พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย
ผมท่องคำอธิษฐานของพระเยซูเกือบทุกเช้า ชีวิตในวันใหม่ของผมไม่มีค่าอะไรมากนักจนกว่าจะได้ตั้งหลักอยู่บนคำอธิษฐานนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่ผมกำลังเริ่มพูดว่า “ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ผมสะดุ้งเพราะตอนนั้นเพิ่งเป็นเวลาตีห้ากว่า ลองทายสิว่าใครโทรมา ที่หน้าจอโทรศัพท์ขึ้นคำว่า “พ่อ” เสียงโทรศัพท์ดังแล้วเงียบไปอย่างรวดเร็วก่อนที่ผมจะทันรับสาย ผมเดาว่าพ่อคงจะกดผิด ใช่แน่ๆ มันเป็นเรื่องบังเอิญอย่างนั้นหรือ ก็อาจใช่ แต่ผมเชื่อว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยพระเมตตาของพระเจ้า วันนั้นเป็นวันที่ผมต้องการความมั่นใจถึงการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระบิดา
ลองคิดดูสิ พระเยซูทรงสามารถสอนสาวกให้เริ่มต้นคำอธิษฐานได้มากมายหลายแบบ แต่ทรงเลือกคำว่า “พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” (มธ.6:9) เป็นคำเริ่มต้น นี่เป็นเรื่องบังเอิญหรือ ไม่ใช่เลย พระเยซูทรงมีความตั้งใจในสิ่งที่ตรัสเสมอ เราทุกคนมีความสัมพันธ์กับพ่อฝ่ายโลกในแบบที่แตกต่างกัน บ้างดี บ้างไม่ดี แต่การอธิษฐานที่เราควรทำไม่ใช่การร้องเรียก “พ่อของฉัน” หรือ “พ่อของเธอ” แต่เป็น “พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” ผู้ทรงมองเห็นและได้ยินเรา และทรงรู้ถึงความต้องการของเราแม้ก่อนที่เราจะทูลขอพระองค์ (ข้อ 8)
ช่างเป็นคำยืนยันรับรองที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในวันที่เราอาจรู้สึกเหมือนถูกลืม อยู่เพียงลำพัง ถูกทอดทิ้ง หรือรู้สึกไร้ค่า จงจำไว้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน และไม่ว่าเวลาใดในยามกลางวันหรือกลางคืน พระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ของเราทรงอยู่ใกล้เราเสมอ
การเปิดเผยสำแดงและความมั่นใจ
การเปิดเผยเพศของทารกในปี 2019 นั้นเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก ในเดือนกรกฎาคม มีวิดีโอแสดงภาพรถยนต์ที่ปล่อยควันสีฟ้าเพื่อบอกว่า “นี่คือทารกเพศชาย!” ในเดือนกันยายน เครื่องบินหว่านเมล็ดพืชในเท็กซัสได้โปรยน้ำสีชมพูจำนวนหลายร้อยแกลลอนเพื่อประกาศว่า “นี่คือทารกเพศหญิง!” แต่ยังมี “การเปิดเผย” อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อโลกที่เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมา แอปพระคัมภีร์ YouVersion เปิดเผยว่า ในรอบปี 2019 ข้อพระคำที่ถูกแบ่งปัน ไฮไลท์ข้อความและคั่นหน้าไว้มากที่สุดบนพระคัมภีร์ออนไลน์และบนมือถือคือ ฟีลิปปี 4:6 “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย แต่จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า ด้วยการอธิษฐาน การวิงวอน กับการขอบพระคุณ”
นั่นเป็นการเปิดเผยสำแดงที่แท้จริง ผู้คนทุกวันนี้มีเรื่องวิตกกังวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของลูกๆ ความแตกแยกในรูปแบบต่างๆภายในครอบครัวหรือระหว่างเพื่อน ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติและสงคราม แต่มีข่าวดีท่ามกลางความวิตกเหล่านี้คือ ผู้คนจำนวนมากยังคงยึดข้อพระคำที่ว่า “อย่าทุกข์ร้อนในสิ่งใดๆเลย” ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังหนุนใจทั้งตนเองและผู้อื่นให้ทูลเรื่องความปรารถนา “ทุกอย่าง” ต่อพระเจ้า ความเชื่อที่ส่งผลให้เราไม่เพิกเฉย แต่เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลในชีวิตได้นั้น คือ “การขอบพระคุณ”
ข้อพระคำที่ไม่ได้เป็น “ข้อพระคำแห่งปี” แต่อยู่ในอันดับรองลงมา คือ “แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าซึ่งเกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์” (ข้อ 7) นั่นทำให้เรามั่นใจได้อย่างแท้จริง!
พระสุรเสียงของพระบิดา
คุณพ่อของเพื่อนผมเพิ่งเสียไปไม่นาน ตอนที่ป่วยอาการของท่านทรุดลงอย่างรวดเร็วและจากไปในเวลาไม่กี่วัน เพื่อนของผมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อของเขามาตลอด แต่ก็ยังมีคำถามมากมายที่อยากถาม มีคำตอบที่ต้องค้นหา และมีบทสนทนาที่อยากพูดคุย เพื่อนของผมเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการอบรม เขารู้ถึงภาวะขึ้นลงของความโศกเศร้า และวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากสภาพอารมณ์เหล่านั้น ถึงกระนั้นเขาบอกกับผมว่า “บางวันผมก็แค่ต้องการได้ยินเสียงของพ่อเพื่อยืนยันถึงความรักของท่าน มันมีความหมายกับผมมากที่สุดเสมอ”
เหตุการณ์สำคัญในช่วงเริ่มต้นการทำพันธกิจในโลกของพระเยซูคือการรับบัพติศมาโดยมือของยอห์น แม้ยอห์นจะพยายามห้าม แต่พระเยซูทรงยืนกรานว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อพระองค์จะแสดงตัวว่าทรงเป็นมนุษย์ “บัดนี้จงยอมเถิด เพราะสมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ” (มธ.3:15) ยอห์นทำตามที่พระเยซูขอ จากนั้นบางสิ่งก็เกิดขึ้นเพื่อประกาศตัวตนของพระเยซูต่อยอห์นผู้ให้บัพติศมาและฝูงชน และสิ่งนี้น่าจะแตะต้องจิตใจของพระเยซูอย่างลึกซึ้งด้วย พระสุรเสียงของพระบิดาทรงรับรองพระบุตรของพระองค์ “ท่านผู้นี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก” (ข้อ 17)
พระสุรเสียงเดียวกันนี้ดังในจิตใจของเราเพื่อรับรองผู้เชื่อถึงความรักยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมีต่อเรา (1 ยน.3:1)
คำอธิษฐานที่ไม่ได้รับคำตอบ
เราถึงหรือยัง / ยัง / เราถึงหรือยัง / ยัง นั่นเป็นชื่อเกมถามมาตอบไปที่เราเล่นในการเดินทางไกลครั้งแรก (และแน่นอน ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) เป็นเวลาสิบหกชั่วโมงจากโคโลราโดเพื่อกลับบ้านที่อาร์คันซอในตอนที่ลูกของเรายังเล็ก ลูกสองคนแรกของเราคอยเล่นเกมนี้ตลอด และถ้าผมเก็บเงินหนึ่งเหรียญทุกครั้งที่พวกเขาถาม ผมคงมีเงินเป็นตั้ง มันเป็นคำถามที่ลูกหยุดถามไม่ได้เลย แต่ผม (คนขับรถ) ก็อดสงสัยไม่ได้เช่นกันว่าเราถึงหรือยัง และคำตอบก็คือยัง แต่อีกไม่นาน
ความจริงก็คือ ผู้ใหญ่ส่วนมากก็ถามคำถามนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ถึงแม้เราจะไม่ได้พูดออกมาดังๆ แต่เราต่างถามคำถามนั้นด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เราเหนื่อย และตาของเรา “ทรุดโทรมไปเพราะความทุกข์ใจ” (สดด.6:7) เรา “อ่อนเปลี้ยด้วยการคร่ำครวญ” (ข้อ 6) กับทุกอย่างตั้งแต่ข่าวภาคค่ำ ไปจนถึงความหงุดหงิดในที่ทำงาน ปัญหาสุขภาพที่ไม่จบสิ้น ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด และอื่นๆอีกมากมาย เราร้องว่า “เราถึงกันหรือยัง ข้าแต่พระเจ้า อีกนานสักเท่าใด”
ผู้เขียนสดุดีรู้จักความอ่อนเปลี้ยเช่นนั้นดี และได้ถามคำถามสำคัญนี้กับพระเจ้าตรงๆ พระเจ้าทรงเป็นเหมือนพ่อแม่ที่ห่วงใย ทรงฟังคำวิงวอนของดาวิด และทรงรับคำอธิษฐานของท่านด้วยพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ (ข้อ 9) ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะตั้งคำถาม คุณและผมก็เช่นกันที่เข้ามาหาพระบิดาแห่งฟ้าสวรรค์ได้อย่างกล้าหาญ พร้อมกับคำถามจากใจจริงว่า “อีกนานสักเท่าใด” และคำตอบของพระองค์ก็คงจะเป็น “ยัง แต่อีกไม่นาน เราประเสริฐ จงวางใจในเรา”
ให้เมื่อยังมีชีวิต
นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จคนหนึ่งใช้เวลาช่วงหลายสิบปีหลังของชีวิตทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อแจกจ่ายทรัพย์สมบัติที่มี อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งได้บริจาคเงินให้แก่โครงการที่หลากหลาย เช่น การนำสันติภาพสู่ไอร์แลนด์เหนือ และการปรับปรุงระบบการให้บริการด้านสุขภาพของเวียดนามให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาจ่ายเงิน 350 ล้านดอลลาร์เพื่อเปลี่ยนเกาะรูสเวลต์ของนครนิวยอร์คให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี เขากล่าวว่า “ผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการให้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมเห็นเหตุผลเพียงเล็กน้อยที่จะชะลอการให้... นอกจากนี้ การให้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่สนุกมากกว่าการให้เมื่อตายไปแล้ว” ให้ขณะที่คุณยังมีชีวิต นี่เป็นทัศนคติที่ยอดเยี่ยม
ในเรื่องของชายตาบอดแต่กำเนิดที่ยอห์นบันทึกไว้ สาวกของพระเยซูพยายามจะตัดสินว่า “ใครทำผิดบาป” (9:2) พระเยซูกล่าวถึงคำถามของพวกเขาเพียงสั้นๆว่า “มิใช่ว่าชายคนนี้หรือบิดามารดาของเขาได้ทำบาป แต่...เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา เราต้องกระทำพระราชกิจของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่” (ข้อ 3-4) แม้ว่างานของเราจะแตกต่างอย่างมากจากการอัศจรรย์ที่พระเยซูทรงทำ และไม่ว่าเราจะต้องสละสิ่งใด เราจะต้องทำด้วยใจที่พร้อมและเปี่ยมด้วยความรัก ไม่ว่าจะด้วยเวลา ด้วยทรัพย์สมบัติ หรือการกระทำ เป้าหมายของเราคือให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฏ
เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ทรงประทานให้กับเรา ให้เราตอบแทนด้วยการให้ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่
เราต้องการชุมชนคริสตจักร
ผมโตมาในฐานะลูกชายคนโตของนักเทศน์คณะแบ๊บติสต์ใต้ มีความคาดหวังอย่างชัดเจนว่าทุกวันอาทิตย์ผมต้องไปโบสถ์ ซึ่งอาจยกเว้นได้หากผมมีไข้สูงจริงๆ แต่ความจริงคือผมรักการไปโบสถ์และหลายครั้งผมไปทั้งที่ยังมีไข้ แต่โลกเปลี่ยนไปแล้วและจำนวนคนที่มาโบสถ์เป็นประจำก็ไม่เหมือนที่เคยเป็น แน่นอนว่าเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า ทำไม คำตอบนั้นมีหลากหลายแตกต่างกันไป นักเขียนแคธลีน นอร์ริสโต้แย้งคำตอบเหล่านั้นด้วยคำตอบที่ได้รับจากศิษยาภิ-บาลเมื่อเธอถามว่า “ทำไมเราต้องไปโบสถ์” เขาตอบว่า “เราไปโบสถ์เพื่อคนอื่น เพราะอาจมีบางคนต้องการคุณที่นั่น”
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่เราไปโบสถ์ แต่คำตอบของเขาสะท้อนถึงหัวใจของผู้เขียนฮีบรูที่หนุนใจผู้เชื่อให้รักษาความเชื่อไว้ และการจะทำเช่นนั้นได้ ท่านย้ำว่า “อย่าขาดการประชุม” (ฮบ.10:25) ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะสิ่งสำคัญบางอย่างจะขาดหายไปหากเราไม่อยู่ที่นั่นคือ “การหนุนใจกัน” (ข้อ 25) เราต้องการการหนุนใจกันเพื่อ “ปลุกใจซึ่งกันและกัน ให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 24)
พี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ให้เราร่วมสามัคคีธรรมกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีบางคนต้องการคุณที่นั่น และความจริงที่ไม่ต่างกันคือ คุณอาจต้องการพวกเขาเช่นกัน
ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้อง
ในที่สุดเธอก็มีโอกาสมาที่โบสถ์แห่งนี้ ด้านในส่วนที่ลึกที่สุดของห้องใต้ดินที่เธอเข้าไปเป็นถ้ำหรืออุโมงค์เล็กๆมีเทียนจุดไว้ในพื้นที่แคบและโคมแขวนส่องที่มุมห้อง ดาวสีเงินสิบสี่แฉกปกคลุมพื้นหินอ่อนที่ยกขึ้นเล็กน้อย เธออยู่ในถ้ำพระคริสตสมภพที่เบธเลเฮมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ที่พระคริสต์ประสูติ แต่นักเขียนแอนนี ดิลลาร์ดไม่ได้รู้สึกประทับใจ โดยตระหนักว่าพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าสถานที่นี้มาก
แต่สถานที่เหล่านี้ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องราวแห่งความเชื่อของเรา อีกที่หนึ่งซึ่งอยู่ในบทสนทนาของพระเยซูและหญิงที่บ่อน้ำคือภูเขาที่ “บรรพบุรุษของ[เธอ]นมัสการ” (ยน.4:20) ภูเขาเกริซิม (ดู ฉธบ.11:29) ที่นั่นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวสะมาเรีย ซึ่งต่างจากชาวยิวที่ยืนกรานว่าเยรูซาเล็มคือสถานที่สำหรับการนมัสการที่แท้จริง (ข้อ 20) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงประกาศว่าเวลานั้นมาถึงแล้วคือ เมื่อการนมัสการไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้หนึ่ง “ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดา ด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ข้อ 23) หญิงผู้นี้ประกาศความเชื่อที่เธอมีต่อพระเมสสิยาห์ แต่เธอไม่รู้ตัวว่ากำลังพูดกับพระองค์ “พระเยซูตรัสกับนางว่า ‘เราที่พูดกับเจ้าคือท่านผู้นั้น’” (ข้อ 26)
พระเจ้าไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ภูเขาบางลูกหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง พระองค์ทรงปรากฏแก่เราทุกหนแห่ง การแสวงหาพระองค์อย่างแท้จริงที่เราทำในแต่ละวันนั้นคือการเข้าใกล้พระบัลลังก์ของพระองค์ ขณะที่เรากล่าวอย่างกล้าหาญว่า “พระบิดาของเรา” และพระองค์ทรงอยู่ที่นั่น
พระเจ้าทรงร้องเพลงให้คุณ
สิบเจ็ดเดือนหลังจากที่ลูกชายคนแรกของเราเกิด ลูกสาวตัวน้อยก็ตามมา ผมดีใจมากเมื่อคิดว่าจะได้ลูกสาว แต่ก็กังวลเพราะขณะที่เราพอจะรู้เรื่องของเด็กผู้ชายบ้าง เด็กผู้หญิงกลับเป็นเรื่องที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน เราตั้งชื่อเธอว่าซาราห์ สิทธิพิเศษอย่างหนึ่งของผมคือได้กล่อมเธอนอนเพื่อให้ภรรยาผมได้พัก ผมไม่มั่นใจว่าเพราะอะไรแต่ผมเริ่มร้องเพลงกล่อมให้เธอหลับ และเพลงที่ผมเลือกคือ “เธอเป็นแสงสว่างของฉัน” (You Are My Sunshine) ไม่ว่าจะอุ้มเธอไว้หรือยืนอยู่เหนือเปลของเธอ ผมมักร้องเพลงให้เธอและผมรักทุกนาทีเหล่านั้น ตอนนี้เธออายุ 20 กว่าแล้ว และผมยังคงเรียกเธอว่า “แสงสว่าง”
พวกเรามักคิดถึงการร้องเพลงของเหล่าทูตสวรรค์ แต่คุณคิดถึงการร้องเพลงของพระเจ้าครั้งสุดท้ายเมื่อไร ใช่แล้ว พระเจ้าทรงร้องเพลง ยิ่งไปกว่านั้น คุณคิดว่าพระเจ้าทรงร้องเพลงให้คุณครั้งล่าสุดเมื่อใด เศฟันยาห์มีความชัดเจนในข้อความที่ท่านส่งไปเยรูซาเล็ม “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของเจ้า” ทรงชื่นชมยินดีในตัวคุณมากจนพระองค์ “ทรงเริงโลดเพราะเจ้าด้วยร้องเพลงเสียงดัง” (3:17) แม้ว่าข้อความนี้พูดกับเยรูซาเล็มโดยตรง แต่ก็เหมือนกับพระเจ้าทรงร้องเพลงให้พวกเรา ซึ่งเป็นผู้ที่ยอมรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน! พระองค์ทรงร้องเพลงอะไร พระคัมภีร์ไม่ได้บอกชัดเจนในเรื่องนี้ แต่บทเพลงนั้นก่อกำเนิดมาจากความรักของพระองค์ เราจึงวางใจได้ว่าเป็นสิ่งที่จริง น่านับถือ ถูกต้อง บริสุทธิ์ น่ารักและน่ายกย่อง (ฟป.4:8 TNCV)
สิ่งใดๆ
ทุกเย็นวันศุกร์ รายการข่าวที่ครอบครัวของเราดูจะสรุปท้ายรายการด้วยเรื่องราวดีๆที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ตรงกันข้ามกับข่าวที่ผ่านมาทั้งหมด ข่าว “ดี” ของวันศุกร์เมื่อไม่นานมานี้เป็นเรื่องของนักข่าวที่เคยทุกข์ทรมานจากโควิด 19 และได้รับการรักษาจนหายดี จากนั้นเธอตัดสินใจบริจาคพลาสม่าเพื่อจะมีโอกาสได้ช่วยคนอื่นที่ต่อสู้กับไวรัสนี้ ในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้ว่าแอนติบอดี้จะมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ในขณะที่คนมากมายรู้สึกหมดหนทางและแม้จะไม่ค่อยสบายใจกับการบริจาคพลาสม่า (ด้วยเข็มฉีดยา) เธอรู้สึกว่ามันเป็น “การลงทุนเพียงเล็กน้อยเพื่อผลตอบแทนที่อาจจะคุ้มค่า”
หลังจบรายการในวันศุกร์นั้น ผมและครอบครัวรู้สึกมีกำลังใจ พูดได้เลยว่ามีความหวังเต็มเปี่ยม นั่นคือพลังของคำว่า “สิ่งใด” ที่เปาโลอธิบายไว้ในฟีลิปปี 4 ว่า “สิ่งที่จริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ทรงคุณ” (ข้อ 8) เปาโลคิดถึงเรื่องการบริจาคพลาสม่าอยู่หรือไม่ ไม่ใช่เลย ท่านคิดถึงการเสียสละเพื่อผู้ที่ขัดสน หรือเรียกว่าการทำตามอย่างพระคริสต์อยู่ใช่ไหมผมมั่นใจว่าใช่
แต่ข่าวที่ให้ความหวังนั้นจะไม่ส่งผลอย่างเต็มที่หากไม่ถูกนำมาออกอากาศ เราได้รับสิทธิพิเศษในฐานะพยานถึงความดีเลิศของพระเจ้า ที่ได้เห็นและได้ยินถึง “สิ่งใด” รอบตัวเรา แล้วให้เราแบ่งปันข่าวดีนั้นแก่คนอื่นเพื่อพวกเขาจะได้รับการหนุนใจ