ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Arthur Jackson

เล่าถึงความดีของพระเจ้า

ในการนมัสการของคริสตจักรเรานั้นจะมีช่วงเวลาสำหรับให้สมาชิกได้เล่าคำพยานว่าพระเจ้าทรงทำอะไรในชีวิตของพวกเขาบ้าง เป็นที่รู้กันดีว่าป้าแลงฟอร์ดมีเรื่องขอบพระคุณพระเจ้ามากมายในคำพยานของเธอ เมื่อใดก็ตามที่ป้าเล่าถึงการที่เธอกลับใจมาเชื่อพระเจ้า เรารู้ว่าจะกินเวลาการนมัสการไปค่อนข้างมาก คำสรรเสริญแด่พระเจ้าผู้ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธออย่างงดงามนั้นพรั่งพรูออกมาจากใจ

ในทำนองเดียวกันคำพยานของผู้เขียนสดุดีบทที่ 66 ก็อัดแน่นไปด้วยการสรรเสริญ เมื่อท่านเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อประชากรของพระองค์ว่า “จงมาดูสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงกระทำ พระราชกิจของพระองค์น่าครั่นคร้ามท่ามกลางมนุษย์” (ข้อ 5) พระราชกิจของพระองค์ได้แก่ การช่วยกู้อย่างมหัศจรรย์ (ข้อ 6) การปกปักษ์รักษา (ข้อ 9) การทดลองและการฝึกที่ส่งผลให้ประชากรของพระองค์ถูกพาไปยังที่ที่ดีกว่า (ข้อ 10-12)

แม้เราจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้าที่เหมือนกับของผู้เชื่อในพระเยซูคนอื่นๆ แต่ก็มีบางสิ่งที่แตกต่างและเฉพาะเจาะจงในการเดินทางของเราแต่ละคน เคยมีช่วงเวลาใดในชีวิตที่พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองให้คุณรู้จักอย่างเฉพาะเจาะจงไหม ช่วงเวลาเหล่านั้นสมควรถูกเล่าให้แก่ผู้ที่จำเป็นต้องได้ยินว่าพระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์อย่างไรในชีวิตของคุณ “บรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้า ขอเชิญมาฟัง และข้าพเจ้าจะบอกถึงว่าพระองค์ได้ทรงกระทำอะไรแก่ข้าพเจ้าบ้าง” (ข้อ 16)

ประตูเดียวสำหรับทุกคน

ระเบียบปฏิบัติของร้านอาหารในละแวกบ้านของผมในวัยเด็กนั้น เป็นไปตามแบบแผนทางสังคมและเชื้อชาติของช่วงปลายทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960 พวกผู้ช่วยในครัว ได้แก่ แมรี่แม่ครัวและเด็กล้างจานอย่างตัวผมต่างก็เป็นคนผิวดำ แต่ลูกค้าในร้านอาหารเป็นคนผิวขาว ลูกค้าผิวดำสั่งอาหารได้แต่ต้องไปรับที่ประตูหลัง นโยบายดังกล่าวตอกย้ำการปฏิบัติต่อคนผิวดำอย่างไม่เท่าเทียมในยุคนั้น แม้ว่านับจากนั้นเราจะมาไกลแล้ว แต่เรายังมีช่องว่างเรื่องการเติบโตในความสัมพันธ์ต่อกันและกันในฐานะมนุษย์ที่ได้รับการสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า

ข้อความตอนต่างๆในพระคัมภีร์ เช่น โรม 10:8-13 ช่วยให้เราเห็นว่าทุกคนได้รับการต้อนรับสู่ครอบครัวของพระเจ้า ไม่มีประตูหลัง ทุกคนเข้าทางเดียวกัน คือโดยทางความเชื่อในการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเพื่อการชำระและการอภัย คำศัพท์ของพระคัมภีร์สำหรับประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้คือคำว่า ช่วยให้รอด (ข้อ 9, 13) สภาพการณ์ทางสังคมหรือสถานะทางเชื้อชาติของคุณหรือของผู้อื่นไม่ได้รวมอยู่ในสมการนี้ “เพราะมีข้อพระคัมภีร์ว่า ผู้หนึ่งผู้ใดที่เชื่อในพระองค์จะไม่ได้รับความอับอาย เพราะว่าพวกยิวและพวกต่างชาตินั้นไม่ทรงถือว่าต่างกัน ด้วยว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของคนทั้งปวง และทรงโปรดอย่างบริบูรณ์แก่คนทั้งปวงที่ทูลขอต่อพระองค์” (ข้อ 11-12) ใจของคุณเชื่อข้อความในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงพระเยซูไหม ยินดีต้อนรับเข้าสู่ครอบครัวของพระองค์!

ความเมตตาอย่างล้นเหลือ

เควิน ฟอร์ดพนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไม่เคยขาดงานเลยในตลอดยี่สิบเจ็ดปี เมื่อวิดีโอที่เขาแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างนอบน้อมสำหรับของขวัญ
เล็กๆ น้อยๆ ที่ตนได้รับเป็นที่ระลึกจากการให้บริการหลายสิบปีถูกเปิดเผย ผู้คนหลายพันร่วมกันแสดงความเมตตาต่อเขา “มันเหมือนความฝัน ฝันที่เป็นจริง” เขากล่าวเมื่อความพยายามในการระดมทุนมียอดเงิน 250,000 ดอลล่าร์ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เศษ

เยโฮยาคีนกษัตริย์ยูดาห์ผู้ถูกเนรเทศก็เป็นผู้ที่ได้รับความเมตตาอย่างล้นเหลือเช่นกัน พระองค์ถูกจองจำเป็นเวลาสามสิบเจ็ดปีก่อนที่ความเมตตากรุณาของกษัตริย์บาบิโลนจะส่งผลให้พระองค์ได้รับการปล่อยตัว “[กษัตริย์] ได้นำท่านออกมาจากคุก พระองค์ตรัสอย่างเมตตาต่อท่าน และให้นั่งบนที่นั่งเหนือกว่าบรรดากษัตริย์ทั้งหลายที่อยู่ในบาบิโลน” (ยรม.52:31-32) เยโฮยาคีนได้รับฐานะใหม่ เครื่องแต่งกายใหม่และที่อยู่อาศัยใหม่ ชีวิตใหม่ของพระองค์ได้รับการจัดหาอย่างเต็มที่จากกษัตริย์

เรื่องนี้แสดงถึงภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในฝ่ายวิญญาณ เมื่อผู้ที่เชื่อในการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นของพระเยซูได้รับการช่วยกู้จากการที่พวกเขาเหินห่างจากพระเจ้า โดยที่พวกเขาเองและคนอื่นๆไม่ได้มีส่วนใดๆ พวกเขาถูกนำออกจากความมืดและความตายไปสู่ความสว่างและชีวิต พวกเขาถูกนำเข้ามาสู่ครอบครัวของพระเจ้าเพราะพระเมตตาอย่างเหลือล้นของพระองค์

ถ่อมใจแต่มีความหวัง

ลาทรีซเดินออกไปด้านหน้า ตามคำเชิญของศิษยาภิบาลหลังเลิกการนมัสการเมื่อเธอได้รับเชิญให้ทักทายที่ประชุมนั้น ไม่มีใครทันตั้งตัวว่าเธอจะกล่าวถ้อยคำที่ลึกซึ้งและยอดเยี่ยม เธอย้ายไปจากเคนตั๊กกี้หลังจากพายุทอร์นาโดครั้งรุนแรงได้คร่าชีวิตสมาชิกเจ็ดคนในครอบครัวของเธอเมื่อเดือนธันวาคม 2021 “ฉันยังคงยิ้มได้เพราะพระเจ้าทรงอยู่กับฉัน” เธอกล่าว แม้จะชอกช้ำจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น แต่คำพยานของเธอเป็นคำหนุนน้ำใจอันทรงพลังสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก

ถ้อยคำของดาวิดในสดุดี 22 (ซึ่งชี้ถึงการทนทุกข์ของพระเยซู) เป็นคำพูดของผู้บอบช้ำที่รู้สึกว่าถูกพระเจ้าทอดทิ้ง (ข้อ 1) ถูกเหยียดหยามและดูหมิ่น (ข้อ 6-8) ถูกล้อมไว้โดยผู้ล่า (ข้อ 12-13) ท่านรู้สึกอ่อนแอและหมดกำลัง (ข้อ 14-18) แต่ท่านมิได้สิ้นหวัง “ข้าแต่พระเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงห่างไกลเลย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงอุปถัมภ์ ขอทรงเร่งรีบมาช่วยข้าพระองค์ด้วยเถิด” (ข้อ 19) ความท้าทายที่คุณมีในขณะนี้ แม้จะไม่เหมือนของดาวิดหรือลาทรีซ แต่มันสร้างปัญหาให้คุณจริง และคำพูดในข้อ 24 ก็มีความหมายต่อคุณจริง คือ “เพราะพระองค์มิได้ทรงดูถูกหรือสะอิดสะเอียน ต่อความทุกข์ยากของผู้ที่ทุกข์ใจ...เมื่อเขาร้องทูลพระองค์ทรงฟัง” และเมื่อเราได้มีประสบการณ์ในการทรงช่วยเหลือจากพระเจ้า ขอให้เราบอกเล่าถึงความประเสริฐของพระองค์เพื่อผู้อื่นจะได้รู้ (ข้อ 22)

ขอทรงล้างข้าพระองค์!

“โปรดล้างฉันที!” แม้ว่าคำเหล่านั้นไม่ได้เขียนไว้บนรถของผม แต่ก็น่าจะเขียนไว้ ฉะนั้นผมจึงออกไปล้างรถ และคนขับรถคนอื่นๆก็เช่นกันที่ต้องการชำระคราบสิ่งสกปรกที่ตกค้างจากถนนเกลือหลังจากหิมะตกเมื่อไม่นานมานี้ คิวยาวและการบริการก็ช้า แต่มันก็คุ้มค่าแก่การรอคอย ผมจากมาด้วยรถที่สะอาด และเพื่อชดเชยความล่าช้าในการให้บริการ ผมได้บริการล้างรถฟรี!

การได้รับการชำระล้างโดยคนอื่นเป็นผู้จ่าย นั่นคือข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์ พระเจ้าประทานการยกโทษบาปแก่เราผ่านการสิ้นพระชนม์และการเป็นขึ้นของพระเยซู มีใครในพวกเราบ้างที่รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้อง “อาบน้ำ” เมื่อ “สิ่งชั่วร้ายและความสกปรก” ของชีวิตเกาะติดตัวเรา เมื่อเราเปรอะเปื้อนด้วยความคิดที่เห็นแก่ตัวหรือการกระทำที่ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ซึ่งทำให้เราสูญเสียสันติสุขในพระเจ้า สดุดี 51 คือเสียงร้องทูลของดาวิดเมื่อการทดลองมีชัยในชีวิตของท่าน เมื่อเผชิญหน้ากับที่ปรึกษาฝ่ายวิญญาณในบาปของท่าน (ดู 2 ซมอ.12) ท่านร้องว่า “ขอทรงล้างข้าพระองค์!” ท่านอธิษฐานว่า “ขอทรงชำระข้าพระองค์ด้วยต้นหุสบข้าพระองค์จึงจะสะอาด ขอทรงล้างข้าพระองค์ และข้าพระองค์จะขาวกว่าหิมะ” (ข้อ 7)

คุณรู้สึกสกปรกและรู้สึกผิดไหม จงไปหาพระเยซูและจดจำถ้อยคำเหล่านี้ว่า “ถ้าเราสารภาพบาปของเรา พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรม ก็จะทรงโปรดยกบาปของเรา และจะทรงชำระเราให้พ้นจากการอธรรมทั้งสิ้น” (1 ยน.1:9)

ข้อความ ปัญหา และชัยชนะ

จิมมี่ไม่ยอมให้สถานการณ์ความไม่สงบ อันตราย และความยากลำบากขัดขวางเขาไม่ให้เดินทางไปยังหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกเพื่อหนุนใจบรรดาคู่สามีภรรยาผู้รับใช้พระเจ้า ข้อความมากมายที่ส่งกลับมายังทีมของเราอย่างสม่ำเสมอทำให้ทราบถึงอุปสรรคหลายอย่างที่เขาต้องเจอ “เอาล่ะทุกคน เปิดใช้งานเครือข่ายอธิษฐาน สองชั่วโมงที่ผ่านมาเราเดินทางได้แค่สิบหกกิโลเมตร...เครื่องยนต์รถร้อนจัดเป็นสิบรอบแล้ว” อุปสรรคในการเดินทางทำให้เขาไปถึงไม่นานก่อนเที่ยงคืนไม่นานนัก เพื่อเทศนาให้กับผู้คนที่มารอถึงห้าชั่วโมง ต่อมาเราได้รับข้อความที่ต่างออกไป “ช่างเป็นการสามัคคีธรรมที่ยอดเยี่ยมและน่าชื่นใจ...มีคนนับสิบออกมารับการอธิษฐาน เป็นค่ำคืนที่เปี่ยมด้วยฤทธิ์เดชจริงๆ !”

การรับใช้พระเจ้าอย่างสัตย์ซื่ออาจเป็นเรื่องท้าทาย แบบอย่างแห่งความเชื่อมากมายในพระธรรมฮีบรู 11 ก็คงเห็นพ้องกัน เพราะความเชื่อในพระเจ้า ชายและหญิงธรรมดาเหล่านี้ได้เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและยากจะเข้าใจ “บางคนต้องทนต่อคำเยาะเย้ยและการถูกโบยตี และยังถูกล่ามโซ่และถูกขังคุกด้วย” (ข้อ 36) ความเชื่อของพวกเขาทำให้ต้องเสี่ยงอันตรายและพึ่งพาพระเจ้าในผลที่จะตามมา สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเราเช่นกัน การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่ออาจไม่ได้นำเราไปเสี่ยงอันตรายยังที่ห่างไกล แต่อาจนำพาเราไปยังอีกฝั่งของถนน อีกฟากของมหาวิทยาลัย หรือที่นั่งว่างในห้องอาหารหรือห้องประชุม เสี่ยงภัยไหม ก็อาจจะใช่ แต่บำเหน็จที่จะได้รับไม่ว่าในตอนนี้หรือในวันข้างหน้า จะคุ้มค่าต่อความเสี่ยงแน่นอน เมื่อพระเจ้าทรงช่วยเรา

กล้ายืนหยัดเพื่อพระเยซู

ในค.ศ.155 โพลิคาร์ปบิดาแห่งคริสตจักรยุคแรกถูกข่มขู่ว่าจะถูกเผาให้ตายเพราะความเชื่อในพระคริสต์ ท่านตอบว่า “แปดสิบหกปีที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระองค์นั้น พระองค์ไม่เคยทำสิ่งใดผิดต่อข้าพเจ้าเลย แล้วข้าพเจ้าจะหมิ่นพระเกียรติกษัตริย์ผู้ทรงช่วยกู้ข้าพเจ้าได้อย่างไร” การตอบสนองของโพลิคาร์ปสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราเมื่อต้องเผชิญการทดลองที่หนักหน่วงเพราะความเชื่อในพระเยซู กษัตริย์ของเรา

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนพระเยซูจะสิ้นพระชนม์ เปโตรให้คำมั่นอย่างกล้าหาญว่าจะจงรักภักดีต่อพระคริสต์ “ข้าพระองค์จะสละชีวิตเพื่อพระองค์” (ยน.13:37) พระเยซูผู้ทรงรู้จักเปโตรดีกว่าที่เปโตรรู้จักตัวเอง ตรัสตอบว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ก่อนไก่ขันท่านจะปฏิเสธเราสามครั้ง” (ข้อ 38) อย่างไรก็ตามหลังการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู คนๆเดิมที่ปฏิเสธพระองค์ได้เริ่มต้นรับใช้พระองค์อย่างกล้าหาญ และในที่สุดได้ถวายเกียรติแด่พระองค์ด้วยการตายของท่านเอง (ดู 21:16-19)

คุณเป็นโพลิคาร์ปหรือเปโตร หากยอมรับอย่างซื่อตรงพวกเราส่วนใหญ่มัก “ขาดความกล้า” เหมือนเปโตร คือล้มเหลวในการพูดหรือแสดงออกอย่างมีเกียรติในฐานะผู้เชื่อในพระเยซู สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในห้องเรียน ห้องประชุมหรือห้องพัก ไม่ใช่สิ่งที่นิยามตัวตนของเราอย่างถาวร เมื่อความล้มเหลวเหล่านั้นเกิดขึ้น เราต้องสารภาพบาปด้วยใจอธิษฐานและหันกลับมาหาพระเยซู ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และทรงพระชนม์อยู่เพื่อเรา พระองค์จะทรงช่วยให้เราสัตย์ซื่อต่อพระองค์และดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญเพื่อพระองค์ทุกวันในสถานการณ์อันยากลำบาก

เต็นท์ที่อ่อนแรง

“เต็นท์นี้อ่อนแรงแล้ว!” พอลเพื่อนของผมผู้เป็นศิษยาภิบาลของคริสตจักรในกรุงไนโรบี ประเทศเคนย่าพูดขึ้น ตั้งแต่ปี 2015 สมาชิกคริสตจักรนมัสการร่วมกันในสถานที่คล้ายเต็นท์ ตอนนี้พอลเขียนว่า “เต็นท์ของเราขาดและมันรั่วเมื่อฝนตก”

คำพูดของเพื่อนผมเกี่ยวกับโครงสร้างของเต็นท์ที่อ่อนแอนั้นทำให้เรานึกถึงคำพูดของอัครทูตเปาโลเกี่ยวกับความเปราะบางในการดำรงอยู่ของมนุษย์ “กายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป...เราผู้อาศัยในร่างกายนี้จึงครวญคร่ำเป็นทุกข์” (2คร.4:16; 5:4)

แม้เราจะรับรู้ได้ถึงความเปราะบางในการดำรงอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต แต่เราจะตระหนักรู้ถึงมันมากขึ้นเมื่ออายุของเราเพิ่มขึ้น ที่จริงแล้วเวลาขโมยหลายสิ่งไปจากเราโดยไม่รู้ตัว กำลังแห่งวัยหนุ่มสาวพ่ายแพ้ต่อความเป็นจริงแห่งวัยชราอย่างห้ามไม่ได้ (ดู ปญจ.12:1-7) ร่างกายหรือเต็นท์ของเรานั้นเริ่มอ่อนแรงแล้ว

แต่ร่างกายที่อ่อนแรงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความเชื่อที่อ่อนแรง ความหวังและหัวใจของเราไม่จำเป็นต้องร่วงโรยไปเมื่อเราแก่ชราลง เปาโลกล่าวว่า “เหตุฉะนั้นเราจึงไม่ย่อท้อ” (2คร.4:16) พระองค์ผู้ทรงสร้างร่างกายของเราได้ประทับอยู่ที่นั่นด้วยโดยทางพระวิญญาณของพระองค์ และเมื่อร่างกายนี้ไม่สามารถรับใช้เราได้อีกต่อไป เราจะมีที่อาศัยที่จะไม่แตกสลายหรือเจ็บปวด แต่เราจะมี “ที่อาศัยซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้ ตั้งอยู่เป็นนิตย์ในสวรรค์”

วิ่งไปหาพระเยซู

ขณะท่องเที่ยวในปารีส เบ็นและพวกเพื่อนๆได้แวะที่พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของเมือง แม้ว่าเบ็นจะไม่ได้เรียนด้านศิลปะ แต่เขารู้สึกอัศจรรย์ใจขณะเพ่งดูภาพวาดชื่อ อัครสาวกเปโตรและยอห์นกำลังวิ่งไปที่อุโมงค์ในเช้าของวันฟื้นคืนพระชนม์ ซึ่งวาดโดยยูจีน เบอร์นันด์ โดยไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ สีหน้าของเปโตรและยอห์น และตำแหน่งของมืออธิบายถึงความรู้สึกอย่างชัดเจน เชิญชวนผู้ชมให้เข้าอกเข้าใจและร่วมแบ่งปันอารมณ์ที่คุกรุ่นบนภาพนั้น

จากพระธรรมยอห์น 20:1-10 ภาพวาดได้แสดงให้เห็นว่าคนทั้งสองกำลังวิ่งไปยังอุโมงค์ที่ว่างเปล่าของพระเยซู (ข้อ 4) ผลงานชิ้นเอกนี้แสดงถึงความขัดแย้งทางอารมณ์ของสาวกทั้งสอง แม้ว่าในเวลานั้นความเชื่อของพวกเขายังไม่สมบูรณ์ แต่เขากำลังวิ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง และในที่สุดพระเยซูผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ได้ทรงปรากฏพระองค์เองต่อพวกเขา (ข้อ 19-29) การแสวงหาของพวกเขาไม่ได้แตกต่างไปจากผู้แสวงหาพระเยซูคนอื่นๆในตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าเราอาจไม่ได้มีประสบการณ์ของอุโมงค์ที่ว่างเปล่าหรือได้เห็นผลงานศิลปะที่น่าอัศจรรย์ใจ แต่เรายังคงมองเห็นข่าวดีนั้นได้อย่างชัดเจน พระคัมภีร์บอกเราให้มีความหวัง แสวงหา และวิ่งไปในทิศทางของพระเยซูและความรักของพระองค์ แม้ในยามที่เรามีความสงสัย มีคำถาม และความไม่แน่นอน ในวันพรุ่งนี้ขณะที่เราเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ ขอให้เราระลึกถึงความสัตย์ซื่อของพระเจ้า “เจ้าจะแสวงหาเราและพบเรา เมื่อเจ้าแสวงหาเราด้วยสิ้นสุดใจของเจ้า” (ยรม.29:13)

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา