ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Dave Branon

พบชีวิต

สำหรับเบร็ทแล้วการก้าวเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยคริสเตียนและศึกษาด้านพระคัมภีร์เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะตลอดทั้งชีวิตเขาได้คลุกคลีอยู่กับคนที่รู้จักพระเยซู ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่คริสตจักร และเขาเองได้เตรียมตัวกระทั่งว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งประกอบอาชีพที่เป็น “งานคริสเตียน”

แต่เมื่ออายุได้ยี่สิบเอ็ดปี ขณะที่เขานั่งอยู่ในที่ประชุมเล็กๆในคริสตจักรชนบทเก่าแก่แห่งหนึ่งและฟังศิษยาภิบาลเทศนาจากพระธรรม 1 ยอห์น เขาได้พบสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจว่า ที่ผ่านมาเขาพึ่งพาความรู้และองค์ประกอบภายนอกของศาสนาแต่เขาไม่เคยได้รับความรอดในพระเยซูอย่างแท้จริง เขารู้สึกว่าวันนั้นพระคริสต์ทรงเร้าใจเขาด้วยข้อความที่จริงจังว่า “เจ้าไม่รู้จักเรา!”

ข้อความของยอห์นนั้นชัดเจนว่า “ผู้ใดเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ ผู้นั้นก็เกิดจากพระเจ้า” (1ยน.5:1) เรา “มีชัยเหนือโลกนี้” ได้ (ข้อ 4) ด้วยความเชื่อในพระเยซูเท่านั้น ไม่ใช่เพราะความรู้เกี่ยวกับพระองค์ แต่เป็นความเชื่อวางใจอันลึกซึ้งด้วยใจจริงซึ่งแสดงออกเป็นความเชื่อในสิ่งที่พระองค์กระทำเพื่อเราบนไม้กางเขน วันนั้นเบร็ทได้มอบความเชื่อวางใจไว้ในพระคริสต์ผู้เดียว

วันนี้ ความรักอันลึกซึ้งของเบร็ทที่มีต่อพระเยซูและความรอดในพระองค์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความลับ แต่ส่งเสียงดังและชัดเจนทุกครั้งที่เขาก้าวไปที่ธรรมมาสน์และเทศนาในฐานะศิษยาภิบาลคนหนึ่ง เขาคือศิษยาภิบาลของผม

“พระเจ้าประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา และชีวิตนี้มีอยู่ในพระบุตรของพระองค์ ผู้ที่มีพระบุตรก็มีชีวิต” (ข้อ 11-12) สำหรับทุกคนที่พบชีวิตในพระเยซู นี่เป็นคำย้ำเตือนที่ทำให้อบอุ่นใจเหลือเกิน!

มีคำถามไหม

แอนกำลังพบกับศัลยแพทย์ทางช่องปากซึ่งเธอรู้จักมานานหลายปีเพื่อตรวจอาการในเบื้องต้น แพทย์ถามเธอว่า “คุณมีคำถามอะไรไหม” เธอตอบว่า “มีค่ะ อาทิตย์ที่แล้วคุณไปคริสตจักรหรือเปล่า” คำถามของเธอไม่ได้มีเจตนาจะตัดสิน แต่เพียงเพื่อจะเริ่มต้นบทสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ

ศัลยแพทย์ผู้นี้เติบโตมากับประสบการณ์ในคริสตจักรที่ไม่ค่อยดีนัก และเขาก็ไม่เคยกลับไปอีก เพราะคำถามของแอนและการพูดคุยกัน เขาจึงคิดทบทวนถึงบทบาทของพระเยซูและคริสตจักรในชีวิตของเขาอีกครั้ง ต่อมาเมื่อแอนมอบพระคัมภีร์ที่มีชื่อของเขาพิมพ์ไว้บนปก เขารับไว้ทั้งน้ำตา

บางครั้งเรากลัวการเผชิญหน้าหรือไม่ต้องการจะดูก้าวร้าวเกินไปในการแบ่งปันความเชื่อของเรา แต่มีวิธีที่ไม่ทำให้อึดอัดใจในการเป็นพยานเรื่องพระเยซู คือการถามคำถาม

เพราะบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นพระเจ้าและรอบรู้ทุกสิ่ง ซึ่งก็คือพระเยซูอย่างไม่ต้องสงสัยพระองค์ทรงถามคำถามมากมาย แม้ในขณะที่เราไม่รู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ แต่เห็นได้ชัดว่าคำถามของพระองค์กระตุ้นให้ผู้คนตอบสนอง พระองค์ตรัสถามอันดรูว์สาวกว่า “ท่านหาอะไร” (ยน.1:38) พระองค์ตรัสถามบารทิเมอัสชายตาบอดว่า “เจ้าปรารถนาจะให้เราทำอะไรให้เจ้า” (มก.10:51; ลก.18:41) พระองค์ตรัสถามชายที่เป็นอัมพาตว่า “เจ้าปรารถนาจะหายโรคหรือ” (ยน.5:6) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านี้แต่ละคนเป็นการส่วนตัวหลังจากคำถามที่พระเยซูทรงเริ่มต้น

มีใครที่คุณอยากจะเข้าไปเริ่มพูดคุยเรื่องความเชื่อไหม ขอให้คุณทูลขอที่พระเจ้าจะประทานคำถามที่เหมาะสมให้กับคุณ

วิธีที่แตกต่าง

เมื่อแมรี่ สเลสเซอร์ล่องเรือไปยังประเทศคาลาบาร์ในแอฟริกา (ปัจจุบันคือไนจีเรีย) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1800 เธอกระตือรือร้นที่จะสานต่องานเผยแพร่ศาสนาของเดวิด ลิฟวิ่งสโตน งานที่ได้รับมอบหมายชิ้นแรกของเธอคือการสอนในโรงเรียนขณะที่อยู่ร่วมกับเพื่อนมิชชันนารีด้วยกัน สิ่งนี้ทำให้เธอมีภาระใจในการรับใช้ที่แตกต่างออกไป ดังนั้นแมรี่จึงทำในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในพื้นที่นั้น คือเธอได้ย้ายเข้าไปอยู่กับคนที่เธอทำงานด้วย เธอเรียนภาษาของพวกเขา ใช้ชีวิตแบบพวกเขา และกินอาหารของพวกเขา และเธอยังรับดูแลเด็กหลายสิบคนที่ถูกทอดทิ้ง เป็นเวลาเกือบสี่สิบปีที่เธอได้นำทั้งความหวังและพระกิตติคุณไปยังผู้ที่ต้องการ

อัครทูตเปาโลทราบถึงความสำคัญในการตอบสนองความขัดสนของผู้ที่อยู่รอบข้างเรา ท่านกล่าวในพระธรรม 1 โครินธ์ 12:4-5 ว่า “ของประทานนั้นมีต่างๆกัน แต่มีพระวิญญาณองค์เดียวกัน” และ “งานรับใช้มีต่างๆกัน แต่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน” ดังนั้นท่านจึงได้รับใช้ผู้คนในด้านที่คนเหล่านั้นต้องการ ตัวอย่างเช่น “ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอ” (9:22)

คริสตจักรแห่งหนึ่งที่ผมรู้จักเมื่อเร็วๆนี้ได้ประกาศเปิดตัวการทำพันธกิจชื่อว่า “ทุกความสามารถ” โดยจัดให้สถานที่นั้นไม่มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ ทำให้คนไร้ความสามารถหรือผู้พิการก็สามารถเข้าถึงการนมัสการได้ นี่เป็นความคิดแบบเปาโลที่เอาชนะใจผู้คนและทำให้พระกิตติคุณเบ่งบานในชุมชน

ขณะที่เราดำเนินชีวิตโดยความเชื่อต่อหน้าคนรอบข้าง ขอพระเจ้าทรงนำ ให้เราใช้วิธีที่ใหม่และแตกต่างเพื่อแนะนำพระเยซูให้พวกเขาได้รู้จัก

จากความมืดสู่ความสว่าง

ไม่มีอะไรฉุดอาคัชออกจากภาวะซึมเศร้าอันมืดมิดของเขาได้ เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุรถบรรทุก เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลมิชชันนารีแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ การผ่าตัดแปดครั้งได้รักษากระดูกที่หักของเขา แต่เขากินไม่ได้ ภาวะซึมเศร้าเริ่มขึ้น ครอบครัวต้องพึ่งพาเขาในการหาเลี้ยงชีพ ซึ่งเขาไม่สามารถทำได้ โลกของเขาจึงมืดมนยิ่งขึ้น

วันหนึ่งมีคนมาเยี่ยมอาคัช และอ่านพระกิตติคุณยอห์นในภาษาของเขาและอธิษฐานเผื่อเขา ความหวังในเรื่องการยกโทษบาปและความรอดที่พระเจ้าทรงประทานให้โดยไม่คิดมูลค่าผ่านทางพระเยซูได้สัมผัสใจของเขา เขาจึงเชื่อวางใจในพระองค์ และไม่นานนักเขาก็หายจากภาวะซึมเศร้า เมื่อเขากลับบ้าน ตอนแรกเขากลัวที่จะพูดถึงความเชื่อใหม่ของตน แต่ในที่สุดเขาบอกกับครอบครัวเรื่องพระเยซู และหกคนในครอบครัวได้เชื่อวางใจในพระองค์เช่นกัน!

พระกิตติคุณยอห์นเป็นดวงประทีปแห่งความสว่างในโลกที่มืดมิด ในพระธรรมนั้นกล่าวว่า “เพื่อทุกคนที่วางใจใน [พระเยซู]นั้น จะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (3:16) เราพบว่า “ถ้าผู้ใดฟังคำของ [พระเยซู] และวางใจใน [พระเจ้า] ....ผู้นั้นก็มีชีวิตนิรันดร์” (5:24) และเราได้ยินพระดำรัสของพระเยซูว่า “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต ผู้ที่มาหาเราจะไม่หิวเลย” (6:35) แท้จริงแล้ว “ผู้ที่ประพฤติชอบก็มาสู่ความสว่าง” (3:21)

ปัญหาที่เราเผชิญอาจใหญ่หลวงนัก แต่พระเยซูทรงยิ่งใหญ่กว่า พระองค์เสด็จมาเพื่อประทาน “ชีวิต...อย่างครบบริบูรณ์” (10:10) และเช่นเดียวกับอาคัช ขอให้คุณเชื่อวางใจในพระเยซู ผู้ทรงเป็นความหวังของโลกและความสว่างแก่มนุษยชาติทั้งปวง

คำสั่งเสีย

ในวาระสุดท้ายของชีวิต จอห์น เอ็ม เพอร์กิ้นส์ได้ฝากข้อความไว้สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพอร์กิ้นส์ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องการส่งเสริมความปรองดองด้านเชื้อชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “การกลับใจเป็นหนทางเดียวที่จะกลับสู่พระเจ้า ถ้าคุณไม่กลับใจ คุณจะพินาศ”
ถ้อยคำนี้เหมือนกับที่พระเยซูและหลายคนในพระคัมภีร์กล่าวไว้ พระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายมิได้กลับใจใหม่จะต้องพินาศเหมือนกัน” (ลก.13:3) อัครทูตเปโตรบอกว่า “ท่านทั้งหลายจงหันกลับและตั้งใจใหม่ เพื่อพระเจ้าจะทรงลบล้างความผิดบาปของท่านเสีย” (กจ.3:19)

ในพระวจนะที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเป็นเวลานาน เราได้อ่านถึงคำพูดของอีกผู้หนึ่งที่ปรารถนาให้ประชากรของท่านกลับมาหาพระเจ้า ในคำสั่งเสีย “แก่คนอิสราเอลทั้งปวง” (1ซมอ.12:1) ผู้เผยพระวจนะ ปุโรหิต และผู้วินิจฉัยซามูเอลได้กล่าวไว้ว่า “อย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายได้กระทำความชั่ว...แต่ท่านทั้งหลายอย่าหันไปเสียจากการติดตามพระเจ้า แต่จงปรนนิบัติพระเจ้าด้วยสิ้นสุดใจของท่าน” (ข้อ 20) นี่คือคำกล่าวถึงเรื่องการกลับใจของท่าน คือให้หันจากความชั่วและติดตามพระเจ้าอย่างสุดใจ

พวกเราต่างทำบาปและตกจากมาตรฐานของพระเจ้า เราจึงจำเป็นต้องกลับใจ คือหันหลังให้ความบาปและหันมาหาพระเยซูผู้ทรงยกโทษและเสริมกำลังเราในการติดตามพระองค์ ให้เราเชื่อคำพูดของชายสองคนนี้ คือจอห์น เพอร์กิ้นส์และซามูเอล ผู้ตระหนักว่าพระเจ้าทรงสามารถใช้ฤทธิ์เดชแห่งการกลับใจเพื่อเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นคนที่พระองค์ทรงใช้ได้เพื่อพระเกียรติของพระองค์

สำรวจดวงดาว

ในปี 2021 โดยความพยายามจากหลายประเทศได้นำไปสู่การส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากโลกกว่า 1.6 ล้านกิโลเมตรเพื่อทำการสำรวจจักรวาลให้ละเอียดขึ้น กล้องนี้จะส่องดูในอวกาศห้วงลึกและตรวจสอบดวงดาวและสิ่งมหัศจรรย์อื่นๆในท้องฟ้า

นี่คือเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ที่น่าทึ่ง และถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีก็จะทำให้เราได้รูปภาพและข้อมูลที่มหัศจรรย์ แต่ภารกิจของมันไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่จริงแล้ว ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์กล่าวถึงการสำรวจดวงดาวเมื่อท่านกล่าวว่า “จงแหงนหน้าขึ้นดูว่า ผู้ใดสร้างสิ่งเหล่านี้ พระองค์ผู้ทรงนำบริวารออกมาตามจำนวน” (อสย.40:26) “คืนแล้วคืนเล่า” ที่ดวงดาวเหล่านั้นกล่าวถึงองค์ผู้ทรงสร้างของเราผู้ทำให้จักรวาลอันกว้างใหญ่เกินความเข้าใจนี้เกิดขึ้น (สดด.19:2 TNCV) และในจักรวาลนั้นมีดวงส่องแสงนับไม่ถ้วนที่แต่งเติมความงดงามแก่ท้องฟ้ายามค่ำคืนอย่างเงียบๆ (ข้อ 3)

และคือพระเจ้าเองผู้ตัดสินว่าจะมีดวงส่องแสงกี่ดวงบนนั้น “พระองค์ทรงนับจำนวนดาว พระองค์ทรงตั้งชื่อมันทุกดวง” (สดด.147:4) เมื่อมนุษย์ส่งเครื่องตรวจอันซับซ้อนและน่าทึ่งออกไปสำรวจจักรวาล เราจึงได้ชื่นชมความอัศจรรย์อันน่าหลงใหลที่มันค้นพบ เพราะทุกการสำรวจล้วนชี้กลับไปยังองค์ผู้ทรงสร้างระบบสุริยะและทุกอย่างนอกเหนือจากนั้น ใช่แล้ว “ฟ้าสวรรค์ประกาศพระสิริของพระเจ้า” (19:1) รวมทั้งดวงดาวและทุกสิ่งด้วย

พลังแห่งการให้อภัย

มีรายงานข่าวในปี 2021 เกี่ยวกับมิชชันนารีสิบเจ็ดคนที่ถูกกลุ่มโจรลักพาตัวไป กลุ่มโจรขู่จะฆ่าพวกเขา (รวมทั้งเด็กๆ)หากไม่ได้รับค่าไถ่ตามที่เรียกร้อง ไม่น่าเชื่อว่ามิชชันนารีทั้งหมดถูกปล่อยตัวหรือหนีออกมาได้ เมื่ออยู่ในความปลอดภัยพวกเขาส่งข้อความไปถึงกลุ่มโจรว่า “พระเยซูทรงสอนเราด้วยคำพูดและโดยแบบอย่างของพระองค์เองว่า พลังแห่งความรักที่ให้อภัยนั้นเข้มแข็งกว่าความเกลียดชังที่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นพวกเราจึงขอยกโทษให้พวกคุณ”

พระเยซูทรงทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการให้อภัยนั้นมีพลัง พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านยกความผิดของเพื่อนมนุษย์ พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย” (มธ.6:14) ต่อมาพระองค์ทรงตอบเปโตรว่าเราควรให้อภัยกี่ครั้ง “เรามิได้ว่าเพียงเจ็ดครั้งเท่านั้น แต่เจ็ดครั้งคูณด้วยเจ็ดสิบ” (18:22; ดู ข้อ 21-35) และที่บนไม้กางเขน พระองค์ทรงสำแดงถึงการให้อภัยตามน้ำพระทัยพระเจ้าเมื่อทรงอธิษฐานว่า “พระบิดาเจ้าข้า ขอโปรดอภัยโทษเขาเพราะว่า เขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร” (ลก.23:34)

การให้อภัยที่สมบูรณ์จะเป็นที่ประจักษ์เมื่อทั้งสองฝ่ายก้าวสู่การเยียวยาและการคืนดี และแม้การยกโทษจะไม่ได้ลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือความจำเป็นที่จะต้องจัดการกับความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดและอ่อนแออย่างชาญฉลาด แต่การยกโทษจะนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ อันเป็นพยานถึงความรักและฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า ให้เราแสวงหาที่จะ “ยกโทษ” เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์

ทำไมทำเรื่องนี้

ขณะที่ผมกำลังช่วยโลแกนหลานชายที่อยู่ชั้นป. 6 ทำการบ้านพีชคณิตยากๆ เขาเล่าให้ผมฟังถึงความฝันที่จะเป็นวิศวกร หลังจากที่เรากลับมาหาวิธีการจัดการกับค่า x และ y ในการบ้านที่เขาได้รับมอบหมาย เขาถามว่า “ผมจะได้ใช้เรื่องนี้ตอนไหน”

ผมอดยิ้มไม่ได้และพูดว่า “โลแกน นี่คือสิ่งที่หลานจะต้องใช้จริงๆ ถ้าจะเป็นวิศวกร!” เขาไม่ได้ตระหนักถึงความเกี่ยวข้องระหว่างพีชคณิตกับอนาคตที่เขาคาดหวังบางครั้งเราก็มองพระคัมภีร์แบบนั้น เมื่อเราฟังคำเทศนาและอ่านพระคัมภีร์ตอนต่างๆ เราอาจคิดว่า “ฉันจะได้ใช้เรื่องนี้ตอนไหน” ดาวิดผู้เขียนพระธรรมสดุดีมีคำตอบบางประการ ท่านกล่าวว่าความจริงของพระเจ้าที่พบในพระคัมภีร์มีผลในการ “ฟื้นฟูจิตวิญญาณ” “ทำให้คนรู้น้อยมีปัญญา” และ “กระทำให้จิตใจเปรมปรีดิ์” (สดด.19:7-8) สติปัญญาของพระคัมภีร์ที่พบในพระธรรมห้าเล่มแรกตามที่กล่าวไว้ในสดุดี 19 (ตลอดจนพระคัมภีร์ทั้งหมด) ช่วยเราเมื่อเราพึ่งพาการทรงนำของพระวิญญาณในแต่ละวัน (สภษ.2:6)

และถ้าปราศจากพระคัมภีร์ เราจะขาดวิธีการสำคัญยิ่งยวดที่พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมไว้เพื่อให้เรามีประสบการณ์ในพระองค์ และรู้จักความรักและวิธีการของพระองค์ได้ดียิ่งขึ้น ทำไมต้องศึกษาพระคัมภีร์ เพราะ “พระบัญญัติของพระเจ้านั้นบริสุทธิ์ กระทำให้ดวงตากระจ่างแจ้ง” (สดด.19:8)

ชายผู้โดดเดี่ยวที่สุด

วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1969 นีล อาร์มสตรองและบัซซ์ อัลดรินก้าวออกจากยานที่ร่อนลงจอดบนดวงจันทร์และกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ได้เดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่เรามักไม่ค่อยนึกถึงบุคคลที่สามในทีมของพวกเขา นั่นคือ ไมเคิล คอลลินส์ ผู้เป็นคนขับยานบังคับการของยานอพอลโล 11

หลังจากที่เพื่อนร่วมทีมของเขาปีนบันไดลงไปเพื่อทดสอบพื้นผิวดวงจันทร์ คอลลินส์รออยู่ตามลำพังที่อีกด้านซึ่งไกลออกไปของดวงจันทร์ เขาขาดการติดต่อกับทั้งนีล บัซซ์และทุกคนบนโลก ศูนย์ควบควบขององค์การนาซ่ากล่าวว่า “ตั้งแต่อาดัมมาก็ไม่มีมนุษย์คนไหนรู้จักความโดดเดี่ยวเท่าไมค์ คอลลินส์เลย”

หลายครั้งเรารู้สึกโดดเดี่ยวอย่างมาก ลองนึกถึงความรู้สึกของโยเซฟบุตรชายของยาโคบดู เมื่อเขาถูกนำตัวจากอิสราเอลไปยังอียิปต์หลังจากที่ถูกพวกพี่ชายขาย (ปฐก.37:23-28) จากนั้นเขายิ่งถูกผลักสู่ความโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีกโดยการถูกขังในคุกด้วยข้อกล่าวหาเท็จ (39:19-20)

โยเซฟมีชีวิตรอดในคุกต่างแดนโดยไม่มีครอบครัวอยู่ใกล้เลยได้อย่างไร จงฟังข้อนี้ “ขณะที่โยเซฟจำคุกอยู่ พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเขา” (ข้อ 20-21) เราถูกย้ำเตือนถึงความจริงที่ปลอบประโลมนี้ถึงสี่ครั้งในปฐมกาล 39

คุณรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกแยกจากผู้อื่นหรือไม่ จงยึดมั่นในความจริงที่ว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ด้วย ตามที่พระเยซูเองได้ทรงสัญญาไว้ว่า “นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป” (มธ.28:20) คุณไม่เคยอยู่คนเดียว เมื่อคุณมีพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา