การให้เหมือนพระคริสต์
ตอนที่ โอ.เฮนรี่นักเขียนชาวอเมริกันเขียนหนังสือ “ของขวัญจากโหราจารย์” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคริสต์มาสที่เขารักในปีค.ศ. 1905 นั้น เขากำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นจากปัญหาส่วนตัว กระนั้นเขากลับเขียนเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเน้นถึงคุณลักษณะอันงดงามเหมือนพระคริสต์ นั่นคือการเสียสละ ในเรื่องภรรยาผู้ยากไร้ขายผมยาวสลวยของเธอในวันคริสต์มาสอีฟเพื่อซื้อสายนาฬิกาพกทองคำให้สามี แต่เธอกลับรู้ภายหลังว่าสามีขายนาฬิกาพกของเขาเพื่อซื้อชุดหวีสำหรับผมอันงดงามของเธอ
ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเขามอบให้กันคืออะไรน่ะหรือ ก็คือการเสียสละ การกระทำของทั้งคู่แสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่
ในทำนองเดียวกันนี้ เรื่องราวที่เขาเขียนจึงได้นำเสนอของขวัญแห่งความรักของโหราจารย์ (นักปราชญ์)ที่ถวายแด่พระกุมารเยซูภายหลังการประสูติอันศักดิ์สิทธิ์ (ดู มธ.2:1,11) แต่ที่ยิ่งไปกว่าของขวัญเหล่านั้นคือ วันหนึ่งพระกุมารเยซูจะเติบโตขึ้นและประทานชีวิตของพระองค์แก่คนทั้งโลก
ในชีวิตประจำวันของเรา ผู้เชื่อในพระคริสต์สามารถสำแดงถึงของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้โดยการเสียสละเวลา ทรัพย์สมบัติ และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่จะถ่ายทอดความรักของเราไปสู่ผู้อื่น ดังที่อัครทูตเปาโลเขียนไว้ “พี่น้องทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” (รม.12:1) ไม่มีของขวัญใดจะดีไปกว่าการเสียสละเพื่อผู้อื่นโดยความรักของพระเยซู
พระทัยพระเจ้าสำหรับทุกคน
แดน กิลวัยเก้าขวบกับอาร์ชี่เพื่อนสนิทมาถึงงานเลี้ยงวันเกิดเพื่อนร่วมชั้นของพวกเขา แต่เมื่อแม่ของเด็กชายเจ้าของวันเกิดเห็นอาร์ชี่ เธอก็ไม่ยอมให้เขาเข้าไปโดยยืนกรานว่า “มีเก้าอี้ไม่พอ” แดนเสนอว่าจะนั่งบนพื้นเพื่อให้มีที่สำหรับเพื่อนของเขาซึ่งเป็นคนผิวดำ แต่คุณแม่ก็ปฏิเสธ แดนจึงมอบของขวัญของพวกเขาไว้กับเธอแล้วกลับบ้านพร้อมอาร์ชี่ด้วยความเศร้าใจ ความเจ็บปวดจากการที่เพื่อนถูกปฏิเสธแผดเผาหัวใจของเขา
หลายสิบปีต่อมา ปัจจุบันแดนเป็นครูที่เก็บเก้าอี้ว่างตัวหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ เมื่อนักเรียนถามเหตุผล เขาอธิบายว่านี่เป็นเครื่องเตือนใจให้ “มีที่ว่างในห้องเรียนสำหรับทุกคนเสมอ”
การมีหัวใจสำหรับทุกคนนั้นพบได้ในชีวิตของพระเยซูที่ทรงต้อนรับทุกคน “บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข” (มธ.11:28) คำเชิญนี้อาจดูขัดแย้งกับแนวทางการทำพันธกิจของพระเยซูที่ว่า “พวกยิวก่อน” (รม.1:16) แต่ของขวัญแห่งความรอดเป็นของทุกคนที่เชื่อในพระเยซู “คือความชอบธรรมของพระเจ้า ซึ่งทรงประทานโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์แก่ทุกคนที่เชื่อ” เปาโลเขียน “เพราะว่าคนทั้งหลายไม่ต่างกัน” (3:22)
เราจึงชื่นชมยินดีเมื่อพระคริสต์ทรงเชื้อเชิญทุกคนให้ “เอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก” (มธ.11:29) สำหรับทุกคนที่แสวงหาการพักสงบในพระองค์ พระทัยที่เปิดกว้างของพระองค์ทรงรออยู่
พิซซ่าแห่งความมุ่งมั่น
เมื่ออายุ12 ปี อิบราฮิมมาจากแอฟริกาฝั่งตะวันตกถึงประเทศอิตาลีโดยไม่รู้ภาษาอิตาลีเลยสักคำ เขามีปัญหาการพูดตะกุกตะกักและต้องเจอกับการดูหมิ่นจากคนที่ไม่ชอบผู้อพยพ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้หยุดยั้งชายหนุ่มวัยยี่สิบปีกว่าผู้ทำงานหนักจนได้เปิดร้านพิซซ่าในเมืองเทรนโตประเทศอิตาลี กิจการเล็กๆของเขาได้เอาชนะคำครหาของทุกคนด้วยการเป็นร้านพิซซ่าติดหนึ่งในห้าสิบอันดับแรกของโลก
จากนั้นความหวังของเขาคือการได้แบ่งปันอาหารให้เด็กๆข้างถนนในอิตาลี เขาจึงเริ่มโครงการ “พิซซ่าการกุศล” โดยการขยายวัฒนธรรมนาโปลิตัน ซึ่งก็คือการที่ลูกค้าซื้อกาแฟเพิ่มคนละแก้วเผื่อคนที่ขาดแคลน (เรียกว่า caffe sospeso) ให้มาเป็นพิซซ่า (pizza sospesa) แทน และเขายังหนุนใจเด็กๆผู้อพยพให้มองข้ามอคติในอดีตและไม่ยอมแพ้ด้วย
ความมุ่งมั่นนี้ทำให้นึกถึงคำสอนของเปาโลต่อชาวกาลาเทียที่ให้ทำความดีต่อไป “อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว เราก็จะเกี่ยวเก็บในเวลาอันสมควร” (กท.6:9) เปาโลยังพูดต่อว่า “เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อคนทั้งปวง และเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่มีความเชื่อ” (ข้อ 10)
อิบราฮิมเป็นผู้อพยพที่เจอกับอคติและอุปสรรคด้านภาษา แต่ยังสร้างโอกาสที่จะทำความดี อาหารกลายเป็น “สะพาน” สู่ความอดทนและความเข้าใจ เมื่อได้เห็นความมุ่งมั่นเช่นนี้แล้ว เราเองควรหาโอกาสที่จะทำความดี และพระเจ้าจะได้รับเกียรติเมื่อพระองค์ทรงทำงานผ่านความพยายามอย่างแน่วแน่ของเรา
พระคริสต์ผู้เป็นความสว่างแท้ของเรา
“ไปที่ๆมีแสงสว่าง!” นั่นคือสิ่งที่สามีฉันแนะนำขณะที่เราพยายามหาทางออกจากโรงพยาบาลใหญ่ประจำเมืองในบ่ายวันอาทิตย์ไม่นานมานี้ เราไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และเมื่อเราออกจากลิฟต์ เราไม่พบใครเลยที่จะบอกทางไปยังประตูหน้าซึ่งจะได้พบแสงแดดจ้าของรัฐโคโลราโด เราตระเวนไปตามโถงทางเดินที่เปิดไฟหรี่ ในที่สุดเราก็พบชายคนหนึ่งที่เห็นความสับสนของเรา “โถงทางเดินเหล่านี้ดูเหมือนกันหมด” เขาบอก “แต่ทางออกอยู่ทางนี้” จากคำแนะนำของเขา เราก็พบประตูทางออกซึ่งนำไปสู่แสงแดดจ้าจริงๆ
พระเยซูทรงเชื้อเชิญผู้ไม่เชื่อที่สับสนและหลงทางให้ติดตามพระองค์ออกจากความมืดฝ่ายวิญญาณ “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต” (ยน.8:12) ในความสว่างของพระองค์นั้น เราสามารถเห็นสิ่งกีดขวาง บาปและจุดบอดต่างๆ โดยยอมให้พระองค์ขจัดความมืดนั้นออกจากชีวิตเราขณะเมื่อพระองค์ประทานความสว่างของพระองค์เข้าสู่จิตใจและวิถีของชีวิตเรา เช่นเดียวกับเสาเพลิงที่นำคนอิสราเอลผ่านถิ่นทุรกันดาร ความสว่างของพระคริสต์ก็นำการทรงสถิต การปกป้องและการทรงนำของพระเจ้ามาสู่เรา
