ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Dave Branon

น้องสาวตระกูลไรท์

คนส่วนมากรู้จักพี่น้องตระกูลไรท์คือออร์วิลล์และวิลเบอร์ผู้คิดค้น สร้างและประสบความสำเร็จในการบินเครื่องบินลำแรกในช่วงต้นทศวรรษ 1900 แต่มีน้อยคนที่รู้จักแคทเธอรีน ไรท์ ถึงกระนั้นเธอก็มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของพี่ชายในการสร้างเครื่องบิน ขณะที่พวกพี่ชายของเธอคร่ำเคร่งอยู่กับรายละเอียดและการทดลองมากมายที่นำไปสู่งานประดิษฐ์ของพวกเขา แคทเธอรีนเลือกที่จะช่วยพวกเขาอย่างเงียบๆด้วยความรัก เธอคอยดูแลกิจการร้านจักรยาน (แหล่งรายได้ของพี่ชาย) ลาออกจากการเป็นครูเพื่อพยาบาลออร์วิลล์ให้หายดีหลังจากเครื่องบินตก และบริหารจัดการรายละเอียดที่ไม่รู้จบหลังจากที่พี่ชายของเธอมีชื่อเสียงมากขึ้น

การสนับสนุนผู้อื่นนั้นมีคุณค่าที่พบได้ในพระคัมภีร์เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งคือเฟบีที่เปาโลกล่าวถึงว่า “ได้ช่วยสงเคราะห์คนหลายคน” (รม.16:2) และปริสคากับอาควิลลาคู่สามีภรรยาที่ปรากฏในงานเขียนของเปาโล ซึ่งเปิดบ้านเพื่อรองรับและช่วยเหลือพันธกิจของเปาโลจนถึงขั้น “เสี่ยงชีวิตของเขาเพื่อป้องกันชีวิต” ของท่าน (ข้อ 4) นอกจากนี้อัครทูตยังชื่นชมมาระโกว่า “เขาช่วยปรนนิบัติข้าพเจ้าได้เป็นอย่างดี” (2 ทธ.4:11)

เราสามารถเป็นพี่น้องในพระคริสต์ที่ดีได้โดยการรับใช้ผู้อื่น พันธกิจของพระเจ้าจำเป็นต้องมีผู้ช่วยอย่างเฟบีและพวกเรา ซึ่งได้รับการทรงนำจากพระเจ้าให้รับใช้ด้วย “ใจถ่อมถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว อย่า...เห็นแก่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆด้วย” (ฟป.2:3-4)

เข้าใจพระคัมภีร์

พระคัมภีร์นั้นสำคัญเพียงใด พระคัมภีร์สำคัญมากจนผู้คนในหลายประเทศยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อแปลเป็นภาษาของพวกเขา บ่อยครั้งคนธรรมดาเหล่านี้ที่เชื่อในพระเยซูต้องถูกจับกุมเพราะแปลพระวจนะคำให้เป็นภาษาที่คนอื่นๆสามารถเข้าใจได้

นักแปลหญิงคนหนึ่งในประเทศที่ต่อต้านผู้เชื่อในพระเยซูกล่าวว่า “ฉันต้องทำงานนี้ให้สำเร็จ ฉันต้องการเห็นคนที่ฉันรักได้รับความรอดในพระคริสต์” และชายคนหนึ่งที่ดูแลจัดการให้ประชาชนทั่วไปลักลอบแปลพระคัมภีร์อธิบายว่า พระคัมภีร์เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเติบโตเป็นผู้เชื่อที่เข้มแข็งในคริสตจักรท้องถิ่น “คุณเริ่มคริสตจักรได้ แต่...(หากไม่มี)พระคัมภีร์ในภาษาของพวกเขาแล้ว คริสตจักรจะอยู่รอดได้แค่เพียงคนในรุ่นเดียวเท่านั้น”

เหตุที่พวกเขาต้องทำสิ่งนี้ ก็เพราะไม่มีหนังสือเล่มใดเหมือนพระคัมภีร์ การดำรงอยู่ของพระคัมภีร์มาตลอดหลายศตวรรษเป็นสิ่งที่พิเศษ ความจริงแท้ของพระคัมภีร์และการสำแดงถึงหัวใจของมนุษย์นั้นถูกต้องแม่นยำ พระคัมภีร์นั้น “ไม่ตายและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ...และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย” (ฮบ.4:12) และ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า” ( 2 ทธ.3:16) และสำคัญที่สุด พระคัมภีร์เปิดเผยต้นกำเนิดและความจริงแห่ง “ความรอดได้โดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์” (ข้อ 15)

ขอให้เราอ่าน ยึดมั่น และดำเนินชีวิตตามพระคัมภีร์ และเมื่อพระเจ้าทรงเปิดหนทาง ขอให้เราช่วยผู้คนทั่วโลกให้ได้รับและเข้าใจในพระคัมภีร์

ความจริงอันเรียบง่าย

เมื่อผมกับภรรยาไปขี่จักรยาน เรามักจะอยากรู้ว่าปั่นไปแล้วเป็นระยะทางเท่าไหร่ ผมจึงไปซื้อเครื่องวัดระยะทางจากร้านจักรยาน และกลับมาบ้านพร้อมกับคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วที่ผมพบว่าการตั้งค่านั้นค่อนข้างจะซับซ้อนไปหน่อย

ผมย้อนกลับไปที่ร้านจักรยาน คนที่ขายเครื่องให้ผมทำให้มันใช้งานได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผมจึงได้รู้ว่าการทำความเข้าใจวิธีใช้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

ในชีวิตของเรานั้นสิ่งใหม่ๆหรือแนวคิดใหม่ๆอาจดูซับซ้อน เช่นการคิดถึงเรื่องความรอด บางคนอาจคิดว่าการมาเป็นลูกของพระเจ้าเป็นเรื่องซับซ้อน

กระนั้น พระคัมภีร์อธิบายไว้อย่างเรียบง่ายว่า “จงเชื่อและวางใจในพระเยซูเจ้า และท่านจะรอดได้” (กจ.16:31) ไม่มีกฎที่ต้องทำตามหรือปริศนาที่ต้องไข

ความจริงอันเรียบง่ายก็คือ เราทุกคนเป็นคนบาป (รม.3:23) พระเยซูทรงเข้ามาในโลกเพื่อช่วยเราจากโทษของความบาป คือความตายและการแยกจากพระองค์ชั่วนิรันดร์ (มธ.1:21; 1ปต.2:24) พระองค์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย (รม.10:9) และเรารอดพ้นจากความตายฝ่ายวิญญาณไปสู่ชีวิตนิรันดร์โดยการวางใจในสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อเรา (ยน.3:16)

ขอให้คุณพิจารณาว่าการเชื่อและวางใจในพระเยซูอย่างง่ายๆจะมีความหมายต่อคุณอย่างไร จงยอมให้พระองค์ประทาน “ชีวิต...[ที่ ]ครบบริบูรณ์” แก่คุณ (ยน.10:10)

ชอบธรรมโดยพระเยซู

“เราพร้อมจะให้ขึ้นเครื่องไปยังอ่าวมอนเตโกแล้ว” เสียงประกาศดังขึ้น ผมมาเป็นวิทยากรและผู้นำให้กับกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่ไปประกาศข่าวประเสริฐที่จาไมก้า ผมล้วงเข้าไปในกระเป๋าเป้สะพายหลังเพื่อหยิบบัตรผ่านขึ้นเครื่องและหนังสือเดินทาง แต่ต้องใจหายวาบ หนังสือเดินทางของผมหาย!

กลุ่มของเราขึ้นเครื่องไปโดยไม่มีผม และผมต้องดิ้นรนพยายามอยู่สี่วันเพื่อทำหนังสือเดินทางใหม่ หลังจากต้องโทรศัพท์หลายร้อยสาย เดินทางไปกรุงวอชิงตันโดยไม่ได้อะไรคืบหน้า ขับรถกลับไปยังเมืองแกรนด์แรพพิดส์ รัฐมิชิแกน สองวันในเมืองใกล้ๆ และความช่วยเหลือจากสำนักงานสมาชิกสภาผู้แทนฯในท้องถิ่น ในที่สุดผมจึงได้หนังสือเดินทางใหม่และตามไปร่วมกลุ่มในจาเมก้าได้

หนังสือเดินทาง หนังสือเล่มเล็กๆแต่เป็นเครื่องรับประกันเพียงอย่างเดียวที่ผมมีในที่ที่ผมต้องการไป แม้ผมจะใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้เอกสารใหม่นั้นมา แต่คุณค่าของมันเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่จะกำหนดจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของเรา นั่นคือความเชื่อวางใจในพระเยซู ซึ่งเป็นหลักประกันเดียวว่าเราได้รับความรอดจากบาปและชีวิตใหม่ในพระองค์

พระคัมภีร์กล่าวว่า “บัดนี้​เป็น​วัน​แห่ง​ความ​รอด” (2 คร.6:2) เปาโลกำลังบรรยายถึงความจริงที่ว่ารุ่งอรุณแห่งความรอดมาถึงแล้วโดยพระคริสต์ การเชื่อในพระองค์จะทำให้เราได้มีประสบการณ์ในความรักของพระเจ้า และพระราชกิจแห่งการทรงไถ่และการฟื้นฟูสรรพสิ่งที่ทรงสร้างทั้งปวง ในวันนี้ให้เราตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความหมายของการ “ได้​เป็น​คน​ชอบธรรม​ของ​พระ​เจ้า​ทาง[พระ​คริสต์ ]” (5:21)

ชื่อเสียงดีเพื่อพระคริสต์

สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา ชาร์ลี วอร์ดาเป็นนักกีฬาในสองประเภท ในปีค.ศ. 1993 ควอเตอร์แบ็กหนุ่มคนนี้ได้รับรางวัลไฮส์แมนโทร-ฟี่ในฐานะนักอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ และเขายังเป็นดาวเด่นในทีมบาสเกตบอลอีกด้วย

วันหนึ่งในระหว่างการพูดคุยก่อนการแข่งขัน โค้ชบาสเกตบอลของเขาใช้ภาษาที่ไม่สุภาพขณะพูดคุยกับผู้เล่น เขาสังเกตเห็นว่าชาร์ลี “มีท่าทีอึดอัด” จึงพูดว่า “มีอะไรหรือเปล่าชาร์ลี” ชาร์ลีกล่าวว่า “โค้ชครับ คือว่า โค้ชโบว์เดน [โค้ชฟุตบอล] ไม่ได้ใช้ภาษาแบบนั้น และเขาก็ทำให้เราเล่นกันอย่างเต็มที่”

ลักษณะที่เหมือนพระคริสต์ของชาร์ลีทำให้เขาพูดคุยอย่างสุภาพกับโค้ชบาสเกตบอลเกี่ยวกับปัญหานี้ได้ จริงๆแล้ว โค้ชบอกนักข่าวว่า เวลาที่เขาคุยกับชาร์ลีนั้น “มันราวกับว่ามีทูตสวรรค์กำลังมองมาที่คุณ”

ชื่อเสียงที่ดีในหมู่ผู้ไม่เชื่อและคำพยานที่สัตย์ซื่อในเรื่องพระคริสต์นั้นยากที่จะรักษาไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราผู้เชื่อในพระเยซูสามารถเป็นเหมือนพระองค์ได้มากขึ้นโดยมีพระองค์ทรงคอยช่วยเหลือและนำทางเรา ในทิตัส 2 บอกให้ชายหนุ่มและรวมถึงผู้เชื่อทุกคน “ ให้รู้จักควบคุมตนเอง ” (ข้อ 6 TNCV) และให้ “สำแดงความซื่อตรง...และถ้อยคำอันมีหลักซึ่งไม่มีใครตำหนิได้” (ข้อ 7-8 TNCV)

เมื่อเราดำเนินชีวิตเช่นนั้นด้วยกำลังของพระคริสต์ เราจะไม่เพียงถวายเกียรติแด่พระองค์เท่านั้น แต่ยังสร้างชื่อเสียงที่ดีด้วย แล้วเมื่อพระเจ้าทรงประทานสติปัญญาที่เราต้องการ คนอื่นจึงจะยอมฟังในสิ่งที่เราพูด

พูดกับผู้อื่นเรื่องพระเยซู

เปาโลไปที่พระวิหารเพื่อร่วมพิธีชำระตัวของพวกยิว (กจ.21:26) แต่พวกยุแหย่บางคนที่คิดว่าท่านสอนผิดธรรมบัญญัติหาทางจะฆ่าท่าน (ข้อ 31) พวกทหารโรมันมาถึงอย่างรวดเร็วและจับกุมเปาโล มัดท่าน และพาตัวท่านออกจากบริเวณพระวิหาร โดยมีฝูงชนตะโกนว่า “จงเอาเขาไปฆ่าเสีย” (ข้อ 36)

อัครทูตเปาโลมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการคุกคามนี้ ท่านถามผู้บังคับบัญชากองทหารว่าให้ท่าน “พูดกับคนทั้งปวง” ได้หรือไม่ (ข้อ 39) เมื่อผู้นำโรมันอนุญาต เปาโลซึ่งมีเลือดไหลและมีแผลฟกช้ำจึงหันไปหาฝูงชนที่โกรธแค้นและเล่าให้พวกเขาฟังถึงความเชื่อที่ท่านมีในพระเยซู (22:1-16)

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสองพันปีก่อน เป็นเรื่องเก่าแก่ในพระคัมภีร์ที่เราอาจเข้าถึงได้ยาก เมื่อไม่นานมานี้มีชายคนหนึ่งชื่อปีเตอร์ถูกจับขณะไปเยี่ยมเพื่อนคริสเตียนที่ถูกจำคุกในประเทศที่มีการข่มเหงผู้เชื่อเกิดขึ้นอยู่เสมอ ปีเตอร์ถูกจับโยนเข้าไปในห้องขังที่มืดและถูกปิดตาระหว่างการสอบสวน เมื่อผ้าปิดตาถูกเปิดออก เขาเห็นทหารสี่นายถือปืนเล็งมาที่เขา ปีเตอร์ทำอย่างไร เขามองว่านี่คือ “โอกาสเหมาะที่สุด...ที่จะเล่าเรื่องความเชื่อของเขา”

เปาโลและคนในยุคปัจจุบันเช่นปีเตอร์ได้ชี้ให้เห็นความจริงที่สำคัญยิ่งและไม่อาจปฏิเสธได้ ถึงแม้พระเจ้าจะทรงอนุญาตให้เราพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือแม้แต่การกดขี่ข่มเหง แต่หน้าที่ของเรายังคงอยู่ คือการ “ประกาศข่าวประเสริฐ” (มก.16:15) พระองค์จะทรงอยู่กับเราและจะประทานให้เรามีสติปัญญาและฤทธิ์เดชเพื่อเล่าถึงความเชื่อของเรา

วิ่งเพื่อพระเยซู

เมื่อพูดถึงการวิ่ง 100 เมตร คนมักจะคิดถึงยูเซน โบลต์เจ้าของสถิติโลกคนปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถลืมจูเลีย “เฮอริเคน” ฮอว์กินส์ได้ ในปี 2021 จูเลียวิ่งเข้าเส้นชัยก่อนนักวิ่งคนอื่นๆ และคว้าชัยชนะในการวิ่ง 100 เมตรในการแข่งขันกีฬาอาวุโสหลุยส์เซียน่า เมื่อเทียบกับโบลต์ซึ่งทำสถิติไว้ที่ 9.58 วินาที จูเลียอาจจะช้ากว่าเขาแค่ 60 วินาที แต่เธอมีอายุ 105 ปี!

ยังมีเรื่องน่าชื่นชมอีกมากถึงผู้หญิงในวัยเดียวกับเธอซึ่งยังคงลงวิ่งแข่ง และยังมีเรื่องน่าชื่นชมอีกมากมายเกี่ยวกับผู้เชื่อที่ไม่เคยหยุดวิ่งแข่งโดยมีเป้าหมายอยู่ที่พระเยซู (ฮบ.12:1-2) ผู้เขียนสดุดีกล่าวถึงผู้ที่มีความสัตย์ซื่อในบั้นปลายของชีวิตว่า “คนชอบธรรมก็งอกขึ้นอย่างต้นอินทผลัม...มันแก่แล้วก็ยังเกิดผล มันมีน้ำเลี้ยงเต็มและเขียวสดอยู่” (92:12-14)

ผู้เชื่อสูงวัยที่ต้องการมีชีวิตตามมาตรฐานนี้สามารถค้นหาคำสอนเพิ่มเติมได้จากจดหมายของอัครทูตเปาโลที่เขียนถึงทิตัสว่า ชายสูงวัยจะต้อง “มีความเชื่อ ความรัก และความอดทนตามสมควร” (ทต.2:2) ขณะที่หญิงสูงวัยจะต้องเป็น “ผู้สอนสิ่งที่ดีงาม” (ข้อ 3)

ไม่มีการเรียกร้องให้ผู้เชื่อที่สูงวัยหยุดวิ่งในการแข่งขัน การวิ่งในที่นี้อาจไม่ใช่ในแบบเดียวกับจูเลีย แต่เป็นการวิ่งในลักษณะที่ถวายเกียรติพระเจ้าด้วยกำลังที่พระองค์ประทานให้ ขอให้เราทุกคนวิ่งแข่งเพื่อจะรับใช้พระองค์และรับใช้ผู้อื่น

การปกป้องของพระเจ้า

ผมกับภรรยาปั่นจักรยานเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์ต่อปีบนเส้นทางรอบมิชิแกนฝั่งตะวันตก และเราได้ติดอุปกรณ์เสริมที่จักรยานเพื่อประสบการณ์ในการขี่ที่ดียิ่งขึ้น ซูมีไฟหน้า ไฟท้าย มาตรวัดระยะทาง และตัวล็อกจักรยาน ส่วนผมมีที่วางขวดน้ำ ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถขี่จักรยานไปบนเส้นทางนั้นได้ทุกวันในระยะทางเท่าเดิมโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมเหล่านี้เลย มันมีประโยชน์ก็จริงแต่ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่จำเป็น

ในพระธรรมเอเฟซัส อัครทูตเปาโลเขียนถึงอุปกรณ์เสริมอีกชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเลือกแต่เป็นสิ่งจำเป็น ท่านกล่าวว่าเราต้อง “สวม” สิ่งเหล่านี้เพื่อเราจะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อในพระเยซู ชีวิตของเราไม่ใช่เรื่องง่าย เรากำลังอยู่ในสงครามที่ต้อง “ต่อต้านยุทธอุบายของพญามาร” (6:11) ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม

หากปราศจากสติปัญญาจากพระคัมภีร์ เราอาจถูกชักจูงให้โอนอ่อนกับข้อผิดพลาด หากไม่มีพระเยซูคอยช่วยเราให้ดำเนินชีวิตตาม “ความจริง” ของพระองค์ เราก็จะพ่ายแพ้แก่คำโกหก (ข้อ 14) หากไม่มี “ข่าวประเสริฐ” เราก็ขาด “สันติสุข” (ข้อ 15) หากไม่มี “ความเชื่อ” เป็นโล่ที่คอยปกป้องเรา เราก็จะถูกความสงสัยโจมตี (ข้อ 16) “ความรอด” และพระวิญญาณบริสุทธิ์จะช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีเพื่อพระเจ้าได้ (ข้อ 17) และทั้งหมดนี้คือชุดเกราะของเรา

เราจำเป็นต้องเดินไปบนเส้นทางแห่งชีวิตโดยมีสิ่งที่คอยปกป้องเราจากอันตราย เราจะเป็นเช่นนั้นได้เมื่อพระคริสต์ทรงเตรียมเราให้พร้อมสำหรับความท้าทายในระหว่างเส้นทาง ด้วยการ “สวม” ยุทธภัณฑ์ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้

ไม่ใช่คนต่างด้าวต่างแดนอีกต่อไป

“เธอไม่ใช่คนที่นี่” คำพูดเหล่านั้นทำร้ายหัวใจของเด็กหญิงวัยแปดขวบ และเธอยังรู้สึกเจ็บปวดอยู่ ครอบครัวของเธออพยพจากค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศที่ถูกทำลายจากสงครามไปยังประเทศใหม่ และบัตรตรวจคนเข้าเมืองของเธอมีคำว่า คนต่างด้าว ประทับอยู่ เธอรู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน

เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แม้ว่าเธอจะเชื่อในพระเยซูแต่เธอยังคงรู้สึกแปลกแยก ถูกทิ่มแทงด้วยความรู้สึกว่าเธอเป็นคนนอกที่ไม่ได้รับการต้อนรับ ขณะอ่านพระคัมภีร์ เธอพบพระสัญญาในเอเฟซัสบทที่ 2 และในข้อ 12 เธอเห็นคำว่า คนต่างด้าว คำเก่าๆที่ทำให้เจ็บปวด “จงระลึกว่าครั้งนั้นท่านแยกจากพระคริสต์ ไม่ได้เป็นพลเมืองอิสราเอลและเป็นคนต่างด้าวอยู่นอกพันธสัญญาที่ทรงสัญญาไว้ ไม่มีความหวังและอยู่ในโลกโดยปราศจากพระเจ้า” (อฟ.2:12 TNCV) แต่ขณะที่อ่านต่อไป เธอได้รู้ว่าการเสียสละของพระคริสต์เปลี่ยนสถานะของเธออย่างไร เธออ่านข้อ 19 ซึ่งบอกเธอว่า “เหตุฉะนั้นท่านจึงไม่ใช่ คนต่างด้าวต่างแดนอีกต่อไป” เธอเป็น “พลเมืองเดียวกัน” กับธรรมิกชนของพระเจ้า เมื่อตระหนักว่าเธอเป็นพลเมืองสวรรค์เธอจึงเต็มไปด้วยความชื่นชมยินดี เธอจะไม่ใช่คนนอกอีกต่อไป พระเจ้าทรงรับเธอเข้ามาและทรงยอมรับเธอ

เพราะบาปของเรา เราจึงเหินห่างจากพระเจ้า แต่เราไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างนั้น พระเยซูทรงนำสันติสุขมาสู่ทุกคนที่ “อยู่ไกล” (ข้อ 17) ทำให้ทุกคนที่ไว้วางใจในพระองค์ได้เป็นพลเมืองเดียวกันในอาณาจักรนิรันดร์ของพระองค์ คือเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะพระกายของพระคริสต์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา