ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Marvin Williams

ยินดีที่จะรอคอย

การรอคอยอาจเป็นตัวการที่ขโมยสันติสุขไปจากเรา ราเมช สิตารามัน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์กล่าวว่า มีไม่กี่เรื่องที่ “สร้างความหงุดหงิดและเดือดดาล” ให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพอๆกับการที่ต้องรอเว็บเบราว์เซอร์โหลดข้อมูลอย่างเชื่องช้า งานวิจัยของเขาระบุว่า เรายินดีจะรอประมาณสองวินาทีโดยเฉลี่ยเพื่อโหลดวิดีโอออนไลน์ หลังผ่านไปห้าวินาที 25%ของผู้ใช้จะล้มเลิก และหลังจากผ่านไปสิบวินาที ครึ่งหนึ่งของผู้ใช้จะเลิกล้มความพยายาม พวกเราช่างเป็นกลุ่มคนที่ขาดความอดทนจริงๆ!

ยากอบหนุนใจผู้เชื่อไม่ให้ละทิ้งพระเยซูในขณะที่พวกเขากำลังรอคอยการทรงเสด็จมาครั้งที่สอง การเสด็จกลับมาของพระคริสต์จะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขายืนหยัดในการเผชิญความทุกข์ยาก รวมทั้งรักและให้เกียรติซึ่งกันและกัน (ยก.5:7-10) ยากอบใช้ตัวอย่างของชาวนาเพื่ออธิบายเรื่องนี้ เช่นเดียวกับชาวนาที่อดทนรอคอย “ฝนต้นฤดูและฝนชุกปลายฤดู” (ข้อ 7) และเพื่อให้แผ่นดินเกิดพืชผลอันล้ำค่า ยากอบหนุนใจให้ผู้เชื่ออดทนต่อการข่มเหงจนกว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมา และเมื่อทรงเสด็จมา พระองค์จะแก้ไขทุกสิ่งให้ถูกต้องและนำสันติสุขมาให้

บางครั้งเราถูกทดลองให้เลิกติดตามพระเยซูในขณะที่รอคอยพระองค์ แต่ระหว่างนั้นให้เรา “เฝ้าระวัง” (มธ.24:42) สัตย์ซื่อ (25:14-30) และดำเนินชีวิตตามพระลักษณะและวิถีทางของพระองค์ (คส.3:12) แม้เราไม่รู้ว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมาเมื่อไหร่ ขอให้เราอดทนรอคอยพระองค์ไม่ว่าจะนานเพียงใด

ไม่ใช่เพื่อความสุขสบายของเรา

แดนกำลังขี่จักรยานยนต์อยู่ในตอนที่รถคันหนึ่งขับเบี่ยงเข้ามาในเลนและดันเขาออกไปหารถที่วิ่งสวนมา สองสัปดาห์ต่อมาเขาฟื้นขึ้นในศูนย์อุบัติเหตุด้วยสภาพ “ยับเยิน” ที่เลวร้ายที่สุดคือเขาบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังซึ่งทำให้ขาเป็นอัมพาต แดนอธิษฐานขอการรักษาแต่มันไม่เกิดขึ้น กระนั้นเขาเชื่อว่าพระเจ้าทรงสอนเขาด้วยพระเมตตาว่า “วัตถุประสงค์ของชีวิตนี้คือเราจะได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนพระคริสต์ น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อทุกอย่างเพียบพร้อมและสวยหรู แต่...เกิดขึ้นเมื่อชีวิตลำบากแสนเข็ญ เมื่อเราถูกบีบให้พึ่งพาพระเจ้าผ่านการอธิษฐานเพียงเพื่อให้ผ่านไปในแต่ละวัน”

อัครทูตเปาโลอธิบายถึงข้อดีสองประการของการยืนหยัดอยู่ข้างพระเจ้า คือความอดทนและการชื่นชมยินดีในความทุกข์ยาก (รม.5:3-4) ทั้งสองข้อนี้ไม่ได้บอกให้อดทนต่อความทุกข์ยากด้วยการยอมอดกลั้น หรือค้นพบความสุขในความเจ็บปวด แต่เป็นการเชิญชวนให้ไว้วางใจในพระเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความทุกข์ยากที่มีพระคริสต์ทำให้เกิด “ความอดทน และความอดทนทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ และการที่เราเห็นเช่นนั้นทำให้เกิดมีความหวังใจ” (ข้อ 3-4) ทั้งหมดนี้มาจากความเชื่อว่าพระบิดาจะไม่ทรงทอดทิ้งเรา แต่จะทรงดำเนินไปกับเราผ่านเปลวไฟไปสู่อนาคต

พระเจ้าทรงมาพบเราในความทุกข์ยากและช่วยให้เราเติบโตในพระองค์ แทนที่จะมองว่าความทุกข์ยากคือการที่พระเจ้าไม่พอพระทัย ให้เรามองว่าเป็นวิธีที่ทรงใช้เพื่อขัดเกลาและสร้างเรา เมื่อเราได้สัมผัสความรักของพระองค์ที่ “หลั่งเข้าสู่จิตใจของเรา” (ข้อ 5)

ไม่ผูกพยาบาท

ในระหว่างกิจกรรมส่งเสริมการขายในปี 2011 อดีตนักฟุตบอลลีกชาวแคนาดาวัย 73 ปีสองคนได้ขึ้นชกกันบนเวที พวกเขามีความแค้นต่อกันจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ที่มีการโต้เถียงกันในปี 1963 หลังจากที่ชายคนหนึ่งชกชายอีกคนหนึ่งตกเวทีไป กลุ่มผู้ชมตะโกนเรียกร้องให้เขา “ปล่อยมันไปเสีย!” พวกเขากำลังบอกให้ชายผู้นี้ “จบปัญหาลง”

พระคัมภีร์มีตัวอย่างมากมายของคนที่ “เจ็บแค้น” คาอินเจ็บแค้นอาเบลน้องชาย เพราะพระเจ้าทรงรับเครื่องบูชาของอาเบลแต่ไม่รับของเขา (ปฐก.4:5) ความแค้นนี้รุนแรงมากจนนำไปสู่การฆาตกรรมเมื่อ “คาอินก็โถมเข้าฆ่าอาเบลน้องชายของตนเสีย” (ข้อ 8) “เอซาวเกลียดชังยาโคบ” เพราะยาโคบขโมยเอาสิทธิบุตรหัวปีที่เป็นของเขาไป (27:41) ความเกลียดชังนี้รุนแรงจนยาโคบต้องหนีเอาชีวิตรอดเพราะความกลัว

พระคัมภีร์ไม่เพียงให้ตัวอย่างมากมายของคนที่ฝังใจในความโกรธแค้น แต่ยังมีคำสอนถึงวิธีการ “จบปัญหา” คือการแสวงหาการให้อภัยและการคืนดี พระเจ้าทรงเรียกให้เรารักผู้อื่น (ลวน.19:18) ให้อธิษฐานเผื่อและยกโทษผู้ที่ดูถูกและทำร้ายเรา (มธ.5:43-47) ให้อยู่อย่างสันติกับทุกคน มอบการแก้แค้นให้เป็นของพระเจ้า และเอาชนะความชั่วด้วยความดี (รม.12:18-21) โดยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ขอให้เรา “จบปัญหาลง” ในวันนี้

จงตื่นอยู่!

พนักงานธนาคารชาวเยอรมันคนหนึ่งเผลองีบหลับที่โต๊ะทำงานขณะกำลังโอนเงินจำนวน 62.40 ยูโรจากบัญชีลูกค้าธนาคารรายหนึ่ง เขาหลับไปขณะที่นิ้วอยู่บนแป้นเลข “2” ทำให้เงินจำนวน 222 ล้านยูโร (ราว 8,300 ล้านบาท) ถูกโอนไปยังบัญชีลูกค้าคนนั้น ผลจากความผิดพลาดดังกล่าวทำให้เพื่อนร่วมงานผู้ที่รับรองการโอนถูกไล่ออกด้วย แม้จะมีการตรวจพบและแก้ไขความผิดพลาดนั้น แต่ความพลั้งเผลอของพนักงานผู้ง่วงเหงาหาวนอนเกือบจะกลายเป็นฝันร้ายของธนาคารเพราะเขาไม่ระมัดระวัง

พระเยซูทรงเตือนสาวกของพระองค์ว่าถ้าพวกเขาไม่ระแวดระวังอยู่เสมอ พวกเขาก็จะผิดพลาดอย่างร้ายแรงเช่นกัน พระองค์ทรงนำพวกเขาไปยังสถานที่ที่เรียกว่าเกทเสมนี เพื่อใช้เวลาอธิษฐาน ขณะทรงอธิษฐานนั้น พระเยซูทรงมีความทุกข์และเศร้าใจอย่างที่ไม่เคยทรงพบเจอมาก่อนในชีวิตบนโลกนี้ของพระองค์ พระองค์ทรงบอกเปโตร ยากอบ และยอห์นให้คอยอยู่และอธิษฐาน และ “เฝ้าอยู่” กับพระองค์ (มธ.26:38) แต่พวกเขาก็หลับไป (ข้อ 40-41) การที่พวกเขาไม่คอยเฝ้าอยู่และอธิษฐานจะทำให้พวกเขาไม่สามารถป้องกันตนเองได้เมื่อการทดลองให้ปฏิเสธพระเยซูมาถึง ในเวลาที่พระคริสต์ทรงต้องการมากที่สุด สาวกกลับขาดการระแวดระวังฝ่ายวิญญาณ

ขอให้เราใส่ใจในคำตรัสของพระเยซูที่ให้เราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ โดยอุทิศทุ่มเทให้กับการใช้เวลากับพระองค์ในการอธิษฐาน เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว พระองค์จะทรงเสริมกำลังเราให้ต้านทานการทดลองทั้งหลาย และหลีกเลี่ยงจากความผิดพลาดร้ายแรงคือการปฏิเสธพระเยซู

เข็มทิศของพระเจ้า

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วาลเดมาร์ เซเมนอฟ ปฏิบัติหน้าที่เป็นวิศวกรผู้ช่วยอยู่บนเรือเอสเอส อัลคัว ไกด์ ขณะอยู่ห่างจากชายฝั่งของนอร์ท แค-โรไลน่าราว 483 กิโลเมตรนั้น เรือดำน้ำเยอรมันได้ลอยลำขึ้นมาและระดมยิง
มาที่เรือ เรือถูกโจมตีจนไฟลุกไหม้และเริ่มจมลง เซเมนอฟและลูกเรือหย่อนเรือชูชีพลงในน้ำและใช้เข็มทิศของเรือเพื่อไปยังช่องทางเดินเรือ หลังผ่านไปสามวันเครื่องบินลาดตระเวนก็พบเรือชูชีพของพวกเขา และเรือยูเอสเอส บรูม ได้ช่วยชีวิตคนเหล่านั้นเอาไว้ในวันต่อมา ต้องขอบคุณเข็มทิศที่ทำให้เซเมนอฟและลูกเรือทั้ง 26 คนรอดชีวิตมาได้

ผู้เขียนสดุดีเตือนประชากรของพระเจ้าว่า พวกเขามีเข็มทิศชีวิตคือพระคัมภีร์ ท่านเปรียบพระวจนะว่าเป็น “โคม” (สดด.119:105) ที่ส่องสว่างนำทางชีวิตสำหรับผู้ที่แสวงหาพระเจ้า เมื่อผู้เขียนสดุดีลอยคออยู่ในกระแสน้ำแห่ง
ชีวิตที่อลหม่าน ท่านรู้ว่าพระเจ้าสามารถใช้พระวจนะเพื่อจัดเตรียมเส้นรุ้งและเส้นแวงฝ่ายวิญญาณที่จะช่วยท่านให้รอดชีวิต ดังนั้นท่านจึงอธิษฐานขอให้พระเจ้าส่องสว่างเพื่อนำทางชีวิตและนำท่านไปยังท่าเรือแห่งที่ประทับอันบริสุทธิ์ของพระองค์โดยปลอดภัย (43:3)

ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู เมื่อเราหลงทาง พระเจ้าสามารถนำทางเราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์และโดยการชี้นำที่เราพบในพระวจนะ ขอพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงจิตใจและความคิดของเรา เมื่อเราอ่าน ศึกษา และปฏิบัติตามสติปัญญาของพระคัมภีร์

ชื่อที่สมบูรณ์แบบ

ในวันที่อากาศร้อนชื้นของเดือนสิงหาคม ภรรยาของผมได้ให้กำเนิดลูกชายคนที่สอง แต่เขายังไม่มีชื่อเพราะเรายังตัดสินใจเลือกไม่ได้ หลังจากใช้เวลาหลายชั่วโมงในร้านไอศกรีมและไปขับรถเล่น เราก็ยังคงตัดสินใจไม่ได้ เขาจึงถูกเรียกว่า “เจ้าหนูวิลเลี่ยม” อยู่สามวันก่อนจะได้ชื่อว่าไมคาห์ในที่สุด

การเลือกชื่อที่เหมาะสมอาจเป็นเรื่องน่าปวดหัว นอกจากว่าคุณคือพระเจ้าผู้ทรงคิดชื่อที่สมบูรณ์แบบให้กับผู้เดียวซึ่งจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆไปตลอดกาล พระเจ้าทรงสั่งผ่านอิสยาห์ให้กษัตริย์อาหัสทูลขอ “หมายสำคัญ” จากพระองค์เพื่อให้ความเชื่อของอาหัสเข้มแข็งขึ้น (อสย.7:10-11) แม้อาหัสปฏิเสธที่จะทูลขอหมายสำคัญ พระเจ้าก็ยังทรงประทานให้คือ “ดูเถิด หญิงสาวคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่าอิมมานูเอล” (ข้อ 14) พระเจ้าทรงตั้งชื่อให้ทารกนั้น และเขาจะเป็นหมายสำคัญแห่งความหวังให้กับผู้คนที่กำลังสิ้นหวัง ชื่อนั้นถูกใช้เรื่อยมาและมัทธิวได้ให้ความหมายใหม่แก่ชื่อนั้นเมื่อท่านเขียนถึงการประสูติของพระเยซู (มธ.1:23) พระเยซูจะทรงเป็น “อิมมานูเอล” พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของพระเจ้า แต่ทรงเป็นพระเจ้าในสภาพมนุษย์ ทรงมาเพื่อช่วยคนของพระองค์จากความสิ้นหวังในความบาป

พระเจ้าได้ประทานหมายสำคัญแก่เราคือองค์พระบุตรซึ่งมีพระนามว่า อิม-มานูเอล คือพระเจ้าทรงอยู่กับเรา เป็นชื่อที่สะท้อนถึงการสถิตอยู่ด้วยและความรักของพระองค์ ในวันนี้พระองค์ทรงเชิญให้เราต้อนรับองค์อิมมานูเอลและรู้ว่าพระองค์ทรงอยู่กับเรา

พระองค์ทรงเติมเต็มผู้ที่ว่างเปล่า

นักจิตวิทยาแมดเดลีน เลอวีนสังเกตเห็น “การปกปิดรอยกรีด” ของเด็กสาววัยสิบห้าปี เธอสวมเสื้อแขนยาวคลุมปิดแขนมาครึ่งหนึ่งซึ่งผู้ที่ทำร้ายตัวเองมักจะสวม เมื่อเด็กสาวดึงแขนเสื้อขึ้น เลอวีนตกใจที่พบว่าเธอใช้มีดโกนกรีดคำว่า “ว่างเปล่า” ที่ต้นแขน เธอสลดใจแต่ก็ยินดีที่เด็กสาวคนนี้ยอมเปิดใจรับการช่วยเหลืออย่างจริงจังซึ่งเธอต้องการอย่างยิ่ง

เด็กสาวคนนี้อาจเป็นตัวแทนของคนอีกมากมายที่กรีดคำว่า “ว่างเปล่า” ไว้บนหัวใจ ยอห์นเขียนว่า พระเยซูเสด็จมาเพื่อเติมเต็มผู้ที่ว่างเปล่าและประทานชีวิตที่ “ครบบริบูรณ์” (ยน.10:10) พระเจ้าทรงใส่ความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ครบ บริบูรณ์ไว้ในมนุษย์ทุกคน และพระองค์ทรงต้องการให้พวกเขามีประสบการณ์ในความสัมพันธ์แห่งความรักกับพระองค์ พระองค์ยังทรงเตือนพวกเขาด้วยว่า “ขโมย” จะใช้ผู้คน สิ่งของ และสถานการณ์ต่างๆเพื่อพยายามทำลายชีวิตของพวกเขา (ข้อ 1,10) คำอ้างที่บอกว่าจะให้ชีวิตจะกลายเป็นสิ่งจอมปลอมและหลอกลวง ในทางตรงกันข้าม พระเยซูทรงประทานสิ่งที่เป็นจริง นั้นคือ “ชีวิตนิรันดร์” และพระสัญญาว่า “จะไม่มีผู้ใดแย่งชิง[เรา]ไปจากมือของ[พระองค์] ได้” (ข้อ 28)

มีเพียงพระเยซูที่สามารถเติมพื้นที่ว่างเปล่าในใจของเราให้กลับมีชีวิต ถ้าคุณกำลังรู้สึกว่างเปล่า จงร้องหาพระองค์ในวันนี้ และถ้าคุณกำลังประสบกับความทุกข์ยากอันใหญ่หลวง จงแสวงหาคำแนะนำในทางของพระเจ้า มีเพียงพระคริสต์เท่านั้นที่ประทานชีวิตที่เต็มอิ่มและครบบริบูรณ์ คือชีวิตที่เต็มไปด้วยความหมายซึ่งพบได้ในพระองค์

พบความยินดีในความอนิจจัง

ในปี 2010 เจมส์ วอร์ดผู้สร้างบล็อกที่ชื่อว่า “ฉันชอบเรื่องน่าเบื่อ” ได้จัดการประชุมที่เรียกว่า “การประชุมเรื่องน่าเบื่อ” เป็นหนึ่งวันแห่งการฉลองสิ่งที่น่าเบื่อธรรมดาๆ หรือถูกมองข้าม ที่ผ่านมาวิทยากรเคยพูดเกี่ยวกับหัวข้อที่ดู
น่าเบื่อเช่น การจาม เสียงที่เกิดจากตู้ขายของอัตโนมัติและจากเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทของปี 1999 วอร์ดรู้ว่าหัวข้อเหล่านี้อาจดูน่าเบื่อ แต่วิทยากรสามารถทำเรื่องน่าเบื่อให้เป็นเรื่องน่าสนใจ มีความหมายและน่ายินดีได้

หลายพันปีก่อน ซาโลมอนกษัตริย์ที่ฉลาดที่สุดได้เริ่มค้นหาความสุขของพระองค์ในสิ่งที่เป็นอนิจจังและน่าเบื่อ พระองค์ทุ่มเททำงาน ซื้อฝูงสัตว์มากมาย เพิ่มพูนความมั่งคั่ง สรรหานักร้อง และสร้างพระราชวัง (ปญจ. 2:4-9) บางสิ่งที่พระองค์ทรงทำได้รับการยกย่องแต่บางสิ่งก็ไม่ สุดท้ายในการค้นหาความหมายนั้นพระองค์ไม่พบสิ่งใดนอกจากความอนิจจัง (ข้อ 11) ซาโลมอนยึดติดอยู่ในมุมมองของโลกตามประสบการณ์อันจำกัดของมนุษย์ที่พระเจ้าไม่ทรงมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดทรงตระหนักได้ว่าพระองค์จะพบความยินดีในความน่าเบื่อได้ก็เมื่อพระองค์ระลึกถึงและนมัสการพระเจ้าเท่านั้น (12:1-7)

เมื่อเราพบตัวเองวนเวียนอยู่ในความเบื่อหน่าย ให้เราเริ่มการประชุมส่วนตัวประจำวันของเราโดย “ระลึกถึงพระผู้เนรมิตสร้าง(ของเรา)” (ข้อ 1) คือพระเจ้าผู้ทรงเติมความน่าเบื่อด้วยสิ่งที่มีความหมาย เมื่อเราระลึกถึงและนมัสการพระองค์ เราจะพบความอัศจรรย์ใจในเรื่องที่ธรรมดา การสำนึกในพระคุณในเรื่องที่น่าเบื่อ และความยินดีในสิ่งที่ดูเหมือนไร้ความหมายในชีวิต

คู่มือเบื้องต้นสู่ชีวิตนิรันดร์

หลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของแม่ ผมมีแรงจูงใจที่จะเริ่มทำบล็อก ผมอยากเขียนโพสต์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนใช้ทุกนาทีบนโลกนี้สร้างสรรค์ช่วงเวลาของชีวิตที่มีความหมาย ผมจึงไปหาคู่มือการทำบล็อกเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ ผมได้เรียนรู้ว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไร วิธีเลือกหัวเรื่องและวิธีการร่างโพสต์ให้น่าสนใจ และในปี 2016 โพสต์แรกในบล็อกของผมจึงเกิดขึ้น

เปาโลเขียน “คู่มือเบื้องต้น” ที่อธิบายวิธีการที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์ ในโรม 6:16-18 ท่านเปรียบเทียบความจริงที่ว่าเราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อกบฏต่อพระเจ้า (คนบาป) กับความจริงที่ว่าพระเยซูสามารถช่วยเราให้ “พ้นจากบาป” (ข้อ 18) จากนั้นเปาโลอธิบายความแตกต่างระหว่างการเป็นทาสของบาป และการเป็นทาสของพระเจ้ากับหนทางที่นำไปสู่ชีวิตของพระองค์ (ข้อ 19-20) ท่านพูดต่อไปว่า “ค่าจ้างของความบาปคือความตาย แต่ของประทานจากพระเจ้าคือชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 23) ความตายหมายถึงการถูกแยกจากพระเจ้าตลอดนิรันดร์ เป็นผลจากความพินาศที่เราเผชิญเมื่อเราปฏิเสธพระคริสต์ แต่พระเจ้าได้มอบของประทาน คือชีวิตใหม่ในพระเยซูให้กับเรา เป็นชีวิตซึ่งเริ่มต้นบนโลกนี้ และดำเนินต่อไปตลอดนิรันดร์ในสวรรค์กับพระองค์

คู่มือเบื้องต้นสู่ชีวิตนิรันดร์ของเปาโลให้ตัวเลือกแก่เรา 2 อย่างคือ บาปที่นำไปสู่ความตาย หรือของประทานจากพระเยซูที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ ขอให้คุณรับของขวัญแห่งชีวิตของพระองค์ และถ้าคุณได้ต้อนรับพระคริสต์แล้ว ขอให้คุณแบ่งปันของขวัญนี้ให้กับคนอื่นๆในวันนี้!

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา