คนรักพระคัมภีร์
เจ้าสาวแสนสวยคล้องแขนพ่อที่ภาคภูมิใจเอาไว้และเตรียมเดินไปยังแท่นประกอบพิธี แต่ผู้ที่เดินนำหน้าคือหลานชายวัยสิบสามเดือนของเธอ แทนที่เขาจะถือ “แหวน” อย่างที่ปฏิบัติกัน เขากลับเป็น “ผู้ถือพระคัมภีร์” ด้วยวิธีนี้เองเจ้าสาวและเจ้าบ่าวผู้เชื่อที่อุทิศตัวในพระเยซู ต้องการเป็นพยานถึงความรักที่พวกเขามีต่อพระคัมภีร์ เด็กน้อยเดินไปยังด้านหน้าคริสตจักรโดยวอกแวกเพียงเล็กน้อย บนปกหนังของพระคัมภีร์นั้นมีรอยฟันของเด็กน้อยอยู่ ซึ่งเป็นภาพประกอบที่ชัดเจนเล็งถึงผู้เชื่อในพระคริสต์หรือผู้ที่ปรารถนาจะรู้จักกับพระองค์ ที่จะชิมและรับเอาพระวจนะนั้นเข้าไปภายใน
สดุดี 119 ยกย่องคุณค่าอันถ้วนทั่วของพระคัมภีร์ เมื่อประกาศถึงความสุขของผู้ที่ดำเนินชีวิตตามพระธรรมของพระเจ้าแล้ว (ข้อ 1) ผู้เขียนร่ายบทกวียกย่องชื่นชมพระคัมภีร์ รวมถึงความรักที่ท่านมีต่อพระวจนะนั้น “ขอทรงพิเคราะห์ว่าข้าพระองค์รักข้อบังคับของพระองค์มากเท่าใด” (ข้อ 159) “ข้าพระองค์เกลียดและสะอิดสะเอียนต่อความเท็จ แต่ข้าพระองค์รักพระธรรมของพระองค์” (ข้อ 163) “จิตใจของข้าพระองค์ปฏิบัติตาม บรรดาพระโอวาทของพระองค์ ข้าพระองค์รักพระโอวาทนั้นมากยิ่ง” (ข้อ 167)
เราจะกล่าวถึงความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์ผ่านวิถีชีวิตของเราอย่างไร วิธีหนึ่งที่จะทดสอบความรักที่เรามีต่อพระองค์ คือการถามว่า ฉันกำลังมีส่วนกับอะไร ฉันเคย “ลิ้มรส” ความหวานชื่นของถ้อยคำเหล่านั้นไหม จากนั้นให้ตอบรับคำเชิญนี้ที่จะ “ชิมดูแล้วจะเห็นว่าพระเจ้าประเสริฐ” (34:8)
การแตกสลายที่เป็นพร
เขาหลังค่อมและต้องเดินโดยใช้ไม้เท้า แต่การเป็นผู้เลี้ยงฝ่ายวิญญาณในตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือหลักฐานที่บอกว่า เขาพึ่งพาในพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งกำลังของเขา ในปี ค.ศ. 1993 ศาสนาจารย์วิลเลียม บาร์เบอร์ ที่ 2 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ทำให้อ่อนเพลียซึ่งส่งผลให้ข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดเข้าด้วยกัน เขาได้รับคำพูดที่ไม่ค่อยถนอมน้ำใจนักว่า “บาร์เบอร์ คุณอาจต้องคิดที่จะทำอย่างอื่นนอกจากการเป็นศิษยาภิบาล เพราะคริสตจักรคงจะไม่ต้องการ[คนพิการ]มาเป็นศิษยาภิบาล” แต่บาร์เบอร์เอาชนะคำพูดที่น่าเจ็บปวดนี้ พระเจ้าไม่เพียงใช้เขาเป็นศิษยาภิบาล แต่เขายังเป็นกระบอกเสียงที่ทรงพลังและน่าเคารพให้กับคนด้อยโอกาสและคนชายขอบด้วย
แม้ผู้คนในโลกนี้อาจจะไม่รู้ทั้งหมดว่าควรปฏิบัติเช่นไรต่อคนพิการ แต่พระเจ้าทรงรู้ ผู้คนที่ให้คุณค่ากับความงาม ความแข็งแรง และสิ่งต่างๆที่ใช้เงินซื้อหามาได้ก็อาจพลาดสิ่งดีที่มาพร้อมกับการแตกสลายซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ คำถามชวนคิดของยากอบและหลักการที่แฝงอยู่นั้นควรค่าอย่างยิ่งที่จะนำมาพิจารณา “พระเจ้าได้ทรงเลือกคนยากจนในโลกนี้ให้เป็นคนมั่งมีในความเชื่อ และให้เป็นผู้รับมรดกแผ่นดินซึ่งพระองค์ทรงสัญญาไว้แก่ผู้ที่รักพระองค์มิใช่หรือ” (ยก.2:5) เมื่อสุขภาพ เรี่ยวแรง หรือสิ่งอื่นๆเสื่อมถอยลง ความเชื่อของคนคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องเสื่อมถอยตามไปด้วย แต่อาจตรงกันข้ามด้วยพระกำลังจากพระเจ้า สิ่งที่เราขาดแคลนจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เราไว้วางใจพระองค์มากขึ้น พระองค์ทรงสามารถใช้การแตกสลายของเราเช่นเดียวกับในกรณีของพระเยซู เพื่อนำสิ่งดีมาสู่โลกของเรา
เกราะป้องกันในพระคริสต์
เพื่อนใหม่ของศิษยาภิบาลเบลีย์ได้เล่าถึงเรื่องการเสพติดและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเขาให้ฟัง แม้ชายหนุ่มคนนี้เคยเป็นผู้เชื่อในพระเยซู แต่เนื่องจากเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศและใช้สื่อลามกตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงประสบปัญหาที่ใหญ่เกินตัว และภายใต้ความสิ้นหวังนั้น เขาได้ยื่นมือออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ
ในฐานะผู้เชื่อในพระคริสต์ เราทำสงครามกับกองกำลังแห่งความชั่วร้ายที่มองไม่เห็น (2 คร.10:3-6) แต่เราได้รับศาสตราวุธเพื่อทำสงครามในฝ่ายวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่อาวุธฝ่ายโลก แต่เป็น “ฤทธิ์เดชจากพระเจ้า อาจทำลายป้อมได้” (ข้อ 4) นั่นหมายความว่าอย่างไร “ป้อม” คือที่ที่มั่นคงปลอดภัย มีพระคัมภีร์บางฉบับระบุว่าอาวุธที่พระเจ้ามอบให้เราประกอบด้วย “อาวุธแห่งความชอบธรรมในมือขวาและอาวุธสำหรับป้องกันตนเองในมือซ้าย” (6:7 NLT) เอเฟซัส 6:13-18 เพิ่มรายการสิ่งที่จะช่วยปกป้องเราอันประกอบด้วย พระคัมภีร์ ความเชื่อ ความรอด การอธิษฐาน และการสนับสนุนจากผู้เชื่อคนอื่นๆ เมื่อต้องเผชิญกับกองกำลังที่ใหญ่และเข้มแข็งกว่า อาวุธเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างได้ โดยทำให้เราสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงและไม่ล้มลง
พระเจ้ายังใช้ผู้ให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต่อสู้กับกองกำลังที่ใหญ่เกินจะรับมือได้เพียงลำพัง ข่าวดีคือ ในพระเยซูนั้น เราไม่จำเป็นต้องยอมแพ้เมื่อเราตกที่นั่งลำบาก เพราะว่าเรามีเกราะป้องกันของพระเจ้า!
โปรดใช้ข้าพระองค์
ครั้งหนึ่งเจมส์ มอร์ริสได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฆราวาสผู้ไม่รู้หนังสือแต่มีใจเมตตา” พระเจ้าทรงใช้เขาเพื่อนำออกัสตัส ท็อปเลดีให้มาถึงความเชื่อที่ช่วยให้รอดในพระเยซูคริสต์ ท็อปเลดี ซึ่งเป็นนักประพันธ์แห่งศตวรรษที่สิบแปดผู้เขียนเพลงนมัสการอมตะชื่อ “พระเยซูเปรียบดังศิลา” เล่าถึงตอนที่เขาได้ยินมอร์ริสเทศนาว่า “แปลกที่ผม...ถูกนำเข้ามาใกล้พระเจ้า...ในท่ามกลางผู้เชื่อพระเจ้ากลุ่มเล็กๆที่มารวมตัวกันในโรงนา ภายใต้พันธกิจของคนที่สะกดชื่อตัวเองเกือบจะไม่ได้ นี่เป็นการทำงานของพระเจ้าอย่างแน่นอน และเป็นการอัศจรรย์อย่างยิ่ง”
ที่จริงแล้วพระเจ้าทรงกระทำสิ่งอัศจรรย์ในสถานที่ซึ่งเหนือความคาดหมาย ผ่านทางผู้คนที่เราอาจถือว่า “ขาดคุณสมบัติ” หรือเป็นคนธรรมดา ใน 1 โครินธ์ 1 เปาโลเตือนความจำของผู้เชื่อในพระเยซูว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความโดดเด่น “มีน้อยคนที่โลกนิยมว่ามีปัญญา มีน้อยคนที่มีอำนาจ มีน้อยคนที่มีตระกูลสูง” (ข้อ 26) แต่ถึงแม้ผู้เชื่อในเมืองโครินธ์จะเป็นเพียงคนธรรมดา แต่โดยพระคุณของพระเจ้าพวกเขาไม่ได้ขาดของประทานหรือไร้ประโยชน์เลย (ดูข้อ 7) และพระเจ้าผู้ทรงสามารถทำให้คนที่ชอบโอ้อวดถ่อมใจลง (ข้อ 27-29) ได้ทรงทำงานในท่ามกลางพวกเขาและผ่านทางพวกเขา
คุณมองว่าตัวเองเป็นคน “ธรรมดา” “พื้นๆ” หรือแม้แต่ “ด้อยกว่าคนทั่วไป” หรือไม่ อย่ากังวลเลย ถ้าคุณมีพระเยซูและเต็มใจให้พระองค์ทรงใช้คุณ คุณก็ดีเพียงพอแล้ว ขอให้คุณอธิษฐานจากใจว่า “พระเจ้าข้า โปรดใช้ข้าพระองค์!”
วิกฤตชีวิตและความเชื่อที่หยั่งลึก
ในระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ตอนเช้าวันเสาร์ พ่อคนหนึ่งรู้สึกสับสนเพราะลูกสาวสุดที่รักและเอาแต่ใจของเขาได้กลับมาในเมือง แต่เขารู้สึกอึดอัดใจที่เธออยู่ในบ้านเพราะพฤติกรรมของเธอ ส่วนผู้ร่วมกลุ่มอีกคนหนึ่งสุขภาพไม่ดีจากโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเธอและอายุที่มากขึ้น การต้องไปพบหมอหลายคนในหลายต่อหลายครั้งก็ช่วยให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เธอรู้สึกท้อแท้ และโดยการทรงนำของพระเจ้า มาระโกบทที่ 5 จึงเป็นข้อพระธรรมที่พวกเขาศึกษากันในวันนั้น หลังจากเรียนเสร็จแล้ว ทุกคนได้สัมผัสถึงความหวังและความชื่นชมยินดี
ในมาระโก 5:23 ไยรัสพ่อของเด็กที่ป่วยร้องทูลอ้อนวอนว่า “ลูกสาวเล็กๆของข้าพระองค์เจ็บ เกือบจะตายแล้ว” ระหว่างที่พระเยซูเดินทางไปหาเด็กหญิงคนนั้น พระองค์ได้รักษาหญิงนิรนามผู้มีปัญหาสุขภาพมาเป็นเวลานาน โดยการตรัสว่า “ลูกหญิงเอ๋ย ที่เจ้าหายโรคนั้นก็เพราะเจ้าเชื่อ” (ข้อ 34) ไยรัสและหญิงคนนั้นมีความเชื่อในพระเยซู จึงทำให้พวกเขาแสวงหาพระองค์และพวกเขาก็ไม่ผิดหวัง แต่ในทั้งสองกรณีนี้ ก่อนที่พวกเขาจะมาพบพระเยซู การเจ็บป่วยของพวกเขาเปลี่ยนแปลงจาก “แย่ไปสู่แย่ยิ่งกว่าเดิม” ก่อนที่พวกเขาจะดีขึ้น
ภาวะวิกฤตของชีวิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่เลือกหญิงหรือชาย อายุ เชื้อชาติหรือชนชั้น เราทุกคนล้วนเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้เรามีคำถามที่ต้องออกไปค้นหาคำตอบ แทนที่จะปล่อยให้ปัญหามาทำให้เราออกห่างจากพระเยซู ขอให้เราพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะใช้้ปัญหานั้นนำเราไปสู่ความเชื่อที่หยั่งลึกมากขึ้นในพระองค์ผู้ทรงทราบในทันทีที่เราแตะต้องพระองค์ (ข้อ 30) และผู้ทรงรักษาเราให้หายดี
วันที่ 5 – พระคุณสำหรับวันนี้ | ยามมืดมนกับคำอธิษฐานจากใจ
ยามมืดมนกับคำอธิษฐานจากใจ
เมื่อพบความยากลำบากของการปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ สตรีที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งถึงกับกล่าวออกมาว่า “ฉันอยู่ในมุมมืด” ซึ่งห้าคำนี้บ่งบอกถึงความเจ็บปวดสาหัสที่อยู่ภายในของเธอ และท่ามกลางความท้าทายนั้น เธอยอมรับว่าเธอต้องต่อสู้กับความสิ้นหวังและหมดกำลังใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงเธอออกจากความรู้สึกดำดิ่ง คือการแบ่งปันความทุกข์กับเพื่อนที่ห่วงใย
เราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่อ่อนแอ ซึ่งอาจกินเวลายาวนานเป็นชั่วโมง วัน หรือหลายเดือน การต่อสู้ในช่วงเวลาเหล่านี้เปรียบเหมือนการเดินผ่านหุบเขาและทางทุรกันดารซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลก แต่การจะผ่านไปได้ด้วยดีเป็นเรื่องที่ท้าทาย และการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น
เราได้เรียนรู้ผ่านคำอธิษฐานของดาวิดในสดุดี 143 ซึ่งเป็นช่วงมืดมนในชีวิตของเขา เราไม่ทราบถึงสถานการณ์ที่เขาเผชิญอย่างแน่ชัด แต่คำอธิษฐานของเขาสอนเราให้ อธิษฐานอย่างตรงไปตรงมาและเต็มไปด้วยความหวัง “เพราะศัตรูไล่กวดข้าพระองค์ มันขยี้ชีวิตข้าพระองค์ลงถึงดิน มันได้กระทำให้ข้าพระองค์นั่งในที่มืด เหมือนคนที่ตายนานแล้ว เพราะฉะนั้นใจของข้าพระองค์อ่อนระอาอยู่ในข้าพระองค์จิตใจภายในข้าพระองค์ก็กลัวลาน” (ข้อ 3-4) สำหรับผู้เชื่อในพระเยซู การยอมรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจกับตัวเอง กับเพื่อนสนิท หรือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ขอให้เราเข้าหาพระเจ้า (ทั้งความคิดและทั้งหมดของเรา) ด้วยการอธิษฐานอ้อนวอนอย่างจริงใจเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในข้อ 7-10 แล้วช่วงเวลาที่มืดมนจะกลับกลายเป็นเวลาแห่งการอธิษฐานที่ลึกซึ้ง ด้วยการแสวงหาทางสว่างแห่งชีวิตที่พระเจ้าเท่านั้นที่ประทานให้ได้
เขียนโดย อาเธอร์ แจคสัน
คิดใคร่ครวญ :
ท่ามกลางเวลามืดมิดที่สุด คุณมักตอบสนองอย่างไร? เหตุใดจึงยากที่จะยอมรับปัญหาของเราอย่างตรงไปตรงมา ทั้งต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง และต่อพระเจ้า?
อธิษฐาน :
พระบิดา ขอทรงฟื้นฟูข้าพระองค์และให้ความหวังในพระองค์นั้นคงอยู่ และเมื่อข้าพระองค์รู้สึกดำดิ่ง เพราะความมืดมิดคืบคลานเข้ามาในชีวิตทั้งภายในและภายนอก โปรดช่วยข้าพระองค์เข้าหาพระองค์ด้วยการอธิษฐาน
วันที่ 1- พระคุณสำหรับวันนี้ | อุ้งพระหัตถ์ที่ปลอดภัย
อุ้งพระหัตถ์ที่ปลอดภัย
ชีวิตของดั๊ก เมอร์คีย์เป็นเหมือนกับเกลียวเชือกที่กำลังขาดลงทีละเส้น “แม่ของผมพ่ายแพ้ให้กับโรคมะเร็งที่เธอต่อสู้มายาวนาน ความสัมพันธ์กับคนรักที่คบกันมานานได้พังทลายลง สถานการณ์ทางการเงินที่ย่ำแย่ อาชีพการงานที่ดูไร้อนาคต… ความมืดมิดทางอารมณ์และจิตวิญญาณภายในและรอบตัวผมนั้นฝังลึก ทำให้ผมอ่อนกำลังและดูเหมือนจะก้าวผ่านมันไปไม่ได้” ดั๊กผู้เป็นศิษยาภิบาลและประติมากรได้บันทึกไว้ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้รวมเข้ากับการใช้ชีวิตในห้องใต้หลังคาที่คับแคบ ได้กลายเป็นที่มาของประติมากรรมชื่อที่หลบภัย ของเขา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอุ้งพระหัตถ์อันแข็งแรงและมีรอยตะปูของพระคริสต์ที่โอบอุ้มเราไว้เหมือนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย
ดั๊กอธิบายถึงรูปแบบงานศิลปะของเขาว่า “ประติมากรรมชิ้นนี้คือการเชื้อเชิญของพระคริสต์ให้เราเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในพระองค์”
ดาวิดเขียนสดุดี 32 ในฐานะผู้ที่ได้พบที่ปลอดภัยอันสูงสุด นั่นคือในพระเจ้า พระองค์ประทานการภัยโทษจากบาปให้กับเรา (ข้อ 1-5) และหนุนใจให้เราอธิษฐานในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย (ข้อ 6) ในข้อ 7 ผู้เขียนสดุดีประกาศความไว้วางใจในพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงเป็นที่ซ่อนของข้าพระองค์ พระองค์ทรงสงวนข้าพระองค์ไว้จากความยากลำบาก พระองค์ทรงล้อมข้าพระองค์ไว้ด้วยเพลงฉลองการช่วยกู้”
เมื่อมีปัญหาคุณหันไปทางใด เป็นการดีที่ได้รู้ว่าเมื่อเชือกที่เปราะบางแห่งการดำรงอยู่บนโลกนี้ของเรากำลังจะขาดลง เราสามารถวิ่งไปหาพระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียมความปลอดภัยนิรันดร์ผ่านราชกิจแห่งการยกโทษของพระเยซูได้
เขียนโดย อาเธอร์ แจคสัน
คิดใคร่ครวญ :
การได้พบที่พักพิง ที่ปลอดภัย และการอภัยในพระเยซูมีความหมายกับชีวิตที่ผ่านมาหรือชีวิตในวันข้างหน้าของคุณอย่างไร พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นในเรื่องที่คุณห่วงใย กลัว และเป็นภาระสำหรับคุณอย่างไร
อธิษฐาน :
พระบิดา พระองค์ทรงรู้ถึงช่วงเวลาที่เราพยายามต่อชิ้นส่วนของชีวิตเข้าด้วยกันโดยไม่มีพระองค์ ขอช่วยให้เราละทิ้งแผนการความปลอดภัยที่ผิดพลาดและรีบกลับไปหาพระองค์
ชัยชนะแห่งความเชื่อ
การตรวจสุขภาพตามปกติของคาลวินน้อยวัยสี่ขวบ เผยให้เห็นจุดที่ไม่คาดคิดสองสามจุดบนร่างกายของเขา ขณะไปพบแพทย์เขาได้รับการฉีดยาและบริเวณที่ฉีดยาถูกปิดไว้ด้วยผ้าปิดแผล เมื่อถึงเวลาต้องแกะพลาสเตอร์เล็กๆออก คาลวินร้องไห้กระซิกด้วยความกลัว พ่อพยายามปลอบลูกชายว่า “คาลวิน ลูกรู้ว่าพ่อไม่มีวันทำให้ลูกเจ็บ” พ่อต้องการให้ลูกชายไว้ใจเขามากกว่าที่จะกลัวการแกะผ้าปิดแผล
ไม่ใช่แค่เด็กอายุสี่ขวบที่รู้สึกกลัวเมื่อเผชิญกับความรู้สึกไม่สบายใจ ทั้งการผ่าตัด การพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก เรื่องที่เป็นอุปสรรคทางความคิดหรือจิตใจ และอื่นๆอีกมากที่กระตุ้นให้เรากลัว ทอดถอนใจ ร้องไห้ และคร่ำครวญ
ช่วงเวลาหนึ่งที่ดาวิดเต็มไปด้วยความกลัว คือตอนที่พบว่าตัวท่านอยู่ในดินแดนฟิลิสเตียขณะหลบหนีกษัตริย์ซาอูลที่อิจฉาริษยา เมื่อมีคนจำดาวิดได้ ท่านจึงหวาดวิตกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับท่าน (ดู 1 ซมอ.21:10-11) “ดาวิด...กลัวอาคีช กษัตริย์เมืองกัท” (ข้อ 12) เมื่อครุ่นคิดถึงสถานการณ์ที่ไม่สบายใจนี้ ดาวิดประพันธ์ว่า “เมื่อข้าพระองค์กลัว ข้าพระองค์วางใจในพระองค์...ในพระเจ้า ข้าพระองค์วางใจอย่างปราศจากความกลัว” (สดด.56:3-4)
เราจะทำอย่างไรเมื่อความไม่สบายใจในชีวิตกระตุ้นความกลัวของเรา เราสามารถไว้วางใจพระบิดาในสวรรค์ของเราได้
พระเจ้าทรงเป็นพระผู้ช่วยของข้าพเจ้า
ราเล่ย์ เพื่อนของผมกำลังพุ่งทะยานเข้าสู่วันครบรอบวันเกิดปีที่แปดสิบห้า! เขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับผมตั้งแต่เราได้คุยกันครั้งแรกเมื่อกว่าสามสิบห้าปีก่อน เมื่อเร็วๆนี้เขาเล่าว่าตั้งแต่เกษียณ เขาเขียนต้นฉบับหนังสือเสร็จหนึ่งเล่ม และเริ่มต้นงานพันธกิจอื่นอีก ผมรู้สึกทึ่งแต่ไม่แปลกใจ
ในพระคัมภีร์ คาเลบในวัยแปดสิบห้าก็ยังไม่พร้อมที่จะหยุดเช่นกัน ความเชื่อและการอุทิศตนต่อพระเจ้าค้ำจุนท่านตลอดหลายสิบปีของการใช้ชีวิตในถิ่นทุรกันดาร และในการสู้รบเพื่อรักษามรดกที่พระเจ้าได้ทรงสัญญาไว้กับอิสราเอล ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังมีกำลังแข็งแรง เช่นเดียวกับวันที่โมเสสใช้ให้ข้าพเจ้าไป กำลังของข้าพเจ้าในการทำศึกสงคราม หรือออกไปและเข้ามาเดี๋ยวนี้ก็เป็นเหมือนครั้งนั้น” (ยชว.14:11) ท่านจะเอาชนะด้วยวิธีใด คาเลบประกาศว่า “พระเจ้าจะทรงสถิตกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็จะขับไล่เขาออกไปได้ ดังที่พระเจ้าตรัสไว้แล้ว” (ข้อ 12)
พระเจ้าจะทรงช่วยเหลือทุกคนที่ไว้วางใจในพระองค์อย่างสุดใจโดยไม่เกี่ยงเรื่องอายุ สถานะในชีวิต หรือสถานการณ์ เราเห็นพระเจ้าได้ในองค์พระเยซู พระผู้ช่วยให้รอดของเรา หนังสือพระกิตติคุณทำให้เราเกิดความเชื่อในพระเจ้าผ่านสิ่งที่เรามองเห็นในพระคริสต์ พระเยซูทรงสำแดงความห่วงใยและพระเมตตาของพระเจ้าต่อทุกคนที่ขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ดังที่ผู้เขียนฮีบรูยอมรับว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระผู้ช่วยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่กลัว” (ฮบ.13:6) ไม่ว่าเราจะเป็นเด็กหรือคนชรา คนอ่อนแอหรือแข็งแรง ถูกพันธนาการหรือเป็นอิสระ กระฉับกระเฉงหรือเดินกะเผลก แล้วจะมีอะไรที่ขัดขวางไม่ให้เราขอความช่วยเหลือจากพระองค์ในวันนี้ได้