ตามซึ่งยอห์นได้อธิบายไว้ พระเยซูทรงเป็น “ความสว่างแท้” (ยน.1:9) และ “ความมืดหาได้ชนะความสว่างไม่” (ข้อ 5) แทนที่จะเดินสะเปะสะปะอย่างไร้จุดหมายไปตลอดชีวิต เราสามารถแสวงหาการนำทางจากพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงส่องสว่างในเส้นทางที่จะไปนั้น
ยอมที่จะไว้วางใจ
เมื่อเปิดม่านออกในเช้าวันหนึ่งของฤดูหนาว ฉันพบกับภาพอันน่าตกตะลึงของกำแพงหมอก หรือ “หมอกน้ำแข็ง” ตามที่ผู้พยากรณ์อากาศเรียก และหมอกนี้ยังมาพร้อมกับความประหลาดใจยิ่งกว่าซึ่งพบไม่บ่อยนักในพื้นที่ที่เราอยู่ คือการคาดการณ์ว่าจะมีท้องฟ้าสดใสและแสงแดด “ภายในอีกหนึ่งชั่วโมง” ฉันบอกกับสามีว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก เราแทบจะมองไม่เห็นอะไรในระยะหนึ่งฟุตข้างหน้าเลย” แต่แน่นอนภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หมอกนั้นจางหายไปและเกิดเป็นท้องฟ้าสีฟ้าที่สดใสด้วยแสงแดด
ขณะยืนอยู่ข้างหน้าต่าง ฉันคิดถึงระดับของความไว้วางใจที่มีในยามที่ฉันเห็นแต่หมอกในชีวิต ฉันถามสามีว่า “ฉันไว้วางใจพระเจ้าเฉพาะในสิ่งที่ฉันมองเห็นเท่านั้นหรือ”
เมื่อกษัตริย์อุสซียาห์สิ้นพระชนม์และมีผู้นำที่ชั่วร้ายบางคนขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินยูดาห์ อิสยาห์ได้ถามคำถามที่คล้ายกันนี้คือ เราจะไว้วางใจใครได้ แล้วพระเจ้าทรงตอบด้วยการให้นิมิตพิเศษที่ทำให้ผู้เผยพระวจนะท่านนี้มั่นใจว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าที่รออยู่ข้างหน้า ขณะที่อิสยาห์สรรเสริญพระเจ้าว่า “ใจแน่วแน่นั้นพระองค์ทรงรักษาไว้ในศานติภาพอันสมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อสย.26:3) ท่านได้กล่าวอีกว่า “จงวางใจในพระเจ้าเป็นนิตย์เพราะพระเจ้าทรงเป็นศิลานิรันดร์” (ข้อ 4)
เมื่อความคิดของเราจดจ่ออยู่ที่พระเจ้า เราจะสามารถไว้วางใจพระองค์ได้แม้ในเวลาที่มืดมัวและสับสน เราอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนในตอนนี้ แต่ถ้าเราวางใจในพระเจ้า เราก็แน่ใจได้ว่าความช่วยเหลือของพระองค์กำลังจะมาถึงเรา
การกระทำด้วยใจเมตตาสงสาร
การสร้างม้านั่งไม่ใช่งานของเจมส์ วอร์เรน แต่เขาก็เริ่มสร้างมันขึ้นมาเมื่อสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งในเดนเวอร์นั่งอยู่บนพื้นสกปรกขณะรอรถประจำทาง วอร์เรนรู้สึกเป็นห่วงว่ามันดู “ไร้เกียรติ” ด้วยเหตุนี้ที่ปรึกษาด้านแรงงานวัย 28 ปีผู้นี้จึงเอาเศษไม้มาทำม้านั่งและวางไว้ที่ป้ายรถประจำทาง มันถูกใช้งานแทบจะทันที เมื่อตระหนักว่าป้ายรถเมล์เก้าพันแห่งในเมืองของเขานั้นหลายแห่งไม่มีที่นั่ง เขาจึงสร้างม้านั่งขึ้นอีก จากนั้นก็ทำขึ้นอีกหลายตัว โดยเขียนคำอุทิศว่า “จงมีใจเมตตา” บนม้านั่งแต่ละตัวจุดประสงค์ของเขาคืออะไร วอร์เรนกล่าวว่า “เพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในทุกทางที่ผมทำได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม”
ความเมตตาสงสารเป็นอีกคำอธิบายหนึ่งของการกระทำนี้ ความเมตตาตามแบบที่พระเยซูทรงสำแดงนั้น เป็นความรู้สึกที่แข็งแกร่งมากจนทำให้เราต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น เมื่อฝูงชนที่สิ้นหวังติดตามพระเยซู “พระองค์ทรงสงสารเขา เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง” (มก.6:34) พระองค์ทรงเปลี่ยนความสงสารให้เป็นการกระทำโดย ทรงรักษาคนป่วยให้หาย (มธ.14:14)
เปาโลกระตุ้นเราเช่นกันว่าควร “สวม[ตัวเราด้วย]ใจเมตตา” (คส.3:12) ประโยชน์คืออะไร ดังที่วอร์เรนกล่าวว่า “มันเติมเต็มผม เป็นเหมือนกับการเติมลมยางรถของผม”
รอบตัวเราล้วนมีความต้องการมากมาย และพระเจ้าจะทรงนำสิ่งเหล่านี้มาสู่ความสนใจของเรา ความต้องการเหล่านั้นกระตุ้นความเมตตาในตัวเราไปสู่การกระทำ และการกระทำเหล่านั้นจะหนุนใจผู้อื่นเมื่อเราสำแดงความรักของพระคริสต์แก่พวกเขา
คริสตจักรนิรันดร์ของพระเจ้า
“โบสถ์เลิกแล้วหรือคะ” คุณแม่ยังสาวมาถึงคริสตจักรพร้อมกับลูกสองคน เมื่อการนมัสการวันอาทิตย์กำลังเลิกพอดี แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับบอกเธอว่าคริสตจักรใกล้ๆมีการนมัสการสองรอบ และรอบที่สองกำลังจะเริ่มในอีกไม่ช้า เธออยากให้มีคนขับรถไปส่งที่นั่นไหม คุณแม่ยังสาวตอบรับและดูยินดีที่จะไปยังอีกคริสตจักรหนึ่งที่เลยไปไม่ไกล เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับมีข้อสรุปว่า “คริสตจักรเลิกแล้วหรือ ไม่มีวันเป็นเช่นนั้น คริสตจักรของพระเจ้าจะดำเนินไปไม่มีวันสิ้นสุด”
คริสตจักรไม่ใช่ “อาคาร” ที่เสื่อมสลายได้ เปาโลบันทึกไว้ว่า คริสตจักรคือครอบครัวที่สัตย์ซื่อของพระเจ้า เป็น “ครอบครัวของพระเจ้า...ประดิษฐานขึ้นบนรากแห่งพวกอัครทูตและพวกผู้เผยพระวจนะ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นศิลามุมเอก ในพระองค์นั้นทุกส่วนของโครงร่างต่อกันสนิทและเจริญขึ้นเป็นวิหารอันบริสุทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า และในพระองค์นั้นท่านก็กำลังจะถูกก่อขึ้นให้เป็นที่สถิตของพระเจ้าในฝ่ายพระวิญญาณด้วย” (อฟ.2:19-22)
พระเยซูเองได้ทรงสถาปนาคริสตจักรของพระองค์ให้เป็นอมตะ พระองค์ทรงประกาศว่าแม้คริสตจักรจะเผชิญกับความท้าทายและปัญหา แต่ “พลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้” (มธ.16:18)
โดยการมองผ่านแนวคิดที่พระเจ้าประทานให้เรานี้ เราสามารถมองเห็นว่าคริสตจักรท้องถิ่นซึ่งก็คือเราทั้งหลายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรสากลของพระเจ้า คือถูกตั้งขึ้น “ในพระเยซูคริสต์ตลอดทุกชั่วอายุคนเป็นนิตย์” (อฟ.3:21)
พลังแห่งความมุ่งมั่น
ในค.ศ. 1917 ช่างเย็บผ้าสาวรู้สึกตื่นเต้นที่โรงเรียนออกแบบแฟชั่นที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์กตอบรับให้เธอเข้าเรียน แต่เมื่อแอนน์ โลว์ โคน เดินทางจากฟลอริด้ามาเพื่อลงทะเบียนเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกเธอว่าพวกเขาไม่ต้อนรับเธอ “พูดตามตรงเลยนะครับ คุณโคน พวกเราไม่ทราบมาก่อนว่าคุณเป็นนิโกร” เขาบอก แอนน์ไม่ยอมออกจากที่นั่น เธออธิษฐานเบาๆขอให้พวกเขายอมให้ฉันเรียนที่นี่เถอะ เมื่อผู้อำนวยการเห็นถึงความมุ่งมั่นนั้น เขาจึงให้แอนน์อยู่ แต่แยกเธอออกจากชั้นเรียนที่มีเฉพาะชาวผิวขาวโดยเปิดประตูหลังห้องทิ้งไว้ “ให้เธอได้ยิน”
ด้วยพรสวรรค์ที่มิอาจปฏิเสธ แอนน์จบการศึกษาก่อนกำหนดหกเดือนและเป็นที่สนอกสนใจของบรรดาลูกค้าชนชั้นสูง รวมถึงแจ็คเกอลีน เคนเนดี้อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ของสหรัฐอเมริกาผู้ที่แอนน์ออกแบบชุดแต่งงานที่มีชื่อเสียงระดับโลกให้ แอนน์ตัดชุดแต่งงานนั้นสองครั้งโดยขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าหลังจากที่ท่อประปาเหนือห้องเสื้อของเธอแตก ทำให้ชุดแรกนั้นเสียหาย
ความมุ่งมั่นเช่นนั้นทรงพลังโดยเฉพาะในคำอธิษฐาน ในคำอุปมาของพระเยซูเรื่องหญิงม่ายและผู้พิพากษา หญิงม่ายคนหนึ่งเฝ้ามาหาผู้พิพากษาทุจริตซ้ำๆเพื่อขอความยุติธรรม ในตอนแรกเขาปฏิเสธเธอ แต่ “เพราะแม่ม่ายคนนี้มากวนเราให้ลำบาก เราจะให้ความยุติธรรมแก่นาง” (ลก.18:5)
ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก “พระเจ้าจะไม่ทรงประทานความยุติธรรมแก่คนที่พระองค์ได้ทรงเลือกไว้ผู้ร้องถึงพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืนหรือ” (ข้อ 7) พระเยซูตรัสว่าพระองค์จะทรงประทานให้ (ข้อ 8) ขณะที่พระองค์ทรงดลใจเรา ให้เราเพียรอ้อนวอนอย่างมุ่งมั่นและไม่อ่อนระอาใจ พระเจ้าจะทรงตอบในเวลาและวิธีการที่สมบูรณ์แบบของพระองค์
น้ำลึก
ในปี 1992 เมื่อบิล พิงค์เนย์แล่นเรือรอบโลกตามลำพัง โดยใช้เส้นทางที่ยากลำบากรอบเกรทเซาท์เทิร์นเคปที่เต็มไปด้วยอันตราย เขาทำเพื่อจุดมุ่งหมายที่เหนือกว่า การเดินทางของเขาก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้แก่เด็กๆ ซึ่งรวมถึงนักเรียนในโรงเรียนประถมใจกลางเมืองชิคาโกที่เขาเคยเรียนด้วย เป้าหมายของบิลก็เพื่อแสดงว่า พวกเขาจะไปได้ไกลเพียงใดด้วยการเรียนหนักและด้วยความทุ่มเท ซึ่งเป็นคำที่เขานำมาตั้งชื่อเรือ เมื่อบิลพาเด็กๆ ล่องเรือที่ชื่อความทุ่มเท เขาเล่าว่า “พวกเขาถือด้ามหางเสือเรือไว้ในมือ และเรียนรู้เรื่องการบังคับ การควบคุมตนเอง และการทำงานเป็นทีม...ซึ่งเป็นพื้นฐานทั้งหมดที่จำเป็นในชีวิตเพื่อจะประสบความสำเร็จ”
คำพูดของพิงค์เนย์บรรยายภาพสติปัญญาของซาโลมอน “ความประสงค์ในใจของคนเหมือนน้ำลึก แต่คนที่มีความเข้าใจจะสามารถโพงมันออกมาได้” (สภษ.20:5) พระองค์เชื้อเชิญคนอื่นๆให้สำรวจเป้าหมายชีวิตของตน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการ “วางกับดักตัวเองโดยหุนหันให้คำปฏิญาณว่าจะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วค่อยมาคิดได้เมื่อสาบานไปแล้ว” (ข้อ 25 TNCV)
ในทางกลับกันพิงค์เนย์มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ซึ่งในที่สุดก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนสามหมื่นคนทั่วสหรัฐอเมริกาได้เรียนรู้จากการเดินทางของเขา เขากลายเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้รับการบรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศการเดินเรือแห่งชาติ เขากล่าวไว้ว่า “เด็กๆกำลังดูอยู่” และด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน ให้เรากำหนดเส้นทางของเราผ่านคำปรึกษาที่ลึกซึ้งจากคำสอนที่พระเจ้าประทานแก่เรา