ผู้ที่สร้างฉัน
ตอนโทมัส เอดิสันอายุเจ็ดขวบ เขาไม่ชอบเรียนหนังสือหรือเรียนไม่เก่ง มีอยู่วันหนึ่งครูถึงกับเรียกเขาว่า “พวกโรคจิต” (จิตสับสน) เขากลับบ้านด้วยความโกรธ หลังจากพูดคุยกับครูในวันรุ่งขึ้น แม่ของเขาซึ่งเคยเป็นครูตัดสินใจที่จะสอนโทมัสเองที่บ้าน ด้วยความรักและกำลังใจจากแม่ (บวกกับอัจฉริยภาพที่พระเจ้ามอบให้) โทมัสจึงกลายเป็นนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ ในเวลาต่อมาเขาเขียน ว่า “แม่ของผมเป็นคนสร้างผมขึ้นมา เธอจริงใจและมั่นใจในตัวผมมาก และผมรู้สึกว่าจะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อใครบางคนที่ผมจะไม่ทำให้คนนั้นผิดหวัง”
ในกิจการ 15 เราอ่านพบว่า บารนาบัสและอัครทูตเปาโลรับใช้ด้วยกันในฐานะมิชชันนารีจนกระทั่งพวกเขาขัดแย้งกันอย่างหนักในเรื่องที่ว่าจะนำยอห์น มาระโกไปด้วยหรือไม่ เปาโลไม่เห็นด้วยเพราะมาระโกเคย “ละท่านทั้งสองเสียที่แคว้นปัมฟีเลีย” (ข้อ 36-38) ผลก็คือเปาโลกับบารนาบัสแยกทางกัน เปาโลไปกับสิลาสและบารนาบัสไปกับมาระโก บารนาบัสเต็มใจให้โอกาสมาระโกเป็นครั้งที่สอง และกำลังใจของท่านมีส่วนทำให้มาระโกสามารถรับใช้และประสบความสำเร็จในฐานะมิชชันนารี เขายังเป็นคนเขียนพระธรรมมาระโกและเป็นคนที่คอยหนุนใจเปาโลขณะที่ท่านอยู่ในคุก (2 ทธ.4:11)
พวกเราหลายคนที่มองย้อนกลับไปและพบว่ามีใครบางคนในชีวิตที่คอยให้กำลังใจและช่วยเหลือเราตลอดเส้นทาง พระเจ้าอาจกำลังเรียกให้คุณทำแบบเดียวกันกับบางคนในชีวิตของคุณ ใครกันคือคนนั้นที่คุณจะหนุนใจเขาได้
พระเยซูคือผู้ใด
ผู้คนเชื่อกันว่าพระเยซูคือใคร บางคนบอกว่าพระองค์เป็นครูที่ดีคนหนึ่งแต่ก็เป็นแค่มนุษย์ นักเขียน ซี.เอส.ลูอิสเขียนไว้ว่า “ชายผู้นี้ถ้าไม่ใช่เป็นหรือเคยเป็นพระบุตรของพระเจ้า ก็เป็นคนเสียสติหรืออะไรที่แย่กว่านั้น คุณอาจปิดปากพระองค์บอกว่าเป็นคนเขลา คุณอาจถ่มน้ำลายรดพระองค์และประหารพระองค์ราวกับเป็นมารร้าย หรือคุณอาจหมอบลงแทบเท้าพระองค์และเรียกพระองค์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระเจ้า แต่อย่าให้เรานำเรื่องไร้สาระมาอ้างว่าพระองค์เป็นครูที่เป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่เลย” ประโยคที่ยังคงโด่งดังจากหนังสือ แก่นแท้แห่งคริสต์ศาสนา นำเสนอว่า พระเยซูจะไม่ได้เป็นผู้เผยพระวจนะที่ยิ่งใหญ่เลยหากพระองค์หลอกลวงว่าเป็นพระเจ้า และนั่นคงจะเป็นคำสอนเท็จขั้นสูงสุด
ขณะสนทนากับเหล่าสาวกระหว่างเดินทางไปหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระเยซูตรัสถามพวกเขาว่า “คนทั้งหลายพูดกันว่าเราเป็นผู้ใด” (มก.8:27) คำตอบของพวกเขามีทั้งยอห์นผู้ให้บัพติศมา เอลียาห์ และคนหนึ่งในพวกผู้เผยพระวจนะ (ข้อ 28) แต่พระเยซูทรงต้องการทราบสิ่งที่พวกเขาเชื่อ “ฝ่ายพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร” เปโตรตอบถูกว่า “พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์” (ข้อ 29) พระผู้ช่วยให้รอด
แต่เราล่ะจะบอกว่าพระเยซูคือใคร พระเยซูไม่สามารถเป็นครูหรือผู้เผยพระวจนะที่ดีได้ถ้าสิ่งที่พระองค์ตรัสถึงพระองค์เองว่าพระองค์กับพระบิดา (พระเจ้า) เป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยน.10:30) ไม่เป็นความจริง ผู้ติดตามพระองค์หรือแม้แต่ผีร้ายยังประกาศความเป็นพระเจ้าของพระองค์ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า (มธ.8:29; 16:16; 1 ยน.5:20) ในวันนี้ ให้เราประกาศถ้อยคำที่บอกว่าพระคริสต์คือใครขณะที่พระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นแก่เรา
ไม่ต้องมีสูตรสำเร็จ
เมื่อเจนยังเด็ก ครูสอนรวีฯผู้มีเจตนาดีได้ฝึกอบรมเด็กในชั้นเรียนเรื่องการประกาศ ซึ่งรวมถึงการท่องจำข้อพระคัมภีร์และสูตรสำเร็จในการแบ่งปันพระกิตติคุณ เธอกับเพื่อนลองใช้วิธีนี้อย่างประหม่ากับเพื่อนอีกคนหนึ่ง พวกเขากลัวจะลืมข้อพระคัมภีร์หรือขั้นตอนที่สำคัญไป เจน “จำไม่ได้ว่าเย็นวันนั้นจบลงด้วยการที่เพื่อนรับเชื่อหรือไม่ แต่เดาว่าไม่” ดูเหมือนวิธีการที่เธอใช้จะให้ความสำคัญกับการทำตามสูตรมากกว่าตัวบุคคล
หลายปีต่อมา ตอนนี้เจนและสามีกำลังเป็นตัวอย่างที่แสดงให้ลูกๆเห็นถึงความรักที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและแบ่งปันความเชื่อของพวกเขาด้วยวิธีการที่น่าสนใจมากขึ้น พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญในการสอนลูกๆเรื่องพระเจ้า พระคัมภีร์ และการมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพระเยซู แต่พวกเขากำลังทำเช่นนั้นผ่านการดำเนินชีวิต ที่สำแดงถึงความรักต่อพระเจ้าและพระวจนะในแต่ละวัน พวกเขากำลังแสดงให้เห็นว่าการเป็น “ความสว่างของโลก” (มธ.5:14) รวมถึงการประกาศด้วยคำพูดที่อ่อนโยนและเป็นมิตรนั้นเป็นเช่นไร เจนกล่าวว่า “เราไม่สามารถส่งต่อถ้อยคำแห่งชีวิตไปยังผู้อื่นได้หากตัวเราเองไม่มีถ้อยคำนั้นอยู่ในชีวิต” เมื่อเธอและสามีแสดงความกรุณาในวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง พวกเขาก็กำลังเตรียมลูกๆให้ “นำผู้อื่นมาเชื่อ”
เราไม่จำเป็นต้องมีสูตรสำเร็จในการนำผู้อื่นมาหาพระเยซู สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจะต้องมีอิทธิพลและส่องสว่างผ่านชีวิตของเรา เมื่อเราดำเนินชีวิตและแบ่งปันความรักของพระองค์ พระเจ้าจะนำผู้อื่นให้มารู้จักพระองค์เช่นกัน
ไม่เคยพูดว่า “ทำไม่ได้”
เจนเกิดมาไม่มีขาและถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล แต่เธอยังบอกว่าการถูกรับเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพระพรสำหรับเธอ “ฉันอยู่ที่นี่เพราะมีคนได้ทุ่มเทในชีวิตฉัน” ครอบครัวบุญธรรมช่วยให้เธอรู้ว่าเธอ “เกิดมาแบบนี้เพื่อเหตุผลบางอย่าง” พวกเขาเลี้ยงดูเธอให้ “ไม่เคยพูดว่า ‘ทำไม่ได้’” และให้กำลังใจในทุกสิ่งที่เธอทำ ซึ่งรวมไปถึงการเป็นนักแสดงผาดโผนและนักกายกรรมกลางหาวที่ประสบความสำเร็จ! เธอเผชิญความท้าทายด้วยทัศนคติว่า “ฉันจะจัดการกับสิ่งนี้อย่างไร” และจูงใจให้ผู้อื่นทำแบบเดียวกัน
พระคัมภีร์บอกเล่าเรื่องราวของคนมากมายที่พระเจ้าทรงใช้ ที่ดูเหมือนไร้ความสามารถหรือไม่เหมาะกับการทรงเรียกของพวกเขา แต่พระเจ้าก็ยังทรงใช้พวกเขา โมเสสเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านให้นำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ ท่านไม่เต็มใจ (อพย.3:11; 4:1) และคัดค้าน “ข้าพระองค์เป็นคนพูดไม่คล่องแคล่ว” พระเจ้าทรงตอบว่า “ผู้ใดเล่าที่สร้างปากมนุษย์หรือทำให้เป็นใบ้ หูหนวก ตาดีหรือตาบอด เรา พระเจ้าเป็นผู้ทำไม่ใช่หรือ เพราะฉะนั้นไปเถิด เราจะอยู่ที่ปากของเจ้า และจะสอนคำซึ่งควรจะพูด” (อพย.4:10-12) เมื่อโมเสสยังคงคัดค้าน พระเจ้าทรงเตรียมอาโรนให้พูดแทนท่านและทรงยืนยันว่าจะช่วยพวกเขา (ข้อ 13-15)
เช่นเดียวกับเจนและโมเสส เราทุกคนอยู่ที่นี่เพื่อเหตุผลบางอย่าง และพระเจ้าจะทรงช่วยเราตลอดเส้นทางนี้โดยพระคุณของพระองค์ พระองค์ทรงจัดเตรียมบางคนเพื่อช่วยเรา และทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นแก่เราในการมีชีวิตเพื่อพระองค์
ความมืดและความสว่าง
เวลานั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี ฉันได้เห็นตัวอย่างมากมายถึงโลกที่แตกสลายนี้ ลูกสาวบาดหมางกับแม่ สามีและภรรยาสูญเสียความรักที่เคยมีและบัดนี้เหลือเพียงความขมขื่นต่อกัน สามีที่ปรารถนาจะคืนดีกับภรรยาและกลับมาอยู่ร่วมกับลูกๆ พวกเขาจำเป็นต้องมีหัวใจที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง บาดแผลที่ได้รับการเยียวยา และให้ความรักของพระเจ้ามีชัยชนะ
บางครั้งเมื่อโลกรอบตัวเราดูเหมือนจะมีแค่ความมืดและความสิ้นหวัง การหมดซึ่งศรัทธาเกิดขึ้นได้ง่ายดาย แต่แล้วพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตอยู่ภายในผู้เชื่อในพระคริสต์ (ยน.14:17) ได้เตือนเราว่า พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อความเสื่อมสลายและความเจ็บปวดนั้น เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาในโลกในฐานะมนุษย์ พระองค์ได้ทรงนำเอาแสงสว่างเข้ามาในความมืด (1:4-5; 8:12) ดังจะเห็นได้จากการสนทนาของพระเยซูและนิโคเดมัส ผู้ซึ่งลอบมาหาพระองค์ในความมืดแต่กลับออกไปโดยได้รับอิทธิพลของแสงสว่าง คือพระเยซู (3:1-2; 19:38-40)
พระเยซูทรงสอนนิโคเดมัสว่า “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (3:16)
ถึงแม้ว่าพระเยซูได้นำแสงสว่างและความรักเข้ามายังโลกนี้ หลายคนยังคงหลงอยู่ในความมืดแห่งบาปของตน (ข้อ 19-20) ถ้าเราเป็นผู้ติดตามพระองค์ เราก็มีความสว่างที่จะขับไล่ความมืดได้ ให้เราอธิษฐานร่วมกันด้วยใจขอบพระคุณ ที่พระเจ้าจะทรงทำให้เราเป็นตะเกียงแห่งความรักของพระองค์ (มธ.5:14-16)
นักรบผู้กล้าหาญ
ดีท อีมาน เป็นเด็กสาวขี้อายธรรมดาคนหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ เธอมีความรัก ทำงาน และใช้เวลาอย่างมีความสุขกับครอบครัวและเพื่อนๆ ในตอนที่เยอรมันบุกเข้ามาในปี 1940 ต่อมาดีทเขียนไว้ว่า “เมื่ออันตรายเข้ามาใกล้ คุณก็อยากทำตัวเหมือนนกกระจอกเทศที่มุดหัวลงไปในทราย” แต่ดีทรู้สึกถึงการทรงเรียกของพระเจ้าให้เธอต่อต้านผู้กดขี่ชาวเยอรมัน ซึ่งรวมถึงเสี่ยงชีวิตเพื่อหาที่หลบซ่อนสำหรับชาวยิวและผู้ที่ถูกไล่ล่า หญิงสาวที่ถ่อมตนคนนี้ได้กลายเป็นนักรบของพระเจ้า
เราพบหลายเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่เหมือนเรื่องของดีท เรื่องราวที่พระเจ้าทรงใช้คนที่ดูเหมือนไม่น่าจะรับใช้พระองค์ได้ เช่น เมื่อทูตของพระเจ้าปรากฏแก่กิเดโอนพูดกับท่านว่า “เจ้าบุรุษผู้กล้าหาญเอ๋ย พระเจ้าทรงสถิตกับเจ้า” (วนฉ.6:12) แต่กิเดโอนไม่มีความกล้าเลย ท่านแอบนวดข้าวสาลีเพื่อซ่อนให้พ้นตาคนมีเดียนที่กดขี่ชาวอิสราเอลอยู่ในเวลานั้น (ข้อ 1-6, 11) ท่านมาจากเผ่าที่อ่อนแอที่สุดของอิสราเอล (มนัสเสห์) และเป็นคน “เล็กน้อย” ที่สุดในครอบครัว (ข้อ 15) ท่านไม่ได้รู้สึกถึงการทรงเรียกของพระเจ้าและยังร้องขอหมายสำคัญหลายอย่าง แต่พระเจ้ายังทรงใช้ท่านเอาชนะชาวมีเดียนที่โหดร้าย (ดูบทที่ 7)
พระเจ้าทรงมองว่ากิเดโอน “กล้าหาญ” เช่นเดียวกับที่พระเจ้าสถิตอยู่ด้วยและช่วยเหลือกิเดโอน พระองค์สถิตกับเราซึ่งเป็น “บุตรที่รัก” (อฟ.5:1) ของพระองค์ด้วย ทรงจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นทุกอย่างแก่เราเพื่อเราจะดำเนินชีวิตและรับใช้พระองค์ทั้งในสิ่งเล็กน้อยและยิ่งใหญ่
การทรงเรียกครั้งใหม่
เคซี่หัวหน้าแก๊งวัยรุ่นและลูกสมุนของเขางัดแงะไปตามบ้านและรถยนต์ ปล้นร้านสะดวกซื้อ และตีรันฟันแทงกับแก๊งอื่นๆ สุดท้ายเคซี่ถูกจับและตัดสินจำคุก ในเรือนจำเขากลายเป็น “หัวหน้าใหญ่” และใช้มีดที่ทำขึ้นเองทำร้ายคนอื่นระหว่างการจลาจล
ต่อมาไม่นานเขาถูกขังเดี่ยว ขณะฝันกลางวันอยู่ในห้องขัง เคซี่สัมผัสถึง “ภาพเคลื่อนไหว” ของเรื่องราวช่วงสำคัญๆในชีวิตเขา และภาพของพระเยซูที่ถูกพาไปตรึงที่กางเขน และทรงตรัสกับเขาว่า “เราทำสิ่งนี้เพื่อเจ้า” เคซี่ทรุดลงกับพื้นร้องไห้และสารภาพบาปของเขา หลังจากนั้นเขาเล่าประสบการณ์นี้ให้กับอนุศาสนาจารย์ในเรือนจำฟัง ผู้ซึ่งได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเยซูและมอบพระคัมภีร์ให้เคซี่ “นั่นคือจุดเริ่มต้นการเดินทางแห่งความเชื่อของผม” เคซี่พูด ในที่สุดเขาได้รับการปล่อยตัวให้กลับสู่ห้องขังรวมที่ซึ่งเขาถูกทำร้ายเพราะความเชื่อของเขา แต่เขามีสันติสุข เพราะ “เขาได้พบกับการทรงเรียกครั้งใหม่ คือให้บอกผู้ต้องขังคนอื่นเรื่องพระเยซู”
ในจดหมายถึงทิโมธี อัครทูตเปาโลพูดถึงฤทธิ์อำนาจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพระคริสต์ พระเจ้าทรงเรียกเราออกจากชีวิตที่เต็มด้วยการกระทำผิดให้มาติดตามและรับใช้พระเยซู (2 ทธ.1:9) เมื่อเราต้อนรับพระองค์โดยความเชื่อ เราปรารถนาที่จะเป็นพยานที่มีชีวิตถึงความรักของพระคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงช่วยเราให้ทำเช่นนั้นได้ แม้ต้องพบความยากลำบากขณะแสวงหาโอกาสที่จะแบ่งปันข่าวดี (ข้อ 8) เช่นเดียวกับเคซี่ ให้เรามีชีวิตเพื่อการทรงเรียกครั้งใหม่ของเรา
ทรงพาเราผ่านพายุ
ระหว่างการเดินทางไปอินเดียครั้งแรกของมิชชันนารีชาวสก๊อต อเล็กซานเดอร์ ดัฟฟ์ในปี 1830 เรือของเขาอับปางกลางพายุใกล้ชายฝั่งของแอฟริกาใต้ เขากับเพื่อนผู้โดยสารเรือรอดไปถึงเกาะร้างเล็กๆ และไม่นานต่อมาลูกเรือคนหนึ่งก็พบพระคัมภีร์ของดัฟฟ์ถูกพัดมาติดหาดทราย เมื่อพระคัมภีร์แห้งแล้วดัฟฟ์ก็อ่านสดุดี 107 ให้ผู้รอดชีวิตฟังและพวกเขาก็มีกำลังใจ ในที่สุดหลังจากได้รับการช่วยเหลือและมีเหตุการณ์เรือแตกอีกครั้ง ดัฟฟ์ก็ไปถึงอินเดีย
พระธรรมสดุดี 107 กล่าวถึงวิธีการบางอย่างที่พระเจ้าใช้ปลดปล่อยคนอิสราเอล ไม่ต้องสงสัยว่าดัฟฟ์และลูกเรือเข้าใจเป็นอย่างดีและได้รับการปลอบประโลมใจจากถ้อยคำที่ว่า “พระองค์ทรงกระทำให้พายุสงบลงและคลื่นทะเลก็นิ่ง แล้วเขาก็ยินดีเพราะเขามีความเงียบ และพระองค์ทรงนำเขามายังท่าที่เขาปรารถนา” (ข้อ 29-30) และเช่นเดียวกับคนอิสราเอล พวกเขา “ขอบพระคุณพระเจ้า เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ เพราะการอัศจรรย์ของพระองค์ที่มีต่อบุตรของมนุษย์” (ข้อ 31)
เราเห็นความคล้ายคลึงระหว่างสดุดี 107:28-30 กับพันธสัญญาใหม่ (มธ.8:23-27; มก.4:35-41) พระเยซูและสาวกอยู่ในเรือกลางทะเลเมื่อเกิดพายุรุนแรง สาวกร้องด้วยความกลัวและพระเยซูซึ่งเป็นพระเจ้าผู้สวมสภาพมนุษย์ทรงทำให้ทะเลสงบลง เราเองก็มีกำลังใจได้เช่นกัน! พระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงฤทธิ์ทรงได้ยินและตอบคำร้องทูลของเรา และจะทรงปลอบประโลมเราในท่ามกลางพายุ
เติบโตในพระคุณพระเจ้า
นักเทศน์ชาวอังกฤษ ชาร์ลส์ เอ็ช สเปอร์เจียน (1834-1892) ใช้ชีวิตแบบ “เต็มร้อย” ท่านเป็นศิษยาภิบาลตอนอายุสิบเก้า ต่อมาไม่นานท่านได้เทศนากับฝูงชน ท่านเรียบเรียงทุกคำเทศนาด้วยตัวเอง ซึ่งในภายหลังรวมเป็นหนังสือได้ 63 เล่ม ท่านเขียนหนังสือคำอธิบายพระคัมภีร์ หนังสือเรื่องการอธิษฐานและงานอื่นมากมาย ปกติแล้วท่านอ่านหนังสือหกเล่มต่อสัปดาห์! หนึ่งในคำเทศนาของท่าน กล่าวว่า “ความบาปของการไม่ทำอะไรเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุด เพราะมันเกี่ยวข้องกับความบาปส่วนใหญ่...ความนิ่งเฉยที่เลวร้าย! ขอพระเจ้าช่วยเราด้วย!”
ชาร์ลส์ สเปอร์เจียนใช้ชีวิตด้วยความอุตสาหะ ท่าน “อุตส่าห์จนสุดกำลัง” (2 ปต.1:5) เพื่อจะเติบโตในพระคุณพระเจ้าและอยู่เพื่อพระองค์ ถ้าเราเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ พระเจ้าทรงสามารถปลูกฝังความต้องการและความสามารถที่เราจะเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้นได้ เพื่อ “อุตส่าห์จนสุดกำลังที่จะเอาคุณธรรมเพิ่มความเชื่อ เอาความรู้เพิ่มคุณธรรม...เอาขันตีเพิ่มความเหนี่ยวรั้งตน...และเอาธรรมเพิ่มขันตี” (ข้อ 5-7)
เราแต่ละคนมีแรงจูงใจ ความสามารถ และระดับพลังงานแตกต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหรือควรใช้ชีวิตอย่างชาร์ลส์ สเปอร์เจียน แต่เมื่อเราเข้าใจทุกอย่างที่พระเยซูทรงทำเพื่อเรา เราก็มีแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะใช้ชีวิตอย่างอุตสาหะและสัตย์ซื่อ และเราได้รับกำลังผ่านสิ่งที่พระเจ้ามอบให้ในการดำเนินชีวิตเพื่อพระองค์และรับใช้พระองค์ โดยทางพระวิญญาณพระเจ้าทรงเสริมกำลังในความพยายามของเราที่จะทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ให้สำเร็จ