ผู้เขียน

ดูทั้งหมด
Lisa M. Samra

Lisa Samra

Lisa desires to see Christ glorified in her life and in the ministries where she serves. Born and raised in Texas, Lisa is always on the lookout for sweet tea and brisket. She graduated with a Bachelor of Journalism from the University of Texas and earned a Master of Biblical Studies degree from Dallas Theological Seminary. Lisa now lives in Grand Rapids, Michigan, with her husband, Jim, and their four children. In addition to writing, she is passionate about facilitating mentoring relationships for women, and developing groups focused on spiritual formation and leadership development. Lisa has been blessed to travel extensively and often finds inspiration from experiencing the beauty of diverse cultures, places, and people. Lisa enjoys good coffee, running, and reading—just not all at the same time.

บทความ โดย Lisa Samra

วันที่ 10 - พระคุณสำหรับวันนี้ | ทิ้งไปในทะเล

ทิ้งไปในทะเล
ฉันอาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบมิชิแกน หนึ่งในแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลก อย่างไรก็ตาม ความงามของมันได้บดบังพลังน้ำมหาศาลของมันไว้ ในปี 2020 เมื่อคลื่นจากระดับน้ำที่สูงเป็นประวัติการณ์ได้ฉีกตัวบ้านออกจากฐานรากและพัดพาพวกมันลงสู่ทะเลสาบ เจ้าของบ้านเหล่านั้นผู้ซึ่งไม่เคยคิดเลยว่าบ้านของพวกเขาตั้งอยู่ในเขตอันตราย ก็ได้พบว่าบ้านเรือนถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้ว

อำนาจทำลายล้างของธรรมชาติเตือนให้เราระลึกถึงภาพที่คล้ายกันในพระคัมภีร์ ซึ่งผู้เขียนสดุดีบันทึกถึงความรู้สึกเมื่อความกลัวและความกังวลยังคงเกาะกุมอยู่ภายใน เป็นภาพของความรู้สึกเมื่อรู้ว่าแผ่นดินไหวกำลังจะเกิดขึ้น ภูเขาถล่ม และคลื่นในทะเลส่งเสียงกึกก้องน่ากลัว (สดุดี 46:1-3) เช่นเดียวกับที่หลายครั้งรากฐานชีวิตของเราดูเหมือนถูกสั่นคลอน ไม่ว่าจากปัญหาสุขภาพของคนที่เรารัก ความตายอันน่าสลดใจของเพื่อน หรือช่วงเวลาความเจ็บป่วยทางจิตใจ

เมื่อเผชิญความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคง ผู้เขียนสดุดีบันทึกว่า แม้ทุกสิ่งที่เขาหวังพึ่งนั้นสูญสิ้นไป แต่พระเจ้ายังคงเป็นที่ลี้ภัยและป้อมปราการเข้มแข็งสำหรับเขา (ข้อ 1, 7, 11) ความมั่นใจของเขาถูกย้ำถึงสองครั้งว่า “พระเจ้าจอมโยธาสถิตกับเราทั้งหลาย” และความมั่นใจนี้เองทำให้เขามีสันติสุขท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ของชีวิต

ไม่ว่าความทุกข์ทรมานใดที่คุณเผชิญอยู่ สดุดีบทที่ 46 ย้ำเตือนเราถึงความปลอดภัยและความมั่นคงที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้สำหรับคนของพระองค์เมื่อพบความทุกข์ยาก

เขียนโดย ลิซ่า เอ็ม แซมรา

คิดใคร่ครวญ :
คุณมีประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยในยามยากของคุณอย่างไร? พระกำลังของพระองค์ประคับประคองคุณอย่างไร?

อธิษฐาน :
พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ ขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงเป็นป้อมปราการเข้มแข็งที่ไม่มีวันสั่นคลอน

ความรักอ่อนโยนของพระเจ้า

ในปี 2017 มีคลิปวิดีโอของพ่อคนหนึ่งที่ปลอบลูกชายวัย 2 เดือนขณะที่ทารกรับการฉีดวัคซีนตามปกติ วิดีโอนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเพราะแสดงให้เห็นถึงความรักที่พ่อมีต่อลูกของเขา หลังจากที่พยาบาลฉีดวัคซีนเสร็จ ผู้เป็นพ่อก็ค่อยๆอุ้มลูกชายขึ้นไว้แนบแก้ม และเด็กชายก็หยุดสะอื้นภายในเวลาไม่กี่วินาที แทบไม่มีสิ่งใดที่ทำให้อุ่นใจไปกว่าการดูแลเอาใจใส่อย่างอ่อนโยนของพ่อแม่ผู้เปี่ยมด้วยความรัก

ในพระคัมภีร์มีคำอธิบายงดงามมากมายเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะพ่อผู้เปี่ยมด้วยความรัก เป็นภาพที่แสดงถึงความรักอันลึกซึ้งที่พระเจ้าทรงมีต่อบรรดาลูกของพระองค์ โฮเชยาผู้เผยพระวจนะในพันธสัญญาเดิมได้รับข้อความเพื่อส่งถึงคนอิสราเอลที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรทางตอนเหนือในช่วงเวลาที่อาณาจักรถูกแบ่งแยก ท่านเรียกประชาชนให้กลับคืนสู่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า โฮเชยาเตือนคนอิสราเอลให้นึกถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อพวกเขา ขณะที่ท่านบรรยายถึงพระเจ้าว่าทรงเป็นพระบิดาผู้อ่อนโยน “ครั้งเมื่ออิสราเอลยังเด็กอยู่ เราก็รักเขา” (ฮชย.11:1) และ “เราอุ้มเขาทั้งหลายไว้” (ข้อ 3)

คำมั่นสัญญาเดียวกันนี้ที่ว่าพระเจ้าจะทรงดูแลเราด้วยความรักก็เป็นจริงสำหรับเราด้วย ไม่ว่าเราจะแสวงหาการดูแลอันอ่อนโยนจากพระองค์หลังจากช่วงเวลาที่เราเคยปฏิเสธความรักของพระองค์ หรือเพราะความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานในชีวิตของเรา พระองค์ก็ยังทรงเรียกเราว่าเป็นบุตรของพระองค์ (1ยน.3:1) และอ้อมแขนแห่งการปลอบโยนของพระองค์ก็เปิดออกต้อนรับเรา (2คร.1:3-4)

อีกก้าวหนึ่งของความรัก

สิ่งใดหรือที่จะเป็นสาเหตุทำให้ใครสักคนช่วยเหลือคู่แข่ง สำหรับอดอลโฟซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารในรัฐวิสคอนซิน นี่คือโอกาสที่จะสนับสนุนเจ้าของร้านอาหารท้องถิ่นคนอื่นๆที่กำลังดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับมาตรการโควิด อดอลโฟรับรู้ถึงความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในช่วงของการระบาดนี้ด้วยตัวเอง ด้วยการสนับสนุนอย่างเอื้อเฟื้อจากธุรกิจในท้องถิ่นอีกแห่ง อดอลโฟใช้เงินของตัวเองมากกว่าสองพันดอลล่าร์ เพื่อซื้อบัตรกำนัลมามอบให้่ลูกค้าของเขานำไปใช้ที่ร้านอาหารอื่นๆในชุมชน นี่คือการสำแดงความรักที่ไม่ได้เป็นแค่คำพูด แต่ด้วยการกระทำ

เป็นเพราะการสำแดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่พระเยซูทรงเต็มใจสละพระชนม์ของพระองค์เพื่อมวลมนุษย์ (1 ยน.3:16) ยอห์นจึงหนุนใจผู้อ่านของท่านให้ก้าวต่อไปและสำแดงความรักด้วยการกระทำ สำหรับยอห์นแล้วการ “สละชีวิตของเราเพื่อพี่น้อง” (ข้อ 16) หมายถึงการสำแดงความรักแบบเดียวกับที่พระเยซูได้ทรงทำเป็นแบบอย่าง และส่วนมากมักอยู่ในรูปแบบของการกระทำในชีวิตประจำวัน เช่น การแบ่งปันวัตถุสิ่งของ การรักกันด้วยคำพูดยังไม่เพียงพอ ความรักต้องประกอบด้วยการกระทำที่จริงใจและมีความหมาย (ข้อ 18)

