่าว“แต่เราส่งเสียงดนตรีกลับไป” และเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น พวกเขาทำให้โลกได้เห็นภาพของอนาคตคือเมื่อพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจนหมดสิ้น และความขัดสนจะไม่มีอีกต่อไป

เผชิญหน้ากับความกลัว

วอร์เรนย้ายไปเป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์ในเมืองเล็กๆ หลังพันธกิจเริ่มประสบความสำเร็จ ชาวบ้านคนหนึ่งสร้างปัญหาให้เขา โดยกุเรื่องหาว่าวอร์เรนมีพฤติกรรมน่าหวาดกลัว เขาส่งเรื่องไปยังหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และพิมพ์ใบปลิวคำกล่าวหานั้นส่งให้ทุกคนในหมู่บ้านทางไปรษณีย์ วอร์เรนและภรรยาเริ่มอธิษฐานอย่างหนัก หากผู้คนเชื่อคำโกหกชีวิตของพวกเขาจะต้องพังพินาศ

กษัตริย์ดาวิดเคยมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน พระองค์ถูกโจมตีด้วยคำใส่ร้ายของศัตรู “เขาประทุษร้ายต่อกิจการของข้าพระองค์วันยังค่ำ” พระองค์ตรัส “ความคิดทั้งสิ้นของเขาล้วนมุ่งร้ายต่อข้าพระองค์” (สดด.56:5) การกล่าวหาอย่างต่อเนื่องทำให้ทรงหวาดกลัวและทุกข์ใจ (ข้อ 8) แต่ในท่ามกลางการต่อสู้ พระองค์กล่าวคำอธิษฐานที่ทรงพลังว่า “เมื่อข้าพระองค์กลัว ข้าพระองค์วางใจในพระองค์...เนื้อหนังจะทำอะไรแก่ข้าพระองค์ได้” (ข้อ 3-4)

คำอธิษฐานของกษัตริย์ดาวิดเป็นแบบอย่างให้กับเราในวันนี้ เมื่อข้าพระองค์กลัว ในเวลาที่เรากลัวหรือถูกใส่ร้าย ให้เราหันไปหาพระเจ้า ข้าพระองค์วางใจในพระองค์ คือการมอบสงครามของเราไว้ในพระหัตถ์อันทรงพลานุภาพของพระเจ้า เนื้อหนังจะทำอะไรแก่ข้าพระองค์ได้ คือให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์พร้อมกับพระองค์ เราจะระลึกได้ว่าศัตรูของเรามีข้อจำกัดเพียงใด

หนังสือพิมพ์ไม่ให้ความสนใจในเรื่องของวอร์เรน ด้วยสาเหตุบางอย่างใบปลิวไม่เคยถูกแจกจ่ายออกไป วันนี้คุณหวาดกลัวในสงครามใด จงบอกกับพระเจ้า พระองค์ทรงยินดีที่จะต่อสู้ร่วมกับคุณ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา