ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Mike Wittmer

อธิษฐานอย่างไร เมื่อรู้สึกหมดความอดทน

หนึ่งในผลของพระวิญญาณคือ ความอดทน ผมขอสารภาพว่าผมทำได้ไม่ดีนักในเรื่องนี้ ผมขาดความอดทนเมื่ออยู่ในการจราจรที่ติดขัด เมื่อต้องต่อคิว หรือเมื่อต้องรอจนกว่าพนักงานรับโทรศัพท์จะสามารถรับสายของผมได้ ผมสงสัยว่าผมเป็นเพียงคนเดียวที่ต้องการได้รับคำตอบทันทีและความพอใจในทันทีหรือไม่ ในสดุดี 70 ดาวิดรู้สึกเหนื่อยกับการรอคอย

สดุดี 70 เป็นบทเพลงแห่งการคร่ำครวญ บทสดุดีเริ่มต้นและลงท้ายด้วยคำร้องทุกข์ โดยดาวิดขอให้พระเจ้าเร่งรีบ เขาอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงพอพระทัยที่จะช่วยกู้ข้าพระองค์ ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงเร่งมาช่วยข้าพระองค์เถิด … ขออย่าทรงรอช้า” (ข้อ 1, 5)

ดาวิดถูกจู่โจมจากศัตรูผู้ต้องการสังหารเขา (ข้อ 2) เขาตกเป็นเป้าของการดูหมิ่นและเยาะเย้ย (ข้อ 3) คำอธิษฐานของเขาคือการขอความยุติธรรม ดาวิดต้องการให้พระเจ้าจัดการศัตรูในแบบที่ศัตรูทำกับเขา เป็นการดีที่จะอธิษฐานขอความยุติธรรม และเรามั่นใจได้ว่าวันหนึ่งพระเจ้า “จะประทานแก่ทุกคนตามควรแก่การกระทำของเขา” (โรม 2:6)

แต่อย่าลืมว่าเมื่อเรายังเป็นศัตรูกับพระเจ้า พระองค์มิได้ทรงกระทำกับเราในแบบที่เราสมควรได้รับ แต่กลับทรงช่วยเราด้วยพระคุณของพระองค์ (เอเฟซัส‬ 2‬:5‬) เมื่อพระเยซูทรงเผชิญกับการเย้ยหยันขณะอยู่บนกางเขน พระองค์ทรงอธิษฐานขอให้ศัตรูของพระองค์ได้รับการอภัย (ลูกา 23:34) เราจึงควรเลียนแบบตัวอย่างขององค์พระผู้เป็นเจ้า และก่อนที่เราจะแสวงหาความยุติธรรม เราควรอธิษฐานเช่นนี้ก่อนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงโปรดเมตตาต่อผู้ที่ข่มเหงพวกข้าพระองค์‬‬ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเมตตาพวกข้าพระองค์ เมื่อพวกข้าพระองค์ยังเป็นศัตรูกับพระองค์อยู่”

คริสเตียนคือกลุ่มคนที่รอคอยความยุติธรรม พระเยซูทรงเตือนว่าเราจะต้องทนทุกข์และถูกข่มเหง (ดูมาระโก 10:29-30) และนั่นเป็นประสบการณ์ของผู้เชื่อจำนวนมาก ในเวลาเช่นนั้น…

อธิษฐานอย่างไร เมื่อรู้สึกผิด

เมื่อทำบาป ผลของการทำบาปย่อมตามมา น้อยคนนักที่จะเข้าใจดีดังเช่นกษัตริย์ดาวิด การผิดประเวณีของดาวิดกับบัทเชบาและการออกอุบายเพื่อสังหารอุรีอาห์สามีของนางเป็นจุดพลิกผันในการครองราชย์ของเขาในฐานะกษัตริย์ของอิสราเอล (ดู 2 ซามูเอล 11-12) ในบทต่อๆ มาใน 2 ซามูเอล เราได้อ่านเรื่องราวของทามาร์ลูกสาวของดาวิดซึ่งถูกข่มขืนโดยอัมโนนลูกชายของดาวิดเช่นกัน (13:6-15) และการก่อกบฏของอับซาโลมลูกชายอีกคนหนึ่งของเขา (16:15-17:4)

การก่อกบฏและสงครามนำความลำบากเดือดร้อนมาสู่การครองราชย์ของดาวิดในช่วงเวลาที่เหลือ ความบาปของดาวิดส่งผลต่อครอบครัวของเขาและต่อทั้งประเทศ แต่ผลร้ายแรงที่สุดคือผลต่อความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า นับว่ายังดีที่ดาวิดได้สารภาพบาปของเขาหลังจากที่พระเจ้าทรงใช้ผู้เผยพระวจนะนาธันมาแจ้งบาปนั้นแก่เขา

สดุดี 51 เป็นตัวอย่างของคำอธิษฐานของผู้กระทำผิดได้อย่างดีเยี่ยม ประการแรกเราได้ยินคำสารภาพของดาวิด (ข้อ 1-6) ดาวิดเข้าใจดีว่าเขาไม่มีเหตุผลใดที่พระเจ้าควรยกโทษให้กับเขา การอภัยโทษเกิดจากพระคุณของพระเจ้าเท่านั้น “ตามแต่พระกรุณาอันอุดมของพระองค์” (ข้อ 1) ดาวิดเรียงร้อยถ้อยคำมากมายเพื่อบรรยายความเลวร้ายของสิ่งที่เขาได้กระทำ “การละเมิด” “ความบาปผิด” “บาป” “สิ่งที่ชั่วร้าย” (ข้อ 2-4)

ทุกวันนี้ เรามักอธิบายความบาปของเราว่าเป็น “ความเข้าใจผิด” หรือ “การตัดสินใจที่ผิดพลาด“ แต่ดาวิดไม่ได้เล่นเกมการใช้คำศัพท์กับพระเจ้าเพื่อลดความรุนแรงของบาปที่เขาทำ เขายอมรับผิดและยอมรับว่าพระเจ้าทรงยุติธรรมในการพิพากษา (ข้อ 4) ในที่สุดดาวิดยอมรับว่าเมื่อเขากระทำบาป เขาทำไปตามธรรมชาติบาปของเขาเอง (ข้อ 5)

ประการที่สอง เราได้รับฟังความปรารถนาของดาวิด เขาโหยหาการชำระให้สะอาด (ข้อ 2, 7) เขาต้องการให้ความรู้สึกผิดและความบาปถูกลบออกไป ยิ่งไปกว่านั้นเขาปรารถนาจิตใจใหม่ (ข้อ…

อธิษฐานอย่างไร เมื่อรู้สึกเจ็บปวดจากความอยุติธรรม

ข้อขัดแย้งทางศีลธรรมที่เก่าแก่ที่สุดคือ “ทำไมเรื่องไม่ดีจึงเกิดขึ้นกับคนดี” หรือ “ทำไมเรื่องดีจึงเกิดขึ้นกับคนไม่ดี“

เราอยากให้โลกของเรามีความยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ เราอยากให้พระเจ้าปฏิบัติกับผู้คนอย่างที่พวกเขาสมควรได้รับ คนดีมีชีวิตยืนยาวและมีความสุข และคนเลวได้ชดใช้ความผิดในช่วงชีวิตนี้ น่าเศร้าที่ชีวิตกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปมปัญหานี้ทำให้อาสาฟนักดนตรีจากเผ่าเลวีซึ่งเป็นผู้เขียนสดุดี 73 เกือบจะละทิ้งความเชื่อของเขา

สดุดี 73:1 ยืนยันความจริงที่ยิ่งใหญ่ในพระคัมภีร์นั่นคือ พระเจ้าทรงดีต่อบุคคลผู้มีใจบริสุทธิ์ พระเยซูทรงเรียกพวกเขาว่า “เป็นสุข“ (มัทธิว 5:8) แต่แล้วผู้เขียนสดุดีกลับกล่าวในทันทีถึงสิ่งที่ทำให้เขาเกือบสูญเสียจุดยืนและเป็นสาเหตุให้เขาหันเหไปจากความเชื่อ (ข้อ 2) เขามองเห็นคนอธรรมเพลิดเพลินกับชีวิตที่สะดวกสบาย พวกเขาสมบูรณ์แข็งแรง และดูราวกับว่าพวกเขามีภูมิคุ้มกันจากปัญหาต่างๆ ในชีวิต พวกเขาหยิ่งยโสและไม่สนใจพระเจ้า พวกเขาทำตัวราวกับว่าพระเจ้าไม่รู้หรือไม่สนใจในพฤติกรรมของพวกเขา (ข้อ 11) ดังนั้นผู้เขียนสดุดีจึงข้องใจว่าเหตุใดเขาเองจึงยังจำเป็นต้องพยายามรักษาใจของเขาให้บริสุทธิ์ (ข้อ 13)

อย่างไรก็ตาม ในข้อ 17 การมองโลกของเขากลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะในการทรงสถิตของพระเจ้า ทำให้เขาได้มองเห็น “ปลายทางของเขาทั้งหลาย” คนอธรรมอาจหลบเลี่ยงการพิพากษาของพระเจ้าในเวลานี้ แต่ไม่ใช่ตลอดไป เมื่อความตายมาถึง พวกเขาจะ “ถูกเหตุการณ์สยดสยองกวาดไปอย่างสิ้นเชิง” (ข้อ 19) พวกเขายืนอยู่บนที่ลื่นและจะล้มลงสู่ความพินาศ (ข้อ 18-20)

เวลานี้อาสาฟยอมรับว่าเขาได้พูดออกไปด้วยความโง่เขลา (ข้อ 22) เขาเริ่มเข้าใจอย่างแท้จริงเหมือนกับโยบ โยบเองก็ตั้งคำถามถึงความยุติธรรมของพระเจ้า (ดูโยบ 9:14-17; 27:2) และเช่นเดียวกันกับอาสาฟ…

อธิษฐานอย่างไร เมื่อรู้สึกถูกทรยศ

1 เปโตร 5:7 หนุนใจเราว่า “จงละความกระวนกระวายของท่านไว้กับพระองค์ เพราะว่าพระองค์ทรงห่วงใยท่านทั้งหลาย” แม้ว่าพระเจ้าทรงรับรู้ทุกปัญหาของเรา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาของเราจะหมดไป พระธรรม 1 เปโตรเป็นจดหมายที่เขียนถึงคริสตจักรที่อยู่ในการข่มเหง เปโตรเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อหนุนใจบรรดาผู้เชื่อให้รักษาความเชื่อในพระคริสต์และยึดมั่นความสัตย์ซื่อในชีวิตต่อไป (1 เปโตร 3:13-17)

การถูกข่มเหงอาจเป็นความกังวลหลักที่เปโตรมีอยู่ในใจเมื่อเขาเขียนว่า “ศัตรูของท่านคือมารวนเวียนอยู่รอบๆ ดุจสิงห์คำรามเที่ยวไปเสาะหาคนที่มันจะกัดกินได้” (1 เปโตร 5:8) มารโจมตีและ “กัดกิน” คริสเตียนได้อย่างไร โดยทั่วไปแล้วมารทำงานผ่านผู้คนที่เป็นศัตรูของเรา

เป็นไปได้ว่า 1 เปโตร 5:7-8 เขียนขึ้นโดยมีสดุดี 55 อยู่เบื้องหลัง ดาวิดเขียนสดุดีบทนี้ขณะที่เขาถูกห้อมล้อมด้วย “การทำลาย“ (ข้อ 11) เช่นเดียวกับคนอธรรมที่ “เดินบนกำแพงรอบนครอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน” (ข้อ 10) ถึงอย่างนั้น ดาวิดกลับเขียนไว้ตอนท้ายของสดุดีบทนี้ว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระเจ้า และพระองค์จะทรงค้ำจุนท่าน“ (ข้อ 22)

สดุดี 55 เริ่มต้นที่ดาวิดกำลังระบายความในใจกับพระเจ้า เขาร่ำไห้ออกมาว่า “จิตใจของข้าพระองค์ระทมอยู่ในข้าพระองค์“ (ข้อ 4) เขาอยากมีปีกอย่างนกพิราบจะได้บินหนีไปจากศัตรู “และอยู่สงบ“ (ข้อ 6) นกพิราบมักทำรังในรอยแยกตามหน้าผาสูงเหนือพื้นดิน ที่นั่นพวกมันจะปลอดภัยจากผู้ล่า

พระเยซูทรงเตือนว่าเราจะถูกข่มเหง…

อธิษฐานอย่างไร เมื่อคุณรู้สึกเจ็บปวด

บางครั้งปัญหาของเราดูเหมือนไม่มีวันจบ อาจมีสมาชิกครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานสักคนหนึ่งที่คุณทำดีกับเขาทุกอย่าง แต่เขากลับพยายามทำให้ชีวิตของคุณยุ่งยากมากเท่าที่จะเป็นไปได้

มีหลายครั้งที่ดาวิดรู้สึกว่าปัญหาของเขาไม่มีทางจบ อาจเป็นเพราะว่าซาอูลได้ไล่ล่าดาวิดอย่างไม่ลดละเพื่อสังหารเขานานถึงเจ็ดหรือแปดปี แต่ดาวิดก็ไม่เคยทำสิ่งใดเพื่อทำร้ายซาอูลเลย อันที่จริงแล้ว ดาวิดยังคงจงรักภักดีต่อกษัตริย์ผู้ชั่วร้ายนี้ แต่ซาอูลและพวกอีกหลายคนกลับตอบแทนน้ำใจของดาวิดด้วยการวางแผนทำลายเขา (ข้อ 4)

ในสดุดี 35 แบ่งออกได้เป็นสามส่วน (ข้อ 1-10, 11-18, 19-28) ในส่วนแรก ดาวิดอ้อนวอนพระเจ้าหลายครั้งให้พระองค์ขัดขวางศัตรูและช่วยกู้เขา เขาร้องขอความยุติธรรมซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคือสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ คนบริสุทธิ์ควรพ้นผิด คนผิดควรได้รับการลงโทษ ตัวอย่างเช่น เมื่อดาวิดอธิษฐานขอให้พวกที่ขุดหลุมพรางดัก “ให้เขาติดข่ายพินาศเอง” (ข้อ 8) ดาวิดเข้าใจได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะที่แท้จริงของความยุติธรรมและการแก้แค้น เขาตระหนักว่าพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็นผู้ทำการแก้แค้น เขาจึงมอบการได้รับความยุติธรรมนั้นไว้กับพระองค์ (ข้อ 23)

ส่วนที่สองคือตอนที่เขาเจ็บปวดใจมากที่สุด (ข้อ 11-18) กลุ่มคนที่เกลียดดาวิดและต่อต้านเขา คือกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งดาวิดนับว่าเป็นเพื่อน เขารักและห่วงใยคนเหล่านั้น “เมื่อเขาป่วย ข้าพระองค์สวมผ้ากระสอบ” (ข้อ 13) แต่มาบัดนี้พวกเขาพูดให้ร้ายและยิ้มเยาะความทุกข์ของดาวิด (ข้อ 15, 19, 24, 26)

ในส่วนที่สาม ดาวิดเพ่งมองไปที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อขอความยุติธรรม (ข้อ 24) เขาร้องขอพระเจ้าให้พวกที่กระทำต่อเขาอย่างโหดร้าย “ได้อาย” (ข้อ 26) ใครๆ ก็สามารถเข้าใจความโกรธของดาวิดในสดุดีบทนี้ได้…

อธิษฐานอย่างไร เมื่อคุณรู้สึกซึมเศร้า

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ผู้คนทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนในทุกช่วงอายุกำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าอยู่ในเวลานี้

สดุดี 88 บรรยายถึงความทุกข์ทรมานอันเจ็บปวดของผู้ที่ซึมเศร้าไว้อย่างชัดเจน เราได้เห็นว่ามีบทเพลงสดุดีมากถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเป็นบทคร่ำครวญหรือประกอบด้วยบทคร่ำครวญ แต่ไม่มีสดุดีบทไหนที่มืดมนและสิ้นหวังเท่ากับสดุดี 88

เนื้อหาในสดุดีบทนี้ตั้งใจให้ความสำคัญกับความรู้สึกสิ้นหวัง โดยในสดุดี 87 ลงท้ายว่า “นักร้องและนักเต้นรำกล่าวกันว่า ’น้ำพุทั้งสิ้นของเราอยู่ในเธอ‘“(ข้อ 7) และสดุดี 89 เริ่มต้นว่า “ข้าพระองค์จะร้องเพลงถึงความรักมั่นคงของพระเจ้าเป็นนิตย์“ (ข้อ 1) แต่สดุดี 88 ดูเหมือนจะเป็นการเย้ยหยันบทสรรเสริญด้วยความยินดีในบทเพลงที่มาก่อนหน้าและบทเพลงที่อยู่ถัดไป

เช่นเดียวกับบทคร่ำครวญอีกหลายบท เฮมานผู้เขียนบทคร่ำครวญนี้ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของ “ปัญหา” (สดุดี 88:3) ให้เราทราบ แต่สิ่งนี้ได้บอกเป็นนัยว่า เขาสนใจความเจ็บปวดที่เกิดจากปัญหามากกว่ารายละเอียดของปัญหา

เฮมานกล่าวโทษพระเจ้าอย่างไม่อ้อมค้อม “พระองค์ทรงใส่ข้าพระองค์ไว้ในส่วนลึกของปากแดนผู้ตาย; พระองค์ทรงทับถมข้าพระองค์ด้วยคลื่นทั้งสิ้นของพระองค์; พระองค์ทรงให้เพื่อนของข้าพระองค์เหินห่างจากข้าพระองค์”…

How to Pray when You Feel... - อธิษฐาน อย่างไรเมื่อคุณรู้สึก…

บทเรียนจากพระธรรมสดุดี:
แผนการอ่านใน 8 วัน

พระธรรมสดุดีถ่ายทอดการขึ้นลงของชีวิตไว้อย่างชัดเจน และบ่อยครั้งก็ถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์ที่รุนแรงและตรงไปตรงมาจนผู้อ่านตกตะลึง แต่มันไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านั้น เพราะในขณะที่ผู้เขียนกลั่นกรองอารมณ์ออกมาเป็นถ้อยคำ พวกเขาก็เริ่มเชื่อมโยงอารมณ์เหล่านั้นไปสู่พระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงรับฟัง 

ใช้แผนการอ่าน 8 วันนี้เพื่อเรียนรู้จากผู้เขียนพระธรรมสดุดีในการอธิษฐานด้วยการยกย่องพระลักษณะของพระเจ้าจากอารมณ์ของคุณ ให้พระคำของพระเจ้าปลอบประโลมจิตใจและความคิดของคุณ

พระเยซูทรงเป็นสันติสุขของเรา

โจนส่งเสียงร้องเมื่อเห็นโซเชียลมีเดียที่ซูซานโพสต์ภาพเพื่อนที่โบสถ์สิบคนยิ้มแย้มอยู่รอบโต๊ะในร้านอาหาร นี่เป็นครั้งที่สองในเดือนนี้ที่พวกเขานัดพบกันโดยไม่มีเธอ โจนกะพริบตาถี่เพื่อไล่น้ำตา แม้เธอจะเข้ากับคนอื่นได้ไม่ดีนัก แต่ก็น่าประหลาดที่เธอไปร่วมในคริสตจักรที่ไม่นับว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งด้วย!

ในศตวรรษแรกก็แปลกประหลาดเช่นกัน! แต่พระเยซูทรงปรารถนาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและได้เสด็จมาเยียวยาความแตกแยกของเรา จากจุดเริ่มต้นของคริสตจักร ผู้คนที่เข้ากันไม่ได้จะต้องค้นหาจุดร่วมกันในพระองค์ คนยิวดูถูกคนต่างชาติที่ไม่รักษาธรรมบัญญัติ และคนต่างชาติรังเกียจคนยิวที่คิดว่าตนดีกว่าคนอื่น จากนั้นพระเยซูทรง “​กระทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน” โดย “ทรง​รื้อ​กำแพง​ที่​กั้น​ระหว่าง​สอง​ฝ่าย​ลง คือ​การ​เป็น​ปฏิปักษ์​กัน โดย​ใน​เนื้อ​หนัง​ของ​พระ​องค์ ได้​ทรง​ให้ธรรม​บัญญัติ​...ต่างๆนั้น​เป็น​โมฆะ” (อฟ.2:14-15) การรักษาธรรมบัญญัติไม่สำคัญอีกต่อไป สิ่งที่สำคัญคือพระเยซู แล้วคนยิวและคนต่างชาติจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพระองค์หรือไม่

นั่นก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของพวกเขา พระเยซูทรง “ประกาศสันติสุขแก่” คนต่างชาติ “ที่อยู่ไกล และประกาศสันติสุขแก่คนที่อยู่ใกล้ [คนยิว]” (ข้อ 17) ข้อความเดียวกันแต่การประยุกต์ใช้ต่างกัน คนยิวที่คิดว่าตนเองชอบธรรมจำเป็นต้องยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้ดีกว่าคนอื่น ในขณะที่คนต่างชาติที่ถูกดูแคลนจำเป็นต้องเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้ด้อยกว่า ทั้งสองฝ่ายต้องเลิกกังวลเรื่องของอีกฝ่ายและมุ่งความสนใจไปที่พระคริสต์ ผู้ทรงสร้าง “ให้​ทั้งสองฝ่ายเป็น​คน​ใหม่​คน​เดียว​ใน​พระ​องค์ เช่นนั้น​แหละ จึง​ทรง​กระทำ​ให้​เกิด​สันติ​สุข” (ข้อ 15)

คุณรู้สึกถูกดูแคลนไหม นั่นเป็นเรื่องเจ็บปวดและไม่ถูกต้อง แต่คุณจะเป็นผู้สร้างสันติได้เมื่อคุณพักพิงในพระเยซู พระองค์ยังคงเป็นสันติสุขของเรา

ง่ายและยาก

มาร์คเป็นศิษยาภิบาลหนุ่มที่มีอนาคตไกล แต่แล้วในเช้าวันหนึ่งโอเว่นลูกชายของเขาล้มลงและเสียชีวิตในขณะเตะบอลด้วยกัน มาร์คหัวใจสลายและยังคงตรอมตรมกับการสูญเสีย แต่ความเจ็บปวดทำให้เขากลายเป็นศิษยาภิบาลที่มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ผมเศร้าเสียใจไปกับมาร์คและนึกสงสัยว่าบททดสอบของเขาแสดงให้เห็นถึงแง่คิดอันล้ำลึกของเอ.ดับเบิลยู.โทเซอร์ที่ได้กล่าวไว้ว่า “จริงไหมที่พระเจ้าจะอวยพรมนุษย์อย่างมากมายไม่ได้ จนกว่าพระองค์จะทำให้เขาต้องเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสเสียก่อน” ผมเกรงว่าคำพูดนี้จะเป็นจริง

แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เราได้เรียนรู้ว่าวิถีของพระเจ้านั้นล้ำลึกโดยศึกษาจากการอพยพของชนอิสราเอล พระเจ้าทรงนำชนชาติใหม่นี้ออกจากอียิปต์ไปบนเส้นทางที่ง่าย โดยตรัสถึงอิสราเอลว่า “เกรง​ว่า​เมื่อ​ประชากร​ไป​เผชิญ​สงคราม​เข้า เขา​จะ​เปลี่ยน​ใจ​และ​กลับไป​ยัง​อียิปต์​เสีย” (อพย.13:17) แต่ในไม่กี่ข้อต่อมา พระเจ้าทรงบอกให้โมเสสย้อนกลับทางเดิมเพื่อให้ฟาโรห์ระดมพลและออกมาสู้รบ (14:1-4) ฟาโรห์ฮุบเหยื่อนี้ ชนอิสราเอล “​มี​ความ​กลัว​ยิ่ง​นัก...จึง​ร้อง​ทูล​พระ​เจ้า” (ข้อ 10) โมเสสตำหนิพวกเขาว่า “พระ​เจ้า​จะ​ทรง​รบ​แทน​ท่าน​ทั้ง​หลาย ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​สงบ​อยู่​เถิด” (ข้อ 14)

พระเจ้าทรงใช้ทั้งเส้นทางที่ง่ายและยากเพื่อทำให้ประชากรของพระองค์เติบโตและนำพระเกียรติมาสู่พระองค์ พระองค์สัญญาว่า “​เรา​จะ​ได้รับ​เกียรติยศ เพราะ​ฟาโรห์​และ​พล​โยธา แล้ว​ชาว​อียิปต์​จะ​รู้​ว่า​เรา​คือ​พระ​เจ้า” (ข้อ 4) อิสราเอลรู้แล้ว และเราก็รู้ได้เช่นกัน พระเจ้าทรงกำลังเสริมสร้างความเชื่อของเราผ่านการทดสอบแต่ละครั้งไม่ว่าจะง่ายหรือยาก เมื่อชีวิตราบรื่นจงพักสงบในพระองค์ แต่เมื่อชีวิตยากลำบากจงยอมให้พระองค์ทรงอุ้มคุณ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา