ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย John Blase

ที่ลี้ภัยของเรา

ในตอนแรกเริ่มสถานที่แห่งนี้คือพื้นที่ที่ควายไบซันเดินสัญจรไปมาในอเมริกาเหนือ ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงไล่ตามควายไบซันไปที่นั่น จนกระทั่งมีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่พร้อมด้วยฝูงสัตว์และทำการเพาะปลูก หลังเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนแห่งนี้ถูกใช้เป็นแหล่งผลิตอาวุธเคมี และต่อมากลายเป็นสถานที่รื้อทำลายอาวุธในสงครามเย็น แต่แล้ววันหนึ่งได้มีการค้นพบฝูงนกอินทรีหัวขาวที่นั่น และไม่นานนักเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติร็อคกี้เมาท์เท่นอาร์เซนอลก็ถือกำเนิดขึ้น ด้วยพื้นที่ราวหกสิบตารางกิโลเมตรที่เต็มไปด้วย ทุ่งหญ้า หนองน้ำ และป่าไม้ซึ่งอยู่ชานเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ปัจจุบันที่นี่เป็นสถานที่ลี้ภัยหรือเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นบ้านที่ปลอดภัยและคุ้มครองสัตว์กว่าสามร้อยสายพันธุ์ ตั้งแต่พังพอนตีนดำ นกฮูกสายพันธุ์เล็กที่สุดไปจนถึงนกอินทรีหัวขาว และที่คุณคงเดาได้ ควายไบซันที่สัญจรไปมา

ผู้เขียนสดุดีบอกเราว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยของเรา” (62:8) ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าที่ลี้ภัยใดๆในโลก พระเจ้าทรงเป็นที่หลบภัยที่แท้จริงของเรา เป็นที่คุ้มครองความปลอดภัยซึ่งในพระองค์ “เรามีชีวิต และไหวตัว และเป็นอยู่” (กจ.17:28) พระองค์ทรงเป็นที่ลี้ภัยซึ่งเราสามารถไว้วางใจได้ “ตลอดเวลา” (สดด.62:8) และทรงเป็นที่หลบภัยของเราที่เราจะกล้ากล่าวคำอธิษฐานและระบายความในใจทั้งหมดออกมาได้

พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยของเรา นั่นคือผู้ซึ่งพระองค์ทรงเป็นในปฐมกาล ผู้ซึ่งทรงเป็นในเวลานี้ และผู้ซึ่งจะทรงเป็นตลอดไป

ติดต่ออยู่เสมอ

แมเดลีน แอลอิงเกิลสร้างนิสัยในการโทรหาแม่สัปดาห์ละครั้ง เมื่อแม่ย้ายเข้ามาอยู่กับเธอหลายปีมานี้ นักเขียนผู้มีความเชื่อฝ่ายวิญญาณที่น่ารักคนนี้ก็โทรหาแม่บ่อยขึ้น “เพียงเพื่อจะติดต่ออย่างสม่ำเสมอ” ในทำนองเดียวกัน แมเดลีนก็ชอบให้ลูกๆโทรหาเธอและรักษาการติดต่อนั้นไว้ บางครั้งเป็นการสนทนายาวนานซึ่งเต็มไปด้วยคำถามและคำตอบที่สำคัญ บางครั้งเป็นการโทรเพื่อจะให้แน่ใจว่าเลขหมายนั้นยังคงเปิดใช้อยู่ ตามที่เขียนไว้ในหนังสือของเธอเรื่องเดินบนน้ำ Walking on Water ว่า “เป็นการดีที่ลูกๆจะติดต่ออยู่เสมอ และเป็นการดีที่เราทุกคนผู้เป็นบุตรจะติดต่อกับพระบิดาของเรา”

พวกเราส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าในมัทธิว 6:9-13 แต่ข้อพระคัมภีร์ก่อนหน้านั้นมีความสำคัญพอๆกัน เพราะได้กำหนดความสำคัญของสิ่งที่ตามมา การอธิษฐานของเราต้องไม่โอ้อวด “ให้คนทั้งปวงได้เห็น” (ข้อ 5) และขณะเดียวกันก็ไม่มีการกำหนดไว้ว่าคำอธิษฐานของเราต้องยาวขนาดไหน และคำอธิษฐาน “มากมายหลายคำ” (ข้อ 7) ก็ไม่ได้แปลว่าคำอธิษฐานนั้นมีคุณภาพโดยอัตโนมัติ จุดสำคัญดูเหมือนจะเน้นที่การติดต่อเป็นประจำกับพระบิดาผู้ทรงทราบความต้องการของเรา “ก่อนที่ท่านทูลขอแล้ว” (ข้อ 8) พระเยซูทรงเน้นว่า เป็นการดีสักเพียงใดที่เราจะติดต่อกับพระบิดาของเรา จากนั้นก็ทรงสอนเราว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า” (ข้อ 9)

การอธิษฐานเป็นทางเลือกที่ถูกต้องและสำคัญยิ่งยวด เพราะช่วยให้เราติดต่อกับพระเจ้าและพระบิดาของเราทั้งหลายอยู่เสมอ

น้ำแห่งกำลังใจ

ผมเรียกมันว่าปาฏิหาริย์แห่ง “ทีละน้อยเพื่อความเขียวชอุ่ม” มันเกิดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิมานานกว่าสิบห้าปีแล้ว หลังจากฤดูหนาวนานหลายเดือน หญ้าในสนามของเราจะแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล ผู้คนที่เดินผ่านไปมาอาจคิดว่ามันตายแล้ว ที่รัฐโคโลราโดนั้นจะมีหิมะบนภูเขา แต่ภูมิอากาศบนที่ราบของ “เทือกเขาฟรอนท์เรนจ์” นั้นจะแห้งและร้อนเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งมาพร้อมกับคำเตือนเรื่องความแห้งแล้ง แต่ทุกปีช่วงปลายเดือนพฤษภาคมผมจะเปิดน้ำรดสนามหญ้า โดยให้น้ำทีละน้อยแต่สม่ำเสมอ เพียงประมาณสองสัปดาห์ สนามหญ้าที่แห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลก็เปลี่ยนเป็นเขียวชอุ่ม

หญ้าที่เขียวชอุ่มเตือนผมถึงความสำคัญของการให้กำลังใจ หากปราศจากกำลังใจชีวิตและความเชื่อของเราอาจคล้ายกับบางสิ่งที่ใกล้จะตาย แต่ช่างน่าอัศจรรย์ที่การให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอสามารถส่งผลต่อจิตใจ ความคิดและจิตวิญญาณของเรา จดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนถึงชาวเธสะโลนิกาเน้นย้ำความจริงนี้ ผู้คนกำลังต่อสู้กับความหวาดวิตกและความกลัว เปาโลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความเชื่อของพวกเขา ท่านหนุนใจพวกเขาให้รักษาสิ่งดีๆที่พวกเขาทำ ซึ่งก็คือการให้กำลังใจและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน (1ธส.5:11) ท่านรู้ว่าหากปราศจากสิ่งที่ทำให้จิตใจชุ่มชื่นเหล่านั้น ความเชื่อของพวกเขาคงถดถอยลง เปาโลได้สัมผัสถึงสิ่งนี้ด้วยตัวท่านเอง เมื่อผู้เชื่อชาวเธสะโลนิกาได้เคยหนุนใจและเสริมกำลังท่าน คุณและผมต่างมีโอกาสที่จะให้กำลังใจผู้อื่นเช่นกัน เพื่อช่วยเราแต่ละคนให้เติบโตและเกิดผล

ฝ่ายเราบอกท่านว่า

“แม่รู้ว่าพวกเขาพูดอะไรกัน แต่แม่กำลังบอกลูกว่า...” ตอนเป็นเด็ก ผมได้ยินแม่พูดคำนั้นเป็นพันครั้ง เรื่องมักเกิดจากการกดดันของคนรอบข้าง แม่พยายามสอนให้ผมไม่ต้องทำตามคนหมู่มาก ผมไม่ใช่เด็กอีกแล้ว แต่ความคิดของคนหมู่มากก็ยังคงแข็งแกร่ง ตัวอย่างหนึ่งในปัจจุบันคือวลีนี้ “จงอยู่ท่ามกลางคนที่คิดบวกเท่านั้น” แม้วลีนั้นมักจะได้ยินกันโดยทั่วไป แต่คำถามที่เราต้องถามคือ “นั่นเป็นเหมือนพระคริสต์ไหม”

“ฝ่ายเราบอกท่านว่า...” พระเยซูทรงใช้ประโยคนำนี้หลายครั้งในมัทธิวบทที่ 5 พระองค์ทรงทราบดีว่าโลกกำลังบอกอะไรกับเราอยู่ แต่ความปรารถนาของพระองค์คือให้เราดำเนินชีวิตที่แตกต่าง ในกรณีนี้พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเผื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน” (ข้อ 44) ต่อมาในพันธสัญญาใหม่ อัครทูตเปาโลใช้คำนั้นเพื่ออธิบายให้เข้าใจว่าหมายถึงใคร คือ ตัวเรา นั่นเองใน “ขณะที่เรายังเป็นศัตรูต่อพระเจ้า” (รม.5:10) ช่างห่างไกลจากคำกล่าวที่ว่า “ทำตามที่ฉันบอก ไม่ใช่ตามที่ฉันทำ” พระเยซูทรงสนับสนุนคำตรัสของพระองค์ด้วยการกระทำ พระองค์ทรงรักเราและประทานชีวิตของพระองค์เพื่อเรา

จะเกิดอะไรขึ้นหากพระคริสต์ทรงต้อนรับเฉพาะ “คนคิดบวก” เท่านั้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเราล่ะ ขอบคุณพระเจ้าที่ความรักของพระองค์ไม่ได้ทรงเลือกคนที่น่านับถือ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก และโดยพระกำลังของพระองค์ เราก็ได้รับการทรงเรียกให้ทำเช่นเดียวกัน

การติดตามอันแน่แท้ของพระเจ้า

หลายปีก่อน มีชายคนหนึ่งเดินอยู่ข้างหน้าผมอยู่หนึ่งช่วงตึก ผมมองเห็นชัดเจนว่าอ้อมแขนของเขาเต็มไปด้วยหีบห่อมากมาย ทันใดนั้นเขาสะดุดและของทุกอย่างหล่นลงพื้น มีสองคนเข้ามาช่วยพยุงเขาให้ลุกขึ้นและช่วยเก็บของ แต่พวกเขาลืมสิ่งหนึ่ง นั่นคือกระเป๋าเงินของชายคนนั้น ผมจึงเก็บขึ้นมาและรีบวิ่งไล่ตามชายแปลกหน้าคนนั้นไป โดยหวังว่าจะเอาของสำคัญคืนให้ ผมตะโกนว่า “คุณครับ คุณครับ!” และในที่สุดเขาก็ได้ยินและหันมาเมื่อผมไปถึงตัวเขา ขณะที่ผมยื่นกระเป๋าเงินให้เขา ผมไม่เคยลืมสีหน้าที่แสดงถึงความโล่งใจและรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการติดตามชายคนนั้น กลายเป็นการไล่ตามซึ่งแตกต่างกันมากทีเดียว พระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ใช้คำว่า ติดตาม ในพระธรรมข้อสุดท้ายของสดุดี 23 ที่เราคุ้นเคย “แน่ทีเดียวที่ความดีและความรักมั่นคงจะติดตามข้าพเจ้าไป” (ข้อ 6) แม้คำว่า “ติดตาม” จะเข้ากับบริบท แต่คำภาษาฮีบรูจริงๆ ใช้คำที่มุ่งมั่นและห้าวหาญมากกว่านั้น ความหมายตรงตัวของคำนั้นคือ “ไล่ตามหรือไล่ล่า” เหมือนนักล่าที่ไล่ล่าเหยื่อ (หมาป่าไล่ล่าแกะ)

ความดีและความรักของพระเจ้าไม่เพียงแค่คอยติดตามเรามาด้วยฝีเท้าแบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ เหมือนสัตว์เลี้ยงที่ค่อยๆเดินตามเรากลับบ้าน แต่ “แน่ทีเดียว” เรากำลังถูกไล่ตาม จนถึงกับไล่ล่าอย่างตั้งใจ เช่นเดียวกับที่ผมไล่ตามชายคนนั้นเพื่อเอากระเป๋าเงินไปคืน เราถูกไล่ตามโดยพระผู้เลี้ยงผู้ประเสริฐ ผู้ทรงรักเราด้วยความรักอันเป็นนิรันดร์ (ข้อ 1,6)

คิดถึงและอธิษฐานเผื่อ

“ฉันจะคิดถึงและอธิษฐานเผื่อคุณ” หากคุณได้ยินคำพูดนี้ คุณอาจสงสัยว่าผู้พูดหมายความตามนั้นจริงหรือไม่ แต่คุณจะไม่สงสัยเลยหากเอ็ดน่า เดวิสเป็นคนพูด ทุกคนในเมืองเล็กๆที่มีไฟจราจรแค่ต้นเดียวรู้จักสมุดฉีกสีเหลืองของ “คุณเอ็ดน่า” ซึ่งแต่ละหน้าจดรายชื่อมากมายเอาไว้ ทุกเช้าตรู่หญิงชราจะอธิษฐานออกเสียงต่อพระเจ้า ไม่ใช่ทุกคนในรายชื่อของเธอที่ได้รับการตอบคำอธิษฐานอย่างที่พวกเขาต้องการ แต่หลายคนเป็นพยานในงานไว้อาลัยของเธอว่าพระเจ้าทรงให้บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา และพวกเขายกความดีนี้ให้กับการอธิษฐานอย่างกระตือรือร้นของคุณเอ็ดน่า

พระเจ้าทรงสำแดงพลังแห่งการอธิษฐานผ่านประสบการณ์จำคุกของเปโตร หลังจากที่อัครทูตถูกทหารของเฮโรดจับขังไว้ในคุก และให้ “ทหารสี่หมู่ๆละสี่คนคุมไว้” (กจ.12:4) ทางรอดของท่านดูมืดมน แต่ “คริสตจักรได้อธิษฐานพระเจ้าเพื่อเปโตรด้วยใจร้อนรน” (ข้อ 5) พวกเขาคิดถึงและอธิษฐานเผื่อเปโตร สิ่งที่พระเจ้าทรงทำนั้นช่างอัศจรรย์! ทูตองค์หนึ่งมาปรากฏแก่เปโตรในคุก ปลดโซ่ตรวนของท่าน และนำท่านออกจากประตูคุกอย่างปลอดภัย (ข้อ 7-10)

เป็นไปได้ที่บางคนอาจพูดว่า “คิดถึงและอธิษฐานเผื่อ” โดยไม่ได้หมายความตามนั้นจริงๆ แต่พระบิดาทรงทราบความคิดของเรา ทรงสดับฟังคำที่เราทูลอธิษฐาน และกระทำเพื่อเราตามพระประสงค์อันสมบูรณ์ของพระองค์ การได้รับคำอธิษฐานหรือการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเมื่อเรารับใช้พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และทรงฤทธิ์

ดูที่ผล

“ขอให้คุณ (ชื่อบุคคลนั้น) ตัวจริง ยืนขึ้นด้วยครับ” นี่เป็นประโยคที่คุ้นเคยตอนท้ายรายการของเกมโชว์ชื่อ สาบานว่าพูดจริง คณะกรรมการคนดังสี่คนต้องถามคำถามผู้ร่วมแข่งขันสามคนที่อ้างว่าเป็นคนเดียวกัน แน่นอนว่าสองคนในนั้นเป็นตัวปลอม แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ต้องมองตัวจริงให้ออก ในตอนหนึ่งของรายการ เหล่าคนดังพยายามทายว่าใครคือ “จอห์นนี่ มาร์คส์” คนเขียนเนื้อเพลง “รูดอล์ฟกวางจมูกแดง” ตัวจริง พวกเขาพบว่ามันยากจริงๆที่จะทายว่าใครเป็นใครแม้จะตั้งคำถามดีแล้วก็ตาม ตัวปลอมบิดเบือนความจริงเพื่อทำให้รายการมีสีสัน

การแยกแยะว่าใครเป็นใครเมื่อพูดถึง “ผู้เผยพระวจนเท็จ” นั้น ต่างจากการแสดงในเกมโชว์โดยสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องท้าทายพอๆกันและมีความสำคัญมากยิ่งกว่า “หมาป่าดุร้าย” มักมา “ดุจแกะ” และพระเยซูทรงเตือนแม้แต่คนที่ฉลาดที่สุดในพวกเราว่า “จงระวัง” (มธ.7:15) การทดสอบที่ดีที่สุดไม่ใช่การตั้งคำถามที่ดีๆ แต่เป็นสายตาที่ดี มองดูที่ผลของเขา เพราะคุณจะรู้จักเขาได้ด้วยผลของเขา (ข้อ 16-20)

พระคัมภีร์ให้ตัวช่วยเราในการมองเห็นผลดีและผลเลว ผลที่ดีนั้นดูเหมือน “ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม และการรู้จักบังคับตน” (กท.5:22-23) เราต้องระแวดระวังให้ดี เพราะหมาป่าเล่นด้วยเล่ห์กล แต่ในฐานะผู้เชื่อที่เต็มด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เรารับใช้ผู้เลี้ยงแกะที่ดีตัวจริงซึ่ง “บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง” (ยน.1:14)

เราต้องการความช่วยเหลือจากพระเยซู

ในที่สุดวันนั้นก็มาถึง วันที่ผมตระหนักว่าพ่อไม่ใช่มนุษย์คงกระพัน เมื่อเป็นเด็ก ผมรับรู้ถึงกำลังและความมุ่งมั่นของพ่อ แต่ในวัยที่ผมเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ท่านได้รับบาดเจ็บที่หลัง และผมพบว่าพ่อก็เป็นมนุษย์ที่ร่างกายเสื่อมสลายได้คนหนึ่ง ผมอาศัยอยู่กับพ่อแม่เพื่อคอยช่วยพ่อเข้าห้องน้ำ ช่วยท่านแต่งตัว แม้กระทั่งคอยจับแก้วน้ำให้ตรงปากของท่าน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าอายสำหรับท่าน ท่านพยายามในตอนแรกที่จะทำสิ่งเล็กๆน้อยๆให้ได้ แต่ก็ยอมรับว่า “พ่อไม่สามารถทำอะไรได้หากลูกไม่ช่วย” ท่านหายดีและกลับมาแข็งแรงในที่สุด แต่ประสบการณ์นั้นสอนบทเรียนสำคัญให้เราทั้งคู่ว่า เราต้องการซึ่งกันและกัน

และในขณะที่เราต้องการซึ่งกันและกันนั้น เราก็ต้องการพระเยซูมากยิ่งกว่า ในยอห์น 15 ภาพของเถาองุ่นและแขนงยังคงเป็นภาพที่เรายึดไว้มั่น แต่ประโยคนี้ก็เหมือนประโยคอื่นๆที่เป็นทั้งคำปลอบโยน และขณะเดียวกันก็โจมตีการพึ่งพาตนเองของเรา ความคิดที่เล็ดลอดเข้ามาในหัวเราได้ง่ายๆ คือ ฉันไม่ต้องการความช่วยเหลือ พระเยซูทรงกล่าวชัดเจนว่า “เพราะถ้าแยกจากเราแล้วท่านจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย” (ข้อ 5) พระคริสต์กำลังตรัสถึงการเกิดผล เช่น “ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข” (กท.5.22) ที่เป็นลักษณะสำคัญของการเป็นสาวก พระเยซูทรงเรียกเราให้มีชีวิตที่เกิดผล และให้เราพึ่งพาพระองค์ผู้เดียวในการมีชีวิตที่เกิดผล ซึ่งเป็นชีวิตที่อยู่เพื่อพระเกียรติของพระบิดา (ยน.15:8)

สนทนาเรื่องความเชื่อที่บ้าน

“ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน” คำพูดที่น่าจดจำซึ่งโดโรธีพูดไว้ในเรื่องพ่อมดแห่งออซนี้เปิดเผยให้เห็นกลไกการเล่าเรื่องที่จะพบในเรื่องอมตะส่วนใหญ่ที่ให้ความรู้สึกอันท่วมท้น นับจากสตาร์วอร์ไปจนถึงเดอะไลอ้อนคิง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น “การเดินทางของฮีโร่” อธิบายสั้นๆคือ เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างธรรมดาเมื่อเกิดมีการผจญภัยที่ไม่ธรรมดาขึ้น ตัวละครออกจากบ้านและเดินทางไปยังโลกอื่นซึ่งมีการทดสอบและการทดลองรออยู่ อีกทั้งมีที่ปรึกษาคอยชี้แนะและเหล่าวายร้าย หากเขาหรือเธอผ่านการทดสอบและพิสูจน์ให้เห็นถึงความกล้าหาญ ฉากสุดท้ายก็จะเป็นการกลับบ้านพร้อมเรื่องราวที่จะบอกเล่าและสติปัญญาที่ได้รับ ฉากสุดท้ายนี้สำคัญมาก

เรื่องราวของชายที่ถูกผีสิงนั้นเทียบได้กับการเดินทางของฮีโร่ น่าสนใจที่ในฉากสุดท้ายชายคนนั้นอ้อนวอนพระเยซูให้เขา “ติดตามพระองค์ไป” (มก.5:18) แต่พระเยซูตรัสกับเขาว่า “จงไปหาพวกพ้องของเจ้าที่บ้าน” (ข้อ 19) นี่คือสิ่งสำคัญในการเดินทางของชายคนนี้ ที่จะกลับบ้านไปหาคนที่รู้จักเขาดีที่สุดและเล่าเรื่องราวอันอัศจรรย์ของตนให้พวกเขาฟัง

พระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างและในสถานการณ์ที่ต่างกัน แต่สำหรับเราบางคน นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดสำหรับเส้นทางแห่งความเชื่อของเราที่จะต้องกลับบ้านและบอกเล่าเรื่องราวของเราให้กับคนที่รู้จักเราดีที่สุด และสำหรับเราบางคน การทรงเรียกนี้คือ “ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน”

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา