กระหายและขอบพระคุณ
ผมและเพื่อนอีกสองคนกำลังจะไปยังหนึ่งในสถานที่ที่ใฝ่ฝันไว้ นั่นคือการไปเดินป่าที่แกรนด์ แคนยอน เราไม่แน่ใจว่าเรามีน้ำเพียงพอหรือไม่ในตอนที่เริ่มออกเดินทาง และน้ำนั้นก็หมดไปอย่างรวดเร็ว เราไม่มีน้ำเหลือเลยในขณะที่ระยะทางยังอีกไกลกว่าจะไปถึงริมหน้าผา เราเริ่มหายใจหอบสลับกับการอธิษฐาน เมื่อเลี้ยวตรงทางโค้งเรารู้สึกเหมือนมีปาฏิหารย์เกิดขึ้น เราเห็นขวดน้ำสามขวดวางไว้อยู่ในรอยแยกของหินพร้อมกับข้อความเขียนว่า “รู้ว่าคุณต้องการสิ่งนี้ ขอให้ดื่มอย่างมีความสุข!” เรามองหน้ากันอย่างไม่เชื่อสายตา กระซิบขอบคุณพระเจ้าเบาๆ และค่อยๆจิบน้ำนั้น แล้วจึงออกเดินทางต่อในระยะสุดท้าย ผมไม่เคยรู้สึกกระหายและรู้สึกขอบคุณมากเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต
ผู้เขียนสดุดีไม่ได้มีประสบการณ์ที่แกรนด์ แคนยอน แต่เห็นได้ชัดว่าท่านรู้ถึงปฏิกิริยาของกวางว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อมันกระหายน้ำและอาจจะรู้สึกกลัวด้วย กวาง “กระเสือกกระสน” (สดด.42:1) คำนี้ที่ทำให้นึกถึงความหิวและกระหาย จนถึงขั้นที่คุณกลัวว่าคุณอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้เขียนสดุดีเปรียบความกระหายของกวางว่าเหมือนกับความปรารถนาที่ท่านมีต่อพระเจ้า “จิตวิญญาณของข้าพระองค์ก็กระเสือกกระสนหาพระองค์ฉันนั้น” (ข้อ 1)
เช่นเดียวกับน้ำที่เรากระหายหา พระเจ้าก็ทรงเป็นความช่วยเหลือในทุกเวลาของเรา เรากระหายหาพระองค์เพราะพระองค์ประทานกำลังและการฟื้นชื่นใหม่มาสู่ชีวิตที่อ่อนล้าของเรา และทรงเตรียมเราให้พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่รอเราอยู่ในการเดินทางของชีวิต
คำแนะนำจากผู้อาวุโส
ในการกล่าวสุนทรพจน์พิธีรับปริญญาในปี 2013 ที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ จอร์จ ซาวเดอส์นักเขียนหนังสือขายดีของ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้ตอบคำถามที่ว่า “อะไรที่ทำให้ผมเสียใจ” โดยการตอบของเขาเป็นไปในแบบที่ผู้อาวุโสกว่า (ซาวเดอส์) แบ่งปันถึงความเสียใจหนึ่งหรือสองครั้งที่เขามีในชีวิตให้กับคนหนุ่มสาว (ผู้สำเร็จการศึกษา) ที่อาจได้เรียนรู้จากตัวอย่างของเขา เขากล่าวถึงบางเรื่องที่ผู้คนอาจคิดว่าเขาเสียใจ เช่น ความยากจนและการทำงานที่ต่ำต้อย แต่ซาวเดอส์กล่าวว่าเขาไม่เสียใจเลยในเรื่องพวกนั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาเสียใจคือ ความล้มเหลวที่จะแสดงความเมตตา ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาต้องแสดงความเมตตาต่อบางคนแต่เขาก็ปล่อยให้มันผ่านไป
อัครทูตเปาโลเขียนถึงผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัสเพื่อตอบคำถามที่ว่า ชีวิตคริสเตียนมีลักษณะอย่างไร ซึ่งอาจเป็นคำถามที่กระตุ้นให้เรารีบให้คำตอบ เช่น การมีมุมมองทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง การหลีกเลี่ยงหนังสือหรือภาพยนตร์บางประเภท การนมัสการในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แต่วิธีนำไปสู่จุดหมายของเปาโลไม่ได้จำกัดอยู่กับประเด็นร่วมสมัย ท่านกล่าวถึงการละเว้นจาก “คำหยาบคาย” (อฟ.4:29) และการสลัดตนเองให้พ้นจากสิ่งต่างๆ เช่น ใจขมขื่นและใจโกรธ (ข้อ 31) จากนั้นเพื่อสรุป “สุนทรพจน์” ของท่านด้วยใจความสำคัญ ท่านกล่าวกับชาวเอเฟซัสตลอดจนพวกเราว่า “จงเมตตาต่อกัน” (ข้อ 32) และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังก็คือเพราะพระเจ้าทรงเมตตาต่อท่านในพระคริสต์
ในบรรดาทุกสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นชีวิตที่อยู่ในพระเยซู หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคือการมีความเมตตา
รักเหมือนพระเยซู
เขาเป็นที่รักของทุกคน นั่นคือคำบรรยายถึงดอน กุยเซปเป้ เบราร์เดลลีแห่งเมืองคาสนิโก ประเทศอิตาลี ดอนซึ่งเป็นที่รักของผู้คนจะขี่มอเตอร์ไซค์คันเก่าไปรอบเมืองและกล่าวทักทายทุกครั้งว่า “ขอให้มีสันติสุขและสิ่งดี” เขาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ของคนอื่น แต่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขามีปัญหาสุขภาพที่แย่ลงเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ชุมชนของเขาได้ซื้อเครื่องช่วยหายใจเพื่อตอบแทนเขา แต่เมื่อใกล้วาระสุดท้าย เขาปฏิเสธเครื่องช่วยหายใจโดยเลือกที่จะให้กับผู้ป่วยอายุน้อยที่ต้องการมัน การได้ยินคำปฏิเสธของเขาไม่ได้ทำให้ใครแปลกใจ เพราะนั่นเป็นคุณสมบัติอันเรียบง่ายของชายผู้เป็นที่รักและเป็นที่ชื่นชมเพราะรักผู้อื่น
เป็นที่รักเพราะแสดงความรัก นี่คือข่าวสารที่อัครทูตยอห์นกล่าวอยู่เสมอตลอดพระกิตติคุณของท่าน การเป็นที่รักและรักผู้อื่นนั้นเป็นเหมือนกับระฆังโบสถ์ที่ส่งเสียงดังทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร และในยอห์นบทที่ 15 ยอห์นได้เปิดเผยบางอย่างซึ่งเป็นจุดสูงสุด นั่นคือว่า ความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่การเป็นที่รักของทุกคน แต่คือการรักทุกคน คือ “การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหายของตน” (ข้อ 13)
ตัวอย่างความรักที่เสียสละของมนุษย์เป็นแรงบันดาลใจให้เราเสมอ ถึงกระนั้นพวกเขาก็ดูหม่นไปเมื่อเทียบกับความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ขอให้เราไม่พลาดโอกาสที่ท้าทายนี้ เพราะพระเยซูทรงบัญชาว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เราได้รักท่าน” (ข้อ 12) ใช่แล้ว จงรักทุกคน
เรียกหาพระเจ้า
ในหนังสือ รับอุปการะตลอดชีวิต (Adopted for Life) ดร.รัสเซลล์ มัวร์เล่าถึงการเดินทางของครอบครัวของเขาไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อรับอุปการะเด็กคนหนึ่ง ขณะที่พวกเขาเข้าไปในสถานรับเลี้ยงเด็กนั้น ที่นั่นเงียบอย่างน่าใจหาย เด็กทารกในเปลไม่ร้องไห้เลย ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ต้องการอะไร แต่เพราะพวกเขาเรียนรู้ว่าไม่มีใครใส่ใจพอที่จะตอบพวกเขา
หัวใจผมเจ็บแปลบเมื่อได้อ่านข้อความเหล่านั้น ผมจำได้ถึงคืนแล้วคืนเล่าเมื่อลูกของเรายังเล็ก ผมกับภรรยาหลับสนิทและต้องสะดุ้งตื่นเพราะเสียงร้องของพวกเขา “พ่อครับ ผมไม่สบาย!” หรือ “แม่ หนูกลัว!” เราคนใดคนหนึ่งจะรีบลุกไปที่ห้องนอนของพวกเขาเพื่อพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปลอบโยนและดูแลพวกเขา ความรักที่เรามีต่อลูกๆทำให้พวกเขาร้องขอความช่วยเหลือจากเรา
บทเพลงสดุดีจำนวนมากมายหลายบทนั้นเป็นการร้องไห้หรือการคร่ำครวญต่อพระเจ้า ชนชาติอิสราเอลคร่ำครวญต่อพระองค์เพราะพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพวกเขา คนเหล่านี้คือชนชาติที่พระเจ้าทรงเรียกว่า “บุตรหัวปี” ของพระองค์ (อพย.4:22) และพวกเขากำลังทูลขอพระบิดาของพวกเขาให้ตอบสนองตามความสัมพันธ์นั้น ความเชื่อมั่นจากใจจริงเห็นได้ในสดุดี 25 ที่ว่า “ขอพระองค์ทรงหันมายังข้าพระองค์ และมีพระกรุณาต่อข้าพระองค์...ขอทรงนำข้าพระองค์ออกจากความทุกข์ใจของข้าพระองค์” (ข้อ 16-17) เด็กๆจะร้องไห้ หากพวกเขามั่นใจว่าตนเองได้รับความรักจากผู้ที่ให้การดูแล พระเจ้าประทานเหตุผลให้เราเรียกหาพระองค์ได้ในฐานะผู้เชื่อในพระเยซูและลูกของพระองค์ พระองค์ทรงสดับฟังและทรงห่วงใยก็เพราะความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
เพื่อนรัก
เป็นเวลาสองสามปีแล้วที่ผมไม่ได้เจอเพื่อนเก่าคนนี้ ในระหว่างนั้นเขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและได้เริ่มกระบวนการรักษา การเดินทางที่ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อไปยังรัฐที่เขาอาศัยอยู่ทำให้ผมมีโอกาสได้พบเขาอีกครั้ง ผมเดินเข้าไปในร้านอาหารและเราทั้งคู่น้ำตาคลอ นานมากแล้วที่เราไม่ได้มีโอกาสอยู่ในห้องเดียวกัน และบัดนี้ความตายหมอบอยู่ตรงมุมห้องทำให้เราตระหนักว่าชีวิตนี้สั้นนัก น้ำตาของเราไหลออกมาเนื่องจากมิตรภาพอันยาวนานที่เต็มไปด้วยการผจญภัย เรื่องตลก เสียงหัวเราะ การสูญเสีย และความรัก ความรักมากมายไหลออกมาจากหางตาของเราเมื่อเรามองเห็นกันและกัน
พระเยซูก็ร้องไห้เช่นกัน พระกิตติคุณยอห์นบันทึกช่วงเวลานั้นไว้ หลังจากที่พวกยิวกล่าวว่า “พระองค์เจ้าข้า เชิญเสด็จมาดูเถิด” (ยอห์น 11:34) และพระเยซูประทับอยู่หน้าอุโมงค์ฝังศพของลาซารัสเพื่อนรักของพระองค์ จากนั้นเราอ่านพบถ้อยคำที่เปิดเผยให้เราเห็นว่าพระคริสต์ได้ทรงสวมสภาพของมนุษย์เช่นเดียวกับเราไว้อย่างลึกซึ้ง “พระเยซูทรงกันแสง” (ข้อ 35) ยังมีสิ่งอื่นอีกมากมายที่เกิดขึ้นซึ่งยอห์นไม่ได้บันทึกไว้หรือไม่ ใช่แล้ว และผมยังเชื่อด้วยว่าปฏิกิริยาของพวกยิวที่มีต่อพระเยซูกำลังบอกว่า “ดูซิ พระองค์ทรงรักเขาเพียงไร” (ข้อ 36) ประโยคนั้นเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะทำให้เราหยุดเพื่อนมัสการพระเจ้าผู้ทรงเป็นสหายที่รู้จักความอ่อนแอทุกอย่างของเรา พระเยซูทรงมีเนื้อหนัง มีเลือด และน้ำตา พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงกอปรด้วยความรักและความเข้าใจ
ที่ลี้ภัยของเรา
ในตอนแรกเริ่มสถานที่แห่งนี้คือพื้นที่ที่ควายไบซันเดินสัญจรไปมาในอเมริกาเหนือ ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงไล่ตามควายไบซันไปที่นั่น จนกระทั่งมีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่พร้อมด้วยฝูงสัตว์และทำการเพาะปลูก หลังเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นแหล่งผลิตอาวุธเคมี และต่อมากลายเป็นสถานที่รื้อทำลายอาวุธในสงครามเย็น แต่แล้ววันหนึ่งได้มีการค้นพบฝูงนกอินทรีหัวขาวที่นั่น และไม่นานนักเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติร็อคกี้เมาท์เท่นอาร์เซนอลก็ถือกำเนิดขึ้น ด้วยพื้นที่ราวหกสิบตารางกิโลเมตรที่เต็มไปด้วย ทุ่งหญ้า หนองน้ำ และป่าไม้ซึ่งอยู่ชานเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ปัจจุบันที่นี่เป็นสถานที่ลี้ภัยหรือเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นบ้านที่ปลอดภัยและคุ้มครองสัตว์กว่าสามร้อยสายพันธุ์ ตั้งแต่พังพอนตีนดำ นกฮูกสายพันธุ์เล็กที่สุดไปจนถึงนกอินทรีหัวขาว และที่คุณคงเดาได้ ควายไบซันที่สัญจรไปมา
ผู้เขียนสดุดีบอกเราว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยของเรา” (62:8) ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าที่ลี้ภัยใดๆในโลก พระเจ้าทรงเป็นที่หลบภัยที่แท้จริงของเรา เป็นที่คุ้มครองความปลอดภัยซึ่งในพระองค์ “เรามีชีวิต และไหวตัว และเป็นอยู่” (กจ.17:28) พระองค์ทรงเป็นที่ลี้ภัยซึ่งเราสามารถไว้วางใจได้ “ตลอดเวลา” (สดด.62:8) และทรงเป็นที่หลบภัยของเราที่เราจะกล้ากล่าวคำอธิษฐานและระบายความในใจทั้งหมดออกมาได้
พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยของเรา นั่นคือผู้ซึ่งพระองค์ทรงเป็นในปฐมกาล ผู้ซึ่งทรงเป็นในเวลานี้ และผู้ซึ่งจะทรงเป็นตลอดไป
ติดต่ออยู่เสมอ
แมเดลีน แอลอิงเกิลสร้างนิสัยในการโทรหาแม่สัปดาห์ละครั้ง เมื่อแม่ย้ายเข้ามาอยู่กับเธอหลายปีมานี้ นักเขียนผู้มีความเชื่อฝ่ายวิญญาณที่น่ารักคนนี้ก็โทรหาแม่บ่อยขึ้น “เพียงเพื่อจะติดต่ออย่างสม่ำเสมอ” ในทำนองเดียวกัน แมเดลีนก็ชอบให้ลูกๆโทรหาเธอและรักษาการติดต่อนั้นไว้ บางครั้งเป็นการสนทนายาวนานซึ่งเต็มไปด้วยคำถามและคำตอบที่สำคัญ บางครั้งเป็นการโทรเพื่อจะให้แน่ใจว่าเลขหมายนั้นยังคงเปิดใช้อยู่ ตามที่เขียนไว้ในหนังสือของเธอเรื่องเดินบนน้ำ Walking on Water ว่า “เป็นการดีที่ลูกๆจะติดต่ออยู่เสมอ และเป็นการดีที่เราทุกคนผู้เป็นบุตรจะติดต่อกับพระบิดาของเรา”
พวกเราส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าในมัทธิว 6:9-13 แต่ข้อพระคัมภีร์ก่อนหน้านั้นมีความสำคัญพอๆกัน เพราะได้กำหนดความสำคัญของสิ่งที่ตามมา การอธิษฐานของเราต้องไม่โอ้อวด “ให้คนทั้งปวงได้เห็น” (ข้อ 5) และขณะเดียวกันก็ไม่มีการกำหนดไว้ว่าคำอธิษฐานของเราต้องยาวขนาดไหน และคำอธิษฐาน “มากมายหลายคำ” (ข้อ 7) ก็ไม่ได้แปลว่าคำอธิษฐานนั้นมีคุณภาพโดยอัตโนมัติ จุดสำคัญดูเหมือนจะเน้นที่การติดต่อเป็นประจำกับพระบิดาผู้ทรงทราบความต้องการของเรา “ก่อนที่ท่านทูลขอแล้ว” (ข้อ 8) พระเยซูทรงเน้นว่า เป็นการดีสักเพียงใดที่เราจะติดต่อกับพระบิดาของเรา จากนั้นก็ทรงสอนเราว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า” (ข้อ 9)
การอธิษฐานเป็นทางเลือกที่ถูกต้องและสำคัญยิ่งยวด เพราะช่วยให้เราติดต่อกับพระเจ้าและพระบิดาของเราทั้งหลายอยู่เสมอ
น้ำแห่งกำลังใจ
ผมเรียกมันว่าปาฏิหาริย์แห่ง “ทีละน้อยเพื่อความเขียวชอุ่ม” มันเกิดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิมานานกว่าสิบห้าปีแล้ว หลังจากฤดูหนาวนานหลายเดือน หญ้าในสนามของเราจะแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล ผู้คนที่เดินผ่านไปมาอาจคิดว่ามันตายแล้ว ที่รัฐโคโลราโดนั้นจะมีหิมะบนภูเขา แต่ภูมิอากาศบนที่ราบของ “เทือกเขาฟรอนท์เรนจ์” นั้นจะแห้งและร้อนเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งมาพร้อมกับคำเตือนเรื่องความแห้งแล้ง แต่ทุกปีช่วงปลายเดือนพฤษภาคมผมจะเปิดน้ำรดสนามหญ้า โดยให้น้ำทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ เพียงประมาณสองสัปดาห์ สนามหญ้าที่แห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลก็เปลี่ยนเป็นเขียวชอุ่ม
หญ้าที่เขียวชอุ่มเตือนผมถึงความสำคัญของการให้กำลังใจ หากปราศจากกำลังใจชีวิตและความเชื่อของเราอาจคล้ายกับบางสิ่งที่ใกล้จะตาย แต่ช่างน่าอัศจรรย์ที่การให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอสามารถส่งผลต่อจิตใจ ความคิดและจิตวิญญาณของเรา จดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนถึงชาวเธสะโลนิกาเน้นย้ำความจริงนี้ ผู้คนกำลังต่อสู้กับความหวาดวิตกและความกลัว เปาโลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความเชื่อของพวกเขา ท่านหนุนใจพวกเขาให้รักษาสิ่งดีๆที่พวกเขาทำ ซึ่งก็คือการให้กำลังใจและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน (1ธส.5:11) ท่านรู้ว่าหากปราศจากสิ่งที่ทำให้จิตใจชุ่มชื่นเหล่านั้น ความเชื่อของพวกเขาคงถดถอยลง เปาโลได้สัมผัสถึงสิ่งนี้ด้วยตัวท่านเอง เมื่อผู้เชื่อชาวเธสะโลนิกาได้เคยหนุนใจและเสริมกำลังท่าน คุณและผมต่างมีโอกาสที่จะให้กำลังใจผู้อื่นเช่นกัน เพื่อช่วยเราแต่ละคนให้เติบโตและเกิดผล
ฝ่ายเราบอกท่านว่า
“แม่รู้ว่าพวกเขาพูดอะไรกัน แต่แม่กำลังบอกลูกว่า...” ตอนเป็นเด็ก ผมได้ยินแม่พูดคำนั้นเป็นพันครั้ง เรื่องมักเกิดจากการกดดันของคนรอบข้าง แม่พยายามสอนให้ผมไม่ต้องทำตามคนหมู่มาก ผมไม่ใช่เด็กอีกแล้ว แต่ความคิดของคนหมู่มากก็ยังคงแข็งแกร่ง ตัวอย่างหนึ่งในปัจจุบันคือวลีนี้ “จงอยู่ท่ามกลางคนที่คิดบวกเท่านั้น” แม้วลีนั้นมักจะได้ยินกันโดยทั่วไป แต่คำถามที่เราต้องถามคือ “นั่นเป็นเหมือนพระคริสต์ไหม”
“ฝ่ายเราบอกท่านว่า...” พระเยซูทรงใช้ประโยคนำนี้หลายครั้งในมัทธิวบทที่ 5 พระองค์ทรงทราบดีว่าโลกกำลังบอกอะไรกับเราอยู่ แต่ความปรารถนาของพระองค์คือให้เราดำเนินชีวิตที่แตกต่าง ในกรณีนี้พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (ข้อ 44) ต่อมาในพันธสัญญาใหม่ อัครทูตเปาโลใช้คำนั้นเพื่ออธิบายให้เข้าใจว่าหมายถึงใคร คือ ตัวเรา นั่นเองใน “ขณะที่เรายังเป็นศัตรูต่อพระเจ้า” (รม.5:10) ช่างห่างไกลจากคำกล่าวที่ว่า “ทำตามที่ฉันบอก ไม่ใช่ตามที่ฉันทำ” พระเยซูทรงสนับสนุนคำตรัสของพระองค์ด้วยการกระทำ พระองค์ทรงรักเราและประทานชีวิตของพระองค์เพื่อเรา
จะเกิดอะไรขึ้นหากพระคริสต์ทรงต้อนรับเฉพาะ “คนคิดบวก” เท่านั้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเราล่ะ ขอบคุณพระเจ้าที่ความรักของพระองค์ไม่ได้ทรงเลือกคนที่น่านับถือ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก และโดยพระกำลังของพระองค์ เราก็ได้รับการทรงเรียกให้ทำเช่นเดียวกัน