สมรรถภาพฝ่ายวิญญาณ
เทรเข้าฟิตเนสเป็นประจำและนั่นทำให้เห็นผลที่เกิดขึ้น ไหล่ของเขากว้าง มัดกล้ามของเขาเด่นชัด และต้นแขนของเขามีขนาดใกล้เคียงกับต้นขาของผม สภาพร่างกายของเขาทำให้ผมอยากชวนเขาคุยในเรื่องฝ่ายวิญญาณ ผมถามเขาว่าความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อจะมีร่างกายที่แข็งแรงสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างเขากับพระเจ้าด้วยหรือไม่ ถึงแม้เราจะไม่ได้คุยเจาะลึกมากนัก แต่เทรรับรู้ถึง “พระเจ้าในชีวิตของเขา” เราคุยกันนานพอที่เขาจะให้ผมดูรูปตอนที่เขาหนักร้อยแปดสิบกว่ากิโลกรัม ไม่แข็งแรงและสุขภาพย่ำแย่ การเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายอย่างมหัศจรรย์
1 ทิโมธี 4:6-10 เกี่ยวข้องกับการฝึกฝนทางร่างกายและจิตวิญญาณ “จงฝึกตนในทางธรรม เพราะถ้าการฝึกทางกายนั้นมีประโยชน์อยู่บ้าง ทางของพระเจ้าก็มีประโยชน์ในทุกทาง เพราะทรงไว้ซึ่งประโยชน์สำหรับชีวิตปัจจุบันและชีวิตอนาคตด้วย” (ข้อ 7-8) สมรรถภาพฝ่ายร่างกายภายนอกของเราไม่ได้ทำให้สถานภาพระหว่างเรากับพระเจ้าเปลี่ยนไป สมรรถภาพฝ่ายวิญญาณนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตัดสินใจที่จะเชื่อในพระเยซูผู้ทรงทำให้เราได้รับการยกโทษ จากจุดนั้นการฝึกฝนเพื่อดำเนินชีวิตที่ชอบธรรมจึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งรวมถึงการ “เจริญด้วยคำสอนแห่งความเชื่อ และด้วยหลักธรรมอันดี...” (ข้อ 6) และการดำเนินชีวิตโดยพระกำลังของพระเจ้าเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบิดาในสวรรค์ของเรา
บนเส้นทางที่อันตราย
ระหว่างที่เดินออกกำลังในยามเช้า ผมสังเกตเห็นว่ามีรถจอดอยู่บนถนนในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง คนขับไม่ทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น เนื่องจากเธอกำลังหลับและดูเหมือนจะเมาด้วย สถานการณ์นี้เป็นอันตรายจนผมต้องทำอะไรบางอย่าง ผมพยายามปลุกเธอให้ตื่นและย้ายเธอไปนั่งในฝั่งของผู้โดยสาร เพื่อผมจะเข้าไปยังที่นั่งคนขับและขับรถพาเธอไปยังที่ปลอดภัย
เราไม่ได้เผชิญกับอันตรายทางด้านร่างกายเท่านั้น ที่กรุงเอเธนส์เมื่อเปาโลเห็นคนที่มีปัญญาของโลกตกอยู่ในอันตรายฝ่ายวิญญาณเพราะ “รูปเคารพเต็มไปทั้งเมือง” ท่านรู้สึก “เดือดร้อนวุ่นวายใจ” (กจ.17:16) ท่านตอบสนองต่อผู้คนที่หลงไปกับแนวคิดที่ไม่นับถือพระคริสต์ โดยการเล่าถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงมีในพระเยซูและผ่านทางพระเยซู (ข้อ18,30-31) และบางคนที่ได้ยินก็เชื่อ (ข้อ 34)
การแสวงหาความหมายสูงสุดของชีวิตที่นอกเหนือไปจากความเชื่อในพระคริสต์เป็นสิ่งที่อันตราย คนเหล่านั้นที่ได้พบกับการอภัยและการเติมเต็มอย่างแท้จริงในพระเยซูล้วนได้รับการช่วยกู้ให้หลุดพ้นจากการแสวงหาที่นำไปสู่ทางตัน และต่างได้รับมอบข่าวประเสริฐเรื่องการคืนดี (ดู 2 คร.5:18-21) การแบ่งปันข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูแก่ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความมัวเมาในชีวิต ยังคงเป็นหนทางที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อดึงผู้คนให้หลุดพ้นจากเส้นทางที่อันตราย
สุขภาพของหัวใจ
หัวใจมนุษย์เป็นอวัยวะที่น่าทึ่ง สถานีสูบน้ำขนาดเท่ากำปั้นนี้มีน้ำหนักราว 200 ถึง 425 กรัม ในแต่ละวันจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้งและสูบฉีดเลือดราว 7,600 ลิตรผ่านหลอดเลือดในร่างกายที่ยาวประมาณ 97,000 กิโลเมตร! ด้วยภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญและเป็นงานที่หนัก เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมสุขภาพของหัวใจจึงเป็นศูนย์กลางของความเป็นอยู่ที่ดีของร่างกายทุกส่วน วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สนับสนุนให้เราสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพเพราะสถานภาพของหัวใจเรานั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของเรา
แม้ว่าวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์จะให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับหัวใจในร่างกายของเรา แต่พระเจ้าตรัสด้วยสิทธิอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าเกี่ยวกับ “หัวใจ”อีกประเภทหนึ่ง พระองค์ทรงกล่าวถึง “ศูนย์กลาง” ด้านความคิด อารมณ์ วิญญาณและศีลธรรมของความเป็นเรา เนื่องจากหัวใจเป็นหน่วยประมวลผลกลางของชีวิต จึงจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง “จงรักษาใจของเจ้าด้วยความระวังระไวรอบด้าน เพราะชีวิตเริ่มต้นออกมาจากใจ” (สภษ.4:23) การรักษาใจจะช่วยเราในการพูด (ข้อ 24) ทำให้เรามองสิ่งต่างๆอย่างพินิจพิเคราะห์ (ข้อ 25) และเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับย่างเท้าของเรา (ข้อ 27) ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดหรือช่วงชีวิตใด เมื่อเรารักษาใจของเรา ชีวิตของเราจะได้รับการสงวนรักษา ความสัมพันธ์ของเราได้รับการปกป้อง และพระเจ้าจะทรงได้รับเกียรติ
คนรักพระคัมภีร์
เจ้าสาวแสนสวยคล้องแขนพ่อที่ภาคภูมิใจเอาไว้และเตรียมเดินไปยังแท่นประกอบพิธี แต่ผู้ที่เดินนำหน้าคือหลานชายวัยสิบสามเดือนของเธอ แทนที่เขาจะถือ “แหวน” อย่างที่ปฏิบัติกัน เขากลับเป็น “ผู้ถือพระคัมภีร์” ด้วยวิธีนี้เองเจ้าสาวและเจ้าบ่าวผู้เชื่อที่อุทิศตัวในพระเยซู ต้องการเป็นพยานถึงความรักที่พวกเขามีต่อพระคัมภีร์ เด็กน้อยเดินไปยังด้านหน้าคริสตจักรโดยวอกแวกเพียงเล็กน้อย บนปกหนังของพระคัมภีร์นั้นมีรอยฟันของเด็กน้อยอยู่ ซึ่งเป็นภาพประกอบที่ชัดเจนเล็งถึงผู้เชื่อในพระคริสต์หรือผู้ที่ปรารถนาจะรู้จักกับพระองค์ ที่จะชิมและรับเอาพระวจนะนั้นเข้าไปภายใน
สดุดี 119 ยกย่องคุณค่าอันถ้วนทั่วของพระคัมภีร์ เมื่อประกาศถึงความสุขของผู้ที่ดำเนินชีวิตตามพระธรรมของพระเจ้าแล้ว (ข้อ 1) ผู้เขียนร่ายบทกวียกย่องชื่นชมพระคัมภีร์ รวมถึงความรักที่ท่านมีต่อพระวจนะนั้น “ขอทรงพิเคราะห์ว่าข้าพระองค์รักข้อบังคับของพระองค์มากเท่าใด” (ข้อ 159) “ข้าพระองค์เกลียดและสะอิดสะเอียนต่อความเท็จ แต่ข้าพระองค์รักพระธรรมของพระองค์” (ข้อ 163) “จิตใจของข้าพระองค์ปฏิบัติตาม บรรดาพระโอวาทของพระองค์ ข้าพระองค์รักพระโอวาทนั้นมากยิ่ง” (ข้อ 167)
เราจะกล่าวถึงความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์ผ่านวิถีชีวิตของเราอย่างไร วิธีหนึ่งที่จะทดสอบความรักที่เรามีต่อพระองค์ คือการถามว่า ฉันกำลังมีส่วนกับอะไร ฉันเคย “ลิ้มรส” ความหวานชื่นของถ้อยคำเหล่านั้นไหม จากนั้นให้ตอบรับคำเชิญนี้ที่จะ “ชิมดูแล้วจะเห็นว่าพระเจ้าประเสริฐ” (34:8)
การแตกสลายที่เป็นพร
เขาหลังค่อมและต้องเดินโดยใช้ไม้เท้า แต่การเป็นผู้เลี้ยงฝ่ายวิญญาณในตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือหลักฐานที่บอกว่า เขาพึ่งพาในพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งแห่งกำลังของเขา ในปี ค.ศ. 1993 ศาสนาจารย์วิลเลียม บาร์เบอร์ ที่ 2 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ทำให้อ่อนเพลียซึ่งส่งผลให้ข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดเข้าด้วยกัน เขาได้รับคำพูดที่ไม่ค่อยถนอมน้ำใจนักว่า “บาร์เบอร์ คุณอาจต้องคิดที่จะทำอย่างอื่นนอกจากการเป็นศิษยาภิบาล เพราะคริสตจักรคงจะไม่ต้องการ[คนพิการ]มาเป็นศิษยาภิบาล” แต่บาร์เบอร์เอาชนะคำพูดที่น่าเจ็บปวดนี้ พระเจ้าไม่เพียงใช้เขาเป็นศิษยาภิบาล แต่เขายังเป็นกระบอกเสียงที่ทรงพลังและน่าเคารพให้กับคนด้อยโอกาสและคนชายขอบด้วย
แม้ผู้คนในโลกนี้อาจจะไม่รู้ทั้งหมดว่าควรปฏิบัติเช่นไรต่อคนพิการ แต่พระเจ้าทรงรู้ ผู้คนที่ให้คุณค่ากับความงาม ความแข็งแรง และสิ่งต่างๆที่ใช้เงินซื้อหามาได้ก็อาจพลาดสิ่งดีที่มาพร้อมกับการแตกสลายซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ คำถามชวนคิดของยากอบและหลักการที่แฝงอยู่นั้นควรค่าอย่างยิ่งที่จะนำมาพิจารณา “พระเจ้าได้ทรงเลือกคนยากจนในโลกนี้ให้เป็นคนมั่งมีในความเชื่อ และให้เป็นผู้รับมรดกแผ่นดินซึ่งพระองค์ทรงสัญญาไว้แก่ผู้ที่รักพระองค์มิใช่หรือ” (ยก.2:5) เมื่อสุขภาพ เรี่ยวแรง หรือสิ่งอื่นๆเสื่อมถอยลง ความเชื่อของคนคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องเสื่อมถอยตามไปด้วย แต่อาจตรงกันข้ามด้วยพระกำลังจากพระเจ้า สิ่งที่เราขาดแคลนจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เราไว้วางใจพระองค์มากขึ้น พระองค์ทรงสามารถใช้การแตกสลายของเราเช่นเดียวกับในกรณีของพระเยซู เพื่อนำสิ่งดีมาสู่โลกของเรา
เกราะป้องกันในพระคริสต์
เพื่อนใหม่ของศิษยาภิบาลเบลีย์ได้เล่าถึงเรื่องการเสพติดและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเขาให้ฟัง แม้ชายหนุ่มคนนี้เคยเป็นผู้เชื่อในพระเยซู แต่เนื่องจากเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศและใช้สื่อลามกตั้งแต่อายุยังน้อย เขาจึงประสบปัญหาที่ใหญ่เกินตัว และภายใต้ความสิ้นหวังนั้น เขาได้ยื่นมือออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ
ในฐานะผู้เชื่อในพระคริสต์ เราทำสงครามกับกองกำลังแห่งความชั่วร้ายที่มองไม่เห็น (2 คร.10:3-6) แต่เราได้รับศาสตราวุธเพื่อทำสงครามในฝ่ายวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่อาวุธฝ่ายโลก แต่เป็น “ฤทธิ์เดชจากพระเจ้า อาจทำลายป้อมได้” (ข้อ 4) นั่นหมายความว่าอย่างไร “ป้อม” คือที่ที่มั่นคงปลอดภัย มีพระคัมภีร์บางฉบับระบุว่าอาวุธที่พระเจ้ามอบให้เราประกอบด้วย “อาวุธแห่งความชอบธรรมในมือขวาและอาวุธสำหรับป้องกันตนเองในมือซ้าย” (6:7 NLT) เอเฟซัส 6:13-18 เพิ่มรายการสิ่งที่จะช่วยปกป้องเราอันประกอบด้วย พระคัมภีร์ ความเชื่อ ความรอด การอธิษฐาน และการสนับสนุนจากผู้เชื่อคนอื่นๆ เมื่อต้องเผชิญกับกองกำลังที่ใหญ่และเข้มแข็งกว่า อาวุธเหล่านี้จะสร้างความแตกต่างได้ โดยทำให้เราสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงและไม่ล้มลง
พระเจ้ายังใช้ผู้ให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต่อสู้กับกองกำลังที่ใหญ่เกินจะรับมือได้เพียงลำพัง ข่าวดีคือ ในพระเยซูนั้น เราไม่จำเป็นต้องยอมแพ้เมื่อเราตกที่นั่งลำบาก เพราะว่าเรามีเกราะป้องกันของพระเจ้า!
โปรดใช้ข้าพระองค์
ครั้งหนึ่งเจมส์ มอร์ริสได้รับการขนานนามว่าเป็น “ฆราวาสผู้ไม่รู้หนังสือแต่มีใจเมตตา” พระเจ้าทรงใช้เขาเพื่อนำออกัสตัส ท็อปเลดีให้มาถึงความเชื่อที่ช่วยให้รอดในพระเยซูคริสต์ ท็อปเลดี ซึ่งเป็นนักประพันธ์แห่งศตวรรษที่สิบแปดผู้เขียนเพลงนมัสการอมตะชื่อ “พระเยซูเปรียบดังศิลา” เล่าถึงตอนที่เขาได้ยินมอร์ริสเทศนาว่า “แปลกที่ผม...ถูกนำเข้ามาใกล้พระเจ้า...ในท่ามกลางผู้เชื่อพระเจ้ากลุ่มเล็กๆที่มารวมตัวกันในโรงนา ภายใต้พันธกิจของคนที่สะกดชื่อตัวเองเกือบจะไม่ได้ นี่เป็นการทำงานของพระเจ้าอย่างแน่นอน และเป็นการอัศจรรย์อย่างยิ่ง”
ที่จริงแล้วพระเจ้าทรงกระทำสิ่งอัศจรรย์ในสถานที่ซึ่งเหนือความคาดหมาย ผ่านทางผู้คนที่เราอาจถือว่า “ขาดคุณสมบัติ” หรือเป็นคนธรรมดา ใน 1 โครินธ์ 1 เปาโลเตือนความจำของผู้เชื่อในพระเยซูว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความโดดเด่น “มีน้อยคนที่โลกนิยมว่ามีปัญญา มีน้อยคนที่มีอำนาจ มีน้อยคนที่มีตระกูลสูง” (ข้อ 26) แต่ถึงแม้ผู้เชื่อในเมืองโครินธ์จะเป็นเพียงคนธรรมดา แต่โดยพระคุณของพระเจ้าพวกเขาไม่ได้ขาดของประทานหรือไร้ประโยชน์เลย (ดูข้อ 7) และพระเจ้าผู้ทรงสามารถทำให้คนที่ชอบโอ้อวดถ่อมใจลง (ข้อ 27-29) ได้ทรงทำงานในท่ามกลางพวกเขาและผ่านทางพวกเขา
คุณมองว่าตัวเองเป็นคน “ธรรมดา” “พื้นๆ” หรือแม้แต่ “ด้อยกว่าคนทั่วไป” หรือไม่ อย่ากังวลเลย ถ้าคุณมีพระเยซูและเต็มใจให้พระองค์ทรงใช้คุณ คุณก็ดีเพียงพอแล้ว ขอให้คุณอธิษฐานจากใจว่า “พระเจ้าข้า โปรดใช้ข้าพระองค์!”
วิกฤตชีวิตและความเชื่อที่หยั่งลึก
ในระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ตอนเช้าวันเสาร์ พ่อคนหนึ่งรู้สึกสับสนเพราะลูกสาวสุดที่รักและเอาแต่ใจของเขาได้กลับมาในเมือง แต่เขารู้สึกอึดอัดใจที่เธออยู่ในบ้านเพราะพฤติกรรมของเธอ ส่วนผู้ร่วมกลุ่มอีกคนหนึ่งสุขภาพไม่ดีจากโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเธอและอายุที่มากขึ้น การต้องไปพบหมอหลายคนในหลายต่อหลายครั้งก็ช่วยให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เธอรู้สึกท้อแท้ และโดยการทรงนำของพระเจ้า มาระโกบทที่ 5 จึงเป็นข้อพระธรรมที่พวกเขาศึกษากันในวันนั้น หลังจากเรียนเสร็จแล้ว ทุกคนได้สัมผัสถึงความหวังและความชื่นชมยินดี
ในมาระโก 5:23 ไยรัสพ่อของเด็กที่ป่วยร้องทูลอ้อนวอนว่า “ลูกสาวเล็กๆของข้าพระองค์เจ็บ เกือบจะตายแล้ว” ระหว่างที่พระเยซูเดินทางไปหาเด็กหญิงคนนั้น พระองค์ได้รักษาหญิงนิรนามผู้มีปัญหาสุขภาพมาเป็นเวลานาน โดยการตรัสว่า “ลูกหญิงเอ๋ย ที่เจ้าหายโรคนั้นก็เพราะเจ้าเชื่อ” (ข้อ 34) ไยรัสและหญิงคนนั้นมีความเชื่อในพระเยซู จึงทำให้พวกเขาแสวงหาพระองค์และพวกเขาก็ไม่ผิดหวัง แต่ในทั้งสองกรณีนี้ ก่อนที่พวกเขาจะมาพบพระเยซู การเจ็บป่วยของพวกเขาเปลี่ยนแปลงจาก “แย่ไปสู่แย่ยิ่งกว่าเดิม” ก่อนที่พวกเขาจะดีขึ้น
ภาวะวิกฤตของชีวิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่เลือกหญิงหรือชาย อายุ เชื้อชาติหรือชนชั้น เราทุกคนล้วนเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้เรามีคำถามที่ต้องออกไปค้นหาคำตอบ แทนที่จะปล่อยให้ปัญหามาทำให้เราออกห่างจากพระเยซู ขอให้เราพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะใช้้ปัญหานั้นนำเราไปสู่ความเชื่อที่หยั่งลึกมากขึ้นในพระองค์ผู้ทรงทราบในทันทีที่เราแตะต้องพระองค์ (ข้อ 30) และผู้ทรงรักษาเราให้หายดี
วันที่ 5 – พระคุณสำหรับวันนี้ | ยามมืดมนกับคำอธิษฐานจากใจ
ยามมืดมนกับคำอธิษฐานจากใจ
เมื่อพบความยากลำบากของการปรับตัวเข้ากับความปกติใหม่ สตรีที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งถึงกับกล่าวออกมาว่า “ฉันอยู่ในมุมมืด” ซึ่งห้าคำนี้บ่งบอกถึงความเจ็บปวดสาหัสที่อยู่ภายในของเธอ และท่ามกลางความท้าทายนั้น เธอยอมรับว่าเธอต้องต่อสู้กับความสิ้นหวังและหมดกำลังใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงเธอออกจากความรู้สึกดำดิ่ง คือการแบ่งปันความทุกข์กับเพื่อนที่ห่วงใย
เราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาที่อ่อนแอ ซึ่งอาจกินเวลายาวนานเป็นชั่วโมง วัน หรือหลายเดือน การต่อสู้ในช่วงเวลาเหล่านี้เปรียบเหมือนการเดินผ่านหุบเขาและทางทุรกันดารซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลก แต่การจะผ่านไปได้ด้วยดีเป็นเรื่องที่ท้าทาย และการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น
เราได้เรียนรู้ผ่านคำอธิษฐานของดาวิดในสดุดี 143 ซึ่งเป็นช่วงมืดมนในชีวิตของเขา เราไม่ทราบถึงสถานการณ์ที่เขาเผชิญอย่างแน่ชัด แต่คำอธิษฐานของเขาสอนเราให้ อธิษฐานอย่างตรงไปตรงมาและเต็มไปด้วยความหวัง “เพราะศัตรูไล่กวดข้าพระองค์ มันขยี้ชีวิตข้าพระองค์ลงถึงดิน มันได้กระทำให้ข้าพระองค์นั่งในที่มืด เหมือนคนที่ตายนานแล้ว เพราะฉะนั้นใจของข้าพระองค์อ่อนระอาอยู่ในข้าพระองค์จิตใจภายในข้าพระองค์ก็กลัวลาน” (ข้อ 3-4) สำหรับผู้เชื่อในพระเยซู การยอมรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจกับตัวเอง กับเพื่อนสนิท หรือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ขอให้เราเข้าหาพระเจ้า (ทั้งความคิดและทั้งหมดของเรา) ด้วยการอธิษฐานอ้อนวอนอย่างจริงใจเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในข้อ 7-10 แล้วช่วงเวลาที่มืดมนจะกลับกลายเป็นเวลาแห่งการอธิษฐานที่ลึกซึ้ง ด้วยการแสวงหาทางสว่างแห่งชีวิตที่พระเจ้าเท่านั้นที่ประทานให้ได้
เขียนโดย อาเธอร์ แจคสัน
คิดใคร่ครวญ :
ท่ามกลางเวลามืดมิดที่สุด คุณมักตอบสนองอย่างไร? เหตุใดจึงยากที่จะยอมรับปัญหาของเราอย่างตรงไปตรงมา ทั้งต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง และต่อพระเจ้า?
อธิษฐาน :
พระบิดา ขอทรงฟื้นฟูข้าพระองค์และให้ความหวังในพระองค์นั้นคงอยู่ และเมื่อข้าพระองค์รู้สึกดำดิ่ง เพราะความมืดมิดคืบคลานเข้ามาในชีวิตทั้งภายในและภายนอก โปรดช่วยข้าพระองค์เข้าหาพระองค์ด้วยการอธิษฐาน