ทรงเตรียมที่ไว้สำหรับเรา
ครอบครัวเรากำลังวางแผนจะเลี้ยงลูกสุนัข ลูกสาววัย 11 ปีของผมจึงหาข้อมูลอยู่หลายเดือน เธอรู้ว่าสุนัขควรจะกินอะไร และจะแนะนำให้มันรู้จักกับบ้านใหม่ของเราอย่างไร นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นอีกมากมาย เธอบอกผมว่า ลูกสุนัขจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดถ้ามันได้ทำความรู้จักห้องทีละห้อง เราจึงเตรียมห้องนอนสำรองเอาไว้อย่างดี ผมแน่ใจว่าจะยังมีเรื่องที่เราต้องประหลาดใจอีกแน่แต่การเตรียมการที่เปี่ยมไปด้วยความสุขของลูกสาวผม ครอบคลุมรายละเอียดทุกอย่างเอาไว้เป็นอย่างดี
วิธีที่ลูกสาวของผมเปลี่ยนการจดจ่อรอคอยที่จะได้ลูกสุนัขมาเป็นการเตรียมการด้วยความรัก ทำให้ผมคิดถึงพระคริสต์ที่ทรงปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกับประชากรของพระองค์ และพระสัญญาที่จะเตรียมบ้านไว้ให้พวกเขา ในเวลาใกล้สิ้นสุดพระราชกิจบนโลกนี้ พระเยซูทรงเรียกร้องให้เหล่าสาวกวางใจในพระองค์โดยตรัสว่า “ท่านวางใจในพระเจ้า จงวางใจในเราด้วย” (ยน.14:1) จากนั้นทรงสัญญาว่าจะไป “จัดเตรียมที่ไว้สำหรับ[พวกเขา]... เพื่อว่า [พระองค์]อยู่ที่ไหน[พวกเขา]จะได้อยู่ที่นั่นด้วย” (ข้อ 3)
ในไม่ช้าพวกสาวกจะพบกับปัญหา แต่พระเยซูต้องการให้พวกเขารู้ว่าพระองค์ทรงกำลังเตรียมการที่จะพาพวกเขากลับบ้านไปหาพระเจ้า
ผมอดไม่ได้ที่จะชื่นชมกับการเตรียมตัวอย่างละเอียดรอบคอบที่ลูกสาวผมตั้งใจทำเพื่อลูกสุนัขตัวใหม่ของเรา ผมได้แต่จินตนาการว่าพระผู้ช่วยให้รอดของเราจะทรงยินดียิ่งกว่าเรามากสักแค่ไหนที่ได้ทรงจัดเตรียมให้เราแต่ละคนอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อจะได้มีชีวิตนิรันดร์ร่วมกับพระองค์
หนีหรือสันติสุข
“ปลีกวิเวก” ป้ายโฆษณาป่าวประกาศถึงประโยชน์ของการติดตั้งอ่างน้ำร้อน ซึ่งดึงดูดความสนใจและทำให้ผมคิด ผมกับภรรยาเคยคุยกันเรื่องซื้ออ่างน้ำร้อน...ในสักวันหนึ่ง มันคงเหมือนการได้หยุดพักผ่อนในสวนหลังบ้านของเราเอง! ยกเว้นเรื่องทำความสะอาดและค่าไฟ และ...ทันใดนั้น ความหวังที่จะได้ปลีกตัวไปก็เริ่มฟังดูเหมือนสิ่งที่ผมอยากปลีกตัวจากมา
คำๆนั้นยังคงล่อลวงเราได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมันสัญญาถึงสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความผ่อนคลาย ความสบายใจ ความปลอดภัยและการปลีกตัว นี่เป็นสิ่งที่วัฒนธรรมของเราล่อลวงและเล่นตลกกับเราด้วยหลากหลายวิธี ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะพักหรือปลีกตัวไปยังที่ที่สวยงาม แต่มีความแตกต่างระหว่างการปลีกตัวหนีไปจากความยากลำบากของชีวิต กับการวางใจพระเจ้าในปัญหาเหล่านั้น
ในพระธรรมยอห์นบทที่ 16 พระเยซูทรงบอกกับสาวกว่า ในก้าวต่อไปของชีวิตจะมีบททดสอบความเชื่อของพวกเขา “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก” พระองค์ทรงสรุปในตอนท้าย และทรงเพิ่มเติมพระสัญญานี้ “แต่จงชื่นใจเถิด เพราะว่าเราได้ชนะโลกแล้ว” (ข้อ 33) พระเยซูไม่ต้องการให้สาวกตกอยู่ในความสิ้นหวัง แต่ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้วางใจในพระองค์ และรู้ถึงการพักสงบที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ให้ “เราได้บอกเรื่องนี้แก่ท่าน” พระองค์ตรัส “เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา” (ข้อ 33) พระเยซูไม่ได้ทรงสัญญาว่าเราจะมีชีวิตที่ไม่เจ็บปวด แต่ได้ทรงสัญญาว่าถ้าเราวางใจและพักสงบอยู่ในพระองค์ เราจะได้พบกับสันติสุขอันลึกซึ้งและอิ่มเอมใจที่มากกว่าการหลบลี้ใดๆที่โลกพยายามเสนอให้กับเรา
ใกล้คริสต์มาสเข้าไปอีกวัน
หนูไม่อยากเชื่อเลยว่าคริสต์มาสจบลงแล้ว” ลูกสาวผมพูดอย่างหดหู่ ผมรู้ว่าเธอรู้สึกเช่นไร บรรยากาศหลังวันคริสต์มาสอาจดูมืดมน ของขวัญก็เปิดไปแล้ว ต้นคริสต์มาสและไฟประดับก็ต้องเอาลง เดือนมกราคมก็ไร้ชีวิตชีวา และสำหรับหลายๆคน ความต้องการที่จะลดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากช่วงวันหยุดกำลังรออยู่ ความคาดหวังที่น่าตื่นเต้นซึ่งมาพร้อมกับคริสต์มาสก็พลันหายไป
ไม่กี่ปีก่อนขณะที่เราเก็บของตกแต่งจากวันคริสต์มาส ผมตระหนักว่า ไม่ว่าปฏิทินจะบอกอะไรเรา เราก็เข้าใกล้คริสต์มาสครั้งต่อไปอีกวันหนึ่ง และนั่นกลายเป็นสิ่งที่ผมมักจะพูดบ่อยๆ
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการฉลองคริสต์มาสแบบชั่วครั้งชั่วคราวของเราก็คือความจริงฝ่ายวิญญาณที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือความรอดที่พระเยซูทรงนำเข้ามาในโลกและความหวังเรื่องการเสด็จกลับมาของพระองค์ พระคัมภีร์ย้ำเรื่องการเฝ้าดู การรอคอย และความปรารถนาที่พระคริสต์จะเสด็จกลับมา ผมชอบสิ่งที่เปาโลพูดในฟีลิปปี 3:15-21 ท่านชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างวิถีชีวิตของโลก คือการ “สนใจในวัตถุทางโลก” (ข้อ 19) กับวิถีชีวิตที่ถูกหล่อหลอมด้วยความหวังเรื่องการเสด็จกลับมาของพระเยซู “บ้านเมืองของเรานั้นอยู่ที่สวรรค์ เรารอคอยผู้ช่วยให้รอด ซึ่งจะเสด็จมาจากสวรรค์คือพระเยซูคริสตเจ้า” (ข้อ 20)
ความจริงที่ว่า “บ้านเมืองของเรานั้นอยู่ที่สวรรค์” จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง รวมถึงความหวังและวิธีการดำเนินชีวิตของเรา ความหวังนั้นถูกทำให้มั่นคงขึ้นด้วยความรู้ที่ว่า ทุกๆวันที่ผ่านไปนั้น แท้จริงแล้วเราเข้าใกล้การเสด็จกลับมาของพระเยซูอีกวันหนึ่ง ARH
ตัวบั่นทอน
มันเริ่มด้วยอาการระคายคอ ผมคิดในใจว่าแย่แล้ว อาการระคายคอนั้นกลายมาเป็นไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นระยะเริ่มต้นของโรคหลอดลมอักเสบ ไข้หวัดใหญ่กลายเป็นไอกรน และไอกรนนี้เองได้กลายเป็นปอดอักเสบ
เป็นเวลา 8 สัปดาห์กับการไออย่างรุนแรงจนลำตัวแทบแตกเป็นเสี่ยง โรคไอกรนนี้มีที่มาสมกับชื่อจริงๆ มันทำให้ผมถ่อมใจ ผมไม่คิดว่าตัวเองจะแก่ขนาดนั้น แต่ผมก็อายุมากพอที่จะเริ่มคิดถึงว่าตัวเองนั้นแก่แล้ว สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มย่อยที่คริสตจักรมีชื่อตลกๆสำหรับปัญหาสุขภาพที่โจมตีเมื่อเราอายุมากขึ้นว่า “ตัวบั่นทอน” แต่ไม่มีอะไรที่น่ารักเลยเมื่อตัวบั่นทอนนี้ “ปฏิบัติการ” ของมัน
ใน 2 โครินธ์ 4 เปาโลเองได้เขียนถึง “ตัวบั่นทอน” ในแบบที่ท่านพบ บทนี้บันทึกถึงการถูกข่มเหงที่ท่านและเพื่อนร่วมงานต้องทน การทำพันธกิจให้สำเร็จนั้นนำมาซึ่งความเหนื่อยล้าจนหมดกำลัง ท่านยอมรับว่า “กายภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป” แต่ถึงแม้ร่างกายจะเสื่อมถอยจากอายุ การถูกข่มเหง และสภาพแวดล้อมที่หนักหนาสาหัส เปาโลยังคงยึดมั่นในความหวังที่ทำให้ท่านไปต่อได้ “แต่จิตใจภายในนั้นก็ยังคงจำเริญขึ้นใหม่ทุกวัน” (ข้อ 16) ท่านยังเน้นย้ำว่า “การทุกข์ยากเล็กๆน้อยๆ...ซึ่งเรารับอยู่ประเดี๋ยวเดียวนั้น” เทียบไม่ได้กับสิ่งที่รอเราอยู่ นั่นคือ “ศักดิ์ศรีถาวรมากหาที่เปรียบมิได้” (ข้อ 17)
แม้ในค่ำคืนที่ผมเขียนอยู่นี้ กรงเล็บของตัวบั่นทอนจะยังเกาะแน่นที่หน้าอก แต่ผมรู้ว่ามันไม่ใช่บทสรุปของชีวิตผมและของทุกคนที่ยึดมั่นอยู่ในพระคริสต์
โอบกอด
“พ่อคะ อ่านหนังสือให้หนูฟังได้ไหม” ลูกสาวผมถาม นี่เป็นคำถามปกติธรรมดาที่ลูกจะถามพ่อแม่ แต่ลูกสาวของผมอายุสิบเอ็ดปีแล้ว เด็กในวัยนี้จะขอแบบนี้น้อยลงกว่าตอนที่พวกเขายังเล็ก “ได้สิ” ผมตอบด้วยความยินดี และเธอขึ้นมานั่งขดตัวข้างๆผมบนเก้าอี้โซฟา
ขณะที่ผมอ่านหนังสือให้เธอฟัง (เรื่อง อภินิหารแหวนครองพิภพ) เธอกอดผมแน่นจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน นี่เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่แสนพิเศษสำหรับพ่อแม่ ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกถึงความรักบริบูรณ์ที่พระบิดาทรงมีต่อเราและทรงปรารถนาที่จะให้เรา “โอบกอด” การทรงสถิตอยู่ด้วยและความรักของพระองค์
ในเวลานั้นเองผมตระหนักว่าผมก็เป็นเหมือนกับลูกวัยสิบเอ็ดขวบของผม ที่ส่วนใหญ่แล้วจะชอบพึ่งพาตัวเอง เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะขาดจากสัมผัสแห่งรักของพระเจ้า ซึ่งเป็นความรักที่อ่อนโยนและปกป้องดังที่สดุดี 116 บรรยายว่า “กรุณาและชอบธรรม...กอปรด้วยพระเมตตา” (ข้อ 5) เป็นความรักแบบที่ผมสามารถขดตัวอยู่บนตักของพระองค์เหมือนที่ลูกสาวผมทำ และรู้ว่าพระองค์ทรงโปรดปรานในตัวผม
สดุดี 116:7 แนะนำว่าเราควรเตือนตนเองอยู่เสมอถึงความรักประเสริฐของพระเจ้า และเข้าสู่อ้อมพระหัตถ์ที่รอคอยเราอยู่ “จิตใจของข้าพเจ้าเอ๋ยกลับไปสู่ที่พักของเจ้าเถิด เพราะพระเจ้าทรงโปรดปรานเจ้ามากแล้ว” พระองค์ทรงรักเรายิ่งนัก
พายุแห่งความกลัว
ในโฆษณาทางทีวีที่ผมเห็นไม่นานมานี้ มีผู้หญิงคอยถามคนในกลุ่มที่ดูทีวีอยู่ว่า “คุณกำลังมองหาอะไร มาร์ค” “ผมกำลังมองหาตัวเองในแบบที่จะไม่ตัดสินใจทำอะไรเพราะความกลัว” เขาตอบจริงจัง ไม่ได้ตระหนักว่าเธอถามถึงสิ่งที่เขาชอบดูในทีวี!
ว้าว ผมไม่คิดว่าโฆษณาทีวีจะแทงใจดำผมเช่นนี้! แต่ผมเข้าใจมาร์คผู้น่าสงสาร บางครั้งผมเองก็รู้สึกอายที่ความกลัวมักนำหน้าชีวิตผม
สาวกของพระเยซูเคยประสบกับอำนาจแห่งความกลัวเช่นกันเมื่อพวกเขาข้ามฝั่งทะเลกาลิลี (มก.4:35) “พายุใหญ่ได้บังเกิดขึ้น” (ข้อ 37) ความกลัวเข้าครอบงำและพวกเขาคิดว่าพระเยซู (ที่ทรงหลับอยู่!) ไม่ห่วงใยพวกเขา “อาจารย์เจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายกำลังจะจมอยู่แล้ว ท่านไม่เป็นห่วงบ้างหรือ” (ข้อ 38)
ความกลัวบิดเบือนการมองเห็นของสาวก ทำให้พวกเขามืดบอดต่อความหวังดีของพระเยซูที่มีต่อพวกเขา หลังจากพระองค์ทรงห้ามลมและคลื่นแล้ว (ข้อ 39) พระคริสต์ทรงตำหนิสาวกด้วยสองคำถามกินใจ “ทำไมเจ้ากลัว เจ้าไม่มีความเชื่อหรือ” (ข้อ 40)
พายุซัดเข้ามาในชีวิตเราเช่นกัน แต่คำถามของพระเยซูอาจช่วยให้เรามีมุมมองที่ถูกต้องต่อความกลัว คำถามแรกของพระองค์เชิญชวนให้เรารู้จักความกลัวของเรา คำถามที่สองนำเราให้ไว้ใจมอบความรู้สึกที่บิดเบือนให้พระองค์ โดยการทูลขอให้เรามีสายตาที่มองเห็นการทรงนำของพระองค์ผ่านพายุใหญ่ที่รุนแรงที่สุดในชีวิต
ลิดเพื่อให้เกิดผล
ขณะจ้องดูผึ้งตัวใหญ่ที่กำลังบินวนเวียนอยู่เหนือพุ่มรัสเซียนเสจ ผมรู้สึกประหลาดใจกับกิ่งที่เต็มไปด้วยดอกสีฟ้าสดใสซึ่งดึงดูดสายตาของทั้งผมและผึ้ง เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมาผมยังสงสัยว่ามันจะออกดอกได้อีกหรือ ตอนที่พ่อตากับแม่ยายผมตัดต้นแพงพวยตรงโคนต้น ผมคิดว่าพวกเขาคงจะกำจัดมันทิ้ง แต่ตอนนี้ผมเห็นกับตาแล้วว่า การตัดแต่งกิ่งที่ดูโหดร้ายสำหรับผมในเวลานั้นทำให้เกิดผลที่งดงามเพียงใด
ความงามอันน่าประหลาดซึ่งเกิดจากแผลฉกรรจ์นี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระเยซูทรงเลือกภาพการลิดเพื่ออธิบายถึงการทำงานของพระเจ้าในหมู่ผู้เชื่อ ในยอห์น 15 พระเยซูตรัสว่า “เราเป็นเถาองุ่นแท้ และพระบิดาของเราทรงเป็นผู้ดูแลรักษา...แขนงทุกแขนงที่ออกผล พระองค์ก็ทรงลิดเพื่อให้ออกผลมากขึ้น” (ข้อ 1-2)
คำตรัสของพระเยซูย้ำเตือนเราว่า พระเจ้าทรงทำกิจอยู่ภายในเราเสมอทั้งในช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณและช่วยให้เราเกิดผล (ข้อ 5) ในช่วงของ “การลิด” ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งความทุกข์ยากหรือความหดหู่ใจ เราอาจสงสัยว่าเราจะเติบโตได้อีกหรือ แต่พระเยซูทรงหนุนใจเราให้ติดสนิทกับพระองค์ต่อไป “แขนงจะออกผลเองไม่ได้ นอกจากจะติดอยู่กับเถาฉันใด ท่านทั้งหลายก็จะเกิดผลไม่ได้ นอกจากจะเข้าสนิทอยู่ในเราฉันนั้น” (ข้อ 4)
เมื่อเรายังคงได้รับการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณจากพระเยซูอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์แห่งความงดงามและการเกิดผลของชีวิตเรา (ข้อ 8) จะทำให้โลกเห็นถึงความประเสริฐของพระเจ้า
เคลื่อนที่ด้วยความเร็วของพระเยซู
เมื่อไม่นานมานี้รถของผมเสีย อู่ซ่อมรถอยู่ใกล้ๆราวหนึ่งกิโลเมตรกว่าจากบ้าน ผมจึงตัดสินใจเดินกลับบ้าน แต่ขณะเดินไปเรื่อยๆบนทางที่คับคั่งไปด้วยผู้คน ผมสังเกตเห็นว่าทุกคนขับรถเร็วมาก
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้ว่ารถวิ่งเร็วกว่าคนเดินเท้า ขณะที่เดินกลับบ้านผมตระหนักว่า พวกเราเคยชินกับการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วตลอดเวลา และผมก็ตระหนักอีกว่า บ่อยครั้งผมคาดหวังให้พระเจ้าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วย ผมต้องการให้แผนการของพระองค์ตรงกับตารางเวลาที่รวดเร็วของผม
เมื่อพระเยซูทรงอยู่ในโลก ย่างก้าวที่ดูเหมือนเชื่องช้าของพระองค์บางครั้งก็ทำให้เพื่อนๆของพระองค์ผิดหวัง ในยอห์นบทที่ 11 มารีย์และมารธาส่งข่าวถึงพระเยซูว่าลาซารัสน้องชายกำลังป่วย พวกเธอรู้ว่าพระองค์ทรงช่วยได้ (ข้อ 1-3) แต่พระองค์ทรงมาถึงสี่วันหลังจากนั้น (ข้อ 17) หลังจากลาซารัสเสียชีวิตแล้ว มารธาทูลพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า ถ้าพระองค์อยู่ที่นี่น้องชายของข้าพระองค์ก็คงไม่ตาย” (ข้อ 21) ความหมายคือพระองค์มาไม่เร็วพอ แต่พระองค์ทรงมีแผนการที่ใหญ่กว่านั้น คือการชุบชีวิตลาซารัสขึ้นจากความตาย (ข้อ 38-44)
คุณเข้าใจความสิ้นหวังของมารธาไหม ผมเข้าใจ บางครั้งผมอยากให้พระเยซูตอบคำอธิษฐานเร็วๆ บางครั้งดูเหมือนว่าพระองค์มาสาย แต่ตารางเวลาของพระองค์ต่างจากเรา พระองค์ทรงบรรลุเป้าหมายการทรงไถ่ตามตารางเวลาของพระองค์ ไม่ใช่ของเรา และผลลัพธ์สูงสุดได้สำแดงถึงพระสิริและความประเสริฐของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าแผนการของเรา
บทเรียนจากไก่งวง
คุณรู้ไหมว่าไก่งวงที่อยู่กันเป็นกลุ่มเรียกว่าอะไร คำตอบคือฝูงไก่งวง ทำไมผมจึงเขียนถึงไก่งวง เพราะผมเพิ่งกลับจากการใช้เวลาช่วงวันหยุดที่กระท่อมบนภูเขา ผมแปลกใจกับขบวนไก่งวงที่เดินพาเหรดผ่านระเบียงบ้านของเราทุกวัน
ผมไม่เคยเฝ้าดูไก่งวงมาก่อน พวกมันตะกุยพื้นอย่างแรงด้วยกรงเล็บอันน่าทึ่ง จากนั้นก็ไล่จิกลงไปที่พื้น ผมเดาว่ามันกำลังกินอาหาร นี่เป็นครั้งแรกที่ผมสังเกตไก่งวง ผมจึงไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม ดูเหมือนสัตว์เลี้ยงที่ผอมกะหร่องแถวบ้านเราจะไม่ช่วยให้อิ่มท้องเท่ากับเจ้าไก่งวงที่จ้ำม่ำพวกนี้
ขณะที่นั่งดูไก่งวงเหล่านี้ ผมคิดถึงคำพูดของพระเยซูในมัทธิว 6:26 ว่า“จงดูนกในอากาศ มันมิได้หว่าน มิได้เกี่ยว มิได้ส่ำสมไว้ในยุ้งฉาง แต่พระบิดาของท่านทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้ ท่านทั้งหลายมิประเสริฐกว่านกหรือ” พระเยซูทรงใช้ภาพการที่พระเจ้าทรงเลี้ยงนกที่ดูไร้ค่าเพื่อเตือนเราให้รู้ถึงความห่วงใยที่ทรงมีต่อเรา หากชีวิตของนกยังสำคัญ ชีวิตของเราจะไม่สำคัญยิ่งกว่าหรือ จากนั้นพระเยซูทรงเปรียบความกังวลถึงสิ่งจำเป็นประจำวันของเรา (ข้อ 27-31) กับชีวิตที่ “แสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน” (ข้อ 33) เป็นชีวิตที่เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นสำหรับเราอย่างอุดม ถ้าพระเจ้าทรงดูแลฝูงไก่งวงได้ พระองค์ก็จะดูแลคุณและผมได้แน่นอน