ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Patricia Raybon

ของขวัญด้วยรัก

ในวันแต่งงานของเกว็นดอลิน สตอลกิสเธอได้สวมชุดแต่งงานในฝัน จากนั้นเธอก็ให้ชุดนั้นกับคนแปลกหน้า สตอลกิสเชื่อว่าชุดๆหนึ่งควรค่ามากกว่าการแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้าให้ฝุ่นจับ เจ้าสาวคนอื่นๆก็เห็นด้วย ตอนนี้ผู้หญิงจำนวนมากได้ติดต่อกันบนสื่อสังคมออนไลน์ของพวกเธอเพื่อบริจาคและขอรับชุดแต่งงาน ดังที่ผู้บริจาคคนหนึ่งกล่าว “ฉันหวังว่าชุดนี้จะถูกส่งต่อจากเจ้าสาวคนหนึ่งไปยังเจ้าสาวอีกคนหนึ่งและไปยังเจ้าสาวอีกคนหนึ่ง จนในที่สุดชุดจะเก่าและขาดวิ่นจากการใช้งานในงานเฉลิมฉลองเหล่านั้น”

แท้จริงแล้วจิตวิญญาณแห่งการให้นั้นเป็นหมือนกับการเฉลิมฉลอง ดังที่มีเขียนไว้ว่า “บางคนยิ่งให้อย่างใจกว้างกลับยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น ส่วนบางคนยิ่งตระหนี่ถี่เหนียวกลับยิ่งขาดแคลน คนใจกว้างจะเจริญรุ่งเรือง ผู้ที่นำความชุ่มชื่นไปสู่คนอื่น ก็จะได้รับความชุ่มชื่น” (สภษ.11:24-25 TNCV)

อัครทูตเปาโลได้สอนหลักการนี้ในพันธสัญญาใหม่ ท่านได้ให้พรพวกเขา เมื่อท่านกล่าวคำอำลาผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัส (กจ.20:32) และย้ำเตือนถึงความสำคัญของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เปาโลชี้ให้เห็นถึงหลักจริยธรรมในการทำงานของท่านเพื่อเป็นตัวอย่างให้พวกเขาปฏิบัติตาม โดยกล่าว “ข้าพเจ้าได้วางแบบอย่างไว้ให้ท่านทุกอย่างแล้ว...โดยทำงานเช่นนี้ควรจะช่วยคนที่มีกำลังน้อย ระลึกถึงพระวาทะของพระเยซูเจ้า ซึ่งพระองค์ตรัสว่า ‘การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ’” (ข้อ 35)

การมีใจกว้างขวางนั้นสะท้อนให้เห็นถึงพระเจ้า “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ประทาน...” (ยน.3:16) ขอให้เราประพฤติตามแบบอย่างอันกอปรด้วยสง่าราศีของพระองค์ตามที่พระองค์ทรงนำเรา

ประกาศด้วยความรัก

ศิษยาภิบาลหนุ่มคนหนึ่งอธิษฐานทุกๆเช้า ทูลขอให้พระเจ้าใช้เขาในวันนั้นให้เป็นพระพรสำหรับใครสักคน บ่อยครั้งที่เขาดีใจเมื่อเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น วันหนึ่งในช่วงพักของงานอีกงานหนึ่งที่เขาทำ เขานั่งรับแสงแดดอยู่กับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ถามเขาเรื่องของพระเยซู ศิษยาภิบาลคนนี้ตอบคำถามของชายคนนี้ด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่มีเสียงดังหรือการโต้เถียงกัน ศิษยาภิบาลบอกว่าเขาได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้พูดคุยแบบสบายๆที่ทั้งเกิดผลและสำแดงความรักด้วย เขายังได้เพื่อนใหม่อีกด้วย เป็นผู้ที่หิวกระหายอยากจะเรียนรู้จักพระเจ้ามากขึ้น

การยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำเราเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบอกผู้อื่นเกี่ยวกับพระเยซู พระองค์ตรัสบอกเหล่าสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเรา” (กจ.1:8)

ผลของพระวิญญาณ “คือความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน” (กท.5:22-23) การดำเนินชีวิตภายใต้การควบคุมของพระวิญญาณอย่างที่ศิษยาภิบาลผู้นี้ทำเป็นสิ่งที่เปโตรได้แนะนำไว้ว่า “จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (1 ปต.3:15)

แม้เราจะต้องทนทุกข์เพราะการเชื่อในพระคริสต์ แต่คำพูดของเราสามารถแสดงให้โลกเห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำเรา แล้วการดำเนินชีวิตของเราก็จะชักนำผู้อื่นให้มาหาพระองค์

ความรักแห่งการปกป้องของพระเจ้า

คืนหนึ่งในฤดูร้อน จู่ๆฝูงนกใกล้บ้านของเราก็แตกตื่นส่งเสียงดัง เสียงร้องทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเหล่านกร้องเพลงต่างส่งเสียงแหลมปรี๊ดมาจากบนต้นไม้ ในที่สุดเราก็ได้รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ขณะที่ดวงอาทิตย์ตกดิน มีเหยี่ยวตัวใหญ่บินโฉบลงมาจากยอดไม้ ฝูงนกจึงแตกกระเจิงส่งเสียงร้องอย่างบ้าคลั่งเพื่อเตือนภัยขณะบินหนีจากอันตราย

ในชีวิตของเรานั้น เราจะได้ยินเสียงเตือนฝ่ายวิญญาณได้จากพระคัมภีร์ตลอดทั้งเล่ม เช่น คำเตือนในเรื่องคำสอนเท็จ บางทีเราอาจไม่แน่ใจในสิ่งที่ได้ยิน แต่เพราะความรักที่พระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ทรงมีต่อเรา พระองค์จึงประทานความชัดเจนในพระวจนะเพื่อให้เราเห็นอันตรายฝ่ายวิญญาณเหล่านั้นได้ง่ายๆ

พระเยซูสอนว่า “จงระวังผู้เผยพระวจนะเท็จ ที่มาหาท่านนุ่งห่มดุจแกะ แต่ภายในเขาร้ายกาจดุจหมาป่า” (มธ.7:15) พระองค์ตรัสต่อไปว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้ด้วยผลของเขา...ต้นไม้ดีย่อมให้แต่ผลดี ต้นไม้เลวก็ย่อมให้ผลเลว” จากนั้นทรงเตือนเราว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้เพราะผลของเขา” (ข้อ 16-17, 20) “คนหยั่งรู้เห็นอันตรายและซ่อนตัวของเขาเสีย” สุภาษิต 22:3 เตือนเรา “แต่คนเขลาเดินเรื่อยไป และรับอันตรายนั้น” คำเตือนนี้แฝงไว้ด้วยความรักแห่งการปกป้องคุ้มครองของพระเจ้า ซึ่งเปิดเผยในพระวจนะที่พระองค์ประทานแก่เรา

ในขณะที่ฝูงนกเตือนภัยกันถึงอันตรายฝ่ายร่างกาย ขอให้เราฟังคำเตือนจากพระวจนะที่ให้เราบินหนีจากอันตรายฝ่ายวิญญาณและเข้าสู่อ้อมแขนอันเป็นที่ลี้ภัยของพระเจ้า

การให้เหมือนพระคริสต์

ตอนที่ โอ.เฮนรี่นักเขียนชาวอเมริกันเขียนหนังสือ “ของขวัญจากโหราจารย์” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคริสต์มาสที่เขารักในปีค.ศ. 1905 นั้น เขากำลังดิ้นรนเพื่อฟื้นจากปัญหาส่วนตัว กระนั้นเขากลับเขียนเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเน้นถึงคุณลักษณะอันงดงามเหมือนพระคริสต์ นั่นคือการเสียสละ ในเรื่องภรรยาผู้ยากไร้ขายผมยาวสลวยของเธอในวันคริสต์มาสอีฟเพื่อซื้อสายนาฬิกาพกทองคำให้สามี แต่เธอกลับรู้ภายหลังว่าสามีขายนาฬิกาพกของเขาเพื่อซื้อชุดหวีสำหรับผมอันงดงามของเธอ

ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเขามอบให้กันคืออะไรน่ะหรือ ก็คือการเสียสละ การกระทำของทั้งคู่แสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่

ในทำนองเดียวกันนี้ เรื่องราวที่เขาเขียนจึงได้นำเสนอของขวัญแห่งความรักของโหราจารย์ (นักปราชญ์)ที่ถวายแด่พระกุมารเยซูภายหลังการประสูติอันศักดิ์สิทธิ์ (ดู มธ.2:1,11) แต่ที่ยิ่งไปกว่าของขวัญเหล่านั้นคือ วันหนึ่งพระกุมารเยซูจะเติบโตขึ้นและประทานชีวิตของพระองค์แก่คนทั้งโลก

ในชีวิตประจำวันของเรา ผู้เชื่อในพระคริสต์สามารถสำแดงถึงของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้โดยการเสียสละเวลา ทรัพย์สมบัติ และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่จะถ่ายทอดความรักของเราไปสู่ผู้อื่น ดังที่อัครทูตเปาโลเขียนไว้ “พี่น้องทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า” (รม.12:1) ไม่มีของขวัญใดจะดีไปกว่าการเสียสละเพื่อผู้อื่นโดยความรักของพระเยซู

พระทัยพระเจ้าสำหรับทุกคน

แดน กิลวัยเก้าขวบกับอาร์ชี่เพื่อนสนิทมาถึงงานเลี้ยงวันเกิดเพื่อนร่วมชั้นของพวกเขา แต่เมื่อแม่ของเด็กชายเจ้าของวันเกิดเห็นอาร์ชี่ เธอก็ไม่ยอมให้เขาเข้าไปโดยยืนกรานว่า “มีเก้าอี้ไม่พอ” แดนเสนอว่าจะนั่งบนพื้นเพื่อให้มีที่สำหรับเพื่อนของเขาซึ่งเป็นคนผิวดำ แต่คุณแม่ก็ปฏิเสธ แดนจึงมอบของขวัญของพวกเขาไว้กับเธอแล้วกลับบ้านพร้อมอาร์ชี่ด้วยความเศร้าใจ ความเจ็บปวดจากการที่เพื่อนถูกปฏิเสธแผดเผาหัวใจของเขา

หลายสิบปีต่อมา ปัจจุบันแดนเป็นครูที่เก็บเก้าอี้ว่างตัวหนึ่งไว้ในห้องเรียนเสมอ เมื่อนักเรียนถามเหตุผล เขาอธิบายว่านี่เป็นเครื่องเตือนใจให้ “มีที่ว่างในห้องเรียนสำหรับทุกคนเสมอ”

การมีหัวใจสำหรับทุกคนนั้นพบได้ในชีวิตของพระเยซูที่ทรงต้อนรับทุกคน “บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลาย หายเหนื่อยเป็นสุข” (มธ.11:28) คำเชิญนี้อาจดูขัดแย้งกับแนวทางการทำพันธกิจของพระเยซูที่ว่า “พวกยิวก่อน” (รม.1:16) แต่ของขวัญแห่งความรอดเป็นของทุกคนที่เชื่อในพระเยซู “คือความชอบธรรมของพระเจ้า ซึ่งทรงประทานโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์แก่ทุกคนที่เชื่อ” เปาโลเขียน “เพราะว่าคนทั้งหลายไม่ต่างกัน” (3:22)

เราจึงชื่นชมยินดีเมื่อพระคริสต์ทรงเชื้อเชิญทุกคนให้ “เอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก” (มธ.11:29) สำหรับทุกคนที่แสวงหาการพักสงบในพระองค์ พระทัยที่เปิดกว้างของพระองค์ทรงรออยู่

พิซซ่าแห่งความมุ่งมั่น

เมื่ออายุ12 ปี อิบราฮิมมาจากแอฟริกาฝั่งตะวันตกถึงประเทศอิตาลีโดยไม่รู้ภาษาอิตาลีเลยสักคำ เขามีปัญหาการพูดตะกุกตะกักและต้องเจอกับการดูหมิ่นจากคนที่ไม่ชอบผู้อพยพ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้หยุดยั้งชายหนุ่มวัยยี่สิบปีกว่าผู้ทำงานหนักจนได้เปิดร้านพิซซ่าในเมืองเทรนโตประเทศอิตาลี กิจการเล็กๆของเขาได้เอาชนะคำครหาของทุกคนด้วยการเป็นร้านพิซซ่าติดหนึ่งในห้าสิบอันดับแรกของโลก

จากนั้นความหวังของเขาคือการได้แบ่งปันอาหารให้เด็กๆข้างถนนในอิตาลี เขาจึงเริ่มโครงการ “พิซซ่าการกุศล” โดยการขยายวัฒนธรรมนาโปลิตัน ซึ่งก็คือการที่ลูกค้าซื้อกาแฟเพิ่มคนละแก้วเผื่อคนที่ขาดแคลน (เรียกว่า caffe sospeso) ให้มาเป็นพิซซ่า (pizza sospesa) แทน และเขายังหนุนใจเด็กๆผู้อพยพให้มองข้ามอคติในอดีตและไม่ยอมแพ้ด้วย

ความมุ่งมั่นนี้ทำให้นึกถึงคำสอนของเปาโลต่อชาวกาลาเทียที่ให้ทำความดีต่อไป “อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจแล้ว เราก็จะเกี่ยวเก็บในเวลาอันสมควร” (กท.6:9) เปาโลยังพูดต่อว่า “เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อคนทั้งปวง และเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่มีความเชื่อ” (ข้อ 10)

อิบราฮิมเป็นผู้อพยพที่เจอกับอคติและอุปสรรคด้านภาษา แต่ยังสร้างโอกาสที่จะทำความดี อาหารกลายเป็น “สะพาน” สู่ความอดทนและความเข้าใจ เมื่อได้เห็นความมุ่งมั่นเช่นนี้แล้ว เราเองควรหาโอกาสที่จะทำความดี และพระเจ้าจะได้รับเกียรติเมื่อพระองค์ทรงทำงานผ่านความพยายามอย่างแน่วแน่ของเรา

พระคริสต์ผู้เป็นความสว่างแท้ของเรา

“ไปที่ๆมีแสงสว่าง!” นั่นคือสิ่งที่สามีฉันแนะนำขณะที่เราพยายามหาทางออกจากโรงพยาบาลใหญ่ประจำเมืองในบ่ายวันอาทิตย์ไม่นานมานี้ เราไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และเมื่อเราออกจากลิฟต์ เราไม่พบใครเลยที่จะบอกทางไปยังประตูหน้าซึ่งจะได้พบแสงแดดจ้าของรัฐโคโลราโด เราตระเวนไปตามโถงทางเดินที่เปิดไฟหรี่ ในที่สุดเราก็พบชายคนหนึ่งที่เห็นความสับสนของเรา “โถงทางเดินเหล่านี้ดูเหมือนกันหมด” เขาบอก “แต่ทางออกอยู่ทางนี้” จากคำแนะนำของเขา เราก็พบประตูทางออกซึ่งนำไปสู่แสงแดดจ้าจริงๆ

พระเยซูทรงเชื้อเชิญผู้ไม่เชื่อที่สับสนและหลงทางให้ติดตามพระองค์ออกจากความมืดฝ่ายวิญญาณ “เราเป็นความสว่างของโลก ผู้ที่ตามเรามาจะไม่เดินในความมืด แต่จะมีความสว่างแห่งชีวิต” (ยน.8:12) ในความสว่างของพระองค์นั้น เราสามารถเห็นสิ่งกีดขวาง บาปและจุดบอดต่างๆ โดยยอมให้พระองค์ขจัดความมืดนั้นออกจากชีวิตเราขณะเมื่อพระองค์ประทานความสว่างของพระองค์เข้าสู่จิตใจและวิถีของชีวิตเรา เช่นเดียวกับเสาเพลิงที่นำคนอิสราเอลผ่านถิ่นทุรกันดาร ความสว่างของพระคริสต์ก็นำการทรงสถิต การปกป้องและการทรงนำของพระเจ้ามาสู่เรา

ตามซึ่งยอห์นได้อธิบายไว้ พระเยซูทรงเป็น “ความสว่างแท้” (ยน.1:9) และ “ความมืดหาได้ชนะความสว่างไม่” (ข้อ 5) แทนที่จะเดินสะเปะสะปะอย่างไร้จุดหมายไปตลอดชีวิต เราสามารถแสวงหาการนำทางจากพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงส่องสว่างในเส้นทางที่จะไปนั้น

ยอมที่จะไว้วางใจ

เมื่อเปิดม่านออกในเช้าวันหนึ่งของฤดูหนาว ฉันพบกับภาพอันน่าตกตะลึงของกำแพงหมอก หรือ “หมอกน้ำแข็ง” ตามที่ผู้พยากรณ์อากาศเรียก และหมอกนี้ยังมาพร้อมกับความประหลาดใจยิ่งกว่าซึ่งพบไม่บ่อยนักในพื้นที่ที่เราอยู่ คือการคาดการณ์ว่าจะมีท้องฟ้าสดใสและแสงแดด “ภายในอีกหนึ่งชั่วโมง” ฉันบอกกับสามีว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก เราแทบจะมองไม่เห็นอะไรในระยะหนึ่งฟุตข้างหน้าเลย” แต่แน่นอนภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง หมอกนั้นจางหายไปและเกิดเป็นท้องฟ้าสีฟ้าที่สดใสด้วยแสงแดด

ขณะยืนอยู่ข้างหน้าต่าง ฉันคิดถึงระดับของความไว้วางใจที่มีในยามที่ฉันเห็นแต่หมอกในชีวิต ฉันถามสามีว่า “ฉันไว้วางใจพระเจ้าเฉพาะในสิ่งที่ฉันมองเห็นเท่านั้นหรือ”

เมื่อกษัตริย์อุสซียาห์สิ้นพระชนม์และมีผู้นำที่ชั่วร้ายบางคนขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินยูดาห์ อิสยาห์ได้ถามคำถามที่คล้ายกันนี้คือ เราจะไว้วางใจใครได้ แล้วพระเจ้าทรงตอบด้วยการให้นิมิตพิเศษที่ทำให้ผู้เผยพระวจนะท่านนี้มั่นใจว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าที่รออยู่ข้างหน้า ขณะที่อิสยาห์สรรเสริญพระเจ้าว่า “ใจแน่วแน่นั้นพระองค์ทรงรักษาไว้ในศานติภาพอันสมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อสย.26:3) ท่านได้กล่าวอีกว่า “จงวางใจในพระเจ้าเป็นนิตย์เพราะพระเจ้าทรงเป็นศิลานิรันดร์” (ข้อ 4)

เมื่อความคิดของเราจดจ่ออยู่ที่พระเจ้า เราจะสามารถไว้วางใจพระองค์ได้แม้ในเวลาที่มืดมัวและสับสน เราอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนในตอนนี้ แต่ถ้าเราวางใจในพระเจ้า เราก็แน่ใจได้ว่าความช่วยเหลือของพระองค์กำลังจะมาถึงเรา

การกระทำด้วยใจเมตตาสงสาร

การสร้างม้านั่งไม่ใช่งานของเจมส์ วอร์เรน แต่เขาก็เริ่มสร้างมันขึ้นมาเมื่อสังเกตเห็นผู้หญิงคนหนึ่งในเดนเวอร์นั่งอยู่บนพื้นสกปรกขณะรอรถประจำทาง วอร์เรนรู้สึกเป็นห่วงว่ามันดู “ไร้เกียรติ” ด้วยเหตุนี้ที่ปรึกษาด้านแรงงานวัย 28 ปีผู้นี้จึงเอาเศษไม้มาทำม้านั่งและวางไว้ที่ป้ายรถประจำทาง มันถูกใช้งานแทบจะทันที เมื่อตระหนักว่าป้ายรถเมล์เก้าพันแห่งในเมืองของเขานั้นหลายแห่งไม่มีที่นั่ง เขาจึงสร้างม้านั่งขึ้นอีก จากนั้นก็ทำขึ้นอีกหลายตัว โดยเขียนคำอุทิศว่า “จงมีใจเมตตา” บนม้านั่งแต่ละตัวจุดประสงค์ของเขาคืออะไร วอร์เรนกล่าวว่า “เพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในทุกทางที่ผมทำได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม”

ความเมตตาสงสารเป็นอีกคำอธิบายหนึ่งของการกระทำนี้ ความเมตตาตามแบบที่พระเยซูทรงสำแดงนั้น เป็นความรู้สึกที่แข็งแกร่งมากจนทำให้เราต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น เมื่อฝูงชนที่สิ้นหวังติดตามพระเยซู “พระองค์ทรงสงสารเขา เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง” (มก.6:34) พระองค์ทรงเปลี่ยนความสงสารให้เป็นการกระทำโดย ทรงรักษาคนป่วยให้หาย (มธ.14:14)

เปาโลกระตุ้นเราเช่นกันว่าควร “สวม[ตัวเราด้วย]ใจเมตตา” (คส.3:12) ประโยชน์คืออะไร ดังที่วอร์เรนกล่าวว่า “มันเติมเต็มผม เป็นเหมือนกับการเติมลมยางรถของผม”

รอบตัวเราล้วนมีความต้องการมากมาย และพระเจ้าจะทรงนำสิ่งเหล่านี้มาสู่ความสนใจของเรา ความต้องการเหล่านั้นกระตุ้นความเมตตาในตัวเราไปสู่การกระทำ และการกระทำเหล่านั้นจะหนุนใจผู้อื่นเมื่อเราสำแดงความรักของพระคริสต์แก่พวกเขา

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา