ผู้เขียน

ดูทั้งหมด
Lisa M. Samra

Lisa Samra

Lisa desires to see Christ glorified in her life and in the ministries where she serves. Born and raised in Texas, Lisa is always on the lookout for sweet tea and brisket. She graduated with a Bachelor of Journalism from the University of Texas and earned a Master of Biblical Studies degree from Dallas Theological Seminary. Lisa now lives in Grand Rapids, Michigan, with her husband, Jim, and their four children. In addition to writing, she is passionate about facilitating mentoring relationships for women, and developing groups focused on spiritual formation and leadership development. Lisa has been blessed to travel extensively and often finds inspiration from experiencing the beauty of diverse cultures, places, and people. Lisa enjoys good coffee, running, and reading—just not all at the same time.

บทความ โดย Lisa Samra

สิทธิพิเศษแห่งคำอธิษฐาน

บทเพลงจากชีวิตของนักร้องคริส สเตเปิลตัน ชื่อ “พ่อไม่อธิษฐานอีกแล้ว” ได้รับแรงบันดาลใจจากคำอธิษฐานของพ่อที่อธิษฐานเผื่อเขา เนื้อเพลงพูดถึงสาเหตุที่คำอธิษฐานของพ่อต้องสิ้นสุดลง ไม่ใช่เพราะท้อแท้หรืออ่อนระอา แต่เพราะท่านเสียชีวิต สเตเปิลตันจินตนาการว่า ณ เวลานี้แทนที่พ่อของเขาจะพูดกับพระเยซูผ่านคำอธิษฐาน แต่ท่านคงกำลังเดินคุยกับพระองค์หน้าต่อหน้า

ความทรงจำของสเตเปิลตันเรื่องคำอธิษฐานของพ่อทำให้คิดถึงพ่อคนหนึ่งในพระคัมภีร์ที่อธิษฐานเผื่อลูกของตน เมื่อกษัตริย์ดาวิดเริ่มชราแล้ว พระองค์ได้ทรงตระเตรียมเพื่อโอรสคือซาโลมอนจะมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของอิสราเอล

หลังจากเรียกประชาชนมาชุมนุมกันเพื่อเจิมตั้งซาโลมอน ดาวิดนำประชาชนให้อธิษฐานเช่นที่ได้เคยทำมาก่อนหน้านี้หลายครั้ง ขณะที่ดาวิดบรรยายถึงความสัตย์ซื่อที่พระเจ้ามีต่ออิสราเอล พระองค์ทูลขอให้ประชาชนยังคงจงรักภักดีต่อพระเจ้า จากนั้นทรงทูลขอในเรื่องส่วนตัวเจาะจงถึงโอรสของพระองค์ ขอให้พระเจ้า “ทรง​โปรด​ซาโลมอน​บุตร​ของ​ข้า​พระ​องค์​ให้​มี​จิตใจ​จริงที่​จะ​รักษา​บรรดา​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​องค์ ​พระ​โอวาท​ของ​พระ​องค์ และ​กฎเกณฑ์​ของ​พระ​องค์” (1 พศด.29:19)

พวกเราก็มีสิทธิพิเศษที่จะทูลขอเพื่อคนที่พระเจ้าวางไว้ในชีวิตของเราเช่นกัน แบบอย่างความสัตย์ซื่อของเราสามารถสร้างผลกระทบที่จะคงอยู่แม้หลังเราจากไป เช่นเดียวกับที่พระเจ้ายังทรงตอบคำอธิษฐานเพื่อซาโลมอนและอิสราเอลแม้หลังจากที่ดาวิดเสียชีวิตแล้ว ผลแห่งคำอธิษฐานของเราก็จะคงอยู่ยาวนานกว่าชีวิตของเราเช่นกัน

ผลิตผลที่แสนหวาน

ตอนที่เราซื้อบ้านนั้นเราก็ได้ครอบครองสวนองุ่นที่ปลูกไว้อย่างดี ในฐานะชาวสวนมือใหม่ ครอบครัวของเราทุ่มเวลาในการเรียนรู้ที่จะตัดแต่งกิ่ง รดน้ำ และดูแลสวน เมื่อการเก็บเกี่ยวครั้งแรกมาถึง ฉันเด็ดองุ่นจากพวงใส่ปากเพียงเพื่อจะพบความผิดหวังจากรสเปรี้ยวบาดใจ

ความหงุดหงิดใจที่ฉันรู้สึกจากการดูแลสวนองุ่นด้วยความอุตสาหะเพียงเพื่อจะได้ผลผลิตแย่ๆสะท้อนความรู้สึกในอิสยาห์บทที่ 5 ซึ่งเราได้อ่านเรื่องเปรียบเทียบถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับชนชาติอิสราเอล พระเจ้าในภาพของชาวสวนผู้ซึ่งปรับพื้นที่เนินเขาเก็บกวาดเศษขยะ ปลูกองุ่นพันธุ์ดี สร้างหอคอยเพื่อเฝ้าระวัง และสกัดบ่อย่ำองุ่นเพื่อชื่นชมกับผลผลิตของพระองค์ (อสย.5:1-2) เป็นความเศร้าใจของชาวสวนที่สวนองุ่นคือชนชาติอิสราเอลนั้น ให้ผลผลิตรสเปรี้ยวของความเห็นแก่ตัว ความอยุติธรรม และการกดขี่ (ข้อ 7) ในที่สุดพระเจ้าทรงฝืนพระทัยทำลายสวนนั้นแต่ทรงเก็บเถาองุ่นบางส่วนไว้ด้วย หวังว่าสักวันหนึ่งมันจะให้ผลผลิตที่ดี

พระเยซูใช้ภาพสวนองุ่นอีกครั้งหนึ่งในพระธรรมยอห์น ทรงตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นแขนง ผู้ที่เข้าสนิทอยู่ในเราและเราเข้าสนิทอยู่ในเขา ผู้นั้นจะเกิดผลมาก” (ยน.15:5) ในภาพเปรียบเทียบนี้ พระเยซูวาดภาพผู้เชื่อเป็นแขนงที่ติดอยู่กับพระองค์ซึ่งเป็นเถาองุ่น ในเวลานี้ขณะที่เรายังคงติดสนิทกับพระเยซูได้ผ่านการขะมักเขม้นอธิษฐานต่อพระวิญญาณของพระองค์เราจึงได้รับการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้เรามีผลผลิตที่หอมหวานที่สุด นั่นคือความรัก

เลือกที่จะมีความหวัง

ฉันเป็นหนึ่งในหลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องทนทุกข์กับภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นภาวะที่เกิดกับผู้ที่อยู่ในที่ซึ่งมีแสงอาทิตย์จำกัดในฤดูหนาวที่มีช่วงกลางวันสั้น เมื่อฉันเริ่มกลัวว่าความหนาวเหน็บของฤดูหนาวจะไม่มีวันสิ้นสุด ฉันเริ่มอยากเห็นสัญญาณว่ากลางวันที่ยาวนานและอบอุ่นขึ้นกำลังจะมาถึง

สัญญาณแรกของฤดูใบไม้ผลิคือดอกไม้เริ่มแทรกตัวผ่านหิมะออกมาอย่างกล้าหาญ นี่เป็นเครื่องเตือนใจที่ทรงพลังว่า ความหวังในพระเจ้าจะฝ่าทะลุฤดูกาลที่มืดมิดที่สุดของเราได้เช่นกัน มีคาห์ยอมรับขณะยืนหยัดในความปวดร้าวใจของ “ฤดูหนาว” ที่ชนชาติอิสราเอลหันออกจากทางของพระเจ้า ขณะประเมินสถานการณ์ที่มืดมนท่านคร่ำครวญว่า “จะหาคนซื่อตรงสักคนก็ไม่มี” (มคา.7:2)

แม้สถานการณ์จะดูเลวร้าย แต่มีคาห์ไม่ยอมหมดหวัง ท่านเชื่อมั่นว่าพระเจ้ากำลังทำงาน (ข้อ 7) แม้อยู่ในท่ามกลางการทำลายล้าง และท่านก็ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆจากพระเจ้า

เราต้องเผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกับมีคาห์ เมื่อเราอยู่ในความมืดมิดที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุดของ “ฤดูหนาว” และฤดูใบไม้ผลิดูเหมือนจะมาไม่ถึง เราจะยอมสิ้นหวังหรือไม่ หรือเราจะ “มองดูพระเจ้า” (ข้อ 7)

ความหวังในพระเจ้าของเราไม่มีวันสูญเปล่า (รม.5:5) พระองค์จะนำช่วงเวลาที่ไร้ซึ่ง “ฤดูหนาว” คือเวลาที่ไม่มีการร้องไห้และความเจ็บปวดมาให้เรา (วว.21:4) จนกว่าจะถึงวันนั้น ให้เราพักสงบอยู่ในพระองค์และยอมรับว่า “ความหวังของข้าพระองค์อยู่ในพระองค์” (สดด.39:7)

กุญแจแห่งรัก

ฉันยืนทึ่งกับแม่กุญแจหลายแสนตัวที่สลักชื่อย่อของคู่รักเอาไว้และแขวนอยู่ในพื้นที่ทุกตารางนิ้วบนสะพานปงเดซาร์ในปารีส สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำแซนแห่งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์แห่งความรัก และการประกาศคำมั่นสัญญา “ชั่วนิรันดร์” ของคู่รัก ในปี 2014 กุญแจแห่งรักเหล่านี้มีน้ำหนักราวห้าสิบตัน และเป็นเหตุให้สะพานบางส่วนพังลงมาจึงต้องถอดกุญแจออก

ปรากฏการณ์ของกุญแจแห่งรักจำนวนมากนี้ชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาลึกๆของมนุษย์ที่ต้องการเครื่องรับประกันว่าความรักจะมั่นคง ในหนังสือเพลงซาโลมอนจากพันธสัญญาเดิมได้บรรยายภาพของคู่รัก ฝ่ายหญิงบอกถึงความปรารถนาในรักที่มั่นคง โดยการขอให้คนรักของเธอ “แนบดิฉันไว้ให้เป็นเนื้อเดียวดุจดวงตราแขวนอยู่ที่ใจของเธอ ประดุจดวงตราบนแขนของเธอ” (พซม.8:6) ความปรารถนาของเธอคือการอยู่อย่างปลอดภัยและมั่นคงในความรักของเขาเหมือนกับตราที่ประทับบนหัวใจของเขา หรือแหวนบนนิ้วของเขา

ความปรารถนาแห่งรักอันยั่งยืนของหนุ่มสาวที่บรรยายไว้ในเพลงซาโลมอนชี้ให้เราเห็นความจริงจากพระธรรมเอเฟซัสในพันธสัญญาใหม่ ที่บอกว่าเราได้รับการผนึก “ตรา” ไว้ด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า (1:13) ในขณะที่ความรักของมนุษย์อาจแปรเปลี่ยน และกุญแจอาจถูกถอดออกจากสะพาน แต่พระวิญญาณของพระคริสต์ผู้สถิตอยู่ภายในเรา ทรงเป็นตราประทับนิรันดร์ที่แสดงถึงความรักอันมั่นคงและไม่สิ้นสุดที่พระเจ้ามีต่อลูกของพระองค์ทุกคน

ตั้งชื่อโดยพระเจ้า

สายต้าน แม่ค้างคาวสาว จอมถ่ายพลัง ฉายาเหล่านี้เป็นคำที่เราใช้เรียกผู้ให้คำปรึกษาในค่ายฤดูร้อนที่ครอบครัวเราไปเข้าร่วมเป็นประจำทุกปี ชื่อเล่นที่เพื่อนร่วมค่ายตั้งให้นี้มักมาจากเหตุการณ์ที่น่าขายหน้า อุปนิสัยที่ตลก หรืองานอดิเรกที่คนๆนั้นชื่นชอบ

ฉายาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในค่าย แต่เรายังพบในพระคัมภีร์อีกด้วยตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงขนานนามอัครทูตยากอบและยอห์นว่า “ลูกฟ้าร้อง” (มก.3:17) ไม่บ่อยนักที่บุคคลในพระคัมภีร์จะตั้งฉายาให้กับตัวเอง แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อหญิงที่ชื่อนาโอมีให้คนเรียกเธอว่า “มารา” ซึ่งแปลว่า “ขมขื่น” (นรธ.1:20) เพราะทั้งสามีและลูกชายสองคนของเธอเสียชีวิต เธอรู้สึกว่าพระเจ้าทำให้ชีวิตของเธอขมขื่น (ข้อ 21)

อย่างไรก็ตาม ชื่อใหม่ที่นาโอมีใช้เรียกตัวเองไม่ได้ติดตัวเธอไป เพราะความสูญเสียอันยิ่งใหญ่นี้ไม่ใช่จุดจบในเรื่องราวของเธอ ท่ามกลางความเศร้าโศกนั้น พระเจ้าทรงอวยพรเธอผ่านทางนางรูธลูกสะใภ้ที่แสนดี ซึ่งในที่สุดก็ได้แต่งงานใหม่และมีบุตรชายหนึ่งคน ส่งผลให้นาโอมีได้มีครอบครัวใหม่อีกครั้ง

แม้บางครั้งเราอาจถูกทดลองให้ตั้งฉายาที่ขมขื่นให้ตัวเอง เช่น “ไอ้ขี้แพ้” หรือ “คนไม่น่ารัก” ตามความทุกข์ยากลำบากที่เราเผชิญหรือข้อผิดพลาดที่เราทำ แต่ชื่อเหล่านั้นไม่ใช่จุดจบของเรื่องราวทั้งหมดในชีวิต เราสามารถแทนที่คำตราหน้าเหล่านั้นด้วยชื่อที่พระเจ้าประทานให้ คือ “เป็นที่รัก” (รม.9:25) และมองหาหนทางที่พระองค์ทรงจัดเตรียมให้กับเราแม้กระทั่งในเวลาที่ท้าทายที่สุด

ถูกทรยศ

ในปี 2019 งานแสดงศิลปะทั่วโลกต่างฉลองครบรอบห้าร้อยปีแห่งการเสียชีวิตของลีโอนาโด ดาวินชี ในขณะที่มีการจัดแสดงภาพวาดและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากมายของเขา แต่กลับมีภาพเขียนเพียงห้าภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าเขียนโดยดาวินชี รวมถึงภาพอาหารมื้อสุดท้าย

ภาพนี้แสดงถึงการร่วมรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับเหล่าสาวกจากพระธรรมยอห์น โดยจับภาพความงุนงงของสาวกเมื่อพระเยซูตรัสว่า “คนหนึ่งในพวกท่านจะอายัดเราไว้” (ยน.13:21) เหล่าสาวกต่างสงสัยว่าคนทรยศนั้นคือใคร ขณะที่ยูดาสลอบออกไปเพื่อบอกทหารว่าพระอาจารย์และเพื่อนของเขาอยู่ที่ไหน

ความเจ็บปวดจากการทรยศปรากฏในคำตรัสของพระเยซูว่า “ผู้รับประทานอาหารของข้าพระองค์ก็ยกส้นเท้าใส่ข้าพระองค์” (ข้อ 18) เพื่อนที่ใกล้ชิดมากจนร่วมมื้ออาหารกันได้ใช้ความสัมพันธ์นั้นทำร้ายพระองค์

เราอาจเคยถูกเพื่อนหักหลัง เราทำอย่างไรกับความเจ็บปวดนั้น สดุดี 41:9 ซึ่งพระเยซูตรัสถึงในระหว่างรับประทานอาหาร (ยน.13:18) ทำให้เรามีความหวัง หลังจากดาวิดระบายความเจ็บปวดจากการถูกเพื่อนสนิทหลอกลวง ท่านได้รับการปลอบโยนในความรักและการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า ซึ่งค้ำชูและวางท่านไว้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์เป็นนิตย์ (สดด.41:11-12)

เมื่อเพื่อนทำให้เราผิดหวัง เราพบการปลอบประโลมได้เมื่อรู้ว่าความรักมั่นคงและการทรงสถิตของพระเจ้าจะช่วยเราให้ทนต่อความทุกข์แสนสาหัสได้

พบตามริมขอบ

ท่ามกลางฝูงชนในงานแสดงรถจักรยานยนต์ที่ผู้ขับขี่โชว์ลีลาน่าประทับใจ ฉันต้องยืนเขย่งจึงจะมองเห็น เมื่อมองไปรอบๆฉันเห็นเด็กสามคนนั่งอยู่บนต้นไม้ใกล้ๆ เพราะพวกเขาฝ่าฝูงชนเข้าไปดูจากด้านหน้าไม่ได้เหมือนกัน

สุริยุปราคา

ฉันเตรียมพร้อมสำหรับสุริยุปราคา โดยมีทั้งอุปกรณ์ป้องกันตา ทำเลที่ดูได้ชัด และขนมไหว้พระจันทร์แบบโฮมเมด เช่นเดียวกับผู้คนหลายล้านในสหรัฐ ครอบครัวฉันเฝ้าดูปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากนี้ เมื่อเงาของดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์จนมิด

สุริยคราสทำให้เกิดความมืดในช่วงบ่ายของฤดูร้อนที่มักมีแดดจ้า แม้สุริยคราสจะเป็นการฉลองที่สนุก และเตือนให้เราระลึกถึงฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ของพระเจ้าเหนือสิ่งทรงสร้าง (สดด.135:6-7) แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความมืดที่เกิดขึ้นระหว่างวันถูกมองว่าผิดปกติและเป็นลางไม่ดี (อพย.10:21; มธ.27:45) เป็นสัญญาณบอกถึงสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

นี่คือความมืดที่อาโมสผู้เผยพระวจนะในยุคการแยกอาณาจักรในอิสราเอลโบราณหมายถึง ท่านเตือนอาณาจักรเหนือว่า จะถูกทำลายหากยังหันหลังให้พระเจ้า ซึ่งหมายสำคัญคือ“เราจะกระทำให้ดวงอาทิตย์ตกในเวลาเที่ยงวัน กระทำให้โลกมืดไปในกลางวันแสกๆ” (อมส.8:9)

แต่พระประสงค์และเป้าหมายสูงสุดของพระเจ้าทั้งอดีตและปัจจุบันคือ การแก้ไขทุกสิ่งให้ถูกต้อง แม้ผู้คนจะถูกเนรเทศ แต่พระเจ้าสัญญาว่าวันหนึ่งจะทรงนำคนที่เหลืออยู่กลับมายังเยรูซาเล็มและจะ “ตั้งขึ้นใหม่และซ่อมช่องชำรุดต่างๆเสียและยกที่ปรักหักพังขึ้น” (9:11)

เมื่อชีวิตมืดมนที่สุดเหมือนอิสราเอล เราอุ่นใจที่รู้ว่าพระเจ้ากำลังทำการเพื่อนำแสงสว่างและความหวังกลับมาสู่ทุกคน (กจ.15:14-18)

ม่านถูกเปิดออก

เมื่อเครื่องบินบินได้ระดับ แอร์โฮสเตสก็ปิดม่านที่กั้นผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และฉันก็ตระหนักถึงความแตกต่างของที่นั่งในแต่ละชั้นบนเครื่องบิน นักเดินทางบางคนได้ขึ้นเครื่องก่อน มีความสุขกับที่นั่งพิเศษที่มีพื้นที่เหยียดขาและบริการเฉพาะบุคคล ม่านเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าฉันถูกแยกออกจากคนกลุ่มนั้น

ความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนนั้นพบได้ในตลอดประวัติศาสตร์รวมถึงพระวิหารของพระเจ้าในเยรูซาเล็ม โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครจ่ายได้มากกว่า คนที่ไม่ใช่ชาวยิวสามารถเข้าไปนมัสการได้แค่พระวิหารชั้นนอก ชั้นถัดมาคือสำหรับผู้หญิง และใกล้เข้ามาอีกคือส่วนของผู้ชาย ในส่วนสุดท้ายคืออภิสุทธิสถานซึ่งพระเจ้าสำแดงพระองค์เองอยู่หลังม่าน และมีเพียงมหาปุโรหิตผู้ชำระตัวแล้วเท่านั้นที่เข้าได้ปีละครั้ง (ฮบ.9:1-10)

แต่น่ายินดีที่การแบ่งแยกนี้ไม่มีอีกต่อไป พระเยซูได้ทำลายสิ่งกีดขวางที่ปิดกั้นการแสวงหาพระเจ้า ซึ่งรวมถึงความผิดบาปของเรา (10:17) เช่นเดียวกับม่านในพระวิหารที่ถูกฉีกเป็นสองส่วนเมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ (มธ.27:50-51) พระวรกายที่ถูกตรึงก็ได้ทำลายทุกอุปสรรคที่ขวางเราไม่ให้อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ ไม่มีสิ่งใดจะแบ่งแยกผู้เชื่อจากการมีประสบการณ์ในพระสิริและความรักของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ได้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา