ผุพังจากภายใน
ตอนที่ฉันเป็นวัยรุ่น แม่ได้วาดภาพไว้บนผนังห้องนั่งเล่นในบ้านของเราซึ่งยังคงอยู่ที่นั่นต่อมาอีกหลายปี ภาพนั้นเป็นภาพวิหารกรีกโบราณที่ปรักหักพัง มีเสาหินสีขาวกองอยู่ข้างๆกับแท่นน้ำพุและรูปปั้นที่แตกหัก ขณะมองภาพสถาปัตยกรรมกรีกในยุคเฮลเลนิสติกที่ครั้งหนึ่งเคยงดงาม ฉันพยายามจินตนาการถึงสิ่งที่ทำลายวิหารนี้ ฉันสงสัยใคร่รู้โดยเฉพาะเมื่อได้ศึกษาถึงโศกนาฏกรรมของอารยธรรมที่เคยยิ่งใหญ่และรุ่งเรือง แต่เสื่อมถอยและผุพังจากภายใน
ทุกวันนี้ความบาปชั่วอันเลวทรามและการทำลายล้างอย่างป่าเถื่อนที่เราเห็นรอบตัวเป็นสิ่งที่น่าหนักใจ เป็นธรรมชาติของเราที่พยายามจะอธิบายความเสียหายนี้โดยโยนความผิดไปที่คนหรือชนชาติที่ปฏิเสธพระเจ้า แต่เราควรจะตรวจสอบภายในใจของเราด้วยหรือไม่ พระคัมภีร์เตือนให้ระวังว่าเราจะเป็นคนหน้าซื่อใจคด เมื่อเราเรียกให้ผู้อื่นหันออกจากความบาปของเขาโดยที่ไม่ได้สำรวจลึกเข้าไปในจิตใจของเราเอง (มธ.7:1-5)
พระธรรมสดุดี 32 ท้าทายเราให้มองดูและสารภาพความบาปของเรา เราจะสัมผัสถึงเสรีภาพจากความรู้สึกผิด และความชื่นชมยินดีจากการกลับใจใหม่อย่างแท้จริงได้ ก็ต่อเมื่อเรายอมรับและสารภาพบาปของเราเท่านั้น (ข้อ 1-5) และในขณะที่เราชื่นชมยินดีที่ได้รู้ว่าพระเจ้าทรงโปรดประทานการอภัยโทษที่สมบูรณ์แก่เรา เราก็จะสามารถแบ่งปันความหวังนั้นให้แก่ผู้ที่กำลังต่อสู้กับความบาปได้
บุรุษแห่งการอธิษฐาน
ครอบครัวของฉันจดจำคุณตาเดิร์กกิ้งว่าเป็นบุรุษแห่งความเชื่อที่เข้มแข็งและการอธิษฐาน แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอ ป้าของฉันนึกถึงครั้งแรกที่พ่อของเธอประกาศกับครอบครัวว่า “เราจะเริ่มขอบคุณพระเจ้าก่อนรับประทานอาหาร” การอธิษฐานครั้งแรกของเขาท่านไม่คล่องแคล่วนัก แต่คุณตายังคงฝึกอธิษฐานมาตลอดห้าสิบปีต่อมาโดยอธิษฐานบ่อยๆในแต่ละวัน เมื่อท่านเสียชีวิต สามีของฉันให้ต้นไม้ที่ชื่อ “มือแห่งการอธิษฐาน” กับคุณยายและบอกว่า “คุณตาเป็นบุรุษแห่งการอธิษฐาน” การตัดสินใจของท่านในการติดตามและพูดกับพระเจ้าทุกวันเปลี่ยนท่านเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์
พระคัมภีร์มีเรื่องการอธิษฐานมากมาย ในมัทธิว 6:9-13 พระเยซูทรงสอนรูปแบบการอธิษฐานให้กับผู้ติดตามพระองค์ สอนให้พวกเขาเข้าหาพระเจ้าด้วยการสรรเสริญพระองค์อย่างจริงใจ เมื่อเราร้องทูลต่อพระเจ้า เราก็ได้วางใจให้พระองค์จัดเตรียม “อาหารประจำวัน”(ข้อ 11) เมื่อเราสารภาพบาปของเรา เราก็ได้ทูลขอการอภัยและขอให้ช่วยเราพ้นจากการทดลอง (ข้อ 12-13)
แต่เราไม่ได้ถูกจำกัดให้อธิษฐานได้แค่ “คำอธิษฐานของพระเยซู” พระเจ้าทรงต้องการให้เราอธิษฐานด้วย “การอธิษฐานวิงวอนทุกอย่าง” ใน “ทุกเวลา” (อฟ.6:18) การอธิษฐานสำคัญต่อการเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณ และเป็นโอกาสให้เราได้สนทนาอย่างสม่ำเสมอกับพระองค์ทุกวัน (1 ธส.5:17-18)
เมื่อเราเข้าหาพระเจ้าด้วยใจถ่อมที่ปรารถนาจะพูดคุยกับพระองค์ ก็ขอให้พระองค์ทรงช่วยเราให้รู้จักและรักพระองค์ยิ่งขึ้น
พระเจ้าทรงรู้เรื่องราวของคุณ
ขณะที่ฉันขับรถกลับบ้านหลังรับประทานอาหารเที่ยงกับเพื่อนสนิท ฉันออกเสียงขอบคุณพระเจ้าสำหรับเธอ เธอรู้จักและรักฉันแม้จะมีหลายสิ่งที่ฉันเองยังไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเองเลย เธอเป็นหนึ่งในแวดวงคนสนิทไม่กี่คนที่ยอมรับฉันอย่างที่ฉันเป็น ทั้งความประหลาด นิสัยและข้อผิดพลาดต่างๆ กระนั้นก็ยังมีเรื่องราวบางส่วนที่ฉันไม่ได้เล่าให้เธอหรือคนอื่นที่ฉันรักฟัง ทั้งเรื่องราวที่ฉันไม่ใช่นางเอกของเรื่อง เรื่องที่ฉันด่วนตัดสินหรือใจร้ายหรือขาดความรัก
แต่พระเจ้าทรงทราบเรื่องของฉันทั้งสิ้น พระองค์คือผู้เดียวที่ฉันพูดคุยได้อย่างอิสระแม้ฉันจะลังเลไม่กล้าพูดกับคนอื่น
ถ้อยคำที่คุ้นเคยในสดุดี 139 บรรยายถึงความสนิทสนมที่เราจะชื่นชมได้ร่วมกับองค์จอมกษัตรา พระองค์ทรงรู้จักเราในทุกด้าน! (ข้อ 1) “ทรงคุ้นเคยกับทางทั้งสิ้น” ของเรา (ข้อ 3) พระองค์เชื้อเชิญให้เรานำความสับสน ความคิดกังวลและการต่อสู้กับการทดลองเข้ามาหาพระองค์ เมื่อเราเต็มใจยอมจำนนต่อพระองค์โดยสิ้นเชิง พระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์ออกมาเพื่อรื้อฟื้นและเขียนเรื่องราวที่ทำให้เราเศร้าเพราะเราเหินห่างจากพระองค์นั้นขึ้นใหม่
พระเจ้าทรงรู้จักเราดียิ่งกว่าใครทั้งสิ้น และกระนั้น...พระองค์ยังทรงรักเรา! เมื่อเรายอมจำนนต่อพระองค์ ในแต่ละวันและแสวงหาที่จะรู้จักพระองค์มากขึ้น พระองค์สามารถเปลี่ยนเรื่องราวของเราเพื่อพระเกียรติของพระองค์ได้ พระองค์คือผู้ประพันธ์ที่ยังคงเขียนเรื่องราวอยู่เสมอ
ความชื่นชมยินดีที่พระเจ้าประทาน
เมื่อมาร์เซียอยู่ในที่สาธารณะ เธอพยายามยิ้มให้คนอื่นอยู่เสมอ นี่เป็นวิธีในการที่เธอเข้าหาผู้คนที่อาจต้องการเห็นใบหน้าที่เป็นมิตร ส่วนมากเธอจะได้รับรอยยิ้มที่จริงใจตอบกลับมา แต่ในช่วงที่มาร์เซียจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เธอรับรู้ว่าคนอื่นจะไม่ได้เห็นปากของเธอ และจะไม่มีคนได้เห็นรอยยิ้มของเธอ ช่างน่าเศร้า เธอคิด แต่ฉันจะไม่หยุดหรอก บางทีพวกเขาจะเห็นรอยยิ้มได้จากดวงตาของฉัน
ที่จริงแล้วมีหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลังความคิดนี้ด้วย กล้ามเนื้อมุมปากและกล้ามเนื้อส่วนที่ทำให้ตาหยีสามารถทำงานพร้อมกัน สิ่งนี้เรียกว่า รอยยิ้มพิมพ์ใจ และถูกอธิบายว่าเป็น “การยิ้มด้วยดวงตา”
พระธรรมสุภาษิตเตือนเราว่า “สว่างของตาทำให้ใจเปรมปรีดิ์” และ “ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี” (15:30; 17:22) บ่อยครั้งที่รอยยิ้มของบรรดาบุตรของพระเจ้าเกิดขึ้นจากความชื่นชมยินดีอันมหัศจรรย์ที่เรามี เป็นของประทานจากพระเจ้าซึ่งหลั่งไหลมาสู่ชีวิตของเราอยู่เสมอ เมื่อเราหนุนใจผู้คนที่แบกภาระหนัก หรือแบ่งปันกับผู้ที่แสวงหาคำตอบของชีวิต แม้จะประสบความทุกข์ยาก แต่ความยินดีของเราก็ยังสามารถฉายออกมา
เมื่อชีวิตดูมืดมิด จงเลือกที่จะชื่นชมยินดี ขอให้รอยยิ้มของคุณเป็นหน้าต่างแห่งความหวังที่สะท้อนความรักของพระเจ้าและความสว่างแห่งการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระองค์ในชีวิตของคุณ
มีแผนหรือ
เคเดนชายหนุ่มอายุย่างสิบแปดปีคาดว่าจะได้รับทุนเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยที่เลือกไว้เป็นอันดับแรก เขาร่วมทำกิจกรรมกับพันธกิจของโรงเรียนตอนมัธยมปลายและตื่นเต้นที่จะได้ร่วมพันธกิจที่คล้ายกันในสภาพแวดล้อมใหม่ เขาออมเงินจากการทำงานพิเศษและมีลู่ทางดีสำหรับงานใหม่ เขาตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้หลายอย่างและทุกอย่างลงตัวตามเวลาที่คาดหวัง
แต่แล้วในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 วิกฤตโรคระบาดทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
วิทยาลัยแจ้งว่าภาคการศึกษาแรกจะเป็นระบบออนไลน์ งานพันธกิจของวิทยาลัยหยุดชะงักลง งานที่คาดไว้ก็หายไปเพราะธุรกิจปิดตัว ในขณะที่สิ้นหวังเพื่อนของเขากล่าวอ้างคำพูดของนักมวยมืออาชีพว่า “ใช่แล้ว ทุกคนต่างมีแผนจนเมื่อถูกชกเข้าที่ปาก”
สุภาษิต 16 บอกเราว่าเมื่อเรามอบถวายทุกสิ่งที่เราทำไว้กับพระเจ้า พระองค์จะสถาปนาแผนงานของเราและทำให้สำเร็จตามน้ำพระทัยพระองค์ (ข้อ 3-4) แต่การอุทิศมอบถวายอย่างแท้จริงอาจเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้หัวใจที่เปิดรับการทรงนำของพระเจ้าและความเต็มใจที่จะปฏิเสธการวางแผนชีวิตด้วยตัวของเราเอง (ข้อ 9; 19:21)
ความฝันที่ไม่เป็นจริงอาจทำให้ผิดหวัง แต่มุมมองอนาคตที่จำกัดของเราไม่อาจเทียบได้กับหนทางของพระเจ้าผู้ทรงทราบทุกสิ่ง เมื่อเรายอมจำนนต่อพระองค์ เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ยังทรงนำย่างเท้าของเราด้วยความรักแม้เมื่อเรามองไม่เห็นหนทางข้างหน้า (16:9)
ไม่ว่าสถานการณ์ใด
วันที่ 28 มกราคม 1986 กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ของสหรัฐเกิดระเบิดขึ้นหลังจากทะยานขึ้นไปได้ 73 วินาที ในการกล่าวให้กำลังใจประชาชน ประธานาธิบดีเรแกนได้ยกบทกวี “บินสูง” ของจอห์น กิลเลสปี แม็กกี นักบินในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เขียนถึง “พื้นที่บริสุทธิ์เบื้องบนที่ไม่มีผู้ล่วงล้ำ” และความรู้สึกของการยื่นมือออกไปสัมผัส “พระพักตร์พระเจ้า”
แม้เราไม่อาจสัมผัสพระพักตร์พระเจ้าได้จริง แต่บางครั้งการมองเห็นความสวยงามในยามอาทิตย์อัสดง หรืออยู่ในที่สงบเงียบของธรรมชาติก็ทำให้เรารู้สึกตื้นตันว่าพระองค์ทรงอยู่ใกล้ บางคนเรียกช่วงเวลานี้ว่า “ที่กั้นบางๆ” คือม่านกั้นระหว่างสวรรค์และโลกบางลงจนรู้สึกว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้เรามากขึ้น
ชาวอิสราเอลคงมีประสบการณ์กับ “ที่กั้นบางๆ” เมื่อรู้สึกว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้พวกเขาในทะเลทราย พระเจ้าประทานเสาเมฆตอนกลางวันและเสาไฟในตอนกลางคืนเพื่อนำพวกเขาผ่านทะเลทรายนั้น(อพย. 40: 34-38) ขณะตั้งค่ายอยู่ “พระสิริของพระเจ้าก็อยู่เต็มพลับพลานั้น” (ข้อ 35) พวกเขารู้ว่าพระเจ้าทรงอยู่ด้วยในตลอดการเดินทางนั้น
ขณะที่เราเพลิดเพลินกับการทรงสร้างอันสวยงามอัศจรรย์ เรายิ่งได้รู้ว่าพระเจ้าสถิตอยู่ในทุกที่ เมื่อเราคุยกับพระองค์ในคำอธิษฐาน สดับฟังพระองค์ และอ่านพระคำ เราจะเพลิดเพลินในสามัคคีธรรมกับพระองค์ไม่ว่าจะในเวลาหรือสถานที่ใด
ตักเตือนด้วยความรัก
เป็นเวลากว่าห้าสิบปีที่พ่อของฉันมุ่งมั่นทำงานเรียบเรียงของท่านให้ดีเยี่ยม ความปรารถนาของท่านคือไม่ใช่แค่มองหาข้อผิดพลาด แต่ต้องการทำให้งานเขียนดีขึ้นในแง่ของความชัดเจน มีเหตุผล ไหลลื่นและใช้ไวยกรณ์อย่างถูกต้อง พ่อใช้ปากกาสีเขียวในการแก้ไขแทนที่จะเป็นปากกาแดง เพราะท่านรู้สึกว่าปากกาสีเขียว “เป็นมิตรกว่า” ขณะที่รอยขีดฆ่าสีแดงอาจทำให้นักเขียนหน้าใหม่หรือผู้ที่ขาดความมั่นใจตกใจ
เมื่อพระเยซูทรงตักเตือนประชาชน พระองค์ทรงทำด้วยความรัก ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อทรงเผชิญหน้ากับความหน้าซื่อใจคดของพวกฟาริสี (มธ.23) พระองค์ตำหนิพวกเขาอย่างรุนแรง แต่ก็เพื่อประโยชน์ของพวกเขา แต่ในกรณีของมารธาเพื่อนของพระองค์ ทรงตักเตือนด้วยความอ่อนโยน (ลก.10:38-42) ในขณะที่พวกฟาริสีตอบสนองต่อคำตำหนิของพระองค์อย่างเลวร้าย แต่มารธายังคงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของพระองค์ (ยน.11:5)
การตักเตือนแก้ไขอาจทำให้เราอึดอัดและมีน้อยคนที่จะชอบ บางครั้งเพราะความหยิ่งของเราทำให้เป็นเรื่องยากที่เราจะยินดีรับการแก้ไข พระธรรมสุภาษิตพูดถึงสติปัญญาหลายครั้งและชี้ให้เห็นว่า “หูที่ฟังคำตักเตือน” เป็นเครื่องหมายของสติปัญญาและความเข้าใจ (15:31-32)
การตักเตือนด้วยความรักของพระเจ้าช่วยให้เราปรับทิศทางและติดตามพระองค์ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ผู้ที่ปฏิเสธการแก้ไขจะได้รับคำเตือนที่เข้มงวด (ข้อ 10) แต่ผู้ที่ตอบสนองโดยกำลังที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะได้รับสติปัญญาและความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น (ข้อ 31-32)
ลงทุนในความเชื่อ
ในวันคริสต์มาสปีที่ 12 เด็กชายตั้งตารอเวลาที่จะได้เปิดของขวัญใต้ต้นคริสต์มาส เขาอยากได้รถจักรยานคันใหม่ แต่ความหวังนั้นต้องมลายเมื่อของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เขาได้รับคือ พจนานุกรม ซึ่งมีข้อความเขียนไว้ในหน้าแรกว่า “แด่ชาร์ลส์ จากพ่อและแม่ ปี 1958 ด้วยรักและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกจะมีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมที่สุด”
ในช่วงสิบปีหลังจากนั้นเขามีผลการเรียนที่ดี จบมหาวิทยาลัยและจบการฝึกด้านการบินในเวลาต่อมา เขาเป็นนักบินในต่างประเทศซึ่งช่วยเติมเต็มความปรารถนาที่จะให้ความช่วยเหลือและแบ่งปันเรื่องของพระเยซูกับผู้ที่ขัดสน ราว 60 ปีแล้วที่เขาได้รับของขวัญชิ้นนั้น เขาได้แบ่งปันพจนานุกรมเก่าแก่เล่มนี้กับหลานๆ มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุนด้วยความรักสำหรับอนาคตของเขาจากพ่อและแม่ เขายังคงให้คุณค่ากับมัน และเขายิ่งขอบคุณพระเจ้าที่พ่อแม่ได้ลงทุนสร้างความเชื่อโดยสอนเรื่องของพระเจ้าและพระคัมภีร์ให้เขาทุกวัน
เฉลยธรรมบัญญัติ 11 พูดถึงความสำคัญในการฉวยทุกโอกาสเพื่อแบ่งปันพระคำกับเด็กๆ “ท่านจงสอนถ้อยคำเหล่านี้ แก่บุตรหลานของท่านทั้งหลาย จงพูดถึงถ้อยคำเหล่านี้เมื่อท่านอยู่ในเรือน และเมื่อท่านเดินอยู่ตามทาง เมื่อท่านนอนลง หรือลุกขึ้น” (ข้อ 19)
สำหรับชาร์ลส์ค่านิยมในเรื่องนิรันดร์กาลที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กนั้นได้เบ่งบานเป็นการรับใช้พระผู้ช่วยให้รอดในตลอดชีวิตของเขา โดยพระเจ้า ใครจะรู้ว่าสิ่งที่เราลงทุนไปเพื่อช่วยใครบางคนให้เติบโตฝ่ายวิญญาณ จะเกิดดอกออกผลมากแค่ไหน
ปลาเล็ก
สามีภรรยาชาวอังกฤษซึ่งอาศัยในแอฟริกาตะวันตก สร้างความสัมพันธ์กับชายคนหนึ่งซึ่งอยู่เมืองเดียวกันมานานหลายปี พวกเขาแบ่งปันความรักและเรื่องราวความรอดของพระเยซูอยู่หลายหน แต่เพื่อนของเขายังลังเลที่จะทิ้งความเชื่อในศาสนาเดิมซึ่งนับถือมาตลอดชีวิต แม้เขาจะรับรู้แล้วว่าความเชื่อในพระคริสต์เป็น “ความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า” เขากังวลในเรื่องการเงินเพราะเขาเป็นผู้นำศาสนาและพึ่งพารายได้จากตรงนี้ เขายังกลัวเสียชื่อจากผู้คนในชุมชนของเขา
เขาอธิบายด้วยความเสียใจว่า “ผมเหมือนคนจับปลาในลำธารด้วยมือเปล่า ผมจับปลาตัวเล็กด้วยมือข้างหนึ่ง แต่ปลาตัวใหญ่กว่ากำลังว่ายผ่านไป หากจะจับปลาตัวใหญ่ ผมต้องปล่อยปลาตัวเล็กไป!”
เศรษฐีหนุ่มที่มัทธิวเขียนถึงในพระธรรมมัทธิวบทที่ 19 ประสบปัญหานี้เช่นกัน เมื่อเขามาหาพระเยซูแล้วถามว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำดีประการใด จึงจะได้ชีวิตนิรันดร์” (ข้อ 16) เขาดูมีความจริงใจ แต่เขาไม่ต้องการมอบถวายชีวิตทั้งหมดแก่พระเยซู เขาร่ำรวยไม่เพียงเงินทอง แต่ในความหยิ่งในฐานะผู้ถือรักษาพระบัญญัติด้วย แม้เขาจะปรารถนาชีวิตนิรันดร์ แต่เขารักสิ่งอื่นมากกว่าและปฏิเสธถ้อยคำของพระคริสต์
เมื่อเราถ่อมใจยอมจำนนชีวิตแด่พระเยซู และยอมรับของประทานแห่งความรอดที่ให้เราเปล่าๆ พระองค์ทรงตรัสเชิญเราว่า “จงตามเรามา” (ข้อ 21)