ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Alyson Kieda

ความเชื่อของคุณยาย

พวกเรานั่งล้อมวงอยู่ที่โต๊ะอาหารมื้อเย็นตอนที่หลานชายอายุเก้าขวบของฉันพูดขึ้นด้วยรอยยิ้มว่า “ผมก็เหมือนคุณยาย ผมชอบอ่านหนังสือครับ!” คำพูดของเขาทำให้ฉันมีความสุข ฉันนึกย้อนไปเมื่อปีที่แล้วตอนที่เขาป่วยและต้องหยุดเรียนอยู่บ้าน หลังจากที่เขาได้งีบหลับยาว เราก็นั่งอ่านหนังสืออยู่
ข้างๆกัน ฉันมีความสุขที่ได้ส่งต่อมรดกรักการอ่านที่ฉันได้รับจากแม่ของฉัน

แต่นั่นไม่ใช่มรดกสำคัญที่สุดที่ฉันอยากจะส่งต่อให้หลานๆ ฉันอธิษฐานว่ามรดกแห่งความเชื่อที่ฉันได้รับจากพ่อแม่และพยายามส่งต่อให้ลูกๆของฉันจะช่วยพวกหลานๆในการเดินทางไปสู่ความเชื่อด้วย

ทิโมธีได้รับมรดกจากแม่และยายผู้เชื่อในพระเจ้า และจากพี่เลี้ยงฝ่ายวิญญาณคืออัครทูตเปาโล เปาโลได้เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าระลึกถึงความเชื่ออย่างจริงใจของท่าน อันเป็นความเชื่อซึ่งเมื่อก่อนได้มีอยู่ในโลอิสยายของท่าน และในยูนีสมารดาของท่าน และบัดนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีอยู่ในท่าน” (2 ทธ.1:5)

เราอาจคิดว่าชีวิตของเรายังไม่ดีพอที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่น บางทีมรดกที่ส่งต่อมาถึงเราอาจไม่ใช่มรดกที่ดี แต่ก็ไม่มีอะไรที่สายเกินไปที่จะสร้างมรดกแห่งความเชื่อให้กับลูกๆหลานๆ หรือเด็กคนใดคนหนึ่ง โดยความช่วยเหลือของพระเจ้า เราเป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ทำให้ความเชื่อนั้นเติบโตขึ้น (1 คร.3:6-9)

เรื่องของคนอื่น

หลานสี่คนของเรากำลังเล่นชุดของเล่นรถไฟ เด็กสองคนที่อายุน้อยกว่ากำลังทะเลาะกันแย่งหัวรถจักร เมื่อหลานชายวัยแปดขวบของเรากำลังเริ่มเข้าไปแทรกแซง น้องสาววัยหกขวบของเขาพูดขึ้นว่า “อย่าไปยุ่งกับเรื่องของพวกเขา” โดยปกติแล้วนี่เป็นคำพูดที่ฉลาดสำหรับพวกเรา แต่เมื่อการทะเลาะกันกลับกลายเป็นการเสียน้ำตา คุณยายจึงเข้าไปแยกพวกเขาออก และปลอบโยนเด็กที่ทะเลาะกัน

การไม่ไปยุ่งเรื่องของคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีหากการทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เรื่องแย่ลง แต่บางครั้งเราต้องเข้าไปมีส่วนพร้อมด้วยคำอธิษฐาน อัครสาวกเปาโลได้ให้ตัวอย่างถึงช่วงเวลาที่เราควรจะทำเช่นนั้นในจดหมายที่ท่านเขียนถึงชาวฟีลิปปี ท่านหนุนใจให้ผู้หญิงสองคน คือนางยูโอเดียและนางสินทิเค “ให้มีจิตใจปรองดองกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า” (4:2) เห็นได้ชัดว่าความไม่ปรองดองของทั้งสองนั้นรุนแรงจนเปาโลรู้สึกว่าต้องเข้าไปแทรกแซง (ข้อ 3) แม้ว่าท่านจะยังอยู่ในคุก (1:7)

เปาโลรู้ว่าการโต้เถียงของหญิงทั้งสองทำให้เกิดการไม่ปรองดองและหันเหความสนใจไปจากพระกิตติคุณ ท่านจึงพูดความจริงอย่างอ่อนโยนเมื่อเตือนเธอว่าชื่อของทั้งสองถูกบันทึกไว้ใน “หนังสือ[แห่ง]ชีวิต”(4:3) เปาโลต้องการให้หญิงทั้งสองและทุกคนในคริสตจักรใช้ชีวิตในแบบคนของพระเจ้าทั้งในความคิดและการกระทำ (ข้อ 4-9)

เมื่อคุณไม่แน่ใจว่าควรเข้าแทรกแซงหรือไม่ จงอธิษฐานและวางใจว่า “พระเจ้าแห่งสันติสุขจะทรงสถิตกับท่าน” (ข้อ 9; ดูข้อ 7)

การแสดงความกรุณาแบบง่ายๆ

ตอนที่แม่ของฉันอยู่ที่บ้านพักผู้ป่วยระยะสุดท้ายและกำลังเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตบนโลกนี้ ฉันรู้สึกซาบซึ้งในความมีใจกรุณาของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยที่นี่ หลังจากที่ผู้ช่วยพยาบาลค่อยๆยกแม่ที่อ่อนแรงลงจากเก้าอี้และอุ้มไปไว้บนเตียง เธอก็ลูบแขนของท่านขณะที่โน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ และพูดว่า “ท่านน่ารักมากค่ะ” แล้วเธอก็หันมาถามว่าฉันเป็นอย่างไรบ้าง ความกรุณาของเธอทำให้ฉันน้ำตาไหลในวันนั้นและยังคงรู้สึกมาจนทุกวันนี้

สิ่งที่เธอทำเป็นเพียงการแสดงความกรุณาแบบง่ายๆ แต่คือสิ่งที่ฉันกำลังต้องการในเวลานั้น ความกรุณานั้นช่วยให้ฉันรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ได้มองว่าแม่ฉันเป็นแค่คนไข้ แต่เธอเอาใจใส่และมองเห็นคุณค่าของท่านอย่างมาก

เมื่อนาโอมีและรูธต้องสูญเสียสามีไป โบอาสได้แสดงความกรุณาต่อรูธโดยปล่อยให้เธอเก็บข้าวที่คนเกี่ยวข้าวทำตก ไม่เพียงเท่านั้นเขายังสั่งคนเกี่ยวข้าวให้ปล่อยเธอไว้ตามลำพัง (นรธ.2:8-9) ความกรุณาที่เธอได้รับจากเขานั้นมาจากการที่รูธดูแลเอาใจใส่นาโอมี “ทุกอย่างที่เจ้าได้ปฏิบัติต่อแม่ผัวของเจ้า ตั้งแต่สามีของเจ้าสิ้นชีวิตแล้วนั้น มีคนมาเล่าให้ฉันฟังหมดแล้ว” (ข้อ 11) เขาไม่ได้มองเธอว่าเป็นแค่คนต่างด้าวหรือแม่ม่าย แต่มองเธอว่าเป็นผู้หญิงที่ขัดสน

พระเจ้าประสงค์ให้เรา “สวมใจเมตตา ใจกรุณา ใจถ่อม ใจสุภาพอ่อนโยน ใจอดทน” (คส.3:12 THSV11) เมื่อพระเจ้าทรงช่วยเหลือเรานั้น การแสดงความกรุณาแบบง่ายๆของเราสามารถสร้างกำลังใจ นำมาซึ่งความหวัง และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมีใจกรุณาเช่นกัน

ก้าวออกไปด้วยความเชื่อ

นักเทศน์รับเชิญได้พูดถึงเรื่องสติปัญญาในการไว้วางใจพระเจ้าและการ “ก้าวลงไปในแม่น้ำ” เขาเล่าถึงศิษยาภิบาลคนหนึ่งที่วางใจพระเจ้าและเลือกที่จะพูดความจริงจากพระคัมภีร์ในการเทศนา แม้จะขัดกับกฎหมายใหม่ในประเทศของเขา เขาจึงถูกตั้งข้อหาสร้างความเกลียดชังและต้องติดคุกอยู่สามสิบวัน แต่เขาได้รับการอุทธรณ์และศาลตัดสินว่าเขามีสิทธิ์ที่จะแบ่งปันความเข้าใจส่วนตัวในเรื่องพระคัมภีร์และหนุนใจให้ผู้อื่นทำตามได้

ปุโรหิตผู้หามหีบพันธสัญญาก็ต้องเลือกเช่นกัน ไม่ว่าจะก้าวลงไปในน้ำ หรือยืนอยู่ที่ริมฝั่ง ภายหลังการหนีออกจากอียิปต์ ชนชาติอิสราเอลอยู่ในทะเลทรายเป็นเวลาสี่สิบปี ในเวลานี้พวกเขาได้มายืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนซึ่งน้ำกำลังท่วมสูงในระดับที่อันตราย แต่พวกเขาก้าวออกไป และพระเจ้าทรงให้น้ำไหลกลับ “เมื่อ...เท้าของปุโรหิต...ก้าวลงแม่น้ำแล้ว น้ำที่ไหลมาจากข้างบนก็หยุด” (ยชว.3:15-16)

เมื่อเราวางใจพระเจ้าด้วยชีวิตของเรา พระองค์จะประทานความกล้าหาญให้เราก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพูดความจริงจากพระคัมภีร์หรือการก้าวไปในดินแดนที่เราไม่รู้จัก ในระหว่างการพิจารณาคดีของศิษยาภิบาล ศาลได้ยินข่าวประเสริฐผ่านคำเทศนาของเขา และในพระธรรมโยชูวา ชนชาติอิสราเอลข้ามแม่น้ำอย่างปลอดภัยไปสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา และได้แบ่งปันถึงฤทธานุภาพของพระเจ้าแก่คนรุ่นหลัง (ข้อ 17; 4:24)

เมื่อเราก้าวออกไปด้วยความเชื่อ พระเจ้าจะทรงดูแลส่วนที่เหลือ

ถิ่นทุรกันดาร

เมื่อตอนเป็นผู้เชื่อใหม่ ฉันคิดว่าประสบการณ์ “บนยอดเขา” คือสถานที่ที่ฉันได้พบพระเยซู แต่ความสำเร็จเหล่านั้นคงอยู่ไม่นานและไม่ได้นำไปสู่การเติบโต นักเขียนชื่อลิน่า อบูจัมรากล่าวว่า ถิ่นทุรกันดารคือที่ที่เราได้พบพระเจ้าและเติบโต ในคู่มือศึกษาพระคัมภีร์เรื่อง ผ่านถิ่นทุรกันดาร (Through the Desert) เธอเขียนไว้ว่า “พระประสงค์ของพระเจ้าคือการใช้ถิ่นทุรกันดารในชีวิตของเราเพื่อทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น” เธอกล่าวต่อว่า “เราจะพบความประเสริฐของพระเจ้าได้ในท่ามกลางความเจ็บปวด ไม่ใช่เวลาที่เราไม่มีความเจ็บปวด”

สถานการณ์แห่งความโศกเศร้า การสูญเสีย และความเจ็บปวด คือที่ซึ่งพระเจ้าทรงช่วยให้เราเติบโตในความเชื่อและใกล้ชิดพระองค์มากขึ้นดังที่ลิน่าได้เรียนรู้ว่า “ถิ่นทุรกันดารไม่ใช่ความผิดพลาดในแผนการของพระเจ้า แต่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการแห่งการเติบโต [ของเรา]”

พระเจ้าทรงนำบรรดาผู้นำในพันธสัญญาเดิมหลายคนไปในทะเลทราย อับราฮัม อิสอัค และยาโคบต่างก็มีประสบการณ์ในถิ่นทุรกันดาร ในทะเลทรายนั้นเองที่พระเจ้าทรงเตรียมจิตใจของโมเสสและเรียกท่านให้นำชนชาติของพระองค์ออกจากการเป็นทาส (อพย.3:1-2, 9-10) และในทะเลทรายนั้นเองที่พระเจ้าทรง “ทราบทางที่ [ชนอิสราเอล] ได้เดิน” เป็นเวลาสี่สิบปีด้วยความช่วยเหลือและการทรงนำของพระองค์ (ฉธบ.2:7)

พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับโมเสสและคนอิสราเอลในทุกๆย่างก้าวที่พวกเขาเดินผ่านถิ่นทุรกันดาร และพระองค์ทรงอยู่กับคุณและฉันในถิ่นทุรกันดารของเราด้วย ในทะเลทรายนั้นเราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระเจ้า ที่นั่นพระองค์ทรงมาพบเรา และนั่นคือที่ซึ่งเราได้เติบโตขึ้น

ปล้ำสู้กับพระเจ้า

เพื่อนเก่าคนหนึ่งส่งข้อความถึงฉันหลังจากที่สามีของฉันเสียชีวิต “[อลัน] เป็น...นักปล้ำสู้กับพระเจ้า เขาเป็นยาโคบตัวจริงและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเป็นคริสเตียนจนถึงทุกวันนี้” ฉันไม่เคยคิดเปรียบเทียบการต่อสู้ของอลันกับยาโคบ แต่เขาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ในตลอดชีวิตอลันปล้ำสู้กับตัวเองและกับพระเจ้าเพื่อหาคำตอบในเรื่องต่างๆ เขารักพระเจ้าแต่ไม่อาจเข้าใจความจริงที่ว่าพระองค์ทรงรักเขา ให้อภัยเขา และฟังคำอธิษฐานของเขาเสมอ แต่ชีวิตของเขาก็ได้รับพร และเขาก็มีอิทธิพลในทางที่ดีต่อผู้คนมากมาย

คุณลักษณะชีวิตของยาโคบนั้นถูกหล่อหลอมขึ้นจากการต่อสู้ดิ้นรน เขาสมรู้ร่วมคิดกับแม่เพื่อแย่งสิทธิบุตรหัวปีมาจากเอซาวพี่ชาย เขาหนีออกจากบ้านและต่อสู้ดิ้นรนอยู่หลายปีกับลาบันซึ่งเป็นทั้งพ่อตาและญาติฝ่ายแม่ จากนั้นเขาก็หนีไปจากลาบัน ขณะที่เขาอยู่เพียงลำพังและกลัวที่จะพบกับเอซาว ก็มีบุรุษจากสวรรค์มาหา “เหล่าทูตของพระเจ้าพบเขา” (ปฐก.32:1) ซึ่งนี่อาจเป็นการเตือนยาโคบถึงความฝันจากพระเจ้าก่อนหน้านี้ (28:10-22) ครั้งนี้จึงเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้งของยาโคบ ตลอดทั้งคืนเขาปล้ำสู้กับพระเจ้าในร่าง “มนุษย์” ผู้ทรงตั้งชื่อให้เขาใหม่ว่าอิสราเอล เพราะเขา “สู้กับพระเจ้าและมนุษย์ และได้ชัยชนะ” (32:28) พระเจ้าทรงสถิตกับยาโคบและทรงรักยาโคบไม่ว่าเขาจะผ่านเหตุการณ์ใดมาก็ตาม

เราทุกคนต่างเผชิญกับการต่อสู้ดิ้นรน แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียว พระเจ้าทรงอยู่กับเราในทุกๆการทดลอง ผู้ที่เชื่อในพระองค์จะได้รับความรัก การอภัย และชีวิตนิรันดร์ตามที่ทรงสัญญาไว้ (ยน.3:16) เราสามารถยึดพระองค์ไว้ให้มั่น

ความสุขใจในการให้

เมื่อลูกชายตัวน้อยของเครี่ต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรคกล้ามเนื้อเสื่อม เธอไม่ต้องการคิดถึงแต่เรื่องสถานการณ์ในครอบครัวจึงอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่น เธอเก็บรวบรวมรองเท้าของลูกชายที่ใส่ไม่ได้แล้วแต่สภาพยังดีเพื่อเอาไปบริจาคให้กับพันธกิจแห่งหนึ่ง การให้ของเธอครั้งนี้กระตุ้นให้เพื่อนๆ สมาชิกในครอบครัวและแม้กระทั่งเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จากนั้นไม่นานก็มีรองเท้ามากกว่าสองร้อยคู่ที่พวกเขาบริจาคไป!

แม้เรื่องของรองเท้าเกิดขึ้นจากความตั้งใจเพื่ออวยพรผู้อื่น แต่เครี่กลับรู้สึกว่าครอบครัวของเธอได้รับการอวยพรมากกว่า “ประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้จิตวิญญาณเราชื่นชมยินดีและช่วยให้เราสนใจในการช่วยเหลือผู้อื่น”

เปาโลเข้าใจถึงความสำคัญที่ผู้ติดตามพระเยซูควรจะให้ด้วยใจกว้างขวาง ในระหว่างที่เดินทางไปเยรูซาเล็ม อัครทูตเปาโลได้หยุดแวะที่เมืองเอเฟซัส ท่านรู้ว่านั่นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แวะเยี่ยมคนที่คริสตจักรซึ่งท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ในการกล่าวอำลากับเหล่าผู้ปกครองของคริสตจักร เปาโลเตือนพวกเขาว่าท่านเองได้ทำงานอย่างตั้งใจจริงที่จะปรนนิบัติพระเจ้า (กจ.20:17-20) และหนุนใจให้พวกเขาทำเช่นเดียวกัน จากนั้นท่านปิดท้ายด้วยคำตรัสของพระเยซูว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” (ข้อ 35)

พระเยซูทรงต้องการให้เราให้ด้วยใจกว้างขวางด้วยความเต็มใจและถ่อมใจ (ลก.6:38) เมื่อเราวางใจให้พระองค์ทรงนำ พระองค์จะทรงจัดเตรียมโอกาสให้เราได้ทำเช่นนั้น เราอาจประหลาดใจเช่นเดียวกับครอบครัวของเครี่ว่าผลที่เราจะได้รับนั้นคือความสุขใจ

ประชุมกันในพระเยซู

ในเวลาที่ฉันเผชิญกับความเจ็บปวดทางอารมณ์และจิตวิญญาณ และต้องต่อสู้กับสถานการณ์ยุ่งยากในชีวิตเป็นเวลานานนั้น ฉันอาจถอนตัวจากคริสตจักรไปได้ง่ายๆ (และบางครั้งฉันคิดคำนึงว่า “จะลำบากไปทำไม”) แต่ฉันก็รู้สึกถึงหน้าที่ที่จะต้องไปทุกสัปดาห์

แม้ว่าสถานการณ์ของฉันจะยังคงเป็นเหมือนเดิมอยู่ตลอดหลายปี แต่การได้สรรเสริญพระเจ้าและรวมกลุ่มกับผู้เชื่ออื่นในการนมัสการ ในกลุ่มอธิษฐาน และกลุ่มเรียนพระคัมภีร์ ได้มอบกำลังใจที่จำเป็นแก่ฉันเพื่อจะยืนหยัดและยังคงมีความหวัง และหลายครั้งที่ฉันไม่เพียงได้ฟังข้อความหรือคำสอนที่หนุนใจ แต่ฉันยังได้รับการปลอบประโลมใจ มีคนที่รับฟัง และได้รับอ้อมกอดที่ฉันต้องการจากคนอื่น

ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูเขียนไว้ว่า “อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น” (ฮบ.10:25) ผู้เขียนฮีบรูทราบว่าเมื่อเราเผชิญกับความทุกข์และความยากลำบาก เราจะต้องการการหนุนใจจากคนอื่น และคนอื่นก็ต้องการจากเราเช่นเดียวกัน ผู้เขียนจึงเตือนผู้อ่านให้ “ยึดมั่นในความหวังที่เราทั้งหลายเชื่อและรับไว้นั้น” และพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร จึงจะ “ปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี” (ข้อ 23-24) นี่คือหัวใจหลักของการหนุนใจ นี่คือเหตุผลที่พระเจ้าทรงนำให้เราประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ มีบางคนที่อาจต้องการคำหนุนใจด้วยความรักจากคุณ และคุณจะประหลาดใจกับสิ่งที่ได้รับคืนมา

ความทุกข์ทรมานของพระคริสต์

ก่อนที่จิม คาวีเซล จะรับบทพระเยซูในภาพยนตร์เรื่อง เดอะแพสชั่นออฟ เดอะไครสต์ ผู้กำกับเมล กิ๊บสันเตือนว่าบทนี้ยากมากและอาจส่งผลทางลบต่ออาชีพในฮอลลีวู้ดของเขา ถึงอย่างนั้นคาวีเซลก็ยังรับเล่นบทนี้โดยพูดว่า “ผมคิดว่าเราต้องลงมือทำ แม้ว่าจะยาก”

ระหว่างการถ่ายทำ คาวีเซลถูกฟ้าผ่า น้ำหนักลดไปยี่สิบกิโลกรัม และถูกเฆี่ยนจริงโดยไม่ได้ตั้งใจในฉากเฆี่ยนตี ภายหลังเขากล่าวว่า “ผมไม่ต้องการให้คนเห็นว่านั่นคือผม ผมแค่อยากให้พวกเขาเห็นว่านั่นคือพระเยซู การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นผ่านสิ่งนั้น” ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคาวีเซลและคนอื่นๆในกองถ่ายอย่างมาก และมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่ามีผู้คนกี่ล้านคนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วพบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเดอะแพสชั่นออฟเดอะไครสต์ ถ่ายทอดช่วงเวลาการทนทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเยซู ตั้งแต่การเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตในวันอาทิตย์ทางตาล รวมถึงการถูกทรยศ เยาะเย้ย เฆี่ยนตี และตรึงกางเขน เหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม

อิสยาห์ 53 ได้บอกถึงการทนทุกข์ของพระองค์และผลที่ตามมาไว้ล่วงหน้า “แต่ท่านถูกบาดเจ็บเพราะความทรยศของเราทั้งหลาย ท่านฟกช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนอันทำให้เราทั้งหลายสมบูรณ์นั้นตกแก่ท่าน ที่ท่านต้องฟกช้ำนั้นก็ให้เราหายดี” (ข้อ 5) เราทุกคน “ได้เจิ่นไปเหมือนแกะ” (ข้อ 6) แต่เพราะการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เราจึงมีสันติสุขในพระเจ้า การทนทุกข์ของพระองค์เปิดหนทางให้เราได้อยู่กับพระองค์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา