ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Dave Branon

ความหวังของเด็กคนหนึ่ง

ตอนที่เอลีอาน่าหลานสาวของฉันอายุเพียงแค่เจ็ดขวบ เธอได้ดูวิดีโอที่โรงเรียนเกี่ยวกับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในกัวเตมาลา เธอบอกแม่ว่า “เราต้องไปที่นั่นเพื่อช่วยพวกเขา” แม่ตอบเธอว่าพวกเราจะคิดถึงเรื่องนี้เมื่อหนูโตขึ้น

และเป็นไปตามที่คาด เอลีอาน่าไม่เคยลืม เมื่อเธออายุได้สิบขวบครอบครัวของเธอเดินทางไปช่วยที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนั้น สองปีต่อมาพวกเขากลับไปอีก คราวนี้พาครอบครัวอื่นจากโรงเรียนของเอลีอาน่าไปด้วย และเมื่อเอลีอาน่าอายุสิบห้าปี เธอกับพ่อไปรับใช้ที่กัวเตมาลาอีกครั้ง

บางครั้งเราคิดว่าความปรารถนาและความฝันของเด็กเล็กๆไม่จริงจังและสำคัญเท่ากับความปรารถนาของผู้ใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าพระคัมภีร์ไม่ได้บอกเช่นนั้น พระเจ้าทรงเรียกเด็กเล็กๆ ดังเช่นในกรณีของซามูเอล (1 ซมอ.3:4) พระเยซูทรงยกย่องความเชื่อของเด็กเล็กๆ (ลก.18:16-17) และเปาโลกล่าวว่าผู้เชื่อที่อ่อนอาวุโสไม่ควรปล่อยให้ผู้คนหมิ่นประมาทเพียงเพราะพวกเขา “ยังเยาว์วัย” (1 ทธ.4:12) ดังนั้นเราจึงถูกเรียกให้ชี้แนะบุตรหลานของเรา (ฉธบ.6:6-7; สภษ.22:6) โดยรู้ว่าความเชื่อของพวกเขาเป็นแบบอย่างแก่เราทุกคน (มธ.18:3) และเข้าใจว่าการกีดกันพวกเขาเป็นสิ่งที่พระคริสต์ทรงกล่าวห้าม (ลก.18:15)

เมื่อเราเห็นประกายแห่งความหวังในตัวเด็กๆ งานของเราในฐานะผู้ใหญ่คือช่วยโหมไฟแห่งความหวังนั้นให้ลุกโชน และเมื่อพระเจ้าทรงนำเรา จงหนุนใจพวกเขาให้อุทิศชีวิตในการวางใจในพระเยซูและปรนนิบัติรับใช้พระองค์

ผู้ทรงงดงาม

เป็นเวลากว่า 130 ปีแล้วที่หอไอเฟลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงอัจฉริยภาพและความงามทางสถาปัตยกรรมได้ตั้งตระหง่านอยู่เหนือกรุงปารีส ปารีสเองก็ยกย่องหอคอยนี้ด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เมืองงดงาม

แต่ในตอนที่กำลังสร้างหอคอยนี้ผู้คนมากมายกลับไม่ค่อยเห็นค่านัก เช่นที่นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดัง กีย์ เดอ โมปาสซ็องค์บอกว่ามันมี “รูปทรงผอมพิลึกพิลั่นเหมือนปล่องไฟโรงงาน” เขามองไม่เห็นความงามของมัน

พวกเราที่รักพระเยซูและมอบหัวใจให้พระองค์ทรงมาเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรานั้น มองว่าพระองค์ทรงงดงามจากสิ่งที่พระองค์เป็นและได้ทรงกระทำเพื่อเรา กระนั้นผู้เผยพระวจนะอิสยาห์กลับเขียนข้อความเหล่านี้ “ท่านไม่มีรูปร่างหรือความสวยงามซึ่งเราทั้งหลายจะมองท่าน และไม่มีความงามที่เราจะพึงปรารถนาท่าน” (53:2)

แต่พระเกียรติอันสูงส่งของสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อเรานั้น คือรูปแบบของความงามที่เที่ยงแท้และบริสุทธิ์ที่สุดที่มนุษย์จะรู้จักและสัมผัสได้ พระองค์ทรง “แบกความเจ็บไข้ของเราทั้งหลาย และหอบความเจ็บปวดของเราไป” (ข้อ 4) พระองค์ทรง “บาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้น ตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” (ข้อ 5)

เราจะไม่มีวันรู้จักใครที่งดงามและยิ่งใหญ่ได้เท่ากับพระองค์ผู้ทรงทนทุกข์เพื่อเราบนไม้กางเขน และรับโทษบาปของเราที่ไม่อาจบรรยายได้ไว้กับพระองค์เองผู้นั้นคือพระเยซู ผู้ทรงงดงาม ให้เราดำเนินชีวิตด้วยการมองที่พระองค์

การให้ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่

ในชมรมพระคัมภีร์หลังเลิกเรียนที่ซูภรรยาของผมรับใช้อยู่สัปดาห์ละครั้งนั้น มีการขอให้เด็กๆบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กในประเทศยูเครนซึ่งได้รับความเสียหายจากสงคราม หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ซูบอกเรื่องโครงการนี้้กับแม็กกี้หลานสาววัยสิบเอ็ดขวบของเรา เราก็ได้รับจดหมายที่ส่งไปรษณีย์มาจากเธอ จดหมายนั้นมีเงินอยู่ 3.45 ดอลล่าร์พร้อมกับข้อความว่า “เงินทั้งหมดที่หนูมีตอนนี้สำหรับเด็กในยูเครน แล้วหนูจะส่งมาให้อีกนะคะ”

ซูไม่ได้บอกให้แม็กกี้ช่วย แต่อาจเป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ทรงนำ และแม็กกี้ซึ่งรักพระเยซูและแสวงหาที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ได้ตอบสนองการทรงนำนั้น

เรื่องนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อย่างมากเมื่อคิดว่าของขวัญเล็กน้อยนี้มาจากหัวใจที่ยิ่งใหญ่ นี่เป็นภาพสะท้อนถึงคำสอนเรื่องการให้ของเปาโลใน 2 โครินธ์ 9 ประการแรก ท่านได้แนะนำว่าเราควรหว่าน “มาก” (ข้อ 6) แน่นอนว่าของขวัญแบบแม็กกี้ที่ให้ “ทั้งหมดที่มี” นั่นเป็นการให้ด้วยใจเอื้อเฟื้ออย่างมาก เปาโลเขียนอีกว่าของขวัญของเราควรให้ด้วยใจยินดีตามที่พระเจ้าทรงนำและตามที่เราให้ได้ ไม่ใช่เพราะเรา “ฝืนใจ” (ข้อ 7) และท่านยังได้กล่าวถึงความสำคัญของ “ของที่ให้แก่คนยากจน” (ข้อ 9) ด้วยการอ้างอิงถึงสดุดี 112:9

เมื่อโอกาสในการให้มาอยู่ตรงหน้า ขอให้เราทูลถามพระเจ้าว่าจะทรงให้เราตอบสนองอย่างไร เมื่อเราให้ด้วยใจกว้างขวางและด้วยใจยินดีกับผู้ที่ขัดสนตามที่พระองค์ทรงนำ เราก็ได้ให้ในแบบที่จะทำให้ “เกิดการขอบพระคุณพระเจ้า” (2 คร.9:11) ซึ่งเป็นการให้ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่

บอกเขาทั้งหลายถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ

บิล โทไบอัสเป็นเพื่อนผมสมัยเรียนวิทยาลัยที่ไปรับใช้เป็นมิชชันนารีบนเกาะในแปซิฟิกเป็นเวลาหลายปี เขาเล่าเรื่องชายหนุ่มคนหนึ่งที่จากบ้านเกิดเพื่อไปแสวงโชค แต่เพื่อนพาเขาไปคริสตจักรที่ซึ่งเขาได้ยินข่าวดีที่พระเยซูเสนอ และเขาได้เชื่อวางใจในพระคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด

ชายหนุ่มต้องการนำข่าวดีนี้ไปบอกกับพวกพ้องของตนที่ “จมอยู่กับเวทมนตร์คาถา” เขาจึงมองหามิชชันนารีที่จะไปประกาศกับคนเหล่านั้น แต่มิชชันนารีคนนั้นบอกให้เขาแค่ “ไปบอกพวกเขาว่าพระเจ้าทรงทำอะไรให้คุณ” (ดู มก.5:19) และนั่นคือสิ่งที่เขาทำ หลายคนในบ้านเกิดของเขาต้อนรับพระเยซู แต่ความก้าวหน้าครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อหมอผีประจำเมืองตระหนักว่าพระคริสต์ทรงเป็น “ทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต” (ยน.14:6) หลังจากที่เขาเชื่อในพระเยซู เขาก็บอกคนทั้งเมืองเรื่องพระองค์ ภายในเวลาสี่ปี คำพยานของชายหนุ่มคนหนึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งคริสตจักรเจ็ดแห่งในภูมิภาคนี้

ในพระธรรม 2 โครินธ์ เปาโลได้เริ่มแผนงานที่ชัดเจนในการนำข่าวประเสริฐไปสู่คนทั้งหลายที่ยังไม่รู้จักพระคริสต์ และแผนงานนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่มิชชันนารีบอกกับชายหนุ่มที่เชื่อในพระเยซู เราต้องเป็น “ทูตของพระคริสต์” คือเป็นตัวแทนของพระองค์ “โดยที่พระเจ้าทรงขอร้องท่านทั้งหลายทางเรา” (5:20) ผู้เชื่อทุกคนมีเรื่องราวเฉพาะตัวที่จะบอกว่าพระเยซูทรงทำให้พวกเขา “ถูกสร้างใหม่แล้ว...ทรงให้เราคืนดีกันกับพระองค์” (ข้อ 17-18) ขอให้เราบอกกับคนอื่นว่าพระองค์ทรงทำอะไรบ้างเพื่อเรา

การทรงสถิตของพระเจ้า

โมนิคกำลังมีปัญหา เธอมีเพื่อนที่เชื่อในพระเยซูและเธอเคารพวิธีที่พวกเขาจัดการกับปัญหาในชีวิต เธอรู้สึกอิจฉาพวกเขาด้วยซ้ำ แต่โมนิคไม่คิดว่าเธอจะสามารถใช้ชีวิตแบบพวกเขาได้ เธอคิดว่าการเชื่อในพระคริสต์นั่นคือการทำตามกฎเกณฑ์ ในที่สุดเพื่อนร่วมชั้นเรียนช่วยให้เธอเห็นว่าพระเจ้าไม่ได้จะทำลายชีวิตเธอ แต่พระองค์ทรงต้องการให้เธอได้รับสิ่งที่ดีที่สุดทั้งในช่วงเวลาที่ชีวิตดีหรือในยามที่มีปัญหา เมื่อเธอเข้าใจเรื่องนี้แล้ว โมนิคก็พร้อมที่จะวางใจให้พระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเธอ และยอมรับความจริงอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความรักของพระเจ้าที่มีต่อเธอ 

กษัตริย์ซาโลมอนอาจให้คำแนะนำที่คล้ายกันนี้แก่โมนิค พระองค์ตระหนักว่าโลกนี้มีความทุกข์อยู่ แน่ทีเดียว “มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง” (ปญจ.3:1) “มีวาระไว้ทุกข์ และวาระเต้นรำ” (ข้อ 4) แต่ยังมีมากกว่านั้น คือพระเจ้า “ทรงบรรจุนิรันดร์กาลไว้ในจิตใจของมนุษย์” (ข้อ 11) นิรันดร์กาลหมายถึงการมีชีวิตอยู่ในการทรงสถิตของพระองค์

โมนิคได้ชีวิต “อย่างครบบริบูรณ์” เมื่อเธอวางใจในพระองค์ ดังที่พระเยซูตรัส (ยน.10:10) แต่เธอได้รับมากยิ่งกว่านั้นอีก! โดยผ่านทางความเชื่อแล้ว “นิรันดร์กาลในจิตใจ [ของเธอ]” (ปญจ.3:11) ได้กลายเป็นพระสัญญาแห่งอนาคตเมื่อความทุกข์ในชีวิตจะถูกลืมไป (อสย.65:17) และการทรงสถิตอันเต็มด้วยสง่าราศีของพระเจ้าจะเป็นความจริงนิรันดร์

ของประทานแห่งพระคุณของพระเจ้า

ขณะที่กำลังให้คะแนนรายงานอีกกองหนึ่งจากชั้นเรียนวิชาการเขียนของมหาวิทยาลัยที่ผมสอนนั้น ผมเกิดความประทับใจกับรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเขียนได้ดีมาก แต่ไม่นานนักผมก็รู้ว่าเป็นงานเขียนที่ดีเกินไป และแน่นอนจากการสืบค้นดูเพียงเล็กน้อยก็พบว่า รายงานฉบับนั้นถูกคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลออนไลน์

ผมส่งอีเมลไปหานักศึกษาคนนั้นเพื่อให้เธอรู้ว่าผมรู้กลโกงของเธอแล้ว เธอได้คะแนนเป็นศูนย์ในรายงานฉบับนั้น แต่เธออาจเขียนรายงานฉบับใหม่เพื่อ จะได้คะแนนบางส่วน นักศึกษาคนนั้นตอบว่า “หนูรู้สึกละอายและเสียใจมากค่ะ หนูขอบคุณที่อาจารย์แสดงความกรุณาต่อหนู ที่หนูไม่สมควรได้รับ” ผมตอบเธอไปว่าเราทุกคนได้รับพระกรุณาคุณจากพระเจ้าทุกวัน ดังนั้นผมจะปฏิเสธการแสดงความกรุณากับเธอได้อย่างไร

มีหลายวิธีที่พระคุณของพระเจ้าแก้ไขชีวิตของเราให้ดีขึ้นและปลดปล่อยเราออกจากความผิดพลาดที่เราทำ เปโตรบอกว่าพระคุณนั้นให้ความรอดแก่เรา “แต่เราเชื่อว่า เราเองก็รอดโดยพระคุณของพระเยซูคริสตเจ้าเหมือนอย่างเขา” (กจ.15:11) เปาโลกล่าวว่าพระคุณช่วยให้เราไม่อยู่ภายใต้อำนาจของบาป “เพราะว่าบาปจะครอบงำท่านทั้งหลายต่อไปก็หามิได้ เพราะว่าท่านทั้งหลายมิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ แต่อยู่ใต้พระคุณ” (รม.6:14) และยังมีที่เปโตรกล่าวว่าพระคุณทำให้เรารับใช้ผู้อื่น “ตามซึ่งทุกคนได้รับของประทานที่ทรงประทานให้แล้ว...เป็นผู้รับมอบฉันทะที่ดี ที่แจกและสำแดงพระคุณนานาประการของพระเจ้า” (1 ปต. 4:10)

พระคุณนั้นพระเจ้าโปรดประทานให้เราเปล่าๆ(อฟ.4:7) ขอให้เราใช้ของประทานนี้เพื่อที่จะรักและหนุนใจผู้อื่น

สามัคคีธรรมในพระเยซู

ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนรับผิดชอบในการปิดไฟและล็อกประตูคริสตจักรหลังการนมัสการเช้าวันอาทิตย์ แต่ผมรู้อย่างหนึ่งคือ อาหารเย็นวันอาทิตย์ของเขาจะล่าช้าออกไป นั่นเป็นเพราะคนจำนวนมากชอบที่จะใช้เวลาหลังเลิก
คริสตจักรพูดคุยเรื่องราวในชีวิตกัน ทั้งปัญหาทางใจกับเรื่องที่ต้องฟันฝ่า ตลอดจนเรื่องอื่นๆ นี่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้มองไปรอบๆสัก 20 นาทีหลังเลิกนมัสการและได้เห็นผู้คนมากมายยังคงเพลิดเพลินกับการใช้เวลาด้วยกัน

การสามัคคีธรรมเป็นกุญแจสำคัญของชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ หากไม่มีการเชื่อมสัมพันธ์กันผ่านการใช้เวลากับเพื่อนร่วมความเชื่อ เราจะพลาดโอกาสในการได้รับประโยชน์มากมายจากการเป็นผู้เชื่อ

ตัวอย่างเช่น เปาโลกล่าวว่าเราสามารถ “หนุนใจกันและต่างคนต่างจงก่อกันขึ้น” (1 ธส.5:11) ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูเห็นพ้องด้วย โดยบอกเราว่าอย่าละเลยการพบปะกัน เพราะเราต้อง “หนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น” (10:25) และยังกล่าวอีกด้วยว่าเมื่ออยู่ด้วยกันเรา “จะปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 24)

ในฐานะผู้ที่ถวายตัวเพื่อพระเยซู เมื่อเรา “หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ ชูกำลังคนที่อ่อนกำลัง” และ “มีใจอดเอาเบาสู้ต่อคนทั้งปวง” (1ธส.5:14) เราก็ได้เตรียมพร้อมในความสัตย์ซื่อและการรับใช้ เมื่อเราดำเนินชีวิตในทางนั้นโดยมีพระองค์ทรงช่วยเรา เราก็จะได้มีความสุขกับการมีสามัคคีธรรมที่แท้จริงและได้ “ทำดีเสมอต่อพวกท่านเอง และต่อคนทั้งปวงด้วย” (ข้อ 15)

เท่าเทียมกันในสายพระเนตรพระเจ้า

ในช่วงวันหยุดพักร้อน ผมกับภรรยาเพลิดเพลินกับการขี่จักรยานในตอนเช้าตรู่ เส้นทางหนึ่งพาเราผ่านย่านที่มีบ้านราคาหลายล้านดอลล่าร์ เราได้เห็นผู้คนมากหน้าหลายตา มีทั้งผู้อาศัยที่พาสุนัขไปเดินเล่น เพื่อนนักขี่จักรยาน และคนงานจำนวนมากที่กำลังสร้างบ้านหลังใหม่หรือบำรุงรักษาภูมิทัศน์ให้ดูดี นี่เป็นการผสมผสานผู้คนที่มีเส้นทางชีวิตอันหลากหลายและทำให้ผมได้ตระหนักถึงความจริงอันล้ำค่า คือไม่มีการแบ่งแยกอย่างแท้จริงในพวกเรา คนรวยหรือคนจน เศรษฐีหรือชนชั้นแรงงาน เป็นที่รู้จักหรือไม่มีใครรู้จัก เราทุกคนที่อยู่บนถนนในเช้าวันนั้นล้วนเหมือนกัน “คนมั่งคั่งและยากจนประชุมพร้อมกัน พระเจ้าทรงสร้างเขาทั้งสิ้น” (สภษ.22:2) แม้จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่เราทุกคนต่างถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า (ปฐก.1:27)

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ การเท่าเทียมกันในสายพระเนตรพระเจ้ายังหมายความว่า ไม่ว่าเราจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม หรือเชื้อชาติแบบใด เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับความบาป “เพราะว่าทุกคนทำบาป และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า” (รม.3:23) เราทุกคนไม่เชื่อฟังและมีความผิดอย่างเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระองค์ และเราต้องการพระเยซู

เรามักจะแบ่งผู้คนออกเป็นกลุ่มๆด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และแม้ว่าเราจะอยู่ในสถานภาพเดียวกันคือเป็นคนบาปที่ต้องการพระผู้ช่วยให้รอด เราก็สามารถเป็น “ผู้ชอบธรรม โดยไม่คิดมูลค่า” (ถูกทำให้ชอบธรรมโดยพระเจ้า) โดยพระคุณของพระองค์ (ข้อ 24)

นามบัตรและคำอธิษฐาน

หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งเป็นหม้ายเมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีความกังวลใจ เธอต้องใช้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่พรากชีวิตของสามีเธอไปเพื่อจะรับเงินจากบริษัทประกัน เธอได้คุยกับตำรวจคนหนึ่งที่ตกลงว่าจะช่วยเธอ แต่เธอทำนามบัตรของเขาหาย เธอจึงอธิษฐานวิงวอนขอพระเจ้าช่วย และไม่นานจากนั้นขณะเธออยู่ที่โบสถ์และกำลังเดินผ่านหน้าต่าง เธอก็เห็นนามบัตรของตำรวจคนนั้นอยู่ตรงขอบหน้าต่าง เธอไม่รู้ว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร แต่เธอรู้ว่า เพราะอะไร

เธอจริงจังในการอธิษฐาน ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น พระคัมภีร์บอกว่าพระเจ้าทรงฟังคำทูลขอของเรา เปโตรกล่าวว่า “พระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้าเฝ้าดูคนชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับคำอ้อนวอนของเขา” (1 ปต.3:12)

พระคัมภีร์ยกตัวอย่างถึงการที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐาน หนึ่งในนั้นคือเฮเซคียาห์กษัตริย์แห่งยูดาห์ผู้ทรงประชวร พระองค์ได้รับคำทำนายจากอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะว่าจะทรงสิ้นพระชนม์ กษัตริย์ทรงรู้ว่าควรทำอย่างไร พระองค์ทรง “อธิษฐานต่อพระเจ้า” (2 พกษ.20:2) ทันใดนั้นพระเจ้าตรัสกับอิสยาห์ให้ไปบอกกับกษัตริย์ว่า “เราได้ยินคำอธิษฐานของเจ้าแล้ว” (ข้อ 5) และเฮเซคียาห์ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาอีกสิบห้าปี

พระเจ้าไม่ได้ตอบคำอธิษฐานเหมือนเรื่องนามบัตรบนขอบหน้าต่างเสมอไป แต่พระองค์ทรงยืนยันกับเราว่าในยามยากลำบากนั้น เราไม่ได้เผชิญมันเพียงลำพัง พระเจ้าทรงมองเห็นเราและทรงอยู่กับเรา และทรงฟังคำอธิษฐานของเรา

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา