วันที่ 8 - พระคุณสำหรับวันนี้ | ด้วยปีกนกอินทรี
ด้วยปีกนกอินทรี
โทนี่และแชรอนนิ่งอึ้งด้วยความตกใจเมื่อรู้ว่าอาการป่วยต่อเนื่องของโทนี่มีผลต่อสมองและระบบประสาท ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การเสียชีวิต หลังการวินิจฉัย แชรอนถามโทนี่ว่าเขากำลังคิดอะไร เขาตอบว่า “นกอินทรี” เธอพยักหน้ารับทราบ
ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตแต่งงาน พวกเขาให้คำมั่นว่าจะวางใจพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลายากลำบาก เพื่อจะสามารถ “บินขึ้นด้วยปีกเหมือนนกอินทรี” (อิสยาห์ 40:31) พวกเขาได้เรียนรู้ว่านกอินทรีใช้ลมและกระแสอากาศที่พัดมาจากเนินเขาและภูเขาเพื่อช่วยยกพวกมันให้บินได้สูงขึ้นในขณะที่ทะยานขึ้นไป และในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายที่ทำให้อ่อนกำลัง แชรอนกล่าวว่า “โทนี่และฉันเลือกที่จะบินขึ้นสูงเหนือพายุ” ในแต่ละวันพวกเขาพึ่งพากำลังจากพระเจ้าเพื่อยกพวกเขาขึ้นเหนือความรู้สึกสิ้นหวัง
ในขณะที่อิสยาห์เปิดเผยถ้อยคำจากพระเจ้า ชาวอิสราเอลก็กำลังหมดหวังเช่นเดียวกัน เพราะเขาอาศัยอยู่ห่างไกลจากบ้านในดินแดนแห่งพันธสัญญา พระเจ้าทรงเตือนว่าพระองค์มิได้ทรงอ่อนเปลี้ยหรือเหน็ดเหนื่อย (ข้อ 28) และพระองค์ทรงเพิ่มแรงแก่ผู้ที่ไม่มีกำลัง (ข้อ 29) พวกเขาเพียงมุ่งมองไปที่พระองค์เท่านั้น
โทนี่เสียชีวิตหลังการวินิจฉัยโรค 8 ปี แต่เขาและแชรอนไม่เคยรู้สึกว่าพระเจ้าทอดทิ้ง เพราะพวกเขาพึ่งพาพระองค์วันต่อวัน เมื่อเราต้องเผชิญกับความท้าทายทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือจิตวิญญาณ ขอให้เรามุ่งมองที่พระเจ้าเพื่อขอกำลังในการบินขึ้นสูงด้วยปีกเหมือนนกอินทรีเช่นกัน
เขียนโดย เอมี่ บูเช พาย
คิดใคร่ครวญ :
อะไรที่จะช่วยคุณได้เมื่อเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต? คุณจะสามารถรับการเสริมเรี่ยวแรงจากพระเจ้าได้อย่างไร?
อธิษฐาน :
องค์พระเยซู เมื่อข้าพระองค์รู้สึกกังวลและกลัว ขอทรงโปรดเติมความหวังและกำลังเมื่อข้าพระองค์ร้องทูลพระองค์
ดวงตาที่มองเห็น
จอยรู้สึกเป็นห่วงญาติชื่อแซนดี้ซึ่งต่อสู้กับโรคพิษสุราเรื้อรังและปัญหาสุขภาพจิตมานานหลายปี เมื่อเธอไปที่อพาร์ทเม้นท์ของแซนดี้ ประตูปิดล็อกไว้และดูเหมือนไม่มีคนอยู่ เมื่อเธอและคนอื่นๆวางแผนตามหาแซนดี้ จอยอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดให้ข้าพระองค์เห็นในสิ่งที่ข้าพระองค์ไม่เห็น” ขณะที่พวกเขากำลังจะออกไป จอยหันกลับไปที่อพาร์ทเม้นท์และเห็นผ้าม่านขยับเบาๆ ชั่วขณะนั้นเองเธอรู้ว่าแซนดี้ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะต้องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินในการเข้าถึงเธอ แต่จอยดีใจที่คำอธิษฐานนี้ได้รับคำตอบ
ผู้เผยพระวจนะเอลีชารู้จักฤทธิ์เดชของการทูลขอให้พระเจ้าเปิดเผยถึงความเป็นจริงของพระองค์ เมื่อกองทัพซีเรียล้อมเมืองไว้ คนรับใช้ของเอลีชาตัวสั่นด้วยความกลัว เขามองเห็นสิ่งซึ่งไม่สามารถเห็นได้ไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือจากคนของพระเจ้าแต่จากพระเจ้าเอง แล้วเอลีชาอธิษฐานขอให้คนรับใช้นั้นมองเห็นด้วย และ “พระเจ้าทรงเบิกตาของชายหนุ่มคนนั้น” ให้เห็น “ที่ภูเขาก็เต็มไปด้วยม้า และรถรบเพลิง” (2 พกษ.6:17)
พระเจ้าทรงเปิดม่านที่กั้นระหว่างโลกฝ่ายวิญญาณกับโลกฝ่ายเนื้อหนังให้เอลีชากับคนรับใช้ของท่าน จอยเชื่อว่าพระเจ้าช่วยให้เธอมองเห็นผ้าม่านที่สั่นไหวเล็กน้อย ซึ่งทำให้เธอมีความหวัง พวกเราเองก็ทูลขอให้พระองค์ประทานการมองเห็นฝ่ายวิญญาณแก่เราเพื่อจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ ไม่ว่าจะกับคนที่เรารักหรือในชุมชนของเรา และเราสามารถเป็นตัวแทนของความรัก ความจริง และความเมตตาของพระองค์ได้เช่นกัน
ดวงตาที่มองเห็น
เจเนวีฟต้องเป็น “ดวงตา” ให้กับลูกทั้งสามคนของเธอ แต่ละคนเกิดมาพร้อมกับพันธุกรรมต้อกระจก ทุกครั้งที่เธอพาพวกเขาเข้าไปที่หมู่บ้านในสาธารณรัฐเบนิน ทวีปแอฟริกาตะวันตก เธอคาดเด็กทารกไว้บนหลัง พร้อมจับแขนและมือของลูกคนโตอีกสองคนไว้และระวังอันตรายอยู่เสมอ ในวัฒนธรรมที่คนคิดว่าความพิการทางสายตาเกิดจากแม่มด เจเนวีฟรู้สึกสิ้นหวังและเธอร้องขอการช่วยเหลือจากพระเจ้า
ชายคนหนึ่งในหมู่บ้านของเธอบอกเธอเกี่ยวกับองค์กรชื่อเรือแห่งความเมตตา (Mercy Ships) ซึ่งเป็นพันธกิจที่จัดเตรียมการผ่าตัดที่จำเป็น เพื่อจะถวายเกียรติแด่พระเยซูผู้เป็นแบบอย่างการนำความหวังและการรักษามาสู่ผู้ขัดสน เธอติดต่อไปหาพวกเขาแม้ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะช่วยได้หรือไม่ เมื่อเด็กๆตื่นขึ้นหลังการผ่าตัด พวกเขามองเห็น!
เรื่องราวของพระเจ้านั้นเกี่ยวข้องกับการทรงอยู่เคียงข้างผู้ที่อยู่ภายใต้ความมืดและนำพวกเขามาถึงแสงสว่างของพระองค์เสมอ ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ประกาศว่าพระเจ้าจะ “เป็นความสว่างแก่บรรดาประชาชาติ” (อสย.42:6) พระองค์จะ “เบิกตาคนที่ตาบอด” (ข้อ 7) ซึ่งไม่เพียงฟื้นฟูดวงตาฝ่ายร่างกาย แต่ฝ่ายจิตวิญญาณด้วย และพระองค์ทรงสัญญาว่าจะ “ยุด” มือคนของพระองค์ไว้ (ข้อ 6) พระองค์ทรงทำให้คนตาบอดมองเห็นและนำแสงสว่างมาสู่คนเหล่านั้นที่อาศัยอยู่ในความมืด
ถ้าคุณรู้สึกว่าพ่ายแพ้ต่อความมืด จงยึดความหวังไว้โดยโอบกอดพระสัญญาแห่งพระบิดาที่รักของเรา และอธิษฐานขอให้แสงของพระองค์ส่องสว่างลงมา
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นแล้วในวันนี้!
ก่อนที่ชาร์ลส์ ซีเมียนจะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เขาชื่นชอบม้าและเสื้อผ้า และใช้เงินจำนวนมากไปกับเครื่องแต่งกายทุกปี แต่เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยให้เขาเข้าร่วมพิธีมหาสนิทที่จัดขึ้นเป็นประจำ เขาจึงเริ่มสำรวจสิ่งที่ตัวเองเชื่อ หลังจากได้อ่านหนังสือหลายเล่มซึ่งเขียนโดยผู้เชื่อในพระเยซู เขาก็ได้พบกับการเปลี่ยนแปลงอันน่าทึ่งในวันอาทิตย์อีสเตอร์ เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าตรู่ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1779 เขาร้องว่า “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นแล้วในวันนี้! ฮาเลลูยา! ฮาเลลูยา!” ขณะที่ความเชื่อในพระเจ้าเติบโตขึ้น เขาได้อุทิศตนในการศึกษาพระคัมภีร์ อธิษฐาน และร่วมประชุมนมัสการ
ในวันอีสเตอร์แรก หญิงสองคนที่ไปถึงอุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซูได้พบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ที่นั่นพวกเธอได้เผชิญกับแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อทูตองค์หนึ่งกลิ้งก้อนหินออกไป ทูตสวรรค์กล่าวแก่หญิงเหล่านั้นว่า “อย่ากลัวเลย เรารู้แล้วว่า พวกเจ้าทั้งหลายมาหาพระเยซูซึ่งถูกตรึงไว้ที่กางเขน พระองค์หาได้ประทับอยู่ที่นี่ไม่ ทรงเป็นขึ้นมาแล้วตามซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้นั้น” (มธ.28:5-6) หญิงเหล่านั้นจึงนมัสการพระเยซูและวิ่งกลับไปบอกข่าวดีแก่สหายของตนด้วยความยินดีอย่างยิ่ง
การได้พบกับพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์ ไม่ใช่สิ่งที่สงวนไว้สำหรับคนยุคก่อนเท่านั้น พระองค์ทรงสัญญาว่าจะพบกับเราที่นี่และตอนนี้ เราอาจได้พบกับการเผชิญหน้าอันน่าทึ่งเหมือนพวกผู้หญิงที่อุโมงค์หรือเหมือนกับชาร์ลส์ ซีเมียน หรืออาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด พระเยซูจะทรงเปิดเผยพระองค์เองแก่เรา และเราสามารถวางใจได้ว่าพระองค์ทรงรักเรา
บัญญัติใหม่ให้รักกัน
ในประเพณีที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่สิบสาม สมาชิกราชวงศ์ในสหราชอาณาจักรจะมอบของขวัญแก่คนยากจนในวันพฤหัสก่อนวันศุกร์ประเสริฐ (Maundy Thursday) ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีต้นกำเนิดมาจากความหมายของคำว่า maundy ซึ่งมาจากคำว่า mandatum ในภาษาละติน ที่แปลว่า “คำสั่ง” คำสั่งที่มีการระลึกถึงนี้ก็คือบัญญัติใหม่ที่พระเยซูประทานแก่สหายของพระองค์ในคืนก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ “ให้เจ้ารักซึ่งกันและกัน เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น” (ยน.13:34)
พระเยซูทรงเป็นผู้นำที่ทำหน้าที่ของผู้รับใช้เมื่อพระองค์ทรงล้างเท้าสหายของพระองค์ (ข้อ 5) และทรงบอกให้พวกเขาทำเช่นเดียวกัน “เราได้วางแบบแก่ท่านแล้ว เพื่อให้ท่านทำเหมือนดังที่เราได้กระทำแก่ท่านด้วย” (ข้อ 15) และในการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือการที่พระองค์ได้ทรงสละชีวิต และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (19:30) ด้วยพระเมตตาและความรัก พระองค์ได้ประทานพระองค์เองเพื่อให้เราได้ชื่นชมกับชีวิตที่ครบบริบูรณ์
ประเพณีการรับใช้ผู้ยากไร้ของราชวงศ์อังกฤษยังคงเป็นสัญลักษณ์ถึงการทำตามแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ของพระเยซู เราอาจจะไม่ได้เกิดมาในสถานะที่พิเศษ แต่เมื่อเราเชื่อในพระเยซู เราก็เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวของพระองค์ และเราเองก็สำแดงความรักโดยการดำเนินชีวิตตามบัญญัติใหม่ของพระองค์ได้เช่นกัน เมื่อเราพึ่งพาพระวิญญาณของพระเจ้าให้ทรงเปลี่ยนแปลงเราจากภายใน เราก็สามารถหยิบยื่นความห่วงใย การยอมรับ และพระคุณ ให้กับผู้อื่นได้
รักศัตรู
เมื่อสงครามกลางเมืองในอเมริกาได้ก่อให้เกิดความรู้สึกขมขื่นมากมาย อับราฮัม ลินคอล์นจึงเห็นว่าควรจะพูดถึงสิ่งดีๆเกี่ยวกับฝ่ายใต้ คนที่ยืนฟังอยู่รู้สึกตกใจจึงถามว่าท่านทำเช่นนั้นได้อย่างไร ท่านตอบว่า “คุณผู้หญิง ข้าพเจ้าไม่ได้ทำลายศัตรูของข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าทำให้พวกเขาเป็นมิตรดอกหรือ” เมื่อนึกถึงคำพูดเหล่านั้นในศตวรรษต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์เห็นว่า “นี่คือฤทธิ์อำนาจแห่งการทรงไถ่ด้วยความรัก”
คิงมองไปยังคำสอนของพระเยซูในการทรงเรียกสาวกให้รักศัตรู เขาสังเกตว่าแม้ผู้เชื่ออาจต้องพบความยากลำบากที่จะรักคนที่ข่มเหงเขา แต่ความรักนี้เติบโตขึ้นจาก “การยึดมั่นในการยอมจำนนต่อพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง” คิงกล่าวต่อว่า “เมื่อเรามีความรักในรูปแบบนี้ เราก็จะรู้จักพระเจ้าและสัมผัสถึงความงดงามในความบริสุทธิ์ของพระองค์”
คิงยกคำเทศนาบนภูเขาของพระเยซูที่ตรัสว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์”(มธ.5:44-45)พระเยซูสอนในสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับคำสั่งสอนของยุคสมัยนั้นที่ให้รักเพื่อนบ้านและเกลียดชังศัตรู แต่พระเจ้า พระบิดาประทานกำลังให้ลูกๆของพระองค์ที่จะรักผู้ที่ข่มเหงพวกเขา
เราอาจรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรักศัตรูของเรา แต่เมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานของเรา และจะประทานความกล้าหาญในการทำเรื่องที่สุดโต่งเช่นนี้ ดังที่พระเยซูได้ตรัสไว้ว่า “พระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง” (19:26)
พระวจนะที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง
เมื่อคริสตินต้องการจะซื้อหนังสือพิเศษสักเล่มให้กับเสี่ยวหูผู้เป็นสามีชาวจีน หนังสือภาษาจีนเล่มเดียวที่เธอหาได้คือพระคัมภีร์ แม้ทั้งคู่ไม่ได้เชื่อในพระคริสต์ แต่เธอก็หวังว่าเขาจะชื่นชอบของขวัญชิ้นนี้ ในตอนแรกเขาโกรธเมื่อเห็นคัมภีร์ แต่ในที่สุดเขาก็หยิบขึ้นมา เมื่อได้อ่านเขารู้สึกเชื่อความจริงในพระคัมภีร์นั้น คริสตินไม่พอใจกับพัฒนาการที่คาดไม่ถึงนี้ เธอจึงเริ่มอ่านพระคัมภีร์เพื่อหักล้างเสี่ยวหู แล้วที่น่าประหลาดใจคือ เธอได้กลับใจมาเชื่อในพระเยซูด้วยผ่านสิ่งที่เธออ่าน
อัครทูตเปาโลรู้ถึงธรรมชาติของพระคัมภีร์ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ท่านเขียนจดหมายจากคุกในกรุงโรม หนุนใจทิโมธีผู้ที่ท่านให้คำปรึกษาอยู่ว่า “จงดำเนินต่อไปในสิ่งที่ท่านเรียนรู้แล้ว” เพราะ “ตั้งแต่เด็กมาแล้ว ที่ท่านได้รู้พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ (2ทธ.3:14-15) คำว่า “ดำเนินต่อไป” ในภาษาเดิมคือภาษากรีกนั้น มีความหมายไปถึงการ “ใช้เวลาอยู่กับ” สิ่งที่พระคัมภีร์เปิดเผย การที่ท่านรู้ว่าทิโมธีอาจเผชิญกับการต่อต้านและการข่มเหง เปาโลจึงต้องการให้เขาพร้อมรับความท้าทายนั้น ท่านเชื่อว่าลูกศิษย์จะพบกำลังและปัญญาในพระคัมภีร์เมื่อเขาใช้เวลาใคร่ครวญความจริงของพระวจนะนั้น
พระเจ้าโดยพระวิญญาณของพระองค์ทำให้พระคัมภีร์มีชีวิตสำหรับเรา เมื่อเราใช้เวลาอยู่กับพระคัมภีร์ พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงเราให้เป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น เหมือนเช่นที่พระองค์ทรงกระทำกับเสี่ยวหูและคริสติน
คนงานของพระเจ้า
ในค่ายผู้อพยพแห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง เมื่อเรซ่าได้รับพระคัมภีร์เขาก็ได้มารู้จักและเชื่อในพระเยซู คำอธิษฐานแรกของเขาในพระนามพระเยซูคริสต์คือ “โปรดใช้ข้าพระองค์ให้เป็นคนงานของพระองค์เถิด” ต่อมาภายหลังที่เขาออกจากค่ายไปแล้ว พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานนั้น เขาได้งานอย่างไม่คาดฝันที่องค์กรบรรเทาทุกข์ ซึ่งเขาได้กลับมาที่ค่ายนั้นเพื่อรับใช้ผู้คนที่เขารู้จักและรัก เขาตั้งกลุ่มชมรมกีฬา ชั้นเรียนภาษา และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย “อะไรก็ได้ที่ให้ความหวังแก่ผู้คน” เขาเห็นโครงการต่างๆเหล่านี้เป็นหนทางที่จะรับใช้ผู้อื่นและแบ่งปันความรักและพระปัญญาของพระเจ้า
เมื่อเรซ่าอ่านพระคัมภีร์ เขารู้สึกมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของโยเซฟในปฐมกาลทันที เขาสังเกตถึงการที่พระเจ้าทรงใช้โยเซฟให้ทำงานของพระองค์ต่อไปขณะที่ท่านอยู่ในคุก เพราะพระเจ้าทรงสถิตกับโยเซฟ พระองค์สำแดงความเมตตาและประทานความโปรดปรานให้ท่าน พัศดีได้ให้โยเซฟเป็นผู้ดูแลจนท่านเองไม่ต้องทำงานใดๆเลยเพราะพระเจ้าทรงประทาน “ความสำเร็จในทุกสิ่งที่เขาทำ” (ปฐก.39:23 TNCV)
พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะอยู่กับเราเช่นกัน ไม่ว่าเราจะต้องเผชิญกับการถูกคุมขัง (ทั้งถูกขังจริงหรือเป็นการเปรียบเทียบ) ความยากลำบาก การพลัดถิ่นฐาน ความปวดร้าวใจ หรือความโศกเศร้า เราไว้วางใจได้ว่าพระองค์จะไม่มีวันทอดทิ้งเรา เช่นเดียวกับที่ทรงช่วยให้เรซ่าได้รับใช้ผู้ที่อยู่ในค่ายนั้นและช่วยโยเซฟจัดการกับงานในคุก พระองค์ก็จะทรงอยู่ใกล้เราเสมอไป
สิ่งเดียวที่ต้องการ
วันหยุดสุดสัปดาห์หนึ่งในเดือนมีนาคม ฉันนำกลุ่มรีทรีตในหัวข้อมารีย์และมารธา สองพี่น้องในเมืองเบธานีผู้ซึ่งพระเยซูทรงรัก กับลาซารัสน้องชายของพวกเธอ (ยน.11:5) เราอยู่ในบริเวณที่ห่างไกลในแถบชายฝั่งของประเทศอังกฤษ เมื่อมีหิมะตกลงมาปกคลุมอย่างไม่คาดคิด ผู้เข้าร่วมกลุ่มหลายคนพูดว่าการได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้นอีกวันคือการที่พวกเขาจะได้ฝึกนั่งที่พระบาทพระคริสต์อย่างที่มารีย์ทำ พวกเขาอยากจะได้ “สิ่งซึ่งต้องการ...สิ่งเดียว” (ลก.10:42) ที่พระเยซูบอกมารธาด้วยความรักให้รับเอาไว้ นั่นคือการเลือกที่จะเข้าใกล้และเรียนรู้จากพระองค์
เมื่อพระเยซูไปเยี่ยมบ้านของมารธา มารีย์ และลาซารัสนั้น มารธาไม่รู้ล่วงหน้าว่าพระองค์จะมา เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมเธอจึงรู้สึกโกรธที่มารีย์ไม่ช่วยเธอเตรียมการปรนนิบัติพระองค์และเพื่อนๆของพระองค์ แต่เธอลืมสิ่งสำคัญจริงๆไป คือการรับจากพระเยซูในขณะที่เธอเรียนรู้จากพระองค์ พระคริสต์ไม่ได้ดุเธอที่อยากจะปรนนิบัติพระองค์แต่ทรงเตือนว่าเธอกำลังลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดไป
เมื่อมีบางอย่างมาขัดจังหวะทำให้เราฉุนเฉียวหรือรู้สึกวุ่นวายสับสนเพราะต้องทำหลายอย่างให้เสร็จ ให้เราหยุดและเตือนตัวเองถึงสิ่งที่สำคัญจริงๆในชีวิต เมื่อเราใช้ชีวิตให้ช้าลงและจินตนาการว่าเรานั่งอยู่ที่พระบาทของพระเยซู เราก็สามารถทูลขอให้พระองค์เติมเต็มเราด้วยความรักและชีวิตจากพระองค์ เราสามารถเพลิดเพลินไปกับการเป็นสาวกที่พระองค์ทรงรักได้