ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Bill Crowder

ระฆังโบสถ์หินบลูสโตน

บลูสโตนเป็นหินที่มีเสน่ห์หลากหลาย เมื่อถูกเคาะ หินบลูสโตนบางก้อนจะดังเหมือนเสียงดนตรี หมู่บ้านหนึ่งในแคว้นเวลส์ชื่อมายน์คล็อกฮ็อกซึ่งแปลว่า “ระฆัง” หรือ “หินที่ส่งเสียง” ได้ใช้หินบลูสโตนทำระฆังโบสถ์มาจนถึงยุคศตวรรษที่ 18 ที่น่าสนใจคือซากปรักหักพังของสโตนเฮนจ์ที่อังกฤษก็ถูกสร้างด้วยหินบลูสโตน ซึ่งทำให้บางคนสงสัยว่าวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของที่แห่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับดนตรี นักวิจัยบางคนอ้างว่าหินบลูสโตนที่สโตนเฮนจ์มาจากแหล่งที่อยู่ใกล้มายน์คล็อกฮ็อก ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบสามร้อยกิโลเมตรเพราะเอกลักษณ์ทางเสียงของหินเหล่านั้น

หินที่เป็นเสียงดนตรีนี้คืออีกหนึ่งสิ่งของการทรงสร้างที่แสนอัศจรรย์ของพระเจ้า และมันเตือนพวกเราถึงสิ่งที่พระเยซูตรัสระหว่างการเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มในวันอาทิตย์ทางตาล ขณะที่ประชาชนส่งเสียงสรรเสริญพระเยซูเหล่าผู้นำทางศาสนาเรียกร้องให้พระองค์สั่งห้ามพวกเขา “เราบอกท่านทั้งหลายว่า” พระองค์ตรัสตอบพวกเขา “ถึงคนเหล่านี้จะนิ่งเสีย ศิลาทั้งหลายก็ยังจะส่งเสียงร้อง” (ลก.19:40)

หากหินบลูสโตนสามารถสร้างเสียงดนตรี และหากพระเยซูทรงกล่าวว่าแม้แต่หินยังเป็นพยานถึงพระผู้ทรงสร้างมัน ถ้าเช่นนั้นเรายิ่งต้องสรรเสริญพระองค์ผู้ทรงสร้างเรา ผู้ทรงรักและช่วยกู้เราอย่างไร พระองค์ทรงควรค่าแก่การนมัสการทั้งสิ้น ขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเร้าใจเราให้ถวายพระเกียรติที่พระองค์ทรงสมควรได้รับแด่พระองค์ ให้ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างสรรเสริญพระองค์

มิตรและศัตรู

นักวิชาการเคนเน็ธ อี. เบลีย์ กล่าวถึงผู้นำของชาติแอฟริกาคนหนึ่งที่เรียนรู้การรักษาท่าทีที่ไม่ธรรมดาระหว่างประชาคมโลก เขาได้วางรากฐานความสัมพันธ์อันดีกับอิสราเอลและประเทศโดยรอบ เมื่อมีคนถามว่าเขารักษาสมดุลของความสัมพันธ์ที่เปราะบางนี้ไว้ได้อย่างไร เขาตอบว่า “เราเลือกเพื่อนของเรา เราไม่สนับสนุนให้เพื่อนของเรามากำหนดว่าใครจะเป็นศัตรูของเรา”

นั่นเป็นเรื่องที่ฉลาดและปฏิบัติได้จริง สิ่งที่ชาติในแอฟริกาแห่งนั้นได้วางแบบอย่างในระดับสากล คือสิ่งที่เปาโลหนุนใจให้ผู้อ่านจดหมายของท่านทำในระดับบุคคล ในบรรดาคำอธิบายที่ยืดยาวเกี่ยวกับคุณลักษณะของชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพระคริสต์ ท่านเขียนว่า “ถ้าเป็นได้ คือเท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน” (รม.12:18) ท่านยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเตือนเราว่าแม้แต่วิธีที่เราปฏิบัติตัวต่อศัตรู(ข้อ 20-21) ก็สะท้อนถึงความไว้วางใจและการพึ่งพิงในพระเจ้า และการทรงดูแลของพระองค์

การอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคนอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เสมอไป (จริงๆแล้ว เปาโลได้กล่าวว่า “ถ้า”) แต่ความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้เชื่อในพระเยซูคือ การยอมให้พระปัญญาของพระเจ้าทรงนำการดำเนินชีวิตของเรา (ยก.3:17-18) เพื่อให้เราอยู่ร่วมกับคนรอบข้างในฐานะผู้สร้างสันติ (มธ.5:9) จะมีวิธีอื่นใดที่ดีไปกว่านี้ในการถวายเกียรติแด่องค์สันติราช

ข้อมูลและหลักฐาน

เมื่อดอริส เคินส์ กู๊ดวินตัดสินใจเขียนหนังสือเกี่ยวกับอับราฮัม ลินคอล์นความจริงที่ว่ามีหนังสือกว่า 14,000 เล่มถูกเขียนขึ้นเกี่ยวกับประธานาธิบดีคนที่ 16 ของอเมริกาอยู่แล้วทำให้เธอรู้สึกกลัว จะมีอะไรเหลือให้เขียนเกี่ยวกับผู้นำอันเป็นที่รักคนนี้อีกล่ะ ด้วยความไม่ลดละ การทำงานของกู๊ดวินกลายมาเป็นหนังสือ ทีมคู่แข่ง: อัจฉริยะทางการเมืองของอับราฮัม ลินคอล์น แง่มุมใหม่ของเธอเกี่ยวกับรูปแบบการเป็นผู้นำของลินคอล์นทำให้หนังสือมียอดรีวิวและติดอันดับต้นๆ

อัครสาวกยอห์นเจอกับความท้าทายที่ต่างออกไปขณะที่ท่านบันทึกพระราชกิจและความรักอันร้อนรนของพระเยซู ประโยคสุดท้ายในพระธรรมยอห์นกล่าวว่า “มีอีกหลายสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำ ถ้าจะเขียนไว้ให้หมดทุกสิ่ง ข้าพเจ้าคาดว่าแม้หมดทั้งโลกก็น่าจะไม่พอไว้หนังสือที่จะเขียนนั้น” (ยน.21:25) ยอห์นมีข้อมูลมากเกินกว่าที่ท่านจะใช้หมด!

ดังนั้นยอห์นจึงใช้ยุทธวิธีที่เน้นแค่การอัศจรรย์ (หมายสำคัญ) เพียงไม่กี่อย่างซึ่งสนับสนุนสิ่งที่พระเยซูทรงบอกว่า “เราเป็น” ในตลอดหนังสือของท่าน แต่เบื้องหลังยุทธวิธีนี้ก็คือเป้าหมายนิรันดร์ที่ว่า “การที่ได้บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ ก็เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่า พระเยซูทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้ว ท่านก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์” (ข้อ 31) ด้วยหลักฐานจำนวนมากที่กองสูงเท่าภูเขา ยอห์นได้ให้เหตุผลเอาไว้มากมายที่จะเชื่อในพระเยซู แล้วคุณจะบอกใครถึงเรื่องราวของพระองค์ได้บ้างในวันนี้

ฝูงชน

นักปรัชญาและนักเขียนฮันนาห์ อาเรนท์ (1906-1975) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “มนุษย์จะต่อต้านผู้ปกครองผู้มีอำนาจสูงสุด และปฏิเสธที่จะก้มหัวให้กับพวกเขา” เธอเสริมอีกว่า “แต่มีไม่กี่คนที่ต่อต้านฝูงชน ที่ยืนขึ้นเพียงลำพังต่อหน้ามวลชนที่หลงทาง เพื่อเผชิญหน้ากับความบ้าคลั่งอันแข็งกร้าวโดยปราศจากอาวุธ” ในฐานะคนยิว อาเรนท์ประสบกับเรื่องนี้ด้วยตนเองในเยอรมนีประเทศบ้านเกิดของเธอเอง การถูกปฏิเสธโดยฝูงชนเป็นสิ่งที่น่ากลัว

อัครทูตเปาโลพบกับการถูกปฏิเสธเช่นนั้นด้วย เพราะท่านถูกฝึกให้เป็นฟาริสีและรับบี ชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อได้พบกับพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ เปาโลได้เดินทางไปเมืองดามัสกัสเพื่อข่มเหงผู้เชื่อในพระคริสต์ (กจ.9) หลังจากกลับใจ ท่านพบว่าตนเองถูกปฏิเสธโดยคนชาติเดียวกัน ในจดหมายของท่านที่เรารู้จักในชื่อพระธรรม 2 โครินธ์ เปาโลได้พูดถึงความยากลำบากที่ต้องเผชิญด้วยน้ำมือของคนเหล่านั้น เช่น “การถูกเฆี่ยนตี” และ “การถูกจำคุก” (6:5)

แทนที่จะตอบโต้การถูกปฏิเสธนั้นด้วยความโกรธและความขมขื่น เปาโลปรารถนาให้พวกเขาได้มารู้จักพระเยซูเหมือนกับท่าน ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้า​มี​ความ​ทุกข์​หนัก​และ​ความ​เจ็บ​ร้อน​ใน​ใจ​เสมอ​มิได้​ขาด​ เพราะ​ถ้า​เป็น​ประโยชน์​ข้าพเจ้า​ปรารถนา​จะ​ให้​ข้าพเจ้า​เอง​ถูก​สาป และ​ถูก​ตัด​ขาด​จาก​พระ​คริสต์​เพราะ​เห็น​แก่​พี่​น้อง​ของ​ข้าพเจ้า” (รม.9:2-3)

ในขณะที่พระเจ้าทรงต้อนรับเราเข้าสู่ครอบครัวของพระองค์ ขอพระองค์ทรงช่วยให้เราสามารถเชิญชวนแม้แต่ศัตรูของเราให้เข้ามาในความสัมพันธ์กับพระองค์ด้วยเถิด

ฉันได้ยินเสียงระฆัง

บทเพลง “ฉันได้ยินเสียงระฆังในวันคริสต์มาส” มีที่มาจากบทกวีในปีค.ศ. 1863 โดยเฮนรี่ วอดสเวิร์ท ลองเฟลโลว์เป็นบทเพลงคริสต์มาสที่ไม่ธรรมดาเลย แทนที่จะเป็นความสุขยินดีทั่วไปในเทศกาลคริสต์มาส แต่เนื้อเพลงกลับแต่งขึ้นเป็นเสียงคร่ำครวญ ร้องว่า “และฉันคอตกด้วยความสิ้นหวัง ฉันพูดว่าไม่มีสันติใดเลยบนโลกนี้ เพราะความเกลียดชังนั้นรุนแรงและเย้ยหยันบทเพลงอื่น ที่บอกว่าสันติสุขจงมีแก่มวลมนุษย์บนโลกผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน” แต่การคร่ำครวญนี้กลับกลายเป็นความหวังที่ทำให้เรามั่นใจว่า “พระเจ้ามิได้ตายหรือหลับไป ความชั่วร้ายจะสิ้นไป ความชอบธรรมจะดำรงอยู่ ด้วยสันติสุขท่ามกลางมนุษย์ผู้ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปราน”

รูปแบบของความหวังที่เกิดขึ้นมาจากการคร่ำครวญยังพบได้ในบทสดุดีแห่งการคร่ำครวญในพระคัมภีร์ เช่น สดุดี 43 เริ่มต้นด้วยผู้เขียนร้องทูลถึงการที่ถูกศัตรูโจมตี (ข้อ 1) และพระเจ้าผู้ทรงดูเหมือนว่าได้ลืมท่านไปแล้ว (ข้อ 2) แต่ผู้เขียนไม่จมอยู่กับการคร่ำครวญ ท่านมองหาพระเจ้าผู้ที่ท่านไม่สามารถเข้าใจพระองค์ได้ทั้งหมดแต่ยังไว้วางใจพระองค์ โดยร้องว่า “จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเอ๋ย ไฉนเจ้าจึงฝ่ออยู่ ไฉนเจ้าจึงกระสับกระส่ายภายในข้าพเจ้า จงหวังใจในพระเจ้า เพราะข้าพเจ้าจะถวายสดุดีแด่พระองค์อีก ผู้ทรงเป็นความอุปถัมภ์ และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ข้อ 5)

ชีวิตเต็มไปด้วยเหตุผลที่จะคร่ำครวญ และเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์นั้นอยู่ในทุกๆวัน แต่ถ้าเรายอมให้การคร่ำครวญนำเราไปสู่พระเจ้าแห่งความหวัง เราจะสามารถร้องเพลงได้ด้วยความยินดี แม้เราจะร้องทั้งน้ำตา

ชมรมโสกราตีส

ชมรมโสกราตีสก่อตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในปี 1941 เพื่อสนับสนุนการโต้วาทีระหว่างผู้เชื่อพระเยซูกับผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือผู้ที่ไม่รู้ว่ามีพระเจ้าหรือไม่

การโต้เถียงเรื่องศาสนาในมหาวิทยาลัยทั่วไปไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่น่าประหลาดใจ คือผู้ที่เป็นประธานชมรมโสกราตีสเป็นเวลาสิบห้าปีคือ ซี.เอส.ลูอิส นักวิชาการคริสเตียนผู้ยิ่งใหญ่ ลูอิสเต็มใจที่จะพิสูจน์ความคิดของตนโดยเชื่อว่าความเชื่อในพระคริสต์สามารถยืนหยัดต่อการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนได้ เขารู้ว่ามีข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือและมีเหตุผลในการเชื่อพระเยซู

ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูอิสปฏิบัติตามคำแนะนำของเปโตรที่ย้ำเตือนผู้เชื่อที่กระจัดกระจายไปเพราะการข่มเหงว่า “แต่ในใจของท่าน จงเคารพนับถือพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (1 ปต.3:15) เปโตรให้หลักการสำคัญสองประการคือ เรามีเหตุผลที่ดีในการหวังใจในพระคริสต์ และเราต้องนำเสนอเหตุผลของเราด้วย “ใจสุภาพและด้วยความนับถือ”

การวางใจในพระคริสต์ไม่ใช่การหนีจากโลกไปพึ่งศาสนาหรือเป็นความคิดเพ้อฝัน ความเชื่อของเรามีรากฐานอยู่บนความจริงในประวัติศาสตร์ รวมถึงการฟื้นพระชนม์ของพระเยซูและการที่สรรพสิ่งทรงสร้างเป็นประจักษ์พยานถึงพระผู้สร้าง ขณะที่เราพักพิงในพระปัญญาของพระเจ้าและกำลังของพระวิญ-ญาณ ขอให้เราพร้อมแบ่งปันเหตุผลที่เรามีในการวางใจในพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของเรา

ใจที่โกรธเคือง

เกอร์นิกา เป็นภาพเขียนทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของปาโบล ปิกัสโซ่ที่ใช้เทคนิคการวาดแบบสมัยใหม่ซึ่งบอกเล่าถึงการทำลายเมืองเล็กๆในสเปนในปี ค.ศ. 1937 โดยตั้งชื่อผลงานตามชื่อเมืองนี้ ในช่วงปฏิวัติสเปนและการก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินนาซีเยอรมนีได้รับอนุญาตจากกองกำลังชาตินิยมสเปนให้ใช้เมืองนี้เพื่อฝึกซ้อมการทิ้งระเบิด การทิ้งระเบิดหลายครั้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และดึงความสนใจของประชาคมโลกที่กังวลในเรื่องการทิ้งระเบิดโจมตีพลเรือนอย่างผิดศีลธรรม ภาพเขียนของปิกัสโซ่สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่โลกกำลังจับตาดูอยู่ และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการถกประเด็นถึงศักยภาพของมนุษยชาติในการทำลายล้างกันและกัน

สำหรับพวกเราที่มั่นใจว่าจะไม่มีทางเจตนาทำให้โลหิตตก เราควรจดจำคำตรัสของพระเยซูว่า “‘ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ” (มธ.5:21-22) จิตใจนั้นสามารถฆ่าคนได้แม้ไม่เคยลงมือทำจริงๆ

เมื่อความโกรธที่เรามีต่อผู้อื่นพลุ่งขึ้นและพยายามครอบงำเรานั้น เราจำเป็นต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาเติมเต็มและควบคุมจิตใจเรา เพื่อว่านิสัยต่างๆของมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยผลของพระวิญญาณ (กท.5:19-23) แล้วความรัก ความปลาบปลื้มใจ และสันติสุขจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความสัมพันธ์ของเรา

สร้างบ้าน

โครงการก่อสร้างบ้านส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐเริ่มต้นขึ้นในปี 1889 มีการผลิตอิฐในพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 32,000 ก้อนต่อวัน งานยังคงดำเนินไปจน “บ้านฤดูร้อน” ของจอร์จ แวนเดอร์บิลต์ที่ 2 เสร็จสิ้นในอีกหกปีต่อมา นั่นคือคฤหาสน์บิลต์มอร์ในเมืองแอชวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ในปัจจุบันบ้านนี้ยังคงเป็นที่พักอาศัยส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาด้วยจำนวน 250 ห้อง (รวมห้องนอน 35 ห้องและห้องน้ำ 43 ห้อง) ซึ่งกินพื้นที่อย่างน่าตกตะลึงถึง 178,926 ตารางฟุต (16,226 ตารางเมตร)

โครงการนี้ซึ่งยิ่งใหญ่อย่างที่มันเป็น แต่ยังเทียบไม่ได้กับพระประสงค์ในการสร้าง “ตึก” ที่พระเยซูตรัสกับสาวกในมัทธิว 16 เมื่อเปโตรยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็น “พระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (ข้อ 16) พระองค์ตรัสว่า “ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้” (ข้อ 18) ขณะที่นักศาสนศาสตร์ถกเถียงถึงความหมายของ “ศิลา” แต่ไม่มีการถกเถียงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเยซู พระองค์จะสร้างคริสตจักรของพระองค์ให้ขยายไปยังสุดปลายแผ่นดินโลก (มธ.28:19-20) ไปยังชนทุกชาติ ทุกเชื้อสายจากทั่วโลก (วว.5:9)

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับโครงการนี้คือ พระโลหิตของพระเยซูที่สละลงบนกางเขน (กจ.20:28) เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ตึก” นั้น (อฟ.2:21) ซึ่งพระองค์ได้ทรงจ่ายด้วยราคาที่สูงยิ่ง ขอให้เราเฉลิมฉลองการทรงเสียสละด้วยความรักและร่วมกับพระองค์ในพันธกิจอันยิ่งใหญ่นี้

จุดลงจอด

อิมพาลาเป็นสัตว์ในตระกูลละมั่งที่สามารถกระโดดได้สูงถึงสิบฟุตและไกลถึงสามสิบฟุต ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อและไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสามารถนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่มันจะเอาชีวิตรอดในป่าแอฟริกา แต่ที่คอกอิมพาลาในสวนสัตว์หลายแห่ง คุณจะพบว่าสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ภายในกำแพงที่สูงเพียงสามฟุต แล้วกำแพงเตี้ยๆเช่นนี้สามารถกั้นสัตว์ที่แข็งแรงเหล่านี้ไม่ให้ออกมาได้อย่างไร ที่เป็นไปได้เพราะอิมพาลาจะไม่มีวันกระโดดออกมานอกจากพวกมันจะเห็นจุดที่จะรองรับมัน แต่กำแพงได้กั้นพวกมันไว้ไม่ให้เห็นว่าอีกด้านหนึ่งคืออะไร

ในฐานะมนุษย์ เราก็ไม่ต่างอะไรจากอิมพาลา เราต้องการรู้ผลลัพธ์ก่อนที่จะก้าวออกไป แต่การดำเนินชีวิตโดยความเชื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้น เปาโลเขียนถึงคริสตจักรที่เมืองโครินธ์ โดยเตือนพวกเขาว่า “เราดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตามองเห็น” (2 คร.5:7)

พระเยซูทรงสอนเราให้อธิษฐานว่า “ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (มธ.6:10) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ผลลัพธ์ของพระองค์ล่วงหน้า การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อหมายถึง การวางใจในพระประสงค์อันดีของพระองค์แม้พระประสงค์เหล่านั้นจะซ่อนอยู่ในความลึกลับก็ตาม

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของชีวิต เราสามารถวางใจในความรักที่ไม่มีวันสูญสิ้นของพระองค์ ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาในชีวิต “เราตั้งเป้าของเราว่า...จะทำตัวให้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์” (2 คร.5:9)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา