เลือกติดตามพระเจ้า
เดลิมิเร่อร์อ้างว่า “ในชั่วชีวิตหนึ่ง คนทั่วไปจะต้องทำการตัดสินใจ 773,618 ครั้ง” หนังสือพิมพ์สัญชาติอังกฤษฉบับนี้ยังยืนยันต่อไปอีกว่าคนเรา “จะรู้สึกเสียใจ 143,262 ครั้ง” จากการตัดสินใจเหล่านั้น ผมไม่รู้เลยว่าหนังสือพิมพ์ได้ตัวเลขเหล่านี้มาอย่างไร แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ คนเราต้องเผชิญกับการตัดสินใจจำนวนนับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วงชีวิตของเรา ตัวเลขจำนวนมากนี้อาจทำให้เราไม่กล้ากระดิกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราตระหนักว่าการตัดสินใจทุกอย่างของเราจะเกิดผลตามมาที่อาจร้ายแรงแตกต่างกันไป
หลังจากเดินวนอยู่ในถิ่นทุรกันดารสี่สิบปี ลูกหลานของชนชาติอิสราเอลได้มายืนอยู่ที่หน้าทางเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ของพวกเขา ในเวลาต่อมาหลังจากเข้าสู่ดินแดนนั้นแล้ว โยชูวาผู้นำของพวกเขาได้เสนอทางเลือกที่ท้าทายให้แก่พวกเขา คือ “จงยำเกรงพระเจ้าและปรนนิบัติพระองค์...ด้วยความซื่อสัตย์” ท่านกล่าว “จงทิ้งพระเหล่านั้นซึ่งบรรพบุรุษของท่านได้เคยปรนนิบัติ” (ยชว.24:14) โยชูวาบอกพวกเขาว่า “ถ้าท่านไม่เต็มใจที่จะปรนนิบัติพระเจ้า ท่านทั้งหลายจงเลือกเสียในวันนี้ว่าท่านจะปรนนิบัติผู้ใด...แต่ส่วนข้าพเจ้าและครอบครัวของข้าพเจ้า เราจะปรนนิบัติพระเจ้า” (ข้อ 15)
เมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่ในแต่ละวัน มีความเป็นไปได้ต่างๆมากมายที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ การใช้เวลาเพื่อขอให้พระเจ้าทรงนำทางเราจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกของเรา โดยเดชของพระวิญญาณ เราสามารถเลือกที่จะติดตามพระองค์ในทุกวัน
พระสัญญาเรื่องการบังเกิดของพระคริสต์
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1962 จอห์น ดับเบิลยู. มอชลี่นักฟิสิกส์กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะสรุปว่า เด็กชายหญิงทั่วๆไปไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างเชี่ยวชาญได้” คำทำนายของมอชลี่ดูน่าทึ่งในเวลานั้น แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าแม่นยำอย่างน่าประหลาดใจ ทุกวันนี้การใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือเป็นหนึ่งในทักษะแรกเริ่มที่เด็กเรียนรู้
ในขณะที่คำทำนายของมอชลี่เป็นจริง แต่ก็ยังมีคำทำนายที่สำคัญกว่านั้นมาก คือคำทำนายในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระคริสต์ ตัวอย่างเช่น มีคาห์ 5:2 ประกาศว่า “โอ เบธเลเฮม เอฟราธาห์ แต่เจ้าผู้เป็นหน่วยเล็กในบรรดาตระกูลของยูดาห์ จากเจ้าจะมีผู้หนึ่งออกมาเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะปกครองในอิสราเอลดั้งเดิมของท่านมาจากสมัยเก่า จากสมัยโบราณกาล” พระเจ้าทรงส่งพระเยซูมาบังเกิดที่เบธเลเฮมหน่วยเล็กน้อย ทรงประทานเครื่องหมายว่าพระองค์สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ดาวิด (ดู ลก.2:4-7)
พระคัมภีร์เล่มเดียวกันที่ทำนายอย่างแม่นยำถึงการเสด็จมาครั้งแรกของพระเยซู ก็ยังได้สัญญาถึงการเสด็จกลับมาอีกครั้งของพระองค์เช่นกัน (กจ.1:11) พระเยซูทรงสัญญากับสาวกกลุ่มแรกว่าจะทรงเสด็จกลับมาหาพวกเขา (ยน.14:1-4)
คริสต์มาสนี้ เมื่อเราใคร่ครวญข้อเท็จจริงที่ทำนายไว้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับการมาบังเกิดของพระเยซู ขอให้เราตระหนักถึงพระสัญญาที่จะทรงเสด็จกลับมาด้วย และยอมให้พระองค์ทรงเตรียมเราให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่เมื่อเราได้พบพระองค์หน้าต่อหน้า!
สมควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น
หลายคนยกย่องให้เฟอร์แรนต์และไทเชอร์เป็นนักบรรเลงเปียโนคู่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล การแสดงดนตรีร่วมกันของพวกเขานั้นมีความแม่นยำสูงมากจนลักษณะการบรรเลงของพวกเขาถูกเรียกว่าสี่มือแต่ใจเดียว ใครที่ได้ฟังดนตรีของพวกเขาจะเริ่มเข้าใจถึงความทุ่มเทอย่างมากมายเพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์แบบ แต่ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขารักในสิ่งที่ตนทำ ความจริงแล้วเมื่อพวกเขาเกษียณอายุในปี 1989 มีบางโอกาสที่เฟอร์แรนต์และไทเชอร์จะปรากฏตัวที่ร้านเปียโนในเมืองเพื่อบรรเลงเพลงที่แต่งแบบสดๆ พวกเขาก็แค่รักในการเล่นดนตรี
ดาวิดก็รักการเล่นดนตรี แต่ท่านร่วมทีมกับพระเจ้าเพื่อให้บทเพลงของท่านมีความหมายมากยิ่งขึ้น บทเพลงสดุดีของดาวิดยืนยันถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนและความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่พึ่งพาในพระองค์อย่างสุดใจ แต่ในท่ามกลางความล้มเหลวและความไม่สมบูรณ์แบบของตนเองนั้น คำสรรเสริญของท่านสำแดงถึงการมีสิ่งที่เรียกว่า “ความสามารถในการแยกแยะเสียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ” ในฝ่ายวิญญาณ คือการรับรู้ในความยิ่งใหญ่และความประเสริฐของพระเจ้าแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด หัวใจซึ่งอยู่เบื้องหลังคำสรรเสริญของดาวิดได้ถูกกล่าวไว้อย่างเรียบง่ายในสดุดี 18:1 ที่ว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระกำลังของข้าพระองค์ ข้าพระองค์รักพระองค์”
ดาวิดยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพระองค์ร้องทูลต่อพระเจ้าผู้ทรงสมควรแก่การสรรเสริญ” (ข้อ 3) และหันไปหาพระองค์ “ในยามทุกข์ระทมใจ” (ข้อ 6) ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร ให้เราทำเช่นเดียวกันคือยกหัวใจขึ้นสรรเสริญและนมัสการพระเจ้าของเรา พระองค์ทรงสมควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น
พร้อมที่จะไป
ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส หลายคนต้องทนทุกข์กับการสูญเสียผู้เป็นที่รักไป ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020 ครอบครัวผมก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเมื่อบี คราวเดอร์คุณแม่วัยเก้าสิบห้าปีของผมได้เสียชีวิตลงแม้ไม่ใช่จากโรคโควิด 19 ก็ตาม และเช่นเดียวกับหลายๆครอบครัวที่เราไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อแสดงความเสียใจ เพื่อยกย่องชีวิตของท่าน หรือเพื่อหนุนใจกันและกัน เราใช้รูปแบบอื่นแทนในการยกย่องอิทธิพลแห่งความรักของท่าน และเราได้รับการปลอบประโลมอย่างมากมายจากการที่ท่านยืนยันว่า ถ้าพระเจ้าเรียกท่านกลับบ้าน ท่านก็พร้อมและไม่รอช้าที่จะไป ความหวังอันมุ่งมั่นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างมากเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ และในขณะที่ท่านกำลังเผชิญหน้ากับความตาย
ขณะเผชิญหน้ากับความตายที่กำลังจะมาถึง เปาโลเขียนไว้ว่า “เพราะว่าสำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร...ข้าพเจ้าลังเลใจอยู่ในระหว่างสองฝ่ายนี้ คือว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาที่จะจากไปเพื่ออยู่กับพระคริสต์ ซึ่งประเสริฐกว่ามากนัก แต่การที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในร่างกายนี้ก็จำเป็นมากสำหรับพวกท่าน” (ฟป.1:21, 23-24) แม้มีความปรารถนาที่ถูกต้องที่จะอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่เปาโลก็พร้อมสำหรับบ้านในสวรรค์ของท่านกับพระคริสต์
ความมั่นใจเช่นนี้เปลี่ยนมุมมองของเราในการก้าวจากชีวิตนี้ไปสู่ชีวิตหน้า ความหวังที่เรามีช่วยปลอบประโลมใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลาแห่งการสูญเสียของพวกเขา แม้เราจะเศร้าเสียใจเมื่อสูญเสียผู้เป็นที่รัก แต่ผู้เชื่อในพระเยซูไม่เสียใจเหมือนอย่างคนอื่นๆ “ที่ไม่มีความหวัง” (1ธส.4:13) ความหวังอันแท้จริงเป็นของคนเหล่านั้นที่รู้จักพระองค์
เหตุผลที่กลัว
เมื่อผมยังเป็นเด็ก สนามของโรงเรียนเป็นที่ซึ่งพวกเด็กอันธพาลชอบแสดงอำนาจไปทั่ว และเด็กๆอย่างผมที่ถูกรังแกก็ตอบโต้ได้เพียงเล็กน้อย ขณะที่เราคุดคู้ด้วยความหวาดกลัวต่อหน้าผู้ทรมานเหล่านี้ ยังมีบางอย่างที่แย่ยิ่งกว่านั้น นั่นคือการเยาะเย้ยของพวกเขา “นายกลัวละสิ นายกลัวฉันใช่ไหม ที่นี่ไม่มีใครปกป้องนายได้”
อันที่จริงส่วนใหญ่แล้วผมรู้สึกตกใจกลัวจริงๆ และด้วยเหตุผลที่เหมาะสม ที่ผ่านมาผมเคยถูกชก และผมรู้ว่าไม่อยากเจอแบบนั้นอีก แล้วผมจะทำอะไรได้และจะวางใจใครได้ขณะเมื่อความกลัวจู่โจมผม เมื่อคุณอายุแปดขวบและถูกรังแกโดยเด็กที่อายุมากกว่า ตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า ความกลัวนั้นก็ถูกต้องแล้ว
เมื่อผู้เขียนสดุดีเผชิญหน้าการโจมตี ท่านตอบสนองด้วยความมั่นใจมากกว่าความกลัว เพราะท่านรู้ว่าท่านไม่ได้เผชิญภัยคุกคามเหล่านั้นเพียงลำพัง ท่านบันทึกว่า “มีพระเจ้าอยู่ฝ่ายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่กลัว มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า” (สดด.118:6) ในตอนที่ยังเด็กนั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถเข้าใจระดับความมั่นใจของผู้เขียนสดุดีได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผมเป็นผู้ใหญ่ ผมได้เรียนรู้จากช่วงเวลาหลายปีในการเดินกับพระคริสต์ว่า พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าการคุกคามใดๆที่ทำให้เกิดความกลัว
ภัยคุกคามที่เราเผชิญในชีวิตเป็นเรื่องจริง แต่เราไม่จำเป็นต้องกลัว องค์พระผู้สร้างจักรวาลสถิตอยู่ด้วยกับเรา และการมีพระองค์นั้นก็มากเกินพอแล้ว
ฉันคือใคร
โรเบิร์ต ทอดด์ ลินคอล์นมีชีวิตอยู่ภายใต้เงาของพ่อ คืออับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้เป็นที่รักของชาวอเมริกัน หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไป เป็นเวลานานทีเดียวที่ความเป็นตัวตนของโรเบิร์ตได้ถูกกลืนหายไปด้วยชื่อเสียงอันท่วมท้นของพ่อ เพื่อนสนิทของลินคอล์นชื่อนิโคลัส เมอร์เรย์ บัตเลอร์ ได้เขียนไว้ว่าโรเบิร์ตมักจะพูดว่า “ไม่มีใครอยากได้ผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการสงคราม พวกเขาต้องการลูกของอับราฮัม ลินคอล์น ไม่มีใครอยากได้ผมเป็นอัครราชทูตไปอังกฤษ พวกเขาอยากได้ลูกชายของอับราฮัม ลินคอล์น ไม่มีใครอยากได้ผมเป็นประธานบริษัทพูลแมน พวกเขาอยากได้ลูกของอับราฮัม ลินคอล์น
ความอึดอัดใจเช่นนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่กับแค่บรรดาลูกๆของบุคคลผู้มีชื่อเสียง เราทุกคนล้วนคุ้นเคยกับความรู้สึกที่ว่าเราไม่มีค่าในตัวตนที่เราเป็น แต่ไม่มีที่ใดที่คุณค่าอันลึกซึ้งที่เรามีจะชัดเจนไปกว่าการที่พระเจ้าทรงรักเรา
อัครทูตเปาโลรู้ว่าเราเป็นใครในบาปของเรา และเรากลายเป็นใครในพระคริสต์ ท่านเขียนไว้ว่า “ขณะเมื่อเรายังขาดกำลัง พระคริสต์ก็ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยคนบาปในเวลาที่เหมาะสม” (รม.5:6) พระเจ้าทรงรักเราเพราะสิ่งที่เราเป็น แม้ในเวลาที่เราแย่ที่สุด! เปาโลได้เขียนว่า “แต่พระเจ้าทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่นั้น พระคริสต์ได้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา” (ข้อ 8) พระเจ้าทรงให้คุณค่าแก่เรามากเหลือเกิน จนยอมให้พระบุตรของพระองค์เสด็จไปที่กางเขนแทนเรา
เราคือใคร เราคือบุตรที่รักของพระเจ้า แล้วเราจะต้องการอะไรอีกเล่า
กรุณาอยู่เงียบๆ
กรีนแบงก์ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเป็นชุมชนเล็กๆบนเทือกเขาแอปปาลาเชียนที่ขรุขระ เมืองนี้มีข้อยกเว้นที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับเมืองเล็กๆ อีกหลายสิบเมืองที่อยู่ในบริเวณใกล้กัน คือชาวเมืองทั้ง 142 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองจะไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณไวไฟได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันคลื่นรบกวนจากสัญญาณไวไฟ หรือเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือใกล้กับหอสังเกตการณ์กรีนแบงก์ ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์ที่หันตรงไปยังท้องฟ้า ด้วยเหตุนี้กรีนแบงก์จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ปลอดเทคโนโลยีมากที่สุดในอเมริกาเหนือ
บางครั้งความเงียบคือสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า พระเยซูเองทรงวางแบบอย่างในเรื่องนี้โดยการออกไปยังที่เปลี่ยวและเงียบสงบเพื่อพูดคุยกับพระบิดา ในลูกา 5:16 (TNCV) เราพบว่า “พระเยซูมักจะทรงปลีกตัวไปอยู่ในที่สงบและอธิษฐาน” คำสำคัญในข้อนี้อาจจะอยู่ที่คำว่า มักจะ นี่เป็นสิ่งที่พระคริสต์ทำเป็นประจำ และเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบสำหรับเรา หากพระผู้สร้างจักรวาลยังตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาพระบิดา เราจะยิ่งต้องการพระองค์มากสักเพียงใด!
การออกไปยังสถานที่ที่เงียบสงบเพื่อรับกำลังที่สดใหม่ท่ามกลางการทรงสถิตของพระเจ้าจะช่วยเตรียมเราให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังใหม่จากพระองค์ วันนี้คุณจะพบสถานที่เช่นนี้ได้ที่ไหนบ้าง
รำลึกถึงการเสียสละ
หลังการนมัสการในเช้าวันอาทิตย์ เจ้าของบ้านที่ผมไปพักในกรุงมอสโกพาผมไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารนอกป้อมปราการเครมลิน เมื่อไปถึง เราสังเกตเห็นคู่บ่าวสาวในชุดแต่งงานกำลังเดินไปที่สุสานทหารนิรนามที่นอกกำแพงเครมลิน พวกเขาตั้งใจให้ความสุขในวันแต่งงานของพวกเขามีการรำลึกถึงการเสียสละของผู้ที่ช่วยทำให้พวกเขามีวันนี้ได้ ภาพคู่แต่งงานถ่ายรูปข้างหลุมศพก่อนจะวางช่อดอกไม้ไว้ที่ฐานหลุมศพเป็นภาพที่หดหู่
เราทุกคนมีเหตุผลที่จะขอบคุณผู้อื่นที่ได้เสียสละเพื่อนำความสมบูรณ์มาสู่ชีวิตของพวกเรา ไม่มีการเสียสละใดที่ไม่สำคัญ แต่การเสียสละเหล่านั้นก็ไม่ได้สำคัญที่สุด มีเพียงที่โคนกางเขนเท่านั้นที่เราได้เห็นการทรงเสียสละที่พระเยซูทรงทำเพื่อเรา และเริ่มเข้าใจว่าชีวิตของเราเป็นหนี้องค์พระผู้ช่วยให้รอดอย่างมากมายเพียงใด
การมาร่วมโต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับมหาสนิท ทำให้เราระลึกถึงการทรงเสียสละของพระเยซูโดยการรับขนมปังและเหล้าองุ่น เปาโลบันทึกไว้ว่า “เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากถ้วยนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1คร.11:26) ขอให้เวลาของเราที่โต๊ะขององค์พระผู้เป็นเจ้าเตือนเราให้ดำเนินชีวิตทุกวันในการรำลึกถึงและกตัญญู ต่อทุกสิ่งที่พระเยซูได้ทรงกระทำในเราและเพื่อเรา
บอกเล่าเรื่องราว
โรเบิร์ต ท็อดด์ ลินคอล์น บุตรชายของอับราฮัม ลินคอล์นประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ปรากฏตัวในเหตุการณ์สำคัญสามครั้ง ได้แก่ มรณกรรมของบิดาตนเอง ตลอดจนการลอบสังหารประธานาธิบดีเจมส์ การ์ฟิลด์และวิลเลี่ยม แมคคินลีย์
แต่ให้เราพิจารณาถึงการที่อัครทูตยอห์นได้อยู่ในสี่เหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้แก่ อาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู การทนทุกข์ของพระคริสต์ในสวนเกทเสมนี การตรึงกางเขนและการเป็นขึ้นของพระองค์ ยอห์นรู้ดีว่าทำไม ท่านจึงร่วมอยู่ในช่วงเวลาเหล่านี้ เหตุผลเบื้องหลังที่สำคัญที่สุด คือเพื่อเป็นพยานถึงเหตุการณ์นี้ ในยอห์น 21:24 ท่านบันทึกว่า “สาวกคนนี้แหละที่เป็นพยานถึงเหตุการณ์เหล่านี้และเป็นผู้ที่บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ และเราทราบว่าคำพยานของเขาเป็นความจริง”
ยอห์นยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งในจดหมาย 1 ยอห์น “ซึ่งมีตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ซึ่งเราได้เห็นกับตา ซึ่งเราได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้นเกี่ยวกับพระวาทะแห่งชีวิต” (1:1) ทำไมยอห์นจึงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูที่ท่านได้เป็นประจักษ์พยาน “ซึ่งเราได้เห็นและได้ยินนั้น เราก็ได้ประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย” ท่านกล่าวว่า “เพื่อท่านจะได้ร่วมสามัคคีธรรมกับเรา” (ข้อ 3)
เหตุการณ์ในชีวิตเราอาจเป็นเรื่องไม่คาดคิดหรือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ว่ากรณีใด พระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อให้เราเป็นพยานถึงพระองค์ เมื่อเราพักสงบในพระคุณและพระปัญญาของพระคริสต์ ขอให้เราพูดแทนพระองค์แม้ในช่วงเวลาแห่งชีวิตที่ไม่คาดคิด