ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Kenneth Petersen

พระเจ้ากำลังตรัสกับเรา

ผมรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก บ่อยครั้งที่ผมจะปล่อยให้สายเหล่านั้นเข้าไปที่กล่องรับข้อความ แต่ครั้งนี้ผมรับสาย ผู้ที่สุ่มโทรมาขอเวลาผมเพียงหนึ่งนาทีด้วยความสุภาพเพื่อแบ่งปันข้อพระคำสั้นๆ เขายกพระธรรมวิวรณ์ 21:3-5 ที่กล่าวถึงการที่พระเจ้า “จะทรงเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของเขา” เขาพูดถึงพระเยซูว่าทรงเป็นหลักประกันและความหวังของเรา ผมบอกเขาว่าผมรู้จักพระเยซูในฐานะองค์พระผู้ช่วยให้รอดเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่ผู้ที่โทรมาไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการ “เป็นพยาน” กับผมเท่านั้น เขาขออธิษฐานกับผมด้วย และเขาอธิษฐานขอพระเจ้าประทานกำลังใจและเรี่ยวแรงแก่ผม

การรับสายครั้งนั้นเตือนผมถึง “การทรงเรียก” ครั้งหนึ่งในพระคัมภีร์ ที่พระเจ้าทรงเรียกเด็กชายซามูเอลในเวลากลางคืน (1ซมอ.3:4-10) ซามูเอลได้ยินเสียงเรียกสามครั้งและคิดว่าเป็นเสียงของเอลีปุโรหิตชรา ในครั้งสุดท้ายตามคำแนะนำของเอลี ซามูเอลตระหนักว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ที่เรียก “ขอตรัสเถิด เพราะผู้รับใช้ของพระองค์คอยฟังอยู่” (ข้อ 10) เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พระเจ้าอาจกำลังตรัสกับเรา เราจำเป็นต้อง “รับสาย”ซึ่งอาจหมายถึงการใช้เวลาเข้าเฝ้าและฟังเสียงของพระองค์มากขึ้น

ผมคิดถึง “การทรงเรียก” ในอีกรูปแบบหนึ่งด้วยว่า บางครั้งเราก็อาจได้เป็นผู้สื่อสารที่ส่งพระคำของพระเจ้าให้แก่ใครบางคน เราอาจรู้สึกว่าเราไม่มีวิธีที่จะช่วยผู้อื่นได้ แต่เมื่อพระเจ้าทรงนำ เราสามารถที่จะโทรศัพท์ไปหาเพื่อนสักคนและถามว่า “จะเป็นอะไรไหม ถ้าวันนี้ผมจะขออธิษฐานกับคุณ”

การอบรมในทางธรรม

ช่วงปลายยุคปี 1800 ผู้คนในที่ต่างๆได้พัฒนาวิธีในการทำพันธกิจที่คล้ายคลึงกันในช่วงเวลาเดียวกัน ครั้งแรกคือในปี 1877 ที่เมืองมอนทรีออล แคนาดา อีกแนวคิดหนึ่งเริ่มขึ้นที่นครนิวยอร์กในปี 1878 โดยภายในปี 1922 มีการดำเนินโครงการไปราวห้าพันโครงการทุกช่วงฤดูร้อนในทวีปอเมริกาเหนือ

ประวัติศาสตร์ยุคแรกของค่ายฝึกอบรมพระคัมภีร์ภาคฤดูร้อน(ฝคร.)จึงเริ่มต้นขึ้น ภาระใจอันแรงกล้าที่กระตุ้นผู้บุกเบิกค่ายฝคร. คือความปรารถนาที่อยากให้คนหนุ่มสาวรู้จักพระคัมภีร์

เปาโลมีภาระใจในทำนองเดียวกันต่อทิโมธีคนหนุ่มซึ่งอยู่ในการดูแลของท่าน โดยกล่าวว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า” และเตรียมเราให้ “พรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง” (2 ทธ.3:16-17) แต่นี่ไม่ใช่แค่คำแนะนำอย่างใจดีว่า “เป็นการดีที่เราจะอ่านพระคัมภีร์” คำแนะนำของเปาโลนี้อยู่ต่อจากคำเตือนที่น่ากลัวว่า “ในสมัยจะสิ้นยุคนั้น จะเกิดเหตุการณ์กลียุค” (ข้อ 1) และมีผู้สอนเท็จที่ทำให้ “ไม่อาจที่จะเข้าถึงหลักความจริงได้เลย” (ข้อ 7) จึงจำเป็นที่เราจะต้องปกป้องตนเองด้วยพระคัมภีร์ เพราะพระคัมภีร์ทำให้เราซึมซับความรู้ในเรื่องพระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งทำให้เรา “มีปัญญา ที่จะมาถึงความรอดได้โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์” (ข้อ 15 TNCV)

การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น แต่สำหรับผู้ใหญ่ด้วย และไม่ใช่สำหรับฤดูร้อนเท่านั้น แต่สำหรับทุกวัน เปาโลเขียนถึงทิโมธีว่า “ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ที่ท่านได้รู้พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์” (ข้อ 15) และไม่เคยสายเกินไปที่จะเริ่มต้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต สติปัญญาในพระคัมภีร์จะเชื่อมโยงเรากับพระเยซู นี่คือบทเรียน ฝคร.ของพระเจ้าสำหรับเราทุกคน

มองเห็นพระเยซู

ในวัยสี่เดือนลีโอไม่เคยมองเห็นพ่อแม่ เขาเกิดมาพร้อมกับอาการซึ่งพบได้น้อยมากที่ทำให้สายตาของเขาพร่ามัว สำหรับลีโอแล้วมันเหมือนกับการมีชีวิตอยู่ในหมอกหนาทึบ แต่ภายหลังจักษุแพทย์ได้ทำแว่นตาพิเศษให้กับเขา

พ่อของลีโอโพสต์วิดีโอตอนที่แม่ของเขาสวมแว่นตาให้เขาครั้งแรก เรามองดูตาของลีโอค่อยๆโฟกัส รอยยิ้มฉีกกว้างบนใบหน้าของเขาเมื่อเขามองเห็นแม่อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ช่างเป็นอะไรที่มีค่านัก ณ ช่วงเวลานั้นที่ลีโอได้มองเห็นอย่างชัดเจน

ยอห์นบันทึกบทสนทนาของพระเยซูกับพวกสาวก ฟีลิปทูลพระองค์ว่า “ขอสำแดงพระบิดาให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็น” (ยน.14:8) แม้จะผ่านช่วงเวลาทั้งหมดมาด้วยกัน สาวกของพระเยซูก็ยังจำผู้ที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาไม่ได้ พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่เชื่อหรือว่า เราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาทรงอยู่ในเรา” (ข้อ10) ก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต” (ข้อ 6) นี่คือคำตรัสครั้งที่หกจากเจ็ดครั้งที่พระเยซูตรัสว่า “เราเป็น” พระองค์กำลังบอกให้เรามองผ่านแว่นตาของคำว่า “เราเป็น” เหล่านี้เพื่อจะเห็นผู้ที่พระองค์ทรงเป็นอย่างแท้จริง นั่นคือพระเจ้าพระองค์เอง

พวกเราก็เหมือนกับเหล่าสาวก ในเวลายากลำบาก เราล้มลุกคลุกคลานและเริ่มมีสายตาพร่าเลือน เราไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำและสามารถกระทำได้ เมื่อลีโอตัวน้อยสวมแว่นตาพิเศษนั้น เขามองเห็นพ่อแม่ได้ชัดเจน บางทีเราอาจต้องสวมแว่นตาของพระเจ้าเพื่อที่เราจะเห็นว่าพระเยซูเป็นใครได้อย่างชัดเจน

พระองค์ทรงเป็นผู้ใด

เมื่อตอนอายุ 16 ปี หลุยส์ โรดริเกซได้เคยถูกจำคุกมาแล้วจากการขายโคเคน แต่ตอนนี้เขาเข้าไปในเรือนจำอีกครั้งด้วยข้อหาพยายามฆ่าและมีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่พระเจ้าตรัสกับเขาในความผิดที่เขาทำ เบื้องหลังลูกกรงนั้นหลุยส์ผู้อ่อนเยาว์จำได้ถึงตอนเป็นเด็กที่แม่พาเขาไปโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ บัดนี้เขารู้สึกว่าพระเจ้าทรงทำงานในใจของเขา ในที่สุดหลุยส์ก็สารภาพบาปและเชื่อวางใจในพระเยซู

ในพระธรรมกิจการ เราพบชายชาวยิวที่กระตือรือร้นอย่างแรงกล้าชื่อเซาโล ซึ่งถูกเรียกว่าเปาโลด้วย ท่านมีความผิดฐานข่มเหงผู้เชื่อในพระเยซูอย่างรุนแรงและต้องการฆ่าพวกเขา (กจ.9:1) มีหลักฐานว่าท่านเป็นผู้นำกลุ่มผู้ข่มเหงและอยู่ในฝูงชนที่ฆ่าสเทเฟน (7:58) แต่พระเจ้าตรัสกับท่านโดยตรงถึงเรื่องความผิดของท่าน บนถนนไปยังเมืองดามัสกัสเซาโลตาบอดเพราะแสงสว่างจากฟ้า และพระเยซูตรัสกับท่านว่า “เจ้าข่มเหงเราทำไม” (9:4) เซาโลจึงทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ทรงเป็นผู้ใด” (ข้อ 5) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ท่านมาเชื่อในพระเยซู

หลุยส์ โรดริเกซถูกตัดสินจำคุก แต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัวโดยมีทัณฑ์บนนับแต่นั้นมาเขารับใช้พระเจ้า อุทิศทุ่มเทชีวิตเพื่อพันธกิจเรือนจำในสหรัฐอเมริกาและอเมริกากลาง

พระเจ้าทรงเชี่ยวชาญในการไถ่ส่วนที่เลวร้ายที่สุดภายในเรา พระองค์ทรงทำงานในใจของเราและตรัสกับเราเรื่องชีวิตที่เต็มไปด้วยความผิดบาป บางทีอาจถึงเวลาที่เราจะสารภาพบาปของเราและมาเชื่อในพระเยซู

ความหมายแห่งชีวิต

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเขียนโดยนักเขียนชาวอาร์เจนตินาชื่อ ฆอร์เฆ่ ลุยส์ บอร์เฆส เล่าเรื่องราวของทหารชาวโรมันคือ มาร์คัส รูฟัสที่ดื่มน้ำจาก “แม่น้ำลึกลับที่ทำให้มนุษย์ไร้ซึ่งความตาย” เมื่อเวลาผ่านไปมาร์คัสตระหนักว่าความเป็นอมตะไม่ได้ดีอย่างที่คิด ชีวิตที่ไร้ข้อจำกัดคือชีวิตที่ไร้ความหมาย แท้จริงแล้ว ความตายนั่นเองที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย มาร์คัสได้พบยาแก้พิษที่เป็นน้ำใสผุดขึ้นมาจากใต้ดิน หลังจากที่ดื่มแล้ว เขาเอามือถูกับหนามและมีเลือดออกหยดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าสภาพมตะของเขากลับคืนมาแล้ว

เราเองก็เช่นเดียวกับมาร์คัส ที่บางครั้งท้อแท้ต่อการเสื่อมถอยของชีวิตและความตายที่ใกล้เข้ามา (สดด.88:3) เราเห็นด้วยว่าความตายทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่นี่คือจุดที่ทำให้เรื่องของเราแตกต่างจากเรื่องของมาร์คัส เรารู้ว่าในการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์นั้นคือที่ซึ่งเราพบความหมายที่แท้จริงของชีวิต ด้วยพระโลหิตของพระคริสต์ที่หลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ได้ทรงชนะความตาย และความตายก็ถูกกลืนถึงปราชัยแล้ว (1 คร.15:54) สำหรับเราแล้ว ยาแก้พิษอยู่ใน “น้ำธำรงชีวิต” ของพระเยซูคริสต์ (ยน.4:10) เพราะเมื่อเราดื่มน้ำนั้น กฎทั้งหมดของชีวิต ความตาย และกฎของชีวิตที่เป็นอมตะจะถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ (1 คร.15:52)

เป็นความจริงที่ว่าเราไม่สามารถหลีกหนีความตายทางร่างกายได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ พระเยซูทำให้ความสิ้นหวังในชีวิตและความตายของเราพลิกผัน (ฮบ.2:11-15) ในพระคริสต์ เรามั่นใจได้กับความหวังในสวรรค์และความยินดีที่มีความหมายในชีวิตนิรันดร์กับพระองค์

ความรักพระเจ้า

ในปี 1917 เฟรเดอริค ลีห์แมน นักธุรกิจจากแคลิฟอร์เนียซึ่งประสบกับวิกฤตด้านการเงินได้แต่งเนื้อเพลงนมัสการ “ความรักพระเจ้า” แรงบันดาลใจที่มีทำให้เขาเขียนสองท่อนแรกได้อย่างรวดเร็วแต่กลับติดขัดในท่อนที่สาม เขานึกถึงบทกวีที่ถูกค้นพบบนผนังคุกแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน นักโทษคนหนึ่งสลักมันไว้บนหิน บรรยายถึงการรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงความรักของพระเจ้า กวีบทนี้มีความยาวพอดีกับเพลงนมัสการของลีห์แมน เขาจึงใช้มันในท่อนที่สาม

มีหลายครั้งที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตที่ยากลำบากเช่นเดียวกับลีห์แมนและนักกวีในคุกคนนั้น ในเวลาแห่งความสิ้นหวัง เราควรสะท้อนถ้อยคำของดาวิดผู้เขียนสดุดีและ “ลี้ภัยอยู่ใต้ร่มปีกของ[พระเจ้า]” (สดด.57:1) เป็นการดีที่จะ “ร้องทูลต่อพระเจ้า” ถึงปัญหาของเรา (ข้อ 2) ทูลพระองค์ถึงความทุกข์ที่เรากำลังเผชิญและความกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อเรา “อยู่ท่ามกลางเหล่าสีหราช” (ข้อ 4) ในไม่ช้าเราจะระลึกถึงการทรงจัดเตรียมของพระเจ้าในอดีต และร่วมกล่าวไปพร้อมกับดาวิดว่า “ข้าพระองค์จะร้องเพลง ข้าพระองค์จะร้องเพลงสดุดี...ข้าพเจ้าจะปลุกอรุณ” (ข้อ 7-8)

เพลงนมัสการบทนี้ประกาศว่า “ความรักพระเจ้ากว้างใหญ่ไพศาล” ตามด้วย “รักนั้นสูงเหนือดาวเดือนตะวัน” ในเวลาที่เราลำบากยากเข็ญที่สุด เราจะยิ่งเห็นว่าความรักของพระเจ้านั้นใหญ่ยิ่ง “ถึงฟ้าสวรรค์” (ข้อ 10) เพียงใด

อายุขัย

ในปี ค.ศ.1990 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสพบปัญหาทางคอมพิวเตอร์ มีข้อผิดพลาดทางข้อมูลขณะกำลังประมวลผลอายุของฌาน กาลม็อง เธออายุ 115 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่อยู่นอกการคำนวณของโปรแกรม ผู้เขียนโปรแกรมสันนิษฐานว่าไม่มีใครจะมีชีวิตยืนยาวขนาดนั้น! จริงๆแล้วฌานมีชีวิตจนถึงอายุ 122 ปี

ผู้เขียนสดุดีเขียนว่า “กำหนดปีของข้าพระองค์คือเจ็ดสิบ หรือสุดแต่เรื่องกำลังก็ถึงแปดสิบ” (สดด.90:10) นี่เป็นการพูดเปรียบเทียบว่าไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อไหร่ แม้จะอายุเท่ากับฌาน กาลม็องก็ตาม ชีวิตของเราบนโลกนี้ก็มีขีดจำกัด เวลาชีวิตของเราอยู่ในพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรัก (ข้อ 5) แต่ในโลกฝ่ายวิญญาณ เราถูกเตือนว่า “เวลาของพระเจ้า” ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร “เพราะพันปีในสายพระเนตรของพระองค์เป็นเหมือนวานนี้ซึ่งผ่านไปแล้ว” (ข้อ 4)

และโดยพระเยซูคริสต์ “อายุขัย” ได้ถูกนิยามความหมายใหม่ “ผู้ที่วางใจในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์” (ยน.3:36) คำว่า “มี” คำนี้อยู่ในรูปกาลปัจจุบัน หมายถึง ณ เวลานี้ ในช่วงเวลาขณะที่เรามีความทุกข์ยากและน้ำตา อนาคตของเราได้รับการอวยพร และเวลาชีวิตของเราไม่มีที่สิ้นสุด

เราชื่นชมยินดีในเรื่องนี้และอธิษฐานร่วมกับผู้เขียนพระธรรมสดุดีว่า “ขอทรงให้ข้าพระองค์ทั้งหลายอิ่มในเวลาเช้าด้วยความรักมั่นคงของพระองค์ เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้เปรมปรีดิ์และยินดีตลอดวันเวลาของข้าพระองค์” (สดด.90:14)

เมล็ดพันธุ์แห่งกาลเวลา

ในปี 1879 คนที่เห็นวิลเลียม บีลมักจะคิดว่าเขาเป็นคนโง่ พวกเขาจะได้เห็นศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์บรรจุเมล็ดพืชต่างๆลงไปในขวด 20 ขวด แล้วฝังลึกลงไปใต้ดิน สิ่งที่พวกเขาไม่รู้ก็คือ บีลกำลังทำการทดลองเรื่องความอยู่รอดของเมล็ดพืชซึ่งจะกินเวลาหลายศตวรรษ ทุกๆ 20 ปีจะมีการขุดขึ้นมาหนึ่งขวดเพื่อนำเมล็ดในนั้นมาเพาะและรอดูว่าเมล็ดใดจะงอกขึ้นมาบ้าง

พระเยซูตรัสเรื่องการหว่านเมล็ดไว้หลายครั้ง โดยบ่อยครั้งทรงเปรียบการหว่านเมล็ดกับการหว่าน “พระวจนะ” (มก.4:15) พระองค์สอนว่าเมล็ดพืชบางชนิดถูกซาตานแย่งชิงไป ขณะที่บางเมล็ดไม่มีรากฐานและไม่หยั่งรากลึก และบางเมล็ดก็หยุดการเติบโตจากสภาวะแวดล้อมและตายไปในที่สุด (ข้อ 15-19) เมื่อเราเผยแพร่ข่าวประเสริฐ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราว่าเมล็ดพันธุ์ใดจะรอด เรามีหน้าที่แค่หว่านพระกิตติคุณโดยบอกคนอื่นเรื่องพระเยซู “จงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน” (16:15)

ในปี 2021 ได้มีการขุดขวดของบีลขึ้นมาอีกขวดหนึ่ง นักวิจัยได้เพาะเมล็ดพืชเหล่านั้นและบางต้นก็งอกขึ้นโดยอยู่รอดมากว่า 142 ปี เมื่อพระเจ้าทำงานผ่านเราและเราแบ่งปันความเชื่อของเรากับผู้อื่น เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพระวจนะที่เราหว่านออกไปนั้นจะหยั่งรากและเกิดผลเมื่อใด แต่เราได้รับการหนุนใจว่า ข่าวประเสริฐที่เราหว่านออกไปนั้นอาจจะมีบางคนที่ “รับไว้ จึงเกิดผล” (4:20) แม้จะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม

ความเมตตาเดินทาง

คุณอาจเริ่มต้นการเดินทางจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่นที่ชื่อ Why (ทำไม) ในรัฐแอริโซน่า การเดินทางข้ามประเทศจะนำคุณผ่านเมือง Uncertain (ไม่แน่ใจ) รัฐเท็กซัส ขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือคุณจะได้หยุดพักที่เมือง Dismal (จืดชืด) รัฐเทนเนสซี ในที่สุดคุณจะถึงจุดหมายที่เมือง Panic (ตื่นตระหนก) รัฐเพนซิลเวเนีย เหล่านี้คือสถานที่จริงของอเมริกา แม้จะไม่น่าเป็นการเดินทางที่คุณอยากจะไป

บางครั้งการเดินทางของชีวิตก็เป็นเช่นนี้ เราเข้าใจได้โดยง่ายถึงชีวิตที่ทุกข์ยากของชนอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร (ฉธบ.2:7) ชีวิตอาจจะยาก แต่เรามองเห็นเส้นขนานอีกเส้นหนึ่งไหม เรากำหนดแผนการเดินทางของเราเองโดยหันไปจากทางของพระเจ้า (1:42-43) เราทำเหมือนชนชาติอิสราเอลที่มักจะบ่นเรื่องความต้องการของตนเอง (กดว.14:2) ความหงุดหงิดในแต่ละวันทำให้เราสงสัยในพระประสงค์ของพระเจ้า (ข้อ 11) เรื่องราวของชนชาติอิสราเอลเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตของเรา

พระเจ้าทรงรับรองกับเราว่าถ้าเราเดินตามทางของพระองค์ พระองค์จะทรงนำเราไปถึงสถานที่ที่ดีกว่าเมืองอันจืดชืด พระองค์จะทรงจัดเตรียมให้ และเราจะไม่ขัดสนสิ่งใดเลย (ฉธบ.2:7; ฟป.4:19) แต่แม้เราจะรู้ข้อนี้ดี เราก็มักจะไม่ทำตาม เราจำเป็นต้องทำตามแผนการของพระเจ้า

ถ้าขับรถยนต์ต่อไปอีกสักหน่อยประมาณหกชั่วโมง คุณจะได้ออกจากเมือง Panic (ตื่นตระหนก) ไปยังเมือง Assurance (ความมั่นใจ) รัฐเวสต์เวอร์จิเนียถ้าเรายอมให้พระเจ้าทรงนำทางเดินของเรา (สดด.119:35) เราจะได้เดินทางด้วยความชื่นชมยินดีโดยมีพระองค์เป็นผู้ควบคุมดูแล ช่างเป็นความมั่นใจอันแน่นอนจริงๆ!

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา