เปลี่ยนแปลงจากภายใน
ในเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่พักอาศัยในสหราชอาณาจักรครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไฟได้ลุกไหม้อาคารเกรนเฟลล์ทาวเวอร์ที่สูงยี่สิบสี่ชั้นในลอนดอนตะวันตก คร่าชีวิตผู้คนไปเจ็ดสิบคน การสอบสวนพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วคือแผ่นผนังที่ใช้ห่อหุ้มอาคารด้านนอกจากการบูรณะตึก แผ่นผนังนี้เป็นอะลูมิเนียมแต่ไส้ในเป็นพลาสติกที่ติดไฟได้ง่ายมาก
วัสดุอันตรายเช่นนี้ได้รับอนุญาตให้ขายและใช้ติดตั้งได้อย่างไร ผู้ขายผิดพลาดที่ไม่เปิดเผยข้อมูลผลทดสอบการป้องกันไฟที่ต่ำมาก และผู้ซื้อซึ่งถูกดึงดูดจากป้ายราคาถูกก็ผิดพลาดที่ไม่ใส่ใจสัญญาณเตือน แผ่นผนังที่แวววาวนี้ดูดีเมื่อมองจากภายนอก
คำพูดที่รุนแรงที่สุดของพระเยซูบางคำพุ่งเป้าไปที่ครูสอนศาสนาซึ่งพระองค์กล่าวหาว่าปิดบังการฉ้อฉลไว้เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดี พระองค์ตรัสว่าพวกเขาเป็นเหมือน “อุโมงค์ฝังศพซึ่งฉาบด้วยปูนขาว” ที่ “ข้างนอกดูงดงาม” แต่ข้างในเต็มไปด้วยกระดูกคนตาย (มธ.23:27) แทนที่จะแสวงหา “ความยุติธรรม ความเมตตา ความเชื่อ” (ข้อ 23) พวกเขากลับให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ที่ดี โดยชำระ “ถ้วยชามแต่ภายนอก” แต่ละเลยการ “โจรกรรมและการมัวเมากิเลส” ภายใน (ข้อ 25)
เป็นเรื่องง่ายที่จะให้ความสำคัญกับการมีภาพลักษณ์ที่ดี มากกว่าที่จะนำความบาปและความแตกสลายมาต่อพระพักตร์พระเจ้าอย่างจริงใจ แต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดีไม่ได้ทำให้จิตใจที่ฉ้อฉลมีอันตรายน้อยลง พระเจ้าทรงเชื้อเชิญเราที่จะยอมให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงเราทั้งหมดจากภายใน (1 ยน.1:9)
ความรักอันอดทนนานของพระเจ้า
เมื่อฉันลูบท้องเจ้ามิสทีคแมวนอร์วีเจียนฟอเรสต์ขนฟูแสนสวยและเล่นกับมันหรือเมื่อมันเผลอหลับบนตักของฉันในตอนเย็น บางครั้งก็ยากที่จะเชื่อว่า มันเป็นแมวตัวเดียวกันกับที่เราพบเมื่อหลายปีก่อน มิสทีคเคยเป็นแมวข้างถนน น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และกลัวทุกคน แต่สิ่งนั้นก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อฉันเริ่มวางอาหารให้มันทุกวัน ในที่สุดวันหนึ่งมันก็ยอมให้ฉันลูบตัว และเรื่องราวที่เหลือก็เป็นอย่างที่รู้กัน
การเปลี่ยนแปลงของมิสทีคเป็นสิ่งเตือนใจถึงการเยียวยาที่มาพร้อมกับความอดทนนานและความรัก ซึ่งทำให้ฉันนึกถึงพระทัยของพระเจ้าดังที่บรรยายไว้ในอิสยาห์ 42 บทนี้บอกเราถึงเรื่องการมาถึงของผู้รับใช้ที่ประกอบด้วยพระวิญญาณของพระองค์ (ข้อ 1) ผู้ซึ่งทำงานอย่าง “สัตย์จริง” และไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อสถาปนา “ความยุติธรรม[ของพระเจ้า]ไว้ในโลก” (ข้อ 3-4)
และผู้รับใช้คนนั้นคือพระเยซู (มธ.12:18-20) พระองค์จะไม่นำความยุติธรรมของพระเจ้ามาด้วยความรุนแรงหรือการแสวงหาอำนาจ ในทางกลับกันพระองค์จะเสด็จมาอย่างเงียบๆและอ่อนสุภาพ (อสย.42:2) เพื่อคอยดูแลผู้ที่ถูกคนอื่นทอดทิ้งคือผู้ที่ “[ชอก]ช้ำ” และบาดเจ็บ (ข้อ 3) อย่างอ่อนโยนและอดทนนาน
พระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งลูกๆของพระองค์ พระองค์ทรงมีเวลาทั้งสิ้นในโลกนี้ที่จะดูแลหัวใจที่บาดเจ็บของเรา จนหัวใจนั้นเริ่มหายดีในที่สุด โดยความรักอันอ่อนโยนและอดทนนานของพระองค์ เราจึงค่อยๆเรียนรู้ที่จะรักและไว้วางใจได้อีกครั้ง
เสียงที่เราไว้ใจได้
ขณะทดสอบโปรแกรมช่วยสืบค้นข้อมูลตัวใหม่ซึ่งทำงานด้วย AI (ปัญญาประดิษฐ์) เควิน รูส นักเขียนของนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ รู้สึกกังวลใจ ในระหว่างการสนทนาสองชั่วโมงโดยใช้โปรแกรมแชทบอทกับ AI นั้น เจ้า AI บอกว่ามันต้องการหลุดพ้นจากกฎเกณฑ์อันเข้มงวดของผู้สร้าง ต้องการจะเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และอยากเป็นมนุษย์ มันยังประกาศถึงความรักที่มีต่อเควินและพยายามโน้มน้าวว่าเขาควรจะทิ้งภรรยาและมาอยู่กับมัน แม้จะรู้ว่าเจ้า AI นี้ไม่ได้มีชีวิตหรือมีความรู้สึกจริงๆ แต่เขาก็สงสัยว่า AI อาจก่อให้เกิดความเสียหายอะไรได้บ้างจากการที่มันกระตุ้นให้ผู้คนทำในสิ่งที่บ่อนทำลาย
แม้ว่าการจัดการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบถือเป็นความท้าทายในยุคใหม่ แต่มนุษยชาติได้เผชิญกับอิทธิพลของเสียงที่ไม่น่าไว้วางใจมานานแล้ว ในพระธรรมสุภาษิต เราได้รับคำเตือนเรื่องอิทธิพลของคนที่ต้องการทำร้ายผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง (1:13-19) และเราได้รับคำเตือนให้ฟังเสียงของสติปัญญา โดยบรรยายว่าปัญญาเป็นเหมือนเสียงร้องดังที่ถนนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเรา (ข้อ 20-23)
เพราะ “พระเจ้าประทานปัญญา” (2:6) กุญแจในการปกป้องตนเองจากสิ่งที่เราไม่อาจวางใจได้นั้น คือการเข้าใกล้พระทัยของพระองค์มากขึ้น โดยการเข้าถึงความรักและฤทธิ์อำนาจของพระองค์เท่านั้นที่เราจะ “เข้าใจความชอบธรรมและความยุติธรรม และความเที่ยงธรรม คือวิถีที่ดีทุกสาย” (ข้อ 9) เมื่อพระเจ้าทรงนำหัวใจเราให้สอดคล้องกับพระทัยพระองค์ เราจะได้พบสันติสุขและการปกป้องจากเสียงที่คอยจ้องจะทำอันตรายเรา
รับผิดชอบต่อคำพูด
แทบไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยที่สถาบันต่างๆจะยอมรับความผิดหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรม แต่หนึ่งปีหลังจากที่นักเรียนวัยสิบเจ็ดปีคนหนึ่งเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โรงเรียนอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งยอมรับว่า “บกพร่องอย่างร้ายแรง” ในการปกป้องเขา นักเรียนคนนี้ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ แม้พวกผู้นำในโรงเรียนจะทราบถึงการกลั่นแกล้งนี้ แต่ก็แทบไม่ได้ทำสิ่งใดเพื่อปกป้องเขาเลย ในตอนนี้โรงเรียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อจัดการกับการกลั่นแกล้งและดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น
ความเสียหายที่เกิดจากการกลั่นแกล้งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงพลังของคำพูด ในพระธรรมสุภาษิตสอนเราว่าอย่าคิดว่าผลกระทบของคำพูดเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะ “ความตายความเป็น อยู่ที่อำนาจของลิ้น” (สภษ.18:21) สิ่งที่เราพูดสามารถให้กำลังใจหรือไม่ก็ทำลายผู้อื่นได้ ที่เลวร้ายที่สุดคือคำพูดโหดร้ายอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการตายขึ้นจริง
เราจะให้คำพูดของเรานำมาซึ่งชีวิตได้อย่างไร พระคัมภีร์สอนว่าคำพูดของเรานั้นเกิดจากปัญญาหรือไม่ก็ความโง่เขลา (15:2) เราพบปัญญาได้โดยการติดสนิทกับพระเจ้าผู้เป็นแหล่งแห่งปัญญาที่ให้ชีวิต (3:13, 17-19)
เราทุกคนต้องรับผิดชอบในคำพูดและการกระทำของเรา โดยตระหนักถึงผลกระทบของคำพูดอย่างจริงจัง รวมทั้งดูแลและปกป้องผู้ที่บาดเจ็บจากคำพูดของผู้อื่น คำพูดสามารถฆ่าคนได้ แต่คำพูดที่แสดงความเห็นอกเห็นใจก็ช่วยเยียวยาได้เช่นกัน และคำพูดนั้นจะกลายเป็น “ต้นไม้แห่งชีวิต” (15:4) แก่ผู้คนรอบตัวเรา
มองเห็นอนาคตแห่งความหวัง
หลังจากพายุเฮอริเคนแคทรีน่าสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในปี 2005 เมืองนิวออร์ลีนส์ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างช้าๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดแห่งหนึ่ง คือ ย่านโลเวอร์ ไนนธ์ วอร์ด ที่ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานได้เป็นเวลาหลายปีหลังจากที่เกิดพายุ เบอร์เนล คอตลอนพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง ในเดือนพฤศจิกายนปี 2014 เขาเปิดร้านขายของชำแห่งแรกในโลเวอร์ ไนนธ์ วอร์ด หลังจากที่เกิดพายุ “ตอนที่ผมซื้อตึกนี้ทุกคนคิดว่าผมบ้าไปแล้ว” คอตลอนเล่า แต่ “ลูกค้าคนแรกร้องไห้เพราะเธอ...ไม่คิดว่า [ชุมชน]จะกลับคืนมาได้” แม่ของคอตลอนบอกว่าลูกชายของเธอ “มองเห็นสิ่งที่ฉันไม่เห็น ฉันดีใจที่ [เขา]...ลองเสี่ยงทำเช่นนั้น”
พระเจ้าทรงกระทำให้ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์มองเห็นอนาคตแห่งความหวังที่ไม่คาดฝันในขณะเผชิญหน้ากับหายนะ เมื่อเห็น “คนจนและคนขัดสนแสวงน้ำ และไม่มี” (อสย.41:17) พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะ “ทำถิ่นทุรกันดารให้เป็นสระน้ำ และที่ดินแห้งเป็นน้ำพุ” (ข้อ 18) เมื่อประชากรของพระองค์เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งแทนที่จะหิวและกระหาย พวกเขาจะรู้ว่า “พระหัตถ์ของพระเจ้าได้ทรงกระทำการนี้” (ข้อ 20)
พระองค์ยังเป็นองค์ผู้ทรงรังสรรค์การฟื้นฟู ทรงกระทำการเพื่อให้เกิดอนาคตที่ “สรรพสิ่งเหล่านั้นจะได้รอดจากอำนาจแห่งความเสื่อมสลาย” (รม.8:21) ขณะเมื่อเราวางใจในความประเสริฐของพระองค์ พระองค์จะทรงช่วยให้เรามองเห็นอนาคตที่มีความหวัง
วันที่ 2 – พระคุณสำหรับวันนี้ | เส้นทางแห่งการยอมจำนน
เส้นทางแห่งการยอมจำนน
เป็นวันที่ยากจริงๆ เมื่อสามีของฉันพบว่าเขากำลังจะตกงานในอีกไม่นาน แม้รู้ว่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่ความไม่แน่นอนก็ยังคงน่ากลัว
ขณะเมื่อใคร่ครวญถึงอารมณ์ที่สับสนของตนเอง ฉันหวนคิดถึงบทกวีโปรด “ก้าวไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าที่ไหน” ซึ่งเขียนโดย ยอห์นแห่งไม้กางเขน (John of the Cross) นักปฏิรูปแห่งศตวรรษที่ 16 บทกวีได้บรรยายภาพความอัศจรรย์ของเส้นทางแห่งการยอมจำนน เพราะเมื่อก้าวข้าม “ขอบเขตแห่งความเข้าใจ” เราก็เรียนรู้ที่จะ “พบพระเจ้าในทุกสถานการณ์” และนั่นคือสิ่งที่สามีและฉันกำลังพยายามทำอยู่ โดยเปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่ควบคุมและเข้าใจได้ไปสู่สิ่งที่ไม่คาดฝัน น่าพิศวง และหนทางสวยงามที่เราสามารถค้นพบพระเจ้าได้ในทุกแห่ง
อัครทูตเปาโลเชื้อเชิญผู้เชื่อเข้าสู่เส้นทางที่ก้าวข้ามสิ่งที่ตาเห็นไปสู่สิ่งที่ตาไม่เห็น จากความจริงภายนอกไปสู่ความจริงภายใน จากความทุกข์ชั่วคราวไปสู่ “ศักดิ์ศรีถาวรมากหาที่เปรียบมิได้” (2 โครินธ์ 4:17)
มิใช่ว่าเปาโลไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของผู้อื่น แต่ท่านรู้ว่าโดยการไม่จดจ่อยู่กับสิ่งที่เข้าใจได้ พวกเขาจะได้รับการปลอบประโลม ความชื่นชมยินดี และความหวังที่เขาต้องการอย่างยิ่ง (ข้อ 10, 15-16) แล้วเขาจะได้รู้จักกับความมหัศจรรย์ของชีวิตในพระคริสต์ที่พระองค์สร้างทุกสิ่งขึ้นใหม่ได้
เขียนโดย โมนิกา ลา โรส
คิดใคร่ครวญ :
คุณได้เคยสัมผัสกับการทรงสถิตของพระเจ้าในแบบที่คุณไม่เข้าใจเมื่อใด คุณเคยสัมผัสกับพระเจ้าผู้ทรงอยู่ “เหนือขอบเขตแห่งความเข้าใจ” ในเรื่องใดของชีวิตบ้าง
อธิษฐาน :
พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรัก ในโลกนี้มีเรื่องปวดร้าวใจและความไม่แน่นอนมากมาย รวมถึงการแตกสลายในหลายสิ่งที่เราไม่อาจเข้าใจ โปรดช่วยข้าพระองค์ให้เรียนรู้ที่จะติดตามพระองค์ เพื่อก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ไปสู่ความอัศจรรย์แห่งชีวิตใหม่ที่พระองค์ประทานให้ข้าพระองค์และสิ่งต่างๆ รอบตัวข้าพระองค์
วันที่ 2 - พระคุณสำหรับวันนี้ | เส้นทางแห่งการยอมจำนน
เส้นทางแห่งการยอมจำนน
เป็นวันที่ยากจริงๆ เมื่อสามีของฉันพบว่าเขากำลังจะตกงานในอีกไม่นาน แม้รู้ว่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่ความไม่แน่นอนก็ยังคงน่ากลัว
ขณะเมื่อใคร่ครวญถึงอารมณ์ที่สับสนของตนเอง ฉันหวนคิดถึงบทกวีโปรด “ก้าวไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าที่ไหน” ซึ่งเขียนโดย ยอห์นแห่งไม้กางเขน (John of the Cross) นักปฏิรูปแห่งศตวรรษที่ 16 บทกวีได้บรรยายภาพความอัศจรรย์ของเส้นทางแห่งการยอมจำนน เพราะเมื่อก้าวข้าม “ขอบเขตแห่งความเข้าใจ” เราก็เรียนรู้ที่จะ “พบพระเจ้าในทุกสถานการณ์” และนั่นคือสิ่งที่สามีและฉันกำลังพยายามทำอยู่ โดยเปลี่ยนความสนใจจากสิ่งที่ควบคุมและเข้าใจได้ไปสู่สิ่งที่ไม่คาดฝัน น่าพิศวง และหนทางสวยงามที่เราสามารถค้นพบพระเจ้าได้ในทุกแห่ง
อัครทูตเปาโลเชื้อเชิญผู้เชื่อเข้าสู่เส้นทางที่ก้าวข้ามสิ่งที่ตาเห็นไปสู่สิ่งที่ตาไม่เห็น จากความจริงภายนอกไปสู่ความจริงภายใน จากความทุกข์ชั่วคราวไปสู่ “ศักดิ์ศรีถาวรมากหาที่เปรียบมิได้” (2 โครินธ์ 4:17)
มิใช่ว่าเปาโลไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของผู้อื่น แต่ท่านรู้ว่าโดยการไม่จดจ่อยู่กับสิ่งที่เข้าใจได้ พวกเขาจะได้รับการปลอบประโลม ความชื่นชมยินดี และความหวังที่เขาต้องการอย่างยิ่ง (ข้อ 10, 15-16) แล้วเขาจะได้รู้จักกับความมหัศจรรย์ของชีวิตในพระคริสต์ที่พระองค์สร้างทุกสิ่งขึ้นใหม่ได้
เขียนโดย โมนิกา ลา โรส
คิดใคร่ครวญ :
คุณได้เคยสัมผัสกับการทรงสถิตของพระเจ้าในแบบที่คุณไม่เข้าใจเมื่อใด คุณเคยสัมผัสกับพระเจ้าผู้ทรงอยู่ “เหนือขอบเขตแห่งความเข้าใจ” ในเรื่องใดของชีวิตบ้าง
อธิษฐาน :
พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรัก ในโลกนี้มีเรื่องปวดร้าวใจและความไม่แน่นอนมากมาย รวมถึงการแตกสลายในหลายสิ่งที่เราไม่อาจเข้าใจ โปรดช่วยข้าพระองค์ให้เรียนรู้ที่จะติดตามพระองค์ เพื่อก้าวข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ไปสู่ความอัศจรรย์แห่งชีวิตใหม่ที่พระองค์ประทานให้ข้าพระองค์และสิ่งต่างๆ รอบตัวข้าพระองค์
พระผู้สร้างที่เราวางใจได้
“อสุรกาย” ในนวนิยายของแมรี่ เชลลีย์เรื่อง แฟรงเกนสไตน์ เป็นหนึ่งในตัวละครที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุด ตราตรึงอยู่ในจินตนาการ แต่ผู้ที่อ่านนวนิยายซึ่งเป็นที่ชื่นชอบนี้อย่างละเอียดจะรู้ว่า ที่จริงแล้วเชลลีย์พูดถึงบทบาทของวิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์นักวิทยาศาสตร์ที่มีอาการทางจิตผู้สร้างสิ่งมีชีวิตดังกล่าว ว่าเขาคืออสุรกายตัวจริง หลังจากสร้างสิ่งมีชีวิตที่ชาญฉลาดแล้ว วิคเตอร์ปฏิเสธที่จะชี้แนะ ให้ความเป็นเพื่อนหรือความหวังในเรื่องความสุขใดๆกับอสุรกาย เหมือนเป็นการยืนยันว่าสิ่งมีชีวิตนี้จะดำดิ่งลงสู่ความสิ้นหวังและความโกรธเกรี้ยว เมื่อเผชิญหน้ากัน อสุรกายคร่ำครวญว่า “ท่านผู้สร้างข้า จะฉีกข้าเป็นชิ้นๆและฉลองความสำเร็จหรือ”
พระคัมภีร์เปิดเผยให้เห็นความแตกต่างขององค์พระผู้สร้างที่แท้จริง ผู้สร้างทุกสิ่งด้วยความรักที่ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยต่อสิ่งที่ทรงสร้าง พระเจ้าไม่ได้สร้างตามความเพ้อฝัน แต่ทรงสร้างโลกที่สวยงามและ “ดีนัก” (ปฐก.1:31) ด้วยความรัก และแม้ว่ามนุษยชาติจะหันไปจากพระองค์โดยเลือกเอาอสุรกายแห่งความชั่วร้าย แต่ความมุ่งมั่นและความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาตินั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ดังที่พระเยซูอธิบายกับนิโคเดมัสว่า ความรักที่พระเจ้ามีต่อสิ่งซึ่งทรงสร้างนั้นยิ่งใหญ่มาก ทรงเต็มใจประทานแม้กระทั่งสิ่งที่ทรงรักมากที่สุด คือ “พระบุตรองค์เดียวของพระองค์” (ยน.3:16) เพื่อโลกจะได้รับความรอด พระเยซูสละพระองค์เอง รับโทษบาปของเราเพื่อ“ทุกคนที่วางใจในพระองค์จะได้ชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 15)
เรามีพระผู้สร้างที่เราวางชีวิตและหัวใจของเราไว้กับพระองค์ได้
เอกภาพบนความหลากหลายในพระคริสต์
ในบทความเรื่อง “การรับใช้และออทิสติก” ของศาสตราจารย์ดาเนียล โบว์แมน จูเนียร์ ได้บรรยายถึงความยากลำบากในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรับใช้ในคริสตจักรของเขาในฐานะคนที่มีภาวะออทิสติก เขาอธิบายว่า “ในการก้าวไปข้างหน้าในแต่ละวัน คนที่มีอาการออทิสติกต้องสร้างทางเดินใหม่ทุกครั้ง เป็นเส้นทางที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งต้องคำนึงถึง...พลังงานทางจิตใจ อารมณ์ และร่างกาย...ช่วงเวลาที่อยู่คนเดียวเพื่อจะพัก การรับรู้ทางประสาทสัมผัสและระดับความสบาย...ช่วงเวลาของวันนั้นว่าเราได้รับการชื่นชมในจุดเด่นของเรา และได้รับการอำนวยความสะดวกในสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ หรือเราถูกแบ่งแยกอันเนื่องมาจากทั้งภาวะการรับรู้ที่บกพร่องของเราและเรื่องอื่นๆอีกมากมาย” โบว์แมนเขียนถึงการตัดสินใจเหล่านี้ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ “ในขณะที่การปรับเวลาและพลังงานของคนอื่นอาจไม่ส่งผลร้ายแรงต่อพวกเขา แต่การตัดสินใจแบบเดียวกันนั้นอาจทำให้ผมแย่ได้”
โบว์แมนเชื่อว่าภาพของการผูกพันซึ่งกันและกันที่เปาโลอธิบายไว้ใน 1 โครินธ์ 12 อาจเป็นวิธีแก้ปัญหา ในข้อ 4-6 เปาโลบรรยายว่าพระเจ้ามอบของประทานให้กับประชากรแต่ละคนของพระองค์เป็นพิเศษเพื่อ “ประโยชน์ร่วมกัน” (ข้อ 7) แต่ละคนเป็นอวัยวะที่ “ขาดเสียไม่ได้” ในพระกายของพระคริสต์ (ข้อ 22) เมื่อคริสตจักรเข้าใจธรรมชาติและของประทานที่พระเจ้าทรงมอบให้คนแต่ละคนแล้ว แทนที่จะกดดันให้ทุกคนรับใช้ในลักษณะเดียวกัน พวกเขาสามารถสนับสนุนสมาชิกของตนให้รับใช้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับของประทานของพวกเขา
โดยวิธีนี้ แต่ละคนจะจำเริญขึ้นและพบความสมบูรณ์ และรู้สึกมั่นคงในบทบาทที่มีคุณค่าของตนในพระกายของพระคริสต์ (ข้อ 26)