การสำแดงความรักด้วยการกระทำอาจทำได้ยากเพราะมักจะต้องมีการเสียสละส่วนตัว หรือเราอาจต้องเสียประโยชน์เพื่อผู้อื่น แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า และโดยการระลึกถึงความรักอันท่วมท้นที่พระองค์ทรงมีต่อเรา เราจึงสามารถก้าวต่อไปในความรักได้

พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัย

ภาพยนตร์เรื่อง สี่ดรุณี ที่โด่งดังในปี 2019 ทำให้ฉันหวนคิดถึงนวนิยายเล่มเก่าที่ฉันมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดปลอบโยนของแม่ที่ฉลาดและแสนจะอ่อนโยน ฉันประทับใจภาพที่นวนิยายเรื่องนี้บรรยายถึงความเชื่ออันมั่นคงที่แสดงออกมาทางคำพูดมากมายที่เธอให้กำลังใจลูกสาว มีคำพูดหนึ่งที่ประทับใจฉันมากคือ “ปัญหาและการล่อลวง...อาจมีมากมาย แต่ลูกสามารถเอาชนะมันและยืนหยัดอยู่ได้หากลูกเรียนรู้ถึงความเข้มแข็งและความอ่อนโยนของพระบิดาในสวรรค์”

คำพูดของผู้เป็นแม่สะท้อนถึงความจริงในพระธรรมสุภาษิตที่บอกว่า “พระนามของพระเจ้าเป็นป้อมเข้มแข็ง คนชอบธรรมวิ่งเข้าไปในนั้นและปลอดภัย” (18:10) ป้อมปราการถูกสร้างขึ้นตามเมืองต่างๆ ในสมัยโบราณเพื่อใช้เป็นที่หลบภัยในยามที่มีอันตรายที่อาจมาจากการโจมตีของศัตรู ในทำนองเดียวกัน การวิ่งเข้าไปหาพระเจ้าทำให้ผู้เชื่อในพระเยซูมีสันติสุขได้ภายใต้การดูแลของพระองค์ผู้ทรงเป็น “ที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของข้าพระองค์ทั้งหลาย” (สดด.46:1)

สุภาษิต 18:10 บอกเราว่า การปกป้องมาจาก “พระนาม” ของพระเจ้า ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น พระคัมภีร์บรรยายถึงพระเจ้าว่า “ทรงพระกรุณา ทรงกอปรด้วยพระคุณ ทรงกริ้วช้า และบริบูรณ์ด้วยความรักมั่นคง และความสัตย์จริง” (อพย.34:6) การปกป้องของพระเจ้าไม่ได้มาจากกำลังอันเข้มแข็งของพระองค์เท่านั้น แต่ยังมาจากความอ่อนโยนและความรักของพระองค์ที่ทำให้พระองค์ปรารถนาที่จะเป็นที่หลบภัยให้กับผู้ที่เจ็บปวด พระบิดาในสวรรค์ได้ทรงเสนอที่หลบภัยในพระกำลังอันเข้มแข็งและอ่อนโยนให้กับทุกคนที่กำลังต่อสู้ดิ้นรน

ข้าพระองค์ได้เห็นความสัตย์ซื่อของพระเจ้า

ตลอดประวัติศาสตร์เจ็ดสิบปีในฐานะประมุขของสหราชอาณาจักร พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทรงเขียนคำนำเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ไว้ในหนังสือพระราชประวัติเพียงเล่มเดียวที่ชื่อ ราชินีผู้รับใช้และกษัตริย์ที่เธอรับใช้ หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์เพื่อฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ 90 พรรษา โดยเล่าถึงความเชื่อของพระองค์ที่ได้นำพระองค์ให้ทรงรับใช้ประเทศชาติ ในคำนำพระองค์แสดงความขอบคุณที่ทุกคนอธิษฐานเผื่อพระองค์ และขอบคุณพระเจ้าในความรักมั่นคงของพระองค์ พระราชินีทรงสรุปว่า “ฉันได้เห็นความสัตย์ซื่อของพระองค์จริงๆ”

ถ้อยแถลงที่เรียบง่ายของพระราชินีสะท้อนคำพยานของชายและหญิงในตลอดประวัติศาสตร์ ที่ได้มีประสบการณ์ส่วนตัวถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้าในการดูแลชีวิตของพวกเขา นี่เป็นหัวข้อสำคัญที่แฝงอยู่ในบทเพลงอันไพเราะที่กษัตริย์ดาวิดประพันธ์เมื่อทรงไตร่ตรองถึงชีวิตของตนเอง บทเพลงที่บันทึกในพระธรรม 2 ซามูเอล 22 นี้กล่าวถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้าในการปกป้องดาวิด ทรงจัดเตรียมเพื่อพระองค์และทรงช่วยชีวิตพระองค์เมื่อทรงตกอยู่ในอันตราย (ข้อ 3-4, 44) เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ดาวิดจึงได้เขียนว่า “ข้าพระองค์...ร้องเพลงสรรเสริญพระนามของพระองค์” (ข้อ 50)

เมื่อความสัตย์ซื่อของพระเจ้าเป็นที่ประจักษ์มาตลอดชั่วชีวิตอันยาวนานของเรา พร้อมกับความงดงามที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องรอที่จะเล่าถึงการดูแลของพระองค์ เมื่อเรารู้ว่าไม่ใช่ความสามารถของเราเองที่จะช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ แต่เป็นการดูแลอย่างซื่อสัตย์ของพระบิดาผู้ทรงรัก จิตใจของเราจึงถูกนำไปสู่การสรรเสริญและขอบคุณพระองค์

คำพูดที่ทำให้ชื่นใจ

ขณะยืนอยู่ในครัว ลูกสาวของฉันร้องขึ้นมาว่า “แม่คะ! มีแมลงวันอยู่ในน้ำผึ้ง!” ฉันตอบกลับด้วยคำคมที่คุ้นเคยว่า “น้ำผึ้งจับแมลงวันได้ดีกว่าน้ำส้มสายชู” แม้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่ฉันจับแมลงวันได้ (โดยบังเอิญ)ด้วยน้ำผึ้ง แต่ฉันพบว่าตัวเองอ้างสุภาษิตสมัยใหม่นี้ขึ้นมาก็เพราะคำสอนของสุภาษิตนี้ที่ว่า คำขอร้องที่อ่อนหวานมักจะโน้มน้าวใจผู้อื่นได้ดีกว่าท่าทีที่ขุ่นเคือง

พระธรรมสุภาษิตนั้นเป็นการรวบรวมสุภาษิตและคำคมแห่งสติปัญญาที่ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณของพระเจ้า คำพูดที่ได้รับการดลใจเหล่านี้ช่วยนำทางเราและสอนเราถึงสัจจะความจริงที่สำคัญในการใช้ชีวิตในแบบที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้า สุภาษิตหลายข้อเน้นที่การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงผลกระทบอย่างมากจากคำพูดของเราที่มีต่อผู้อื่น

ในส่วนของสุภาษิตที่น่าจะเขียนโดยกษัตริย์ซาโลมอนนั้น พระองค์ได้เตือนถึงอันตรายที่เกิดจากการพูดเป็นพยานเท็จกล่าวโทษเพื่อนบ้าน (สภษ.25:18) พระองค์แนะนำว่า “ลิ้นที่ส่อเสียด” ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่โกรธขึ้งกัน (ข้อ 23) ซาโลมอนเตือนถึงความเย็นชาซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการพร่ำบ่นตลอดเวลา (ข้อ 24) และพระองค์ได้หนุนใจผู้อ่านว่าพระพรจะเกิดขึ้นเมื่อคำพูดของเรานำมาซึ่งข่าวดี (ข้อ 25)

เมื่อเรามองหาวิธีที่จะนำสุภาษิตเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ เรามีพระวิญญาณของพระเจ้าผู้ที่จะช่วยเราให้มอบ “คำตอบที่ถูกต้อง” (16:1 TNCV) ด้วยการเสริมกำลังจากพระเจ้า คำพูดของเราจะเป็นคำพูดที่หวานหูและทำให้สดชื่นได้

พระพรในวันขอบคุณพระเจ้า

ในปี 2016 แวนด้า เดนช์ได้ส่งข้อความชวนหลานชายให้มารับประทานอาหารเย็นในวันขอบคุณพระเจ้า โดยไม่รู้ว่าหลานชายเพิ่งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ข้อความนั้นจึงถูกส่งไปถึงคนแปลกหน้าชื่อจามัล หลังจากคุยกันจนเข้าใจว่าเขาเป็นใครแล้ว จามัลซึ่งว่างก็ถามว่าเขายังจะมาร่วมรับประทานอาหารเย็นได้หรือไม่ แวนด้าบอกว่า “ได้แน่นอน” จามัลจึงไปร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวของแวนด้า ซึ่งได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเขาทุกปีนับแต่นั้นมา คำเชิญที่ส่งผิดกลับกลายเป็นพระพรประจำปี

ความเมตตาของแวนด้าที่ได้เชิญคนแปลกหน้าให้มาร่วมรับประทานอาหารทำให้ฉันคิดถึงคำหนุนใจของพระเยซูในพระกิตติคุณลูกา ในระหว่างเสวยพระกระยาหารที่บ้านของฟาริสี “คนสำคัญ” (ลก.14:1) พระเยซูทรงเห็นคนทั้งหลายที่ได้รับเชิญนั้นแย่งกันนั่งในที่นั่งอันมีเกียรติ (ข้อ 7) พระองค์จึงบอกคนที่เชิญพระองค์ว่า การเชิญคนโดยคำนึงถึงสิ่งที่คนเหล่านั้นจะสามารถตอบแทนให้ได้ (ข้อ 12) หมายความว่าพระพรจะอยู่ในวงจำกัด แทนที่จะทำอย่างนั้น พระเยซูทรงบอกเขาว่าการเชิญคนที่ไม่มีอะไรที่จะตอบแทนได้จะนำมาซึ่งพระพรที่ยิ่งใหญ่ (ข้อ 14)

สำหรับแวนด้า การเชิญจามัลมาร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวของเธอในวันขอบคุณพระเจ้าส่งผลเป็นพระพรที่ไม่คาดคิด เนื่องด้วยมิตรภาพอันยาวนานซึ่งเป็นกำลังใจยิ่งใหญ่แก่แวนด้าหลังจากที่สามีของเธอเสียชีวิต เมื่อเราเอื้อมมือออกไปหาผู้อื่น ไม่ใช่เพราะเราจะได้รับอะไรตอบแทน แต่เพราะความรักของพระเจ้าไหลล้นผ่านเรา เราก็จะได้รับพระพรและกำลังใจที่ยิ่งใหญ่กว่ามากนัก

มีค่ายิ่งกว่าทองคำ

คุณเคยดูสินค้าราคาถูกที่นำมาเปิดท้ายขายของแล้วฝันว่าคุณจะพบของมีค่าอย่างเหลือเชื่อไหม มันเกิดขึ้นที่รัฐคอนเนคทิคัต เมื่อชามโบราณลายดอกไม้จีนที่ซื้อในราคาพันกว่าบาท ได้ถูกขายในงานประมูลในปี 2021
ด้วยราคากว่ายี่สิบสามล้านบาท ของชิ้นนี้กลายเป็นศิลปวัตถุชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หายากจากศตวรรษที่ 15 เป็นเครื่องเตือนใจที่น่าทึ่งว่าสิ่งที่บางคนมองว่ามีค่าเพียงเล็กน้อยกลับมีคุณค่าที่ยิ่งใหญ่

เปโตรเขียนถึงผู้เชื่อที่กระจัดกระจายไปทั่วโลกเวลานั้น ท่านอธิบายว่าความเชื่อของพวกเขาในพระเยซูคือความเชื่อในพระองค์ผู้ซึ่งถูกปฏิเสธโดยสังคมส่วนใหญ่ ถูกดูหมิ่นโดยผู้นำทางศาสนาชาวยิวและถูกตรึงกางเขนโดยรัฐบาลโรม พระคริสต์ถูกคนจำนวนมากมองว่าไร้ค่าเพราะไม่ทรงตอบสนองความคาดหวังและความปรารถนาของพวกเขา แต่ถึงแม้คนอื่นจะเมินเฉยต่อคุณค่าของพระเยซู แต่พระองค์เป็นผู้ที่พระเจ้า “ทรงเลือกไว้และทรงค่าอันประเสริฐ” (1ปต.2:4) คุณค่าของพระองค์ที่มีต่อเรามีค่ายิ่งกว่าเงินหรือทอง (1:18-19) และเราได้รับการรับรองว่า ผู้ใดที่เลือกเชื่อวางใจในพระเยซูจะไม่ได้รับความอับอายในสิ่งที่ตนเลือก (2:6)

เมื่อคนอื่นมองว่าพระเยซูไร้ค่า ขอให้เราลองมองอีกครั้ง พระวิญญาณของพระเจ้าทรงช่วยให้เราเห็นของประทานอันประเมินค่ามิได้จากพระคริสต์ ผู้ประทานคำเชื้อเชิญอันมีค่าแก่ทุกคนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า (ข้อ 10)

ความหวังสำหรับผู้ที่เจ็บปวด

“คนส่วนใหญ่มีรอยแผลเป็นที่ผู้อื่นไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจ” คำพูดที่ออกมาจากใจส่วนลึกนี้มาจากผู้เล่นเบสบอลเมเจอร์ลีกชื่อแอนเดรลตัน ซิมมอนส์ ผู้เลือกที่จะไม่ลงแข่งในฤดูกาลปกติเมื่อปลายปี 2020 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เมื่อซิมมอนส์ทบทวนถึงการตัดสินใจนั้น เขารู้สึกว่าจะต้องแบ่งปันเรื่องราวของเขาเพื่อหนุนใจผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกันนี้และเพื่อเตือนคนอื่นๆให้แสดงความเห็นใจ

แผลเป็นที่ซ่อนอยู่นั้นคือความเจ็บปวดและบาดแผลในส่วนลึก ที่แม้มองไม่เห็นแต่ก็ยังเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ในสดุดี 6 ดาวิดเขียนถึงความทุกข์ลำบากยิ่งของตน ด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและตรงไปตรงมา ท่านอยู่ใน “ความปวดร้าวแสนสาหัส” (ข้อ 2 TNCV) และ “ทุกข์ยากลำบากอย่างยิ่ง” (ข้อ 3) ท่าน “อ่อนเปลี้ย” จากการคร่ำครวญและที่เอนกายก็ชุ่มไปด้วยน้ำตา (ข้อ 6) แม้ดาวิดไม่ได้พูดถึงสาเหตุของความทุกข์ทนนี้ แต่เราหลายคนก็เข้าใจได้ถึงความเจ็บปวดของท่าน

เราเองก็อาจได้รับการหนุนใจจากท่าทีที่ดาวิดตอบสนองต่อความเจ็บปวดท่ามกลางความทุกข์ทรมานอย่างเหลือล้นนี้ ดาวิดได้ร้องทูลต่อพระเจ้า ท่านเทใจอธิษฐานขอการรักษา (ข้อ 2) การช่วยให้รอด (ข้อ 4) และความเมตตา (ข้อ 9 TNCV) แม้ยังมีคำถามที่ว่า “อีกนานสักเท่าใด” (ข้อ 3) กับเวลาที่ต้องอยู่ในสถานการณ์นั้น แต่ดาวิดยังคงมั่นใจว่าพระเจ้า “ทรงได้ยินเสียงร้องทูลขอความเมตตาของข้าพเจ้า” (ข้อ 9 TNCV) และพระองค์จะตอบในเวลาของพระองค์ (ข้อ 10) เพราะพระเจ้าของเราทรงเป็นเช่นนี้ เราจึงมีความหวังอยู่เสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา