การแข่งขันของกระแสไฟ
เมื่อคุณเสียบปลั๊กเครื่องปิ้งขนมปัง คุณกำลังได้รับประโยชน์จากผลของความขัดแย้งอันเจ็บปวดจากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เวลานั้นนักประดิษฐ์ชื่อโธมัส เอดิสันและนิโคล่า เทสล่า แข่งขันกันว่าไฟฟ้าชนิดไหนดีที่สุดเพื่อการพัฒนาความเจริญ ระหว่างกระแสตรง (DC) เช่น กระแสไฟที่ได้จากแบตเตอรี่ในไฟฉาย หรือกระแสสลับ (AC) ที่ได้จากปลั๊กไฟ
ในที่สุด กระแสสลับของเทสล่าเป็นฝ่ายชนะและถูกนำมาใช้เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าให้บ้านเรือน ธุรกิจ และชุมชนทั่วโลก โดยกระแสสลับมีประสิทธิภาพกว่ามากในการส่งไฟฟ้าระยะไกล และมีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
บางครั้งเราก็ต้องการสติปัญญาเมื่อเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาระหว่างผู้เชื่อในพระเยซู (ดู รม.14:1-12) อัครทูตเปาโลเรียกร้องให้เราแสวงหาการ
ช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อความกระจ่างชัดในประเด็นนั้น ท่านกล่าวว่า “ถ้าท่านคิดอย่างอื่น พระเจ้าก็จะทรงโปรดให้เรื่องนั้นประจักษ์แก่ท่านด้วย” (ฟป.3:15) ในข้อต่อมา เราได้เห็นผลของการที่คนสองคนปล่อยให้ความแตกต่างมาแบ่งแยกพวกเขา เป็นความขัดแย้งที่ทำให้เปาโลเศร้าใจ “ข้าพเจ้าขอเตือนนางยูโอเดีย และขอเตือนนางสินทิเค ให้มีจิตใจปรองดองกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (4:2)
เมื่อใดที่ความขัดแย้งเริ่มแยกเราออกจากกัน ขอให้เราแสวงหาพระคุณและสติปัญญาของพระเจ้าจากพระคัมภีร์ จากคำแนะนำของผู้เชื่อที่เป็นผู้ใหญ่ และฤทธิ์อำนาจแห่งการอธิษฐาน ให้เรามุ่งมั่นเพื่อจะมี “จิตใจปรองดองกัน” ในพระองค์ (ข้อ 2)
ช่วงปรับปรุง
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแปลงโฉมภายในบ้านใหม่ แต่ทันทีที่ผมเริ่มเตรียมห้องเพื่อทาสี รัฐบาลท้องถิ่นก็ประกาศว่าการขายอุปกรณ์ปรับปรุงบ้านหลายอย่างจะชะลอตัวลงเนื่องจากโรคระบาดโควิด 19 ผมรีบไปซื้อวัสดุที่จำเป็นทันทีที่ได้ยินประกาศ คุณจะปรับปรุงอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่มีวัสดุที่เหมาะสม
เปาโลมีแผนในการปรับปรุงอยู่ในใจเมื่อท่านเขียนพระธรรมเอเฟซัส 4 แต่การเปลี่ยนแปลงที่ท่านพูดถึงลึกซึ้งมากกว่าแค่การเปลี่ยนเพียงผิวเผิน แม้การเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดทำให้เราเป็นคนที่ถูกสร้างใหม่ แต่ยังคงมีสิ่งที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ต้องทำต่อ ซึ่งใช้เวลาและการทำงานของพระองค์เพื่อเราจะไปถึง “ความชอบธรรมและความบริสุทธิ์ที่แท้จริง” (อฟ.4:24)
การสถิตอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์เปลี่ยนแปลงสิ่งจำเป็นภายในที่ช่วยให้เราสะท้อนถึงพระเยซูในคำพูดและการกระทำของเรา พระองค์ช่วยให้เราเปลี่ยนการโกหกเป็นการพูด “ความจริง” (ข้อ 25) ทรงนำให้เราหลีกเลี่ยงความบาปจากการโกรธ (ข้อ 26) และทรงให้เรากล่าวคำที่ “เป็นประโยชน์เพื่อเสริมสร้างผู้อื่นขึ้น” (ข้อ 29 TNCV) การกระทำโดยการนำของพระวิญญาณนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภายใน ซึ่งปรากฏออกมาเป็นความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจและการให้อภัย (ข้อ 32) พระวิญญาณทรงทำงานภายในเราเพื่อให้เราทำตามอย่างพระเยซูและสะท้อนหัวใจของพระบิดาในสวรรค์ (ข้อ 24;5:1)
ใส่ใจคำเตือน
เมื่อนักล้วงกระเป๋าพยายามจะลักทรัพย์ตอนผมไปเที่ยวต่างประเทศนั้น ผมไม่แปลกใจนัก ผมได้อ่านคำเตือนมากมายเกี่ยวกับขโมยในสถานีรถไฟใต้ดิน ผมรู้ว่าผมต้องระวังกระเป๋าสตางค์ของผมอย่างไร แต่ผมไม่เคยคิดว่าจะเจอกับตัว
โชคยังดีที่ชายหนุ่มผู้ล้วงกระเป๋าผมมือไม่เบา กระเป๋าผมจึงตกพื้นและผมเก็บได้ทัน แต่เหตุการณ์นี้เตือนผมว่าผมควรจะใส่ใจกับคำเตือน
เราไม่ค่อยชอบที่ต้องมาคอยกังวลกับคำเตือนเพราะคิดว่ามันขัดขวางการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ แต่ความจริงคือมันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใส่ใจ ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงเตือนอย่างชัดเจนตอนที่ส่งสาวกไปประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า (มธ.10:7) โดยตรัสว่า “ทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ แต่ผู้ใดจะไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะไม่ยอมรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ด้วย” (ข้อ 32-33)
เรามีทางเลือก ด้วยความรักพระเจ้าได้ทรงประทานองค์พระผู้ช่วยให้รอดและแผนการเพื่อให้เราได้อยู่กับพระองค์ตลอดนิจนิรันดร์ แต่ถ้าเราหันหลังให้พระเจ้าและเลือกที่จะปฏิเสธเรื่องราวความรอดและชีวิตที่แท้จริงซึ่งพระองค์ประทานให้ในเวลานี้และในนิรันดร์กาล เราก็สูญเสียโอกาสที่จะได้อยู่กับพระองค์
ขอให้เราวางใจในพระเยซู ผู้ทรงเลือกที่จะช่วยเราให้รอดพ้นจากการถูกแยกขาดจากพระองค์ผู้ทรงรักและทรงสร้างเราตลอดไปเป็นนิตย์
คำอธิษฐานที่ถูกปิดกั้น
รถสำรวจดาวอังคาร ออปเพอร์จูนิที สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นขององค์การนาซ่าอย่างซื่อสัตย์มาตลอดสิบสี่ปี หลังลงจอดในปี 2004 มันได้เดินทางไปบนผิวดาวอังคารแล้ว 45 กิโลเมตร ถ่ายภาพนับพันและวิเคราะห์วัตถุมากมาย แต่ในปี 2018 การสื่อสารได้สิ้นสุดลงเมื่อพายุฝุ่นลูกใหญ่ปกคลุมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทำให้รถสำรวจขาดพลังงาน
เป็นไปได้ด้วยหรือที่เราจะยอมให้ “ฝุ่น” มาปิดกั้นเราจากการสื่อสารกับ“ใครบางคน” นอกโลก เมื่อพูดถึงการอธิษฐาน ซึ่งก็คือการสื่อสารกับพระเจ้ามีบางอย่างที่อาจเข้ามาขวางกั้นเอาไว้ได้
พระคัมภีร์กล่าวว่าความบาปขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า “ถ้าข้าพเจ้าได้บ่มความชั่วไว้ในใจข้าพเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าคงไม่ทรงสดับ” (สดด.66:18) พระเยซูสอนว่า “เมื่อท่านยืนอธิษฐานอยู่ ถ้าท่านมีเหตุกับผู้หนึ่งผู้ใดจงยกโทษให้ผู้นั้นเสีย เพื่อพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ จะโปรดยกความผิดของท่านด้วย” (มก.11:25) การสื่อสารระหว่างเรากับพระเจ้าอาจถูกขวางกั้นจากความสงสัยและปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ (ยก.1:5-7; 1 ปต.3:7)
ออปเพอร์จูนิทีอาจถูกปิดกั้นทางการสื่อสารตลอดกาล แต่การอธิษฐานของเราไม่จำเป็นต้องถูกปิดกั้น พระเจ้าทรงนำเราด้วยความรักเพื่อรื้อฟื้นการสื่อสารกับพระองค์ผ่านการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อเราสารภาพบาปและหันกลับมาหาพระองค์ โดยพระคุณเราจะได้พบการสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จักรวาลเคยมีนั้น คือการได้อธิษฐานเป็นส่วนตัวระหว่างเรากับพระเจ้าองค์บริสุทธิ์
เก้าอี้พระเยซู
เมื่อเพื่อนของผมมาร์จ ได้พบกับทามิในการศึกษาพระคัมภีร์ เธอสังเกตว่าพวกเธอดูเหมือนมีสิ่งที่คล้ายกันน้อยมาก แต่มาร์จก็ยอมเป็นเพื่อนกับเธอและก็ได้เรียนรู้บทเรียนที่มีค่าจากเพื่อนใหม่
ทามิไม่เคยเข้าร่วมการศึกษาพระคัมภีร์ และเธอไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่ผู้หญิงคนอื่นพูดถึงกันในชั้นเรียนที่ว่า พระเจ้าทรงสื่อสารกับพวกเขา นี่เป็นสิ่งที่เธอไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน
เธอปรารถนาจะได้ยินเสียงของพระเจ้าและเธอได้ลงมือทำบางสิ่ง ต่อมาไม่นานเธอบอกกับมาร์จว่า “ฉันวางเก้าอี้ไม้เก่าๆตัวหนึ่งไว้ข้างๆ และทุกครั้งที่ฉันศึกษาพระคัมภีร์ ฉันจะขอให้พระเยซูมานั่งที่เก้าอี้ตัวนั้น” ทามิอธิบายต่อไปว่าเมื่อไรก็ตามที่มีข้อพระคำสัมผัสใจ เธอจะใช้ชอล์คเขียนพระคำข้อนั้นบนเก้าอี้ มันกลายเป็น “เก้าอี้พระเยซู” ที่แสนพิเศษ และเธอเขียนจนเต็มพื้นที่ด้วยข้อความจากพระเจ้าที่มาถึงเธอโดยตรงจากพระคัมภีร์
มาร์จบอกว่า “(เก้าอี้พระเยซู)ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของ(ทามิ) เธอเติบโตฝ่ายวิญญาณเพราะพระคัมภีร์ได้กลายเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวของเธอ”
ขณะที่พระเยซูทรงสนทนากับผู้เชื่อชาวยิว พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายดำรงอยู่ในคำของเรา ท่านก็เป็นสาวกของเราอย่างแท้จริง และท่านทั้งหลายจะรู้จักสัจจะ และสัจจะจะทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไท” (ยน.8:31-32) ให้เรายึดมั่นในพระคำของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อพระคำบนเก้าอี้ ท่องจำหรือนำไปปฏิบัติ ความจริงและสติปัญญาจากพระคำของพระเยซูจะช่วยเราให้เติบโตในพระองค์และทำให้เราเป็นไท
อยู่ที่ว่าคุณรู้จักใคร
ในช่วงต้นปี 2019 ชาร์ลี แวนเดอร์เมียร์ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 84 ปี เป็นเวลาหลายสิบปีที่เขาเป็นที่รู้จักของผู้คนนับพันในฐานะลุงชาร์ลี นักจัดรายการวิทยุระดับประเทศแห่งรายการ ชั่วโมงพระคัมภีร์ของเด็กๆ วันก่อนที่ลุงชาร์ลีจะจากไปอยู่กับพระเจ้า เขาบอกเพื่อนสนิทคนหนึ่งว่า “อะไรที่คุณรู้ไม่สำคัญเท่ากับใครที่คุณรู้จัก ใช่แล้วผมกำลังพูดถึงพระเยซูคริสต์”
แม้ในวาระสุดท้าย ลุงชาร์ลียังอดไม่ได้ที่จะพูดถึงพระเยซูและความจำเป็นที่ผู้คนจะต้องรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด
อัครทูตเปาโลถือว่าการรู้จักพระเยซูเป็นงานที่สำคัญที่สุดของท่าน “ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์ และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์” (ฟป.3:8-9) แล้วเราจะรู้จักพระเยซูได้อย่างไร “คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด” (รม.10:9)
เราอาจรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระเยซู รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับคริสตจักร และอาจคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ด้วยซ้ำ แต่ทางเดียวที่จะรู้จักพระเยซูในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดคือ ยอมรับของประทานแห่งความรอดซึ่งให้เปล่าๆ พระองค์คือผู้ที่เราจำเป็นจะต้องรู้จัก
มีน้ำใจจริงๆ
ผู้ฟังรายการโทรมาที่สถานีวิทยุคริสเตียนบอกว่า ภรรยาของเขากำลังจะได้กลับบ้านหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาล แล้วเขาได้พูดบางอย่างที่แตะใจผมว่า “ทุกคนในครอบครัวคริสตจักรมีน้ำใจช่วยเหลือดูแลเราในช่วงเวลานี้จริงๆ”
เมื่อได้ยินประโยคธรรมดาแบบนี้ ทำให้ผมคิดถึงคุณค่าและความจำเป็นของการมีน้ำใจและความเอาใจใส่ดูแลของคริสเตียน ผมเริ่มคิดว่าความรักและการช่วยเหลือของเพื่อนผู้เชื่อที่มีต่อกันเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการแสดงฤทธิ์เดชแห่งข่าวประเสริฐที่เปลี่ยนแปลงชีวิต
ในพระธรรม 1 เปโตร ท่านอัครทูตเขียนจดหมายเวียนไปถึงคริสตจักรต่างๆในศตวรรษที่ 1 ซึ่งปัจจุบันคือประเทศตุรกี ในจดหมายนั้นท่านขอร้องผู้อ่านให้ทำสิ่งที่เปาโลเพื่อนของท่านเขียนไว้ในพระธรรมโรม 12:13 ว่า “จงมีน้ำใจอัธยาศัยไมตรี” เปโตรบอกว่า “จงรักซึ่งกันและกันให้มาก...จงต้อนรับเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน” และให้พวกเขาใช้ของประทานที่พระเจ้าให้เพื่อ “ประโยชน์แก่กันและกัน” (1 ปต.4:8-10) นี่เป็นแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้เชื่อในพระเยซูทุกคนปฏิบัติต่อผู้เชื่อด้วยกัน
พวกเราต่างก็รู้จักคนที่เป็นเหมือนภรรยาของชายที่โทรมานั้น คือผู้ที่ต้องการมีคนมาอยู่เคียงข้างคอยสำแดงความห่วงใยและความรักแบบพระคริสต์โดยพระกำลังของพระเจ้า ขอให้เราเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับการกล่าวขานว่า “มีน้ำใจจริงๆ”
ทูลขอต่อพระเจ้า
ในเช้าวันหนึ่ง ช่วงเวลาอธิษฐานของครอบครัวจบลงด้วยคำแถลงที่น่าประหลาดใจ ทันทีที่พ่อพูดว่า “อาเมน” เคทลินวัยห้าขวบก็ประกาศว่า “และหนูอธิษฐานเผื่อโลแกนเพราะเขาลืมตาตอนอธิษฐาน”
ฉันค่อนข้างแน่ใจว่า การอธิษฐานเผื่อวิธีอธิษฐานของพี่ชายวัยสิบขวบไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์หมายถึงเมื่อมีการเรียกให้เราทูลวิงวอนเพื่อผู้อื่น แต่อย่างน้อยเคทลินก็รู้ว่าเราอธิษฐานเผื่อคนอื่นได้
อาจารย์สอนพระคัมภีร์ออสวอลด์ แชมเบอร์สเน้นถึงความสำคัญในการอธิษฐานเผื่อผู้อื่น เขากล่าวว่า “การทูลวิงวอนเพื่อผู้อื่นคือการเอาพระทัยพระเจ้ามาใส่ใจเรา คือการมีความคิดและมุมมองของพระองค์” เป็นการอธิษฐานเผื่อผู้อื่นจากมุมมองที่เรารู้จักพระเจ้าและความรักของพระองค์ที่มีต่อเรา
เราพบตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการทูลวิงวอนในดาเนียล 9 ผู้เผยพระวจนะเข้าใจถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่ชาวยิวจะต้องตกเป็นเชลยในบาบิโลนเจ็ดสิบปี (ยรม.25:11-12) เมื่อเห็นว่าช่วงเวลานั้นกำลังจะสิ้นสุด ดาเนียลจึงอธิษฐาน ท่านอ้างถึงพระดำรัสของพระเจ้า (ดนล 9:4-6) ถ่อมตัวเองลง (ข้อ 8) สรรเสริญพระลักษณะของพระเจ้า (ข้อ 9) สารภาพบาป (ข้อ 15) และพึ่งพาในพระเมตตาพระเจ้าขณะเมื่อท่านอธิษฐานเผื่อประชากรของพระองค์ (ข้อ 18) และท่านได้รับคำตอบจากพระเจ้าในทันที (ข้อ 21)
ไม่ใช่ทุกการอธิษฐานที่ลงเอยด้วยการตอบสนองอย่างยิ่งใหญ่ แต่จงมั่นใจว่าเราเป็นตัวแทนของผู้อื่นในการเข้าหาพระเจ้าได้ ด้วยท่าทีของความไว้วางใจและพึ่งพาในพระองค์
ถนนทุกสายเลยหรือ
“อย่าขึ้นทางด่วน” นั่นเป็นข้อความจากลูกสาวของผมในเย็นวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังจะออกจากที่ทำงาน บนทางด่วนกลับบ้านกลายเป็นลานจอดรถ ผมเริ่มลองเส้นทางอื่น แต่พบว่าการจราจรบนถนนทุกสายหนาแน่นจนผมต้องยอมแพ้ วันนี้คงต้องรออีกนานกว่าจะกลับถึงบ้าน ผมจึงกลับรถไปทางตรงกันข้ามมุ่งหน้าไปดูการแข่งกีฬาที่หลานสาวผมร่วมแข่งด้วย
เมื่อพบว่าไม่มีถนนสายไหนจะพาผมกลับบ้านได้ในวันนั้น ทำให้ผมคิดถึงบางคนที่พูดว่าถนนทุกสายสามารถนำเราไปสู่ความสัมพันธ์ชั่วนิรันดร์กับพระเจ้าได้ บางคนเชื่อว่าถนนแห่งความเมตตาและการประพฤติดีจะนำเขาไปถึงได้ คนอื่นๆอาจเลือกถนนของการทำตามพิธีกรรมทางศาสนา
อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงถนนเหล่านั้นนำไปสู่ทางตัน มีถนนเพียงเส้นเดียวเท่านั้นที่นำไปสู่การทรงสถิตชั่วนิรันดร์ของพระเจ้า พระเยซูทรงอธิบายอย่างชัดเจนเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยน.14:6) ทรงเปิดเผยว่าพระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เพื่อเปิดทางเข้าสู่บ้านของพระบิดาให้กับเรา สู่การทรงสถิตของพระองค์ และชีวิตที่แท้จริงที่พระองค์จัดเตรียมไว้ให้ในวันนี้และชั่วนิรันดร์
ให้เราข้ามทางตันที่ไม่อาจนำเราไปถึงการทรงสถิตของพระเจ้า แต่จงวางใจในพระเยซูพระผู้ช่วยให้รอดของเรา เพราะ “ผู้ที่วางใจในพระบุตรก็มีชีวิตนิรันดร์” (ยน.3:36) และสำหรับผู้ที่เชื่อในพระองค์แล้ว จงพักสงบในหนทางที่พระองค์ทรงจัดเตรียมไว้ให้